คำพิพากษาคดีพญาระกา

จาก วิกิซอร์ซ
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

(สำเนา)
กระทรวงวัง

ณวันพุฒที่ ๑ มิถุนายน ร,ศ, ๑๒๙ เวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกณพระที่นั่งอัมพรสถาน มีรับสั่งให้หาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ เสนาบดีกระทรวงวัง ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทววงษ์วโรประการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ๑ เข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทพร้อมกัน แล้วจึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ให้เจ้าพระยายมราชนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาในวันที่ ๑ มิถุนายนนั้นว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ ได้แต่งบทลครเรื่องหนึ่ง เรียกชื่อว่า ปักษีปกรณัม ว่ากล่าวเปรียบเทียบหมิ่นประมาทให้เสียพระนามแลพระเกียรติยศกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ แลเจ้าพระยายมราชได้นำบทลครซึ่งเปนต้นเหตุแห่งคดีอันนี้ทูลเกล้าฯ ถวายด้วย ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า คดีเรื่องนี้จะต้องพิจารณาให้ได้ความจริง แลจะต้องวินิจฉัยให้เห็นผิดชอบเด็ดขาด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้า กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ๑ กรมหลวงเทววงษ์วโรประการ ๑ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ๑ พร้อมกันเปนผู้พิพากษาศาลรับสั่ง เรียกกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์มาสอบถามแลพิจารณาเอาความจริงขึ้นกราบบังคมทูลพร้อมด้วยเนื้อเห็นของข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ ในความผิดชอบแห่งคดีเรื่องนี้

ข้าพระพุทธเจ้าได้มีหมายเรียกกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ให้มาแก้คดี แลให้นำบรรดาหนังสือปักษีปกรณัมเรื่องที่เกิดคดีอันนี้ที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์มีอยู่มาส่งณที่ว่าการกระทรวงวังณวันที่ ๒ มิถุนายน

ครั้นณวันที่ ๒ มิถุนายน เวลาบ่าย ๔ โมง ข้าพระพุทธเจ้าได้ประชุมพร้อมกันณที่ว่าการกระทรวงวังที่พระราชวังดุสิต กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ได้นำต้นร่างบทลครเรื่องปักษีปกรณัม ๒ ฉบับ กับสมุดพิมพ์บทลครเรื่องนี้ ๔๙๙ ฉบับ มาส่ง ว่า ได้สัญญาแก่ช่างพิมพ์ให้พิมพ์ ๕๐๐ ฉบับ ๆ หนึ่งได้ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม เหลืออยู่ ๔๙๙ ฉบับ ไม่ได้จำหน่ายให้ปันแก่ผู้ใด ได้นำมาส่งตามหมายจนสิ้นเชิง ถ้าแลผู้ใดจะมีหนังสือนี้อยู่ ก็คงจะได้ไปจากผู้พิมพ์โดยกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ไม่ได้ทราบแลมิได้อนุญาต

เมื่อข้าพระพุทธเจ้าไต่ถามกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ถึงเรื่องหนังสือปักษีปกรณัมนี้ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์รับว่า ได้แต่งเองจริง ได้ดูตามเค้าเรื่องลครฝรั่งเสศเรื่องหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ชองติแคล" ซึ่งได้อ่านเนื้อเรื่องหนังสือพิมพ์อังกฤษเรียกว่า อิลลัสเตรเตดรอนดอนนิวส์ แต่เรื่องปักษีปกรณัมที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์แต่งนี้เอาแต่เค้าเรื่องลครฝรั่งเสศ ไม่ได้แต่งตรงตามเรื่องลครของฝรั่งเสศ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ได้เคยเอาเรื่องลครฝรั่งมาแต่งแปลงเปนเรื่องลครไทยหลายเรื่อง ไม่ได้แต่งเรื่องใด ๆ ตรงตามเรื่องฝรั่งทีเดียว เพราะเห็นว่า ควรจะต้องแก้ไขให้คนดูในเมืองนี้เปนที่ชอบใจเปนสำคัญของการเล่นลคร แต่เรื่องปักษีปกรณัมที่แต่งนี้ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์จะได้ตั้งพระไทยเอาเรื่องภักตร์ หม่อมลครที่หลบหนีมา เปนท้องเรื่องดังที่กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์หาว่า เปนการหมิ่นประมาทนั้น หามิได้

เมื่อได้ความปฏิเสทของกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า คดีเรื่องนี้ไม่จำต้องเรียกบุคคลผู้ใดมาเปนพยาน เพราะหนังสือที่เกี่ยวแก่คดีเรื่องนี้มีอยู่ทุกอย่างอันเปนพยานดีกว่าพยานบุคคล จึงได้พร้อมกันตรวจหนังสืออันเกี่ยวข้องเปนหลักถานควรพิจารณาในคดีเรื่องนี้ ได้ความดังจะกราบบังคมทูลต่อไปนี้ คือ

