กระแสรับสั่งรัชกาลที่ ๔ เรื่องสุริยอุปราคา เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๔๑๑

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสิงหนาท ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จดหมายเหตุที่บังเกิดมี เมื่อเวลาสุริยุปราคาเปนในวัน ๑๐ ค่ำ ปีมโรงสัมฤทธิ ไว้ให้ท่านทั้งปวงทราบดังนี้ :-

ที่ค่ายหลวงหว้ากอ เปนที่ทรงพระราชดำริห์ว่าจะเปนที่ควรจะเห็นเปนกลางคราธสุริยุปราคาสิ้นดวง แล้วมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้ไปตั้งแต่งไว้เปนที่ประทับนั้นมีกำหนด ลองชิตตูด ๙๙ องศา ๔๐ ลิบดา ๒๐ พิลิพ คิดมาแต่ที่ครูครินวิช เปนทิศตวันตกกรุงเทพฯ ไปเพียง ๔๙ ลิบดากับ ๔๐ พิลิพ เวลาผิดกันกับกรุงเทพฯ ๓ นาทีกับ ๑๖ วินาทีเศษเล็กน้อย มีลาติตุดขิปทุวิเหนือ ๑๑ องศา ๔๑ ลิปดา ๔๐ พิลิพ เปนข้างใต้กรุงเทพฯ ลงไป ๒ องสา ๓ ลิบดา ๒๙ พิลิพ

ที่ค่ายหลวงหว้ากอ ทรงพยากรณ์ว่าจะจับทิศพายัพเวลา ๑๐ นาฬิกากับ ๖ นาทีแต่เที่ยงคืน แต่เกิดเมฆฝนดำมืดมิดปิดเสียหมดไม่เห็นเลยเมื่อแรกจับ อยู่มาจนเวลา ๑๐ นาฬิกากับ ๔๖ นาที เมฆจึงจางออกไปเห็นดวงพระอาทิตย์ไรๆ แลดูพอรู้ว่าจับแล้วสักส่วนหนึ่ง ยังเหลือสักสองส่วนดวงพระอาทิตย์ เมื่อนั้นจึงได้ประโคมสรงมุรธาภิเศก ในระหว่างนั้นเมฆขาวดำปิดดวงพระอาทิตย์ เห็นบ้างในระวางๆ ไม่เห็นบ้าง คราธคือที่แหว่งไม่หันไปทิศไหน เดินตรงไปทีเดียว เมื่อเวลาสรงพระมุรธาภิเศกแล้วนาฬิกาได้ ๑๑ นาฬิกากับ ๕ นาทีแต่เที่ยงคืน จึงได้ทรงประเคนสำรับพระสงฆ์ รับสั่งว่ายังอิกกึ่งนาฬิกาจึงจะสิ้นดวงให้รีบฉันเถิด คราธก็ตรงเข้าไปแต่ทิศพายัพ เหลือข้างทิศอาคเณย์ เมื่อเวลา ๑๑ นาฬิกากับ ๒๕ นาที แดดไม่ร้อน แสงร้อนอ่อนมาก คนร้องกันว่าเหมือนเดือนหงาย ครั้นถึง ๓๐ นาที ดวงพระอาทิตย์เหลือน้อย ถ้าจะคิดดวงพระอาทิตย์แบ่งสัก ๑๒ ส่วน จะเหลืออยู่ไม่ถึงส่วน ๑ เมื่อนั้นท้องฟ้าตรงดวงพระอาทิตย์ไปจนข้างตวันตกเปนต้นลม สว่างไม่มีเมฆเลยทีเดียว คนร้องว่าหมดแล้ว เห็นดาวแล้วอื้ออึงมาก แต่ที่จริงยังไม่หมด ไปหมดต่อ ๑๑ นาฬิกา ๓๖ นาที ๒๒ วินาที

