ข้ามไปเนื้อหา

คำประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


คำประกาศเฉลิมพระปรมาพิไธย


ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาล เปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๒๙ พรรษา ปัตยุบันกาลโสณสังวัจฉะบุศยมาศ กาลปักษ์ฉัฐมีดิถี ศุกรวาร ปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเดจพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุศยรัตนราชรวิวงษ วรุตมพงษบริพัตร วรขัติราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราหณีจักรีบรมนารถ มหามกุฎราชรามวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิตอรรคอุกฤษฐไพบูลย์ บุรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนต บาทบงกชยุคลประสิทธิสรรพศุภผล อุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเสส สรรพเทเวศรานุรักษ วิสิฐศักดิสมยาพินิจประชานารถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย อุดมเดชาธิการ บริบูรณคุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายก อนันตมหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเสวตรฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักณ์มหาบรมราชาภิเสกาภีสิต สระพทศทิศวิชิตไชย สกลมหัยสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนราถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรยรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิอัคนเรศราธิบดี เมตตากรุณา สีตลหฤไทย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชดำริห์ว่า ตามพระราชกำหนดกฎหมาย ซึ่งปรากฏมาว่ากฎมณเฑียรบาล อันพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ อู่ทอง ซึ่งประดิษฐานแลดำรงกรุงทวารวดีศรีอยุทธยา ได้ทรงตั้งขึ้นไว้เมื่อปีชวด โทศก จุลศักราช ๗๒๒ ซึ่งเปนครั้งเริ่มแรกที่จะได้จัดลำดับยศพระบรมวงษานุวงษ แลข้าราชการทั่วไป ในพระราชกำหนดนั้น ยกพระบรมราชโอราสอันเกิดด้วยพระอรรคมเหษีเปนสมเดจหน่อพุทธเจ้า มีพระเกียรติยศใหญ่ยิ่งกว่าพระบรมวงษานุวงษ ซึ่งปรากฏตำแหน่งยศเปนลำดับลงมา ในพระราชกำหนดนั้นหาได้มีตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคบมหาอุปราชฝ่ายน่า ในเมื่อพิเคราะดูตามจดหมายพระราชพงษาวดารในเบื้องต้น ก็ไม่มีปรากฏว่าได้ตั้งพระมหาอุปราชฝ่ายน่าตลอดมาหลายแผ่นดิน จนถีงแผ่นดินพระบาทสมเดจพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งได้ทรงตั้งพระราชกำหนดศักดินาพลเรือน ในจุลศักราช ๘๒๘ ปีจออัฐศก จึ่งได้มีปรากฏในพระราชพงษาวดาร ว่าได้ทรงประดิษฐาน พระราชโอรสไว้ในที่พระมหาอุปราชความบ่งตรงกันกับตำแหน่งนาพลเรือนซึ่งได้ตั้งขึ้นในครั้งนั้น เปนชั้นหลังมีกำหนดว่า สมเดจพระเจ้าลูกเธอซึ่งได้เฉลิมพระราชมณเฑียร เปนพระมหาอุปราช ทรงศักดินาแสนหนึ่ง เปนต้นตำแหน่งพระมหาอุปราชเกิดขึ้น แต่ครั้งเมื่อรัชกาลต่อๆ มาก็หาได้ตั้งทุกแผ่นดินทุกครั้งทุกคราวไม่ เว้นหว่างอยู่หลายๆ สิบปีก็มี ครั้นภายหลังเมื่อประดิษฐานกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยานี้แล้ว ตำแหน่งที่พระมหาอุปราช จึ่งเปนตำแหน่งซึ่งได้ตั้งทุกรัชกาล แต่มิได้มีคงที่อยู่สำหรับแผ่นดิน เปนตำแหน่งที่สำหรับพระราชทานบำเหน็จความชอบ แก่พระบรมวงษ์ผู้มีความชอบยิ่งใหญ่เฉพาะพระองค์ ครั้นเมื่อพระมหาอุปราชผู้มีความชอบนั้นล่วงไปแล้ว ไม่มีพระบรมวงษพระองคใดซึ่งจะมีความชอบเสมอเหมือน พระมหาอุปราชที่ล่วงไป จึ่งไม่ได้ทรงตั้งตำแหน่งนั้นต่อไปอีก เว้นหว่างอยู่นานๆ จนตลอดรัชกาลทุกๆ แผ่นดินที่ผ่านมา

แต่ตำแหน่งพระมหาอุปราช ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระราชทานเกียรติยศยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน มีพระนามเปนต้นคล้ายคลึงกับพระเจ้าแผ่นดิน พอประจวบกันกับที่กรุงสยาม ได้มีทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ซึ่งมีธรรมเนียมตำแหน่งยศพระบรมวงษานุวงษ แปลกเปลี่ยนกันกับกรุงสยามยากที่จะเข้าใจได้ จึงได้แปลตำแหน่งพระมหาอุปราช ออกเปนพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ เพื่อจะให้เข้าใจได้ง่ายๆ แต่นั้นมาความเข้าใจของคนต่างประเทศ ก็แปลกเปลี่ยนไปต่างๆ ยากที่จะชี้แจงให้เข้าใจได้

