ประมวลรัฐนิยม และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการแต่งกายฯ

จาก วิกิซอร์ซ
ประมวลรัฐนิยม
และ
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง ระเบียบการแต่งกายสตรีและข้าราชการ
ที่ไปในงานพิธีต่าง ๆ การไว้ทุกข์ในงานศพ
คุณหญิงสุรบดินทร์สุรินทรฦๅชัย
พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ
พระประสานอักษรกิจ (ใย คุปตารักษ์)
วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
พิมพ์ที่ ร.พ. กรุงเทพบรรณาคาร สี่กั๊กพระยาศรี พระนคร
ขุนวาทีทุรารักษ์ ผู้พิมพ์โฆษณา
พ.ศ. ๒๔๘๔

พระประสานอักษรกิจ (ใย คุปตารักษ์)
ชาตะ พ.ศ. ๒๔๑๒ มรณะ พ.ศ. ๒๔๘๓

คำนำ

ในคราวพระราชทานเพลิงศพคุณพระประสานอักษรกิจ (ใย คุปตารักษ์) บิดาบังเกิดเกล้าของข้าพเจ้า นอกจากการบำเพ็ญกุศลอื่นแล้ว ข้าพเจ้าเห็นสมควรรวบรวมพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่อแจกเป็นอนุสสรณ์แก่บรรดาท่านที่มาเป็นเกียรติยศในงานนี้

หนังสือฉะบับนี้ได้รวบรวมบรรดารัฐนิยม และประกาศในทางราชการเกี่ยวกับการแต่งกายของประชาชนคนไทย ซึ่งทุกคนมีหน้าที่จะต้องรู้และปฏิบัติตาม ข้าพเจ้าจึงหวังที่จะให้หนังสือเล่มนี้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติตามดังกล่าวแล้วโดยถูกต้อง และเพื่อประโยชน์ในการประกาศให้แพร่หลายยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกด้วย

ข้าพเจ้าขออุททิศส่วนผลานิสงส์นี้จงมีแด่บิดาบังเกิดเกล้าของข้าพเจ้า หากท่านจะพึงทราบได้ด้วยญาณวิถีใด จงสำเร็จเป็นปัตติทานมัยกุศลเพื่อประสพอิฐวิบุลผลสุขสมบัติโดยควรแก่คติวิสัยทุกประการ

คุณหญิงสุรบดินทร์สุรินทรฦๅชัย
(ชะอุ่ม จารุจินดา)

สารบาญ
รัฐนิยม ฉะบับที่ ๑
หน้า
รัฐนิยม ฉะบับที่ ๒
รัฐนิยม ฉะบับที่ ๓
รัฐนิยม ฉะบับที่ ๔
รัฐนิยม ฉะบับที่ ๕
คำชักชวนของรัฐบาล ให้พยายามปฏิบัติตามรัฐนิยม ฉะบับที่ ๕ ด้วยดี
๑๑
รัฐนิยม ฉะบับที่ ๖
๑๕
รัฐนิยม ฉะบับที่ ๗
๑๗
รัฐนิยม ฉะบับที่ ๘
๑๙
รัฐนิยม ฉะบับที่ ๙
๒๑
รัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๐
๒๔
รัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๑
๒๖
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
หน้า
เรื่อง ระเบียบการแต่งกายของสตรี
๒๙
เรื่อง ระเบียบการแต่งกายไว้ทุกข์ในงานศพ
๔๐
ว่าด้วยระเบียบการแต่งกายของข้าราชการที่ไปในงานพิธีต่าง ๆ
๔๒
แก้ไขระเบียบว่าด้วยการแต่งกายของสตรีพ้น ๑๘.๐๐ น. แล้ว จะสวมหมวกหรือไม่สวมก็ได้
๔๔
ระเบียบการประดับเหรียญช่วยราชการเขตต์ภายใน
๔๕


ว่าด้วยรัฐนิยม ใช้ชื่อประเทศ,
ประชาชน และสัญชาติ

โดยที่ชื่อของประเทศนี้มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ "ไทย" และ "สยาม" แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า "ไทย" รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชนชาวไทย ดั่งต่อไปนี้

ก. ในภาษาไทย

ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ให้ใช้ว่า "ไทย"

ข. ในภาษาอังกฤษ

๑. ชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า Thailand

๒. ชื่อประชาชนและสัญชาติ ให้ใช้ว่า Thai

แต่ทั้งนี้ ไม่กะทบถึงกรณีที่มีบทกฎหมายบัญญัติคำว่า "สยาม" ไว้

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นต้นไป

ประกาศมาณวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖ หน้า ๘๑๐ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒)

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๒
เรื่อง การป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ

ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า ชาติไทยต้องเป็นที่เทอดทูลของชาวไทยอย่างสูงสุดเหนือสิ่งใด ๆ การป้องกันรักษาชาติย่อมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ร่วมชาติกันจักต้องป้องกันอันตรายหรือความเสื่อมโทรมของชาติที่อาจจะมีมาด้วยประการต่าง ๆ จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

๑. ชนชาติไทยต้องไม่ประกอบกิจการใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยของชาติ

๒. ชนชาติไทยต้องไม่เปิดเผยสิ่งซึ่งอาจเป็นผลเสียหายแก่ชาติให้ชนต่างชาติล่วงรู้เลยเป็นอันขาด การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ

๓. ชนชาติไทยต้องไม่ทำตนเป็นตัวแทนหรือเป็นปากเสียงของต่างชาติโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติไทย ต้องไม่ออกเสียงหรือแสดงตนเข้าข้างต่างชาติในกรณีที่เป็นปัญหาระหว่างชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ

๔. ชนชาติไทยต้องไม่แอบอ้างซื้อขายที่ดินแทนชนต่างชาติในทางที่เป็นภัยแก่ชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ

๕. เมื่อปรากฏว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดทรยศต่อชาติ เป็นหน้าที่ของชาวไทยต้องเอาใจใส่รีบระงับเหตุนั้น

ประกาศมาณวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖ หน้า ๑๐๑๐ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๘๒)

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๓
เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทย

ด้วยรัฐบาลเห็นว่า การเรียกชาวไทยบางส่วนไม่ต้องตา}ชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียกก็ดี การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า เช่น ไทยเหนือ ไทยอิสาณ ไทยใต้ ไทยอิสลาม ก็ดี ไม่สมควรแก่สภาพของประเทศไทยซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้

จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้

๑. ให้เลิกการเรียกชาวไทยโดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก

๒. ให้ใช้คำว่า "ไทย" แก่ชาวไทยทั้งมวลโดยไม่แบ่งแยก

ประกาศมาณวันที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก