ขุนช้างขุนแผน/ตอนที่ ๑
หน้าตา
ตอนที่ ๑ กำเนิดขุนช้างขุนแผน
๏ ครั้นว่าไหว้ครูแล้วจับบท | ให้ปรากฏเรื่องราวกล่าวมาแต่ก่อน |
ครั้นสมเด็จพระพันวษานรากร | ครองนครกรุงศรีอยุธยา |
เกษมสุขแสนสนุกดังเมืองสวรรค์ | พระเดชนั้นแผ่ไปในทิศา |
เป็นปิ่นภพลบโลกโลกา | ครอบครองไพร่ฟ้าประชากร |
เมืองขึ้นน้อยใหญ่ในอาณาเขต | เกรงพระเดชทั่วหมดสยดสยอน |
ทุกประเทศเขตขอบพระนคร | ชลีกรอ่อนเกล้าอภิวันท์ |
พร้อมด้วยโภโคยไอศูรย์ | สมบูรณ์พูนสุขเกษมสันต์ |
พระองค์ทรงทศพิธราชธรรม | ราษฎรทั้งนั้นก็ยินดี ฯ |
๏ จะกล่าวถึงเรื่องขุนแผนขุนช้าง | ทั้งนวลนางวันทองผ่องศรี |
ศักราชร้อยสี่สิบเจ็ดปี | พ่อแม่เขาเหล่านี้คนครั้งนั้น |
เป็นข้าขอบขัณฑสีมา | สมเด็จพระพันวษานราสวรรค์ |
จะว่าเนื่องตามเรื่องนิยายพลัน | ท่านผู้ฟังทั้งนั้นจงเข้าใจ |
ขุนไกรพลพ่ายอยู่บ้านพลับ | มีทรัพย์เงินทองของน้อยใหญ่ |
นางทองประศรีนั้นอยู่วัดตะไกร | ทั้งสองนี้ได้เป็นคู่กัน |
แล้วรื้อเรือนออกไปปลูกใหม่ | อยู่ในแว่นแคว้นสุพรรณนั่น |
เป็นทหารชาญชัยใจฉกรรจ์ | คุมไพร่ทั้งนั้นได้เจ็ดร้อย |
อาจองคงกระพันชาตรี | เข้าไหนไม่มีที่จะถอย |
รบศึกศัตรูอยู่กับรอย | ถึงมากน้อยเท่าไรไม่หนีมา |
กรมการเมืองสุพรรณสั่นหัว | เข็ดขามคร้ามกลัวใครไม่ฝ่า |
โปรดปรานเป็นทหารอยุธยา | มีสง่าอยู่ในเมืองสุพรรณ ฯ |
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงขุนศรีวิชัยคนขยัน |
เป็นนายกรมช้างกองนอกนั้น | บ้านอยู่สุพรรณพารา |
เป็นเศรษฐีมีทรัพย์นับร้อย | บ่าวไพร่ใหญ่น้อยก็หนักหนา |
ได้นางเทพทองเป็นภรรยา | อยู่ท่าสิบเบี้ยเมืองสุพรรณ ฯ |
๏ จะกล่าวกลอนถึงพันศรโยธา | เพื่อนได้ภรรยาก็คมสัน |
ชื่อว่านวลนางศรีประจัน | เป็นเศรษฐีมีพันธุ์ด้วยกันมา |
อยู่ท่าพี่เลี้ยงเมืองสุพรรณ | น้องนางศรีประจันนั้นปากกล้า |
ชื่อว่าบัวประจันถัดกันมา | มีผัวชื่อนายโชดคง |
เดิมเพื่อนอยู่ทางบางเหี้ย | ครั้นไปได้เมียก็ลุ่มหลง |
ไม่คิดถึงซึ่งเหล่าเผ่าพงศ์ | ยวดยงแต่จะเที่ยวขโมยควาย ฯ |
๏ บทนี้จะยกไว้เสียก่อน | จะกล่าวกลอนถึงกำเนิดคนทั้งหลาย |
เมื่อแรกเข้าสู่ครรภ์บรรยาย | ว่าอ้ายผีแสนร้ายบนปลายไม้ |
กลางคืนปั้นรูปหัวเราะขิก | แล้วหยิบหยิกปีบบี้มิเอาส่ำได้ |
ปั้นแล้วปั้นเล่าเฝ้าริกไป | เอานั่นนี่บี้ใส่ให้ครบครัน |
คืนหนึ่งผีปั้นอยู่ปลายไม้ | ยังมีสัตว์อยู่ในนรกนั่น |
