ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2564

จาก วิกิซอร์ซ
ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙
แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๒๔)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น

โดยที่รัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนและขับเคลื่อนแผนการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ตามวาระแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แก่ประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมกับได้บูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนประสานการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันจนสามารถควบคุมสถานการณ์และป้องกันมิให้พื้นที่การแพร่ระบาดลุกลามกระจายออกไปในพื้นที่วงกว้าง ซึ่งหากสามารถดำเนินการตามเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่องด้วยความร่วมมือของบุคลากรภาครัฐ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน และประชาชน จะช่วยให้สถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงสมควรปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม รวมทั้งผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ให้ประชาชนสามารถประกอบกิจกรรมอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพได้มากขึ้น ควบคู่กับการใช้มาตรการควบคุมโรคที่มุ่งเน้นเฉพาะเป้าหมายกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุข

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอย่างถูกวิธีตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะยังคงเป็นข้อปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่สำคัญเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่หรือรับเชื้อ

เมื่อพบผู้ไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตาม ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ต่อไป

ในกรณีที่การปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินกิจกรรมใดซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินกิจกรรม ซึ่งเป็นกรณีที่ได้รับการอนุมัติจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.) หากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้กำหนดให้มีมาตรการตรวจคัดกรอง มาตรการควบคุมความเสี่ยง มาตรการตรวจเมื่อพบผู้ติดเชื้อ รวมทั้งได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดแล้ว ให้ผ่อนผันการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้เฉพาะในช่วงเวลาของการปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินกิจกรรมตามความจำเป็นและเหมาะสมแห่งสภาพการณ์และความสมควรแก่เหตุ ทั้งนี้ ตามข้อแนะนำหรือแนวปฏิบัติที่ทางราชการกำหนด

ข้อ ๒ การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการออกเป็น ๕ ระดับพื้นที่ และกำหนดเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้

(๑) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

(๒) พื้นที่ควบคุมสูงสุด

(๓) พื้นที่ควบคุม

(๔) พื้นที่เฝ้าระวังสูง

(๕) พื้นที่เฝ้าระวัง

จังหวัดในเขตพื้นที่สถานการณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในบัญชีรายชื่อจังหวัดตามเขตพื้นที่สถานการณ์แนบท้ายข้อกำหนดนี้

ในกรณีมีความจำเป็นต้องปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดให้สอดคล้องกับระดับเขตพื้นที่สถานการณ์ในระยะต่อไป ให้ดำเนินการโดยออกเป็นคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19)

ข้อ ๓ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ สำหรับสถานที่ กิจกรรม หรือกิจการ เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ

(๑) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้งดใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมตามแนวทางหรือลักษณะที่นายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. ได้อนุญาตไว้แล้ว ให้สามารถดำเนินการได้ โดยเสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) พิจารณาก่อนดำเนินการ หรือเป็นกรณีที่เคยให้ได้รับยกเว้น ดังต่อไปนี้

๑) เป็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

๒) เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรือให้การอุปการะแก่บุคคล

๓) เป็นการจัดกิจกรรมของทางราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด

๔) เป็นโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบคน หรือเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

ข. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา แต่ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน โดยจำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้านเฉพาะที่เป็นการบริโภคในห้องปรับอากาศไม่เกินจำนวนร้อยละ ๕๐ ของจำนวนที่นั่งปกติ ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการจัดให้มีมาตรการคัดกรองผู้เกี่ยวข้อง การจัดระเบียบผู้เข้าใช้บริการ และการเว้นระยะห่างตามคำแนะนำและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

ค. สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิ้ม ฟิตเนส ให้ปิดการให้บริการ ยกเว้นการใช้สถานที่เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง หรือสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

ง. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

(๒) พื้นที่ควบคุมสูงสุด

ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยให้พิจารณาตามความจำเป็นและดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

ข. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

ค. สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิ้ม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนามเมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

ง. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

(๓) พื้นที่ควบคุม

ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม โดยรูปแบบของการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

ข. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

ค. สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิ้ม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ตามเวลาปกติ และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนามเมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

ง. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

(๔) พื้นที่เฝ้าระวังสูง

ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม โดยรูปแบบของการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

ข. สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิ้ม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม

ค. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

(๕) พื้นที่เฝ้าระวัง ให้การเปิดดำเนินการของสถานที่ กิจการ และกิจกรรมในเขตพื้นที่เฝ้าระวัง สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อมโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๔ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคล เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยกำหนดจำนวนบุคคลจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้

