อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรป

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรปแต่โบราณมา

ในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี เคยมีราชทูตไทยไปถึงยุโรปหลายคราว ตามที่มีจดหมายเหตุปรากฏนั้น ราชทูตไทยไปถึงยุโรปครั้งแรกเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ โปรดให้ทูตานุทูตเชิญพระราชสาส์นออกไปยังประเทศฮอแลนด์ เจริญทางพระราชไมตรีกับเจ้ามอริสในราชวงศ์ออเรนช์ เมื่อปีมะแมจุลศักราช ๙๖๙ พ.ศ.๒๑๕๐ ตรงกับคฤศตศก ๑๖๐๗ ต่อนั้นมายังมีราชทูตไทยได้ออกไปยุโรปในรัชกาลอื่น ๆ อีก แต่ในเรื่องราชทูตที่ไปมากับประเทศสยาม จะเปนราชทูตที่พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศแต่งเข้ามาก็ดี หรือราชทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงต่างประเทศก็ดี ตอนไหน ๆ ไม่เลื่องลือรู้แพร่หลายเท่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ กรุงฝรั่งเศส เพราะพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ มีรับสั่งให้สร้างสิ่งที่รฦกไว้เฉลิมพระเกียรติยศหลายอย่าง เปนต้นแต่ให้ตีเหรียญแลเขียนรูปภาพราชทูตไทยเข้าเฝ้าที่พระราชวังเวอซาย แลให้แต่งหนังสือทั้งเรื่องราชทูตฝรั่งเศสเข้ามากรุงสยาม แลเรื่องราชทูตสยามคราวโกษาปานออกไปเมืองฝรั่งเศสพิมพ์ไว้ หนังสือเหล่านั้นแพร่หลายทั้งในภาษาฝรั่งเศส แลได้แปลเปนภาษาอื่นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ จึงได้ทราบเรื่องกันยิ่งกว่าคราวอื่น ๆ

เรื่องราชทูตไทยไปเมืองฝรั่งเศสครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ความตามหนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งในครั้งนั้นว่าไปถึง ๔ คราว คราวแรกไปเมื่อคฤศตศก ๑๖๘๑ ตรงกับ (ปีระกา จุลศักราช ๑๐๔๓) พ.ศ. ๒๒๒๔ ราชทูตเชิญพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แลโป๊ปณกรุงโรม ไปในเรือกำปั่นฝรั่งเศส เรือลำนั้นไปแตกที่เกาะมดะคัศคา คนที่ไปหายสูญไปหมด ต่อมาอีก ๒ ปี ถึงพ.ศ.๒๒๒๖ทูตไทยไปเปนคราวที่ ๒ ทูตที่ไปคราวนี้ได้ความว่าเปนแต่ขุนนางผู้น้อยในกรมท่าคน ๑ ในกรมอาสาจามคน ๑ โดยสารเรือกำปั่นฝรั่งเศสไปสืบข่าวทูตไทยไปคราวแรกที่หายไปนั้น ทูต ๒ คนนี้ได้ไปถึงกรุงปารีศเข้าใจว่าเห็นจะถือศุภอักษรเสนาบดีกรุงศรีอยุธยาไปด้วย จึงปรากฏว่ารัฐบาลฝรั่งเศสต้อนรับ แต่ไม่ได้เชิญพระราชสาส์นไปจึงมิได้เข้าเฝ้าพระเจ้า หลุยที่ ๑๔ โดยฐานทูต เปนแต่ให้เข้าไปคอยเฝ้าเวลาเสด็จออกทรงพระดำเนินได้หยุดทรงปราไสย แต่ครั้งนั้นเมื่อพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะใคร่มีทางพระราชไมตรีก็ทรงยิ่งดีโดยเปนโอกาสที่จะแผ่พระเกียรติยศแลเดชานุภาพ ให้มาปรากฎทางประเทศทิศตวันออก จึงแต่งให้เชวะเลียเดอโชมองเปนราชทูต เชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการมาเจริญทางพระราชไมตรียังสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทูตฝรั่งเศสมาด้วยเรือรบ รับทูตไทยทั้ง ๒ คนกลับมาส่งด้วย มาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๒๒๘ครั้นถึงเดือนธันวาคม ทูตฝรั่งเศสจะกลับไป สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงแต่งให้พระวิสูตรสุนทร คือโกษาปาน เปนราชทูตเชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ โกษาปานไปคราวนี้นับเปนทูตไทยไปคราวที่ ๓ ไปเรือรบฝรั่งเศสกับเชวะเลียเดอโชมองด้วยกัน ไปถึงเมืองฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ที่พระราชวังเวอซายเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๒๒๙ โกษาปานอยู่ในเมืองฝรั่งเศส ๗ เดือน กลับเมื่อเดือนมีนาคม เมื่อโกษาปานจะกลับจากเมืองฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ทรงแต่งให้มองสิเออร์เดอลาลุแบร์ เปนราชทูตเชิญพระราชสาส์นกับเครื่อง ราชบรรณาการเข้ามาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกครั้ง ๑ มาเรือรบแลรับโกษาปานกลับมาส่งด้วย มาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๒๓๐ ถึงเดือนธันวาคมเมื่อราชทูตฝรั่งเศสจะกลับไป [1] สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงแต่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นแลเครื่อง ราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แลโป๊ปณกรุงโรมอิกคราว ๑ นับเป็นคราวที่ ๔ (ใครเปนราชทูต ข้าพเจ้ายังหาพบชื่อไม่ ชื่อที่ปรากฎในหนังสือบาดหลวงตาชาด์ผู้ไปกับทูตคราวนั้นเรียกว่า “ออกขุนชำนาญ”เห็นจะไม่ใช่ตัวราชทูต) พาเด็กนักเรียน ๕ คนออกไปเล่าเรียนวิชาในประเทศฝรั่งเศสด้วย มองซิเออร์ลาลุแบร์รับราชทูตไทยไป ราชทูตไทยไปถึงเมืองฝรั่งเศสเมื่อเดือนกรกฏาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ ทางนี้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต พระเพทราชาได้ราชสมบัติ เกิดรบพุ่งกับทหารฝรั่งเศสที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยขับไล่ทหารฝรั่งเศสไปหมด แต่ข่าวยังไม่ทราบออกไปถึงยุโรป เมื่อทูตไทยไปถึงเมืองฝรั่งเศสพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ไม่เสด็จอยู่ในพระนคร รัฐบาลฝรั่งเศสจึงจัดให้ทูตไปเฝ้าโป๊ปอินโนเซนต์ที่ ๑๑ ที่กรุงโรมก่อน ทูตได้เข้าเฝ้าโป๊ปเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๒๓๑ แล้วจึงกลับมาเมืองฝรั่งเศส ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แล้วพักอยู่ในเมืองฝรั่งเศสเกือบปี ๑ จนปลายปีมะเสง พ.ศ.๒๒๓๒ฝรั่งเศสจึงได้จัดส่งมาขึ้นที่เมืองมะริด ซึ่งเปนเมืองท่าของกรุงสยามทางทเลหน้านอกในเวลานั้นเรื่องราชทูตไทยไปเมืองฝรั่งเศสครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ความดังแดส่งมานี้

ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว สมเด็จพระเพทราชาทรงแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสอีกครั้ง ๑ เมื่อปีมะโรงจุลศักราช ๑๐๕๐ เหมือนอย่างครั้งโกษาปานออกไปเมื่อในแผ่นดินก่อน อันความที่กล่าวนี้เพราะผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารลงศักราชปีสม เด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคตผิดเร็วไป ๖ ปี จึงหลงเอาทูตที่ไปกับมองสิเออร์ลาลุแบร์มาลงผิดรัชกาลไป จะเปนความจริงไม่ได้ ด้วยในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาเกิดวิวาทขาดทางไมตรีกับฝรั่งเศสมาแต่เริ่มรัชกาลดังกล่าวมาแล้ว มีจดหมายเหตุฝรั่งเศสกล่าวอิกแห่ง ๑ ว่าเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าฟีลิบที่ ๕ พระเจ้าแผ่นดินสะเปนให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๒๖๑ ต่อมามีในจดหมายเหตุของพวกสะเปนว่ามีเรือกำปั่นหลวงพาทูตไทยออกไปถึงเมืองมนิลา อันเปนหัวเมืองขึ้นของสะเปนทางตวันออก แต่ทูตไทยไปเกิดความไม่พอใจในการที่รับรองเลยกลับมากรุงศรีอยุธยาเสีย ไม่ได้ออกไปเจริญทางพระราชไม ตรีตอบแทนถึงยุโรป จึงเข้าใจว่าตั้งแต่สิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วไม่ได้มีทูตไทยไปถึงยุโรปอิก จนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี ถึงกระนั้นก็ดีราชทูตไทยที่ไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงต่างประเทศที่อยู่ในเอเซียด้วยกัน ยังมีไปเนือง ๆ ไม่ขาด คือ ไปเมืองจีน เมืองอัดแจ แลเมืองลังกาเปนต้น ประเพณีการทูต ทั้งที่รับราชทูตต่างประเทศแลที่แต่งราชทูตไปต่างประเทศ จึงคงมีแบบแผนติดต่อแต่ครั้งกรุงเก่ามาจนถึงในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้

