ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยกิจการกำลังพลสำรอง พ.ศ. ๒๕๕๙
หน้านี้ควรจัดทำเป็นแบบพิสูจน์อักษร เนื่องจากมีต้นฉบับสแกนอยู่ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/237/57.PDF |
ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม
ว่าด้วยกิจการกำลังพลสำรอง
พ.ศ. ๒๕๕๙
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้มีข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยกิจการกำลังพลสำรอง
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ มาตรา ๑๕ (๑) มาตรา ๑๕ วรรคสาม มาตรา ๑๖ วรรคสองมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ. ๒๕๕๘ จึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยกิจการกำลังพลสำรอง พ.ศ. ๒๕๕๙”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมรักษาการตามข้อบังคับนี้ และมีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ เพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับนี้
หมวด ๑
บททั่วไป
ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
๔.๑ “กำลังพลสำรอง” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นกำลังสำรองประเภทหนึ่งตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมที่มีการบรรจุในบัญชีบรรจุกำลังตามกฎหมายว่าด้วยกำลังพลสำรอง ซึ่งประกอบด้วย กำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน และกำลังพลสำรองเตรียมพร้อม
๔.๒ “กำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน” หมายความว่า กำลังพลสำรองที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีบรรจุกำลัง คราวละ ๖ ปี
๔.๓ “กำลังพลสำรองเตรียมพร้อม” หมายความว่า กำลังพลสำรองพร้อมใช้งานที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีบรรจุกำลังครบระยะเวลาที่กำหนดและเป็นกำลังพลสำรองเตรียมพร้อมอีกระยะเวลาไม่เกิน ๖ ปี
๔.๔ “กำลังสำรอง” หมายความว่า กำลังที่มิใช่กำลังทหารประจำการ และทหารกองประจำการที่เตรียมไว้สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้แก่ กำลังกึ่งทหาร กลุ่มพลังมวลชนจัดตั้ง กลุ่มพลังมวลชนอื่น กำลังพลสำรองที่เป็นทหารกองเกินและทหารกองหนุนตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และกำลังพลสำรองตามกฎหมายว่าด้วยกำลังพลสำรอง
๔.๕ “กำลังกึ่งทหาร” หมายความว่า กำลังในส่วนที่บรรจุเข้าในหน่วยตามอัตราการจัดและยุทโธปกรณ์ ในลักษณะคล้ายคลึงกับหน่วยทหาร มีขีดความสามารถเข้าทำการรบได้ในระดับหนึ่ง เช่น กองอาสารักษาดินแดน ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น
๔.๖ “กลุ่มพลังมวลชนจัดตั้ง” หมายความว่า กลุ่มพลังมวลชนที่มีการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้อง
๔.๗ “กลุ่มพลังมวลชนอื่น” หมายความว่า กลุ่มพลังมวลชนที่มีการจัดตั้งนอกเหนือจากข้อ ๔.๖ เช่น กลุ่มพลังมวลชนที่จัดตั้งโดยองค์กร หรือส่วนราชการต่าง ๆ
๔.๘ “กำลังพลสำรองที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง” หมายความว่า บุคคลที่ประกอบอาชีพที่มีความสำคัญต่อกิจกรรมทางทหารและกิจกรรมพลเรือนและเป็นอาชีพสำคัญที่ต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษ ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติการในอาชีพนั้นต้องใช้เวลาฝึกอบรมประมาณ ๒ ปี หรือผู้ปฏิบัติการในอาชีพนั้นต้องมีคุณสมบัติของตัวบุคคลเป็นพิเศษ หรือมีการขาดแคลนสถาบันการฝึกอบรมอาชีพนั้นหรือมีการขาดแคลนบุคลากรประเภทนั้น ๆ ในปัจจุบัน หรือเป็นวิชาชีพที่มีความจำเป็นต่อกิจกรรมสำคัญในการเตรียมพร้อมของชาติ
๔.๙ “กิจการกำลังพลสำรอง” หมายความว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดเตรียมและการใช้กำลังพลสำรอง เช่น การบรรจุและการใช้กำลังพลสำรอง การผลิตกำลังพลสำรอง การฝึกศึกษากำลังพลสำรอง การควบคุมกำลังพลสำรอง และการเรียกกำลังพลสำรองหรือการระดมพล
๔.๑๐ “ส่วนราชการ” หมายความว่า สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
๔.๑๑ “หน่วยทหาร” หมายความว่า หน่วยทหารตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
๔.๑๒ “หน่วยกำลังพลสำรอง” หมายความว่า หน่วยทหารที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยจัดทำบัญชีบรรจุกำลัง หรือหน่วยรับการบรรจุ หรือหน่วยฝึกกำลังพลสำรอง หรือหน่วยรับพล หรือหน่วยเรียกพล ที่มีการบรรจุรายชื่อทหารประจำการ ทหารกองประจำการ และกำลังพลสำรองลงในบัญชีบรรจุกำลังให้ครบอัตราเต็ม
๔.๑๓ “หน่วยกำลังประจำการ” หมายความว่า หน่วยทหารซึ่งมีการบรรจุรายชื่อทหารประจำการ และทหารกองประจำการลงในบัญชีบรรจุกำลังตามอัตราที่กำหนด
๔.๑๔ “หน่วยสนับสนุนกำลังประจำการเสริม” หมายความว่า หน่วยทหารที่ทำหน้าที่สนับสนุนกำลังประจำการเสริมให้กับหน่วยกำลังพลสำรอง
๔.๑๕ “หน่วยทางบัญชี” หมายความว่า หน่วยกำลังพลสำรองที่ยังไม่มีการจัดตั้ง โดยมีการจัดทำบัญชีบรรจุกำลังไว้ตั้งแต่ในยามปกติ
๔.๑๖ “นายทหารสัญญาบัตรกองหนุน” หมายความว่า นายทหารซึ่งไม่มีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม และกระทรวงกลาโหมสั่งให้เป็นนายทหารประเภทนี้ โดยถืออายุเป็นเกณฑ์ คือ
ยศ ร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ถึง ยศ ร้อยเอก เรือเอก เรืออากาศเอก อายุไม่เกิน ๔๕ ปี
ยศ พันตรี นาวาตรี นาวาอากาศตรี ถึง ยศ พันโท นาวาโท นาวาอากาศโท อายุไม่เกิน ๕๐ ปี
ยศ พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก ถึง ยศ นายพล อายุไม่เกิน ๕๕ ปี
๔.๑๗ “นายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ” หมายความว่า นายทหารสัญญาบัตร ซึ่งไม่มีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม และกระทรวงกลาโหมสั่งให้เป็นนายทหารสัญญาบัตรประเภทนี้ โดยจะอยู่ในประเภทนายทหารสัญญาบัตรนอกราชการได้ไม่เกินกำหนดอายุดังนี้
ยศ ร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ถึง ยศ ร้อยเอก เรือเอก เรืออากาศเอก อายุไม่เกิน ๕๕ ปี
ยศ พันตรี นาวาตรี นาวาอากาศตรี ถึง ยศ พันโท นาวาโท นาวาอากาศโท อายุไม่เกิน ๖๐ ปี
ยศ พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก ถึง ยศ นายพล อายุไม่เกิน ๖๕ ปี
๔.๑๘ “นายทหารสัญญาบัตรนอกกอง” หมายความว่า นายทหารสัญญาบัตรซึ่งไม่มีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม และกระทรวงกลาโหมสั่งให้เป็นนายทหารสัญญาบัตรประเภทนี้
๔.๑๙ “ทหารกองหนุนประเภทที่ ๑” หมายความว่า ทหารที่ปลดจากกองประจำการ โดยรับราชการในกองประจำการจนครบกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นกองหนุนตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
๔.๒๐ “ทหารกองหนุนประเภทที่ ๒” หมายความว่า ทหารที่ปลดจากกองเกินเมื่ออายุครบ ๓๐ ปีบริบูรณ์ หรือทหารที่ปลดจากกองประจำการโดยต้องจำขังหรือจำคุกมีกำหนดวันที่ต้องทัณฑ์หรือต้องโทษรวมได้ไม่น้อยกว่า ๑ ปี หรือกระทำให้เสื่อมเสียแก่ราชการทหารแล้วถูกปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๒
๔.๒๑ “ทหารกองเกิน” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์และยังไม่ถึงสามสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารแล้ว
๔.๒๒ “รุ่นปี” หมายความว่า ปีพุทธศักราชที่ทหารกองประจำการ หรือทหารกองเกิน ซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหารและได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วถูกปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ เช่น คนซึ่งถูกปลดในพุทธศักราช ๒๕๕๙ จะเป็นวัน เดือน ใดก็ตาม ให้เรียกว่า “ทหารกองหนุน รุ่นปี ๒๕๕๙”
๔.๒๓ “ชั้นปี” หมายความว่า ปีพุทธศักราชที่ชายผู้นั้นมีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ เช่น คนเกิดในพุทธศักราช ๒๕๔๑ จะเป็น วัน เดือนใดก็ตาม อายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ ในพุทธศักราช ๒๕๕๙ ให้เรียกว่า “คนชั้นปี ๒๕๕๙”
๔.๒๔ “ภูมิลำเนาทหาร” หมายความว่า ท้องที่อำเภอหรือเขตซึ่งได้ไปแสดงตน เพื่อลงบัญชีทหารกองเกินไว้ หรือท้องที่อำเภอหรือเขตใหม่ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ย้ายมามีถิ่นที่อยู่เป็นหลักฐานตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารแล้ว
๔.๒๕ “ภูมิลำเนา” หมายความว่า ถิ่นที่อยู่อันเป็นหลักแหล่งสำคัญที่ตั้งทำการหาเลี้ยงชีพประจำอยู่เป็นหลักฐานตามทะเบียนบ้านที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร์
๔.๒๖ การนับอายุ ตามข้อบังคับนี้ให้นับอายุตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารโดยอนุโลม
หมวด ๒
พนักงานเจ้าหน้าที่
ข้อ ๕ ให้ผู้ดำรงตำแหน่ง ดังต่อไปนี้ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่
๕.๑ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ
๕.๒ เจ้ากรมการสรรพกำลังกลาโหม ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน เจ้ากรมกำลังพลทหารบก เจ้ากรมกำลังพลทหารเรือ และเจ้ากรมกำลังพลทหารอากาศ
๕.๓ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก
๕.๔ ผู้อำนวยการกองที่รับผิดชอบสายงานกิจการกำลังพลสำรอง
๕.๕ นายทหารสรรพกำลังกองทัพภาค และสัสดีกองทัพภาค
๕.๖ หัวหน้าฝ่ายสรรพกำลังมณฑลทหารบก และสัสดีมณฑลทหารบก
๕.๗ ผู้บังคับศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหาร หรือผู้บังคับหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร หรือผู้บังคับศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหารของกองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ
๕.๘ สัสดีจังหวัด หรือสัสดีกรุงเทพมหานคร
๕.๙ ผู้ช่วยสัสดีจังหวัด หรือผู้ช่วยสัสดีกรุงเทพมหานคร
๕.๑๐ สัสดีอำเภอ หรือสัสดีเขต และผู้ช่วยสัสดีอำเภอหรือผู้ช่วยสัสดีเขต
๕.๑๑ ผู้บังคับหน่วยทหารระดับกองร้อยหรือเทียบเท่าขึ้นไปตามที่ส่วนราชการกำหนด
๕.๑๒ ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับกิจการกำลังพลสำรองตามกฎหมายว่าด้วยกำลังพลสำรอง
ข้อ ๖ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
๖.๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๕.๑ - ๕.๘ และข้อ ๕.๑๑ ดำเนินการรับบุคคลเข้าเป็นกำลังพลสำรอง
๖.๒ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๕.๑๑ ดำเนินการบรรจุรายชื่อกำลังพลสำรองในบัญชีบรรจุกำลัง การเปลี่ยนแปลงการบรรจุรายชื่อกำลังพลสำรอง การเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อของกำลังพลสำรอง การเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล หรือแก้ไขเลขประจำตัวประชาชนของกำลังพลสำรอง รวมถึงรายงานการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในเรื่องต่าง ๆ ข้างต้นให้หน่วยที่เกี่ยวข้องทราบ
๖.๓ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๕.๑ - ๕.๓ เป็นผู้มีอำนาจลงชื่อในคำสั่งเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหาร แล้วแต่กรณี
๖.๔ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๕.๖ - ๕.๑๑ ส่งหรือปิดหนังสือแจ้งการบรรจุรายชื่อกำลังพลสำรองในบัญชีบรรจุกำลัง หรือส่งหรือปิดคำสั่งเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหารให้กับกำลังพลสำรอง ณ สถานที่ที่กำลังพลสำรองระบุไว้ในขณะสมัครเข้าเป็นกำลังพลสำรองหรือตามภูมิลำเนาทหาร แล้วแต่กรณี
๖.๕ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๕.๒ - ๕.๖ ข้อ ๕.๘ และข้อ ๕.๑๑ ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกำลังพลสำรองที่หลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหาร หรือมีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยกำลังพลสำรอง มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้
๖.๖ ดำเนินการในเรื่องอื่น ๆ ตามที่กฎหมายว่าด้วยกำลังพลสำรองกำหนด หรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบหมาย
ข้อ ๗ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พ้นจากอำนาจหน้าที่ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
๗.๑ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
๗.๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งให้พ้นหน้าที่
หมวด ๓
การบรรจุและการใช้กำลังพลสำรอง
ข้อ ๘ การบรรจุและการใช้กำลังพลสำรอง หมายถึง การดำเนินการเกี่ยวกับการรับสมัคร หรือคัดเลือกกำลังพลสำรองที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เหมาะสม เพื่อบรรจุในตำแหน่งต่าง ๆ ในหน่วยทหารตามลักษณะการใช้กำลังพลสำรอง คือ เสริมกำลัง เพิ่มเติมกำลัง ทดแทนกำลัง และขยายกำลัง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของกระทรวงกลาโหมตามที่กฎหมายกำหนด
ข้อ ๙ หลักเกณฑ์การรับสมัครบุคคลเข้าเป็นกำลังพลสำรอง
๙.๑ คุณสมบัติทั่วไป
๙.๑.๑ มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
๙.๑.๒ เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๙.๑.๓ ไม่เป็นผู้ที่มีร่างกายพิการ ทุพพลภาพ หรือมีโรคที่ขัดต่อการเป็นกำลังพลสำรองตามกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยกำลังพลสำรอง
๙.๑.๔ ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีงาม
๙.๑.๕ ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
๙.๑.๖ ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกให้ออกหรือถูกปลดจากราชการ เพราะมีความผิด หรือมีมลทิน หรือมัวหมอง
๙.๑.๗ ไม่เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างพักราชการ
๙.๑.๘ ไม่เป็นผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของศาล เว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ
๙.๑.๙ เป็นทหารกองเกินที่พ้นหน้าที่ในการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ เว้นแต่เป็นผู้ที่สมัครเข้าเป็นกำลังพลสำรอง ตามข้อ ๙.๒.๓
๙.๑.๑๐ ไม่เป็นพระภิกษุ สามเณร หรือนักบวชในศาสนาอื่น
๙.๒ คุณสมบัติเฉพาะ
๙.๒.๑ กำลังพลสำรองสำหรับหน่วยกำลังพลสำรอง
๙.๒.๑.๑ กองทัพบก
๙.๒.๑.๑ (๑) กำลังพลสำรองประเภทนายทหารสัญญาบัตร
๙.๒.๑.๑ (๑.๑) เป็นนายทหารสัญญาบัตรกองหนุนที่สำเร็จการฝึกวิชาทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร
๙.๒.๑.๑ (๑.๒) เป็นนายทหารประทวนกองหนุนที่สำเร็จการฝึกวิชาทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และมีคุณวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่าขึ้นไป ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
๙.๒.๑.๑ (๑.๓) เป็นทหารกองหนุน ประเภทที่ ๑ ที่รับราชการทหารในกองประจำการจนครบกำหนดและปลดเป็นกองหนุน และมีคุณวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่าขึ้นไป ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
๙.๒.๑.๑ (๑.๔) เป็นทหารกองเกินที่พ้นหน้าที่ในการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือทหารกองหนุน ประเภทที่ ๒ และมีคุณวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่าขึ้นไป ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
๙.๒.๑.๑ (๑.๕) เป็นหญิงหรือทหารหญิงพ้นราชการที่มีคุณวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่าขึ้นไป ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
๙.๒.๑.๑ (๒) กำลังพลสำรองประเภทนายทหารประทวน
๙.๒.๑.๑ (๒.๑) เป็นนายทหารประทวนกองหนุนที่สำเร็จการฝึกวิชาทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร
๙.๒.๑.๑ (๒.๒) เป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ ที่รับราชการทหารในกองประจำการจนครบกำหนดและปลดเป็นกองหนุน และมีคุณวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไป ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
๙.๒.๑.๑ (๒.๓) เป็นทหารกองเกินที่พ้นหน้าที่ในการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ และมีคุณวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไป ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
๙.๒.๑.๑ (๒.๔) เป็นหญิงหรือทหารหญิงพ้นราชการที่มีคุณวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไป ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
๙.๒.๑.๑ (๓) กำลังพลสำรองประเภทพลทหาร
๙.๒.๑.๑ (๓.๑) เป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ ที่รับราชการทหารในกองประจำการจนครบกำหนดและปลดเป็นกองหนุน
๙.๒.๑.๑ (๓.๒) เป็นทหารกองเกินที่พ้นหน้าที่ในการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
๙.๒.๑.๒ การกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของกำลังพลสำรองสำหรับหน่วยกำลังพลสำรอง ให้กองทัพเรือและกองทัพอากาศ ยึดถือตามข้อ ๙.๒.๑.๑ (๑) - ๙.๒.๑.๑ (๓) โดยอนุโลม
๙.๒.๒ กำลังพลสำรองที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง สำหรับหน่วยกำลังพลสำรอง ให้เป็นไปตามที่ส่วนราชการกำหนด
๙.๒.๓ กำลังพลสำรองซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร สำหรับหน่วยกำลังพลสำรอง เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางทหารและกิจกรรมพลเรือน
๙.๒.๓.๑ เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหาร ชั้นปีที่ ๕ เพื่อทำหน้าที่ในตำแหน่งรองผู้บังคับหมวดหรือผู้บังคับหมวด แล้วแต่กรณี
๙.๒.๓.๒ เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหาร ชั้นปีที่ ๔ เพื่อทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับหมู่
๙.๒.๓.๓ เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหาร ชั้นปีที่ ๑ - ๓ เพื่อทำหน้าที่ในตำแหน่งลูกแถวหรือหัวหน้าชุด แล้วแต่กรณี
การกำหนดคุณสมบัติของกำลังพลสำรอง สำหรับหน่วยกำลังพลสำรอง เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางทหารและกิจกรรมพลเรือนให้กองทัพเรือและกองทัพอากาศ ยึดถือตามข้อ ๙.๒.๓ โดยอนุโลม