ทนทุกข์เวทนาสากรรจ์ | ครั้นสิ้นกรรมทำนั้นก็พ้นทุกข์ |
จุติจากเพศเปรตอสุรกาย | วุ่นวายวิ่งมาหาความสุข |
จะไปสวรรค์มิทันจะพ้นทุกข์ | ผีปั้นมันจึงซุกเข้าในครรภ์ ฯ |
๏ ฝ่ายนางเทพทองนั้นนอนหลับ | พลิกกลับก็เพ้อละเมอฝัน |
ว่าช้างพลายตายกลิ้งตลิ่งชัน | พองขึ้นหัวนั้นเน่าโขลงไป |
ยังมีนกตะกรุมหัวเหม่ | บินเตร่เร่มาแต่ป่าใหญ่ |
อ้าปากคาบช้างแล้ววางไป | เข้าในหอกลางที่นางนอน |
ในฝันนั้นว่านางเรียกนก | เชิญเจ้าขรัวหัวถกมานี่ก่อน |
นางคว้าได้ตัวเจ้าหัวกล้อน | กอดนกกับช้างนอนสบายใจ |
ครั้นตื่นฟื้นตัวปลุกผัวพลัน | เหียนรากตัวสั่นไม่กลั้นได้ |
ให้เหม็นช้างเหม็นนกติดอกใจ | โฮกโฮกอีพ่อข้าไหว้ช่วยทุบคอ |
ขุนศรีวิชัยตกใจจ้าน | ลุกขึ้นลนลานตาปอหลอ |
เอามือเข้ากำขยำคอ | พอหายรากเล่าต่อความฝันไป |
ขุนศรีวิชัยจึงทำนายฝัน | อ้อเจ้าจะมีครรภ์หาเป็นไรไม่ |
ลูกของเราจะเป็นชายทำนายไว้ | เหมือนนกตะกรุมตัวใหญ่คาบช้างมา |
จะบริบูรณ์พูนสวัสดิ์แล้วเจ้าพี่ | แต่ลูกของเรานี้จะขายหน้า |
หัวล้านแต่กำเนิดเกิดมา | จะมั่งมีเงินตรากว่าห้าเกวียน |
ฝ่ายนางเทพทองไม่รับพร | กุมท้องขย้อนไม่หายเหียน |
โคตรแม่มึงช่างมาให้อาเจียน | อ้ายุหัวเลี่ยนโล้นเกลี้ยงจะเลี้ยงไย ฯ |
๏ จะมากล่าวถึงนางทองประศรี | นอนด้วยสามีในเรือนใหญ่ |
นิมิตฝันนั้นว่าท้าวสหัสสนัยน์ | ถือแหวนเพชรเม็ดใหญ่เหาะดั้นมา |
ครั้นถึงจึงยื่นแหวนนั้นให้ | นางรับแหวนไว้ด้วยหรรษา |
แสงเพชรส่องวาบปราบเข้าตา | ตื่นผวาคว้าทั่วปลุกผัวพลัน |
ขุนไกรลืมตาว่าอะไรเจ้า | นางจึงเล่าเนื้อความนิมิตฝัน |
ทั้งสองลุกมาล้างหน้าพลัน | หาหมากหาพลูสู่กันแล้วทำนาย |
ฝันว่าได้ธำรงค์วงวิเศษ | ของโกสีย์ตรีเนตรอันเฉิดฉาย |
เพชรรัตน์อร่ามงามเพริศพราย | บรรยายว่าเป็นสิ่งมีมงคล |
จะมีครรภ์ลูกนั้นจะเป็นชาย | ดังทหารพระนารายณ์มาปฏิสนธิ์ |
กล้าหาญการณรงค์คงทน | ฤทธิรณปราบทั่วทั้งแดนไตร |
ซึ่งว่าเพชรรัศมีสีกล้า | ภายหน้าจะได้เป็นทหารใหญ่ |
มียศศักดิ์เป็นพระยาข้าใช้ | ร่วมพระทัยทรงธรรม์พระพันปี |
นางทองประศรียกมือไหว้ | รับพรผัวให้ประเสริฐศรี |
ทั้งสองนอนไปในราตรี | สุขเกษมเปรมปรีดิ์ทั้งสองรา ฯ |
๏ มาจะกล่าวถึงนางศรีประจัน | เที่ยงคืนนอนฝันในเคหา |
ว่าพระพิศณุกรรม์เหาะดั้นฟ้า | ถือแหวนประดับมาสวมนิ้วนาง |
แล้วก็กลับไปสถานพิมานมาศ | แสนสนิทพิศวาสจนสว่าง |