ประเพณีการทูตที่ถือเปนแบบแผนในประเทศนี้ เห็นจะมีนิติได้มาทางมัชฌิมประเทศแต่โบราณทีเดียว เพราะดูคล้ายคลึงกับที่ถือเปนประ เพณีทั้งประเทศมอญพม่าแลลังกาทวีป บางข้อผิดกันข้ามกับประ เพณีทูตของฝรั่ง เปนต้นว่าตามประเพณีของฝรั่งเขาถือว่าราชทูตเปนผู้แทนพระองค์พระมหากษัตริย์ไปยังประเทศโน้น พระราชสาส์นเปนแต่หนัง สือสำคัญสำหรับแสดงว่าผู้เชิญไปเปนราชทูต เพราะฉนั้นการรับรองเขาให้เกียรติยศแก่ตัวราชทูต ส่วนพระราชสาส์นนั้นจะเอาไปอย่างไรไม่ถือเปนข้อสำคัญ แต่ประเพณีของไทยเราแต่โบราณถือว่าพระราชสาส์นเปนต่างพระองค์พระมหากษัตริย์ ราชทูตผู้จำทูลพระราชสาส์นเปนแต่อย่างข้าราชการที่ไปตามเสด็จ แบบแผนข้อที่กล่าวนี้ถ้าพิเคราะห์ดูในเรื่องราชทูตไทยไปส่งพระอุบาลีที่เมืองลังกา ซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีปนั้น ก็จะเห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่พระราชสาส์นออกจากพระราชวังก็แห่แหนอย่างกระบวนเสด็จ พระราชสาส์นไปยับ ยั้งที่ไหนก็จัดเปนที่ประทับ ถึงเวลาเสด็จออกมีประโคม แล้วทูตานุทูตเข้าไปถวายบังคมพระราชสาส์นอย่างเข้าเฝ้าทุกวัน แม้ขุนนางต่างประเทศที่มาต้อนรับราชทูตก็ให้เข้าไปถวายบังคมพระราชสาส์น อย่างว่าพาเข้าเฝ้า เคารพพระราชสาส์นไปโดยอาการอย่างนี้ จนได้ถวายถึงพระหัตถ์พระมหากษัตริย์ประเทศโน้นแล้วจึงเปนเสร็จกิจ ถึงพระราชสาส์นมาแต่ต่างประเทศตั้งแต่เข้ามาถึงในพระราชอาณาเขตร เราก็เคารพอย่างเดียวกัน ที่ประเพณีฝรั่งกับไทยผิดกันในข้อเคารพพระราชสาส์นดังกล่าวมานี้ ถึงเคยเปนเหตุเกิดประดักประเดิด ครั้งเชวะเลียเดอโชมองเปนราชทูตของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เข้ามาครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความปรากฎอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุของทูตฝรั่งเศสคราวนั้นว่า ตั้งแต่ทูตถึงเมืองสมุทปราการ ไทยก็รับรองแห่แหนพระราชสาส์นเปนสำคัญ แต่ส่วนทูตนั้นเปนแต่จัดเรือรับตามพระราชสาส์นไป เมื่อถึงที่สำนักในระยะทางเจ้าพนักงานไทยเข้าไปถวายบังคมพระราชสาส์นแล้วจึงเชิญขึ้นไว้ในห้องซึ่งจัดตกแต่งเปนที่พักของพระราชสาส์น ครั้นเมื่อจะเชิญพระราชสาส์นกลับลงเรือ ก็เข้าไปถวายบังคมพระราชสาส์นแล้วจึงเชิญลงเรือไป ราชทูตแปลกใจครั้นสืบถามได้ความว่าประเพณีไทยถือว่าพระราชสาส์นสำคัญกว่าราชทูต จึงคิดอ่านอุบายจะให้ไทยเคารพต่อราชทูตเหมือนกับเคารพต่อพระราชสาส์น คราวนี้ก่อนเวลาจะเชิญพระราชสาส์นลงเรือ ราชทูตให้เอาเก้าอี้เข้าไปตั้งแล้วเข้าไปนั่งอยู่เคียงข้างพระราชสาส์น เจ้าพนักงานไทยถวายบังคมแล้ว จึงยกพานพระราชสาส์นส่งให้เจ้าพนักงานไทยเชิญไปลงเรือ ในวันหลังเมื่อพักอยู่ที่ขนอนหลวงใต้วัดโปรดสัตว์ ถึงวันจะแห่พระราชสาส์นเข้ากรุง ราชทูตคิดจะให้เปนเกียรติยศยิ่งขึ้นไปอิกชั้นหนึ่ง คราวนี้ให้บาดหลวงเดอชัวซี (ซึ่งเตรียมมาจะให้เปนราชครูผู้สอนคฤศตสาสนาถวายสมเด็จพระนารายณ์) เข้าไปยืนอยู่ด้วย เมื่อขุนนางไทยเข้าไปถวายบังคมพระราชสาส์นแล้ว ราชทูตไม่ให้ไทยเชิญพระราชสาส์น ให้บาดหลวงเดอชัวซี เชิญพานพระราชสาส์นเดินมากับราชทูต เข้าในเงาพระกลดที่กั้นพระราชสาส์นมาด้วยกัน หวังจะให้ไทยนับถือว่ามีบันดาศักดิ์สูง มาส่งพระราชสาส์นให้ไทยต่อเมื่อถึงเรือบุษบกซึ่งจัดลงมารับพระราชสาส์นการที่คิดเลี่ยงหลีกให้ไทยถวายบังคมราชทูตด้วยได้ในครั้งนั้น ดูเปนที่พอใจของราชทูตมาก

ประเพณีการทูตตามแบบโบราณ นอกจากข้อที่กล่าวมาแล้วยังมีอย่างอื่นอิก จะลองเรียบเรียงลงไว้ต่อไปนี้ ตามที่ได้พบในจดหมายเหตุเก่า คือ

ว่าด้วยพระราชสาส์นตามแบบโบราณ ต้องจาฤกลงในแผ่นสุพรรณบัตร เขียนจำลองลงแผ่นกระดาษแต่สำเนาซึ่งส่งไปกับศุภอักษรของเสนาบดี การที่จาฤกลงแผ่นทองถือว่าเปนเครื่องหมายแห่งไมตรีแม้หนังสือสัญญาทางไมตรีที่มีต่อกันในระหว่างประเทศ ก็ใช้จาฤกในแผ่นสุพรรณบัตร แลการที่หมายสำคัญใช้ประทับยอดหัวแหวนกดรอยไว้ในแผ่นทองแทนประทับตรา ด้วยเหตุนี้จึงเปนคำพูดกันว่า “เปนทองแผ่นเดียวกัน” แล “เปนสุวรรณปัถพีอันเดียวกัน” มาแต่ โบราณ ประเพณีอันนี้ไม่มีในประเทศฝรั่งแลประเทศจีน

ว่าด้วยทูตที่จำทูลพระราชสาส์นประเพณีของไทยเราแต่โบราณถ้าหากมีพระราชสาส์นแล้วจำต้องแต่งทูตานุทูตเชิญไป ที่จะส่งพระราชสาส์นไปด้วยประการอย่างอื่น แม้แต่จะมอบให้ราชทูตต่างประเทศที่เชิญพระราชสาส์นมาเชิญกลับไปก็ไม่ได้ ถ้าหากจะไม่แต่งทูตานุทูตไปก็ไม่มีพระราชสาส์นทีเดียว ถ้าเช่นนั้นให้เสนาบดีมีศุภอักษรไปถึงเสนา บดีประเทศโน้นให้นำกระแสรับสั่งขึ้นกราบทูล ศุภอักษรนั้นมอบให้ทูตต่างประเทศถือกลับไป หรือส่งไปอย่างไรก็ได้ ความที่กล่าวในข้อนี้จะเห็นตัวอย่างได้ในเรื่องราชทูตไทยไปลังกาเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ซึ่งพิมพ์อยู่ในเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีปนั้นเหมือนกันคือเมื่อส่งพระอุบาลีพระอริยมุณีไปกับคณะสงฆ์คราวแรกมีราชทูตเชิญพระราชสาส์นไปด้วย ต่อมาคราวส่งพระวิสุทธาจารย์พระวรญาณมุนี กับคณะสงฆ์ไปเปลี่ยนคณะสงฆ์ชุดก่อน ก็มีราชทูตเชิญพระราชสาส์นไปด้วย คราวนี้เมื่อพระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะให้ราชทูตลังกาเชิญพระราชสาส์นพาพระอริยมุนี กับคณะสงฆ์ที่ไปคราวแรกกลับมาส่ง ข้างกรุงศรีอยุธยาจะไม่แต่งทูตไปลังกาอิก จึงมีแต่ศุภอักษรเสนาบดีไทย ให้ราชทูตลังกาถือไปถึงเสนาบดีในลังกาทวีปให้ทูลกระแสรับสั่งตอบพระราชสาส์นแก่พระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะ

แต่ประเพณีฝรั่งในเรื่องมีพระราชสาส์นเขาไม่ถือว่าจำเปนจะต้องมีราชทูตเชิญไป ด้วยเหตุนี้ในครั้งกรุงเก่าเมื่อแรกบริษัทฝรั่งต่างชาติเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา มักจะทูลขอให้พระเจ้าแผ่นดินประเทศของตนมีพระราชสาส์นทรงฝากฝัง ขอให้พวกพ่อค้าค้าขายได้โดยสดวก พระเจ้าแผ่นดินก็มีพระราชสาส์นให้พวกพ่อค้าของบริษัทถือมา ฝ่ายไทยเราเคารพนับถือพระราชสาส์นเปนสำคัญ เมื่อรู้ว่ามีพระราชสาส์นมาแต่พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ ก็รับรองแห่แหนพระราชสาส์น แลรับรองพ่อค้าซึ่งเปนผู้เชิญพระราชสาส์นให้เข้าเฝ้าแหนได้ จนเลยเข้าใจกันในพวกฝรั่งทั่วไปในครั้งนั้นว่า ถ้าจะให้ไทยรับรองให้ดีแล้วจำต้องมีพระราชสาส์นถือมาด้วย ด้วยเหตุนี้เมื่อบาดหลวงฝรั่งเศสจะเข้ามาตั้งสั่งสอนสาสนาคฤศตัง จึงทูลขอพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แลมหาสมณะสาส์นของโป๊ปเชิญมา อันเปนต้นเหตุอย่าง ๑ ซึ่งจะแต่งทูตไทยออกไปประเทศฝรั่งเศสแลกรุงโรมเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ว่าด้วยพาหนะที่รับพระราชสาส์นไปยังต่างประเทศ เพราะประเพณีไทยแต่โบราณถือว่าพระราชสาส์นเปนต่างพระองค์ดังกล่าวมาแล้ว ก็จำต้องไปด้วยพาหนะของหลวงในประเทศนี้ จนถึงอาณาเขตรของประเทศโน้น พอเข้าในอาณาเขตรแล้วเจ้าของประเทศก็ต้องเปนธุระรับรองแห่แหนต่อไปให้สมพระเกียรติยศ ด้วยเหตุนี้ถ้าหากว่าทูตเชิญพระราชสาส์นไปทางเรือต้องไปด้วยเรือหลวง จะโดยสารเรือผู้อื่นไปนั้นไม่ได้ ความข้อนี้เมื่อครั้งกรุงเก่าแต่แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถมาจนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเรือกำปั่นหลวงไปค้าขายถึงต่างประเทศเสมอเรือกำปั่นหลวงเหล่านั้นเคยรับทูตไทยไปจนถึงประเทศยี่ปุ่นแลเปอเซียแลประเทศอื่น ๆ ที่ยังเปนอิศระอยู่ในอินเดียเนือง ๆ แต่ไม่มีเรือกำปั่นหลวงเคยออกไปถึงยุโรปเมื่อจะแต่งราชทูตออกไปยุโรปในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงต้องคิดเปนวินัยกรรม ให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นไปเรือกำปั่นหลวงจากกรุงศรีอยุธยาเพียงถึงเมืองบันตัม (ใกล้กับที่เมืองเบตาเวียทุกวันนี้) อันเปนหัวเมืองใหญ่ของฮอลันดาในครั้งนั้นโดยถือว่าเข้าในอาณาเขตรของฮอลันดาแล้ว แต่นั้นรัฐบาลฮอลันดาเอาเรือรบรับทูตไทยไปจนถึงยุโรป มาถึงแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช เมื่อทูตไทยเชิญพระราชสาส์นไปเมืองฝรั่งเศสคราวแรก เข้าใจว่าก็คงไปด้วยเรือกำปั่นหลวง ไปจากเมืองมะริตจนถึงเมืองปอนดิเจรีอันเปนหัวเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ซึ่งมีอยู่ในอินเดียแล้ว จึงลงเรือกำปั่นของฝรั่งเศสแต่นั้นไปกำปั่นนั้นไปแตกที่เกาะมะดะคัศคาดังกล่าวมาแล้ว แต่เมื่อโกษาปานจะไปเมืองฝรั่งเศสได้ผ่อนลงมาอิกชั้นหนึ่ง เพราะมีเรือรบของประเทศโน้นมารับ จึงให้ทูตไปในเรือรบฝรั่งเศสตั้งแต่ออกจากอ่าวสยามไป ต่อมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ เมื่อทูตไทยไปลังกาคราวแรก ก็ไปด้วยเรือกำปั่นหลวง เรือลำนั้นไปชำรุดที่หน้าเมืองนครศรีธรรมราชทูตกับพระอุบาลีต้องกลับเข้ามากรุงศรีอยุธยาเสียคราว ๑ จะไปอิกคราวนี้ ที่จริงไปในเรือกำปั่นของพ่อค้าฮอลันดา แต่ถือว่าเพราะเจ้าของเรือรับอาสาพาทูตไปส่งเมืองลังกาเหมือนอย่างที่ทูตลังกามาประเทศนี้ มิใช่อาศรัยโดยสารไปก็ไม่เสียประเพณี แต่ทูตที่ไปเมืองจีนก็ดี หรือเมืองญวนก็ดี ยังคงไปเรือหลวงตลอดมาจนในชั้นกรุงรัตนโกสินทร

ว่าด้วยยศราชทูตที่ไปเจริญทางพระราชไมตรียังต่างประเทศประเพณีฝรั่งกับประเพณีไทยในข้อนี้ก็ผิดกัน คือที่ฝรั่งถือว่าทูตเปนผู้ไปแทนพระองค์ ไทยถือว่าทูตเปนแต่ผู้เชิญพระราชสาส์นไป ตำแหน่งแลหน้าที่ ทูตของฝรั่งกับของไทยจึงต่างกัน ตำแหน่งทูตของฝรั่งมียศเปน ๓ ชั้น ชั้นสูงสุดเปนเอกอรรคราชทูต ชั้นที่ ๒ เปนอรรคราชทูต ชั้นที่ ๓ เปนราชทูต การที่ฝรั่งจะแต่งทูตไปต่างประเทศ ถือเอาการที่ไปหรือประเทศที่ไปเปนสำคัญ ถ้าสำคัญอย่างยิ่ง ทูตที่ไปก็เลือกสรรบุคคลชั้นสูงให้เปนตำแหน่งเอกอรรคราชทูต ถ้าสำคัญไม่ถึงอย่างยิ่ง ทูตที่ไปก็เปนแต่เพียงชั้นอรรคราชทูตหรือราชทูต ตามสมควรแก่การแลประเทศที่ไปนั้น จะยกตัวอย่างเช่นราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เชวะเลียเดอโชมอง ที่เข้ามาคราวแรกมียศเปนเอกอรรคราชทูต แต่มองสิเออร์ลาลุแบร์ ที่เข้ามาคราวที่ ๒ มียศเปนแต่เพียงอรรคราชทูต เพราะการที่ทูตเข้ามาครั้งที่ ๒ ไม่สำคัญเหมือนทูตที่เข้ามาคราวแรก แต่ถึงยศจะเปนชั้นใดทูตฝรั่งคงเปนตัวทูตแต่คนเดียว ผู้ที่มาด้วยเปนแต่บริวารของทูต เช่นเปนเลขานุการเปนต้น

ส่วนประเพณีทูตานุทูตไทยที่ไปจำทูลพระราชสาส์นยังต่างประเทศแต่โบราณยศราชทูตไม่มีชั้นสูงต่ำอย่างแบบฝรั่ง ทูตคงไปเปนคณะ ๓ คนเหมือนกันทุกคราว เรียกว่าราชทูตคน ๑ อุปทูตคน ๑ ตรีทูตคน ๑ นับเปนทูตด้วยกันทั้ง ๓ คน บันดาศักดิ์ราชทูตตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุครั้งกรุงก่า เปนชั้นออกพระเปนอย่างสูง เพียงบันดาศักดิ์เปนออกขุนเปนราชทูตก็มี พิเคราะห์ตามราชทินนามของทูตานุทูตที่ปรากฏ เช่นคราวโกษาปานราชทูตเปนออกพระวิสูตรสุนทร อุปทูตเปนออกหลวง ศรีวิสารวาจา ตรีทูตเปนออกขุนกัลยาณราชไมตรี ทูตไทยไปเมืองจีนในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราชทูตเปนที่ออกขุนศิริราชไมตรี ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ ราชทูตไปลังกาคราวแรกเปนที่พระสุธรรมไมตรี อุปทูตเปนขุนวาทีพิจิตร ตรีทูตเปนหมื่นพิพิธเสนหา ราชทินนามที่กล่าวมานี้เห็นได้ว่าล้วนเปนนามแต่งขึ้นสำหรับผู้เปนทูตทั้ง นั้น จึงเข้าใจว่าประเพณีเก่า เมื่อเลือกสรรผู้ที่จะเปนทูตานุทูตแล้ว จึงทรงตั้งราชทินนามสำหรับไปรับราชการในคราวนั้น เมื่อไปราชการทูตมีบำเหน็จความชอบกลับมาก็ได้เลื่อนยศบันดาศักดิ์สูงขึ้นไป ดังเช่นโกษาปานเปนที่ออกพระวิสูตรสุนทรราชทูตไปเมืองฝรั่งเศส กลับมาก็ได้เลื่อนเปนพระยาโกษาธิบดี จตุสดมภ์กรมพระคลัง เมื่อก่อนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคตเพียงสักสองสามเดือนเท่านั้น

ว่าด้วยอำนาจของราชทูตที่ไปต่างประเทศ ประเพณีฝรั่งกับไทยก็ผิดกันเปนข้อสำคัญ ข้างประเพณีฝรั่ง การที่พูดจาว่าขานอย่างใดในกิจ ที่ไปนั้น มอบไปในราชทูตเสร็จ แจ้งไปในพระราชสาส์นแต่ว่าถ้าราชทูตจะพูดจาว่ากล่าวประการใด ขอให้ถือว่าเหมือนเปนพระวาจาของพระเจ้าแผ่นดินประเทศโน้นตรัส เชื่อฟังได้ดุจกัน แต่ฝ่ายประเพณีทูตของไทยกิจการอันใดที่จะว่ากล่าวกับประเทศโน้น เสนาบดีมีศุภอักษรให้ราช ทูตถือไปถึงเสนาบดีประเทศโน้นในคราวเดียวกับที่ทูตเชิญพระราชสาส์น ไป ทูตเปนแต่ผู้จะพูดจาชี้แจงไขข้อความศุภอักษรนั้น ความที่กล่าวในข้อนี้จะเห็นตัวอย่างได้ในสำเนาพระราชสาส์นแลศุภอักษรเสนาบดี ซึ่งมีไปมาในระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสัตนาคนหุต อันพิมพ์อยู่ในหนังสือ พระราชวิจารณ์นั้น