(๑) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน

(๒) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยคน

(๓) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบคน

(๔) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสองร้อยคน

(๕) พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าสามร้อยคน

การจัดกิจกรรมตามวรรคหนึ่งให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

ข้อ ๕ การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยภายในเขตพื้นที่จังหวัดและการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี อาจเสนอต่อ ศปก.ศบค.ตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับท้องที่หรือเขตอำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดในความรับผิดชอบของตนได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในห้วงเวลาต่าง ๆ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาคำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของสถานที่ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ระบุไว้ตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในข้อกำหนดนี้ได้ โดยให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. กำหนด

ข้อ ๖ มาตรการปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคออกไปเป็นวงกว้าง สถานบริการและสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน จำเป็นต้องปิดดำเนินการต่อไป โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ  สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยให้สั่งปิดสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยสิบสี่วัน

เพื่อให้การบริหารจัดการและการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด - 19 เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละเขตพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เสนอต่อ ศปก.ศบค. เพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง และประเมินความเหมาะสม ก่อนเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการกับสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคที่ได้มีคำสั่งให้ปิดเป็นการชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง

ข้อ ๗ มาตรการตรวจสอบเข้มงวดกับสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจสอบสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น โรงงาน สถานที่พักของแรงงานต่างด้าว หรือสถานที่อื่น ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ในกรณีที่พบผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข้อ ๘ มาตรการเกี่ยวกับการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของจังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทาง แล้วแต่กรณี สามารถพิจารณาอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเพื่อการทำงานข้ามจังหวัดได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทำงานข้ามเขตจังหวัดในแต่ละเขตพื้นที่เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามแนวทางที่ทางราชการกำหนดในการเฝ้าระวัง ตรวจและคัดกรองการเดินทางและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว

มาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวตามวรรคหนึ่ง ให้อนุโลมถึงกรณีการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเพื่อการทำงานภายในเขตจังหวัดด้วย โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด พนักงานเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบของแต่ละจังหวัดตรวจสอบและกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด

ข้อ ๙ มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาขยายการดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งเพื่อลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นระยะเวลาตามความจำเป็นและเหมาะสมเพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ทั้งนี้ การปฏิบัติงานดังกล่าวให้เพียงพอต่อภารกิจให้บริการประชาชน

ข้อ ๑๐ การผ่อนคลายสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ การถ่ายทำภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือการถ่ายทำสื่อในลักษณะคล้ายกัน ให้สามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการที่ประกาศกำหนดในการจำกัดจำนวนบุคคลที่เข้าร่วมการถ่ายทำ การยกเว้นไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าในบางกรณีหรือบางช่วงเวลาของการถ่ายทำ และต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ตามที่ได้รับอนุมัติจาก ศบค.

ข้อ ๑๑ การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยว ให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการดำเนินการตามแผนและมาตรการของรัฐบาลในการเปิดพื้นที่นำร่องเพื่อรับนักท่องเที่ยว ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การเตรียมความพร้อมของประชาชนในพื้นที่ ทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน โดยจะได้มีการกำหนดประเภท เงื่อนไข และรายละเอียดของบุคคลที่สามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการท่องเที่ยวภายใต้โครงการนำร่องนี้ ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่จะได้กำหนดรองรับกรณีดังกล่าวนี้ไว้เป็นการเฉพาะ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดด้วย

ข้อ ๑๒ การประเมินความเหมาะสมของมาตรการ ให้ ศปก.ศบค. พิจารณาและประเมินสถานการณ์เพื่อการปรับเขตพื้นที่ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับระดับพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดการปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในแต่ละระดับพื้นที่สถานการณ์ รวมทั้งเสนอแนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์เพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในห้วงเวลาต่าง ๆ และเสนอต่อนายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. เพื่อพิจารณาอนุญาตต่อไป

