คำชักชวนของรัฐบาล ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2482 (รก.)

จาก วิกิซอร์ซ
วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒
เล่ม ๕๖ หน้า ๓๔๓๔
ราชกิจจานุเบกษา

คำชักชวนของรัฐบาล
ขอให้พี่น้องชาวไทยร่วมใจกัน
พยายามปฏิบัติตามรัฐนิยม ฉะบับที่ ๕ ด้วยดี

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศรัฐนิยม ฉะบับที่ ๕ เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ศกนี้นั้น ความสำคัญมีดั่งต่อไปนี้

๑. ชาวไทยพึงพยายามบริโภคแต่อาหารอันปรุงจากสิ่งซึ่งมีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

๒. ชาวไทยพึงพยายามใช้เครื่องแต่งกายด้วยวัตถุที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

๓. ชาวไทยพึงช่วยกันสนับสนุนงานอาชีพการเกษตร์ พาณิชย์ อุตสาหกรรม และวิชาชีพของชาวไทยด้วยกัน

๔. กิจการสาธารณูปโภคอันใดที่รัฐบาลหรือชาวไทยจัดให้มีขึ้นแล้ว ชาวไทยพึงพยายามใช้และสนับสนุน

๕. ชาวไทยผู้ประกอบการเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม งานอาชีพหรือวิชาชีพอันได้รับการสนับสนุนโดยรัฐนิยมฉะบับนี้ ต้องพยายามรักษามาตรฐานปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และดำเนินกิจการนั้น ๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทุกประการ

รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า รัฐนิยมฉะบับนี้เป็นปัจจัยอันสำคัญที่จะช่วยให้การผดุงเศรษฐกิจของชาติและประชาชนชาวไทยลุล่วงเป็นผลสำเร็จไปได้ เพราะเมื่อมีผู้ใช้สินค้าไทยมาก ก็ย่อมเป็นทางชักจูงพี่น้องชาวไทยของเราให้คิดประกอบเป็นสินค้ามากขึ้นและพยายามปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นด้วย เมื่อผู้ประกอบได้พยายามรักษามาตรฐานและปรับปรุงคุณภาพสิ่งของให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ก็ย่อมเกิดความนิยมแพร่หลายออกไป เศรษฐกิจของประเทศและประชาชนชาวไทยจะก่อกู้ให้เป็นผลดีขึ้นได้ด้วยวิธีนี้ทางหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ จึ่งเป็นความจำเป็นที่พี่น้องชาวไทยทั้งหลายจะต้องพร้อมใจกันยึดถือและปฏิบัติตามรัฐนิยมฉะบับนี้โดยทั่วถึง ในทางราชการนั้น ข้าราชการได้เริ่มปฏิบัติเป็นการนำอยู่แล้ว ส่วนทางประชาชน รัฐบาลจึ่งต้องขอร้องให้พี่น้องชาวไทยพร้อมใจกันปฏิบัติอย่างแท้จริง ท่านหวังความวัฒนาถาวรของประเทศชาติ ท่านต้องการเห็นเศรษฐกิจของชาติและประชาชนเฟื่องฟู ขอได้โปรดเข้าใจว่า รัฐนิยมฉะบับนี้แหละเป็นกุญแจที่จะไขเข้าไปสู่ความสำเร็จตามจุดประสงค์ และถ้าพี่น้องชาวไทยทั้งหลายพร้อมใจกันปฏิบัติตามรัฐนิยม ฉะบับที่ ๕ นี้อย่างเคร่งครัดแล้ว เราจะได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของชาติและชาวไทยในไม่ช้าตามคำชักชวนนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พี่น้องชาวไทยที่รักชาติทั้งมวลจะได้ช่วยกันสนับสนุนและปฏิบัติตามด้วยดี ซึ่งจะเป็นการแสดงถึงวัฒนธรรมแห่งชาติไทยในปัจจุบัน และเป็นหลักฐานแก่ผู้สืบสายโลหิตของเราต่อไปชั่วฟ้าดินสลาย

  • พิบูลสงคราม
  • นายกรัฐมนตรี
  • ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก