ข้ามไปเนื้อหา

ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 19) ลงวันที่ 9 เมษายน 2564

จาก วิกิซอร์ซ
ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๑๙)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น

โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และผู้ติดเชื้อได้กระจายตัวออกไปในหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว จากการติดตามและสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขพบว่า การแพร่ระบาดในลักษณะกลุ่มก้อนนี้ ผู้ติดเชื้อหลายรายมีกรณีเชื่อมโยงกับการเข้าใช้บริการของสถานบันเทิง หรือสถานบริการประเภทต่าง ๆ โดยที่มิได้แสดงอาการของโรคและได้แพร่โรคออกไปยังผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งมีข้อมูลว่าเป็นเชื้อโรคสายพันธุ์ที่สามารถระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติ ประกอบกับการเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันหยุดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากไม่ดำเนินการเข้าควบคุมก็อาจเกิดการรวมกลุ่มของบุคคลในสถานที่ดังกล่าวโดยละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด รัฐบาล โดยข้อเสนอของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดและเร่งด่วนสำหรับสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคนี้เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการระบาดของโรคมิให้แพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดที่ได้ตรวจพบการระบาดแล้วและมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคที่จำเป็นต้องดำเนินการในระยะเร่งด่วนตามบัญชีแนบท้ายข้อกำหนดนี้ โดยให้สั่งปิดสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยสิบสี่วัน

สำหรับสถานบริการหรือสถานที่ตามวรรคหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้ายข้อกำหนดนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณาสั่งปิดสถานที่นั้นเป็นการชั่วคราวได้ หากเห็นว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด

ข้อ ๒ การพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการ เพื่อให้การบริหารจัดการและการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด - 19 เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละเขตพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) เพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง และประเมินความเหมาะสม ก่อนเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการกับสถานที่ที่ได้มีคำสั่งให้ปิดเป็นการชั่วคราวตามข้อ ๑ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดตามบัญชีแนบท้ายข้อกำหนดนี้

ข้อ ๓ การตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ประสานการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดและเพิ่มความเข้มงวดในการเข้าตรวจพื้นที่ สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบการดำเนินการของสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมนั้น ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดระยะเวลาเพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

  • บัญชีรายชื่อจังหวัดที่ตรวจพบการระบาดและมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
  • ที่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการในระยะเร่งด่วน
  • แนบท้ายข้อกำหนด (ฉบับที่ ๑๙) ลงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔
รายชื่อจังหวัด จำนวน ๔๑ จังหวัด
๑) กรุงเทพมหานคร ๒๒) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๒) จังหวัดกาญจนบุรี ๒๓) จังหวัดเพชรบุรี
๓) จังหวัดขอนแก่น ๒๔) จังหวัดเพชรบูรณ์
๔) จังหวัดจันทบุรี ๒๕) จังหวัดภูเก็ต
๕) จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒๖) จังหวัดยะลา
๖) จังหวัดชลบุรี ๒๗) จังหวัดระยอง
๗) จังหวัดชัยภูมิ ๒๘) จังหวัดระนอง
๘) จังหวัดชุมพร ๒๙) จังหวัดราชบุรี
๙) จังหวัดเชียงราย ๓๐) จังหวัดลพบุรี
๑๐) จังหวัดเชียงใหม่ ๓๑) จังหวัดลำปาง
๑๑) จังหวัดตาก ๓๒) จังหวัดเลย
๑๒) จังหวัดนครนายก ๓๓) จังหวัดสงขลา
๑๓) จังหวัดนครปฐม ๓๔) จังหวัดสมุทรปราการ
๑๔) จังหวัดนครราชสีมา ๓๕) จังหวัดสมุทรสงคราม
๑๕) จังหวัดนครศรีธรรมราช ๓๖) จังหวัดสมุทรสาคร
๑๖) จังหวัดนนทบุรี ๓๗) จังหวัดสระแก้ว
๑๗) จังหวัดนราธิวาส ๓๘) จังหวัดสระบุรี
๑๘) จังหวัดบุรีรัมย์ ๓๙) จังหวัดสุพรรณบุรี
๑๙) จังหวัดปทุมธานี ๔๐) จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๒๐) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ๔๑) จังหวัดอุดรธานี
๒๑) จังหวัดปราจีนบุรี

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"