คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๓๘/๒๕๕๔

จาก วิกิซอร์ซ


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


คำพิพากษา
(อุทธรณ์)
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
คดีหมายเลขดำที่ อ. ๕๕๘/๒๕๔๘
คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๓๘/๒๕๕๔
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลปกครองสูงสุด
 
นายสว่าง ชยนิโครธานนท์ ผู้ฟ้องคดี
ระหว่าง
ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ   ที่ ๑ ผู้ถูกฟ้องคดี
อ.ก.พ. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ   ที่ ๒
นายกรัฐมนตรี   ที่ ๓


เรื่อง   คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อุทธรณ์คำพิพากษา)



ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๓๔/๒๕๔๕ หมายเลขแดงที่ ๖๘๖/๒๕๔๘ ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง)

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เดิม ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งนักการข่าว ๕ กอง ๗ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ แต่เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ผู้ฟ้องคดีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม เนื่องจากมียาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวน ตามคำสั่งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่ ๑๘๐/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕

ต่อมา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๓๙ ลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดีเป็นเวลาหนึ่งปี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำความผิดชัดแจ้ง ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง จึงได้ส่งเรื่องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณา ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณา แล้วมีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามคำสั่งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่ ๑๘๘/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๐๗๐๙.๒/๗๔๓ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๕ นอกจากนี้ เมื่อผู้ฟ้องคดีพ้นโทษจำคุกแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องขอกลับเข้ารับราชการ แต่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่บรรจุผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ ผู้ฟ้องคดีจึงร้องทุกข์ต่อสำนักงาน ก.พ. ซึ่งสำนักงาน ก.พ. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา ๓๐ (๑๐) และ (๑๓) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นเหตุให้ไม่มีสิทธิขอกลับเข้ารับราชการ จนกว่าจะได้รับการล้างมลทิน หรือได้รับยกเว้นคุณสมบัติทั่วไป

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา เนื่องจากก่อนที่ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมาก่อน และในชั้นพนักงานสอบสวน ผู้ฟ้องคดีก็ได้รับการประกันตัว จึงไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามมาตรา ๑๐๒ วรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ นอกจากนี้ ยังมีการค้นโต๊ะทำงานของผู้ฟ้องคดีและยึดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ๑ และชั้น ๒ ไปโดยไม่มีการแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ตลอดจนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการที่ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดกับมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙

ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้

๑.   ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

๒.   ให้ ก.พ. มีมติให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ

๓.   ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิบัติตามมติของ ก.พ. ในข้อ ๒

๔.   ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีที่ยึดไว้ทั้งหมด

๕.   ให้ดำเนินการทางวินัยกับบุคคลที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ฟ้องคดี

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงรายได้มีหนังสือลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทราบว่า ผู้ฟ้องคดีถูกจับกุมข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน ตามคำสั่งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่ ๑๘๐/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ จากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็ไม่ได้รับทราบผลการดำเนินคดีอาญาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนกระทั่งผู้ฟ้องคดีได้แจ้งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่า จะขอกลับเข้ารับราชการ โดยแนบสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงทราบว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดีหนึ่งปี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ตามข้อ ๔ (๑) ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้ส่งเรื่องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาตามมาตรา ๑๐๔ วรรคสอง (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณา แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้บังคับบัญชาจึงสามารถดำเนินการทางวินัยผู้ฟ้องคดีได้ จึงมีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ครั้นเมื่อผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ เพราะเห็นว่าคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณา แล้วเห็นว่า การที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดี เพราะผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดอาญาตามคำฟ้อง การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นความผิดทางวินัย และเป็นกรณีที่ไม่ต้องมีการสอบสวน เนื่องจากเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติลงโทษไล่ออกจากราชการ จึงไม่ขัดมาตรา ๑๐๒ วรรคสอง และวรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ การที่ผู้ฟ้องคดีถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ก็ไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เพราะการสั่งให้ออกจากราชการดังกล่าว ก็เพื่อรอฟังผลคดีอาญา ซึ่งผู้บังคับบัญชายังมีกระบวนการที่จะดำเนินการทางวินัยต่อไปให้ครบถ้วน ซึ่งต่อมา ผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ดังนั้น อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น ก.พ. จึงมีมติให้ยกอุทธรณ์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เห็นพ้องด้วยกับมติของ ก.พ. จึงมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี เมื่อคำสั่งลงโทษและการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีเหตุจะไปเพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว

ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การว่า การที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดีหนึ่งปี และผู้ฟ้องคดีได้พ้นโทษจำคุกเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๐ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อขอกลับเข้ารับราชการ แต่ไม่ทราบผลการพิจารณา ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๒ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อขอทราบผลการพิจารณา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งว่า ไม่มีนโยบายรับผู้ออกจากราชการไปแล้วกลับเข้ารับราชการ ตามหนังสือสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่ นร ๐๓๐๑/๗๔๑๖ ลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า รูปแบบของหนังสือที่แจ้งไม่รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการนั้นผิดแปลกไปจากหนังสือทั่วไป (หนังสือประทับตรา) และแจ้งผลให้ผู้ฟ้องคดีทราบล่าช้า นอกจากนี้ การที่ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นการดำเนินการทางวินัยเบื้องต้น และได้ดำเนินการก่อนวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ จึงอยู่ในเงื่อนไขของมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งไล่ออกจากราชการจึงขัดต่อมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งคำสั่งลงโทษไล่ออกโดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น ก็ไม่ถูกต้องตามข้อ ๖ (๓) และ (๘) ของระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การเพิ่มเติมว่า บุคคลที่จะได้รับประโยชน์ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จะต้องเป็นกรณีที่ได้มีการสั่งการโดยเด็ดขาดแล้ว ส่วนกรณีของผู้ฟ้องคดีเป็นกรณีสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวน จึงไม่ใช่การสั่งให้ออกโดยเด็ดขาด เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแล้ว ยังมีกระบวนการที่จะดำเนินการต่อไปให้ครบถ้วน ซึ่งการที่ผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดคดีอาญา และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามข้อ ๔ (๑) ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้ส่งเรื่องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาตามมาตรา ๑๐๔ วรรคสอง (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕

นอกจากนี้ การที่ผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ การสั่งไล่ออกจากราชการโดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น ก็เป็นไปตามข้อ ๖ (๑) ของระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ระบุว่า หากมีการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เมื่อจะสั่งลงโทษให้สั่งไล่ออกตั้งแต่วันสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ ดังนั้น คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การเพิ่มเติม โดยขอยืนยันตามคำให้การ

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณา แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงรายจับกุมเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ เนื่องจากมียาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีพิจารณาเห็นว่า กรณีผู้ฟ้องคดีต้องหาว่ากระทำผิดอาญานี้เป็นเหตุให้สั่งพักราชการผู้ฟ้องคดีได้ตามข้อ ๒ ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการสั่งพักราชการ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนและการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามผลการสอบสวนพิจารณา และเห็นว่าการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ผู้ฟ้องคดีต้องหานั้นจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนก็ได้ ตามข้อ ๗ ของกฎ ก.พ. ฉบับดังกล่าว โดยไม่จำต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน จึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีต้องหาคดีอาญานั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดีหนึ่งปี พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงมีมูลเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ดำเนินการทางวินัยกับผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา ๑๐๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่โดยที่มาตรา ๑๐๒ วรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ได้บัญญัติข้อยกเว้นที่ไม่ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หากเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งตามข้อ ๔ (๑) ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง กำหนดว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือให้ลงโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษนั้น ให้ถือว่า เป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยตามมาตรา ๑๐๔ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๐๙ โดยไม่สอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้ ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีอำนาจดำเนินการทางวินัยกับผู้ฟ้องคดีได้ โดยไม่จำต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และมีอำนาจพิจารณาพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกว่า เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องใด และมาตราใด และสมควรถูกลงโทษสถานใด แล้วให้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กรม พิจารณา เมื่อ อ.ก.พ. กรม มีมติประการใดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของ อ.ก.พ. กรม ตามมาตรา ๑๐๔ วรรคสอง (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณา แล้วเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ได้กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ สมควรที่จะถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ส่งเรื่องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณา ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีการประชุมพิจารณา แล้วมีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงเห็นว่า ทั้งกระบวนการก่อนสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามคำสั่งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่ ๑๘๘/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีให้การว่า การสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขัดต่อพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เพราะกรณีของผู้ฟ้องคดีได้รับการล้างมลทินตามมาตรา ๖ แล้ว นั้น เห็นว่า การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการไว้ก่อนตามมาตรา ๑๐๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น เป็นการสั่งให้ออกจากราชการ โดยมีเงื่อนไขเพื่อรอผลการสอบสวนทางวินัย หรือการพิจารณาในคดีอาญา แล้วแต่กรณี ดังนั้น การสั่งให้ออกจากราชการกรณีของผู้ฟ้องคดีจึงมีลักษณะไม่เด็ดขาด ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการตามความหมายในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีให้การว่า คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น เห็นว่า เมื่อระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๖ (๑) กำหนดว่า การสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ห้ามมิให้สั่งให้ออกย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่ง เว้นแต่ได้มีการสั่งให้พักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้สั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก ตั้งแต่วันพักราชการ หรือวันให้ออกจากราชการไว้ก่อน แล้วแต่กรณี เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีถูกจับกุมไว้แล้ว ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ย่อมมีอำนาจออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้

