ข้ามไปเนื้อหา

ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

จาก วิกิซอร์ซ
ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๑๓)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ ๔ จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ แล้ว นั้น

โดยที่แม้สถานการณ์ของประเทศไทยในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด - 19) มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์การระบาดในต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับรุนแรงและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราสูง เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการเปิดให้มีการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ ดังที่ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีความจำเป็นจะต้องเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้แสดงความประสงค์ต่อทางราชการไว้เป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นที่ต้องคงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ต่อไปเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้โดยยังคงตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องสนธิกำลังทุกฝ่ายนอกเหนือจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ผลจากการสนธิกำลังประการหนึ่งคือ พนักงานเจ้าหน้าที่ยังคงตรวจพบผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเมือง และผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากที่มีอาการและอาจเป็นพาหะนำโรคเข้ามาแพร่ในประเทศได้ การให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการกำหนดให้บุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ออกตามข้อกำหนดภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งในขั้นตอนก่อนการเดินทาง การเข้ารับการกักกันตัวตามระยะเวลาและในสถานที่ที่รัฐกำหนด หรือการติดตามดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศ จึงเป็นการดำเนินการที่สำคัญและจำเป็นเพื่อปกป้องความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขของประเทศนอกเหนือไปจากมาตรการปกติที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใด ๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย

ข้อ ๒ การเปิดดำเนินการสถานที่และกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มเติม ให้สถานที่ กิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยผ่อนคลายหรืออนุญาตให้เปิดดำเนินการไว้แล้วคงดำเนินการได้ต่อไปภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา รวมทั้งมาตรการป้องกันโรค การจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ ตามที่ทางราชการกำหนดไว้เดิม และให้สถานที่ กิจการและกิจกรรมดังต่อไปนี้ สามารถเปิดดำเนินการได้ตามความสมัครใจและความพร้อม

(๑)การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ได้เคยผ่อนคลายไว้แล้ว ให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์

(๒)สถานที่ใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นเครื่องเล่นเป่าลม บ้านลม บ้านบอลหรือเครื่องเล่นอื่นที่มีลักษณะเดียวกันที่เป็นการติดตั้งแบบถาวรและได้รับการตรวจสอบรับรองตามที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนด

(๓)ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้สนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือสนามแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบสามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้ตามความเหมาะสมเมื่อมีความพร้อม

ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมและสถานที่ดังกล่าวต้องจัดให้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบการดำเนินการ และหากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลาเพื่อให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจมีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราวและดำเนินคดีต่อผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้

ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ตรวจสอบกลั่นกรองและเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายหรือกระชับมาตรการที่ใช้บังคับกับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่ได้เปิดดำเนินการแล้วในห้วงเวลาที่ผ่านมาเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๓ การกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการจัดการ คัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การควบคุมและป้องกันมิให้เกิดการระบาดของโรคจึงให้แก้ไขเพิ่มเติมประเภทของผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๒) ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ดังต่อไปนี้

(๑)ให้ยกเลิกความใน (๗) ในข้อ ๑ การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ของข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๒) ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๗) คนต่างด้าวซึ่งมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตลอดจนคู่สมรสและบุตรของบุคคลดังกล่าว"

(๒)ให้ยกเลิกความใน (๘) ในข้อ ๑ การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ของข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๒) ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๔) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมาย ตลอดจนคู่สมรสและบุตรของบุคคลดังกล่าว หรือแรงงานต่างด้าวที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรได้รับอนุญาตจากทางราชการเพื่อผ่อนปรนให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและให้ทำงาน"

(๓)ให้ยกเลิกความใน (๑๑) ในข้อ ๑ การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ของข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๒) ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๑๑) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (special arrangement) ระหว่างหน่วยงานของรัฐของประเทศไทยกับต่างประเทศ หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรีตามข้อเสนอและการตรวจสอบกลั่นกรองของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่คณะกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าวกำหนด"

ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา หลักเกณฑ์และมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๒) ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ด้วย

ข้อ ๔ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสาธารณสุขของประเทศ ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ กลั่นกรองและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเดินทางของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่นายกรัฐมนตรีหรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 จะพิจารณาอนุญาตต่อไป

บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามวรรคหนึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค การจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ตามที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด

ข้อ ๕ การบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้เจ้าของหรือผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่ กิจกรรมและกิจการต่าง ๆ จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด และให้ผู้ใช้บริการหรือเข้าไปยังสถานที่หรือร่วมทำกิจกรรมเช่นว่านั้นสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากทางเลือก เว้นระยะห่างทางสังคม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด ตลอดจนเข้าระบบแอปพลิเคชันไทยชนะหากมีการนำมาใช้ และต้องยอมรับการกักกันตามระยะเวลาและในสถานที่ที่รัฐกำหนดสำหรับผู้อยู่ในข่ายต้องรับการกักกัน

ข้อ ๖ การประสานงาน ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการทั้งในส่วนของประชาชนและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อกำหนดนี้ ให้หารือหรือประสานงานกับคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 เป็นประธาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"