ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

จาก วิกิซอร์ซ
ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๑๑)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ ๓ จนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ นั้น

โดยที่รัฐบาลเห็นว่า การยังคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในคราวนี้แตกต่างจากคราวที่ผ่านมา คือ มิได้มุ่งที่จะห้ามการเปิดใช้สถานที่หรือการจำกัดกิจกรรมใด ๆ อันอาจกระทบต่อวิถีชีวิตปกติ ในส่วนของประชาชนเพราะการควบคุมสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยได้ผลดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากแต่เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจำเป็นต้องสนธิกำลังทุกฝ่ายนอกเหนือจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อให้สามารถบูรณาการความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคต่อไปได้อีกระยะหนึ่งในช่วงเวลาซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคในต่างประเทศยังไม่เป็นที่น่าวางใจ ประกอบกับในเดือนกรกฎาคมนี้จะมีการเปิดสถานศึกษา การเปิดใช้ท่าอากาศยาน การเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร การเปิดสถานบริการ สถานบันเทิง สถานที่แข่งกีฬา แหล่งท่องเที่ยว และสถานที่อื่น ๆ หลายแห่งที่มีความเสี่ยงสูงและยังเหลืออยู่ ทั้งยังมีวันหยุดราชการต่อเนื่องกันหลายวัน อันอาจมีการเดินทางและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการรวมกลุ่มกันหนาแน่นมากกว่าปกติจนเกิดความประมาท ไม่นำพาต่อมาตรการป้องกันโรคจนเป็นเหตุให้เกิดการระบาดรอบใหม่ได้ดังที่ปรากฏในบางประเทศ ดังนั้น ในขณะที่ผ่อนคลายมาตรการตามข้อกำหนดต่าง ๆ เป็นระยะที่ ๕ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำกิจกรรมได้ตามแนวชีวิตวิถีไหม่ โดยนำพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาบังคับใช้ แต่ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องคงอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในช่วงเวลาเช่นนี้อีกระยะหนึ่งเพื่อให้การใช้เสรีภาพ และการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นไปด้วยความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่สามารถสั่งการและ แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพและรวดเร็วทันการ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๔ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การเปิดเรียนและรูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ การใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยเพื่อจัดการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมให้ดำเนินการได้ โดยการเปิดเรียนและรูปแบบการเรียนการสอน

ให้เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณีกำหนด โดยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องจัดให้มีความพร้อมและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการติดโรค การแพร่กระจายเชื้อและความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสำคัญ

ข้อ ๒ การเปิดดำเนินการสถานที่และกิจกรรมต่าง ๆ ให้สถานที่ กิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยผ่อนคลายหรืออนุญาตให้เปิดดำเนินการได้แล้วตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๐) ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ คงดำเนินการได้ต่อไปภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา รวมทั้งมาตรการป้องกันโรค และการจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้เดิม เช่น การแข่งขันกีฬาและถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาที่ไม่มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขัน การจำกัดจำนวนบุคคลในการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และวีดีทัศน์ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ หรือในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ

สำหรับสถานที่ กิจการและกิจกรรมอื่นที่มีความเสี่ยงนอกเหนือจากที่ได้ผ่อนคลายหรือได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการแล้ว จะสามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

(๑) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ สามารถเปิดดำเนินการตามกำหนดเวลาทำการปกติของสถานที่นั้น ๆ แต่ไม่เกินเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา

 ส่วนร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการตามกำหนดเวลาทำการปกติของสถานที่นั้น ๆ

(๒) สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ผ่อนผันให้เปิดดำเนินการได้ โดยเปิดทำการตามเวลาปกติที่กฎหมายกำหนดจนถึงเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกาของวันเดียวกันและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

 ในส่วนของการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไปสามารถเปิดให้บริการหลังเวลา ๒๔.๐๐ นาฬิกาได้ แต่งดการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในสถานที่ที่ให้บริการหลังเวลาดังกล่าว