ตื่นลุกปลุกผัวยิ้มหัวพลาง | ล้างหน้าแล้วพลันแก้ฝันไป |
ท่านขาคืนนี้ข้าเจ้าฝัน | ว่าพระพิศณุกรรม์นายช่างใหญ่ |
ถือแหวนประดับงามจับใจ | เอามาส่งให้ไว้กับเรา |
แล้วก็กลับไปสถานพิมานฟ้า | เมียจะเกิดโรคาหรือพ่อเจ้า |
ให้เมียรู้ประจักษ์ว่าหนักเบา | ความฝันนั้นเล่ายังติดตา |
พนศรโยธาผู้ผัวแก้ว | ฟังเมียเล่าแล้วหัวเราะร่า |
จึงทำนายฝันไปมิได้ช้า | ว่าเจ้าฝันนั้นหนาจะมีครรภ์ |
ได้แหวนประดับลูกจะเป็นหญิง | รูปร่างงามจริงตละแกล้งสรร |
ด้วยเป็นแหวนของพระพิศณุกรรม์ | จะเป็นช่างใครนั้นไม่ทันเลย |
ศรีประจันรับพรหัวเราะร่า | ให้ได้เหมือนปากว่าเถิดพ่อเอ๋ย |
ถ้าฉันนี้มีลูกได้ชมเชย | ไม่อุ้มลูกใครเลยให้บินทา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงนางเทพทอง | ท้องนั้นโตใหญ่ขึ้นค้ำหน้า |
ลงนั่งอึดอัดถัดไปมา | ให้อยากเหล้าเนื้อพล่าตัวสั่นรัว |
น้ำลายไหลรี่ดังกระสือ | ร้องไห้ครางฮืออ้อนวอนผัว |
เหมือนหนึ่งตาหลวงเข้าประจำตัว | ยิ่งให้กินตละยั่วยิ่งเป็นไป |
ปลาไหลไก่กบทั้งเต่าฝา | แย้บึ้งอึ่งนาไม่พอไส้ |
หยิบคำโตโตโม้เข้าไป | ประเดี๋ยวเหล้าสิ้นไหไม่ซื้อทัน |
เจ็บปวดหลายเดือนดีดัก | พะอำพะอักออดแอดอยู่ตัวสั่น |
ท้องลดทศมาสลูกถีบยัน | พอใกล้ฤกษ์ยามนั้นเจ็บหนักไป |
บิดตัวเรียกผัวหาพ่อแม่ | ร้องเปื้อนเชือนแชไม่เอาส่ำได้ |
ฝ่าผัวพ่อแม่แลข้าไท | วิ่งวุ่นครุ่นไปที่บนเรือน |
บ้างก็เสกมงคลปรายข้าวสาร | เอาเบี้ยบนลนลานเหน็บฝาเกลื่อน |
บ้างเร่งหมอตำแยอย่าแชเชือน | ข่มท้องร้องเตือนลูกขวางตัว |
บ้างก็เข้าหนุนหลังนั่งเคียงข้าง | นางเทพทองร้องครางพลางกลอกหัว |
ขุนศรีวิชัยนั้นตัวสั่นรัว | จิกหัวแล้วเป้ากระหม่อมลง |
หมอตำแยแยงแย่เข้าคร่อมท้อง | แม่นางเทพทองเข้าข่มส่ง |
ตัวสั่นหวั่นไหวมิใคร่ลง | หมอตำแยว่าตรงแล้วข่มมา |
ยายคงโก้งโค้งโขย่งข่ม | เสียงผลุดนอนล้มไปจมฝา |
ลูกร้องแงแงแม่ลืมตา | พอช้างเผือกเข้ามาถึงวันนั้น |
นางเทพทองเหลียวหน้าคว้าลูกชาย | พลิกคว่ำพลิกหงายอยู่ตัวสั่น |
ทุดลูกบัดสีเหมือนผีปั้น | หัวล้านในครรภ์ดังวงเดือน |
เสียแรงอุ้มท้องประคองมา | ชกโคตรแม่อ้ายหมาขี้เรื้อนเปื้อน |
เลี้ยงมันไว้ไยอายเพื่อนเรือน | หัวเหมือนโคตรข้างไหนให้เกิดมา |
ด่าแล้วจึงเข้าไปนอนไฟ | แม่นมข้าไทให้รักษา |
อาบน้ำป้อนข้าวทุกเวลา | ไกวเปลเห่ช้ามาทุกวัน |
บริบูรณ์พูนเกิดว่าแต่ก่อน | เพราะบุญของลูกอ่อนได้สร้างสรรค์ |
