ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น
โดยที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกเดือนเมษายน ๒๕๖๔ ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่พบในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันต่อเนื่องจากกลุ่มการแพร่ระบาดในสถานบันเทิง การเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง และการติดเชื้อต่อเนื่องจากสถานที่เฉพาะกลุ่ม เช่น ชุมชนแออัด โรงงาน สถานที่พักของแรงงานต่างด้าว หรือตลาด ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้น และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากอันส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนโดยรวม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดมาแล้วระยะหนึ่งอันเป็นกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้สถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลายโดยเร็ว จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าแม้การระบาดจะยังคงมีอยู่อีกระยะหนึ่ง แต่จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพิ่มขึ้นประกอบกับการเร่งรัดดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ซึ่งหากได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนจะช่วยให้สถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ จึงสมควรผ่อนคลายมาตรการควบคุมบางกรณีเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนเกินสมควร โดยกำหนดมาตรการควบคุมที่จำเป็นตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน เพื่อให้การดำเนินชีวิตของประชาชนและการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุข
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอย่างถูกวิธีตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะยังคงเป็นข้อปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่หรือรับเชื้อ
การจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่กลุ่มบุคคลที่จำเป็นต้องเข้าประชุมอยู่ในสถานที่หนึ่งที่ใดเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่องหลายชั่วโมงซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาอาจไม่สะดวกหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ในการประชุม หากผู้จัดประชุมได้กำหนดให้มีมาตรการตรวจคัดกรองบุคคลและได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างรอบคอบ รัดกุม และเข้มงวดเพียงพอแล้ว เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การให้ผู้เข้าร่วมประชุมสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าและเครื่องป้องกันตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งการแสดงใบรับรองผลการตรวจว่าไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจัดให้มีกระบวนการคัดกรองโดยพิจารณาจากอาการของโรค ประกอบกับได้ดำเนินการภายใต้มาตรการควบคุมการประชุมตามระเบียบหรือข้อบังคับเมื่อเกิดเหตุที่มีความเสี่ยง โดยให้ผู้ควบคุมการประชุมกำหนดให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาการประชุม แต่อาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะช่วงเวลาของการอภิปรายหรือแสดงความเห็นในที่ประชุมได้ตามความเหมาะสมแห่งสภาพการณ์และความสมควรแก่เหตุ
ข้อ ๒ การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ ปรับระดับการกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้
(๑)ขื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ รวม ๔ จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
(๒)พื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้พื้นที่จังหวัด รวม ๑๗ จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
(๓)พื้นที่ควบคุม ให้พื้นที่จังหวัด รวม ๕๖ จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุม
จังหวัดในเขตพื้นที่สถานการณ์ตาม (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในบัญชีรายชื่อจังหวัดตามเขตพื้นที่สถานการณ์แนบท้ายข้อกำหนดนี้
ข้อ ๓ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
(๑)พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ก. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา โดยจำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้านได้ไม่เกินร้อยละ ๒๕ ของจำนวนที่นั่งปกติ ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่นได้จนถึงเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการจัดให้มีมาตรการคัดกรองผู้เกี่ยวข้อง การจัดระเบียบผู้เข้าใช้บริการ และการเว้นระยะห่างตามคำแนะนำและมาตรการที่ทางราชการกำหนด
ข. โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้งดใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่เป็นกรณีที่กำหนดไว้ในข้อแห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๐) ลงวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔
(๒)พื้นที่ควบคุมสูงสุด
ก. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการจัดให้มีมาตรการคัดกรองผู้เกี่ยวข้อง การจัดระเบียบผู้เข้าใช้บริการ และการเว้นระยะห่างตามคำแนะนำและมาตรการที่ทางราชการกำหนด
ข. โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้โดยให้พิจารณาตามความจำเป็น และดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ
(๓)พื้นที่ควบคุม ก. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