ข้อ ๑๓ การประสานงานและการบูรณาการประสานความร่วมมือ ให้ ศปก.ศบค. ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการขับเคลื่อน เร่งรัด และติดตามการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบูรณาการและประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ เอกชน และหน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ซึ่งรวมถึงศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด - 19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้การขับเคลื่อนภารกิจในการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่หรือสถานที่ที่พบการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน การบูรณาการความร่วมมือในการกระจายและแจกจ่ายวัคซีนไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ การลงทะเบียนรับวัคซีน การฉีดวัคซีนเพื่อการควบคุมและการป้องกันโรคระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจัดหาสถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับ ดูแลรักษา และแยกกักหรือกักกันผู้ติดเชื้อหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อรวมทั้งการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพทั้งในระดับประเทศและในระดับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และสอดคล้องกับนโยบาย แนวทาง หลักเกณฑ์ และมาตรการต่าง ๆ ที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาล หรือ ศบค. กำหนด

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

  • บัญชีรายชื่อจังหวัดตามเขตพื้นที่สถานการณ์
  • แนบท้ายข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๔) ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔

พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งสิ้น ๔ จังหวัด
๑. กรุงเทพมหานคร
๒. จังหวัดนนทบุรี
๓. จังหวัดปทุมธานี
๔. จังหวัดสมุทรปราการ
พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมทั้งสิ้น ๑๑ จังหวัด
๑. จังหวัดฉะเชิงเทรา
๒. จังหวัดชลบุรี
๓. จังหวัดตรัง
๔. จังหวัดนครปฐม
๕. จังหวัดปัตตานี
๖. จังหวัดเพชรบุรี
๗. จังหวัดสงขลา
๘. จังหวัดสมุทรสาคร
๙. จังหวัดสระบุรี
๑๐. จังหวัดยะลา
๑๑. จังหวัดนราธิวาส
พื้นที่ควบคุม รวมทั้งสิ้น ๙ จังหวัด
๑. จังหวัดจันทบุรี
๒. จังหวัดนครศรีธรรมราช
๓. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
๔. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๕. จังหวัดระนอง
๖. จังหวัดระยอง
๗. จังหวัดราชบุรี
๘. จังหวัดสระแก้ว
๙. จังหวัดสมุทรสงคราม
พื้นที่เฝ้าระวังสูง รวมทั้งสิ้น ๕๓ จังหวัด
๑. จังหวัดกระบี่
๒. จังหวัดกาญจนบุรี
๓. จังหวัดกาฬสินธุ์
๔. จังหวัดกำแพงเพชร
๕. จังหวัดขอนแก่น
๖. จังหวัดชัยนาท
๗. จังหวัดชัยภูมิ
๘. จังหวัดชุมพร
๙. จังหวัดเชียงราย
๑๐. จังหวัดเชียงใหม่
๑๑. จังหวัดตราด
๑๒. จังหวัดตาก
๑๓. จังหวัดนครนายก
๑๔. จังหวัดนครพนม
๑๕. จังหวัดนครราชสีมา
๑๖. จังหวัดนครสวรรค์
๑๗. จังหวัดน่าน
๑๘. จังหวัดบึงกาฬ
๑๙. จังหวัดบุรีรัมย์
๒๐. จังหวัดปราจีนบุรี
๒๑. จังหวัดพะเยา
๒๒. จังหวัดพังงา
๒๓. จังหวัดพัทลุง
๒๔. จังหวัดพิจิตร
๒๕. จังหวัดพิษณุโลก
๒๖. จังหวัดเพชรบูรณ์
๒๗. จังหวัดแพร่
๒๘. จังหวัดภูเก็ต
๒๙. จังหวัดมหาสารคาม
๓๐. จังหวัดมุกดาหาร
๓๑. จังหวัดแม่ฮ่องสอน
๓๒. จังหวัดยโสธร
๓๓. จังหวัดร้อยเอ็ด
๓๔. จังหวัดลพบุรี
๓๕. จังหวัดลำปาง
๓๖. จังหวัดลำพูน
๓๗. จังหวัดเลย
๓๘. จังหวัดศรีสะเกษ
๓๙. จังหวัดสกลนคร
๔๐. จังหวัดสตูล
๔๑. จังหวัดสิงห์บุรี
๔๒. จังหวัดสุโขทัย
๔๓. จังหวัดสุพรรณบุรี
๔๔. จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๔๕. จังหวัดสุรินทร์
๔๖. จังหวัดหนองคาย
๔๗. จังหวัดหนองบัวลำภู
๔๘. จังหวัดอ่างทอง
๔๙. จังหวัดอำนาจเจริญ
๕๐. จังหวัดอุดรธานี
๕๑. จังหวัดอุตรดิตถ์
๕๒. จังหวัดอุทัยธานี
๕๓. จังหวัดอุบลราชธานี

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"