(๓) ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต ให้เปิดดำเนินการได้โดยจำกัดช่วงเวลาการให้บริการ

(๔) สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด โรงน้ำชา ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาเปิดทำการปกติที่กฎหมายกำหนด

สำหรับสนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือสนามการแข่งขันอื่นในลักษณะทำนอง เดียวกันยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ

ข้อ ๓ การปฏิบัติศาสนกิจหรือศาสนพิธีของทุกศาสนา การปฏิบัติศาสนกิจหรือศาสนพิธีในวันสำคัญทางศาสนาหรือตามประเพณีนิยม ณ ศาสนสถานใด ให้ผู้ปกครองที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในศาสนสถานนั้นพิจารณาให้สอดคล้องกับมาตรการ แนวปฏิบัติ หรือคำแนะนำขององค์กรปกครองทางศาสนานั้น ๆ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

ข้อ ๔ การขนส่งสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและรองรับการเดินทางที่อาจหนาแน่นขึ้นภายหลังที่ได้มีการเปิดเรียนและการเปิดทำการของสถานที่ต่าง ๆ แล้ว ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเตรียมความพร้อม กำกับดูแลและตรวจสอบการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยต้องมีการจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการ กำหนด

ข้อ ๕ การผ่อนผันการใช้ช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักรเฉพาะเพื่อการขนส่งสินค้า เพื่อบรรเทาผลกระทบและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าชายแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาเปิดช่องทางเข้าออก ด่านจุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรนในพื้นที่รับผิดชอบ เฉพาะเพื่อการนำเข้าส่งออกสินค้าและสินค้าผ่านแดนได้ตามความจำเป็น โดยต้องมีมาตรการป้องกันโรคและกำกับการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ และเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ข้อ ๖ มาตรการป้องกันโรค ให้เจ้าของ ผู้จัดการสถานที่หรือผู้จัดให้มีกิจกรรมใด ๆ ทางธุรกิจ การคมนาคม มหรสพ สนามกีฬา สถานบันเทิง สถานบริการ ที่สาธารณะ หรือแหล่งอื่น ๆ ซึ่งมีการรวมกลุ่มหรือร่วมกิจกรรมลักษณะที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิด สัมผัสและแพร่เชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้ร่วมกิจกรรมนั้น ๆ ดังต่อไปนี้

(๑) บริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ

(๒) ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า

(๓) อำนวยความสะดวกในการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อยหนึ่งเมตรและจำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมมิให้แออัด

(๔) จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

(๕) จัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนการทำกิจกรรม รวมทั้งระหว่างและภายหลังการทำกิจกรรมด้วย

พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่ออาจจัดหรือกำหนดให้มีการติดตั้งระบบแอปพลิเคชันติดตามตัวเพื่อให้มารับการตรวจหาเชื้อเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการสัมผัสผู้ติดเชื้อก็ได้

ข้อ ๗ การรักษาความเรียบร้อยตามมาตรการป้องกันโรค ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่ กิจการหรือกิจกรรมที่ได้ผ่อนคลายหรืออนุญาตให้เปิดดำเนินการแล้ว จัดให้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งดำเนินการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ตามคำแนะนำ เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตามที่ทางราชการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่และการดำเนินการของเจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่หรือผู้จัดให้มีกิจกรรมตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ตามที่ทางราชการกำหนด หากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลาเพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตามวรรคหนึ่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ของโรค รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มีคำสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่รับผิดชอบไว้เป็นการชั่วคราวและอาจดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายต่อผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้

ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราว เมื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการที่ทางราชการกำหนดและจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ แล้ว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งให้เปิดดำเนินการในสถานที่ดังกล่าวได้

ข้อ ๘ การประสานงาน ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการทั้งในส่วนของประชาชน และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อกำหนดนี้ ให้หารือหรือประสานงานกับคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 เป็นประธาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"