ข. โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม โดยให้ดำเนินการตามคำแนะนำของทางราชการและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
ข้อ ๔ แนวทางการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหรือการดำเนินการของบุคคล สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ในกรณีที่พบผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ข้อ ๕ การเร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติปรากฏผลเป็นรูปธรรมและประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็ว ให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) ปฏิบัติการช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งรัดเตรียมความพร้อมและบูรณาการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจในการกระจายและแจกจ่ายวัคซีน การลงทะเบียนรับวัคซีน การฉีดวัคซีน รวมทั้งการอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อมุ่งลดจำนวนผู้ป่วยและให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศต่อไป โดยให้รายงานแผนการปฏิบัติงานและผลการดำเนินงานดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
ข้อ ๖ การป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค รัฐบาลคงเน้นย้ำเจตจำนงที่เด็ดขาดในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามบุคคลใดก็ตามที่มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค เช่น การมีส่วนร่วมกับขบวนการลักลอบเข้าเมือง โดยมิได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบ การคัดกรองโรค และการกักกันตัวตามมาตรการทางสาธารณสุข ซึ่งเป็นต้นตอของการเป็นพาหะของโรคโควิด - 19 ชนิดกลายพันธุ์จากภายนอกราชอาณาจักร และการเปิดบ่อนการพนันขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อนจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรง
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ประสานการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดและเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติการกวดขันสอดส่องและเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายรวมถึงการเปิดให้มีการมั่วสุมลักลอบเล่นการพนัน และให้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อปราบปรามต่อไป
ข้อ ๗ การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาดำเนินมาตรการขั้นสูงสุดเพื่อลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบเพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเป็นระยะเวลาต่อเนื่องออกไปอีกอย่างน้อยสิบสี่วัน ซึ่งอาจสั่งการให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งการลดจำนวนบุคคลที่ประจำอยู่สถานที่ตั้ง การสลับวันทำงาน หรือวิธีการอื่นใดตามความเหมาะสม โดยพิจารณาให้เพียงพอต่อภารกิจในการให้บริการประชาชน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
- ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นายกรัฐมนตรี
- บัญชีรายชื่อจังหวัดตามเขตพื้นที่สถานการณ์
- แนบท้ายข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๓) ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
- พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมทั้งสิ้น ๑๗ จังหวัด
๑. จังหวัดกาญจนบุรี ๒. จังหวัดชลบุรี ๓. จังหวัดฉะเชิงเทรา ๔. จังหวัดตาก ๕. จังหวัดนครปฐม ๖. จังหวัดนครศรีธรรมราช ๗. จังหวัดนราธิวาส ๘. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ๙. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑๐. จังหวัดเพชรบุรี ๑๑. จังหวัดยะลา ๑๒. จังหวัดระนอง ๑๓. จังหวัดระยอง ๑๔. จังหวัดราชบุรี ๑๕. จังหวัดสงขลา ๑๖. จังหวัดสมุทรสาคร ๑๗. จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- พื้นที่ควบคุม รวมทั้งสิ้น ๕๖ จังหวัด
๑. จังหวัดกระบี่ ๒. จังหวัดกาฬสินธุ์ ๓. จังหวัดกำแพงเพชร ๔. จังหวัดขอนแก่น ๕. จังหวัดจันทบุรี ๖. จังหวัดชัยภูมิ ๗. จังหวัดชัยนาท ๘. จังหวัดชุมพร ๙. จังหวัดเชียงราย ๑๐. จังหวัดเชียงใหม่ ๑๑. จังหวัดตรัง ๑๒. จังหวัดตราด ๑๓. จังหวัดนครนายก ๑๔. จังหวัดนครพนม ๑๕. จังหวัดนครราชสีมา ๑๖. จังหวัดนครสวรรค์ ๑๗. จังหวัดน่าน ๑๘. จังหวัดหนองคาย ๑๙. จังหวัดบึงกาฬ ๒๐. จังหวัดบุรีรัมย์ ๒๑. จังหวัดปราจีนบุรี ๒๒. จังหวัดปัตตานี ๒๓. จังหวัดพังงา ๒๔. จังหวัดพัทลุง ๒๕. จังหวัดพะเยา ๒๖. จังหวัดพิจิตร ๒๗. จังหวัดพิษณุโลก ๒๘. จังหวัดเพชรบูรณ์ ๒๙. จังหวัดแพร่ ๓๐. จังหวัดภูเก็ต ๓๑. จังหวัดมหาสารคาม ๓๒. จังหวัดมุกดาหาร ๓๓. จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๓๔. จังหวัดยโสธร ๓๕. จังหวัดร้อยเอ็ด ๓๖. จังหวัดลพบุรี ๓๗. จังหวัดลำปาง ๓๘. จังหวัดลำพูน ๓๙. จังหวัดเลย ๔๐. จังหวัดศรีสะเกษ ๔๑. จังหวัดสกลนคร ๔๒. จังหวัดสตูล ๔๓. จังหวัดสระแก้ว ๔๔. จังหวัดสระบุรี ๔๕. จังหวัดสมุทรสงคราม ๔๖. จังหวัดสิงห์บุรี ๔๗. จังหวัดสุโขทัย ๔๘. จังหวัดสุพรรณบุรี ๔๙. จังหวัดสุรินทร์ ๕๐. จังหวัดหนองบัวลำภู ๕๑. จังหวัดอ่างทอง ๕๒. จังหวัดอุดรธานี ๕๓. จังหวัดอุตรดิตถ์ ๕๔. จังหวัดอุทัยธานี ๕๕. จังหวัดอุบลราชธานี ๕๖. จังหวัดอำนาจเจริญ
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564". (2564, 15 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 138, ตอน พิเศษ 104 ง. หน้า 27–30.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"