ว่าด้วยประเพณีการรับทูตต่างประเทศ ตามที่สังเกตเห็นในจดหมายเหตุครั้งกรุงเก่า ตั้งแต่ทูตเข้ามาถึงพระราชอาณาเขตร การกินอยู่เลี้ยงดูเปนของหลวงทั้งสิ้น เห็นจะเปนด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่าแขกเมืองเมื่อมีทูตเข้ามาถึง โดยฉะเพาะที่เปนราชทูตจำทูลพระราชสาส์น จำต้องให้ทูตพักรออยู่ที่ปลายแดนก่อน เพื่อตระเตรียมการรับรองหลาย ๆ วัน ถ้าทูตมาทางทเลก็ต้องคอยอยู่ที่ปากน้ำ เพราะทางในกรุงจะต้องจัดเรือกระบวนลงไปแห่พระราชสาส์นแลรับทูตานุทูตขึ้นมา ทั้งจะต้องจัดหอพระ ราชสาส์น แลที่สำนักทูตตามระยะทาง คือ ที่เมืองสมุทปราการแห่ง ๑ ที่เมืองพระประแดงแห่ง ๑ ที่เมืองธนบุรีแห่ง ๑ ที่เมืองนนทบุรีแห่ง ๑ ที่เมืองประทุมธานีแห่ง ๑ ที่ขนอนหลวงใต้วัดโปรดสัตว์อีกแห่ง ๑ ในเวลาที่ทูตคอยอยู่ที่ปากน้ำนั้น มีเจ้าพนักงานลงไปเยี่ยมเยียนแลส่งสิ่งของสะเบียงอาหารไปเลี้ยงดู ครั้นเมื่อรับขึ้นมาถึงที่สำนักตามระยะทางก็มีข้าราชการไปต้อนรับทักทายทุกระยะ จนถึงขนอนหลวงที่ใต้วัดโปรดสัตว์ ถึงนั่นแล้วก่อนจะเข้าไปในกรุง ทูตต้องคอยอยู่ที่ขนอนหลวงอิกหลายวัน เพราะต้องแปลพระราชสาส์นแลศุภอักษร ตรวจทำบาญชีสิ่งของเครื่องราชบรรณาการ แลตระเตรียมตกแต่งถนนหนทางในพระนครรับแขกเมือง แลหาฤกษ์วันดีที่จะเสด็จออกรับแขกเมืองด้วย เมื่อถึงกำหนดจึงจัดเรอกระบวนแห่พร้อมด้วยเรือข้าราชการเปนกระบวนใหญ่ลงมารับพระราชสาส์นทั้งทูตานุทูตแลเครื่องราชบรรณาการ แห่เข้าพระนครไปขึ้นที่ท่าประตูไชยอยู่ตรงวัดพุทไธสวรรย์ข้ามเชิญพระราชสาส์นขึ้นราชรถ ทูตานุทูตขึ้นเสลี่ยงบ้าง คานหามบ้าง ขี่ม้าบ้าง ตามควรแก่บันดาศักดิ์ มีกระบวนช้างม้าแลพลเดินเท้าแห่ไปยังพระราชวังให้ราชทูตพักคอยเฝ้าที่ศาลาลูกขุน ทูตลังกาว่าเวลาเมื่อทูตคอยอยู่ศาลาลูกขุนมีเจ้าพนักงานนำดอกไม้มงคลมาพระราชทานราชทูต แต่ทูตฝรั่งหาปรากฏว่ามีไม่ การเสด็จออกรับแขกเมืองถวายพระราชสาส์น เปนการเต็มยศใหญ่ มียืนช้าง ยืนม้า แลทหารนั่งกัลบาถที่สนามในพระราชวังหลายกอง จำนวนคนนับพัน แม้ชาวต่างประเทศ แขก ฝรั่ง จีน จาม ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ก็ป่าวร้องให้แต่งตัวเปนสง่าราษี พากันมาประชุมที่สนามในคอยรับแขกเมืองด้วย แต่ที่เสด็จออกรับแขกเมืองนั้นต่างกันเปน ๒ อย่าง เสด็จออกสีหบัญชรให้แขกเมืองเข้าเฝ้าในท้องพระโรงอย่าง ๑ เสด็จออกมุขเด็ดให้แขกเมืองเฝ้าที่ชาลาหน้าพระที่นั่งอย่าง ๑ เมื่อทูตฝรั่งเศสเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทูตเข้าเฝ้าในท้องพระโรง แต่เมื่อทูตลังกาเข้ามาเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ ตามที่กล่าวพรรณาไว้ในจดหมายเหตุของราชทูต ปรากฎว่าเสด็จออกมุขเด็จพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท ราชทูตเฝ้าที่ชาลาหน้าพระที่นั่ง

อันลักษณะเสด็จออกรับแขกเมืองเปน ๒ อย่างนี้ อธิบายไว้ในหนังสือระยะทาง เชวะเลียเดอโชมองราชทูตฝรั่งเศสว่า ถ้าเปนราชทูตมาแต่ประเทศใหญ่ เช่นราชทูตจีน แลราชทูตเปอเซียเปนต้นให้เข้าเฝ้าในท้องพระโรง ถ้าราชทูตที่มาแต่ประเทศน้อย เช่นทูตตังเกี๋ย ทูตอัดแจ แลทูตกรุงศรีสัตนาคนหุต ทูตเชียงใหม่ เสด็จออกที่มุขเด็ดความที่กล่าวนี้จะถูกผิดอย่างไรไม่พบหลักฐานที่จะสอบสวน

ว่าด้วยกิริยาที่แขกเมืองเข้าเฝ้า มีกล่าวชี้แจงไว้ในหนังสือจดหมายเหตุราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชละเอียดละออ ด้วยว่าเมื่อทูตฝรั่งเศสเข้ามาครั้งแรก เวลาพักรออยู่ที่ขนอนหลวงราชทูตถามถึงขนบธรรมเนียมที่จะเข้าเฝ้า เจ้าพนักงานกำกับทูตชี้แจงให้ฟัง ราชทูตฝรั่งเศสไม่พอใจในขนบธรรมเนียมบางอย่างร้องขอให้แก้ไข จึงโปรดให้เจ้าพระยาวิชเยนทรไปปรึกษาหารือกันแล้วราชทูตฝรั่งเศสจึงได้เข้าเฝ้า

ประเพณีทูตเข้าเฝ้าอย่างเดิม ตามที่ทูตฝรั่งเศสพรรณาไว้นั้นเมื่อทูตไปถึงพระราชวังแล้ว พักคอยอยู่ที่ศาลาลุกขุนใน ครั้นจวนเสด็จออก เจ้าพนักงานกรมวังกับกรมท่ามาพาทูตเข้าไปพักอยู่ที่ทิมดาบ แห่ง ๑ ในบริเวณพระมหาปราสาท เจ้าประเทศราชแลขุนนางผู้ใหญ่ เข้าไปคอยเฝ้าอยู่ในท้องพระโรงหมอบเปน ๒ ฝ่าย ตั้งเครื่องยศสำหรับตัวทุกคน ขุนนางชั้นรองลงมาหมอบอยู่ที่ทิมคดหน้าพระมหาปราสาทครั้นเวลาเสด็จออกพอสุดเสียงประโคมแล้ว เจ้าพนักงานจึงมาพาทูตไปเมื่อทูตถึงหน้าพระมหาปราสาท ทูตต้องคุกเข่าลงถวายบังคมที่ชาลาหน้าพระมหาปราสาท ๓ ครั้ง แล้วคลานขึ้นบันไดพระมหาปราสาทคลานเข้าในพระทวารถึงหน้าที่นั่งในท้องพระโรงต้องถวายบังคมอิก ๓ ครั้งแล้วคลานขึ้นไปถึงที่ตำแหน่งเฝ้าจึงถวายบังคมอิก ๓ ครั้ง ถ้าทูตเฝ้าที่ชาลาหน้ามุขเด็ด ขุนนางผู้ใหญ่หมอบเฝ้าที่ทิมคด ขุนนางผู้น้อยหมอบเฝ้าในชาลา ทูตเข้าไปจากศาลาลูกขุนถึงหน้าฉานถวายบังคม ๓ ครั้ง แล้วคลานเข้าไปในชาลาตรงหน้าพระที่นั่งถวายบังคมอิก ๓ ครั้ง ขึ้นไปถึงที่ตำแหน่งเฝ้าถวายบังคมอิก ๓ ครั้ง เรื่องทูตถวายบังคมตามที่กล่าวนี้พิเคราะห์ดูเห็นว่า กิริยาแสดงความนอบน้อมของชาวประเทศทางตวันออกเปนทำนองเดียวกันทุกประเทศ คือคงอยู่ในคุกเข่าลงก้มกราบ นับว่าเปนอันถวายบังคมเหมือนกัน แต่กิริยานอบน้อมของฝรั่งที่ยืนคำนับนั้นผิดกันไกล ทูตฝรั่งเข้าเฝ้าเปนสามัญครั้งกรุงเก่าจะให้ทำอย่างไรยังหาพบอธิบายไม่ ได้พบแบบแผนแต่ในกรุงรัตนโกสินทรนี้แขกเมืองฝรั่งเข้าเฝ้าไม่ต้องหมอบคลาน ยอมให้เดินเข้าไปถึงที่ควรถวายบังคมแล้วนั่งลงยกมือขึ้นถวายบังคม ๓ ครั้ง เข้าใจว่าในครั้งกรุงเก่าก็จะอย่างเดียวกัน

แบบแผนทางเมืองพม่าในเรื่องทูตฝรั่งเข้าเฝ้า มีในจดหมายเหตุของนายพันเอกยูล ซึ่งเปนเลขานุการทตอังกฤษ คราวเซออาเธอแฟรไปเฝ้าพระเจ้ามินดง เมื่อคฤศตศก ๑๘๕๕ พรรณาไว้ถ้วนถี่พอใช้ ปรากฎว่า ทูตอังกฤษเกี่ยงไม่ยอมไปนั่งคอยที่ศาลาลูกขุน พม่าจึงให้ทูตอังกฤษเข้าไปคอยอยู่ในท้องพระโรงแต่ก่อนเสด็จออก ทำนองจะเกี่ยงกันด้วยเรื่องพม่าจะให้คลานเข้าไปนั้นเอง ฝรั่งไม่ยอมคลาน พม่าก็ไม่ยอมให้เดิน จึงตกลงเปนผ่อนผันให้เข้าไปคอยอยู่ก่อน แต่ต้องถวายบังคมเหมือนกัน

ลักษณถวายพระราชสาส์น โดยปรกตินั้นทูตไม่ได้ถวายต่อพระหัตถ์ เวลาทูตเข้าเฝ้าตั้งพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการไว้ข้างหน้าทูต ครั้นทูตเข้าไปถึงที่เฝ้า ถ้าเปนทูตจีน แลแขก ฝรั่งโกษาธิบดีทูลเบิก ถ้าเปนทูตลาว จะเปนมหาดไทยหรือโกษาธิบดีทูลเบิกข้อนี้สงสัยอยู่ เมื่อทูลเบิกแล้วจึงมีพระราชปฏิสัณฐาร ลักษณพระราชปฏิสัณฐารทูตก็มีแบบโบราณว่าทรงปฏิสัณฐาร ๓ นัดเปนธรรมเนียม แลเปนธรรมเนียมลงไปจนถึงข้อความของพระราชปฏิสัณฐาร คือดำรัสถามว่า พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายโน้น กับทั้งพระราชวงศ์ทรงสบายดีอยู่หรือนัด ๑ ว่าทูตานุทูตเดินทางมาสดวกดีอยู่หรือเดินทางมาช้านานเท่าใดจึงมาถึงนัด ๑ ว่าประเทศโน้นฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองมีความสุขสมบูรณ์ ไพร่บ้านพลเมืองมีความสุขอยู่หรือนัด ๑ แบบพระราชปฏิสัณฐารอย่างนี้เข้าใจกันซึมทราบมาแต่ก่อนจนอาจจะแต่งลงเปนบทเสภา เมื่อสมเด็จพระพันวะษาเสด็จออกรับทูตล้านช้างได้ดังนี้

๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช ชำเลืองพระเนตรผายผัน
เห็นราชทูตมาถวายบังคมคัล กับทั้งเครื่องสุวรรณบรรณา
จึงตรัสประภาษปราไส มาในป่าไม้ใบหนา
กี่วันจึงถึงพระภารา มรรคายากง่ายประการใด
อนึ่งกรุงนาคบุรี เข้ากล้านาดีหรือไฉน
หรือฝนแล้งเข้าแพงมีภัย ศึกเสือเหนือใต้สงบดี
ทั้งองค์พระเจ้าเวียงจันท์ ทรงธรรม์เปนสุขเกษมศรี
ไม่มีโรคายายี อยู่ดีหรืออย่างไรในเวียงจันท์ ฯ

แบบแผนทางเมืองพม่ายิ่งหนักมือไป ถึงพระเจ้าแผ่นดินไม่ต้องมีรับสั่งว่ากะไร เพียงพยักพระพักตร์เท่านั้น ผู้สนองพระโอฐก็รับสั่งมาแจ้งพระราชปฏิสัณฐารแก่ทูตตามข้อความที่กล่าวมา

เมื่อมีพระราชปฏิสัณฐารนัด ๑ โกษาธิบดีก็รับพระราชโองการมาบอกแก่กรมท่าขวาหรือซ้าย อันเปนเจ้าหน้าที่ ๆ บอกล่าม ๆ แปลบอกทูต ทูตจะกราบทูลว่ากะไรก็ต้องย้อนกลับโดยนัยอันเดียวกัน แล้วมีพระราชปฏิสัณฐารนัดที่ ๒ ที่ ๓ ต่อไป ครั้นมีพระราชปฏิสัณฐารแล้ว เจ้าพนักงานจึงยกพานหมากกับเสื้อผ้ามาตั้งพระราชทานทูตานุทูต เปนสัญญาว่าเสร็จการเฝ้า พอตั้งพานหมากแล้วไม่ช้าก็ปิดบานพระบัญชรเสด็จขึ้นมีประโคม แลข้าราชการกับทูตานุทูตถวายบังคมอิก ๓ ครั้งแล้วทูตจึงออกจากท้องพระโรง เมื่อทูตออกมาจากเฝ้าแล้ว เจ้าพนักงานพาไปดูสิ่งสำคัญในพระราชวัง คือพระยาช้างเผือกเปนต้น ปรากฎเหมือนกันทั้งคราวราชทูทฝรั่งเศสแลราชทูตลังกา แล้วจึงพาทูตกลับไปพัก เมืองพม่าก็เหมือนกันอย่างนี้

การที่ขอร้องแก้ไขในครั้งเมื่อทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น คือ

ข้อ ๑ ขอให้ขุนนางนายเรือรบกับพวกบาดหลวงได้เฝ้าด้วย ได้รับอนุญาตให้พวกนั้นเข้าไปนั่งคอยเฝ้าอยู่ในท้องพระโรงกับขุนนางไทยตั้งแต่ก่อนเสด็จออก ไม่ได้เข้าไปพร้อมกับทูต เพราะตำแหน่งไม่นับว่าเปนทูต

ข้อ ๒ เรื่องถวายพระราชสาส์น ทูตขอถวายเองต่อพระหัตถ์ จึงเอาพระราชสาส์นไว้ให้บาดหลวงเดอชัวซีเชิญเข้ามากับตัวทูต ครั้นถึงในท้องพระโรงราชทูตจึงรับพานพระราชสาส์นถือเข้าไปถวายที่พระบัญชรปรากฎในจดหมายเหตุของทูตว่า พระบัญชรสูง ทูตส่งถวายไม่ถึงสมเด็จพระนารายณ์ต้องชโงกพระองค์ออกมารับพระราชสาส์น ด้วยไม่เคยมีประเพณีถวายพระราชสาส์นเช่นนั้นมาแต่ก่อน

ข้อ ๓ กิริยานอบน้อม ยอมให้ถวายคำนับอย่างฝรั่ง ไม่ต้องถวายบังคม ข้อนี้พรรณาไว้ในจดหมายเหตุฝรั่งเศสว่า เมื่อเชวะเลียเดอโชมองเข้าเฝ้านั้น เจ้าพระยาโกษากับเจ้าพระยาวิชเยนทรเปนผู้นำท่านทั้ง ๒ นั้นคลานเข้าไปถวายบังคมที่ใดทูตก็ถวายคำนับ ก้มศีร์ษะลงอย่างต่ำที่สุดแล้วเดินต่อไปจนถึงที่เฝ้าจึงนั่งลงแล้วใส่หมวก กิริยาที่ทูตใส่หมวกเฝ้าในท้องพระโรงที่กล่าวนี้ ชรอยขุนนางไทยที่เข้าเฝ้าจะสวมลอมพอก ทูตจึงทำตาม ความที่กล่าวข้อนี้สมด้วยรูปโกษาปานเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ในรูปนั้นพวกทูตไทยก็สวมลอมพอกทั้งนั้นที่เมืองพม่า เสด็จออกแขกเมืองขุนนางก็สวมลอมพอกเข้าเฝ้าเหมือนกัน

ยังมีความอีกข้อ ๑ ซึ่งปรากฎในครั้งทูตฝรั่งแรกเข้ามาในกรุงรัตนโกสินทรนี้ คือที่ไม่ยอมให้ทูตขัดกระบี่แลสวมรองเท้าเข้าเฝ้าประเพณีอันนี้ก็เห็นจะมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า เมืองพม่าก็ห้ามอย่างเดียวกันด้วยเปนการฝ่าฝืนประเพณีบ้านเมืองในสมัยนั้น เข้าใจว่าพวกทูตฝรั่งเศสจะได้รับยกเว้นข้อนี้ด้วย อีกประการ ๑ เสื้อผ้าที่สมเด็จพระนารายณ์พระ ราชทานทูตฝรั่งเศสนั้น กล่าวในจดหมายเหตุของทูตว่า ครั้งนั้นโปรดให้ยักเยื้องธรรมเนียมเก่า ต่อทูตเฝ้าแล้วจึงให้ข้าราชการนำแพรแลผ้าอย่างดีไปพระราชทานยังที่พัก เจ้าพนักงานแจ้งกระแสรับสั่งว่า ทูตมาแต่เมืองหนาว มาถึงเมืองนี้เปนเมืองร้อน จึงโปรดให้นำแพรผ้ามาพระราชทานให้ทำเครื่องแต่งตัวให้สบาย ครั้นจะตัดทำเปนเครื่องแต่งตัวมาให้เสร็จก็เกรงจะไม่ถูกใจทูต ให้ทำเอาตามใจเถิด ตามความที่ปรากฎดังกล่าวมานี้เข้าใจได้ว่า เสื้อผ้าที่พระราชทานแขกเมืองซึ่งยังมีเปนธรรมเนียมมาจนกรุงรัตนโกสินทรนี้ ที่จริงเปนของพระราชทานให้แขกเมืองใช้เวลาแขกเมืองอยู่ในกรุง ฯ มิใช่พระราชทานให้ไปใช้สอยในบ้านเมืองของตน

การที่ราชทูตเข้าเฝ้านั้น เฝ้าเสด็จออกเต็มยศใหญ่แต่ ๒ คราวคือเฝ้าเมื่อมาถึงดังพรรณามาแล้วคราว ๑ เฝ้าเมื่อทูลลาจะกลับไปบ้านเมืองอิกคราว ๑ แต่ในเวลาทูตพักอยู่ในกรุง ฯ ยังได้เข้าเฝ้าเวลาอื่นอิกตามแต่กิจที่จะโปรดให้เข้าเฝ้าเปนพิเศษ เช่นทูตลังกาได้เข้าเฝ้าที่พระที่นั่งทรงปืน เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐเสด็จออกทอดพระเนตรเครื่องราชบรรณาการที่จะจัดส่งไปลังกานั้นเปนต้น ราชทูตฝรั่งเศสเข้า มาคราวแรกครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ก็ได้เข้าเฝ้าในกรุงศรีอยุธยาอิกคราว ๑ เฝ้าแล้วมีการเลี้ยงพระราชทาน แต่เลี้ยงลับหลังพระที่นั่ง แล้วตามเสด็จขึ้นไปเมืองลพบุรี ได้เฝ้าที่พระราชวังแลที่ตำ หนักทเลชุบศรอิกหลายครั้ง ลักษณที่ทูตเข้าเฝ้าในที่ระโหฐานครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์นั้น ก็ว่าเสด็จออกที่พระบัญชร ทูตนั่งเฝ้าข้างนอก ความที่กล่าวข้อนี้ เมื่อไปพิจารณาดูที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ทั้งที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์แลที่ตำหนัก ทเลชุบศรเห็นแผนที่เปนอย่างเดียวกัน คือ ห้องในซึ่งเปนห้องเสด็จอยู่อยู่ในหลังขวาง อย่างพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ท้องพระโรงเปนมุขอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แต่พื้นเสมอกัน แลพระที่นั่งของสมเด็จพระนารายณ์เล็กกว่ามาก ตรงผนังหลังขวางต่อท้องพระโรงมีพระบัญชรอยู่เตี้ย ๆ พอตั้งพระแท่นที่ประทับข้างในเข้าใจว่าโดยปรกติถ้าเสด็จออกให้ขุนนางเฝ้าในท้องพระโรงคงประทับที่พระบัญชรนี้ ตรงสุดมุขไปข้างหน้าท้องพระโรงยังมีพระบัญชรที่เสด็จออกมุขเด็ดอีกแห่ง ๑ ให้ข้าราชการเฝ้าในชาลาหน้าพระลาน การที่ราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าที่ลพบุรีดังพรรณานั้น ก็คือเฝ้าอย่างเสด็จออกในท้องพระโรงเปนสามัญนั้นเอง ไม่ได้จัดการพิเศษอย่างใด