แต่เกิดมาเงินตราอุดมครัน | ข้าหญิงชายนั้นมากมายไป |
เผอิญให้แม่เคียดเกลียดชัง | แต่มั่งคั่งหาใครเสมอไม่ |
ปู่ย่าตายายสบายใจ | จะให้ชื่อหลานไว้เป็นมงคล |
แม่ฝันว่านกตะกรุมคาบช้าง | บินมาแต่ทางพนาสณฑ์ |
พาไปให้ถึงในเรือนตน | หัวล้านนอกขนแต่เกิดมา |
เมื่อตกฟากฤกษ์พารของหลานชาย | ช้างเผือกมาถวายพระพันวษา |
จึงให้นามตามเหตุทั้งปวงมา | หลานรักของข้าชื่อขุนช้าง |
แล้วให้เอาเงินทองกรองใส่คอ | กำไลมือล้นข้อทั้งสองข้าง |
กำไลเงินใส่ท้าวก้าวขากาง | ปะวะหล่ำสองข้าง เขนหลานยา |
เอวคาดสร้อยอ่อนจำหลักทับ | พริกเทศประดับกัลปังหา |
ห้อยอยู่ต่องแต่งแกว่งไปมา | ยิ้มหัวหาหาอ้าปากโจน |
นางเทพทองร้องด่าอ้ายยาจก | ช่างเต้นหยกหยกเหมือนตลกโขน |
ยึดไว้ไม่นิ่งตละลิงทโมน | อ้ายผีโลนที่ไหนปั้นใส่มา |
ไม่มีใจที่จะใคร่เข้าอุ้มชู | เหมือนค่างครอกหลอกกูดูขายหน้า |
ทำตาบ้องแบวแมวกินปลา | อ้ายตายห่าด่าแช่งไม่เว้นวัน |
พอขุนช้างสามขวบไปเที่ยวเล่น | เด็กเห็นก็กลัวจนตัวสั่น |
โน้นแน่แม่เอ๋ยอะไรนั้น | มันอ้าปากยิงฟันข้าพรั่นใจ |
นางแม่ห้ามว่าเองอย่ากลัว | ขุนช้างลูกเจ้าขรัวบ้านรั้วใหญ่ |
เขาเป็นเศรษฐีมีข้าไท | อย่ากีดขวางหลีกไปให้เขามา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงทองประศรีมีครรภ์แก่ | งามแท้เผ้าผมก็สมหน้า |
ผิวพรรณดังสุวรรณมาทาบทา | ดวงหน้าดังจันทร์เมื่อวันเพ็ญ |
แก้มทั้งสองข้างดังปรางทอง | เต้านมทั้งสองก็ครัดเคร่ง |
ผิวเนื้อเป็นนวลควรแลเล็ง | ดูปลั่งเปล่งน่าชมพอสมตัว |
จำศีลภาวนาเป็นเนืองนิตย์ | น้อมจิตนบนิ้วขึ้นเหนือหัว |
ภาวนาบูชาด้วยดอกบัว | ไม่กลัวที่จะเป็นอันตราย |
จนท้องโตใหญ่ได้สิบเดือน | บุญเตือนจะคลอดลูกสืบสาย |
ลมกัมมัชวาตพัดกลับกลาย | ลูกนั้นบ่ายศีรษะลงทวาร |
เจ็บท้องร้องแรกอยู่เวยวาย | ปู่ตาย่ายายอึงทั้งบ้าน |
ญาติกาข้าไทมาซมซาน | หมอตำแยงุ่นง่านเข้าผันแปร |
ถึงฤกษ์งามยามปลอดคลอดง่ายดาย | ลูกนั้นเป็นชายร้องแว้แว้ |
พี่ป้าน้าอามาดูแล | ล้างแช่แล้วก็ส่งให้แม่นม |
ทาขมิ้นแล้วใส่กระดังร่อน | ใส่เบาะให้นอนเอาผ้าห่ม |
ปู่ย่าตายายสบายชม | เรือนผมน่ารักดังฝักบัว |
เอาขึ้นใส่อู่แล้วแกว่งไกว | แม่เข้านอนไฟให้ร้อนทั่ว |
เดือนหนึ่งออกไฟไม่หมองมัว | ขมิ้นแป้งแต่งตัวน่าเอ็นดู |
พ่อแม่ปรึกษากับย่ายาย | จะชื่อหลานชายอย่างไรปู่ |
ฝ่าตาตะแกเป็นหมอดู | คิดคูณเลขอยู่ให้หลานชาย |