เมื่อดวงพระอาทิตย์เหลือน้อย ดูในกล้องก็เห็นเปนเส้นขอบโอบวงมืดอยู่ เพราะดูด้วยกล้องที่กำบังด้วยกระจกสี แต่ดูด้วยตาเปล่าวงขอบนั้นรัดกลมเข้ามาดูเหมือนดวงดาว แต่รัดเล็กเข้าไปทุกทีเหมือน ตัวหิ่งห้อยแล้วจึงหายไป มีแต่สีขาวหลัวคล้ายเมฆขาวล้อมรอบวงดำอยู่ ครั้นดวงพระอาทิตย์ลับหายไป นาฬิกาคนถือดูก็ไม่เห็นมืดเหมือนกลางคืน ครั้นไปประมาณนาที ๑ ฤๅยังไรไม่แน่เพราะไม่เห็นนาฬิกา ในกล้องแลเห็นเปนกิ่งงางอนๆ ช้อนไปข้างทิศตวันออกของดวงดำที่ทับพระอาทิตย์อยู่ จมอยู่ในแสงขาวหลัวๆ รอบดวงดำนั้น เมื่อส่องด้วยกล้องใหญ่ คล้ายๆ กิ่งลั่นทมฤๅการังเขากวางปลายป้านๆ ไม่แหลม แต่ดูเห็นว่าเปนของมีตัวแท้ จะเปนรัศมีบันดาลนั้นหามิได้ ของก็ไม่ควรจะเห็นเพราะแสงขาวชักให้เห็นออกมาเหมือนกะแปะที่วางไว้ในถ้วยใหญ่คนอยู่ที่ข้างหนึ่งขอบถ้วยยังไม่เห็นแล้ว ครั้นน้ำเทลงในถ้วยถึงกะแปะไม่ลอยขึ้นไม่กระเทือนไป คนไม่ได้ชะเง้อขึ้นก็เห็นได้ด้วยกำลังเงาน้ำชัก ครั้นล่วงไปอิกสัก ๓ นาที จวนดวงพระอาทิตย์จะผุดออกข้างทิศพายัพ ก็เห็นเปนเงาเช่นนั้นเคียงติดกันเปนคู่ออกข้างทิศพายัพอิก ของเดิมก็ไม่หายไป ครั้นล่วงมาสัก ๕ นาทีเศษเห็นเปนฟันเลื่อยที่วงดำน้อยๆ ข้างทิศประจิมค่อนหรดีในดวงดำนั้น ครั้นแล้วพระอาทิตย์ผุดออกมา มีรัศมีเปนแสงสว่างเห็นนาฬิกาได้ ขณะนั้นนาฬิกาได้ ๑๑ นาฬิกา กับ ๔๓ นาที ๗ วินาที ถูกต้องกับที่ทรงพยากรณ์ไว้ไม่คลาศเลย พ้นนั้นไปไม่ได้ทรงกำหนด เพราะแสงพระอาทิตย์กล้าหนักขึ้นทุกที ได้ทอดพระเนตรต่อเมื่อจวนจะหลุดคราธ ก็คงอยู่ทิศอาคเณย์ จนหลุดบ่ายโมง ๑ กับ ๙ นาที เกินที่ทรงพยากรณ์ไปนาที ๑

การครั้งนี้ได้ทรงปฏิญญาการฉลองการบูชาแก่เทวดารักษาพระราชวังแลพระนครแลเทวดาเจ้าป่า ขอให้ท้องฟ้าสว่างในระวางบาทนาฬิกาเดียว เทวดาอารักษ์ทั้งในกรุงฯ นอกกรุงฯ ดูเหมือนช่วยทำให้สำเร็จดังพระราชประสงค์ ควรขอบใจเทวดาที่ฟังพระราชปฏิญญา ทำให้สมพระราชประสงค์เปนอัศจรรย์ เทวดาได้เครื่องสังเวยลางคราวเล็กน้อยดอก ยังรับอาสาทำให้สำเร็จพระราชประสงค์ได้เห็นด้วยในพระราชดำริห์ ก็ท่านผู้เปนพระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายน่าฝ่ายใน ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดตามยศถาบันดาศักดิ์ แลพระราชาคณะถานานุกรมเปรียญเล่า ก็ได้รับนิตยภัตรมากกว่าเทพยดานั้นอิก แต่ไม่มีใครคิดฉลองพระเดชพระคุณเอาใจใส่ให้ละเอียดกำหนดให้แน่ ให้สมพระราชประสงค์บ้างเลย

