ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 17) ลงวันที่ 6 มกราคม 2564

จาก วิกิซอร์ซ
ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๑๗)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นคราว ๆ ออกไปอย่างต่อเนื่องนั้น

เพื่อกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นในการระงับยับยั้งการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งระบาดแบบกลุ่มก้อนในเขตหลายเขตพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อการสกัดและยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด ทั้ง ๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้ความร่วมมือร่วมใจปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคมาโดยตลอด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่ กิจกรรม หรือกิจการต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้บริการ ผู้เดินทาง และประชาชนทั่วไปปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดด้วยการรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย การล้างมือ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และการติดตั้งระบบแอปพลิเคชันที่กำหนด ตลอดจนยอมรับการกักกันตนตามระยะเวลาและในสถานที่ที่กำหนดหากอยู่ในข่ายที่ต้องรับการกักกัน

รัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งและใช้ระบบแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ซึ่งเป็นการพัฒนาและประสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ โดยกรมควบคุมโรคและสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์จากการได้รับแจ้งข้อมูล ข้อแนะนำการปฏิบัติตนหรือคำเตือนเพื่อลดความเสี่ยงหรือเลี่ยงจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่อยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเพื่อให้การดำเนินการสอบสวนโรคและการเฝ้าระวังโรคเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ควบคู่กับการใช้แอปพลิเคชัน "ไทยชนะ" เพื่อให้การดำเนินการได้ผลสัมฤทธิ์ด้วยดี

ข้อ ๒ การยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะของประชาชนในการเดินทางเข้าออกเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคเพิ่มขึ้น ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดตราด จังหวัดระยอง และจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสกัดและยับยั้งการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด โดยให้ตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทางเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มข้น และให้ผู้ที่อยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าวติดตั้งและใช้ระบบแอปพลิเคชั่น "หมอชนะ"

บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กระทรวงมหาดไทยกำหนด

ข้อ ๓ การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค รัฐบาลมีเจตจำนงที่ชัดเจนและเด็ดขาดในการดำเนินการปราบปรามและลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งบุคคลใดก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างประเทศโดยมิได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบ การคัดกรองโรค และการกักกันตัวตามมาตรการทางสาธารณสุข รวมทั้งการปล่อยปละละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้ออำนวยหรือสมรู้ร่วมคิดให้มีการเปิดบ่อนการพนันขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อนจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งได้สั่งการและกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเร่งตรวจสอบเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการลงโทษตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว รวมทั้งจะได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการและเสนอมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อีกต่อไป

ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง หน่วยงานความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ปฏิบัติการกวดขัน สอดส่องและเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายรวมถึงการเปิดให้มีการมั่วสุมลักลอบเล่นการพนันซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการระบาดของโรคในครั้งนี้ และให้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายทั้งทางวินัยและทางอาญาต่อไป

รัฐบาลสนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบของภาคประชาชน หากพบเห็นการกระทำหรือการปล่อยปละละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายและส่งผลกระทบเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรง สามารถแจ้งเบาะแสมาที่นายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ทำเนียบรัฐบาล

ข้อ ๔ โทษ ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ย่อมเป็นความผิดซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ ด้วย

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"