ปีขาลวันอังคารเดือนห้า | ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย |
กรุงจีนเอาแก้วอันแพรวพราย | มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา |
ให้ใส่ปลายยอดเจดีย์ใหญ่ | สร้างไว้แต่เมื่อครั้งเมืองหงสา |
เรียกวัดเจ้าพระยาไทยแต่ไรมา | ให้ชื่อว่าพรายแก้วผู้แววไว |
แล้วเร่งรัดจัดแจงแต่งบายศรี | เงินทองของดีมาผูกให้ |
กล้วยน้ำแตงกวาเอามาใส่ | ธูปเทียนดอกไม้มีหลายพรรณ |
ให้หลานใส่เสมาปะวะหล่ำ | กำไลทองคำงามเฉิดฉัน |
บ้าหว่าทองผูกสองข้างแขนนั้น | สายกุดั่นทั้งแท่งดังแกล้งทำ |
เอวคาดสร้อยอ่อนช้อนดอกลอย | ฝังพลอยมรกตสีสดขำ |
ผูกลูกพริกเทศด้วยทองคำ | กำไลตีนนากเห็นหลากตา |
จัดแจงแขกนั่งเป็นวงกัน | พงศ์พันธุ์พร้อมอยู่ทั้งปู่ย่า |
ยกบายศรีแล้วโห่ขึ้นสามลา | เวียนแว่นไปมาโห่เอาชัย ฯ |
๏ ศรีศรีวันนี้ฤกษ์ดีแล้ว | เชิญขวัญพลายแก้วอย่าไปไหน |
ขวัญมาอยู่สู่กายให้สบายใจ | ชมช้างม้าข้าไททั้งเงินทอง |
ขวัญเอ๋ยเจ้ามาเถิดพ่อมา | อย่าเที่ยวล่ากะเกณฑ์ตระเวนท่อง |
มาชมพวงแก้วแล้วพวงทอง | ข้าวของเหลือหลายสบายใจ |
ครั้นแล้วก็โห่อีกสามที | ดับอัคคีโบกควันเจิมพักตร์ให้ |
ให้ชันษายืนหมื่นปีไป | มีชัยชำนะสวัสดี |
ครั้นทำขวัญเสร็จสำเร็จการ | วงศ์วานปรีดิ์เปรมเกษมศรี |
จนอายุพลายแก้วได้ห้าปี | พาทีแคล่วคล่องว่องไว ฯ |
๏ จะกล่าวถึงนางศรีประจัน | เมื่อเจ้ามีครรภ์ท้องใหญ่ |
ยินดีรื่นเริงบันเทิงใจ | ถ้วนกำหนดได้ถึงสิบเดือน |
เจ็บรนก็พ้นที่จะกลั้น | ลุกขึ้นถีบยันจะคลอดเคลื่อน |
กลิ้งเกลือกเสือกร้องก้องทั้งเรือน | จิตประหวั่นฟั่นเฟือนไม่สมประดี |
ปู่ย่าตายายทั้งพ่อแม่ | หมอตำแยแม่มดที่ถือผี |
ต่างมาพร้อมกันในทันที | พี่ป้าน้าอาทั้งข้าไท |
บ้างเอาเบี้ยขึ้นควงบวงบน | ปากบ่นพึมพำไม่เอาส่ำได้ |
ออท้าวหาวเรอเฮ่อเฮ่อไป | หากูมาทำไมอ้ายขุนโรง |
คว้าเหล้าเข้าปากเคี้ยวหมากซ้ำ | ลุกขึ้นเต้นรำอยู่โหยงโหยง |
ซวนคะมำต้ำปลุกลุกโก้งโค้ง | ปะติโปงเท่งโปงรำช้อยไป |
เมาเหล้าเข้าหนักยักสี่มุม | พ่อหลวงมาช่วยคุ้มหาเป็นไรไม่ |
ปู่ย่าตายายสบายใจ | โปรดเถิดอีพ่อข้าไหว้ข้าตีนโรง |
มึงอย่าร้อนใจฟังกูว่า | ลุกขึ้นหลกผ้าอยู่โล้งโต้ง |
ศรีประจันเจ็บท้องร้องโก้งโค้ง | หมอตำแยเข้าโขย่งแล้วข่มมา |
เข้าล้อมซ้อนข่มอยู่พัลวัน | ถึงยามนั้นฤกษ์ปลอดคลอดแล้วหวา |
นอนหงายตงะกายร้องวาวา | เป็นหญิงโสภาน่าเอ็นดู |
