คำชักชวนของรัฐบาล ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2482

จาก วิกิซอร์ซ
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
คำชักชวนของรัฐบาล
ขอให้พี่น้องชาวไทยร่วมใจกัน
พยายามปฏิบัติตามรัฐนิยม ฉะบับที่ ๕ ด้วยดี

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศรัฐนิยม ฉะบับที่ ๕ เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ศกนี้นั้น ความสำคัญมีดั่งต่อไปนี้

๑. ชาวไทยพึงพยายามบริโภคแต่อาหารอันปรุงจากสิ่งซึ่งมีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

๒. ชาวไทยพึงพยายามใช้เครื่องแต่งกายด้วยวัตถุที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

๓. ชาวไทยพึงช่วยกันสนับสนุนงานอาชีพการเกษตร์ พาณิชย์ อุตสาหกรรม และวิชาชีพของชาวไทยด้วยกัน

๔. กิจการสาธารณูปโภคอันใดที่รัฐบาลหรือชาวไทยจัดให้มีขึ้นแล้ว ชาวไทยพึงพยายามใช้และสนับสนุน

๕. ชาวไทยผู้ประกอบการเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม งานอาชีพหรือวิชาชีพอันได้รับการสนับสนุนโดยรัฐนิยมฉะบับนี้ ต้องพยายามรักษามาตรฐานปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และดำเนินกิจการนั้น ๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทุกประการ

รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า รัฐนิยมฉะบับนี้เป็นปัจจัยอันสำคัญที่จะช่วยให้การผดุงเศรษฐกิจของชาติและประชาชนชาวไทยลุล่วงเป็นผลสำเร็จไปได้ เพราะเมื่อมีผู้ใช้สินค้าไทยมาก ก็ย่อมเป็นทางชักจูงพี่น้องชาวไทยของเราให้คิดประกอบเป็นสินค้ามากขึ้นและพยายามปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นด้วย เมื่อผู้ประกอบได้พยายามรักษามาตรฐานและปรับปรุงคุณภาพสิ่งของให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ก็ย่อมเกิดความนิยมแพร่หลายออกไป เศรษฐกิจของประเทศและประชาชนชาวไทยจะก่อกู้ให้เป็นผลดีขึ้นได้ด้วยวิธีนี้ทางหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ จึ่งเป็นความจำเป็นที่พี่น้องชาวไทยทั้งหลายจะต้องพร้อมใจกันยึดถือและปฏิบัติตามรัฐนิยมฉะบับนี้โดยทั่วถึง ในทางราชการนั้น ข้าราชการได้เริ่มปฏิบัติเป็นการนำอยู่แล้ว ส่วนทางประชาชน รัฐบาลจึ่งต้องขอร้องให้พี่น้องชาวไทยพร้อมใจกันปฏิบัติอย่างแท้จริง ท่านหวังความวัฒนาถาวรของประเทศชาติ ท่านต้องการเห็นเศรษฐกิจของชาติและประชาชนเฟื่องฟู ขอได้โปรดเข้าใจว่า รัฐนิยมฉะบับนี้แหละเป็นกุญแจที่จะไขเข้าไปสู่ความสำเร็จตามจุดประสงค์ และถ้าพี่น้องชาวไทยทั้งหลายพร้อมใจกันปฏิบัติตามรัฐนิยม ฉะบับที่ ๕ นี้อย่างเคร่งครัดแล้ว เราจะได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของชาติและชาวไทยในไม่ช้าตามคำชักชวนนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พี่น้องชาวไทยที่รักชาติทั้งมวลจะได้ช่วยกันสนับสนุนและปฏิบัติตามด้วยดี ซึ่งจะเป็นการแสดงถึงวัฒนธรรมแห่งชาติไทยในปัจจุบัน และเป็นหลักฐานแก่ผู้สืบสายโลหิตของเราต่อไปชั่วฟ้าดินสลาย

  • พิบูลสงคราม
  • นายกรัฐมนตรี
  • ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก