ข้ามไปเนื้อหา

ข่าวตอนต้นรัชชกาลที่ 3 ตามรายงานราชการอังกฤษ

จาก วิกิซอร์ซ
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ข่าวตอนต้นรัชชกาลที่ ๓
ตามรายงานราชการอังกฤษ
พิมพ์ในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลหน้าพระศพ
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
ครบ ๗ วัน
ณวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕
โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

ข่าวตอนต้นรัชชกาลที่ ๓
ตามรายงานราชการอังกฤษ

แปลในราชบัณฑิตยสภา[1]

สำนักผู้รักษาราชการณสิงคโปร์

แจ้งความมายัง เย. อาร์. คัปเปช ผู้แทนเลขานุการของรัฐบาลณเกาะปรินซ์ออฟเวลซ์ให้ทราบ

ข้าพเจ้าขอส่งสำเนามาพร้อมกับหนังสือนี้ ๒ ฉะบับ คือ สำเนาจดหมายมิศเตอรกีลลีซ์ ฉะบับ ๑ สำเนาคำแปลจดหมายพระคลังหรือเสนาบดีว่าการต่างประเทศ ฉะบับ ๑ สำเนาทั้ง ๒ ฉะบับนั้นมีข่าวใหม่ที่สุดมาจากสยาม กำปั่นอังกฤษ ชื่อ "คาโรไลน์" ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ในเวลาที่เรือออกนั้น บ้านเมืองสงบอยู่ และตามที่สังเกตได้ เห็นว่า รัฐบาลสยามแสดงให้เห็นความร้อนใจเป็นอันมากที่จะระวังมิให้เกิดร้าวฉานกับเรา

  • ข้าพเจ้ามีเกียรติเป็น ฯลฯ
  • เย. ครอเฟิด
  • ผู้รักษาราชการสิงคโปร์
  • วันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๒๕ (พ.ศ. ๒๓๖๘)

  • กำปั่นคาโรไลน์แล่นอยู่กลางทะเล
  • วันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๘๒๕ (พ.ศ. ๒๓๖๘)

แจ้งราชการมายังมิศเตอร เย. ครอเฟิด ผู้รักษาราชการณสิงคโปร์ให้ทราบ

เรือคาโรไลน์มาถึงสยามเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม นำจดหมายของท่านมาให้ข้าพเจ้าฉะบับ ๑ ลงวันที่ ๒ เดือนเดียวกัน ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านเป็นอันมากที่กล่าวยกยอการงานที่ข้าพเจ้าได้ทำไปแล้ว ข้าพเจ้าขอให้เป็นที่พอใจท่านว่า ถ้าข้าพเจ้ายังมิได้ทำการลุล่วงไปมาก ก็หาใช่เพราะไม่เต็มใจกระทำไม่ การที่จะวางตนเป็นไมตรีกับชนเช่นนี้ (ไทย) หาใช่การง่ายไม่ ถ้ายิ่งจะคิดตกลงเรื่องการอะไรที่เป็นประโยชน์ ก็ยิ่งหนักขึ้น แต่การที่จะตกลงอะไรเช่นว่านี้ ข้าพเจ้ายังหาได้รับอำนาจมอบหมายมาไม่ ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าก็ยิ่งดีที่จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ทำสำเร็จแล้วในการยังตนให้เป็นที่ชอบใจของไทย และได้ทำให้ไทยพอใจชนชาติเดียวกับข้าพเจ้าทั่ว ๆ ไปด้วย

ตั้งแต่ข้าพเจ้าเขียนจดหมายถึงท่านคราวที่แล้วมา ก็ไม่ค่อยทราบอะไรในทางการเมืองที่ควรจะนำมากล่าวได้ ทัพไทยได้ยกเลิกมาจากสงครามพะม่าในตอนต้นเดือนเมษายนเพื่อจะมาในงานถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน การเตรียมและการทำพระเมรุถวายพระเพลิงนั้น รัฐบาลและประชาชนทำกันแทบจะไม่เว้นว่างจนไม่มีเวลาจะคิดถึงอะไรที่สำคัญน้อยกว่านั้น การที่เรียกกองทัพกลับนั้น ก็เพราะจำเป็นที่ข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลายจะต้องมาถวายพระเพลิง เพราะในการนั้น ข้าราชการผู้ใหญ่ทุกคนมีหน้าที่ฉะเพาะตัว และทหารก็จะต้องมารักษาเหตุการณ์ นอกจากนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า มีความเกรงการจลาจลกันบ้าง เพราะมีคนเป็นอันมากเห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินปัจจุบันเป็นผู้แย่งราชสมบัติ พระองค์จึงไม่เป็นที่นิยมชมชื่นของคนมากนัก การถวายพระเพลิงนั้นเริ่มเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน มีงานถึง ๙ วัน ตลอดงานนั้นมีความเรียบร้อยสม่ำเสมอ และข้าพเจ้าควรกล่าวว่า พิธีนั้นกอบด้วยสุภาพเกลี้ยงเกลา และสำเร็จไปปราศจากเหตุฉุกเฉิน ก่อนที่ทัพยกกลับมานั้น โจษกันว่า นายทัพคน ๑ ชื่อ พระยาพิพัฒน์ ได้รับคำสั่งว่า เมื่อยกกลับมาถึงทัพอังกฤษ ก็ให้แวะไปรับคำสั่ง (รายงานตัว) ต่อแม่ทัพอังกฤษ พระยาพิพัฒน์ไม่ทำตาม พระเจ้าแผ่นดินกริ้วมาก จนถึงทรงกำหนดว่า เมื่อพระยาพิพัฒน์กลับมาถึง ให้ตัดศีร์ษะส่งไปให้แม่ทัพอังกฤษ[2] เป็นพยานว่า พระเจ้าแผ่นดินมีพระทัยจะเข้าร่วมสงครามกับอังกฤษจริง ๆ ส่วนพระยาพิพัฒน์นั้น เมื่อกลับมาถึงบ้านไม่กี่วัน ก็ตายเอง และไฟไหม้บ้านเผาทั้งศพและสมบัติทั้งสิ้น นอกจากนั้น ยังมีพระยาชุมพรอีกคน ๑ เป็นเจ้าเมืองชื่อเดียวกัน ได้กระทำการหมิ่นประมาทคนอังกฤษพวก ๑ พระเจ้าแผ่นดินจึงตรัสสั่งให้เรียกมากรุงเทพฯ แล้วจำโซ่ตรวนไว้ พระเจ้าแผ่นดินทรงพระวิตกว่า การหมิ่นประมาทนั้นอาจเกิดเหตุร้าวฉาน จึงตรัสให้พระยาไกร พระคลังวังหน้า รีบไปยังสำนักแม่ทัพณย่างกุ้ง ให้ไปขออภัยในเรื่องหมิ่นประมาท และบางทีจะให้จัดการอย่างอื่นด้วย เมื่อข้าพเจ้าออกจากกรุงเทพฯ พระยาไกรยังหาได้กลับไม่ ข้าราชการไทยอื่น ๆ ได้เคยไปณสำนักแม่ทัพที่ย่างกุ้งแล้ว และเมื่อกลับมา ก็ได้สรรเสริญการต้อนรับและความเรียบร้อยแห่งกิจการทั้งปวงที่ดำเนิรไปในค่ายอังกฤษ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ในกรุงเทพฯ ได้รับจดหมาย ๔ ฉะบับ ลงนาม เฮนรี เบอร์นี สลักหลังถึงนายทหารผู้บังคับการอยู่ในที่ต่าง ๆ เฮนรี เบอร์นี นั้น ปรากฏว่า ออกเที่ยวเดรตรวจราชการในหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งได้จากพะม่า และเมื่อไปถึงที่สะดวกแห่ง ๑ ก็ได้เขียนจดหมายเหล่านั้นแล้วมอบให้แก่บุคคล ๑ ผู้อยู่ในฐานะซึ่งคิดว่าควรจะมอบไปได้ ผู้นั้นรับว่า จะส่งจดหมายทั้ง ๔ ฉะบับไปยังผู้รับในที่ต่าง ๆ แต่มิได้ส่งไป รวมส่งไปยังกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น ในกรุงเทพฯ ได้เปิดจดหมายอ่านและคัดสำเนาไว้ ในจดหมายนั้นมีข้อความแต่เพียงว่า ได้ไปในที่ต่าง ๆ พบเห็นอะไรบ้าง และกำชับนายทหารผู้บังคับการอยู่ในที่ต่าง ๆ ว่า เมื่อพบปะกับไทย ก็ให้แสดงอัชฌาสัยไมตรีอย่างดีที่สุด พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงทราบความในจดหมายนั้นก็ดีพระทัย แต่จดหมายเหล่านั้นจะส่งไปไหนหรือตกอยู่ในที่ใด ข้าพเจ้าหาทราบไม่

