คำชี้แจง เรื่อง พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกฯ

จาก วิกิซอร์ซ

คำชี้แจง

ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้กฎอัยการศึกทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลา ๒๐.๔๕ นาฬิกา เป็นต้นมา ผู้กระทำผิดอาญาทั้งปวงย่อมถูกฟ้องยังศาลทหารตามกฎอัยการศึกทั้งสิ้น

ต่อมาได้มีประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด (ฉบับที่ ๑) บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕ ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังที่ระบุไว้ในประกาศนั้นได้ ซึ่งคดีเหล่านี้มีคดีความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต และคดีความผิดเกี่ยวแก่ความเท็จรวมอยู่ด้วย

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕ เป็นต้นมา คดีความผิดตามประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ฉบับที่ ๒ นี้ จึงฟ้องที่ศาลพลเรือนเรื่อยมา

แต่บัดนี้ได้มีประกาศกองบัญชาการทหารสูงสุด ฉบับที่ ๒ นี้ สั่งให้ฟ้องคดีความผิดดังกล่าวยังศาลทหารดังเดิมอีก

ประกาศนี้ได้กำหนดไว้ดังจะแยกอธิบายได้เป็นตอน ๆ ดังนี้

๑. ความผิดดังที่ระบุไว้ในประกาศฉบับที่ ๒ นี้ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันบังคับใช้ประกาศฉบับที่ ๒ นี้เป็นต้นไป ต้องฟ้องศาลทหารทั้งสิ้น

๒. ถ้าความผิดเกิดขึ้นภายหลังวัน เวลา ประกาศ กฎอัยการศึก คือ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลา ๒๐.๔๕ นาฬิกาเป็นต้นมาจนบัดนี้ และต่อๆ ไป ถ้ายังมิได้ฟ้อง ก็ให้ฟ้องที่ศาลทหาร (มีผลย้อนหลัง)

๓. ถ้าความผิดเกิดขึ้นระหว่างภายหลังวันบังคับใช้ประกาศ ฉบับที่ ๑ คือวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕ ถึงวันบังคับใช้ตามประกาศฉบับที่ ๒ นี้ ถ้าได้ฟ้องไว้ยังศาลพลเรือนก่อนวันใช้ประกาศฉบับที่ ๒ นี้บังคับแล้ว ก็เป็นอันให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษาต่อไปได้จนคดีถึงที่สุด

๔. ส่วนความผิดที่เกิดขึ้นภายหลังวันประกาศใช้กฎอัยการศึก (วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔) จนวันบังคับใช้ประกาศฉบับที่ ๑ (วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๘๕) นั้น ย่อมต้องขึ้นศาลทหารอยู่แล้วเสมอไป

นายพลอากาศตรี ภ. เกสสำลี

เสนาธิการกองทัพสนาม


ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๙/ตอนที่ ๕๒/หน้า ๑๔๒๖/๔ สิงหาคม ๒๔๘๕


งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"