กฎหมายลักษณทาษ/พระราชบัญญัติ เรื่อง กู้เงินฃายตัว

จาก วิกิซอร์ซ

 พระราชปัญญัติมีอยู่ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑ น่า ๑๘๐ เรื่อง กู้เงินแลขายตัว ให้คิดดอกเบี้ยเพียงชั่งละบาท ๚ะ

 ด้วยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้ประกาศแก่เจ้าตั้งกรมแล้ว เจ้ายังไม่ไดตั้งกรม ฝ่ายน่าฝ่ายใน แลข้าทูลอองธุลีพระบาท ในพระบรมมหาราชวัง แลพระราชวังบวรสถานมงคล ฝ่ายทหารพลเรือน แลหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือ แลราษฎรในกรุงนอกกรุง ให้ทราบทั่วกัน ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเศกแล้ว ประกอบด้วยพระมหากรุณาปรีชาญาณ การที่จะทำนุบำรุงรักษาพระบวรพุทธสาศนาเปนที่ปสันนาการเลื่อมใส พระราชหฤไทยโอบอ้อม รักษาสมณพราหมอาณาประชาราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตรขอบขันธ์เสมา บันดาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้รับพระราชทานทำมาหากินอยู่เยนเปนศุขทั่วกัน จึ่งทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ แต่ยังเปนสมุหพระกระลาโหมอยู่นั้น สำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณ ว่าราชการณเก๋งวรเทพยสถาน รับฎีกาตัดสีนกิจทุกข์ขัดข้องผู้มีคดีต่าง ๆ ด้วยน้ำใจเสมอโดยทางยุติธรรม แลทาษลูกนี่มาร้องฎีกากล่าวโทษเจ้านี่นายเงินต่อสู้ต้นเงินดอกเบี้ยเปนความกันอยู่ที่โรงสาลโดยมาก เหนว่า แต่ก่อน ผู้ให้ทาษลูกนี่กู้ขายจำนำผูกดอกเบี้ยชั่งละสิบสลึงบ้าง กึ่งตำลึงบ้าง เปนธรรมเนียมแต่เดิมต่อ ๆ มา ครั้นผู้ที่ขัดสนร้อนใจอยากได้เงินมาใช้ ก็ทำสารกรมธรรม์กู้ขายจำนำสัญญาให้ดอกเบี้ยชั่งละห้าบาทบ้าง ตำลึงบ้าง สามบาทบ้าง ที่ทาษลูกนี่ไม่สู้ร้อนใจ ก็ทำสารกรมธรรม์สัญญาให้ดอกเบี้ยชั่งละกึ่งตำลึงบ้าง หกสลึงบ้าง บาทหนึ่งบ้าง สัญญากันมาก ๆ น้อย ๆ เพราะเจ้านี่นายเงินให้กู้ขายจำนำเงินไม่สู้มากเหมือนอย่างเงินให้กู้ขายจำนำในกาลประจุบันนี้ ๚ะ

 ประการหนึ่ง ลูกค้าพานิชในประเทศนอกประเทศเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเปนอันมาก ตั้งห้างแลบ้านเรือนตึกแพค้าขายทำมาหากินมีทรัพย์สิ่งสีนก็บริบูรณ์มากกว่าแต่ก่อน อาณาประชาราษฎรก็เปนปรกติมีความศุขสบาย ผู้ที่มีทรัพย์ให้กู้ขายแลรับจำนำ ถ้าเงินมาก ก็เอาดอกเบี้ยแต่เพียงชั่งละบาทบ้าง สองสลึงบ้าง ถึงมีผู้มากู้เงินหลวงไปทำทุนค้าขายใช้สอย ก็ลดหย่อนดอกเบี้ยเอาแต่ชั่งละบาทบ้าง สองสลึงบ้าง เจ้านี่ที่ให้กู้ขายจำนำดอกเบี้ยแต่น้อยนั้นเหมือนมีส่วนหุ้นเข้าทุนกันค้าขายมีกำไรได้ดอกเบี้ยเปนประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่ทาษลูกนี่ที่เสียดอกเบี้ยแพง ชั่งละห้าบาท ตำลึงหนึ่ง สามบาท สิบสลึง กึ่งตำลึงนั้น ไม่มีเงินจะเสีย คิดฉ้อต่อสู้เจ้านี่นายเงินด้วยอุบายต่าง ๆ จะตัดสีนให้ทาษลูกนี่เสียเงินให้แก่เจ้านี่นายเงินตามสัญญามาก ๆ น้อย ๆ นั้น หาเปนยุติธรรม์ไม่ จึ่งได้ตัดสีนให้ลดหย่อนผ่อนดอกเบี้ยลงบ้าง ให้ตีลดสีนไหมลดพิไนยแลดอกเบี้ยบ้าง ให้ส่งไปใช้การหลวงโรงสีปีหนึ่งแล้วคืนไปให้แก่เจ้านี่นายเงินบ้าง ความทาษลูกนี่วิวาทกันด้วยดอกเบี้ยยังชุกชุมค้างโรงสาลมีอยู่โดยมาก จึ่งมีพระประสาตรสั่งให้ขุนหลวงพระไกรศรีห์ชุมนุมลูกขุนณสาลหลวงเชิญกฎหมายเดิมมาดูให้แต่งเปนหมายประกาศพระราชบัญญัติขึ้นใหม่สำหรับไว้ตัดสีนคดีเจ้านี่นายเงินทาษลูกนี่ต่อไป ๚ะ

