ข้ามไปเนื้อหา

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2563/ส่วนที่ 4

จาก วิกิซอร์ซ
ความเห็นส่วนตน
ของนายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๖๓
เรื่องพิจารณาที่ ต. ๔๕/๒๕๖๑
 
วันที่ ๑๙ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓
นางสาวศรีสมัย เชื้อชาติ ผู้ร้อง
ระหว่าง
ผู้ถูกร้อง

ประเด็นวินิจฉัย

ประเด็นที่หนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ หรือไม่

ประเด็นที่สอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๗๗ หรือไม่

ประเด็นที่สาม ไม่ว่ากรณีที่ขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม สมควรมีมาตรการปรับปรุงกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ความเห็น

เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ เป็นบทบัญญัติอยู่ในหมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยเป็นบทบัญญัติรับรองหลักความเสมอภาคของบุคคล ซึ่งมีหลักการว่า บุคคลทุกคนมีความเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ และมาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและ ร่างกายของบุคคล โดยรับรองไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ส่วนรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ เป็นบทบัญญัติอยู่ในหมวด ๒ แนวนโยบายแห่งรัฐ โดยเป็นบทบัญญัติที่ให้รัฐพึงจัดให้มี กฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับ สภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักข้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระ แก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจ กฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ก่อนการตรากฎหมาย รัฐพึงจัดให้มีการรับฟัง ความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดกฎเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาดําเนินการ และพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

สําหรับประมวลกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเพื่อให้สังคมมีความสงบสุข ซึ่งมีบทบัญญัติกําหนดการกระทําอันเป็นความผิดและบทลงโทษ โดยมาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๕ เป็นบทบัญญัติอยู่ในภาค ๒ ความผิด ลักษณะ ๑๐ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย หมวด ๓ ความผิดฐานทําให้แท้งลูก โดยมาตรา ๓๐๑ บัญญัติว่า หญิงใดทําให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ มาตรา ๓๐๕ บัญญัติว่า ถ้าการกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๒ นันเป็นการกระทําของนายแพทย์ และ (๑) จําเป็นต้องกระทําเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (๒) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๘๒ มาตรา ๒๘๓ หรือมาตรา ๒๘๔ ผู้กระทําไม่มีความผิด