ก่อนข้าพเจ้ามาจากกรุงเทพฯ หลายอาทิตย์ ได้มีข่าวมาณที่นั้นจากแดนสงครามว่า อังกฤษกับพะม่าได้รบกันหลายครั้ง อังกฤษชะนะทุกครั้ง ในครั้งหนึ่ง แม่ทัพใหญ่ของพะม่าเสียชีวิต และอังกฤษยกเข้าไปจนอีก ๓ วันจะถึงกรุงอมรบุระ ข่าวเหล่านี้อาจจะมาจากแห่งเดียวกันกับที่ท่านกล่าวในจดหมายของท่านถึงพระคลังเป็นแน่ ข้าพเจ้าได้ยินมานานแล้วว่า (ไทย?) ได้มีความตั้งใจจะยกไปตีเประ และอังกฤษไม่ยอมให้เจ้านครผ่านไป ข้อหลังนี้ทำให้พระเจ้าแผ่นดินสยามขุ่นเคืองพระหฤทัยเป็นอันมาก ความขุ่นเคืองนั้นทวีขึ้นเพราะจดหมายซึ่งได้รับจากเมืองขึ้นฮอลันดาแห่งใดแห่งหนึ่งกล่าวความว่า อังกฤษกำลังเตรียมทัพเพื่อจะยกไปตีเอาเมืองไทรทั้งหมด เมื่อได้เมืองไทรแล้ว จะยกเลยมายังสยาม คำกล่าวนี้ทำให้รัฐบาลตื่นตกใจในตอนแรกที่ได้รับ แต่เมื่อก่อนข้าพเจ้าออกจากกรุงเทพฯ นั้น ความตื่นตกใจนี้ได้ระงับลงไปแล้ว ข้าพเจ้าได้ใช้โอกาสทุกโอกาสเพื่อเถียงข่าวที่มีมาเช่นนั้น และแจ้งให้ไทยเป็นที่วางใจว่า อังกฤษมิได้มีความตั้งใจเช่นว่านั้นเลย เมื่อข้าพเจ้าสนทนากับพระคลังครั้งหลังในวันที่ข้าพเจ้าออกจากกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าได้แสดงความหวังว่า พระคลังมิได้เชื่อข่าวต่าง ๆ ที่มีผู้นำมากล่าวในสยามเป็นทางเสียหายแก่อังกฤษ เพราะไม่มีความจริงอะไรเลย และผู้ที่นำข่าวเหล่านั้นมาก็ล้วนแต่เป็นผู้คิดให้ร้ายต่อประเทศทั้ง ๒ ทั้งนั้น ที่จริงอังกฤษมีความประสงค์อย่างยิ่งที่จะตั้งอยู่ในไมตรีอันดีกับชนชาวสยาม พระคลังตอบข้าพเจ้าว่า ได้รับข่าวไม่ดีในเรื่องอังกฤษบ่อย ๆ แต่พระเจ้าแผ่นดินหรือพระคลังเองมิได้เชื่อ พระคลังไม่นึกว่า อังกฤษตั้งใจจะรบกับไทย และไทยจะระวังมิกระทำความขุ่นเคืองให้เกิดแก่อังกฤษ ป้อมที่สร้างที่ปากน้ำนั้นสำหรับป้องกันพวกมะลายูเท่านั้น ข้าพเจ้าบอกแก่พระคลังว่า ข้าพเจ้าจะนำไปแจ้งในสิงคโปร์ให้ทราบความตั้งใจดีของไทยทั่ว ๆ ไปที่มีแก่อังกฤษ และข้าพเจ้าเองก็ได้เห็นความตั้งใจดีนั้นในคราวที่ข้าพเจ้ากลับไปสยามเที่ยวหลังนี้ และข้าพเจ้าหวังใจว่า ข้าพเจ้าและผู้อื่น ๆ ที่ไปกับข้าพเจ้าได้ประพฤติเป็นที่พอใจพระคลัง พระคลังตอบทันทีว่า เป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าได้ขอต่อพระคลังให้อำนวยประโยชน์แก่การค้าขายของเราบ้าง เป็นต้นว่า ลดเก็บภาษีปากเรือ เรืออังกฤษซึ่งเข้าไปสู่อ่าวสยามกว่าครั้ง ๑ ใน ๑๒ เดือน พระคลังตอบว่า เป็นธรรมเนียมต้องเก็บภาษีปากเรือทุกเที่ยวที่เรือเข้าไปในอ่าว และเรือสำเภาก็เก็บเช่นนั้นเหมือนกัน พระเจ้าแผ่นดินคงจะไม่โปรดให้เปลี่ยนธรรมเนียมเป็นแน่ ข้าพเจ้ากล่าวว่า เมื่ออังกฤษทำศึกกับพะม่าเสร็จแล้ว บางทีจะเต็มใจแบ่งดินแดนที่ตีได้ถวายพระเจ้าแผ่นดินสยามบ้าง ถ้าเช่นนั้น บางทีพระเจ้าแผ่นดินจะโปรดให้เปลี่ยนธรรมเนียมในทางที่เป็นประโยชน์แก่การค้าขายของอังกฤษบ้าง พระคลังนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบว่า การจัดราชการบ้านเมืองเช่นที่ว่านี้หาใช่กิจของพ่อค้าไม่ ข้าพเจ้ามิได้พูดเรื่องนั้นต่อไป.

