ข้ามไปเนื้อหา

กฎหมายไทยฯ/เล่ม 4/เรื่อง 2

จาก วิกิซอร์ซ
ประกาศเพิ่มเติมเรื่องเงินพินัยหลวง
ครั้งที่ ๑

มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศแก่อธิบดีกรมศาลต่าง ๆ ให้ทราบทั่วกันว่า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเรื่องเงีนพิไนยหลวงไว้แต่วันที่ ๒๐ เดือนพฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ นั้น บัดนี้ ทรงพระราชดำริหว่า บาญชีเงินพิไนยหลวงที่กรมศาลต่าง ๆ ทำยื่นต่อเจ้าพนักงานกรมสร่วย กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ นั้น ยังไม่มีสิ่งใดซึงจะเปนบาญชีคู่สอบของเจ้าพนักงานกรมสร่วย ถ้าความรายใดที่ได้นำขึ้นเสนอต่อลูกขุน ๆ ส่งให้ผู้ปรับ ๆ ความรายนั้นก็สอบกับบาญชีผู้ปรับที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานกรมสร่วยบ้าง ถ้าเปนความที่อธิบดีกรมตัดสิน กรมสร่วยไม่อาจที่จะล่วงรู้ได้ ยื่นบาญชีอย่างไร ต้องรับเงินไปอย่างนั้น ถึงมาทว่าเจ้าพนักงานกรมใดมีความสุจริตภักดีต่อราชการ งบบาญชียื่นแต่โดยตรง ไม่คิดจะบังเงินหลวงไว้เปนอาณาประโยชน์ก็ดี ฤๅผู้ที่คิดจะฉ้อบังเงินหลวงไว้เปนอาณาประโยชน เปนต้นว่า เงินพิไนยหลวงมากหลายราย งบบาญชียื่นแต่น้อยราย ดังนี้ก็ดี ไม่มีสิ่งใดซึงจะเปนพยานเชิดชูความดีของผู้สุจริตแลเปนเขตรป้องกันความชั่วของผู้ทุจริตได้ เพราะฉนั้น จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป ถ้ากรมใดมีความที่ผู้ปรับ ๆ มีเงินพิไนยหลวงก็ดี ฤๅความที่อธิบดีกรมตัดสินเอง มีเงินพิไนยหลวงก็ดี ให้เจ้าพนักงานกรมนั้นทำใบสัจฤๅคำตัดสินไปประทับตรากรมสร่วย กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เสียก่อน จึงมาเร่งเงินต่อผู้ต้องปรับตามจำนวนเงินที่ผู้ปรับ ๆ แลอธิบดีกรมตัดสินมานั้น กรมสร่วย กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จะไม่เรียกเงินคาตราแลค่าธรรมเนียมสิ่งไรต่อเจ้าพนักงานผู้นำไปประทับแลผู้ต้องปรับเลยเปนอันขาด สำหรับจะได้เปนคู่สอบของเจ้าพนักงานกรมสร่วย กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพื่อเปนการเชิดชูความดีของผู้สุจริต แลเปนเขตรป้องกันความชั่วของผู้ทุจริต กับจะได้เปนการเรียบร้อยสมควรแก่ราชการต่อไป ถึงกำหนดงวดสามเดือน ให้กรมศาลต่าง ๆ งบบาญชีไปยื่นต่อเจ้าพนักงานกรมสร่วย กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ตามเคย ถ้ากรมใดยื่นหางว่าวขาดเงินพิไนยหลวงจากบาญชีรายประทับตราก็ดี ฤๅความรายใดที่ผู้ปรับ ๆ ฤๅอธิบดีตัดสินมาแล้วก็ดี ขุนศาลตระลาการหานำไปประทับตรากรมสร่วย กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ไม่ ปิดบังไว้เร่งเงินต่อผู้ต้องปรับเปนอาณาประโยชน ไม่นำส่งต่อเจ้าพนักงานกรมสร่วยก็ดี มีผู้มาร้องฟ้อง พิจารณาเปนสัจ จะปรับผู้ยื่นฐานฉ้อเงินพิไนยหลวงตามพระราชบัญญัติเดิมซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งไว้แต่ณวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ นั้นทุกประการ

ประกาศมาณวันที่ ๗ เดือนสิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ เปนวันที่ ๘๓๐๕ ในรัชการปัตยุบันนี้