หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖) - ๒๔๖๐.pdf/84

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๗๗

ไม่มีเครื่องสาตราวุธที่จะทำลายค่ายพม่า ให้เข้าขอปืนใหญ่ที่ในกรุง ก็ไม่ได้ออกไป ด้วยข้างในกรุงเกรงว่า ถ้าเสียค่ายบางระจัน ปืนใหญ่จะตกไปเปนกำลังของข้าศึก พม่าจึงตงค่ายเข้าประชิตค่ายไทยพวกบางระจันได้ เพราะพม่ามีเครื่องสาตราวุธดีกว่าชาวบ้านบางระจัน รบพุ่งกันไป ก็ฆ่าฟันพวกไทยล้มตายเปลืองไปทุกที แต่พวกบางระจันตั้งสู้พม่าอยู่ถึง ๕ เดือน ตั้งแต่เดือน ๔ ปีระกา จนถึงณวัน ค่ำ ปีจอ จุลศักราช ๑๑๒๘ พ,ศ, ๒๓๐๙ จึงเสียค่ายแก่พม่า พวกราษฎรที่เหลือตายต่างก็แตกหนีไป ครั้นพม่าได้ค่ายบางระจันแล้ว ก็ยกเข้ามาตั้งค่ายรายล้อมกรุง กองทัพเนเมียวสีหบดีตั้งล้อมด้านเหนือกับด้านตวันออก กองทัพมังมหานรธาล้อมด้านใต้กันด้านตวันตก ส่วนข้างในกรุง ก็ให้กวาดต้อนผู้คนไว้ในพระนคร สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวชอยู่วัดประดู่ก็เสด็จเข้ามาอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน ข้าราชการแลราษฎรพากันมาเชิญเสด็จให้ลาผนวชออกบัญชาการต่อสู้ข้าศึกอิก ก็ไม่ยอมลาผนวช ในตอนนี้ ตามเนื้อความที่ปรากฎในจดหมายเหตุบาตหลวงก็ว่า พม่ายังไม่รีบร้อนที่จะตีพระนคร เปนแต่ให้เที่ยวปล้นเผาหมู่บ้านในชานพระนคร เช่น บ้านวิลันดา บ้านโปจุเกต อยู่แถวเหนือครองตะเคียน เปนต้น ค่อยรุกกระชั้นเข้าไปโดยลำดับ

พม่าตั้งค่ายล้อมพระนครเสร็จแล้ว ปรากฎในหนังสือพงษาดารพม่าว่า แต่งกองทัพยกเข้าตีปล้นพระนครหลายครั้ง