ในที่สุด ข้าพเจ้าขอต่อพระคลังให้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ได้รับข่าวใหม่จากแดนสงครามอย่างไรบ้าง เพราะข้าพเจ้าอยากจะพาข่าวนั้นไปด้วย พระคลังตอบว่า ไม่มีข่าวมาใหม่ ถ้ามี ก็คงจะได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบแล้ว และพระคลังขอให้ข้าพเจ้าตอบมิศเตอรครอเฟิดว่า พระเจ้าแผ่นดินได้มีพระราชโองการไปถึงแม่ทัพและเจ้าเมืองทั้งปวง คือ ที่อยู่ต่อแดนพะม่า เป็นต้น ว่า ให้เตรียมไว้ให้พร้อม เพื่อกองทัพไทยทั้งหมดจะได้เข้ารวมกับทัพอังกฤษเมื่อสิ้นฤดูฝน และให้เตรียมยานพาหนะทั้งสิ้นอันหาได้ คือ เรือ และสัตว์พาหนะ เป็นต้น สำหรับให้ทัพอังกฤษใช้ อนึ่ง พระคลังบอกแก่ข้าพเจ้าว่า ในเช้าวันนั้น (วันที่ ๒๐ เดือนก่อน) ได้รับข่าวว่า มีเรือมาจากกัลกัตตาเพื่อแสดงไมตรีต่อพระเจ้าแผ่นดินสยาม และเรือนั้นจะมาถึงในเร็ววัน