 ข้าพระพุทธเจ้า พระมหาราชครูปโรหิตาจารย ๑ พระมหาราชครูมหิธร ๑ พระยามนูเนติบรรหาร ๑ พระยามนูสารสาตรบัญชา ๑ พระศรีสังขกร ๑ หลวงเทพราชธาดา ๑ หลวงธรรมสาตร ๑ หลวงอัทยา ๑ หลวงศรีมโหสถ ๑ ขุนไชอาญา ๑ ขุนจินดาภิรมย์ ๑ พร้อมกันเชิญกฎหมายเดิมมาดู มีว่า ๚ะ

 ทวยราษฎรกู้นี่ถือสีนแก่กันแต่ตำลึงขึ้นไป ให้มีกรมธรรม์แกงใดเปนสำคัญ ให้ผูกดอกเบี้ยเดือนละเฟื้อง ถ้าหาเอกสารสำคัญมิได้ มาร้องฟ้อง ท่านว่า อย่าให้รับไว้บังคับบัญชา ๚ะ

 มีกฎหมายไว้แต่ก่อนดั่งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ ว่า ผู้ที่ให้ลูกนี่กู้ขายแลจำนำนั้น ให้ทำสารกรมธรรม์ให้ดอกเบี้ยยอมได้ยอมเสียให้กันตามสัญญาบ้าง ตามกฎหมายบ้าง มากกว่ากฎหมายบ้าง น้อยจากกฎหมายบ้าง ที่ลูกนี่สัญญาให้ดอกเบี้ยมาก ไม่มีเงินเสีย ก็หลบหนีไปบ้าง ไปพึ่งเจ้านายให้ขัดขวางไว้บ้าง มาฟ้องต่อสู้เจ้านี่นายเงินบ้าง ที่ทาษลูกนี่แพ้เจ้านี่นายเงินก็ต้องจำเร่งรัดตามอาญาตระลาการได้ความยากลำบากที่จะได้เงิน ฃอพระราชทานให้ลดหย่อนผ่อนดอกเบี้ยลง คงให้เจ้านี่นายเงินเอาดอกเบี้ยกู้ฃายจำนำแลฅ่าป่วยการแก่ทาษลูกนี่เงินชั่งหนึ่งเดือนละบาท ทาษลูกนี่ก็จะมีน้ำใจด้วยเสียดอกเบี้ยแต่น้อย จะไม่ได้คิดหลบหนีแลต่อสู้เจ้านี่นายเงิน จะหาเงินมาส่งได้โดยสดวก ความทาษลูกนี่ก็จะค่อยบางเบาน้อยลง ๚ะ

 แต่นี้สืบไปเมื่อน่า ถ้าผู้ใดทำสารกรมธรรม์ เอาภรรยาบุตรหลานญาติพี่น้องทาษแลผู้ใด ๆ มาขายไว้แก่ท่านก็ดี แลขายตัวเองอยู่กับท่านก็ดี รับใช้นายเงินแล้วหนีไปก็ดี ผูกดอกเบี้ยอยู่ที่บ้านที่เรือนนายเงิน แลผูกดอกเบี้ยไปอยู่ต่างบ้างต่างเรือนก็ดี ผู้ใดทำสารกรมธรรม์กู้เงินท่านไปก็ดี ผู้ใดเอาที่ไร่นาสวนบ้านเรือนตึกเรือแพแลสรรพสิ่งใด ๆ มาทำหนังสือขายจำนำไว้แก่ท่านก็ดี แลทำหนังสือสัญญาให้ดอกเบี้ยกันด้วยประการ ๆ ใดก็ดี ถ้าเจ้านี่นายเงินกับทาษลูกนี่วิวาทกันด้วยดอกเบี้ยค่าป่วยการก่อนหมายประกาศ ก็ให้ตัดสีนให้ทาษลูกนี่เสียดอกเบี้ยแลค่าป่วยการให้แก่เจ้านี่นายเงินเดือนหนึ่งตำลึงละเฟืองเปนชั่งละสิบสลึงตามกฎหมายเดิม ถ้าสัญญาให้ดอกเบี้ยต่ำจากชั่งละสิบสลึงลงมา ให้ตัดสีนเอาตามสัญญา ถ้าสัญญาให้ดอกเบี้ยมากกว่าชั่งละสิบสลึงขึ้นไป แลทาษลูกนี่ส่งดอกเบี้ยให้แก่เจ้านี่นายเงินไปก่อนแล้ว ก็ให้เปนลาภแก่เจ้านี่นายเงิน แลดอกเบี้ยที่ยังค้างอยู่นั้น ให้ตัดสีนให้ทาษลูกนี่เสียเงินดอกเบี้ยค่าป่วยการให้แก่เจ้านี่นายเงินชั่งละสิบสลึง ถ้าถึง ๙ ปี ๑๐ ปี แลช้านานเท่าใดก็ดี ให้คิดเอาดอกเบี้ยแต่เท่าต้นเงิน อย่าให้คิดเอาดอกเบี้ยค่าป่วยการเกินต้นเงินออกไปเปนอันขาดทีเดียว ถ้าภายหลังหมายประกาศพระราชบัญญัตินี้ ทาษลูกนี่กับเจ้านนายเงินวิวาทกันด้วยต้นเงินดอกเบี้ยค่าป่วยการดั่งกล่าวมานี้ ก็ให้ตัดสีนให้ทาษลูกนี่กู้ขายจำนำแลมีหนังสือสัญญาให้ดอกเบี้ยกันต่าง ๆ นั้นเสียเงินดอกเบี้ยค่าป่วยการให้แก่เจ้านี่นายเงินเดือนหนึ่งชั่งละบาทเสมอกัน ถ้าทำสารกรมธรรม์กู้ขายจำนำแลหนังสือสัญญาให้ดอกเบี้ยแก่กันต่ำจากชั่งละบาทลงมา ก็ให้ตัดสีนเอาตามสัญญา เพระาเหตุว่าเจ้านี่นายเงินปรานีแก่ทาษลูกนี่ ถ้าทำสารกรมธรรม์กู้ขาย แลหนังสือจำนำสัญญาให้ดอกเบี้ยมากกว่าชั่งละบาทขึ้นไป แลทาษลูกนี่ได้ส่งดอกเบี้ยให้แก่เจ้านี่นายเงินไปก่อนแล้ว ให้เปนลาภแก่เจ้านี่นายเงินแต่ที่ได้ไว้ แลดอกเบี้ยซึ่งค้างอยู่นั้น ให้ตัดสีนให้ทาษลูกนี่เสียเงินดอกเบี้ยค่าป่วยการให้แก่เจ้านี่นายเงินแต่ชั่งละบาทตามหมายประกาศ ดอกเบี้ยที่สัญญาเกินชั่งละบาทนั้นให้ยกเสีย หนึ่ง ทำสารกรมธรรม์กู้ขายจำนำแลทำหนังสือสัญญากันด้วยประการใด ๆ ก็ดี มีสัญญาให้ดอกเบี้ยแก่กันเดือนหนึ่งชั่งละสองสลึงก็ดี ต่ำจากชั่งละสองสลึงลงมาก็ดี ให้มีกำหนดสัญญาครบปี ให้ส่งดอกเบี้ยให้เสร็จ อย่าให้ดอกเบี้ยค้างล่วงปีไป ถ้าดอกเบี้ยครบปี ทาษลูกนี่ไม่ได้เอาดอกเบี้ยมาส่ง ดอกเบี้ยค้าง ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปีก็ดี ยังไม่เท่าต้นเงิน ให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างบวกเข้าในเงินเดิมเปนต้นเงินสลักหลังกรมไว้ ให้คิดเอาดอกเบี้ยต่อไปชั่งละสองสลึง ถ้าทาษลูกนี่ไม่ได้ส่งดอกเบี้ยค้างมาช้านาน คิดบวกเท่าต้นเงินแล้ว ให้เจ้านี่นายเงินคิดเอาดอกเบี้ยแต่เท่าต้นเงิน อย่าให้คิดเอาดอกเบี้ยต่อไปอีกเลย ซึ่งเจ้านี่นายเงินคิดเอาดอกเบี้ยแก่ทาษลูกนี่ชั่งละสองสลึงฤๅต่ำจากชั่งละสองสลึงตามจำนวนเงินที่สัญญาเพราะดอกเบี้ยน้อยจึ่งให้เสียกันดั่งนี้ พระราชบัญญัติประกาศใหม่ให้ไว้ณวันศุกร เดือนสี่ ขึ้นสองฅ่ำ ปีมโรงนักษัตร สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ ๚ะ