 ในหนังสืออิลลัสเตรเตดลอนดอนนิวส์ออกเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ร,ศ ๑๒๘ ส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ประมาณว่า ราววันที่ ๑๒ มินาคม ร,ศ ๑๒๘ มีข้อความบอกเนื้อเรื่องลครชองติแคลโดยย่ออยู่ในหน้า ๒๓๕ ว่า ลครเรื่องนี้ตามบทของฝรั่งเสศแบ่งเปน ๔ ตอน ๆ ที่ ๑ กล่าวว่า ไก่ผู้ตัวหนึ่งชื่อ ชองติแคล เปนใหญ่อยู่ในฝูงไก่แลสัตว์เลี้ยงที่สวนโรงนาแห่งหนึ่ง ชองติแคลเชื่อว่า ตัวมีฤทธิ์ แลเกิดมาสำหรับขันเรียกให้พระอาทิตย์ขึ้น อยู่มาวันหนึ่ง ชองติแคลกำลังอยู่ในฝูงบริวารของตน มีนางไก่ฟ้าตัวหนึ่งถูกสุนักข์ไล่หนีเข้ามาอาไศรยในฝูงบริวารของชองติแคล ๆ มีใจรักใคร่ประดิพัทธ์ต่อนางไก่ฟ้านั้น ตอนที่ ๒ เล่นเปนเวลากลางคืน มีพวกสัตว์ซึ่งหากินในเวลากลางคืน คือ นกเค้าแมว เปนต้น ประชุมกัน สัตว์พวกนี้เชื่อว่า ชองติแคลเปนผู้ทำให้เกิดแสงสว่างเปนกลางวันอันเสียประโยชน์การหาเลี้ยงชีพของตน จึงคบคิดกันจะฆ่าชองติแคลโดยคิดอ่านให้ไก่ชนตัวหนึ่งไปตีชองติแคลเสียให้ตาย ในขณะเมื่อประชุมกันอยู่นั้น พอได้ยินเสียงชองติแคลขัน แสงอรุณแลดวงพระอาทิตย์ก็ขึ้นมา พวกสัตว์กลางคืนต่างก็ต้องแยกไป แลชองติแคลกับนางไก่ฟ้าก็ออกมา ตอนที่ ๓ ไก่ต๊อกตัวหนึ่งมีการประชุมแอตโฮมในสวนโรงนา ในเวลาประชุมนั้น ชองติแคลกับไก่ชนเกิดตีกันขึ้น ชองติแคลเกือบจะตาย แต่บังเอิญลงปลายชนะไก่ชน ในขณะนั้น มีเงาเหยี่ยวบินร่อนมา พวกไก่ทั้งหลายพากันกลัวเหยี่ยว วิ่งเข้าอาไศรยอยู่ในซุ้มปีกชองติแคล ๆ ขันท้าเหยี่ยวหากลัวไม่ ถึงตอนที่ ๔ เปนเวลากลางคืน ชองติแคลพานางไก่ฟ้าออกไปเที่ยวอยู่ในป่า นางไก่ฟ้ามีความริศยาว่า ชองติแคลไปหลงในธุระที่จะเรียกแสงสว่าง จึงทำกลอุบายให้ชองติแคลหลงนอนหลับอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้น แล้วจึงบอกชองติแคลให้เห็นว่า ไปหลงเชื่อว่า ตัวมีฤทธิ์เรียกพระอาทิตย์ได้นั้นเปล่า ๆ ชองติแคลโกรธจึงทิ้งนางไก่ฟ้าเสียกลับไปอยู่ที่สวนโรงนาตามเดิม ส่วนนางไก่ฟ้าถูกทิ้งไม่ช้าก็ติดแร้วของพราน ถูกจับไปปล่อยไว้ในโรงนา จึงละพยศยอมอยู่ในความปกครองของชองติแคลต่อไป เนื้อเรื่องลครชองติแคลที่ปรากฏในหนังสืออิลลัสเตรเตดลอนดอนนิวส์เปนดังนี้