รายงานที่ข้าพเจ้าแจ้งต่อท่านในจดหมายนี้ก็ดี หรือข้อความอื่นซึ่งข้าพเจ้าจะแจ้งให้ทราบในเมื่อข้าพเจ้าไปถึงสิงคโปร์ก็ดี ถ้าเป็นประโยชน์แก่ท่าน หรือแก่ทางการซึ่งท่านมีหน้าที่ปฏิบัติอยู่โดยความเต็มใจและเต็มกำลัง ข้าพเจ้าจะมีความยินดียิ่งนัก.

เมื่อเรือคาโรไลน์กลับถึงกรุงเทพฯ เที่ยวที่แล้วมานี้ ของกำนันหลายอย่างซึ่งท่านฝากไปให้พระคลังนั้น ได้นำไปส่งเรียบร้อยหมด ปืนทุ่ง ๒ กระบอกนั้นให้ความพอใจยิ่งกว่าสิ่งอื่น ๆ

ข้าพเจ้าขอส่งบิลออฟเลดิงและบาญชีค่าใช้จ่ายให้แก่ท่านพร้อมกับจดหมายนี้เป็นจำนวนเงิน ๑๑๐ บาท ซึ่งข้าพเจ้าไดมอบให้บริษัทมอร์กันฮันเตอรแอนโกเป็นผู้เก็บจากท่านโดยอัตราแลกเงินเท่ากับเหรียญสเปญ ๖๗ เหรียญกับ ๖๐ เซนต์ ขอท่านได้จ่ายเงินนั้นเมื่อเขาไปขอรับ อนึ่ง ในเรือนี้มีไม้กลมอีก ๕ ท่อนซึ่งนำมาส่งขึ้นเรือไม่ทันลงในบิลออฟเลดิง แต่จะต้องนำไปส่งอย่างเดียวกับสิ่งของที่มีในบิลนั้น ไม้ ๕ ท่อนนี้ พระคลังนำส่งให้แก่ข้าพเจ้าเองก่อนข้าพเจ้าลากับ กล่าวว่า เป็นไม้อย่างดี เนื้อแข็ง และเนื้อแน่น อาจจะขัดให้ขึ้นมันได้เหมือนหินอ่อน แหวนซึ่งท่านส่งไปให้พระคลังนั้น ข้าพเจ้าได้รับคืนมาแล้ว และข้าพเจ้าจะได้นำให้แก่ท่านพร้อมกับหนังสือนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า แหวนนั้นเป็นของจริง.

ข้าพเจ้าหวังว่า จะได้พบกับท่านใน ๒–๓ วันนี้ ฯลฯ ฯลฯ

(ลงนาม) ยอน กีลลีซ์

คำแปลจดหมายเจ้าพระยาพระคลัง (ภายหลังเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์) มีไปถึงมิศเตอรยอน ครอเฟิด ผู้รักษาราชการ (อังกฤษ) ณสิงคโปร์ ในเดือนสิงหาคม ปีระกา สัปตศก พ.ศ. ๒๓๖๘ (ต้นรัชชกาลที่ ๓) จดหมายเจ้าพระยาพระคลังนี้เขียนเป็นภาษาไทยแล้วมีผู้แปลเป็นอังกฤษ คำแปลเป็นไทยในที่นี้แปลจากอังกฤษ อาจเพี้ยนกับภาษาไทยเดิมของเจ้าพระยาพระคลังโดยถ้อยคำสำนวน แต่คงจะได้ความอย่างเดียวกัน