ที่กรุงเทพฯ ทรงคำนวณกะการแล้วเปนแน่ ว่าเห็นจะจับทิศพายัพ เวลา ๑๐ นาฬิกากับ ๗ นาทีเศษ แล้วคราธจะค่อยเร่ไปทิศประจิม ทิศหรดี จนทิศทักษิณ จะจับมากที่สุดแหว่งข้างทิศทักษิณเหลือข้างทิศอุดรน้อยเปนที่สุด ดวงพระอาทิตย์แบ่ง ๑๒ ส่วน จะจับเสียสัก ๑๑ ส่วนเศษ จะเหลืออยู่ส่วนหย่อนๆ เมื่อเวลาตี ๑๑ นาฬิกากับ ๔๔ นาทีเปนที่สุด แล้วคราธจะเร่แต่ทักษิณไปอาคเณย์ คายออกหลุดทิศอาคเณย์ เวลาบ่าย ๑ โมงกับ ๑๒ นาที การนี้เปนแต่การทรงคำนวณไม่ได้เห็น แต่ที่จะเปนก็คงจะไม่คลาศกำหนดนี้นัก แต่ผู้อยู่รักษาพระนครรักษาพระราชวังใจสกปรกเหม่นเหม่นักไม่ละการใจไพร่ ถึงพูดด้วยก็ไม่พอใจฟังไม่เอาใจใส่ พอใจพูดถึงแต่เวลาจับว่าจับโมงนั้นบาทนี้ ถูกของโหรนายนี้นายโน้นเท่านั้นแล้ว ก็มัวแต่จะเอาเงินแจกฤๅจะเอกเขนกทำยศคนผู้ใหญ่ไต่สูงไม่เอาใจใส่การละเอียด ถามใครก็ไม่ได้ความ

อนึ่งเมื่อแรกจับนั้น ถึงพอใจพูดกันว่าจับบาทนั้นโมงนั้น ก็พูดโง่ๆ เซอะๆ ด้วยเหตุสองประการ ประการหนึ่ง คือนาฬิกาก็ไม่ได้ตรวจตรา ตั้งวัดวาด้วยเครื่องมือแล้วคำนวณสอบสวนให้ถูกต้องกับเวลาพระอาทิตย์ เปนแต่เห็นว่าสว่างแล้วก็ย่ำรุ่ง นับถือว่าเปนต้นวัน ไม่ได้เหยียบชั้นคำนวณก่อนเวลาจับนั้นไม่ชอบกลเลย เปนแต่ไว้ให้หัวพันแลไพร่หลวงชาวนาฬิกาสมมุติว่าเปนผู้รู้แต่ชื่อ เปนแต่ที่นับถือของพระสงฆ์แก่ๆ ชาววัดมักพูดกัน พนักงานนาฬิกาหลวงนั้น เขาชื่อพันทิวาทิตย์ พันพินิตจันทรา เขาดูเวลาพระอาทิตย์พระจันทร์ทั้งกลางวันกลางคืน เขาผลัดกันตื่นอยู่ไม่หลับ นับเม็ดในขันนาฬิกาว่ากี่บาทต่อกี่บาทไม่คลาศเลย ใครจะสู้เขาได้ นาฬิกาในพระราชวังแน่กว่าที่ไหนๆ หมด พระสงฆ์ผู้ใหญ่ๆ มักพูดกันอย่างนี้ ถึงพวกโหรนี้แต่ละนายๆ บวชแก่วัดมาหลายๆ ปี ใจหยาบคายโล้เล้เฉินเช่ยอย่างนี้เหมือนกับชาววัดสำหรับจะมานั่งรับนั่งออชมยศคนที่อยากอวดยศ ทำปั้นปึ่งขึงโสไว้เปนตัวเปนผู้ใหญ่ผู้เฒ่าเปล่าๆ ไม่เอาใจใส่ในการเปนวิสัยของความรู้วิทยา เปนการละเอียดการประหลาด ควรเปนที่สังเกตจดหมายเหตุไว้เปนตัวอย่างสืบไปภายน่า ก็เพราะนาฬิกาตั้งไม่แน่อย่างว่ามานี้อย่างหนึ่ง เปนที่ให้ผิดจากจริงอิกอย่างหนึ่งเพราะดูดวงพระอาทิตย์ ด้วยการดูหยาบคายนัก คือตั้งขันน้ำลงดูบ้าง เอากระจกฉายดูบ้าง ป้องหน้าดูบ้าง เอากระจกเงาฤๅแว่นตาลนควันไต้ควันเทียนดูบ้าง เครื่องมือหยาบคายสกปรกอย่างนี้ แรกจับแต่น้อยก็ไม่เห็น ได้มีพระบรมราชโองการทรงดำรัสยืนยันว่า แต่ครั้งหลังๆ มามีผู้ดูสุริยุปราคาด้วยแว่นสำหรับวัดแดด มีกระจกเขียวกระจกแดงต่างๆ กัน กล้องส่องมีกระจกเขียวกระจกแดงเหลืองต่างๆ บังตาบ้าง เห็นว่าจับแล้วบอกแก่โหรๆ ก็เอามือป้องหน้าดูเถียงว่ายังไม่จับช้าอยู่หลายๆ นาที จึงยอมให้ประโคมว่าจับ ตั้งแต่นี้ไปการหยาบๆ ไพร่ๆ สกปรกอย่างใจชาววัดคนมาแต่วัดเช่นนี้ ให้พวกโหรคิดเงือดงดเสีย จงเอาใจใส่การให้ละเอียดตามพนักงานของตัว อย่ารับเบี้ยหวัดเสียเปล่า ให้ลอกเอาจดหมายเหตุนี้ไว้สำหรับกรมสำหรับตัวสืบต่อไปทุกนายทุกคน

  • พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ
  • ท้าวสมศักดิ์ (เนย)
  • ท้าวโสภานิเวศ (ลิ้ม)
  • ท้าวอินทรสุริยา
  • ท้าวทรงกันดาล (ศรี)
  • ท้าวพิพัฒน์โภชา
  • ท้าวศรีสัตยานุรักษ์
  • ท้าวรักษามณเฑียร
  • เจ้าพระยายมราช (แก้ว)
  • พระยาสีหราชเดโชไชย (พิณ)
  • พระยาราชสุภาวดี (ปาน)
  • พระยาอภัยรณฤทธิ์ (เฉย)
  • พระยาพิไชยสงคราม
  • พระยาราชสัมภารากร
  • พระยาพระกฤษณรักษ์
  • พระยาราชวังสรรค์
  • พระยาประจักษ์วรวิไสย
  • พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ
  • พระยาจ่าแสนบดี (ขลิบ)
  • พระยาเวียงใน
  • พระยาไพบูลย์สมบัติ (เอี่ยม)
  • พระยาภักดีสงคราม
  • พระยาเทพมณเฑียร
  • พระวิชิตมนตรี
  • พระมหาบุรีรมย์
  • พระกัลยาภักดี
  • จมื่นมหาดเล็ก
  • พระพิไชยสรเดช
  • พระชนะรณชิต
  • พระศรียศประเทศมนตรี
  • พระพิเดชสงคราม
  • พระพิพากษานานาประเทศ
  • พระศรีเสนา
  • หลวงพิพิธมณเฑียร
  • หลวงนังคัลกิจบรรหาร
  • หลวงประชาฤทธิฦๅไชย
  • หลวงวิสูตรสมบัติ
  • ขุนอักษรสมบัติ เสมียนตรา
  • ขุนธนศักดิ์
  • สมิงสิทธิราชา
  • ขุนรุดอักษร เสมียนตรา
  • นายหัศบำเรอ (ชา)

รายนามข้างบนนี้ ในต้นฉบับที่ได้มาหาปรากฏว่าเกี่ยวข้องแก่เรื่องที่ประกาศอย่างไรไม่ สันนิฐานว่าเห็นจะเปนผู้ที่ได้มาคัดเอาจดหมายเหตุไปตามกระแสรับสั่ง ผู้เปนต้นรับสั่งจึงจดนามลงไว้


กลับไปหน้าหลัก
ก่อนหน้า