๙.๓ การรับสมัครกำลังพลสำรอง
๙.๓.๑ กรณีสมัครครั้งแรกของกำลังพลสำรอง ตามข้อ ๙.๒.๑ และ ๙.๒.๒
๙.๓.๑.๑ เป็นบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
๙.๓.๑.๒ เป็นนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน อายุไม่เกิน ๓๕ ปี บริบูรณ์
๙.๓.๑.๓ เป็นนายทหารประทวนกองหนุน อัตรา สิบเอก จ่าเอก จ่าอากาศเอก อายุไม่เกิน ๓๐ ปีบริบูรณ์ อัตรา จ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก อายุไม่เกิน ๓๕ ปีบริบูรณ์
๙.๓.๑.๔ เป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ ที่รับราชการทหารในกองประจำการจนครบกำหนดและปลดเป็นกองหนุน อายุไม่เกิน ๓๐ ปีบริบูรณ์
๙.๓.๑.๕ เป็นทหารกองเกินที่พ้นหน้าที่ในการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ อายุไม่เกิน ๒๓ ปีบริบูรณ์
๙.๓.๑.๖ เป็นทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ อายุไม่เกิน ๓๕ ปีบริบูรณ์
๙.๓.๑.๗ เป็นหญิงและทหารหญิงพ้นราชการ อายุไม่เกิน ๓๕ ปีบริบูรณ์
สำหรับการรับสมัครกำลังพลสำรองตามข้อ ๙.๒.๓ ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๙.๒.๓.๑ - ๙.๒.๓.๓ แล้วแต่กรณี
๙.๓.๒ กรณีสมัครต่อ กำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน อาจสมัครต่อได้คราวละ ๖ ปี ไม่เกิน ๒ ครั้ง
๙.๓.๒.๑ เป็นกำลังพลสำรองพร้อมใช้งานประเภทนายทหารสัญญาบัตร อายุไม่เกินนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน ตามอัตราชั้นยศที่กำหนด
๙.๓.๒.๒ เป็นกำลังพลสำรองพร้อมใช้งานประเภทนายทหารประทวน อายุไม่เกินทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ ชั้นที่ ๒
๙.๓.๒.๓ เป็นกำลังพลสำรองพร้อมใช้งานประเภทพลทหารอายุไม่เกินทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ ชั้นที่ ๒ หรือทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ ชั้นที่ ๒
สำหรับกำลังพลสำรองพร้อมใช้งานที่เป็นทหารหญิง ให้ใช้เกณฑ์อายุเช่นเดียวกับทหารชายโดยอนุโลม
กรณีการสมัครต่อของกำลังพลสำรองตามข้อ ๙.๒.๓ ให้เป็นไปตามที่ส่วนราชการกำหนด
๙.๔ วิธีการรับสมัคร
๙.๔.๑ ให้ส่วนราชการที่กำหนดประกาศรับสมัครบุคคลเข้าเป็นกำลังพลสำรองก่อนกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน
๙.๔.๒ บุคคลที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นกำลังพลสำรอง ให้ยื่นใบสมัครที่หน่วยทหารที่ส่วนราชการกำหนด พร้อมด้วยหลักฐาน ดังต่อไปนี้
๙.๔.๒.๑ ใบสมัคร และสัญญาค้ำประกัน
๙.๔.๒.๒ หลักฐานแสดงวิทยฐานะ
๙.๔.๒.๓ สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
๙.๔.๒.๔ ใบสำคัญความเห็นของแพทย์ทหารประจำการ ซึ่งมีผลการตรวจไม่เกิน ๓ เดือน
๙.๔.๒.๕ ใบสำคัญทางทหาร หรือหนังสือรับรองแทนใบสำคัญที่ทางราชการออกให้ กรณีผู้สมัครเป็นชาย
๙.๔.๓ ให้หน่วยทหารที่ส่วนราชการกำหนด แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกกำลังพลสำรองเพื่อบรรจุรายชื่อลงในบัญชีบรรจุกำลังของหน่วยทหาร
การดำเนินการตามข้อ ๙.๔.๑ และ ๙.๔.๓ ให้หน่วยทหารที่ส่วนราชการกำหนดรายงานตามสายการบังคับบัญชาจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อทราบ
ข้อ ๑๐ หลักเกณฑ์การคัดเลือกกำลังพลสำรองให้กับหน่วยกำลังพลสำรอง
๑๐.๑ คุณสมบัติทั่วไป
๑๐.๑.๑ มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
๑๐.๑.๒ เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๑๐.๑.๓ ไม่เป็นผู้ที่มีร่างกายพิการ ทุพพลภาพ หรือมีโรคที่ขัดต่อการเป็นกำลังพลสำรองตามกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยกำลังพลสำรอง
๑๐.๑.๔ ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีงาม
๑๐.๑.๕ ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
๑๐.๑.๖ ไม่เป็นผู้ที่เคยถูกให้ออกหรือปลดออกจากราชการ เพราะมีความผิดหรือมีมลทิน หรือมัวหมอง
๑๐.๑.๗ ไม่เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างพักราชการ
๑๐.๑.๘ ไม่เป็นผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลในคดีอาญา หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินคดีของศาล เว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ
๑๐.๑.๙ ไม่เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้นเป็นกำลังพลสำรอง ตามกฎกระทรวงที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยกำลังพลสำรอง
๑๐.๒ คุณสมบัติเฉพาะ
๑๐.๒.๑ กำลังพลสำรองประเภทนายทหารสัญญาบัตร คัดเลือกจากนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน
๑๐.๒.๒ กำลังพลสำรองประเภทนายทหารประทวน คัดเลือกจากทหารกองหนุน ประเภทที่ ๑ ชั้นที่ ๑ และทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ ชั้นที่ ๒
๑๐.๒.๓ กำลังพลสำรองประเภทพลทหาร คัดเลือกจากทหารกองหนุน ประเภทที่ ๑ ที่รับราชการทหารในกองประจำการจนครบกำหนดและปลดเป็นกองหนุน หรือทหารกองหนุน ประเภทที่ ๒ หรือทหารกองเกินที่พ้นหน้าที่ในการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
๑๐.๓ วิธีการคัดเลือก ให้มณฑลทหารบก หรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนดดำเนินการดังนี้
๑๐.๓.๑ ตรวจสอบสภาพทหารกองหนุนตามระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการตรวจสอบสภาพทหารกองหนุน หรือวิธีอื่นตามที่ส่วนราชการกำหนดโดยอนุโลม
๑๐.๓.๒ แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุรายชื่อลงในบัญชีบรรจุกำลังของหน่วยทหาร โดยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้เป็นไปตามที่ส่วนราชการกำหนด
๑๐.๓.๓ รายงานตามสายการบังคับบัญชาจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อทราบ
ข้อ ๑๑ หลักเกณฑ์และวิธีการบรรจุรายชื่อกำลังพลสำรองในบัญชีบรรจุกำลัง
๑๑.๑ กำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน
๑๑.๑.๑ ประเภทนายทหารสัญญาบัตร อายุไม่เกิน ๓๕ ปีบริบูรณ์ เว้นแต่นายทหารกองหนุนที่ลาออกจากประจำการ อายุไม่เกินชั้นยศนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน กรณีสมัครต่ออายุไม่เกินนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน ตามอัตราชั้นยศที่กำหนด
๑๑.๑.๒ ประเภทนายทหารประทวน อัตราชั้นยศ สิบเอก จ่าเอก จ่าอากาศเอก อายุไม่เกิน ๓๐ ปีบริบูรณ์ อัตราชั้นยศ จ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก อายุไม่เกิน ๓๕ ปีบริบูรณ์ กรณีสมัครต่ออายุไม่เกินทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ ชั้นที่ ๒
๑๑.๑.๓ ประเภทพลทหาร อายุไม่เกิน ๓๐ ปีบริบูรณ์ กรณีสมัครต่ออายุไม่เกินทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ ชั้นที่ ๒ หรือทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ ชั้นที่ ๒
สำหรับทหารกองเกินที่พ้นหน้าที่ในการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือหญิงและทหารหญิงพ้นราชการ การกำหนดอายุและประเภทกองหนุนให้เป็นไปตามที่ส่วนราชการกำหนด
๑๑.๒ กำลังพลสำรองเตรียมพร้อม
ให้กำลังพลสำรองพร้อมใช้งานที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีบรรจุกำลังครบระยะเวลาที่กำหนด และเป็นกำลังพลสำรองเตรียมพร้อมอีกระยะเวลาไม่เกิน ๖ ปี ตามประเภทต่าง ๆ ดังนี้
๑๑.๒.๑ ประเภทนายทหารสัญญาบัตร อายุไม่เกินนายทหารสัญญาบัตรนอกราชการ
๑๑.๒.๒ ประเภทนายทหารประทวน อายุไม่เกินทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ ชั้นที่ ๓
๑๑.๒.๓ ประเภทพลทหาร อายุไม่เกินทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ ชั้นที่ ๓ หรือทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ ชั้นที่ ๓
๑๑.๓ ระยะเวลาการเป็นกำลังพลสำรอง ให้มีกำหนดเวลาคราวละ ๖ ปี โดยให้นับตั้งแต่วันที่มีการบรรจุรายชื่ออยู่ในบัญชีบรรจุกำลังเป็นกำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน หรือกำลังพลสำรองเตรียมพร้อม แล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๒ หลักเกณฑ์การจัดทำบัญชีบรรจุกำลัง
ให้จัดทำตามอัตราเต็มและแยกบัญชีบรรจุกำลังของแต่ละส่วนราชการออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ บัญชีบรรจุกำลังกำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน และบัญชีบรรจุกำลังกำลังพลสำรองเตรียมพร้อมดังนี้
๑๒.๑ บัญชีบรรจุกำลังกำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน ประกอบด้วย
๑๒.๑.๑ บัญชีบรรจุกำลัง นายทหารสัญญาบัตร
๑๒.๑.๒ บัญชีบรรจุกำลัง นายทหารประทวน
๑๒.๑.๓ บัญชีบรรจุกำลัง พลทหาร
๑๒.๒ บัญชีบรรจุกำลังกำลังพลสำรองเตรียมพร้อม ประกอบด้วย
๑๒.๒.๑ บัญชีบรรจุกำลัง นายทหารสัญญาบัตร
๑๒.๒.๒ บัญชีบรรจุกำลัง นายทหารประทวน
๑๒.๒.๓ บัญชีบรรจุกำลัง พลทหาร
๑๒.๓ รูปแบบการจัดทำบัญชีบรรจุกำลังกำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน กระทำได้ ๓ แบบ
๑๒.๓.๑ กองทัพบก
๑๒.๓.๑ (๑) แบบที่ ๑ ระยะเวลา ๖ ปี หน่วยจัดทำบัญชีบรรจุกำลังจัดทำทุกปี โดยกำหนดชื่อบัญชีบรรจุกำลังดังนี้
๑๒.๓.๑ (๑.๑) ปีที่ ๑ เรียกว่า “กำลังพลสำรองพร้อมใช้งานบัญชี ๑/ปีงบประมาณที่จัดทำ”
๑๒.๓.๑ (๑.๒) ปีที่ ๒ เรียกว่า “กำลังพลสำรองพร้อมใช้งานบัญชี ๒/ปีงบประมาณที่จัดทำบัญชี ๑”
๑๒.๓.๑ (๑.๓) ปีที่ ๓ เรียกว่า “กำลังพลสำรองพร้อมใช้งานบัญชี ๓/ปีงบประมาณที่จัดทำบัญชี ๑”
๑๒.๓.๑ (๑.๔) ปีที่ ๔ - ๖ เรียกว่า “กำลังพลสำรองพร้อมใช้งานบัญชี ๔/ปีงบประมาณที่จัดทำบัญชี ๑ ระยะเวลา ๓ ปี”
๑๒.๓.๑ (๒) แบบที่ ๒ ระยะเวลา ๖ ปี หน่วยจัดทำบัญชีบรรจุกำลังจัดทำทุก ๖ ปี โดยกำหนดชื่อบัญชีบรรจุกำลัง เรียกว่า “กำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน/บัญชีปีงบประมาณที่จัดทำปีแรก”
๑๒.๓.๑ (๓) แบบที่ ๓ หน่วยจัดทำบัญชีบรรจุกำลัง จัดทำทุกปีเฉพาะประเภทนักศึกษาวิชาทหาร โดยกำหนดชื่อบัญชีบรรจุกำลัง เรียกว่า “กำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน/บัญชีปีการศึกษาที่จัดทำ” หรือส่วนราชการอาจตั้งชื่อเพิ่มเติมเป็นอย่างอื่นได้
๑๒.๓.๒ สำหรับกองทัพเรือและกองทัพอากาศ รูปแบบการจัดทำบัญชีบรรจุกำลัง ให้ปฏิบัติตามข้อ ๑๒.๓.๑ (๑) - ๑๒.๓.๑ (๓) โดยอนุโลม
๑๒.๔ บัญชีบรรจุกำลังกำลังพลสำรองเตรียมพร้อม เป็นบัญชีบรรจุกำลังที่แปรสภาพมาจากบัญชีบรรจุกำลังกำลังพลสำรองพร้อมใช้งานที่อยู่ครบกำหนดระยะเวลา ตามข้อ ๑๒.๓.๑ (๑.๔) เรียกว่า “กำลังพลสำรองเตรียมพร้อมบัญชี ๔/ปีงบประมาณที่จัดทำบัญชี ๑ ระยะเวลาไม่เกิน ๖ ปี”
๑๒.๕ วิธีการจัดทำบัญชีบรรจุกำลังและการแก้ไข ให้เป็นไปตามระเบียบที่ส่วนราชการกำหนด
ข้อ ๑๓ หลักเกณฑ์และวิธีการขอเปลี่ยนการบรรจุรายชื่อในบัญชีบรรจุกำลัง
๑๓.๑ หลักเกณฑ์
๑๓.๑.๑ ในกรณีที่กำลังพลสำรองไปประกอบอาชีพ หรือไปศึกษาหรือมีเหตุจำเป็นที่ต้องย้ายไปในจังหวัดที่มิใช่จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของหน่วยกำลังพลสำรองที่ตนมีรายชื่ออยู่ในบัญชีบรรจุกำลัง โดยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งมีการแจ้งย้ายภูมิลำเนาไว้เป็นหลักฐานแล้ว และไม่มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการเข้ารับราชการทหาร
๑๓.๑.๒ มีหนังสือยินยอมการขอเปลี่ยนการบรรจุรายชื่อในบัญชีบรรจุกำลังจากหน่วยกำลังพลสำรองที่กำลังพลสำรองประสงค์จะย้ายไปสังกัด และหน่วยกำลังพลสำรองเดิมไม่ขัดข้อง
๑๓.๒ วิธีการ
๑๓.๒.๑ ให้กำลังพลสำรองที่ประสงค์จะย้ายการบรรจุรายชื่อในบัญชีบรรจุกำลังนำหนังสือยินยอมจากหน่วยกำลังพลสำรองใหม่ ไปยื่นความจำนงต่อหน่วยกำลังพลสำรองเดิม ภายใน ๑๕ วันนับจากวันที่ผู้บังคับหน่วยกำลังพลสำรองใหม่ลงชื่อในหนังสือยินยอมการขอเปลี่ยนการบรรจุรายชื่อในบัญชีบรรจุกำลัง
๑๓.๒.๒ ให้หน่วยกำลังพลสำรองเดิม ดำเนินการส่งรายชื่อพร้อมประวัติกำลังพลสำรอง ส่งให้หน่วยกำลังพลสำรองใหม่ ภายใน ๓๐ วัน นับจากวันที่กำลังพลสำรองได้ยื่นความจำนงขอย้ายการบรรจุรายชื่อในบัญชีบรรจุกำลัง
