ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

จาก วิกิซอร์ซ
ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๑๒)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ ๓ จนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ นั้น

โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด - 19 ยังคงมีความรุนแรงในต่างประเทศ ประกอบกับจะมีการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการจัดการคัดกรองของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรการป้องกันโรค และเพื่อการควบคุมและป้องกันมิให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ยกเลิกความในข้อ ๓ ของข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑) ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ กรณีการปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"การเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นการใช้เส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ หรือโดยการใช้ยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะอื่นใดเพื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรย่อมกระทำได้ โดยเป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา และหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกำหนด เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคและจัดระเบียบจำนวนบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรให้สอดคล้องกับความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองและการจัดสถานที่ไว้แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต สำหรับผู้โดยสารหรือผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้มีสัญชาติไทย

(๒) ผู้มีเหตุยกเว้นหรือเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉินกำหนด อนุญาต หรือเชิญให้เข้ามาในราชอาณาจักรได้ตามความจำเป็น โดยอาจ กำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาก็ได้

(๓) บุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศซึ่งมาปฏิบัติงานในประเทศไทย หรือบุคคลในหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตตามความจำเป็น ตลอดจนคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของบุคคลดังกล่าว

(๔) ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น แต่เมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้กลับออกไปโดยเร็ว

(๕) ผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะซึ่งจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจและมีกำหนดเวลาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรชัดเจน

(๖) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตรของผู้มีสัญชาติไทย

(๗) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรหรือได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

(๘) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมาย ตลอดจนคู่สมรสหรือบุตรของบุคคลดังกล่าว

(๙) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาของสถานศึกษาในประเทศไทยที่ทางการไทยรับรองตลอดจนบิดามารดาหรือผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว ยกเว้นนักเรียนหรือนักศึกษาของโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือของสถานศึกษาอื่นของเอกชนที่มีลักษณะคล้ายกัน

(๑๐) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้ามารับการตรวจรักษาพยาบาลในประเทศไทย และผู้ติดตามของบุคคลดังกล่าว แต่ต้องไม่เป็นกรณีเข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาลโรคโควิด - 19

(๑๑) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (special arrangement) กับต่างประเทศ"

ข้อ ๒ มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อควบคุมดูแลให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา และหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดไว้โดยเคร่งครัด และให้ผู้ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสั่งหรือกำหนดเป็นเงื่อนไขในการเดินทางหรือการเข้ามาในราชอาณาจักร รับการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่และตามระยะเวลาซึ่งทางราชการกำหนดหรือปฏิบัติตามระบบการตรวจสอบการเดินทางในราชอาณาจักรหรือการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวเพื่อให้มารับการตรวจหาเขชื้อเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการติดเชื้อก็ได้

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"