หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๓-๔.pdf/22

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๔ –

ของหญิง ซึ่งอาจรวมถึงสุขภาพจิตด้วย หรือหญิงมีครรภ์อันเนื่องมาจากการเป็นผู้ถูกกระทําในความผิfเกี่ยวกับเพศ เห็นได้ว่า กฎหมายบทนี้ให้การรับรองและคุ้มครองบุคคลผู้ที่กระทําผิดไปในสถานการณ์ที่จําเป็นและสมควรที่จะต้องกระทําโดยมิได้เลือกปฏิบัติต่อบุคคลใด จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตาม มาตรา ๒๓ ทั้งไม่ได้จํากัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของใคร จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๘

ส่วนกรณีตามมาตรา ๗๗ เป็นบทบัญญัติในหมวดที่ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่รัฐพึงใช้เป็นแนวทางในการตรากฎหมายเท่าที่จําเป็น รวมทั้งให้ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชน โดยเมื่อจะนํามาบังคับใช้ จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล ทั้งนี้ ก่อนตรากฎหมาย รัฐพึงจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ด้วยการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหา ผลกระทบ และสามารถเสนอแนะแนวทางใหม่ ๆ ที่หน่วยงานของรัฐอาจเข้าไม่ถึง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของรัฐอันเป็นบทบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่เป็นเพียงแนวนโยบายให้รัฐพึงใช้เป็นแนวทางดําเนินการตรากฎหมาย ทั้งกรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ นี้ ก็มีได้มีลักษณะใดที่ไปล่วงละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลใด จึงเห็นว่า ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗

ประเด็นที่ไม่ว่ากรณีที่ขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ตาม สมควรมีมาตรการปรับปรุงกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

เห็นว่า การใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมพฤติกรรมของผู้คนในสังคมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นในประเทศ อันเป็นภารกิจพื้นฐานของรัฐอย่างหนึ่งที่รัฐธรรมนูญกําหนดไว้ แต่การใช้กฎหมายนั้นก็จะต้องคํานึงถึงสภาพการณ์ของสังคมที่พลวัตอยู่ตลอดเวลาประกอบกันด้วย

แม้ว่าประมวลกฎหมายอาญาทั้งสองมาตราดังกล่าวจะไม่ถึงกับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นกฎหมายที่บังคับใช้มาเป็นระยะเวลานานกว่า ๖๐ ปีแล้ว ในขณะที่วิถีชีวิตของประชาชน สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก จึงมีความจําเป็นและเหตุผลอันสมควรที่จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ ให้สามารถสนองตอบต่อสภาวการณ์ในปัจจุบันได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดิม เพื่อให้มีทางออกใหม่เพิ่มเติมขึ้นให้แก่หญิงผู้ตั้งครรภ์ที่ต้องตกอยู่ในสภาพที่จําเป็นหรือทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงจนไม่สามารถจะแบกรับภาระหน้าที่ตามกฎหมายในกรณีนี่ต่อไปได้ เช่น ให้มีระบบช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ และหลังจากคลอดทารกนั้นแล้ว