เรื่องภักตร หม่อมลครของกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ที่หนีไปนั้น ได้ความตามหนังสือกระทรวงนครบาลกราบบังคมทูลเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ร,ศ ๑๒๘ ฉบับหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ร,ศ ๑๒๘ ฉบับหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ร,ศ ๑๒๘ ฉบับ ๑ มีใจความว่า ภักตรได้อยู่ที่วังกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์มาแต่อายุ ๑๒ ปี ได้ฝึกหัดเปนลคร โตขึ้นได้เปนหม่อมกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ แลได้เล่นลครนฤมิตร อยู่มาจนเดือนพฤศจิกายน ร,ศ ๑๒๘ มีเหตุเกิดขึ้นด้วยเรื่องว่า กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ตบตี ภักตรมีความโกรธ จึงหนีจากวังกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ร,ศ ๑๒๘ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์เที่ยวติดตามภักตร์ จนมีพวกเจ้าของบ้าน ๑๘ ราย มีอำแดงพุด มารดาของภักตร์ เปนต้น ไปร้องกระทรวงนครบาลว่า กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์คุมข้าไทยเที่ยวค้นบ้านเรือนของคนเหล่านั้น ได้ความเดือดร้อน กระทรวงนครบาลได้บอกคนที่มาร้องทุกข์ให้ไปฟ้องร้องว่ากล่าวยังโรงศาลตามกระบิลเมือง ต่อมา ปรากฏว่า ภักตรได้อาไศรยอยู่ฟากข้างโน้น มีผู้บรรดาศักดิ์ได้รับธุระป้องกันภักตร์ คือ เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ แลท่านผู้หญิงเปลี่ยน เปนต้น ครั้นถึงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ร,ศ ๑๒๘ เวลาบ่าย อำแดงพุดพาภักตร์ไปที่โรงพักพลตระเวน วัดบุบผาราม ร้องขออารักขาเพื่อป้องกันอย่าให้กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์จับกุมไปได้ ภักตร์จะขออยู่ที่โรงพักพลตระเวนจนกว่าจะฟ้องร้องเสร็จคดีกับกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ที่โรงศาล กองตระเวนจึงมาแจ้งความต่อเจ้าพระยายมราช ๆ ได้สั่งให้กองตระเวนให้ความอารักขาแก่ภักตร์จนกว่าจะได้รับคำสั่งต่อไปประการใด ครั้นณวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ร,ศ ๑๒๘ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงเสด็จไปหาเจ้าพระยายมราชที่กระทรวงนครบาลขออนุญาตที่จะไปพบกับภักตร์ที่โรงพักพลตระเวน เจ้าพระยายมราชได้ทูลว่า ภักตรนั้นเจ้าพระยายมราชได้สั่งให้ระวังรักษาอย่างหม่อมของกรมหมื่นนราธิปปรพันธ์พงษ์ แลตั้งใจเปนกลางจริง ๆ แลข้อที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์จะขอเสด็จไปพบภักตรนั้น เจ้าพระยายมราชจะอนุญาตไม่ได้ ที่เจ้าพระยายมราชไม่อนุญาตเช่นนี้ ตามจดหมายที่กราบบังคมทูลชี้แจง เจ้าพระยายมราชเห็นว่า ในเวลานั้น โทษะกำลังมีด้วยกันทั้งฝ่ายกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์แลฝ่ายภักตร์ ถ้าให้ไปพบกัน ไม่ปรานีปรานอมกันได้ ไปเกิดเกตุวิวาทกันขึ้นในโรงพักพลตระเวนก็จะเปนที่เสื่อมเสียจะให้ผู้คนครหานินทาเกรียวกราวมากขึ้น ด้วยเรื่องนี้เจ้าพระยายมราชทราบอยู่ว่า มีผู้ถือท้ายพายหัวข้างภักตร์อยู่มาก ความคิดของเจ้าพระยายมราชคิดจะเกลี้ยกล่อมชวนภักตรให้ไปอาไศรยอยู่ในบ้านข้าพระพุทธเจ้ากรมหลวงดำรงราชานุภาพ หรือวังกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ให้พ้นจากโรงพักพลตระเวน แลให้ห่างจากพวกที่คอยถือท้ายพายหัว จะให้พ้นเปนความกันเสียชั้นหนึ่ง แล้วจะได้ว่ากล่าวเกลี่ยไกล่ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันโดยเรียบร้อย เจ้าพระยายมราชได้ทูลความทั้งนี้แก่กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ถึงเรื่องที่จะฝากภักตร์ไว้ ก็ยอมรับโดยไม่รังเกียจ แต่ข้าพระพุทธเจ้ากรมหลวงดำรงราชานุภาพเห็นว่า ถ้าไปอยู่วังกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์จะดี เพราะกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤธิ์เปนเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ครั้นวันที่ ๑ ธันวาคม ร,ศ ๑๒๘ เจ้าพระยายมราชได้ข้ามฟากไปที่โรงพักพลตระเวนวัดบุบผารามเอง ได้เรียกภักตรมาพูดต่อหน้ามารดาแลป้าของภักตร์แนะนำให้กลับไปอยู่คืนดีกับกรมหมื่นนราธิปปรพันธ์พงษ์ โทษทัณฑ์ประการใด เจ้าพระยายมราชรับจะทูลขอมิให้กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ทำโทษ ภักตรไม่ยอมไป จะขอฟ้องร้องว่ากล่าวให้เด็ดขาด เจ้าพระยายมราชจึงว่า ที่ภักตรจะอยู่โรงพักพลตระเวน จะอยู่ได้ก็เพี้ยง ๗ วัน ๑๕ วันเปนอย่างมาก จะรับเอาไว้นานกว่านั้นไม่ได้ ถ้าภักตรไม่กลับไปอยู่กับกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ เจ้าพระยายมราชแนะนำให้เลือกไปอยู่อาไศรยในที่สองแห่ง คือ บ้านข้าพระพุทธเจ้ากรมหลวงดำรงราชานุภาพแห่งหนึ่ง หรือวังกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์แห่งหนึ่ง ข้างภักตรแลมารดาสมัคไปอยู่วังกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เจ้าพระยายมราชจึงพาตัวไปฝากไว้ที่วังกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์

ต่อนี้มา ไม่ปรากฏว่า กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษได้ติดตามว่ากล่าวประการใด พักอยู่ที่วังกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ จนราวเดือนมินาคม ร,ศ ๑๒๘ แล้วก็ลาไป จะไปอยู่ที่ใดต่อไปหาปรากฏไม่ ความปรากฏในเรื่องของภักตรดังนี้

