กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


กฎกระทรวง[1]
คุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล
พ.ศ. ๒๕๕๗


อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑

ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้

“งานประมงทะเล” หมายความว่า งานหรือการกระทําอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทําประมงในทะเลโดยใช้เรือประมงหรือเรืออื่นที่เกี่ยวข้องกับการประมง

“เรือประมง” หมายความว่า เรือที่ใช้สําหรับงานประมงทะเล

“นายจ้าง” หมายความว่า นายจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและให้หมายความรวมถึงเจ้าของเรือประมงซึ่งใช้หรือยอมให้บุคคลอื่นใช้เรือประมงนั้นทํางานประมงทะเลเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กัน แต่มิให้หมายความรวมถึงเจ้าของเรือประมงซึ่งให้ผู้อื่นเช่าเรือประมงเพื่อประกอบกิจการงานประมงทะเลโดยตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

“ค่าจ้าง” หมายความว่า ค่าจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและให้หมายความรวมถึงเงินส่วนแบ่งที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามมูลค่าสัตว์น้ําที่จับได้

ข้อ ๓ การคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้เว้นแต่การคุ้มครองแรงงานตามบทบัญญัติหมวด ๑ บททั่วไป มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๑/๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๔/๑ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ หมวด ๕ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทํางานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด มาตรา ๗๖ และมาตรา ๗๗ หมวด ๖ คณะกรรมการค่าจ้าง มาตรา ๘๙ และมาตรา ๙๐ หมวด ๑๒ การยื่นคําร้องและการพิจารณาคําร้อง มาตรา ๑๒๓ มาตรา ๑๒๔ มาตรา ๑๒๔/๑ และมาตรา ๑๒๕ หมวด ๑๓ กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มาตรา ๑๓๔ มาตรา ๑๓๕ มาตรา ๑๓๖ และมาตรา ๑๓๗ หมวด ๑๔ พนักงานตรวจแรงงาน มาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ และมาตรา ๑๔๒ และหมวด ๑๕ การส่งหนังสือ มาตรา ๑๔๓ ให้นายจ้างและลูกจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑

ข้อ ๔ ห้ามนายจ้างจ้างลูกจ้างที่มีอายุต่ํากว่าสิบแปดปีทํางานในเรือประมง

ข้อ ๕ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักไม่น้อยกว่าสิบชั่วโมงในระยะเวลาการทํางานยี่สิบสี่ชั่วโมงและไม่น้อยกว่าเจ็ดสิบเจ็ดชั่วโมง ในระยะเวลาการทํางานเจ็ดวันและจัดทําหลักฐานเวลาพักไว้ เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบ

ในกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทํางานในเวลาพักได้โดยต้องจัดให้มีเวลาพักชดเชยโดยเร็ว และให้จัดทําหลักฐานเวลาพักไว้

ข้อ ๖ ให้นายจ้างจัดทําสัญญาจ้างเป็นหนังสือที่มีข้อความถูกต้องตรงกันจํานวนสองฉบับโดยมอบให้ลูกจ้างเก็บไว้หนึ่งฉบับ เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบ

สัญญาจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนด

ให้นายจ้างนําลูกจ้างไปรายงานตัวต่อพนักงานตรวจแรงงานปีละหนึ่งครั้ง นับแต่วันทําสัญญาจ้างตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๗ ในกรณีที่นายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ให้นายจ้างจัดทําทะเบียนลูกจ้างเป็นภาษาไทยและเก็บไว้ ณ สถานที่ทํางานของนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบและให้ส่งสําเนาทะเบียนลูกจ้างให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันเริ่มจ้างลูกจ้างเข้าทํางาน

ทะเบียนลูกจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนด

ให้นายจ้างเก็บรักษาทะเบียนลูกจ้างไว้ไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างแต่ละราย

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนลูกจ้าง ให้นายจ้างแก้ไขเพิ่มเติมทะเบียนลูกจ้างให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง และแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายทราบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง

ข้อ ๘ นอกจากการดําเนินการตามข้อ ๗ แล้ว ให้นายจ้างจัดทําเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างและค่าทํางานในวันหยุดเป็นภาษาไทยและเก็บไว้ ณ สถานที่ทํางานของนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบ และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อตัวและชื่อสกุล

(๒) ตําแหน่งหน้าที่ในงานประมงทะเล

(๓) อัตราและจํานวนค่าจ้างและค่าทํางานในวันหยุดที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง

เมื่อมีการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารตามวรรคหนึ่งไว้เป็นหลักฐาน

ในกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างหรือค่าทํางานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ให้ถือว่าหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของลูกจ้างเป็นเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายเงินดังกล่าว

ให้นายจ้างเก็บรักษาเอกสารตามวรรคหนึ่งไว้ไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันจ่ายเงิน

ข้อ ๙ ในกรณีที่มีการยื่นคําร้องว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้หรือมีข้อพิพาทตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน หรือเมื่อมีการฟ้องร้องคดี ให้นายจ้างเก็บรักษาทะเบียนลูกจ้างและเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างและค่าทํางานในวันหยุดไว้จนกว่าจะมีคําสั่งหรือคําพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ข้อ ๑๐ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างและค่าทํางานในวันหยุดให้ถูกต้องและตามกําหนดเวลาดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่มีการคํานวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมงหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นที่ไม่เกินหนึ่งเดือน ให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง

(๒) เงินส่วนแบ่งที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามมูลค่าของสัตว์น้ําที่จับได้ให้จ่ายตามกําหนดเวลาที่ตกลงกัน แต่ต้องไม่เกินสามเดือนต่อหนึ่งครั้ง

(๓) ค่าทํางานในวันหยุด ให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง

ข้อ ๑๑ ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างและค่าทํางานในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี

ในกรณีที่นายจ้างจงใจผิดนัดไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกําหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกําหนดจ่าย ให้นายจ้างจ่ายเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน

ถ้านายจ้างพร้อมที่จะชําระเงินตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง และได้นําเงินนั้นไปมอบไว้แก่พนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่ทําสัญญาจ้างหรือที่นายจ้างมีภูมิลําเนาเพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้าง การจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มสําหรับเงินจํานวนดังกล่าวให้เป็นอันระงับตั้งแต่วันที่นายจ้างนําเงินนั้นไปมอบไว้

ข้อ ๑๒ ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจําปีในปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ทั้งนี้ให้นายจ้างเป็นผู้กําหนดล่วงหน้าหรือกําหนดตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน โดยให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ํา เว้นแต่ในกรณีที่นายจ้างตกลงจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าก็ให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น

ถ้านายจ้างให้ลูกจ้างทํางานในวันหยุดประจําปีตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายค่าทํางานในวันหยุดแก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๑๓ ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยเท่ากับค่าจ้างในวันทํางานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันทํางาน

ข้อ ๑๔ ในกรณีที่ลูกจ้างตกค้างอยู่ในต่างประเทศเนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้าง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของอัตราค่าจ้างขั้นต่ําตลอดเวลาที่ลูกจ้างตกค้างอยู่ในต่างประเทศ เว้นแต่ในกรณีที่นายจ้างตกลงจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่า ก็ให้ใช้อัตราค่าจ้างตามข้อตกลงนั้นเป็นฐานในการคํานวณ

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้านายจ้างได้แจ้งเป็นหนังสือต่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกจ้างต้องไปตกค้างอยู่ในต่างประเทศ โดยนายจ้างแสดงเจตนานําลูกจ้างทั้งหมดกลับสถานที่ที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทํางาน และออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับ

ข้อ ๑๕ ให้นายจ้างดําเนินการหรือออกค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างกลับสถานที่ที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทํางาน ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เรืออับปางหรือไม่อาจใช้การได้โดยสิ้นเชิง

(๒) ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต เนื่องจากการทํางาน

(๓) นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกําหนดอายุสัญญา หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาจ้างโดยลูกจ้างไม่ยินยอม

(๔) สัญญาจ้างครบกําหนดในระหว่างเวลาที่ลูกจ้างทํางานอยู่ในที่อื่นอันมิใช่สถานที่ทําสัญญาจ้าง

ในกรณีที่นายจ้างไม่ดําเนินการตามวรรคหนึ่ง และหน่วยงานราชการได้ดําเนินการส่งลูกจ้างกลับให้หน่วยงานราชการนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยสําหรับเงินที่ได้จ่ายไปแล้วนั้นคืนจากนายจ้าง

ข้อ ๑๖ ให้นายจ้างจัดให้มีอาหารและน้ําดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะ ห้องส้วม เวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในจํานวนที่เพียงพอ เพื่อให้เหมาะสมกับการทํางานและระยะเวลาการใช้ชีวิตบนเรือ

ข้อ ๑๗ ให้นายจ้างให้ความรู้แก่ลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการทํางาน การใช้เครื่องมือ สุขภาพอนามัยสภาพความเป็นอยู่บนเรือ และอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเรือ ก่อนการทํางาน


ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๘๘ ก/หน้า ๙๕ - ๙๙/๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"