ข้ามไปเนื้อหา

คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

จาก วิกิซอร์ซ


แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน


ฉบับที่ ๑[1]





เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยปราศจากภัยของประชาชนทั่วประเทศ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙:๑๐ นาฬิกาเป็นต้นไป และให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้



ข้อ ๑

บรรดาคดีที่มีข้อหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ซึ่งการกระทำความผิดเกิดขึ้นในหรือหลังวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลา ๑๙:๑๐ นาฬิกา ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีที่ต้องดำเนินในศาลคดีเด็กและเยาวชน


ข้อ ๒

ให้ศาลอาญาและศาลจังหวัดทุกศาลในเขตมณฑลทหารบกที่ ๑ และศาลจังหวัดทุกศาลในเขตจังหวัดทหารบกลพบุรี เป็นศาลทหารกรุงเทพ ส่วนศาลจังหวัดนอกจากที่กล่าวนี้ซึ่งอยู่ในเขตมณฑลทหารบกใด ให้เป็นศาลมณฑลทหารบกนั้น ๆ ด้วย

ศาลทหารดังกล่าวแล้วประกอบด้วยตุลาการสามนายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีและบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้


ข้อ ๓

ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ผู้พิพากษาศาลอาญา และผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุกศาล เป็นตุลาการศาลทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารแห่งศาลนั้น ๆ ซึ่งเป็นศาลทหารตามความในข้อ ๒ ด้วย

ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นตุลาการศาลทหารเช่นเดียวกับผู้พิพากษาที่กล่าวแล้ว และให้มีอำนาจนั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาลภายในเขตของตนซึ่งเป็นศาลทหารตามประกาศนี้ หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วก็ให้มีอำนาจลงนามในคำพิพากษาได้ด้วย

ให้จ่าศาลอาญาและจ่าศาลจังหวัดทุกศาลเป็นจ่าศาลทหารแห่งศาลทหารนั้น ๆ ด้วย


ข้อ ๔

ให้พนักงานอัยการเป็นอัยการทหารด้วย


ข้อ ๕

ให้ใช้สถานที่ทำการศาลอาญาและสถานที่ทำการศาลจังหวัดทุกศาลเป็นที่ทำการศาลทหารตามประกาศนี้ด้วย


ข้อ ๖

บรรดาคดีที่เกิดขึ้นก่อนประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ ให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศกฎอัยการศึกที่ใช้อยู่ในขณะนั้น


ข้อ ๗

เมื่อได้มีประกาศให้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้ว ให้ศาลทหารตามประกาศนี้คงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในข้อ ๑ บรรดาที่ค้างอยู่ในศาลและบรรดาที่การกระทำผิดเกิดขึ้นก่อนเวลาเลิกใช้กฎอัยการศึก



สั่ง ณ วันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙


พลเรือเอกสงัด ชลออยู่
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน





บัญชี


ท้ายคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแห่งชาติ ฉบับที่ ๑





(๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒

(๒) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๒๙

(๓) ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา ๑๓๐ ถึงมาตรา ๑๓๕

(๔) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ฐานเป็นอั้งยี่ ฐานเป็นซ่องโจร และการมั่วสุมประชุมกัน ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะประทุษร้าย หรือกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นภายในบ้านเมือง ตั้งแต่มาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖

(๕) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตั้งแต่มาตรา ๒๑๗ ถึงมาตรา ๒๓๙

(๖) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ฐานจัดหรือล่อลวงหญิงหรือเด็กหญิงไปเพื่อการอนาจารหรือสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ตั้งแต่มาตรา ๒๘๒ ถึงมาตรา ๒๘๔ และมาตรา ๒๘๕ เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓

(๗) ความผิดต่อชีวิต ตั้งแต่มาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๔

(๘) ความผิดต่อร่างกาย ตั้งแต่มาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๓๐๐

(๙) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ฐานลักทรัพย์ วิ่งราว กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และรับของโจร ตั้งแต่มาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๔๐ ทวิ มาตรา ๓๕๗ และมาตรา ๓๖๐ ทวิ



เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๒๐/ฉบับพิเศษ/หน้า ๖/๖ ตุลาคม ๒๕๑๙




ขึ้น ฉบับที่ ๒

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"