ข้ามไปเนื้อหา

ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9ฯ (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2564

จาก วิกิซอร์ซ
ข้อกำหนด
ออกตามความในมาตรา ๙
แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
(ฉบับที่ ๒๕)

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น

โดยที่ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในความเสียงต่อการเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข เห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีจำนวนมากกว่าหลายพันรายต่อวันและมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่เร่งจัดการอาจกระทบต่อระบบบริการทางสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เตียงผู้ป่วย เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์ที่รองรับผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินซึ่งมีอยู่จำกัด ประกอบกับพบการระบาดเกิดขึ้น อันเป็นผลจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาและสกัดกั้นการระบาดแบบกลุ่มก้อน ทำให้พบกลุ่มผู้ติดเชื้อกระจายอยู่โดยรอบพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นในที่พักแรงงานก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน ตลาดและแหล่งชุมชน อีกทั้งพบกลุ่มผู้ติดเชื้อในสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนและในบ้านพักคนชราที่เป็นกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกพบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 กลายพันธุ์ชนิดสายพันธุ์เบตาที่ทำให้ป่วยรุนแรงและมีความเสี่ยงต่อชีวิตในอัตราสูงในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลโดยข้อเสนอแนะของฝ่ายสาธารณสุข ประกอบกับความเห็นของคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 จึงจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะและบังคับใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็นเพื่อมุ่งชะลอและสกัดกั้นการระบาดของเชื้อโรคอย่างเร่งด่วนและหยุดยั้งอัตราการเร่งของจำนวนผู้ป่วย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ มาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ มาตรการและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ตามข้อกำหนดนี้ มุ่งเพื่อการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างเร่งด่วนในเขตพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา) โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบวันเพื่อเข้าควบคุมและชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 ซึ่งพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนกระจายในหลาย พื้นที่ รวมทั้งการสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายเดินทางของกลุ่มเสี่ยงเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ออกเป็นวงกว้างสู่พื้นที่อื่น ๆ อย่างรวดเร็ว โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการและข้อปฏิบัตินี้ทุกระยะเวลาสิบห้าวัน

ให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๔) ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ใช้บังคับกับพื้นที่ตามวรรคหนึ่งเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ด้วย

ข้อ ๒ การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อควบคุมโรคและป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพแรงงานก่อสร้างซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและพบการระบาดแบบกลุ่มก้อน ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดปริมณฑล อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณามีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร หรือพื้นที่ดำเนินการก่อสร้าง หรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารประเภทอาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารที่อยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือโครงการจัดสรรทุกประเภท ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และให้มีคำสั่งปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร รวมทั้งมีคำสั่งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยสามสิบวัน

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนกำลังจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง เข้าดำเนินการตรวจตราและกำหนดเงื่อนไขจำกัดการเดินทางเข้าออกสถานที่พักการตั้งจุดตรวจและสกัดการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ การสั่งให้ปรับปรุงสุขาภิบาลของสถานที่พักและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค หลักเกณฑ์ จัดทำทะเบียนและแนวปฏิบัติที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดต่อไป

พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อเข้าจัดการสถานที่พักอาศัยชั่วคราวที่มีคำสั่งปิด เพื่อใช้เป็นสถานที่กักกัน สถานพยาบาล โรงพยาบาลสนามชั่วคราว หรือเพื่อประโยชน์ต่อการควบคุมโรคได้ตามความเหมาะสม ภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุข

ให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบประสานงานกับผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือดำเนินการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประกอบอาชีพแรงงานก่อสร้างตามวรรคหนึ่งตามความเหมาะสม

การออกคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีหรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.) กำหนดด้วย

ข้อ ๓ การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการและโรงงานเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบการและโรงงาน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ตามที่ทางราชการกำหนด โดยกระจายครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามที่ได้ประเมินสถานการณ์ไว้เพื่อมุ่งจำแนกผู้ติดเชื้อและเข้าจำกัดเขตพื้นที่ที่เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้น รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพื่อกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเข้าออกเขตพื้นที่สถานประกอบการหรือโรงงานดังกล่าว และดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรค หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติที่ ศบค. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดต่อไป

ข้อ ๔ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กำหนดเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่จำเป็นเพิ่มเติมให้เข้มงวดขึ้นจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ได้กำหนดไว้แล้วตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๔) ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ สำหรับสถานที่กิจการ หรือกิจกรรมที่ให้เปิดดำเนินการได้ โดยปฏิบัติต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบวัน ดังต่อไปนี้

(๑)การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ โรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดค้าส่ง ตลาดโต้รุ่ง หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันและมีการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น

(๒)ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา โดยให้งดการให้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทานในศูนย์อาหาร และเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคลในพื้นที่พักคอย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบหมุนเวียนอากาศ และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

(๓)โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง

(๔)กิจกรรมการรวมกลุ่ม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่ายี่สิบคน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค

ข้อ ๕ มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในเขตชุมชน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดกวดขันการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการเข้าไปตรวจตราเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่ที่ได้ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค โดยดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจคัดกรองเชิงรุก และเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อมุ่งจำแนกและจำกัดเขตพื้นที่การระบาด และจัดให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อเข้ารับการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต หรือเข้ารับการรักษาตามกระบวนการทางสาธารณสุขต่อไป

เมื่อพบแหล่งที่มีการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อมีคำสั่งปิดเขตชุมชนหรือสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว หรือกำหนดเงื่อนไขเพื่อกำกับหรือจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเข้าออกพื้นที่ระบาด และดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดต่อไป ทั้งนี้ การออกคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีหรือ ศบค. กำหนดด้วย

ข้อ ๖ การให้ความช่วยเหลือประชาชน เมื่อได้มีคำสั่งและดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดตามข้อ ๕ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร หรือจิตอาสาโดยการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่หรือจำกัดการเดินทางเข้าออกพื้นที่จากการระบาดแบบกลุ่มก้อนในเขตชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่ควรได้รับความช่วยเหลือตามความเหมาะสม

ข้อ ๗ กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทางตามแนวทางที่ ศปก.ศบค. กำหนด เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบวัน โดยกำหนดรายละเอียดแยกตามพื้นที่ ดังนี้

(๑)เส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา) การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด เพื่อสกัดกั้นและยับยั้งการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดโดยบุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดตามข้อนี้ ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่น ๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กระทรวงมหาดไทย กำหนด

(๒)เส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อทำงานข้ามเขตจังหวัด ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยให้ผ่านเข้าออกได้เฉพาะแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเพื่อการทำงานข้ามจังหวัดจากผู้ว่าราชการจังหวัดต้นทางและจังหวัดปลายทาง ทั้งนี้ สำหรับการเดินทางข้ามเขตจังหวัดของประชาชนทั่วไป ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นเพื่อมุ่งเน้นความปลอดภัยทั้งต่อประชาชนและพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

(๓)เส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดอื่น ๆ นอกเหนือจาก (๑) และ (๒) การตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ในกรณีที่พบผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโดยการคุมไว้สังเกต แยกกัก หรือกักกันในพื้นที่พำนักหรือสถานที่ที่ทางราชการกำหนด หรือตามหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุขหรือ ศบค. กำหนด

ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการป้องกันโรคสำหรับบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดขึ้นเป็นการเฉพาะในจังหวัดพื้นที่รับผิดชอบ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติที่ ศบค. หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองการเดินทางและมาตรการที่จะกำหนดขึ้นดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือการดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ข้อ ๘ การปราบปรามผู้กระทำผิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดตรวจตราเพื่อปราบปรามมิให้มีการลักลอบหรือรวมกลุ่มมั่วสุมกระทำการที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบเล่นการพนัน การเสพยาเสพติด การรวมกลุ่มในลักษณะที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถในทาง หรือการฝ่าฝืนเปิดดำเนินการของสถานบริการในพื้นที่ที่มีข้อกำหนดห้ามการเปิดไว้

ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบเดินทางหรือขนย้ายแรงงานต่างด้าว หรืออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายหรือรับแรงงานต่างด้าวที่ออกจากสถานที่พักคนงานตามที่ได้มีคำสั่งปิดสถานที่ไว้แล้วเข้าทำงานโดยมิได้ผ่านการตรวจสอบคัดกรองโรค เป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อนขึ้นใหม่ในพื้นที่อื่น ๆ อาจต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมในการรับแจ้งเบาะแส เหตุฉุกเฉิน และเข้าปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนตามหน้าที่และอำนาจ ทั้งนี้ การปล่อยปละละเลย หรือการย่อหย่อนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐจนเป็นเหตุให้มีการกระทำที่เป็นความผิดตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ และเป็นเหตุให้เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อนขึ้น ผู้บังคับบัญชาสามารถพิจารณาตามกฎหมาย เพื่อดำเนินการทางวินัยได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

ข้อ ๙ มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้คงพิจารณาดำเนินมาตรการปฏิบัติงาน นอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดในช่วงระยะเวลานี้เพื่อลดการเดินทางและการติดต่อสัมผัสระหว่างบุคคล โดยเฉพาะหน่วยงานหรือสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ทั้งนี้ ตามที่ได้กำหนดไว้ ในข้อกำหนด (ฉบับที่ ๒๔) ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔

ข้อ ๑๐ การงดจัดกิจกรรมทางสังคม ให้ประชาชนงดจัดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่ม ในลักษณะการสังสรรค์ จัดเลี้ยง หรืองานรื่นเริง ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อลดการติดต่อสัมผัสกันระหว่างบุคคลอย่างน้อยเป็นระยะเวลาสามสิบวัน เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการ ตามประเพณีนิยมตามที่ได้กำหนดเตรียมการไว้แล้ว โดยขอให้เป็นไปเพื่อความเหมาะสมและมีมาตรการ ป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

  • ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔
  • พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • นายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"