อาบน้ำแล้วซ้ำทาขมิ้น | เอานมให้กินแล้วใส่อู่ |
แม่นมข้าไทให้เลี้ยงดู | กินอยู่เป็นสุขทุกเวลา |
สำเร็จเสร็จพลันทันใด | ค่อยจำเริญวัยขึ้นใหญ่กล้า |
แม่พ่อก็รักดังดวงตา | เลี้ยงมามิได้เป็นอันตราย |
ปู่ตาย่าทวดมาทำขวัญ | แหวนทองผูกพันเข้าเหลือหลาย |
เลี้ยงมาก็ได้ห้าขวบปลาย | รูปกายงามยิ่งพริ้งเพรา |
ทรวดทรงส่งศรีไม่มีแม้น | อรชรอ้อนแอ้นประหนึ่งเหลา |
ผมสลวยสวยขำงามเงา | ให้ชื่อเจ้าว่าพิมพิลาไลย |
สอนเย็บเก็บปักหักทองขวาง | ที่รู่นราวคราวนางไม่เปรียบได้ |
เช้าเย็นออกไปเล่นเก็บดอกไม้ | ที่ข้างวัดเขาใหญ่อยู่อัตรา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพลายแก้วกับขุนช้าง | ทั้งสองข้างออกไปเล่นกับบ่าวข้า |
พอพบขุนช้างพลางพูดจา | ไปซื้อเหล้าเอามากินด้วยกัน |
พลายแก้วกินเหล้าเข้าต้ำอึก | ขุนช้างวางหงึกจนหัวสั่น |
ยั่นกูเมาหนักหนาจนตาชัน | เทเหล้าใส่ข้นชวนเป็นเกลอ |
จึงเอามือพลายแก้วลงจดขน | เราซี่อต่อกันจนตายหนอ |
ถ้าใครทรยศคดต่อเกลอ | ให้เทพเธอสังหารผลาญชีวัน |
อันดาบองครักษ์ทั้งสี่หมู่ | อย่าให้แคล้วคองกูเป็นแม่นมั่น |
ขอให้พลัดมารดาห้าร้อยกัลป์ | จิ้มเอาเหล้าในขันขึ้นควั่นคอ |
พลายแก้วกินเหล้าเข้าต้ำอึก | ขุนช้างวางปึกตาปอหลอ |
นางพิมพิลาไลยชอบใจงอ | สมน้ำหน้ามันหนอไอ้จัณฑาล |
แล้วนางเล่นหุงข้าวต้มแกง | กวาดทรายจัดแจงเป็นรั้วบ้าน |
นางเล่นทำบุญให้ทาน | ไปนิมนต์สมภารมาเร็วไว |
ขุนช้างนั้นเป็นสมภารมอญ | ไม่พักโกนหัวกล้อนสวดมนต์ใหญ่ |
พลายแก้วนั้นเป็นสมภารไทย | จัดแจงแต่งให้ยกของมา |
สวดมนต์ฉันเสร็จสำเร็จแล้ว | ฝ่ายข้างพลายแก้วอุตริว่า |
เราเล่นเป็นผัวเมียกันเถิดรา | ขุนช้างร้องว่าข้าชอบใจ |
นางพิมว่าไปอ้ายนอกคอก | รูปชั่วหัวถลอกกูหาเล่นไม่ |
พลายแก้วว่าเล่นเถิดเป็นไร | ให้ขุนช้างนั้นไซร้เป็นผัวพลาง |
ตัวข้าจะย่องเข้าไปหา | จะไปลักเจ้ามาเสียจากช้าง |
ทั้งสองคนรบเร้าเฝ้าชวนนาง | จึงหักใบไม้วางต่างเตียงนอน |
นางฉลาดกวาดทรายกลายเป็นเรือน | พูนขึ้นกล่นเกลื่อนดังฟูกหมอน |
นางพิมนอนพลางกลางดินดอน | เจ้าขุนช้างหัวกล้อนเข้านอนเคียง |
พลายแก้วโดดแหวกเข้าแทรกกลาง | ชกหัวขุนช้างที่กลางเกลี้ยง |
ขุนช้างทำหลับอยู่กับเตียง | ฝ่ายนางพิมนอนเคียงค่อยเมียงมอง |
ขุนช้างวางร้องก้องกู่โวย | ขโมยลักเมียกูจู่จากห้อง |
ลุกขึ้นงุ่นง่านเที่ยวซานร้อง | เรียกหาพวกพ้องให้ติดตาม |
