ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 29 มกราคม 2564
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ ๙ จนถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น
โดยที่ได้มีการบังคับใช้บรรดามาตรการต่าง ๆ เพื่อเข้าระงับยับยั้งและป้องกันการระบาดแบบกลุ่มก้อนของโรคโควิด - 19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นและได้ยกระดับเป็นมาตรการที่เข้มงวดอย่างยิ่งในบางพื้นที่ ฝ่ายสาธารณสุขได้รายงานผลการปฏิบัติงานและประเมินสถานการณ์ปัจจุบันว่าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวสามารถจำกัดและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้อยู่ในขอบเขตได้เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน อาสาสมัคร ตลอดจนความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกภาคส่วนตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขโดยมุ่งถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ จึงสมควรผ่อนคลายการกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์และการบังคับใช้บางมาตรการตามลำดับขั้นตอนและตามสภาพของพื้นที่สถานการณ์ที่สอดคล้องกับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ เพื่อให้สถานที่กิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเหมาะสมและความพร้อมสามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ โดยกำหนดเป็นระดับของพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ดังนี้
(๑)พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้พื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่จำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง ตามที่กำหนดไว้ ในข้อ ๒ ของข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๓) ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เพื่อให้การสกัดและยับยั้ง การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปโดยรวดเร็วและเด็ดขาด
(๒)พื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่ต้องบังคับใช้มาตรการที่กำหนดไว้สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๖) ลงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เว้นแต่เป็นกรณีที่กำหนดไว้เฉพาะตามข้อกำหนดนี้
(๓)พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กระทรวงมหาดไทย พิจารณาประเมินสถานการณ์และจัดกลุ่มจังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ โดยจำแนกออกเป็นระดับตามแนวทางและเงื่อนไขการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ที่ ศบค. กำหนด และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อประกาศต่อไป
ข้อ ๒ การใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษา ให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท ยกเว้นที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม โดยรูปแบบของการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข
ข้อ ๓ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
(๑)ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานที่ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไว้เป็นการชั่วคราว หรือสั่งห้ามการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ อย่างน้อยได้แก่สถานที่ดังต่อไปนี้ สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการนวดแผนไทย ตู้เกม ร้านเกมและร้านอินเตอร์เน็ต สนามมวย สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ยิ้ม ฟิตเนส สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นเด็ก สวนสนุก สถานีขนส่งสาธารณะ
(๒)ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะตามข้อยกเว้นตามที่กำหนดในข้อ ๒ ของข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๖) ลงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔(๓)ให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ดังต่อไปนี้สามารถเปิดดำเนินการได้ ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา และการจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ก. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการและสามารถบริโภคในร้านได้ตามปกติ โดยจัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน และการจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด และให้เปิดดำเนินการไม่เกิน ๒๑.๐๐ นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
ข. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามปกติแต่ไม่เกิน ๒๑.๐๐ นาฬิกา สำหรับร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่งชุมชน หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการตามกำหนดเวลาทำการปกติของสถานที่นั้น ๆ
ค. ตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดค้าส่ง ให้เปิดดำเนินการได้ โดยจำกัดจำนวนบุคคลที่อยู่ในพื้นที่และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
ง. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน สถานที่พักผู้สูงวัยเฉพาะการเข้าพักอาศัยเป็นประจำ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการเพื่อการให้ความช่วยเหลือตามภารกิจได้
จ. โรงงาน สถานประกอบการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามปกติ ซึ่งเจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในสถานที่นั้น ๆ ต้องจัดให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่กำหนด
ข้อ ๔ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด
(๑)ให้ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๖) ลงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ในกรณีการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด และการขอความร่วมมือผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณาปรับรูปแบบการปฏิบัติงาน
(๒)ให้เงื่อนไขการเปิดดำเนินการที่กำหนดไว้สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามข้อ ๔ ของข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๖) ลงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ยังคงใช้บังคับต่อไป เว้นแต่กรณีของการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ให้เปิดดำเนินการได้และสามารถบริโภคในร้านได้ตามปกติ โดยดำเนินมาตรการจัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน และการจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดแต่ภายหลังเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา ต้องเป็นลักษณะของการให้บริการโดยนำกลับไปบริโภคที่อื่น
(๓)ให้สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การฝึกซ้อม การแข่งขัน หรือเพื่อการเรียนการสอนในทุกประเภทกีฬา สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ โดยการจัดการแข่งขันกีฬาให้เป็นลักษณะของการถ่ายทอดการแข่งขันโดยไม่มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขัน ซึ่งผู้จัดการแข่งขันต้องดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่ทางราชการกำหนดด้วย
ข้อ ๕ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นสำหรับพื้นที่ควบคุม ให้การเปิดดำเนินการของสถานที่ กิจการ และกิจกรรมในเขตพื้นที่ควบคุม ดังต่อไปนี้ ต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ และตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
(๑)สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ แต่ไม่เกิน ๒๓.๐๐ นาฬิกา
(๒)การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ แต่ไม่เกิน ๒๓.๐๐ นาฬิกา
(๓)การจำหน่ายสุรา สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่ซึ่งจำหน่ายสุรา สามารถเปิดบริการโดยให้มีการบริโภคในร้านได้ไม่เกิน ๒๓.๐๐ นาฬิกา
ข้อ ๖ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นสำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสูง ให้การเปิดดำเนินการของสถานที่ กิจการ และกิจกรรมในเขตพื้นที่เฝ้าระวังสูง ดังต่อไปนี้ ต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ และตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
(๑)สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ แต่ไม่เกิน ๒๔.๐๐ นาฬิกา
(๒)การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ แต่ไม่เกิน ๒๔.๐๐ นาฬิกา
(๓)การจำหน่ายสุรา สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่ซึ่งจำหน่ายสุรา สามารถเปิดบริการโดยให้มีการบริโภคในร้านได้ไม่เกิน ๒๔.๐๐ นาฬิกา
ข้อ ๗ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นสำหรับพื้นที่เฝ้าระวัง ให้การเปิดดำเนินการของสถานที่ กิจการ และกิจกรรมในเขตพื้นที่เฝ้าระวัง สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้ เมื่อมีความพร้อมโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ข้อ ๘ การเข้มงวดกับสถานที่หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน เพื่อให้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการสามารถยับยั้งการระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการเข้าตรวจสอบ สนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา สนามฝึกซ้อม หรือแข่งขัน หรือการจัดกิจกรรมอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งทางราชการยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการในช่วงเวลานี้
ข้อ ๙ มาตรการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของจังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทาง แล้วแต่กรณี สามารถพิจารณาอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเพื่อการทำงานข้ามจังหวัดได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทำงานข้ามเขตจังหวัดในแต่ละเขตพื้นที่เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
ข้อ ๑๐ มาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการและการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการในแต่ละเขตพื้นที่จังหวัดเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่อาจมีความแตกต่างกันในเขตพื้นที่จังหวัด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี สามารถเสนอต่อ ศปก. ศบค. ตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับเขตอำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของตนได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด - 19 ในห้วงเวลาต่าง ๆ
ข้อ ๑๑ การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่ และการดำเนินการของเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ มาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ที่ทางราชการกำหนด
หากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลา เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ มีคำสั่งปิดสถานที่ในพื้นที่รับผิดชอบไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด มีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราว เมื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ มาตรการป้องกันโรค รวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ที่ทางราชการกำหนดแล้ว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งให้สถานที่ดังกล่าวเปิดดำเนินการได้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
- ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นายกรัฐมนตรี
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 29 มกราคม 2564". (2564, 29 มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 138, ตอน พิเศษ 22 ง. หน้า 43–48.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"