ข้ามไปเนื้อหา

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕/๒๕๕๕/วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน


ของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ[1]



ตราครุฑ
ตราครุฑ
คำวินิจฉัยที่ ๑๕/๒๕๕๕ เรื่องพิจารณาที่ ๓๐/๒๕๕๓


ประเด็นวินิจฉัย

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ หรือไม่

ความเห็น

พิจารณาแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๙ วางหลักไว้ว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ และต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ส่วนในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ วางหลักว่า บุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกันทั้งชายและหญิง การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ จะกระทำ มิได้

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาไว้ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้ ...(๑๐) ไม่เป็นผู้ที่มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ... และใน (๑๑) ต้องผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจโดยคณะกรรมการแพทย์

แม้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ จะบัญญัติหลักการความเสมอภาคทางกฎหมายเกี่ยวกับความพิการและสภาพทางกายพิการไว้ โดยไม่มีขอบเขตของความพิการหรือสภาพทางกายพิการไว้ว่าต้องมีลักษณะอย่างใดบ้าง แต่เพื่อให้หลักเกณฑ์นั้นมีผลที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ ก็ต้องคำนึงถึงสภาพของความพิการหรือสภาพทางกายพิการว่า เหมาะสมและสอดคล้องกับงานที่จะต้องปฏิบัติหรือไม่เพียงใดด้วย เช่น คนหูหนวก ตาบอดโดยสิ้นเชิง สภาพความพิการดังกล่าวย่อมไม่สอดคล้องกับสภาพการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาที่จะต้องใช้ตาดูและหูฟังคำเบิกความของพยาน หรือการตรวจวัตถุพยาน ตลอดจนการไปเดินเผชิญสืบตรวจดูสถานที่เกิดเหตุหรือที่ดินพิพาท และยังควรต้องมีบุคลิกภาพเป็นสง่าน่านับถือในขณะนั่งพิจารณาคดีท่ามกลางคู่ความและผู้เกี่ยวข้องด้วย แต่ถ้าเป็นเพียงตาเข หรือนิ้วขาดบางนิ้ว หรือขาเก ก็อาจไม่ถึงกับไม่เหมาะสมกับสภาพการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา นอกจากนี้ ข้อที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ข้าราชการตุลาการโดยทั่วไปมีโอกาสสูงที่จะต้องย้ายไปรับราชการในต่างจังหวัด ซึ่งจะต้องไปร่วมในงานรัฐพิธีและพระราชพิธีต่าง ๆ รวมทั้งมีโอกาสที่จะต้องเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทพระบรมวงศานุวงศ์ เห็นได้ว่า สภาพความพิการทางร่างกายหลายประการต้องเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว หากจะไม่แต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งในต่างจังหวัด ก็จะเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นธรรมต่อผู้มีร่างกายปกติ ฉะนั้น การที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดหลักเกณฑ์ของบุคคลผู้ที่จะสมัครเข้าสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาไว้ ซึ่งมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลบ้าง ก็เป็นไปตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ ให้กระทำได้ และคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามดังกล่าวเป็นการให้ดุลพินิจแก่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. ซึ่งเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นราย ๆ ไปว่า รายใดมีสภาพกายที่เหมาะสมกับสภาพของการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้พิพากษาหรือไม่ บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นเพียงการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างกว้าง ๆ เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาคแต่อย่างใด การใช้ดุลพินิจของ ก.ต. ก็ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ กำหนดไว้ด้วย มิใช่ใช้ดุลพินิจไปตามเดิมก่อนที่จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส่วนการใช้ดุลพินิจของ ก.ต. ในการวินิจฉัยจะชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กรณีที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้

อาศัยเหตุดังกล่าวมา จึงมีความเห็นว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐


วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ



เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๑๐๐ ก/หน้า ๑๐๓/๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๕




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"