คำนำประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔๕

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
คำนำ

หม่อมเพี้ยน เทวกุล ณ อยุธยา ท.จ. กับหม่อมพร้อย กฤดากร ณ อยุธยา ต.จ. ให้มาแจ้งความยังราชบัณฑิตยสภา ว่าใคร่จะพิมพ์หนังสือสำหรับแจกเนื่องในการพระราชทานเพลิงศพนายพิณเทพเฉลิม บุนนาค ต.จ. ผู้บิดา ที่สุสานหลวงณวัดเทพศิรินทราวาสโดยพระบรมราชานุญาตในเดือนมีนาคมนี้ ขอให้ราชบัณฑิตยสภาช่วยเลือกเรื่องหนังสือแลจัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์ ข้าพเจ้าเปนผู้เลือกเรื่องหนังสือระลึกได้ถึงหนังสือเรื่อง ๑ ซึ่งราชบัญฑิตยสภาพึ่งได้มาจากประเทศอังกฤษไม่ช้านัก เปนจดหมายเหตุเรื่องทูตไทยในคราวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงศ (ชุ่ม บุนนาค) เปนราชทูต ไปยังราชสำนักสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียณกรุงลอนดอนเมื่อปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๐๐ หนังสือพิมพ์อังกฤษลงข่าวแลกล่าวอธิบายด้วยเรื่องทูตไทยที่ไปคราวนั้นประการใด รัฐบาลอังกฤษได้เก็บรวบรวมไว้ในหอสมุดของกระทรวงการอินเดีย แลบัดนี้ยอมอนุญาตให้คัดสำเนามากับจดหมายเหตุต่างๆ อันเนื่องด้วยประเทศสยามบรรดามีอยู่ในหอสมุดนั้น พิจารณาดูเห็นว่าน่าอ่าน เดิมข้าพเจ้าคิดจะแปลออกพิมพ์เปนภาษาไทย แลได้ให้ลองแปลดูสัก ๒-๓ ฉบับ แต่อ่านคำแปลรู้สึกว่ารสชาติจืดไปไม่น่าอ่านเหมือนที่เขาแต่งไว้แต่เดิมในภาษาอังกฤษจึงได้ระงับความคิดที่จะพิมพ์จดหมายเหตุนั้นมาเสียคราว ๑ บัดนี้เห็นเปนโอกาสด้วยผู้ซึ่งจะได้รับหนังสือแจกในงานศพนายพิณเทพเฉลิม บุนนาค คงมีทั้งไทยแลชาวต่างประเทศที่รู้ภาษาอังกฤษมากด้วยกัน ถ้าพิมพ์จดหมายเหตุซึ่งกล่าวมาเปนหนังสือแจกก็เห็นจะเหมาะดี ข้าพเจ้าทูลหารือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ ก็ทรงพระดำริห์เห็นชอบด้วย จึงได้วานศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ เลขานุการราชบัณฑิตยสภา ให้เลือกคัดจดหมายเหตุเรื่องทูตไทยที่ความไม่ซ้ำกันรวมพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ แลได้วานมิศเตอร ล.ช. รอบบินส์ ครูภาษาอังกฤษในวชิราวุธวิทยาลัยซึ่งได้เรียนรู้ภาษาไทยชำนาญ ให้ช่วยแปลเรื่องตำนานและประเพณีทูตไทยซึ่งข้าพเจ้าได้แต่งไว้แต่ก่อน เปนภาษาอังกฤษพิมพ์เพิ่มเข้าอีกด้วย แต่ผู้รับหนังสือแจกซึ่งมิได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาอังกฤษก็คงยังมีอีกมาก เห็นสมควรจะมีหนังสือเปนภาษาไทยพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ด้วย ข้าพเจ้าจึงให้รวมหนังสือจดหมายเหตุซึ่งหม่อมราโชทัยแต่ง กับทั้งคำอธิบายของข้าพเจ้าพิมพ์ไว้ด้วย ให้จดหมายเหตุเรื่องราชทูตไทยไปประเทศอังกฤษเมื่อคราว พ.ศ.๒๔๐๐ เปนฉบับบริบูรณ์อยู่ในสมุดเล่มนี้

อันจดหมายเหตุเรื่องทูตไทยไปประเทศอังกฤษที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ความต่างกันแลมีกัลเม็ดต่างกัน ถ้าอ่านด้วยสังเกตจะเห็นได้ว่าเปนหนังสือน่าอ่านต่างกันอย่างไร ข้าพเจ้าจะลองกล่าวอธิบายกัลเม็ดตามที่คิดเห็น

๑. รายงานของหม่อมราโชทัยซึ่งพิมพ์ไว้เปนภาคต้นนั้น เปนตัวจดหมายเหตุในทางราชการข้างฝ่ายไทย (เคยพิมพ์ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔) ควรยกย่องว่าเปนหนังสือแต่งดีในกระบวนภาษาไทยเรื่อง ๑ และมีกัลเม็ดอยู่ที่หม่อมราโชทัยพรรณนาถึงสิ่งแลการต่าง ๆ ซึ่งได้ไปเห็น ดังเช่นพรรณนาถึงรถไฟก็ดี โทรเลขก็ดี แม้อย่างต่ำพรรณนาว่าด้วยละคอนม้าก็ดี ถ้าผู้อ่านในสมัยนี้ระลึกไว้ว่าตัวหม่อมราโชทัยเองก็ไม่เคยเห็นของประหลาดเหล่านั้นมาแต่ก่อน แลอุส่าห์แต่งด้วยตั้งใจจะเล่าให้ผู้อื่นซึ่งไม่ได้เห็นเข้าใจว่าสิ่งหรือการเหล่านั้นเปนอย่างไร ก็เห็นจะต้องยอมว่าแต่งพรรณนาดีจริง ๆ

