คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๒๗/๒๕๕๗

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[1]
ที่ ๑๒๗/๒๕๕๗
เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ




เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในการป้องกันและขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบ ซึ่งแม้ในปัจจุบันจะมีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานและติดตามผลการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้การกำกับดูแล ติดตามประเมินผล และผลักดันการดำเนินการตามนโยบายในเรื่องดังกล่าวยังไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

โดยที่มาตรา ๔๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ได้บัญญัติให้ในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าคณะรัฐมนตรีควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเรื่องใด ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างเหมาะสม และสามารถผลักดันนโยบายในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งภายในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรียกว่า “คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ” ประกอบด้วย หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธานกรรมการ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นรองประธานกรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมายอีกไม่เกินสามคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งอีกไม่เกินเก้าคนเป็นกรรมการ

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอาจขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยให้ถือว่าผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งด้วย

ให้ประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นกรรมการและเลขานุการ

ข้อ ๒ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) จัดทำแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายในเรื่องดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและไปในทิศทางเดียวกัน และเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
(๒) ติดตาม ประสานงาน และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานของคณะกรรมการตามกฎหมาย หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ ตลอดจนพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนในการต่อต้าน ป้องกัน และขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบ
(๓) จัดทำผลการดำเนินการและเสนอแนะความเห็นหรือกลไกในการดำเนินการที่จำเป็นในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเพื่อมีมติสั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ
(๔) จัดทำ ข้อเสนอแนะในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาตามที่เห็นสมควร
(๕) ในกรณีที่เห็นสมควรอาจแจ้งต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อขอให้มีการประชุมร่วมกันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อปรึกษาหารือหรือพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อให้การแก้ไขปัญหาในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
(๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณาหรือช่วยเหลือในการปฏิบัติงานตามความจำเป็น
(๗) เชิญเจ้าหน้าที่ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง ความเห็นหรือคำแนะนำทางวิชาการ หรือเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น
(๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

ข้อ ๓ ให้เสนอคำสั่งนี้ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อมอบหมายให้สำนักงบประมาณอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานและรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานตามคำสั่งนี้ และพิจารณาการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ และการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้เบิกจ่ายได้ตามระเบียบของทางราชการ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


สั่ง ณ วันที่ ๑๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม /ตอน /หน้า / .



๑๒๖/๒๕๕๗ ขึ้น ๑๒๘/๒๕๕๗

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"