บทลครเรื่องปักษีปกรณัมที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์แต่ง ลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์ศุภการจำรูญในศก ๑๒๙ แต่งเปน ๔ ตอน ตอนที่ ๑ เรียกว่า ตอนพิศมาตุคาม ตอนที่ ๒ เรียกว่า ตอนสงครามนกเค้าแมว ตอนที่ ๓ เรียกว่า ตอนแกล้วเกินหน้า ตอนที่ ๔ เรียกว่า ตอนพิพากษาสมสมัค

ตอนพิศมาตุคามนั้น ใจความว่า มีไก่ใหญ่ตัวหนึ่งชื่อ พญาระกา เปนไก่กล้า มีบริวารมาก อยู่ในท้องนา เชื่ออำนาจว่า อาจจะเรียกดวงพระอาทิตย์ให้ขึ้นตามประสงค์ได้ พญาระกาพาบริวารหากินอยู่ในท้องนา นางไก่ยี่ปุ่นซึ่งเปนภรรยาพญาระกาตัวหนึ่งไม่ได้ความถึงใจจากพญาระกา จึงหลบฝูงไปเที่ยวหาไก่หนุ่ม ๆ ไปพบไก่ชนตัวหนึ่ง ได้ร่วมสมัคสังวาสกับไก่ชนตัวนั้น มีนกเอี้ยงตัวหนึ่งได้แลเห็น จึงไปบอกพญาระกา ๆ โมโห ออกไล่ ไก่ชนแลนางไก่ยี่ปุ่นจึงหนีไป นางไก่ยี่ปุ่นหนีไปถึงบึงน้ำขัง พบนกกะทุงแก่ตัวหนึ่ง ไปอาไศรยอยู่กับนกกะทุง ยายเมียนกกะทุงหึง นกกะทุงเล่าเรื่องราวให้ฟังแล้วจึงรับเอาไว้ได้ มีห่านตัวหนึ่งได้ข่าวว่า พญาระกาโกรธ เตรียมทหารจะมาทำร้ายนกกะทุง จึงไปบอกนกกะทุง นกกะทุงจึงพานางไก่ยี่ปุ่นไปฝากไว้ยังรังของพวกเหยี่ยว พญาเหยี่ยวรับป้องกันสรรพไภยให้พญาระกา แลจะไปรักษาสุจริตยุติธรรม แต่กลับพานางไก่ยี่ปุ่นไปฝากพญานกเค้าแมว ๆ มีความรักใคร่ กระทำชู้แก่นางไก่ยี่ปุ่น จนภรรยาพญานกเค้าแมวหึง ฝ่ายพญาระกาได้ทราบเรื่องนางไก่ยี่ปุ่นไปอยู่กับพญานกเค้าแมว ได้แต่คลุ้มคลั่ง ครั้นจะทำร้ายนกกะทุงแลห่าน ก็หวาดเสียวแลละอาย ลงปลายต้องเดินเชื่อง ๆ กลับไปรัง

ตอนสงครามนกเค้าแมว กล่าวถึงไก่ชนเมื่อหนีมาพ้นพญาระกา จึงคิดจะยุยงให้นกพวกหากินกลางคืนกับพวกกบเขียดเข้ากันไปรบพญาระกา จึงยุพญานกเค้าแมวตกลงให้เกลี้ยกล่อมพวกค้างคาวเข้าด้วยอีกพวกหนึ่ง เอาพวกค้างคาวเปนทัพฟ้า พวกเขียดเปนทัพเรือ ตอนนี้กล่าวถึงนกยางซึ่งอุบายทำตัวเปนฤๅษีรักษาศีล ลอบกินกบเขียดที่เลื่อยล้า จนพวกกบเขียดรู้ ครั้นพวกนกเค้าแมว พวกค้างคาว พวกกบเขียด พร้อมกันแล้ว จึงให้ไก่ชนนำทางยกไปเพื่อจะรบพญาระกา พวกหนูรู้ข่าว รีบไปบอกพญาระกาให้รู้ว่า เขายกมารบ พญาระกาจึงเรียกนกกาง พวกกา พวกนก พร้อมกันมารบพวกนกเค้าแมว พญาระกาขันเรียกพระอาทิตย์แสงอรุณขึ้น พวกนกเค้าแมวก็พากันตามืดหลบหนีไป พวกนกยางกับไก่กาแมวก็ไล่ทำอันตรายแก่พวกนกเค้าแมวล้มตายแตกพ่ายไป