เมื่อคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตามคำสั่งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่ ๑๘๘/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติของ ก.พ. จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ ก.พ. มีมติให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิบัติตามมติของ ก.พ. นั้น เห็นว่า เมื่อศาลปกครองพิจารณา แล้วเห็นว่า คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงให้ยกคำขอนี้

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ๑ และชั้น ๒ ให้ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า การฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยึดไป โดยไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ถือเป็นข้อพิพาททางแพ่ง ไม่ใช่คดีปกครองตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ดำเนินการทางวินัยกับบุคคลที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีนั้น เห็นว่า การดำเนินการทางวินัยแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นที่จะดำเนินการ ศาลปกครองไม่มีอำนาจกำหนดคำบังคับดังกล่าวได้ ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ตามมาตรา ๑๐๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้กำหนดหลักการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะต้องทำการสอบสวนทางวินัย กรณีมีเหตุที่จะดำเนินการทางวินัยกับผู้ฟ้องคดี เพื่อให้ได้ความจริงและยุติธรรมโดยไม่ชักช้า และตามข้อ ๗ ของ กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการสั่งพักราชการ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามผลการสอบสวนพิจารณา ก็มิได้กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจในการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนได้ โดยไม่ต้องสอบสวนข้อเท็จจริง ตามมาตรา ๑๐๒ วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนตามคำสั่งที่ ๑๘๐/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ โดยไม่ได้ทำการสอบสวนทางวินัยแล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีออกคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยอ้างว่าเป็นไปตามข้อ ๖ (๑) ของระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงไม่ถูกต้อง และไม่มีเหตุผลอันชอบธรรม

ส่วนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่สั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ตามคำสั่งที่ ๑๘๘/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ นั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ดำเนินการออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยไม่มีการพิจารณาหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๑ ที่ผู้ฟ้องคดีขอกลับเข้ารับราชการก่อน ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อยกเลิก เพิกถอน แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน จนทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงาน ก.พ. เพื่อร้องทุกข์ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้รับคำร้องทุกข์ไว้พิจารณาแล้ว ดังนั้น การออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน และคำสั่งดังกล่าวยังไม่ถูกเพิกถอน ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีสถานภาพเป็นผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการ ตามมาตรา ๑๑๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และคำสั่งดังกล่าวก็ไม่ใช่คำสั่งลงโทษทางวินัยที่มีผลก่อนวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวผู้ฟ้องคดี จึงอยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการล้างมลทินตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ฉะนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดี เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเป็นธรรมตามควรแก่กรณี