๑๓.๒.๓ ให้หน่วยกำลังพลสำรองใหม่บรรจุรายชื่อกำลังพลสำรองลงในบัญชีบรรจุกำลัง โดยรายงานให้มณฑลทหารบกหรือหน่วยทหารที่ส่วนราชการกำหนดทราบ และให้กำลังพลสำรองที่ขอเปลี่ยนการบรรจุรายชื่อในบัญชีบรรจุกำลังไปรายงานตัวยังหน่วยกำลังพลสำรองใหม่ ภายใน ๗ วัน นับจากวันที่กำลังพลสำรองได้รับหนังสือแจ้งการขอเปลี่ยนการบรรจุรายชื่อในบัญชีบรรจุกำลังจากหน่วยกำลังพลสำรองใหม่
ข้อ ๑๔ หลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล การแก้ไขเลขประจำตัวประชาชนและการแจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อของกำลังพลสำรอง
๑๔.๑ หลักเกณฑ์
๑๔.๑.๑ กรณีกำลังพลสำรองได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล หรือแก้ไขเลขประจำตัวประชาชนจากกระทรวงมหาดไทย หรือได้รับอนุมัติให้แก้ไขข้อมูลรายละเอียดบุคคลอื่น
๑๔.๑.๒ กรณีกำลังพลสำรองมีความประสงค์ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ
๑๔.๒ วิธีการ
๑๔.๒.๑ กรณีตามข้อ ๑๔.๑.๑ ให้กำลังพลสำรองนำหลักฐานที่ราชการออกให้ไปยื่นต่อหน่วยกำลังพลสำรองที่ตนมีรายชื่อบรรจุอยู่ภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล หรือแก้ไขเลขประจำตัวประชาชน หรือข้อมูลรายละเอียดบุคคลอื่น
๑๔.๒.๒ กรณีตามข้อ ๑๔.๑.๒ ให้กำลังพลสำรองที่ประสงค์ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อ ไปแจ้งยังหน่วยกำลังพลสำรองที่ตนมีรายชื่อบรรจุอยู่ โดยใช้แบบการเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อท้ายข้อบังคับนี้
๑๔.๒.๓ ให้หน่วยกำลังพลสำรองที่กำลังพลสำรองมีรายชื่อบรรจุอยู่ในบัญชีบรรจุกำลัง ดำเนินการแก้ไขการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล การแก้ไขเลขประจำตัวประชาชน หรือการเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อของกำลังพลสำรองให้ถูกต้องและทันสมัย
ข้อ ๑๕ การใช้กำลังพลสำรอง การใช้กำลังพลสำรองเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของกระทรวงกลาโหมตามที่กฎหมายกำหนด กระทำได้ใน ๔ ลักษณะดังนี้
๑๕.๑ เสริมกำลัง หมายถึง การบรรจุกำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน ในบัญชีบรรจุกำลังให้กับหน่วยกำลังพลสำรองให้ครบตามอัตราเต็ม
๑๕.๒ เพิ่มเติมกำลัง หมายถึง การบรรจุกำลังพลสำรองพร้อมใช้งานให้ครบตามอัตราเต็มให้กับหน่วยกำลังพลสำรองที่ได้รับอนุมัติให้บรรจุทหารประจำการ และทหารกองประจำการในอัตราโครงหรือบางตำแหน่ง เพื่อให้ได้หน่วยกำลังพลสำรองที่มีลักษณะแบบเดียวกันเพิ่มมากขึ้น
๑๕.๓ ทดแทนกำลัง หมายถึง การบรรจุกำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน ให้กับหน่วยกำลังพลสำรองทั้งในกรณีเป็นรายบุคคลหรือเป็นหน่วยกำลังทดแทน เช่น กองร้อยกำลังทดแทนกองพันกำลังทดแทน หรือศูนย์ฝึกกำลังทดแทน
๑๕.๔ ขยายกำลัง หมายถึง การบรรจุกำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน และกำลังพลสำรองเตรียมพร้อม ให้กับหน่วยทางบัญชีประเภทหน่วยกำลังพลสำรองที่ได้รับการจัดตั้งใหม่ตามแผนป้องกันประเทศ
หมวด ๔
การผลิตกำลังพลสำรอง
ข้อ ๑๖ การผลิตกำลังพลสำรอง หมายถึง กรรมวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีคุณสมบัติที่จะเป็นกำลังพลสำรอง
ข้อ ๑๗ แหล่งที่มาของกำลังพลสำรอง มีดังนี้
๑๗.๑ เป็นผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร รวมถึงผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารจากต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงกลาโหมรับรองวิทยฐานะเทียบเท่ากับผู้ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และสำเร็จการศึกษาซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่า
๑๗.๒ เป็นทหารประจำการที่ลาออกจากราชการทหาร ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร
๑๗.๓ เป็นทหารกองประจำการที่รับราชการครบกำหนดแล้วปลดเป็นกองหนุน ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
๑๗.๔ เป็นทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
๑๗.๕ เป็นบุคคลทั่วไปที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
ข้อ ๑๘ ให้ศูนย์การกำลังสำรอง หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ศูนย์การฝึกนักศึกษาวิชาทหารหรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนด ดำเนินการเพื่อให้ได้มาของบุคคลตามข้อ ๑๗.๑ - ๑๗.๕ ตามระเบียบหลักสูตรที่ส่วนราชการกำหนด
หมวด ๕
การฝึกศึกษากำลังพลสำรอง
ข้อ ๑๙ การฝึกศึกษากำลังพลสำรอง หมายถึง การฝึกศึกษา อบรม ให้แก่กำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน กำลังพลสำรองเตรียมพร้อม เพื่อให้มีความรู้ความสามารถ ตามตำแหน่งหน้าที่ที่บรรจุการปฏิบัติภารกิจที่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ รวมทั้ง การให้การศึกษาแก่กำลังพลสำรองตามแนวทางการรับราชการทหาร
ข้อ ๒๐ การฝึกศึกษากำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน
๒๐.๑ การฝึกศึกษากำลังพลสำรอง เมื่อมีการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อตรวจสอบให้มีการฝึกศึกษา อบรม ในเรื่องที่กำลังพลสำรองควรทราบ เป็นการกระตุ้นเตือนหรือเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้กำลังพลสำรองตื่นตัวและมั่นใจว่าตนยังเป็นกำลังพลสำรองอยู่เสมอ โดยมอบให้หน่วยกำลังพลสำรอง หรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนด ทำหน้าที่เป็นหน่วยฝึกกำลังพลสำรอง
๒๐.๒ การฝึกศึกษากำลังพลสำรอง เมื่อมีการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อฝึกวิชาทหารให้มีการฝึกศึกษา อบรม ในเรื่องดังต่อไปนี้
๒๐.๒.๑ การฝึกหรือทบทวนวิชาทหาร รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ในแต่ละตำแหน่ง เป็นรายบุคคลหรือเป็นหน่วยให้มีความรู้ ความสามารถ พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบให้หน่วยกำลังพลสำรอง หรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนด ทำหน้าที่เป็นหน่วยฝึกกำลังพลสำรอง