ทูตเข้าเฝ้าแล้ว จึงกำหนดวันไปเฝ้าพระมหาอุปราช แลไปหาขุนนางผู้ใหญ่บางคนแต่ที่เปนหัวหน้าในราชการ เพราะต้องมีของถวายแลของกำนันไปให้ทุกแห่ง ลักษณที่พระมหาอุปราชเสด็จออกรับแขกเมือง ก็จำลองแบบวังหลวงทุกอย่าง แม้ที่สุดจนข้อที่ทรงปฏิสัณฐารก็เปนอย่างเดียวกัน ฝ่ายลักษณะที่ขุนนางผู้ใหญ่รับทูต ถ้าทูตเปนผู้น้อย เช่นทูตลังกาที่เข้ามาขอสงฆ์ไปหาพระยาชำนาญบริรักษ์ ๆ นั่งเตียงให้ทูตนั่งกับพื้นกับข้าราชการผู้ใหญ่ในกรมท่าด้วยกัน ถ้าทูตเปนฝรั่งแต่มียศสูง เช่นเชวะเลียเดอโชมองไปหาเจ้าพระยาพระคลังจัดตั้งโต๊ะเก้าอี้รับอย่างฝรั่ง เมื่อทักทายปราไสกันแล้ว จึงเลี้ยงอาหารทูตบางแห่งก็มีระบำดนตรีด้วย ประเพณีทางเมืองพม่าก็อย่างนี้เหมือนกันนายพันเอกยูลว่า เมื่อเซออาเธอแฟรเปนทูตอังกฤษไปเมืองพม่า ไปหาขุนนางผู้ใหญ่ในวันเดียวกัน ต้องกินเลี้ยงในตอนเช้าวันนั้นถึง ๕ ครั้ง เมื่อเสร็จการเฝ้าแหนหาสู่ดังกล่าวมาก็เปนเสร็จพิธีรับทูต ต่อนั้นทูตก็ไปดูสถานต่าง ๆ แลถ้ามีการแห่แหนเจ้าพนักงานก็พาไปดู แต่มิได้เข้าเฝ้าแหนในการพิธีนั้น

เมื่อทูตเข้าเฝ้าทูลลาจะกลับไป เปนเวลาที่ได้พระราชทานบำเหน็จบำเหน็จที่พระราชทานต่างกันตามชั้นยศผู้ที่เปนทูตานุทูต เชวะเลียเดอโชมองทูตฝรั่งเศสได้พระราชทานพานทองเครื่องยศกับของอื่น ๆ อิกหลายสิ่ง คราวทูตลังกาได้พระราชทานสิ่งของต่าง ๆ มีพรรณาไว้ในศุภอักษรหลายสิ่ง แต่มิใช่เปนเครื่องยศขุนนางชั้นสูง

ลักษณะการแต่งทูตแลรับทูตแต่โบราณ ตามที่ปรากฏในหนัง สือเก่า ตรวจได้เนื้อความดังพรรณามานี้

มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร เมื่อในรัชกาลที่ ๑ เปนเวลามีศึกสงครามวุ่นวายในยุโรป ตั้งแต่เกิดจลาจลในประเทศฝรั่งเศสติดต่อมาจนรบกับเอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๑ ทางเข้าประเทศนี้ก็รบกับพม่าติดพันกันอยู่ ทูตฝรั่งพึ่งมีเข้ามาต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ก็เปนแต่ทูตของขุนนางผู้สำเร็จราชการหัวเมืองขึ้นของประเทศโปรตุเกตแลอังกฤษแต่งมา ไม่มีปัญหาที่จะต้องแต่งราชทูตไปจำทูลพระราชสาส์นตอบแทนทูตฝรั่งที่ผู้เปนใหญ่ในประเทศแต่งมา ในกรุงรัตนโกสินทรมีเข้ามาครั้งแรกในรัชกาลที่ ๓ เมื่อประธานาธิบดีของประเทศยุไนติดศะเตต อะเมริกา แต่งให้นายเอดมอนด์ รอเบิต เปนทูตเชิญอักษรสาส์นกับเครื่องบรรณาการเข้ามาถวาย ขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๗๕ ในคราวนั้นทำนองจะคิดเห็นกันว่าประธานาธิบดีเปนแต่ผู้ซึ่งราษฎรเลือกขึ้นตั้งเปนหัวหน้าอยู่ชั่วคราว มิใช่พระมหากษัตริย์เสวยราชย์ตามราชประเพณี ประกอบกับที่ประเทศยุไนติดศะเตตอยู่ห่างไกลสุดหล้าฟ้าเขียว พ้นวิสัยที่จะแต่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีได้ ก็มิได้มีทูตไทยไปตอบแทน จึงยุติได้ว่า ตั้งแต่สิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมา ตลอดเวลากว่า ๑๖๐ปีไม่ได้มีทูตไทยออกไปถึงยุโรปอิกเลย จนถึงรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร จึงได้มีทูตไทยไปยุโรปอิก เมื่อปีมะเสง พ.ศ.๒๔๐๐ ตรงกับ คฤศตศก ๑๘๕๗

เรื่องราวอันเปนเหตุที่ทูตไทยจะไปยุโรปครั้งแรกเมื่อในรัชกาลที่ ๔ นั้น ด้วยเมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๓๙๘ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีอพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ทรงแต่งให้เซอยอนเบาริงเปนราชทูตเชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชวนให้กรุงสยามทำหนังสือสัญญาตามแบบอย่างทางพระราชไมตรี ในระหว่างต่างประเทศที่มีอิศระเสมอกัน ทูตอังกฤษเข้ามาคราวนั้น เข้าใจด้วยกันทั้งฝ่ายไทยแลฝ่ายอังกฤษ ว่าเปนการสำคัญกว่าทูตที่เคยเข้ามาคราวก่อน ๆ ด้วยเปนครั้งแรกที่เปนราชทูตเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินอันเปนมหาประเทศ ๑ ในยุโรปเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เซอยอนเบาริงเข้ามาคราวนั้นเปนอย่างเดียวกับราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งกรุงเก่า จึงโปรดให้จัดการรับรองตามแบบอย่างให้เกียรติยศสูงกว่า เมื่อยอนครอเฟิด แลเฮนรีเบอร์นี เปนทูตของผู้สำเร็จราชการหัวเมืองอินเดียของอังกฤษเข้ามาแต่ก่อน เตรียมหาจดหมายเหตุครั้งสมเด็จพระนารายณ์รับราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาไว้สอบทานการที่ไทยรับรอง เมื่อเห็นว่าการรับรองเปนทำนองเดียวกันก็พอใจ ได้กล่าวความอันนี้ไว้ในจดหมายเหตุของเซอยอนเบาริงที่เข้ามาในคราวนั้น

ความปรากฎในจดหมายเหตุของเซอยอนเบาริงว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เข้าเฝ้าในที่ระโหฐาน ได้มีรับสั่งปรารภว่า มีพระราชประสงค์จะทรงแต่งทูตานุทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนถึงเมืองอังกฤษ แต่ยังขัดข้องอยู่ด้วยไม่มีเรือที่จะไปถึงยุโรป แลทรงหารือเซอยอนเบาริงถึงลักษณะพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการที่จะส่งไปถวายสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ว่าอย่างไรจะสมควรในสมัยนั้น เซอยอนเบาริงทูลว่า พระราชสาส์นนั้นถ้าทรงพระราชนิพนธ์เปนภาษาอังกฤษเห็นจะดี ด้วยยังไม่มีพระเจ้าแผ่นดินประเทศใดในทิศตวันออก นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะได้ทรงศึกษาทราบภาษาอังกฤษ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียคงจะทรงยินดีที่จะได้รับพระราชสาส์นนั้น ส่วนเครื่องราชบรรณาการนั้น เห็นว่าถ้าให้เปนของฝีมือไทยทำเปนสิ่งของเครื่องใช้สอยตามประเพณีในกรุงสยามจะสมควรกว่าอย่างอื่น ได้ความตามจดหมายเหตุของเซอยอนเบาริงดังกล่าวมานี้

ต่อมาอิกปี ๑ ถึงปีมะโรง พ.ศ.๒๓๙๙ คฤศตศก ๑๘๕๖นายพล แยกสันประธานาธิบดียุในติดศะเตตอะเมริกา แต่งให้นายเตาวน์เซนด์แฮริสเปนทูต สมเด็จพระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ เอมเปอเรอฝรั่งเศสแต่งให้นายมองติคนีเปนราชทูต เข้ามาชวนทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีอย่างเดียวกับประเทศอังกฤษ ในส่วนทางประเทศอเมริกาจะมีเรื่องราวเปนสาขาความอย่างไรบ้างข้าพเจ้ายังหาทราบไม่ แต่ทางข้างฝรั่งเศสนั้นเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะได้ดำรัสปรารภกับราชทูตฝรั่งเศส ถึงพระราชประสงค์ที่จะใคร่แต่งราชทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนถึงประเทศฝรั่งเศส ราชทูตทูลความนั้นไปยังเอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๓ ความปรากฎว่าเอมเปอเรอมีรับสั่งให้รัฐบาลฝรั่งเศสบอกมายังเสนาบดีว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงแต่งราชทูตไปประเทศฝรั่งเศส เอมเปอเรอก็จะทรงยินดีที่จะให้เรือรบฝรั่งเศสมารับราชทูตไป แลให้กลับมาส่งเหมือนอย่างครั้งพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบพระประสงค์ของเอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๓ ทรงพระราชดำริห์ว่า อังกฤษได้มาเจริญทางพระราชไมตรีก่อน จะแต่งทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนประเทศฝรั่งเศส ไม่บอกให้อังกฤษทราบเสียก่อนหาควรไม่ จึงโปรดให้เสนาบดีบอกไปยังรัฐบาลอังกฤษว่า เดิมมีพระราชประสงค์จะแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรียังประเทศอังกฤษ การขัดข้องอยู่ด้วยเรื่องเรือที่ทูตจะไป จึงยังหาได้แต่งทูตไปไม่ บัดนี้ไทยได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส ๆ จะให้เรือรบมารับราชทูตไทยไปเจริญพระราชไมตรีตอบแทน จึงโปรดให้แจ้งความมาให้ทราบ เพราะมีพระราชประสงค์ในทางพระราชไมตรีต่อประเทศอังกฤษเหมือนกัน ถ้าหากว่ารัฐอังกฤษส่งเรือมารับราชทูตไทยเหมือนอย่างฝรั่งเศส ก็จะทรงยินดีที่จะแต่งราชทูตไทยไปยังประเทศอังกฤษอย่างเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษตอบมาว่าสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียทรงยินดีที่จะให้เรือรบมารับแลส่งราชทูตไทยแลจะต้อนรับราชทูตไทยให้สมควรแก่พระเกียรติยศด้วยประการทั้งปวงด้วยเหตุนี้จึงโปรดให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ เปนราชทูต เจ้าหมื่นสรรพ์เพ็ธภักดี เปนอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ เปนตรีทูต [2] เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการ ไปถวายสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย เจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนประเทศอังกฤษ เมื่อปีมะเสง พ.ศ.๒๔๐๐ ส่วนประเทศฝรั่งเศสในระยะนั้นพระเจ้านะโปเลียนมีการสงคราม จึงต้องรอมาจนปีวอก พ.ศ.๒๔๐๓ โปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์ เปนราชทูตเจ้าหมื่นไวยวรนารถ เปนอุปทูต พระณรงค์วิชิต เปนตรีทูต เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้านะโปเลียนที่ ๓ เอมเปอเรอฝรั่งเศส เจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนประเทศฝรั่งเศส

หม่อมราโชทัย กระต่าย ได้เปนตำแหน่งล่ามในคณะทูตที่ไปประเทศอังกฤษ เมื่อปีมะเสงนพศก คราวพระยามนตรีสุริยวงศ์เปนราชทูตนั้น จึงแต่งจดหมายเหตุระยะทางที่พิมพ์ต่อไปในสมุดเล่มนี้

ท่านทั้งหลายผู้อ่านเรื่องราชทูตไทยไปเมืองลอนดอนที่หม่อมราโชทัยแต่ง โดยฉะเพาะผู้ที่เปนนักเรียนภาษาต่างประเทศในชั้นหลัง ถ้าไม่รู้ฐานะของหม่อมราโชทัย น่าจะไม่เห็นราคาตามสมควรของหนังสือเรื่องนี้ บางทีถึงอาจจะมีผู้ยิ้มเยาะว่า หม่อมราโชทัยช่างไปตื่นเอาของจืด ๆ เช่นละคอนม้า แลทางรถไฟสายโทรเลข มาแต่งพรรณาดูเปนวิจิตรพิศดารไปด้วยความพิศวง ราวกับท้าวเสนากุฎเข้าเมืองผู้ที่จะคิดเห็นเช่นกล่าวมานี้ ต้องนึกถึงฐานะของหม่อมราโชทัยว่า เมื่อแต่งหนังสือเรื่องนี้ เปนเวลาแรกที่ไทยจะได้ไปพบเห็นของเหล่านั้นจึงแต่งพรรณาโดยตั้งใจจะเล่าให้ไทยซึ่งยังไม่มีใครเคยเห็นเข้าใจว่า ของเหล่านั้นเปนอย่างไร ถ้าอ่านด้วยรู้ฐานะเช่นว่านี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงจะยอมเปนอย่างเดียวกันทุกคน ว่าหม่อมราโชทัยแต่งพรรณาดีมิใช่น้อย ยกตัวอย่างแม้แต่ตรงว่าด้วยละคอนม้าชาวเราที่ได้ดูละคอนม้าในชั้นหลัง อ่านหนังสือเรื่องนี้คงจะรับเปนพยาน ว่าที่หม่อมราโชทัยพรรณาเข้าใจได้ซึมทราบเหมือนกับจะหลับตาเห็นละคอนม้าที่หม่อมราโช ทัยได้ดูทุกอาการที่เล่น ถึงพวกที่เคยได้ไปถึงประเทศอังกฤษ หรือแม้ที่เคยอ่านเรื่องราวแบบธรรมเนียมอังกฤษ ถ้าอ่านตรงหม่อมราโชทัยพรรณาถึงสถานที่ หรือการพิธีเช่นลักษณะที่อยู่โฮเต็ลก็ดี หรือพิธีเปิดปาร์เลียเมนต์ก็ดี เมื่อคิดเทียบดูกับที่ตนรู้ก็จะเห็นได้ว่า หม่อมราโชทัยพรรณาดีเพียงใด เปนแต่ใช้ถ้อยคำอย่างเก่า ๆ เพราะคำใหม่ที่เราใช้กันยังไม่เกิดในเวลานั้น ยังมีความสำคัญอิกข้อ ๑ ซึ่งยากที่นักเรียนในเวลานี้จะเข้าใจได้ ว่าผู้ที่ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษถึงสามารถจะได้เปนล่ามไปในราชการทูต แลอาจจะแต่งหนังสือเล่าถงกิจการของฝรั่งได้ดังหม่อมราโชทัยแต่งหนังสือเรื่องนี้ ในสมัยนั้นหายากสักเพียงใดเว้นแต่จะได้เคยทราบเรื่องตำนานการที่ไทยเรียนภาษาฝรั่งกันแต่ก่อนอันเปนเรื่องน่ารู้อยู่บ้าง เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจะลองสาธกแก่ท่านทั้งหลายตามที่ได้สดับมา.

ความจริงในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้ พึ่งมีไทยเรียนรู้ภาษาอังกฤษมาไม่ช้านัก เมื่อในรัชกาลที่ ๒ มีแต่พวกฝรั่งกฎีจีนซึ่งเปนเชื้อสายโปตุเกศครั้งกรุงเก่ายังเรียนรู้ภาษาโปตุเกศอยู่บ้าง คนพวกนี้ที่รับราชการในตำแหน่งเรียกว่า “ล่ามฝรั่ง” ในกรมท่ามีอัตราในบาญชีเบี้ยหวัด ๕ คน ที่เปนหัวหน้าล่ามเปนที่ขุนเทพวาจา รับเบี้ยหวัดปีละ ๗ ตำลึง พวกล่ามฝรั่งเหล่านี้จะมีความรู้ตื้นลึกสักเพียงไรทราบไม่ได้ แต่ รู้ภาษาโปตุเกศเท่านั้น หน้าที่ก็ไม่สู้มีอันใดนัก เพราะราชการที่เกี่ยวข้องกับโปตุเกศมีแต่การค้าขายทางเมืองมาเก๊า นาน ๆ เจ้าเมืองมาเก๊าจะมีหนังสือมาสักครั้งหนึ่ง ส่วนภาษาอังกฤษถึงแม้ว่ามีเรือกำปั่นอังกฤษไปมาค้าขายอยู่ในสมัยนั้นบ้าง นายเรือรู้ว่าไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้ในเมืองนี้ ก็หาแขกมลายูเข้ามาเปนล่าม เพราะฉนั้นการที่ไทยพูดจากับอังกฤษที่เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ก็ดี หรือพูดจาทางราชการที่เกี่ยวข้องกับอังกฤษที่เมืองเกาะหมากแลสิงคโปร์ก็ดี ใช้พูดจากันแต่ด้วยภาษามลายู แม้จนเมื่อผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษให้หมอ ยอน ครอเฟิด เปนทูตเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทรเมื่อปีมะเสง พ.ศ.๒๓๖๔ ตรงกับคฤศตศก ๑๘๒๑ ในตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ก็ต้องพูดจาราชการกับไทยทางภาษามาลายู ความปรากฎในจดหมายเหตุที่ ครอเฟิดแต่งไว้ว่า การที่พูดจากับรัฐบาลไทยครั้งนั้น ทูตต้องพูดภาษาอังกฤษแก่ล่ามที่เอามาด้วย ล่ามต้องแปลเปนภาษามลายูบอกหลวงโกชาอิศหาก ๆ แปลเปนภาษาไทยเรียนเจ้าพระยาพระคลัง ๆ ตอบว่ากะไรก็ต้องแปลย้อนกลับไปเปนต่อ ๆ อย่างเดียวกัน ครั้นต่อมาเมื่อครอเฟิดกลับไปแล้ว ได้ไปเปนเรสิเดนต์อยู่ที่เมืองสิงคโปร์อังกฤษเกิดรบกับพม่าครั้งแรกเมื่อปลายรัชกาลที่ ๒ ครอเฟิดจะบอกข่าวการสงครามมาให้ไทยทราบ ต้องให้แปลหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษเปนภาษาโปตุเกศเสียก่อน แล้วจึงส่งเข้ามายังกรุงเทพ ฯ เพราะภาษามลายูถ้อยคำมีน้อย ไม่พอจะแปลความในหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษให้เข้าใจได้แจ่มแจ้ง ครั้นต่อมาถึงต้นรัชกาลที่ ๓ ผู้สำเร็จ ราชการอินเดียของอังกฤษให้เฮนรีเบอนีร์เปนทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาเมื่อปีระกา พ.ศ.๒๓๖๘ ตรงกับคฤศตศก ๑๘๒๕ การที่พูดจากับไทยสดวกขึ้นกว่าครั้งครอเฟิดหน่อยหนึ่ง ด้วยเบอร์นีพูดภาษามลายูได้ถึงกระนั้นหนังสือสัญญาที่ทำก็ต้องใช้ภาษาต่าง ๆ กำกับกันถึง ๔ ภาษา คือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาโปตุเกศ แลภาษามลายูเพราะไม่มีภาษาใดที่จะเข้าใจดีได้ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย.

ในรัชกาลที่ ๓ นั้น เมื่อปีชวด พ.ศ.๒๓๗๑ ตรงกับคฤศต ศก ๑๘๒๘ พวกมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาตั้งในกรุงเทพ ฯ เปนทีแรกอันนี้เปนต้นเหตุที่ไทยจะได้เรียนภาษาอังกฤษเดิมมา ด้วยลัทธิของพวกมิชชันนารีอเมริกันไม่ได้ตั้งตัวเปนสมณะเหมือนพวกบาดหลวงวางตนเปนแต่เพียงมิตรสหาย ใช้การสงเคราะห์ เปนต้นว่าช่วยรักษาโรคแลช่วยบอกกล่าวสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ ให้แก่ผู้อื่นเปนเบื้องต้นของการสอนสาสนา เพราะฉนั้นเมื่อคนทั้งหลายรู้จักคุ้นเคยจึงชอบสมาคมคบหากับพวกมิชชันนารีอเมริกันมาแต่แรก.