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แก้อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีว่า การสอบสวนตามมาตรา ๑๐๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นการดำเนินการเพื่อลงโทษทางวินัย แต่การสั่งพักราชการ หรือการให้ออกจากราชการไว้ก่อน เป็นการดำเนินการเพื่อรอผลการพิจารณาโทษทางวินัย หรือรอผลการดำเนินคดีอาญา ตามมาตรา ๑๐๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และหลักเกณฑ์ในขณะสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน คือ กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการสั่งพักราชการ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามผลการสอบสวนพิจารณา ซึ่งตามมาตรา ๑๐๗ และกฎ ก.พ. ฉบับดังกล่าว ไม่ได้กำหนดให้ต้องสอบสวนก่อนการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๐๒ แต่อย่างใด และเมื่อผู้ฟ้องคดีซึ่งต้องหาคดีอาญาในข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๑ (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณา แล้วเห็นว่า การสอบสวนจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันที่ถูกจับกุมเป็นต้นไป ย่อมเป็นการดำเนินการไปโดยชอบธรรมและถูกต้องตามมาตรา ๑๐๗ ประกอบกับ กฎ ก.พ. ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการสั่งพักราชการ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามผลการสอบสวนพิจารณา แล้ว

และโดยที่คดีนี้ข้อเท็จจริง ปรากฏว่า หลังจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ เพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ข้อ ๔ (๑) ซึ่งสมควรไล่ออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเสนอเรื่องให้ อ.ก.พ. สำนักข่าวกรองแห่งชาติพิจารณาตามมาตรา ๑๐๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ โดย อ.ก.พ. สำนักข่าวกรองแห่งชาติมีมติให้ไล่ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันที่สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ทั้งนี้ ตามระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. ๒๕๓๕ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการจึงเป็นการดำเนินการโดยชอบธรรม และถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้ว จะเห็นได้ว่า กรณีที่จะได้รับประโยชน์ตามมาตรา ๖ จะต้องเป็นการสั่งการโดยเด็ดขาดแล้ว แต่กรณีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน ตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นการสั่งให้ออกเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา มิใช่การให้ออกโดยเด็ดขาด จึงไม่เข้ากรณีตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แก้อุทธรณ์โดยมีเนื้อความเช่นเดียวกับคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓

ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดี โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี

ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ผู้ฟ้องคดีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จับกุมเนื่องจากมียาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงรายได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทราบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งที่ ๑๘๐/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวน โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕

ต่อมา ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๑ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดีหนึ่งปี และผู้ฟ้องคดีได้พ้นโทษจำคุกแล้วเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๐ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกคำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อผู้ฟ้องคดีจะได้กลับเข้ารับราชการ แต่ปรากฏว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทราบว่า ผู้ฟ้องคดีถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกหนึ่งปี จึงพิจารณาว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดี ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามข้อ ๔ (๑) ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง แล้วเห็นควรลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ พร้อมกับส่งเรื่องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณา ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๓ และมีมติให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามคำสั่งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่ ๑๘๘/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือ ที่ นร ๐๓๐๑/๗๔๑๖ ลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่า สำนักข่าวกรองแห่งชาติไม่มีนโยบายรับผู้ออกจากราชการไปแล้วกลับเข้ารับราชการ

ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ. ซึ่ง ก.พ. พิจารณาแล้วมีมติให้ยกอุทธรณ์ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ตามมติของ ก.พ. ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๐๗๐๙.๒/๗๔๓ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชา เนื่องจากก่อนการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนนั้น ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมาก่อน และคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้ฟ้องคดีได้รับการล้างมลทินตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ตลอดจนการสั่งลงโทษได้สั่งให้มีผลย้อนหลังขัดกับระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ อีกทั้ง การที่ผู้บังคับบัญชายึดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ๑ และชั้น ๒ ไปจากโต๊ะทำงานของผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น มาตรา ๙๘ วรรคสอง บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือได้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และมาตรา ๑๐๒ วรรคแปด แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ประกอบข้อ ๔ (๑) ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๕๓๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง กำหนดว่า กรณีข้าราชการที่กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือให้ลงโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ถือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ที่ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการผู้นั้นไม่ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๑๐๒ ได้ และมาตรา ๑๐๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงรายจับกุมเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ในความผิดอาญาข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท ๑ (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดีหนึ่งปี โดยผู้ฟ้องคดีได้พ้นโทษจำคุกเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๐ นั้น เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายแล้ว จะเห็นได้ว่า การที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนได้กระทำความผิดอาญา จนศาลฎีกาพิพากษาจำคุก ย่อมเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา ๙๘ วรรคสอง และเป็นความผิดที่ปรากฏโดยชัดแจ้ง ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๑๐๒ วรรคแปด รวมถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สามารถออกคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการได้ ตามมาตรา ๑๐๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันได้ ฉะนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่พิจารณาหนังสือของผู้ฟ้องคดีที่ขอกลับเข้ารับราชการก่อนการพิจารณาออกคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการนั้น เห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่า สำนักข่าวกรองแห่งชาติไม่มีนโยบายรับผู้ออกจากราชการไปแล้วกลับเข้ารับราชการ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปฏิเสธการขอกลับเข้ารับราชการของผู้ฟ้องคดีแล้ว คำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในเรื่องนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า เมื่อคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนมิใช่คำสั่งลงโทษทางวินัย และคำสั่งดังกล่าวก็มีผลให้ผู้ฟ้องคดีต้องออกจากราชการโดยมีผลก่อนวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีจึงอยู่ในเงื่อนไขที่สมควรได้รับการล้างมลทินตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้น เห็นว่า แม้คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนนั้นจะมีผลให้ผู้ฟ้องคดีต้องออกจากราชการตามมาตรา ๑๑๒ (๔) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างก็ตาม แต่การสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนตามมาตรา ๑๐๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ก็เพื่อให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง รอผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ซึ่งหากปรากฏผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดหรือกระทำผิด แต่ไม่ถึงกับจะถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก และไม่มีกรณีที่จะต้องออกจากราชการด้วยเหตุอื่นแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งในระดับเดียวกับที่ผู้ฟ้องคดีมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงไม่ใช่ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการตามความหมายตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ คำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีในส่วนนี้ ฟังไม่ขึ้น

คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีประเด็นสุดท้าย คือ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้คำสั่งมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น การออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลังดังกล่าวเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามข้อ ๗ ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่าด้วยการสั่งพักราชการ การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามผลการสอบสวนพิจารณา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จะกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนได้ หากเห็นว่า การสอบสวนหรือการพิจารณากรณีที่ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือคดีที่ผู้ฟ้องคดีถูกฟ้องคดีอาญา จะไม่แล้วเสร็จได้โดยเร็ว และตามข้อ ๖ (๑) ของระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. ๒๕๓๕ จะกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจออกคำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี การดำเนินการทางวินัยกรณีนี้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน โดยให้มีผลย้อนหลังไปก่อนวันออกคำสั่งได้ ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑๐ ประกอบข้อ ๕ ของกฎ ก.พ. ฉบับเดียวกัน ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งที่ ๑๘๐/๒๕๓๕ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อน โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ คำสั่งดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเฉพาะส่วนที่ให้คำสั่งดังกล่าวมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ เท่านั้น และผู้ฟ้องคดีต้องออกจากราชการตั้งแต่วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันออกคำสั่งดังกล่าว และเมื่อคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้ก่อนเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเฉพาะส่วนที่ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ แล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งที่ ๑๘๘/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ย่อมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเฉพาะส่วนที่ให้คำสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ด้วยเช่นเดียวกัน

พิพากษาแก้ เป็นให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๑๘๘/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เฉพาะส่วนที่ให้คำสั่งดังกล่าวมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก



หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล   ตุลาการเจ้าของสำนวน และตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
ประธานศาลปกครองสูงสุด


ไพบูลย์ เสียงก้อง   ตุลาการองค์คณะ
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด


สุเมธ รอยกุลเจริญ
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด


สุชาติ มงคลเลิศลพ
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด


พรชัย มนัสศิริเพ็ญ
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด


หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล   ตุลาการผู้แถลงคดี: นายสะเทื้อน ชูสกุล




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"