๒๐.๒.๒ การฝึกศึกษาหลักสูตรตามแนวทางการรับราชการทหาร ให้กำลังพลสำรองได้รับการศึกษาในหลักสูตรตามแนวทางการรับราชการทหารและหลักสูตรเพิ่มพูนความรู้เช่นเดียวกับทหารประจำการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหารโดยอนุโลม และปรับลดเวลาการฝึกศึกษาเพื่อให้กำลังพลสำรองมีความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่งที่บรรจุ โดยมอบให้หน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนด ทำหน้าที่เป็นหน่วยฝึกศึกษากำลังพลสำรอง
๒๐.๓ การฝึกศึกษากำลังพลสำรอง เมื่อมีการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อปฏิบัติราชการให้มีการฝึกศึกษา อบรม ในเรื่องดังต่อไปนี้
๒๐.๓.๑ การฝึกปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วยทหาร โดยมอบให้หน่วยกำลังพลสำรอง หรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนด ทำหน้าที่เป็นหน่วยฝึกกำลังพลสำรอง
๒๐.๓.๒ การฝึกปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ โดยมอบให้หน่วยกำลังพลสำรอง หรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนด ทำหน้าที่เป็นหน่วยฝึกกำลังพลสำรอง
๒๐.๓.๓ การฝึกปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมอบให้หน่วยกำลังพลสำรอง หรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนดทำหน้าที่เป็นหน่วยฝึกกำลังพลสำรอง
๒๐.๔ การฝึกศึกษากำลังพลสำรอง เมื่อมีการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม ให้มีการฝึกศึกษา อบรม ในเรื่องการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ในการปฏิบัติการทางทหารเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ หรือเมื่อมีการระดมพล โดยมอบให้หน่วยกำลังพลสำรอง หรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนดทำหน้าที่เป็นหน่วยฝึกกำลังพลสำรอง
ข้อ ๒๑ การฝึกศึกษากำลังพลสำรองเตรียมพร้อม เป็นการเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหาร ในการระดมพล เพื่อให้กำลังพลสำรองมีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับกำลังประจำการได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อมีการระดมพล โดยมอบให้หน่วยกำลังพลสำรอง หรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนดทำหน้าที่เป็นหน่วยฝึกกำลังพลสำรอง
หมวด ๖
การควบคุมกำลังพลสำรอง
ข้อ ๒๒ การควบคุมกำลังพลสำรอง หมายถึง การปฏิบัติเพื่อดำรงการติดต่อกับกำลังพลสำรอง เพื่อให้ทราบสถานภาพต่าง ๆ อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดในงานด้านกิจการกำลังพลสำรอง
ข้อ ๒๓ การควบคุมกำลังพลสำรองทางบัญชี
๒๓.๑ กำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน ให้หน่วยกำลังพลสำรอง หรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนด ดำเนินการควบคุมกำลังพลสำรองทางบัญชีตามแบบบัญชีบรรจุกำลังที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการเตรียมพล พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นระยะเวลาคราวละ ๖ ปี โดยอนุโลม
๒๓.๒ กำลังพลสำรองเตรียมพร้อม ให้มณฑลทหารบก หรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนด ดำเนินการควบคุมกำลังพลสำรองทางบัญชีตามแบบบัญชีบรรจุกำลัง ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการเตรียมพล พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นระยะเวลาไม่เกิน ๖ ปี โดยอนุโลม
ข้อ ๒๔ การควบคุมกำลังพลสำรองทางการปฏิบัติ
๒๔.๑ กำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน ให้หน่วยกำลังพลสำรอง หรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนด ดำเนินการดังนี้
๒๔.๑.๑ ดำรงการติดต่อกับกำลังพลสำรองของตนเป็นประจำทุกเดือนอย่างต่อเนื่องด้วยเครื่องมือสื่อสารชนิดต่าง ๆ และอาศัยประโยชน์จากการติดต่อ เพื่อให้กำลังพลสำรองได้ตระหนักถึงหน้าที่ของกำลังพลสำรองที่มีต่อประเทศชาติ ตลอดทั้งหาวิธีการที่จะให้กำลังพลสำรองได้ติดต่อกับหน่วยต้นสังกัดโดยต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
๒๔.๑.๒ จัดชุดเจ้าหน้าที่พบปะ และเยี่ยมเยียนกำลังพลสำรองที่มีรายชื่อบรรจุอยู่ในบัญชีบรรจุกำลัง กำหนดแผนงานให้กำลังพลสำรองมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณกุศล และเชิญกำลังพลสำรองมาร่วมกิจกรรมของหน่วยในโอกาสต่าง ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บังคับบัญชาและกำลังพลสำรองของหน่วยอย่างต่อเนื่องและแน่นแฟ้น ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในความควบคุมของหน่วยต้นสังกัด
๒๔.๒ กำลังพลสำรองเตรียมพร้อม ให้มณฑลทหารบก หรือหน่วยทหารตามที่ส่วนราชการกำหนด ดำเนินการประชาสัมพันธ์เป็นส่วนรวมในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ เพื่อให้กำลังพลสำรองเกิดทัศนคติที่ดีระหว่างกำลังพลสำรองกับหน่วยต้นสังกัด โดยอาศัยเครื่องมือประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เพื่อทราบสถานภาพและภูมิลำเนาที่แท้จริงของกำลังพลสำรองเป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่อง
หมวด ๗
การเรียกกำลังพลสำรองหรือการระดมพล
ข้อ ๒๕ การเรียกกำลังพลสำรองหรือการระดมพล หมายถึง กรรมวิธีในการเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหารตามความมุ่งหมายของการเรียกกำลังพลสำรอง เพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร เพื่อปฏิบัติราชการ หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม และการระดมพล
ข้อ ๒๖ การเรียกกำลังพลสำรองเพื่อตรวจสอบ ให้กระทำในเวลาปกติ ปีละไม่เกิน ๑ วัน มีความมุ่งหมายดังนี้
๒๖.๑ ทดสอบผลการเรียก โดยให้กำลังพลสำรองซึ่งถูกเรียกเข้ามารายงานด้วยตนเอง ณ ตำบล วันและเวลาที่กำหนดให้ เพื่อตรวจสอบการเดินทาง เพื่อให้เกิดความคุ้นชินต่อการเรียก และเพื่อทราบสถิติที่เรียกได้
๒๖.๒ ตรวจสอบบัญชีเป็นรายบุคคลเพื่อทราบว่า ยังมีตัวจริงและหลักฐานถูกต้องหรือไม่