ครั้นเมื่อวันศุกร เดือนเก้า แรมสิบค่ำ ปีรกาสัปตศก ศักราช ๑๒๔๗ ได้ทรงพระราชดำริห พร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษกับเสนาบดี แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเหนพร้อมกันว่า ตำแหน่งยศสมเดจพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งเรียกว่าสมเดจหน่อพุทธเจ้า อันได้ตั้งขึ้นไว้แต่ครั้งสมเดจพระรามาธิบดีที่ ๑ ในจุลศักราช ๗๒๒ นั้น เปนตำแหน่งอันสมควร ซึ่งจะใช้เปนแบบอย่างสืบไปภายน่า แลเปนตำแหน่งอันถูกต้องกันกับนานาประเทศทั้งปวง ซึ่งจะเปนอันเข้าใจได้โดยชัดเจน

จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกธรรมเนียมตั้งพระมหาอุปราชฝ่ายน่า ซึ่งมีมาในพระราชกำหนดตำแหน่งศักดินาพลเรือนนั้นเสีย คงใช้ตามพระราชกำหนด ซึ่งปรากฏชื่อว่ากฎมณเฑียรบาล อันได้ตั้งไว้ในจุลศักราช ๗๗๒ นั้น

อนึ่งราชประเพณีแต่ก่อนมา เมื่อสมเดจพระเจ้าลูกเธอ พระราชกุมารพระองคใหญ่ มีพระชนมายุได้เก้าพรรษา ก็ได้เคยมีการลงสรงสนาน รับพระปรมาพิไธยดำรงพระเกียรติยศเปนสมเดจพระบรมโอรสาธิราชบ้าง ยกการลงสรงเสีย มีแต่การพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยบ้าง เปนแบบอย่างมาแต่โบราณ จนถึงกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยานี้ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ได้มีการพระราชพิธีลงสรงสนานรับพระปรมาพิไธย ในพระบาทสมเดจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งหนึ่ง ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้มีการพระราชพิธีรับพระปรมาพิไธย ในพระบาทสมเดจพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกครั้งหนึ่ง เปนแบบอย่างมา

ในบัดนี้ สมเดจพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ มีพระชนมายุได้เก้าพรรษา สมควรที่จะได้มีการพระราชพิธีลงสรงสนาน แลรับพระปรมาภิไธยตามโบราณราชประเพณี จึ่งทรงพระราชดำริห์พร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ แลท่านเสนาบดี ให้จัดเตรียมการพระราชพิธีลงสรงตามแบบอย่างแต่ก่อน แล้วจึ่งมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้สถาปนาสมเดจพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ ขึ้นเปนสมเดจพระบรมโอรสาธิราช มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า สมเดจพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรบรมมกุฎนเรนทรสูริย์ขัตติยสันตติวงษ อุกฤษฐพงษวโรภโตสุชาติ ธัญญลักษณวิลาศวิบุลยสวัสดิ ศิริวัฒนวิสุทธิ สยามมกุฏราชกุมาร มุสิกนาม ตามตำแหน่งยศสมเดจหน่อพุทธเจ้า ซึ่งมีมาในพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาล ซึ่งได้ตั้งไว้ในจุลศักราช ๗๒๒ แลให้ทรงศักดินาแสนหนึ่ง เสมอสมเดจพระเจ้าลูกเธอ อันได้เฉลิมพระราชมณเฑียร เปนพระมหาอุปราชฝ่ายน่า ซึ่งมีมาในพระราชกำหนดตำแหน่งนาพลเรือน ซึ่งได้ตั้งไว้ในจุลศักราช ๘๒๘ นั้น

ขออาราธนาเทพยดาผู้มีมเหศวรศักดิอันประเสริฐ ซึ่งสถิตดำรงอยู่ในภูมิพฤกษอากาศกาญจนรัตนพิมาน ทั่วทุกแหล่งหล้าเปนอาทิ คือเทพยดาอันทรงนามสยามเทวาธิราช ซึ่งเปนอธิบดีได้บริรักษบำรุงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยานี้ แลเทพเจ้าผู้อภิบาลรักษานพปดลมหาเสวตรฉัตร ศิริรัตนราไชยสวริย์ แลเทพยอันรักษารัตนบัลลังก์พระที่นั่งบรมราชอาสน์ใหญ่น้อย ในพระราชนิเวศน์ บรมมหาสฐานทุกตำบล ทั้งเทพยเจ้าอื่นๆ ผู้มีทิพยานุภาพมหิทธิฤทธิศักดิ์สิทธิ สิงสภิตย์ในภูมิ์ลำเนาแนวพฤกษบรรพตากาศพิมาน ทุกสฐานทั่วพระราชอาณาจักร บันดาซึ่งมีไมตรีจิตรได้ผดุงบริรักษพระบรมราชวงษนี้ สืบมาจนกาลบัดนี้ จงได้ทำนุบำรุงรักษาสมเดจพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นี้ ให้ทรงพระเจริญทฤฆชนมายุ พรรณ ศุข พลปฏิภาณ ศิริสวัสดิพิพัฒนมงตล เกียรติยศอิศริยยศศักดิเดชานุภาพทุกประการ ขอให้พระเกียรติคุณอดุลยยศปรากฏไปสิ้นกาลนานเทอญ

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"