อ้ายเด็กเด็กกราวเกรียวบัดเดี๋ยวใจ | พวกขุนช้างรุกไล่ให้เข็ดขาม |
พอทันพวกพลายแก้วแล้วเลยลาม | ถ้อยทีถ้อยปามเข้าตีกัน |
จมูกครากปากแตกจนเลือดไหล | บ้างก็วิ่งร้องไห้ไปตัวสั่น |
เรียกหาพ่อแม่อยู่แจจัน | จนผู้ใหญ่ชวนกันมาห้ามไว้ |
นางพิมด่าให้อ้ายตายโหง | พวกอ้ายโล้งโต้งกูไม่เล่นได้ |
อ้ายหัวล้านขี้ถังมันจังไร | แล้วพาฝูงข้าไทไปเรือนพลัน |
เจ้าขุนช้างหัวฟกวิ่งตกใจ | ข้าไทก็กลัววิ่งตัวสั่น |
ฝนไพลใส่ทาตาเป็นมัน | ยิงฟันแลบลิ้นแทบสิ้นใจ |
ท่านผู้ฟังทั้งสิ้นอย่ากินแหนง | จะประดิษฐ์คิดแต่งก็หาไม่ |
เด็กอุตริเล่นหากเป็นไป | เทวทูตดลใจให้ประจักษ์ตา |
เด็กเล่นสิ่งไรก็ไม่ผิด | ทุจริตก็เป็นเหมือนปากว่า |
อันคดีมีแต่โบราณมา | ตำรานี้มีอยู่ในสุพรรณ ฯ |
๏ ครั้นอยู่มาขุนศรีวิชัย | กับเมียรักร่วมใจทั้งสองนั่น |
จึงปรึกษายินยอมลงพร้อมกัน | ว่าขุนช้างลูกนั้นจำเริญวัย |
ควรจะเข้าไปเฝ้าพระพันวษา | ถวายตัวลูกยาจึงจะได้ |
ให้เป็นข้าบาทบงส์ทรงช่วงใช้ | บังไว้ความผิดจะติดตัว |
ปรึกษากันพลันสั่งซึ่งข้าไท | ให้พาไปอาบน้ำแล้วดำหัว |
ทาขมิ้นผัดแป้งแต่งตัว | เอามุหน่ายป้ายทั่วจนท้ายทอย |
กำไลทองสองเส้นเน้นสองแขน | ให้ถือแหวนเพชรยอดสอดใส่ก้อย |
ดูเหมือนลูกเสือปลานัยน์ตาลอย | วิ่งร่อยร่อยยักคอเข้าหอกลาง |
จึงให้หาธูปเทียนทั้งดอกไม้ | ใส่พานจัดไปตามเยี่ยงอย่าง |
ทั้งเสบียงเลี้ยงกันที่ตามทาง | ให้ผูกช้างพลายนั้นมาทันใด |
พ่อลุกขึ้นนั่งสัปคับ | ควาญขับออกจากบ้านรั้วใหญ่ |
ข้ามธารผ่านทุ่งมุ่งทิวไม้ | บ่าวไพร่งุ่มง่ามตามกันมา |
ครั้นถึงวัดธรรมาก็ยับยั้ง | ปลงช้างข้างฝั่งแม่น้ำหน้า |
เจ้าขุนช้างกะจิริดกับบิดา | ข้ามท่าคอยเข้าในกรุงไกร |
ชาวบ้านร้านตลาดพอผาดเห็น | ร้องว่าเป็นเวทนาน่าหมั่นไส้ |
เด็กอะไรหัวร่อนกล้อนสุดใจ | แลไปเหมือนหนึ่งหลอกบอกเพื่อนกัน |
จะว่าค่างหรือลิงวิ่งมาเกิด | อ้ายผีนอกละเมิดที่ไหนปั้น |
ชายหญิงวิ่งหัวร่ออยู่งองัน | ดูจนพ่อลูกนั้นเข้าในวัง |
พวกขุนนางต่างคนที่คอยเฝ้า | พอเห็นเข้าก็หัวเราะราวจะคลั่ง |
ขุนช้างน้อยพลอยประหม่าละล้าละลัง | เข้าหมอบชิดติดหลังบังบิดา ฯ |
๏ จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงภพ | เลิศลบสยบแสยงทั้งแหล่งหล้า |
ทุกประเทศเขตขัณฑสีมา | ออกระอาอ่อนเกล้าอภิวันท์ |
ต่างถวายเครื่องราชบรรณา | ขอขึ้นอยุธยาทุกเขตข้ณฑ์ |