๒๖.๓ ทดสอบและตรวจสอบขนาดเครื่องแต่งกาย
๒๖.๔ ตรวจร่างกาย
๒๖.๕ อบรมและบรรยายเรื่องที่ควรทราบ หรือชี้แจง และทบทวนหน้าที่ของกำลังพลสำรอง
๒๖.๖ ซักซ้อมวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหาร
ข้อ ๒๗ การเรียกกำลังพลสำรองเพื่อฝึกวิชาทหาร ให้กระทำตั้งแต่ในเวลาปกติ ปีละไม่เกิน ๖๐ วัน เว้นแต่ ผู้ที่เข้าเป็นกำลังพลสำรอง ตามข้อ ๙ ส่วนราชการอาจเรียกกำลังพลสำรองเพื่อฝึกวิชาทหารได้ตามความเหมาะสม มีความมุ่งหมายดังนี้
๒๗.๑ ฝึกทบทวนวิชาทหาร รวมถึงการฝึกศึกษากำลังพลสำรองตามแนวทางการรับราชการทหาร
๒๗.๒ ฝึก ศึกษา อบรมตามความชำนาญการทางทหาร ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๒๗.๓ ซักซ้อมวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหาร
ข้อ ๒๘ การเรียกกำลังพลสำรองเพื่อปฏิบัติราชการ ให้กระทำเป็นการชั่วคราวและเท่าที่จำเป็นตามที่ส่วนราชการกำหนด มีความมุ่งหมายดังนี้
๒๘.๑ ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วยทหาร
๒๘.๒ ปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ
๒๘.๓ ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
๒๘.๔ ปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นการปฏิบัติทางทหารนอกเหนือจากสงคราม
ข้อ ๒๙ การเรียกกำลังพลสำรองเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม ให้กระทำได้ตั้งแต่ในเวลาปกติ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ มีความมุ่งหมายดังนี้
๒๙.๑ เพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ในการปฏิบัติการทางทหาร เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดในระยะอันใกล้ เมื่อมีการระดมพล
๒๙.๒ ทดสอบแผนป้องกันประเทศ หรือแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
๒๙.๓ ฝึกอบรมเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อ ๓๐ การระดมพล ให้กระทำได้ในเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือกรณีที่มีการรบหรือการสงคราม จนถึงขั้นที่ต้องมีการระดมสรรพกำลังของชาติมีความมุ่งหมายดังนี้
๓๐.๑ ป้องกันประเทศตามแผนป้องกันประเทศ
๓๐.๒ แก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติสาธารณะ
๓๐.๓ ป้องกันหรือปราบปรามการจลาจล
๓๐.๔ ขยายกำลังตามอัตราสงคราม
การระดมพล กระทำได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น
ข้อ ๓๑ ให้กำลังพลสำรองพร้อมใช้งาน มีหน้าที่เข้ารับราชการทหารตามข้อ ๒๖ - ๓๐
ข้อ ๓๒ ให้กำลังพลสำรองเตรียมพร้อม มีหน้าที่เข้ารับราชการทหารตามข้อ ๓๐
ข้อ ๓๓ ผู้มีอำนาจสั่งการและลงชื่อในคำสั่งเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหารตามข้อ ๒๖ – ๒๙ คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๕.๑ - ๕.๓
หมวด ๘
การจัดเตรียม อำนวยการ และดำเนินการในกิจการกำลังพลสำรอง
ข้อ ๓๔ ให้กรมการสรรพกำลังกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จัดทำแผนแม่บทการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองของกระทรวงกลาโหม ห้วงระยะเวลา ๕ ปี เพื่อกำหนดเป็นนโยบายการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองในระดับกระทรวงกลาโหม ในการจัดเตรียม อำนวยการ ประสานงาน และดำเนินการในกิจการกำลังพลสำรองให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหมในห้วงระยะเวลา ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ สนับสนุนกิจการกำลังพลสำรอง รวมถึงดำเนินการรวบรวมแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการกำลังพลสำรอง เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ในการสนับสนุนให้กับส่วนราชการ
ข้อ ๓๕ ให้กองบัญชาการกองทัพไทย จัดทำนโยบายหรือแผนแม่บทการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองของกองทัพไทยให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองของกระทรวงกลาโหม และแผนนโยบายของหน่วยเหนือทุกระดับ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ในการจัดเตรียม อำนวยการ และดำเนินการในกิจการกำลังพลสำรองเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ข้อ ๓๖ ให้กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ จัดทำแผนแม่บทการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองของส่วนราชการ ห้วงระยะเวลา ๕ ปี ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองของกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นการจัดเตรียมกำลังพลสำรอง ให้เป็นไปตามเป้าหมายการจัดเตรียมกำลัง และแนวทางการใช้กำลังของเหล่าทัพ ที่สอดคล้องกับแผนป้องกันประเทศในแต่ละระดับ และยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหมในห้วงระยะเวลา รวมทั้งเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการกำลังพลสำรอง
หมวด ๙
เบ็ดเตล็ด
ข้อ ๓๗ แบบบัญชีเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหารประเภทต่าง ๆ ใช้แบบบัญชีเตรียมพลตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการเตรียมพล พ.ศ. ๒๕๑๕ และที่กำหนดเพิ่มเติมโดยอนุโลม
ข้อ ๓๘ ให้ส่วนราชการ มีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง ได้ตามความจำเป็น โดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๓๙ บรรดา ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง และหลักเกณฑ์ที่ส่วนราชการกำหนด ที่อ้างถึงในข้อบังคับนี้ ให้มีผลใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
[เอกสารแนบท้าย]
๑. แบบขอเปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อหรือข้อมูลอื่นของกำลังพลสำรอง
(ดูข้อมูลจากภาพกฎหมาย)
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนพิเศษ ๒๓๗ ง/หน้า ๕๗/๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๙
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"