คำพิพากษาศาลฎีกา ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2561

จาก วิกิซอร์ซ
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
  • ศาลฎีกา
  • วันที่ ๒๕ เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
ความอาญา
พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี โจทก์
ระหว่าง
นาย   จำเลย

เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ต่อพระราชินี ต่อรัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หมิ่นประมาท

โจทก์ฎีกาคัดค้านคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ลงวันที่ ๓๐ เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ศาลฎีกา รับวันที่ ๑๖ เดือน มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

โจทก์ฟ้องว่า ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์รัชทายาท และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ อดีตพระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท และทรงเป็นพระราชมารดาในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา องค์รัชทายาท เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ เวลากลางวัน จําเลยกระทําความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จําเลยกล่าววาจาหมิ่นประมาท ใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท ต่อหน้าพันตรีสมศักดิ์ ศรีมงคล ให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ และจําเลยกล่าววาจาหมิ่นประมาท ใส่ความให้ร้ายพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท ต่อหน้าพันตรีสมศักดิ์ ให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เหตุทั้งหมดเกิดที่ตําบลคลองหนึ่ง อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๑๑๒, ๓๒๖

จําเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ การกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จําคุกกระทงละ ๑ ปี รวม ๒ กระทง เป็นจําคุก ๒ ปี ข้อหาอื่นให้ยก

จําเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จําเลยใส่ความ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ต่อพันตรีสมศักดิ์ ศรีมงคล และจําเลยใส่ความพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ต่อพันตรีสมศักดิ์อีก สําหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการ แทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์และจําเลยมิได้อุทธรณ์ คดีในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยว่ากระทําความผิดฐานนี้ จําเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้มีว่า โจทก์มีอํานาจฟ้องจําเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เป็นความผิดในภาค ๒ ลักษณะ ๑ ของประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดเกี่ยวกับ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งพันตรีสมศักดิ์เป็นผู้กล่าวโทษให้ดําเนินคดีแก่จําเลยโดยชอบแล้ว แต่คดีไม่อาจลงโทษจําเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้เนื่องจากไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ คดีเป็นอันยุติไปตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า จําเลยพูดใส่ความพระองค์ท่านทั้งสองจริง อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ เมื่อความผิดทั้งสองฐานเป็นความผิดที่รวมการกระทําหลายอย่างซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองและมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เช่นนี้ การกล่าวโทษในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ พนักงานสอบสวนทําการสอบสวนไว้โดยชอบแล้ว จึงเท่ากับมีการสอบสวนโดยชอบในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย ดังนั้น เมื่อมีการสอบสวนความผิดทั้งสองฐานแล้ว โจทก์ย่อมมีอํานาจฟ้องความผิดทั้งสองฐาน และศาลมีอํานาจลงโทษจําเลยฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี ขณะกระทําความผิดจําเลยมีอายุมากถึง ๗๐ ปี นับว่าอยู่ในวัยชรา ซึ่งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ ได้ความว่า จําเลยเจ็บป่วยมีอาการเส้นเลือดในสมองแตก เป็นอาการเกือบอัมพาตไปครึ่งซีกทางข้างขวา ประกอบกับตามคําให้การพร้อมเอกสารแนบท้ายของจําเลย ปรากฏว่าจําเลยพร้อมครอบครัวได้ไปกล่าวขอพระราชทานอภัยโทษและเข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติหลายครั้ง กับได้บริจาครถสามล้อเพื่อการบรรทุกให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา จํานวน ๑ คัน มูลค่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งยังแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ อีกทั้งไม่ปรากฏว่า จําเลยเคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน เมื่อคํานึงถึงอายุ สุขภาพ สภาพความผิด และพฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรปรานีเพื่อให้โอกาสจําเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีและจักได้มีจิตสํานึกเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งต่อไป จึงให้รอการลงโทษจําคุกแก่จําเลย แต่เพื่อให้จําเลยหลาบจําจึงให้ลงโทษปรับจําเลยอีกสถานหนึ่งด้วย

พิพากษากลับเป็นว่า จําเลยมีความผิดตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ลงโทษปรับจําเลยกระทงละ ๒๐,๐๐๐ บาท รวม ๒ กระทง ปรับ ๔๐,๐๐๐ บาทอีกสถานหนึ่ง และให้รอการลงโทษจําคุกจําเลยไว้ ๓ ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคําพิพากษาศาลฎีกาให้จําเลยฟังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐.


นายอดิศักดิ์ ปัตรวลี

นายชัยชนะ ตัญจพัฒน์กุล

นางพนมวรรณ ทองวิทูโกมาลย์

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • ประชาไท. (2561, 27 ธันวาคม). ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปีรอลงอาญา ม. 326 หมิ่นสมเด็จพระเทพฯ. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2018/12/80263

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"