๒ หนังสือกลอนนิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย ซึ่งพิมพ์ต่อไปเปนภาคที่ ๒ นั้น (หมอบรัดเลซื้อกรรมสิทธิ์การพิมพ์ไปจากหม่อมราโชทัย แต่ในสมัยเมื่อยังไม่มีพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์หนังสือ เปนราคา ๔๐๐ บาท เอาไปพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔) เปนบทกลอนแต่งดีอย่างยิ่งเรื่อง ๑ จนถึงมีผู้สงสัยว่าหม่อมราโชทัยวานสุนทรภู่แต่งอ้างหลักถานว่ากระบวนกลอนเหมือนกลอนสุนทรภู่ แลถ้อยคำสำนวนก็ดีถึงสุนทรภู่ แต่ความที่สงสัยนี้ ขัดกับโคลงซึ่งแถลงไว้ในนิราศลอนดอน ว่า

๏ ตัวเราเกลากล่าวเกลี้ยง กลอนไข
คือหม่อมราโชทัย ที่ตั้ง
แสดงโดยแต่จริงใจ จำจด มานา
ห่อนจักพลิกแพลงพลั้ง พลาดถ้อยความแถลง ฯ

ถ้าหม่อมราโชทัยมิได้แต่งนิราศลอนดอนเองไซ้ ก็เห็นจะมีศีลธรรมพอที่จะรู้สึกละอายไม่แต่งโคลงบทนี้ไว้ แต่หลักถานที่สำคัญยิ่งกว่านี้ยังมีอีก คือสุนทรภู่ตายในปีเถาะ พ.ศ.๒๓๙๘ นิราศลอนดอนแต่งในปีมะเสง พ.ศ.๒๔๐๐ แต่งเมื่อสุนทรภู่ตายเสียแล้วถึง ๓ ปี ข้อที่กระบวนกลอนเหมือนของสุนทรภู่นั้นไม่อัศจรรย์อันใด หนังสือกลอนที่แต่งเลียนอย่างสุนทรภู่มีถมไป เปนแต่มิใคร่มีใครสามารถแต่งดีได้ใกล้เคียงเหมือนหม่อมราโชทัย แต่นอกจากหม่อมราโชทัยก็ยังมีผู้อื่นอีก คือพระภิกษุมี วัดพระเชตุพนที่แต่ง “ นิราศเดือน “ นั้นเปนต้น กัลเม็ดที่ควรสังเกตในเรื่องนิราศลอนดอนนั้น นอกจากที่แต่งดีโดยสำนวนกลอนแลถ้อยคำเรียบกว่าของสุนทรภู่ ยังมีข้อควรชมอีกอย่างหนึ่ง คือที่ตรงแห่งใดใช้คำภาษาฝรั่ง มักหาคำภาษาไทยใช้เปนสัมผัสในได้เหมาะดีทุกแห่ง ดังเช่นตรงว่า “ กัปตันโอแกแลแฮนแสนฉลาด “ นี้เปนตัวอย่าง และยังมีที่อื่นอีกหลายแห่ง

๓ จดหมายเหตุภาษาอังกฤษที่พิมพ์ไว้ข้างตอนท้ายนั้น ถ้าว่าโดยกระบวนเรื่อง ผิดกับจดหมายเหตุภาษาไทยของหม่อมราโชทัยก็แต่พลความ ส่วนเนื้อเรื่องนั้นตรงกัน มีแปลกออกไปจากจดหมายเหตุของหม่อมราโชทัยไม่มากนัก กัลเม็ดอยู่ที่มีคำแปลหนังสือที่ทูตถือไปในภาษาไทยเปนภาษาอังกฤษ ทั้งพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย แลเรื่องราวที่พวกอังกฤษแต่งลงหนังสือพิมพ์ในเวลายังไม่รู้จักไทย ความที่กล่าวเล่าถึงเมืองไทยก็ดี ถึงทูตานุทูตที่ไปก็ดี มักขบขันอยู่หลายแห่ง บางแห่งกล่าวถลากไถลไปจนเกิดความก็มี ดังเช่นเมื่อหนังสือพิมพ์ลงว่า เมื่อวันทูตไทยเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียที่วังวินด์เซอเปนการเต็มยศแล้วโปรดให้เลี้ยงกลางวัน ทูตไทยเอากล้องออกสูบในเวลานั่งโต๊ะกับข้าราชการผู้ใหญ่ในพระราชฐานถึงเจ้าพนักงานในพระราชสำนักต้องส่งข่าวไปลงแก้ว่า เปนความไม่จริงดังนี้เปนตัวอย่าง

ข้าพเจ้าเชื่อว่าสมุดเล่มนี้ บรรดาผู้ที่ได้รับไปอ่านคงจะพอใจทั่วกัน

ราชบัณฑิตยสภาขออนุโมทนาในกุศลจรรยา ซึ่งเจ้าภาพงานศพนายพิณเทพเฉลิม บุนนาค ได้บำเพ็ญเปนปัตติทานมัยบุญกิริยาวัตถุเนื่องในปิตุปัฏฐานธรรม อันสาธุชนทั้งหลายย่อมสรรเสริญทั่วไป


ดำรงราชานุภาพ
นายกราชบัณฑิตยสภา
วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