ข้าพเจ้าได้รับหนังสือของท่าน ซึ่งท่านให้กับตันยอนสันเป็นผู้นำมาพร้อมกับกระจกเงาคู่ ๑ กับปืนทองเหลือง บรรจุดินนัดละ ๑๒ ปอนด์ คู่ ๑ ซึ่งเกาวนาเยเนราลแห่งเบงกอลส่งมาทูลเกล้าฯ ถวาย ตามจดหมายของท่านฉะบับนี้ ข้าพเจ้าทราบด้วยความพอใจเป็นอันมากว่า อังกฤษตีได้อารกัน (ยะไข่) และอาสาม ข้อความทั้งหลายในจดหมายของท่าน ที่สำคัญยิ่งก็คือ ข่าวที่อังกฤษชะนะพะม่าหลายครั้ง กับทั้งของทูลเกล้าฯ ถวายของเกาวนาเยเนราลแห่งเบงกอลด้วย ข้าพเจ้าได้นำขึ้นกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยินดีรับของทูลเกล้าฯ ถวาย และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าแจ้งให้ทราบไปยังท่านเกาวนาเยเนราลว่า ทรงขอบใจเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพริกไทย ๖๐ หาบให้กับตันยอนสันรับไปส่งต่อท่านเกาวนาเยเนราลเป็นของตอบแทน

พระยามหาโยธาได้สนทนากับหัวหน้าราชการอังกฤษที่เมาะตะบันแล้วยกจากที่นั้นไปตำบลเกียน[3] (Kean) ไปถึงโดยไม่มีภัยอันตรายเมื่ออยู่ที่เกียน (Kean) นั้น ได้รับจดหมายจากหัวหน้าทัพอังกฤษที่ย่างกุ้งและเมาะตะบัน ขอให้ทำลายและรบกวนพะม่า แต่ไม่ให้ทำให้เกิดเดือดร้อนแก่ชาวเมืองซึ่งอยู่เรียบราบ พระยามหาโยธาได้ทำเช่นนั้นจนพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อนสวรรคต จึงต้องกลับมากรุงเทพฯ เพราะเป็นธรรมเนียมที่จะต้องเข้ามาในงานพระบรมศพ เมื่อเสร็จการพระบรมศพแล้ว ก็ถึงฤดูฝน กองทัพของเราจึงยังยกไปทำการไม่ได้ เมื่อสิ้นฤดูฝนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดไว้ว่า จะโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาโยธายกไปช่วยอังกฤษไปรบพะม่าอีกครั้งหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์หรือพฤศจิกายน อนึ่ง ท่านมีประสงค์ให้ฝ่ายเราจัดช้าง ควาย และงัว ให้แก่แม่ทัพอังกฤษให้แม่ทัพอังกฤษใช้ จึงมีพระบรมราชโองการสั่งแก่ข้าพเจ้าให้สั่งไปยังผู้ว่าราชการในหัวเมืองฝ่ายตะวันตกและฝ่ายเหนือให้หาสัตว์มอบให้ตามต้องการ

ผ้าห่ม กระจกเงา และกัลปังหา ซึ่งท่านกรุณาส่งมาให้ข้าพเจ้านั้น ได้รับเรียบร้อยแล้ว และข้าพเจ้าขอส่งของมาตอบแทนเพื่อแสดงความนับถือของข้าพเจ้า คือ พริกไทย ๓๕ หาบ กับน้ำตาล ๑๐ หาบ

  • ลงวันที่กรุงเทพฯ วันที่ ๑ สิงหาคม ๑๘๒๕
  • (ปีระกา สัปตศก พ.ศ. ๒๓๖๘)

  1. กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงแปล
  2. เป็นคำลือในพวกฝรั่งเวลานั้น จนถึงเซอร เฮนรี เบอร์นี ผู้เป็นทูตจำทูลอุปราชสาสนมาแต่อินเดีย เมื่อเขียนรายงานยื่นต่อรัฐบาลของเขาในเรื่องที่มากรุงเทพฯ โดยเพียรจะทำหนังสือสัญญากับไทย ก็มีความข้อนี้
  3. ตำบลนี้ ผู้แปลไม่ทราบว่า ชื่อไทยเรียกอย่างไร

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก