หน้า:ประชุมจารึก (ภาค ๑) - ๒๔๗๗.pdf/161

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๔๓
คำแปลจารึก (หลักที่ ๑๒)
นายป่วน อินทุวงศ์ เปรียญ แปล

ศักราช ๑๙๗๐ จำเดิมแต่พระปรินิพพานแห่งสมเด็จพระสากยมุนีโคดมสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยสิริอันเลิศทรงกระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ประดับด้วยรัตนะมีประการต่าง ๆ อันบัณฑิตคำนวณนับโดยคุณมีญาณเป็นเครื่องรู้สรรพสิ่งทั้งปวงอันประเสริฐเป็นต้น ในเวลาฉายา ๑๑ บาท ตั้งแต่พระอาทิตย์อุทัย ประกอบด้วยโรหิณีนักษัตฤกษ์อันสมควรแก่สาธิโยค ในวันพฤหัสบดี ดิถีที่ ๔ ในสุกกปักษ์ แห่งเดือนไพสาขมาส คิมหันตฤดู ในปีมะเมีย อันเป็นปีที่ ๓๖ บริบูรณ์ด้วยสามารถพระราชสมภพแห่งพระเจ้าธรรมราชาธิราช ผู้ประกอบด้วยธรรมอันประเสริฐ พระสุเมธังกรคณะวนวาสี ผู้มีสิริประกอบด้วยคุณมีศีลแลญาณอันบวรเป็นต้น ผู้เป็นสังฆนายกอันเลิศ เป็นใหญ่กว่าพระสงฆ์ทั้งปวงซึ่งเป็นอุปัฏฐากอันเลิศของพระสุเมธังกรสังฆราช ผู้มีสิริคณะวันวาสี ประกอบด้วยญาณอันประเสริฐ ประดับด้วยคุณมีศีลอันดียิ่งแลปราศจากมลทินเป็นต้น อาศัยราชกำลังแห่งพระเจ้าสุริยวงศ์บรมปาลมหาธรรมราชาธิราช ผู้มีญาณอันเจริญและมีสิริเป็นคุณอันไพศาล เป็นพระราชโอรสแห่งพระเจ้าธรรมราชาธิราชผู้ประเสริฐ ทรงไว้ซึ่งกำลังคือเดชอันกล้า ได้จารึกรอยพระบาททั้งคู่แห่งพระสุคต ผู้เป็นใหญ่กว่ากวีทั้งหลาย ลงบนแผ่นศิลาบัตรอันกว้างนี้ ซึ่งพระวิทยาวงศมหาเถร ผู้ฉลาดในจิตรกรรมอันดี นำมายังกรุงสุโขทัยบุรี โดยราชานุเคราะห์แห่งพระเจ้ามหาธรรมราช ผู้เป็นชนกนาถแห่งพระเจ้าบรมปาลาธิราช ผู้เป็นใหญ่กว่านรชน รอยพระบาททั้งคู่นี้บริบูรณ์ด้วยมงคลอันยิ่ง ๑๐๘ ประการ ประกอบด้วยลักษณะแห่งจักรอันงามวิจิตรต่าง ๆ