พระเดชปกเกศเป็นนิรันดร์ | เกษมสันต์ทั่วหน้าประชากร |
ขาดเข็ญเป็นสุขโสมนัส | สืบพระวงศ์พงค์กษัตริย์มาแต่ก่อน |
กรุงศรีอยุธยาสถาพร | สโมสรโสมนัสสวัสดี |
เสด็จในพระที่นั่งบัลลังก์รัตน์ | พร้อมขนัดนวลอนงค์ส่งศรี |
น้อมเศียรหมอบเฝ้าเจ้าธานี | ทุกหน้าที่พร้อมพรักพนักงาน |
แต่ละหน้าหน้านวลควรสวาท | บำเรอราชหฤทัยเกษมศานต์ |
ดังดาวล้อมแขไขในคัคนานต์ | หมอบกรานคลานเฝ้าเป็นเหล่าไป |
ทั้งพวกจำเรียงเสียงดนตรี | ก็เรื่อยรี่ขับประสานขานไข |
เพลิดเพลินเจริญราชหฤทัย | นางในปฏิบัติเป็นอัตรา |
พระสุริย์ฉายบ่ายแล้วสี่โมงเศษ | จะประเวศออกที่พระลานหน้า |
บทจรสู่สรงพระคงคา | ไขสุหร่ายธาราลงซ่าเซ็น |
ทรงสุคนธ์หอมฟุ้งจรุงกลิ่น | พระภูษาดอกกินรีเด่น |
จับพระแสงนาคาหน้าดังเป็น | พอจวนเย็นออกหน้าพระลานพลัน |
สนั่นเสียงแตรสังข์ประดังก้อง | ประโคมฆ้องกลองชนะคะครื้นครั่น |
ตำรวจหน้าข้าราชการนั้น | ต่างก้มเกล้าอภิวันท์อัญชลี |
ประทับเหนืออาสน์เอี่ยมลอออ่อน | ดังพระยาไกรราชสีห์ |
จึงขุนศรีวิชัยใจภักดี | กับขุนช้างคลานรี่ติดเข้ามา |
ยกพานธูปเทียนแลดอกไม้ | เข้าไปตั้งไว้ที่ตรงหน้า |
ขุนช้างหมอบชิดกับบิดา | ภาวนาคิดกลัวแทบตัวตาย ฯ |
๏ ครั้นพระองค์ผู้ทรงเดช | ทอดพระเนตรเห็นดอกไม้ธูปเทียนถวาย |
ทั้งขุนศรีวิชัยกับลูกชาย | แย้มพระโอษฐ์อภิปรายประภาษมา |
ฮ้าเฮ้ยอ้ายขุนศรีวิชัย | นั่นมึงพาลูกใครเข้ามาหวา |
ดูหัวหูน่าสมเพชเวทนา | เป็นเชื้อวงศ์พงศาของผู้ใด |
หรือลูกหลานว่านเครือจองมึงเอง | หัวล้านโจงเหม่งไม่เอาส่ำได้ |
จะเอามาให้กูหรือว่าไร | มีธูปเทียนดอกไม้ใส่พานมา ฯ |
๏ ครานั้นขุนศรีวิชัย | กราบลงทันใดแล้วทูลว่า |
ขอเดชะพระองค์จงกรุณา | อันชีวาอยู่ใต้บทมาลย์ |
ขุนช้างบุตรข้าพระพุทธเจ้า | ขอทูลเกล้าถวายไว้เป็นทหาร |
ด้วยชะตาราศีมีลาภสการ | มาสู่โพธิสมภารพระทรงชัย |
แต่เกิดบุตรขุนช้างคนนี้ | เงินทองของดีทั้งน้อยใหญ่ |
วัวควายช้างม้าข้าไท | มิพอที่จะได้ก็ได้มา ฯ |
๏ ครานั้นสมเด็จนเรนทร์สูร | ฟังทูลทรงพระสรวลอยู่ร่วนร่า |
เออหัวหดสมเพชเวทนา | แต่ได้ลาภอย่างว่าก็ชอบกล |
เดี๋ยวนี้มันยังเด็กเล็กอยู่ | จะมอบไว้ให้กูไม่เป็นผล |
เอ็งเลี้ยงไว้ก่อนอย่าร้อนรน | ไว้เมื่อจนเติบใหญ่จึงให้มา |
ตรัสพลางทางสั่งพนักงาน | จัดของพระราชทานทั้งเสื้อผ้า |
พ่อลูกกราบงามลงสามลา | ด้วยทรงพระกรุณาก็ยินดี ฯ |