ตอนแกล้วเกินหน้า ใจความว่า มีนางเป็ดตัวหนึ่งรักพญาระกา ไปล่อพญาระกาจนติด พวกนางไก่พากันหึง เกิดวิวาทขึ้นกับนางเป็ด ขณะนั้น ยังมีสุนักข์ชื่อ พญาจอ เข้ามาไล่กัดฝูงไก่ตายหลายตัว พญาระกาเสียใจ นางเป็ดเลยยุส่งว่า ทั้งนั้นทั้งนี้เพราะพวกนางไก่มาก่อการวิวาทขึ้น พญาระกาเชื่อนางเป็ด จึงตีไล่พวกไก่หนีไป นางเป็ดปลอบพญาระกาว่า อย่าเสียใจ จะเปนแม่สื่อไปชักนำไก่ฟ้ามาให้ ครั้นไปพบนางไก่ฟ้าเวลากลางคืน เกี้ยวพาล นางไก่ฟ้าก็รัก นางไก่ฟ้าว่า พญาลอ บิดานางไก่ฟ้า ได้บอกไว้ว่า พญาระกามีฤทธิ์ขันเรียกพระอาทิตย์ให้ขึ้นได้ ขอเห็นฤทธิ์ก่อน พญาระกาก็ฮึกเหิมขันเรียกพระอาทิตย์จนเหนื่อย พระอาทิตย์ก็ไม่ขึ้น นางไก่ฟ้าเห็นไม่จริงก็หนี ไปได้นกยุงเปนสามี พญาระกาไปเห็นนางไก่ฟ้าได้นกยุงเปนสามีก็เสียใจ นางเป็ดรับอาสาจะหาให้ใหม่ ไปหานางไก่งวง นางไก่ต๊อก มาให้ ก็ไม่ชอบใจ จึงกลับมายังฝูงไก่อย่างเดิม มาเห็นไก่ชนเปนเจ้าของฝูง แลไก่ชนได้แบ่งนางไก่ให้แก่ไก่หนุ่ม ๆ ฝูงไก่เหล่านั้นม่ายอมให้พญาระกาเปนใหญ่ต่อไป พญาระกาเสียใจ จึงไปหาพญาแร้ง ด้วยเห็นว่า พญาแร้งทรงศีลธรรม ไม่กินสัตว์เปน

ตอนพิพากษาสมสมัคว่า พญาระกาไปเล่าความทุกข์ร้อนทั้งปวงถวายพญาแร้ง ๆ จึงให้กากับนกปูดไปเรียกฝูงไก่ กับค้างคาว นกเค้าแมว หนู นกยาง มาประชุม พญาแร้งสำแดงธรรมพิจารณาพิพากษาตามสัตย์สุจริตไม่ลำเอียง โจทย์จำเลยทุกฝ่ายต่างยินยอมตามคำพญาแร้ง จบความเรื่องปักษีปกรณัมเท่านี้

ข้อวินิจฉัยข้อต้นว่า ที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์แต่งเรื่องปักษีปกรณัมตอนพิศมาตุคามนั้นได้ตั้งพระไทยเอาเรื่องภักตร หม่อมลคร มาแต่งเปนโคลงความหรือไม่ ข้อนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ได้ตั้งพระไทยเอาเรื่องภักตร หม่อมลคร มาแต่งเปนโคลงความตอนนี้ โดยเหตุผลหลายอย่าง คือ

ข้อ  เรื่องชองติแคลนี้มีขึ้นทีหลังเหตุเรื่องภักตรหนี เพราะฉนั้น เรื่องปักษีปกรณัมที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์แต่งต้องแต่งทีหลังเมื่อเกิดเหตุเรื่องภักตรหนีแล้ว จะเปนเรื่องที่แต่งไว้แต่เดิมแต่บังเอิญความไปต้องกันเข้ากับเรื่องภักตรหนีนั้นไม่ได้

ข้อ  แม้กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ว่า เอาเรื่องชองติแคลเปนแบบแต่งเรื่องปักษีปกรณัมนี้ เนื้อเรื่องชองติแคลกับเรื่องปักษีปกรณัมเหมือนกันแต่เพียงตัวลครแต่งเปนสัตว์เดียรฉาน กับมีสัตว์เดีรฉานอย่างเดิยวกันทั้ง ๒ เรื่องอยู่บ้าง นอกจากนี้ ความ ๒ เรื่องผิดกันมาก กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ก็ได้รับเองว่า ได้แก้ไข ไม่ได้เอาเรื่องชองติแคลแท้

ข้อ  เมื่อเอาโคลงความเรื่องภักตร หม่อมลคร กับเรื่องปักษีปกรณัม ตอนพิศมาตุคาม เทียบกัน เห็นได้ชัดว่า โคลงความตรงกันทั้ง ๒ เรื่อง ข้อนี้ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ได้ชี้แจงว่า การที่แต่งบทลครหรือหนังสือเรื่องใด ๆ ยากที่จะป้องกันความเข้าใจแลถือใจของบุคคลได้ทั่วไป ไม่ว่าเรื่องที่แต่งมาแต่โบราณหรือเรื่องแต่งใหม่ อาจจะมีผู้เห็นว่า ใส่ร้ายตนได้ตามความเข้าใจของคนนั้น ๆ แลเรื่องปักษีปกรณัมที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์แต่งนี้ก็มีที่ผิดเพี้ยนอันอาจจะแลเห็นได้ว่า ไม่ตรงกับเรื่องที่ภักตรหนีอยู่หลายแห่ง ยกตัวอย่างดังที่ว่า พญานกเค้าแมวมีนางลครระบำในตอนสงครามนกเค้าแมวนั้น กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ก็ไม่มีละเม็งลครแลนางระบำอะไร แลไม่ได้ประชุมกับผู้ใดซึ่งจะตรงกับพวกกบเขียด ค้างคาว จะว่าแต่งเรื่องนี้เปรียบเทียบกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์อย่างไร การที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์คัดค้านดังนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการแก้คดีของกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ แต่ความจริงข้อที่จะเปนว่าผู้ใดหรือไม่นั้นอยู่ในหน้าที่ของตุลาการที่จะพิจารณาจะพิเคราะห์ลงเนื้อเห็นต่างหาก ผู้ที่รู้ศึกว่า ถูกหมิ่นประมาท หาได้มีอำนาจที่จะชี้ขาดโดยลำพังตนไม่ อีกประการหนึ่ง ที่จะแก้ว่า ในหนังสือเรื่องเดียวกัน ถ้าในตอนหนึ่งเรื่องไม่ได้เทียบด้วยเรื่องภักตรหนีแล้ว ตอนอื่นก็ไม่ได้เทียบด้วยฉนี้ ไม่เปนข้อความที่ควรจะฟังได้ แท้จริงในเรื่องที่ภักตร หม่อมลคร หนีนั้น ความเคืองแค้นของกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ที่มาสามารถจะเอาตัวภักตรกลับคืนมาไว้ในอำนาจได้ดังพยายามก็พอจะแลเห็นกรณีเหตุแลเจตนาในการที่แต่งบทลครตอนพิศมาตุคามอยู่ชั้นหนึ่ง แลความในบทลครตอนพิศมาตุคามนั้น แม้ผู้ใดอ่าน ถ้าเปนผู้ที่รู้เรื่องภักตรหนี โดยเฉภาะผู้เข้าใจศัพท์ซึ่งใช้แลซึ่งเข้าใจกันอยู่ในมณฑลที่สูงแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อว่า จะเข้าใจไปอย่างอื่นนอกจากเข้าใจว่า เอาเรื่องภักตรหนีมาเปนโคลง ไม่ได้เลยทีเดียว

ข้อวินิจฉัยข้อ ๒ ว่า หนังสือเรื่องปักษีปกรณัมซึ่งกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์แต่งนี้ ชื่อมีแต่สัตว์เดียรฉาน ไม่มีชื่อบุคคล จะเปนหมิ่นประมาทบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดได้หรือไม่ ข้อนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า การที่จะออกชื่อผู้ใดหรือไม่ออกชื่อผู้ใดนั้นไม่สำคัญในความเสียหาย ข้อสำคัญอยู่ในว่า ถ้าความที่กล่าวนั้นเปนความหมิ่นประมาท แลผู้ที่ทราบความนั้นทราบได้ว่า หมิ่นประมาทผู้นั้น ๆ ก็เปนการหมิ่นประมาทเหมือนกับออกชื่อเหมือนกัน

ข้อวินิจฉัยข้อ ๓ ว่า ที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์เอาเรื่องภักตรหนีมาแต่งเปนเรื่องลครตอนพิศมาตุคามอย่างนี้เปนการหมิ่นประมาทกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์หรือไม่

ลักษณหมิ่นประมาทตามความในประมวญกฎหมายอาญา ส่วนที่ ๘ หมวดที่ ๓ มาตรา ๒๘๒ ว่า ผู้ใดใส่ความเอาผู้อื่นซึ่งอาจจะให้เขาเสียชื่อเสียง หรืออาจจะให้คนทั้งหลายดูหมิ่นหรือเกลียดชังเขา ถ้ามันกล่าวต่อหน้าคนแต่ ๒ คนขึ้นไปก็ดี หรือกล่าวแก่บุคคลนับแต่ ๒ คนขึ้นไปก็ดี ท่านว่า มันมีความผิดถานหมิ่นประมาทเขา มันต้องระวางโทษานุทาเปน ๓ สฐาน คือ สฐานหนึ่ง ให้จำคุกไม่เกินหกเดือน หรือสฐานหนึ่ง ให้ปรับไม่เกินพันบาท หรือสฐานหนึ่ง ทั้งบรับทั้งจำด้วยโดยกำหนดที่ว่ามาแล้ว ถ้าแลมันใส่ความเขาด้วยมันโฆษนาในสมุดหรือหนังสือที่มีกำหนดคราวโฆษนา หรือในหนังสือพิมพ์บอกข่าวหรือโฆษนาในแบบอย่างแลในจดหมายอย่างใด ๆ โทษของมันผู้กระทำผิดหนักขึ้นทั้งสามสฐาน คือ สฐานหนึ่ง ให้จำคุกไม่เกินปีหนึ่ง หรือสฐานหนึ่ง ให้ปรับไม่เกินสองพันบาท หรือสฐานหนึ่ง ทั้งจำคุกแลปรับด้วยโดยกำหนดที่ว่ามานี้ ดังนี้

เรื่องปักษีปกรณัม ตอนพิศมาตุคาม เปนความว่าเปรียบอันเห็นได้ชัดดุจบุคคลเอาวัตถุอันใดซ่อนไว้ในถุงผ้าโปร่งว่าง นางไก่ยี่ปุ่นนั้น หมายตัวว่า ภักตร หม่อมลคร พญาเหยี่ยว หมายตัวว่า เจ้าพระยามราช แลพญานกเค้าแมวนั้น หมายตัวว่า กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ตามเรื่องที่กล่าวว่า พญาเค้าแมวรับนางไก่ยี่ปุ่นไว้แล้วแลกระทำชู้กับนางไก่ยี่ปุ่นนั้น เปนการใส่ความซึ่งอาจจะให้เสียชื่อเสียงหรืออาจจะให้คนทั้งหลายดูหมิ่นตรงตามกฎหมาย ใช่แต่เท่านั้น ความที่กล่าวถึงพญาเหยี่ยวว่า เปนเจ้าอุบายมารยา ก็เปนการหมิ่นประมาทเจ้าพระยายมราชด้วยอีกคนหนึ่ง แต่เพราะความในประมวญกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๗ ว่า การฟ้องร้องเอาโทษแก่ผู้กระทำผิดถานหมิ่นประมาทนั้น ท่านให้ถือว่า ต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายมาผู้ร้องทุกข์ จึงให้เจ้าพนักงานเอาคดีนั้นขึ้นว่ากล่าว ดังนี้ ตามจดหมายที่เจ้าพระยายมราชทูลเกล้าฯ ถวาย เปนแต่นำความทุกข์ร้อนของกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์กราบบังคมทูล หาได้กราบบังคมทูลร้องทุกข์ในส่วนตัวเจ้าพระยายมราชด้วยไม่ จึงควรสันณิฐานแต่ในส่วนที่หมิ่นประมาทกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์พระองค์เดียว

ตามความในประมวญกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒ ลักษณที่จะเปนหมิ่นประมาทกล่าวไว้ในกฎหมายว่า ผู้ที่กล่าวต้องกล่าวต่อหน้าคนแต่ ๒ คนขึ้นไป หรือกล่าวแก่บุคคลนับแต่ ๒ คนขึ้นไป อันนับว่า เปนอย่างโทษเบา ประการหนึ่ง ถ้าโฆษนาในสมุดหรือในหนังสือที่มีกำหนดคราวโฆษนา หรือโฆษนาในแบบอย่างแลในจดหมายอย่างใด ๆ นับว่า เปนโทษหนักประการหนึ่ง

กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ชี้แจงว่า เรื่องปักษีปกรณัมนี้ไม่ได้บอกแก่ผู้ใด ๒ คนพร้อมกัน หรือได้ส่งหนังสือไปให้แก่ผู้ใดพิมพ์สองคนพร้อมกัน แลพิมพ์แล้วก็ไม่ได้จำหน่าย ดังอธิบายไว้ในประมวญอาญาราชบุรี ดังนี้ หนังสือประมวญอาญาราชบุรีเปนหนังสือแต่งขึ้นโดยความเห็นเฉภาะพระองค์กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย แม้จะว่าประการใด ข้าพระพุทธเจ้าหาได้เอามาเปนหลักในทางวินิจฉัยในคดีเรื่องนี้ไม่ เพราะตัวบทกฎหมายมาตรา ๒๘๒ มีอยู่ชัดว่า ถ้ากล่าวต่อหน้าคนแต่สองคนขึ้นไปก็ดี หรือกล่าวแก่บุคคลนับแต่สองคนขึ้นไปก็ดี กฎหมายว่า เปนถานหมิ่นประมาท ความที่กล่าวแก่บุคคลนับแต่สองคนขึ้นไปนี้ หมายความชัดเจนว่า แม้กล่าวแก่แต่ทีละคน ถ้าจำนวนผู้ที่ได้ฟังแต่สองคนขึ้นไป เปนถานหมิ่นประมาท ในส่วนโฆษณานั้น คำว่า โฆษนา นี้ คนมักเข้าใจว่า ต่อประกาศแผ่เผยดังเช่นพิมพ์หนังสือขายหรือเขียนประกาศเปิดให้ใคร ๆ รู้ได้ทั่วไป จึงจะเปนโฆษนา แต่คำว่า โฆษนา ในกฎหมายมาตรานี้ ไม่ได้หมายความเช่นนั้น แลไม่ได้หมายเฉภาพแต่ว่าต้องพิมพ์ เพราะกฎหมายในมาตรานี้ได้กล่าวความจำแนกไว้ชัดว่า โฆษนาในหนังสือพิมพ์อย่างนั้น ๆ ก็ดี ในแบบอย่างก็ดี ในจดหมายอย่างใด ๆ ก็ดี เพราะฉนั้น แม้แต่เขียนจดมหายอันเปนความหมิ่นประมาทด้วยลายมือส่งไปให้ผู้อื่นได้อ่านรู้ความจดหมายนั้นแต่สองคนขึ้นไป ต้องเปนโฆษนาตามความในกฎหมายมาตรานี้ ไม่จำจะต้องรอไว้จนถึงหนังสือนั้นได้ออกจำหน่ายจึงจะเปนโฆษนา การที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ได้ส่งหนังสือเรื่องปักษีปกรณัมไปให้โรงพิมพ์ตีพิมพ์นั้นพออยู่แล้วที่จะถือว่า เปนโฆษนาตามความในประมวญกฎหมายอาญา เพราะได้เขียนลงเปนจดหมาย แลในการพิมพ์ต้องมีผู้ได้รู้เห็นอ่านกว่าสองคนขึ้นไป ใช่แต่เท่านั้น ยังมีความปรากฎว่า หนังสือเรื่องนี้ได้มีผู้อื่นได้ไปอ่านอีก ถึงกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์แก้ว่า เพราะเจ้าของโรงพิมพ์หากให้ไปโดยกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ไม่ได้อนุญาตเหมือนอย่างผู้ร้ายลักไป ถ้าจะยอมข้อความอย่างที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์แก้นี้เปนข้อแก้ตัว ก็จะต้องยอมถึงหากว่า ผู้ใด ๆ เขียนข้อความอันเปนข้อหมิ่นประมาทแล้วเที่ยวจงใจหรือละเลยวางทิ้งไว้ มีผู้อื่นไปพบเห็นรู้ความโดยผู้เขียนไม่ได้อนุญาต จะไม่เปนหมิ่นประมาทได้ด้วย ความผิดที่สำคัญอยู่ในชั้นที่กล่าวหรือเขียนคำอันหมิ่นประมาทผู้อื่น ถ้าผู้ที่ไม่อยากเปิดแล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวหรือไม่ควรจะเขียนทีเดียว ถ้าได้กล่าวหรือได้เขียนไปแล้ว ความผิด ๆ กันแต่เพียงมากแลน้อย หาเปนเหตุที่จะลบล้างเพราะผู้อื่นรู้โดยได้รับอนุญาตหรือไม่ได้รับอนุญาตไม่ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์มีความผิดถานหมิ่นประมาทด้วยโฆษนาด้วยจดหมาย

ในกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๓ ในหมวด ๓ มีข้อยกเว้นไม่เอาโทษแก่ผู้แสดงความคิดความเห็นของตนซึ่งคิดเห็นโดยสุจริตในลักษณการต่าง ๆ ๔ ประการ คือ

 ในการที่จะแสดงความชอบธรรมของตน หรือในการที่จะต้องต่อสู้ป้องกันตน หรือในการป้องกันประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมาย ประการหนึ่ง

 เจ้าพนักงานกล่าวความในรายงานตามตำแหน่งหน้าที่ของตน ประการ ๑

 การที่กล่าวสรรเสริญแลติเตียนบุคคลหรือสิ่งใด ๆ โดยสุภาพอันเปนวิสัยธรรมดาสาธารณชนย่อมกล่าวกัน ประการหนึ่ง

 การที่โฆษนาหรือกล่าวถึงการที่ดำเนินอยู่ในโรงศาใด ๆ หรือในที่ประชุมชนใด ๆ แลกล่าวแต่โดยสุภาพ ประการ ๑

ลักษณที่แสดงความคิดเห็น ๔ ประการนี้ กฎหมายว่า ไม่มีโทษฐานหมิ่นประมาท

กรมหมื่นนราธิปปรพันธ์พงษ์ ได้แก้คดีเรื่องนี้ว่า ไม่ได้ตั้งพระไทยที่จะเอาเรื่องภักตรหนีมาแต่งเปนโคลงบทลครเรื่องปักษีปกรณัม เปนการปฏิเสทข้อหาทั้งสิ้น เพราะฉนั้น ไม่เข้าในข้อยกเว้นประการใดในกฎหมายมาตรานี้

ฐานโทษการหมิ่นประมาทด้วยเขียนจดหมายตามความในประมวญกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒ มีโทษสามสฐาน คือ สฐานหนึ่ง ให้จำคุกไม่เกินปีหนึ่ง หรือสฐานหนึ่ง ให้ปรับไม่เกินสองพันบาท หรือสฐานหนึ่ง ให้จำคุกแลปรับด้วยโดยกำหนดที่ว่ามาทั้งสองสฐาน กฎหมายว่าไว้ดังนี้ ทางพิจารณาคดีเรื่องนี้ได้ความว่า เจ้าพระยายมราชเปนผู้ขอร้องให้กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ช่วยรับภักตร์ไว้ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้ให้อารักขาแก่ภักตร์โดยถือว่า เปนตำแหน่งหน้าที่ราชการเพื่อจะป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นแม้แก่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์เอง กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์กลับหมิ่นประมาทกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ด้วยแกล้งแต่งบทลครใส่ความให้เสียพระนามแลเกียรติยศ ดังนี้ เปนความผิดหนักอีกชั้นหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงควรรับพระราชอาญาจำขังไว้มีกำหนดปีหนึ่งตามกฎหมาย ส่วนหนังสือปักษีปกรณัมที่กรมหมื่นนราธิปปรพันธ์พงษ์แต่ง ซึ่งเปนต้นฉบับก็ดี หรือที่โรงพิมพ์ก็ดี ควรให้เผาไฟเสียให้สิ้นเชิง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันดังนี้

  • ควรมิควรแลวแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
  • ขอเดชะ
(ลงพระนาม) กรมขุนสรรพสิทธิ์
เทววงษวโรประการ
ดำรงราชานุภาพ
ณวันที่ ๖ มิถุนายน
รัตนโกสินทร ๑๒๙

(สำเนา)
สวนดุสิต
วันที่ รัตนโกสินทรศก

คำพิพากษานี้ถูกต้องเต็มตามกฎหมายแล้ว ให้ทำตามคำพิพากษา ให้กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์จัดการกักขังตามแบบอย่างที่เคยกักขังเจ้านายมาแต่ก่อน

พระบรมราชโองการ พระราชทานมาณวันที่ ๘ มิถุนายน รัตนโกสินทร ๑๒๙

(พระนามาภิธัย) สยามินทร์

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวง; เทวะวงศ์วโรปการ, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวง; และ สรรพสิทธิประสงค์, พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุน. (2453). [เอกสารอัดสำเนา]. คอลเล็กชันของห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ (1114592709). ห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์, คณะนิติศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ.

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"