ประเด็นที่หนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ หรือไม่

เห็นว่า การที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ บัญญัติให้หญิงใดที่ทําให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูก มีความผิด และต้องระวางโทษจําคุก หรือปรับ หรือทั้งจําทั้งปรับ เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตราขึ้นใช้บังคับเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมของมนุษย์ที่พึงมีต่อการมีชีวิตของทารกไม่ว่าอายุครรภ์จะเท่าใด เพื่อคุ้มครองทารกซึ่งอยู่ในครรภ์มารตาให้มีสิทธิในการมีชีวิตโดยอยู่ในครรภ์มารดาอย่างปลอดภัย เนื่องจากทารกซึ่งอยู่ในครรภ์ไม่อาจปกป้องและคุ้มครองตนเองจากภยันตรายภายนอกได้ ต้องอาศัยและพึ่งพามารดาเพื่อให้มีชีวิตต่อไป รัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องและคุ้มครองการมีชีวิตของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา โดยแยกสิทธิในการมีชีวิตของทารกและ สิทธิในการกําหนดเจตจํานงเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิของชีวิตและร่างกายของมารดาออกจากกัน แม้ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาซึ่งมีลักษณะเป็นตัวอ่อนจะต้องพึ่งมารดาเพื่อดํารงชีวิตให้อยู่รอดก็ตาม โดยกําหนดให้การกระทําอันทําให้ตนแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูกเป็นความผิดและต้องรับโทษทางอาญา ซึ่งสอดคล้องกับความคิดและความเชื่อทางศาสนาของสังคมไทยอันเป็นพื้นฐานความคิดของ ประชาชนมาโดยตลอด แม้ต่อมาในปี ๒๕๐๐ มีการแก้ไขบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ แต่มีได้แก้ไขในส่วนเนื้อหาของการกระทําความผิด เป็นการแก้ไขในส่วนโทษของการกระทําความผิดของหญิงที่ทําให้ตนแท้งลูก อันแสดงได้ว่า สังคมไทยยังเคารพหลักการคุณธรรมทางกฎหมายข้อนี้อยู่ กรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การให้หญิงต้องรับผิดทางอาญาเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ลงโทษชายซึ่งมีความสัมพันธ์กับหญิงทําให้หญิงตั้งครรภ์ด้วย และการที่หญิงไม่มีสิทธิที่จะยุติการตั้งครรภ์ของตนเองได้ ทั้งที่เป็นสิทธิของหญิงที่จะกําหนดเจตจํานงเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ของตนเอง จึงขัตต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ นั้น เห็นว่า ตามหลักธรรมชาติของมนุษย์ เพศหญิงเท่านั้นเป็นเพศตั้งครรภ์ได้ แม้บทบัญญัติมาตรา ๓๐๑ บัญญัติให้หญิงที่ทําให้ตนแท้งลูกหรือยอมให้บุคคลอื่นทําให้ตนแท้งลูก หญิงนั้นมีความผิดและต้องโทษทางอาญา อันเป็นบทลงโทษเฉพาะหญิงเท่านั้นก็ตาม แต่หากการกระทําของชายซึ่งมีความสัมพันธ์ทําให้หญิงตั้งครรภ์มีการกระทําที่เกี่ยวข้องกับการทําให้หญิงแห้งลูกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ ย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตราอื่นที่บัญญัติให้เป็นการกระทําความผิดและต้องรับโทษทางอาญา สําหรับสิทธิของหญิงในการกําหนดเจตจํานงเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ของตนที่จะยุติการตั้งครรภ์ จะมีได้ก็ด้วยเงื่อนไขอันเป็นเหตุที่กฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ ซึ่งได้แก่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของหญิง หรือมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดอาญาเท่านั้น เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา ๓๐๑ มีเจตนารมณ์ที่มุ่งคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์มารดาซึ่งมีสิทธิในการมีชีวิตและได้รับการปกป้องและคุ้มครองจากมารดาอันเป็นสิทธิที่เกี่ยวเนื่องกับคุณธรรมของมนุษย์ หญิงผู้ตั้งครรภ์จึงไม่อาจนําเหตุอื่นนอกเหนือปัญหาสุขภาพมายุติการตั้งครรภ์ได้ ตังนั้น บทบัญญัติมาตรา ๓๐๑ เป็นบทบัญญัติที่เป็นไปตามความมุ่งหมายของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองทารกในครรภ์ คุณธรรมของมนุษย์ และความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน มิได้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลโดยไม่เป็นธรรม และมิได้จํากัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘

ประเด็นที่สอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๗๗ หรือไม่

เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ บัญญัติให้การกระทําความผิดตามมาตรา ๓๐๑ หากเป็นการกระทําของนายแพทย์ และจําเป็นต้องกระทําเนื่องจากสุขภาพของหญิง หรือหญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดอาญาที่เกี่ยวกับเพศ ผู้กระทําไม่มีความผิด เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่รัฐกําหนดให้ยกเว้นความผิดของผู้กระทําการให้หญิงแท้งลูกตามมาตรา ๓๐๑ โดยมุ่งคุ้มครองหญิงตั้งครรภ์ กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของหญิง และกรณีการตั้งครรภ์เกิดจากการกระทําความผิดอาญา อันเป็นการคํานึงถึงสิทธิในชีวิตและร่างกายของหญิงและสิทธิในการกําหนดเจตจํานงเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ของตนเอง และเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของหญิงซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการแท้งลูก รัฐจึงกําหนดให้การทําแท้งอยู่ภายใต้การปฏิบัติของนายแพทย์ อย่างไรก็ดี โดยที่การยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและจริยธรรมของสังคม การกําหนดกรณียกเว้นให้กระทําได้ต้องมีระบบการควบคุมที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน ซึ่งข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๕๕ กําหนดรองรับไว้ว่า การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา ๓๐๕ นั้น หญิงตั้งครรภ์ต้องยินยอม และกระทําได้โดยแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมาย รวมทั้งต้องกระทําในสถานพยาบาล และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ กล่าวคือ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ (๑) เงื่อนไขมีว่า ต้องเป็นกรณีที่จําเป็นต้องกระทําเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงมีครรภ์ หรือเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงมีครรภ์ ซึ่งต้องได้รับการรับรองหรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาซีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทําการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งคน สําหรับการยุติการตั้งครรภ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ (๒) เงื่อนไขมีว่า ต้องมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่า หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดอาญา เมื่อปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์แล้ว แพทย์ผู้นั้นต้องทํารายงานเสนอต่อแพทยสภา หากไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ให้ถือว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้นไม่รักษามาตรฐานในระดับทีดีที่สุด การที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การที่กฎหมายกําหนดเงื่อนไขไว้เพียง ๒ กรณี ทั้งที่เป็นสิทธิของหญิงซึ่งตั้งครรภ์ เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและจํากัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิง จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ นั้น เห็นว่า แม้การตั้งครรภ์จะมีขึ้นมาจากความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชาย แต่โดยที่การยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนต่อจริยธรรมของสังคม และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ประกอบกับรัฐสามารถดําเนินการด้วยวิธีการคุมกําเนิตที่มีประสิทธิภาพ หากให้มีการนําเหตุที่ไม่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพซึ่งครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจของหญิงหรือการตั้งครรภ์อันเกิดจากการกระทําความผิดทางอาญามาเป็นเหตุให้มีการยุติการตั้งครรภ์ได้ ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๒ การกําหนดการยกเว้นให้ทําแท้งได้จึงต้องกระทําเท่าที่จําเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติมาตรา ๓๐๑ บทบัญญัติมาตรา ๓๐๕ จึงเป็นไปตามหลักความได้สัตส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี และเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิงตามรัฐธรรมนูญรับรองไว้ว่ากระทําได้ นอกจากนี้ การที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การกําหนดให้การยุติการตั้งครรภ์ต้องกระทําโดยนายแพทย์เท่านั้น ไม่รวมบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งไม่ทันสมัยต่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการใช้ยาแทนหัตถการทางการแพทย์ จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ นั้น เห็นว่า วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ คือคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของหญิงซึ่งตั้งครรภ์จากการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อให้วัตถุประสงค์ดังกล่าวบรรลุผล การปฏิบัติในการยุติการตั้งครรภ์ต้องมีระบบและมีมาตรฐานเพื่อให้มีความปลอดภัย จึงต้องให้นายแพทย์ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายเป็นผู้ปฏิบัติการยุติการตั้งครรภ์ของหญิง ส่วนรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ เป็นบทบัญญัติก้าหนดหน้าที่ของรัฐในการทบทวนกฎหมายโดยให้มึกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ จึงไม่มีกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมบูญ มาตรา ๓๓ ได้

ประเด็นที่สาม ไม่ว่ากรณีที่ขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม สมควรมีมาตรการปรับปรุงกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร

เห็นว่า เมื่อวินิจฉัยไว้แล้วว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๕ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่จําต้องกําหนดมาตรการในการปรับปรุงกฎหมาย ส่วนกรณีตามคําร้องขอของผู้ร้องในเรื่องการปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสมต่อสภาพการณ์ทางสังคมและความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันนั้น รัฐธรรมนูญได้กําหนดช่องทางการใช้สิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเพื่อเสนอการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย โดยกําหนดช่องทางและวิธีการไว้แล้ว ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิผ่านช่องทางดังกล่าวได้ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ บัญญัติให้ก่อนการตรากฎหมาย ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง อันจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณากฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๗๗ และไม่จําต้องกําหนดมาตรการในการปรับปรุงกฎหมายนี้

  • ชัช ชลวร
  • (นายชัช ชลวร)
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