ในสมัยนั้นผู้มีสติปัญญาที่เปนชั้นสูงอยู่ในประเทศนี้แลเห็นอยู่แล้ว ว่าการสมาคมเกี่ยวข้องกับฝรั่งต่างประเทศคงจะต้องมียิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แลภาษาอังกฤษจะเปนภาษาสำคัญทางประเทศตวันออกนี้ มีเจ้านายบางพระองค์แลข้าราชการบางคนปราถนาจะศึกษาวิชาการขนบธรรมเนียมของฝรั่ง แลจะเล่าเรียนให้รู้ภาษาอังกฤษ จึงพยายามเล่าเรียนศึกษากับพวกมิชชันนารีอเมริกันตั้งแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ที่สำคัญคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นยังทรงผนวชเปนพระราชาคณะอยู่พระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นยังเปนเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เวลานั้นยังเปนหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็กแล้วได้เลื่อนเปนจมื่นไวยวรนารถอิกองค์ ๑ แต่สมเด็จเจ้าพระยาทางภาษารู้แต่พอพูดอังกฤษได้บ้าง ไม่เชี่ยวชาญเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ท่านทั้ง ๓ ที่กล่าวมานี้ศึกษาได้ความรู้การฝรั่งต่างประเทศ ทันได้ใช้วิชาช่วยราชการมาแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ เพราะเมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๙๓ ตรงกับคฤศตศก ๑๘๕๐ รัฐบาลอังกฤษให้เซอเชมสะบรุกเปนทูตมาด้วยเรือรบ ๒ ลำ จะเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาที่เบอร์นีได้มาทำไว้ เซอเชมสะบรุกเข้ามาครั้งนั้นไม่เหมือนกับครอเฟิด แลเบอร์นีที่มาแต่ก่อนด้วยเปนทูตมาจากประเทศอังกฤษ การที่มาพูดจาแลหนังสือที่มี มาถึงรัฐบาลไทย ใช้ภาษาอังกฤษ กิริยาอาการที่มาก็ทนงองอาจผิดกับทูตแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชดำริห์หาผู้ที่สันทัดอย่างธรรมเนียมฝรั่ง ให้พอที่จะรับรองโต้ตอบกับเซอเชมสะบรุกได้ ความปรากฎในจดหมายเหตุกระแสรับสั่งในเรื่องเซอเชมสะบรุก (ซึ่งหอพระสมุดพิมพ์ เมื่อ ร.ศ.๑๒๙ พ.ศ.๒๔๕๓) ว่า :-

“ทรงพระราชดำริห์ เห็นว่าผู้ใดมีสติปัญญาก็ควรจะเอาเข้ามาเปนที่ปรึกษาด้วย การครั้งนี้เปนการฝรั่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมาก ควรจะเอาเปนที่ปฤกษาใหญ่ได้ แต่ก็ติดประจำปืนอยู่ที่เมืองสมุทปราการ (ด้วยครั้งนั้นไม่ไว้พระทัย เกรงอังกฤษจะเอาอำนาจมาบังคับให้แก้หนังสือสัญญาอย่างทำแก่เมืองจีน จึงให้ตระ เตรียมรักษาป้อมคูให้มั่นคง) จมื่นไวยวรนารถ (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) ก็เปนคนสันทัดหนักในธรรมเนียนฝรั่ง ก็ลงไปรักษาเมืองสมุทปราการอยู่ ให้พระยาศรีพิพัฒน์ (คือสมเด็จเจ้า พระยาบรมมหาพิชัยญาติ เปนผู้รั้งราชการกรมท่า ด้วยเจ้าพระยาพระคลังลงไปสักเลขที่เมืองชุมพรในเวลานั้น) แต่งคนดีมีสติปัญญาเข้าใจความ เชิญกระแสพระราชดำริห์ลงไปปฤกษา” แลการที่มีหนังสือโต้ตอบกับเซอเชมสะบรุกครั้งนั้น ปรากฎว่าหนังสือที่มีมาเปนภาษาอังกฤษ ให้หมอยอน (คือหมอยอน เตเลอ โยนส์ มิชชันนารีอเมริกัน) แปลเปนภาษาไทยกับล่ามของสมเด็จเจ้าพระยาฯ อีก ๒ คน เรียกว่า โยเสฟ เปนฝรั่งยุเรเซียนคน ๑ เรียกว่าเสมียนยิ้ม (คือ เชมส์ เฮ) อังกฤษอิกคน ๑ ส่วนหนังสือที่ไทยมีตอบเซอเชมสะบรุกนั้น ร่างในภาษาไทยถวายทรงแก้ไขก่อน แล้วให้หมอยอนกับล่ามช่วยกันแปลเปนภาษาอังกฤษแล้วส่งไปถวาย “ ทูลกระหม่อมพระ” คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรวจสอบอิกชั้นหนึ่ง เพราะในทางภาษาอังกฤษทรงทราบดีกว่าผู้ที่เล่าเรียนด้วยกันในครั้งนั้น

ไทยที่ศึกษาวิชาความรู้กับมิชชันนารีอเมริกัน เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ยังมีอิกแต่ไปเรียนทางวิชาอื่น เช่นกรมหลวงวิงศาธิราชสนิททรงกำกับกรมหมออยู่ในเวลานั้น ทรงศึกษาทางวิชาแพทย์ฝรั่งจนได้ประกาศนิยบัตร ถวายเปนพระเกียรติยศมาจากมหาวิทยาลัยแห่ง ๑ ในประเทศอเมริกา กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศอิกพระองค์ ๑ ว่าทรงศึกษาการช่างฝรั่ง แต่จะทรงศึกษากับใครแลทรงสามารถเพียงใดหาทราบไม่ ยังนายโหมด อมาตยกุล ที่ได้เปนพระยากระสาปนกิจโกศลเมื่อในรัชกาลที่ ๕ อิกคน ๑ ได้ศึกษาเรื่องเครื่องจักรแลวิชาประสมธาตุจากพวกมิชชันนารีอเมริกัน แลหัดชักรูปจากบาดหลวงหลุยลานอดีฝรั่งเศส แต่เมื่อยังถ่ายด้วยแผ่นเงิน เปนผู้เรียนรู้วิชาฝรั่งมีชื่อเสียงมาจนรัชกาลที่ ๕ แต่ผู้ที่เล่าเรียนแต่ทางวิชาช่างไม่สู้จะเอาใจใส่ในทางภาษาจึงไม่ใคร่รู้ภาษา ถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เพราะเอาใจใส่ในวิชาต่อเรือกำปั่นเสียมาก จึงไม่ใคร่สันทัดทางภาษาอังกฤษ

ผู้ที่เล่าเรียนรู้ภาษาอังกฤษในเมืองไทยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีปรากฎอิกแต่ ๒ คน คือหม่อมราโชทัยผู้ที่แต่งหนังสือเรื่องนี้คน ๑ เกิดในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีเถาะจุลศักราช ๑๑๘๑ พ.ศ.๒๓๖๒ เดิมเปนแต่หม่อมราชวงศ์กระต่ายบุตรหม่อมเจ้าชอุ่ม ในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เปนข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียรเรียนตามเสด็จจนรู้ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ หม่อมเจ้าชอุ่มได้เปนกรมหมื่นเทวานุรักษ์ หม่อมราชวงศ์กระต่ายได้เปนหม่อมราโชทัยแล้วจึงได้เปนตำแหน่งล่ามไปเมืองอังกฤษกับพระยามนตรีสุริยวงศ์ ชุ่ม บุนนาค เมื่อทูตไทยไปคราวแรกนั้นครั้นกลับจากราชการทูตทราบว่าได้พระราชทานพานทองเล็ก แล้วได้เปนอธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศคนแรก อยู่มาจนอายุได้ ๔๙ ปี ถึงอนิจกรรมในปลายรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๔๑๐ อิกคน ๑ ชื่อนายดิศ เปนมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ฝึกหัดวิชาเดินเรือ แลเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเรียกกันว่า “ กัปตันดิก “ มีชื่ออยู่ในหนังสือเซอยอนเบาริงแต่งเรื่องเมืองไทย คนนี้ในรัชกาลที่ ๔ ได้เปนที่ขุนปรีชาชาญสมุท เปนล่ามของจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ตรีทูตไปเมืองอังกฤษด้วยต่อมาได้เปนที่หลวงสุรวิเศษ เปนครูสอนภาษาอังกฤษแก่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแทบทุกพระองค์ อยู่มาจนในรัชกาลที่ ๕ ไทยที่เรียนรู้ภาษาอังกฤษในเมืองไทยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ มีปรากฎแต่ ๔ ด้วยกันดังกล่าวมานี้ ยังมีไทยที่ได้ออกไปเล่าเรียนถึงยุโรปเมื่อในรัชกาลที่ ๓ อิกคน ๑ ชื่อนายฉุน เปนคนที่สมเด็จเจ้า พระยา ฯ เลี้ยงมา เห็นว่าฉลาดเฉลียวจึงฝากกับกัปตันเรืออังกฤษออกไปฝึกหัดวิชาเดินเรือกำปั่น ได้ไปเรียนอยู่ในเมืองอังกฤษจนได้ประกาศนีย บัตรเดินเรือทเลได้แล้วจึงกลับมา (เข้าใจว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๔) ได้เปนที่ขุนจรเจนทเล แลได้เปนล่ามของพระยามนตรีสุริยวงศ์เมื่อไปเปนราชทูตด้วย ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เปนหลวงชลธารพินิจจัย ตำแหน่งเจ้ากรมคลอง แล้วเลื่อนเปนพระชลธารพินิจจัย

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปนพระราชธุระบำรุงการเล่าเรียนภาษาฝรั่ง มาแต่แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เรื่องนี้มีภาษิตสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศ วริยาลงกรณ์ดำรัสว่า “ในรัชกาลที่ ๑ ใครแขงแรงในการศึกสงครามก็เปนคนโปรด ในรัชกาลที่ ๒ ใครแต่งบทกลอนดีก็เปนคนโปรด ในรัชกาลที่ ๓ ใครศรัทธาสร้างวัดก็เปนคนโปรด แลในรัชกาลที่ ๔ ถ้าใครเรียนรู้ภาษาฝรั่งก็เปนคนโปรด“ ดังนี้ แต่ในสมัยเมื่อราชทูตไทยออกไปประเทศอังกฤษเมื่อคราวปีมะเส็ง ผู้ที่เริ่มเล่าเรียนภาษาฝรั่งขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ยังอยู่ในเวลาเล่าเรียน หรือพึ่งเริ่มจะเข้ารับราชการในตำแหน่งต่ำ ยังไม่มีผู้ใดซึ่งเปนข้าราชการชั้นสูงจะสามารถรับหน้าที่ทำการได้อย่างหม่อมราโชทัย ด้วยเหตุทั้งปวงดังกล่าวมานี้จึงควรนับว่า จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัยเปนหนังสือแต่งดีแลหน้าอ่านด้วยประการทั้งปวง.

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ที่ปรากฎว่าทูตฝรั่งเศสมาถึงในเดือนกันยายน แลกลับไปในเดือนธันวาคมเหมือนกันทัง ๒ คราว เพราะการใช้เรือใบต้องไปมาให้ได้ฤดูมรสุม.
  2. รายชื่อผู้ที่ไปในราชการทูตครั้งนั้นได้สืบมาพิมพ์ไว้ข้างท้ายจดหมายเหตุ