ข้ามไปเนื้อหา

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๔/๒๕๕๘

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[1]
ที่ ๔/๒๕๕๘
เรื่อง การดําเนินการเพื่อประโยชน์แก่การจัดทํารัฐธรรมนูญและการปฏิรูป




ตามที่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ กําลังดําเนินไปตามแผนและขั้นตอนสามระยะของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะที่สองนั้น โดยที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อเสนอแนะที่แตกต่างหลากหลาย หากมิได้สร้างความรับรู้ความเข้าใจเสียแต่แรกก็อาจนําไปสู่ความขัดแย้งในสังคมจนกระทบต่อความสามัคคี ความสมานฉันท์ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยได้ สมควรสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาวิกฤตการณ์ทางการเมือง การปฏิรูปกระบวนการจัดทํารัฐธรรมนูญและหลักการสําคัญของรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนและประเทศชาติ โดยอาศัยประสบการณ์ในต่างประเทศที่อาจนํามาดัดแปลงหรือประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย

โดยที่มาตรา ๔๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ บัญญัติให้ในกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นว่าคณะรัฐมนตรีควรดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ในเรื่องใด ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไปคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๒ ให้มีคณะทํางานคณะหนึ่งทําหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐตามที่เห็นสมควร สถาบันพระปกเกล้าและองค์กรทั้งห้าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศด้านการเมืองการปกครอง การจัดทํารัฐธรรมนูญ การปฏิรูป การแก้ปัญหาวิกฤตการณ์และความขัดแย้งทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะประเทศที่มีประสบการณ์ในการจัดทํารัฐธรรมนูญและการปฏิรูปภายหลังวิกฤตการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มาให้ประสบการณ์และความเข้าใจในการพัฒนาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและการปฏิรูปประเทศเพื่อนําไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ โดยคํานึงถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ซึ่งวิกฤตความขัดแย้งอาจแตกต่างจากต่างประเทศ และคํานึงถึงความต้องการของประชาชน โดยไม่ขัดแย้งกับหลักการอันเป็นสากล ตลอดจนหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามประเพณีการปกครองของประเทศไทย โดยไม่เกี่ยวกับการวิพากษ์หรือพิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่กําลังจัดทํา และไม่กระทบต่อความคืบหน้าของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กําลังดําเนินการอยู่

ทั้งนี้ ให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยธุรการและให้คณะทํางานดังกล่าวดําเนินการตามคําสั่งนี้โดยเร่งด่วน

คณะทํางานประกอบด้วย

(๑) ผู้ดํารงตําแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย ประธานคณะทํางาน
(๒) รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย คณะทํางาน
(๓) รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติมอบหมาย คณะทํางาน
(๔) รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติมอบหมาย คณะทํางาน
(๕) รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมอบหมาย คณะทํางาน
(๖) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คณะทํางาน
(๗) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะทํางาน
(๘) เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า คณะทํางานและเลขานุการ

ข้อ ๓ นอกจากการดําเนินการตามข้อ ๒ แล้ว ให้คณะทํางานจัดให้มีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบและระบุปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ และ พ.ศ. ๒๕๕๐ซึ่งเคยมีข้อท้วงติงว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมืองของไทย หรือไม่ตอบสนองต่อการแก้วิกฤตการณ์ของประเทศ พร้อมทั้งให้จัดทําข้อเสนอแนะด้วย

ในการดําเนินการดังกล่าว คณะทํางานจะมอบหมายหรือว่าจ้างให้บุคคล คณะบุคคลหรือองค์กรใด ดําเนินการหรือนําผลการศึกษาที่เคยมีผู้ทําไว้แล้วมาเรียบเรียงและจัดหมวดหมู่ให้เป็นไปตามกรอบที่กําหนดไว้ในวรรคก่อนพร้อมทั้งเสนอความเห็นประกอบก็ได้ ทั้งนี้ ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดําเนินการโดยไม่มีอคติและตรงต่อสภาพปัญหาที่เป็นจริงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนําไปใช้ประโยชน์ได้ทันการจัดทํารัฐธรรมนูญและการพิจารณาของผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนช่วยสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน

ข้อ ๔ ให้คณะทํางานตามข้อ ๒ ดําเนินการต่อไปในลักษณะเดียวกันตามข้อ ๓โดยอนุโลม เพื่อใช้เป็นแนวทางเสนอแนะการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ

ข้อ ๕ ขั้นตอนและวิธีดําเนินการให้เป็นไปตามที่คณะทํางานกําหนดบนพื้นฐานของความโปร่งใส ความสอดคล้องกับหลักวิชาอันเป็นที่ยอมรับทั่วไป การปราศจากอคติ และการมุ่งให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินการในเรื่องใดโดยเร่งด่วนได้เพราะไม่สอดคล้องกับกฎหมาย กฎหรือระเบียบของทางราชการ ให้คณะทํางานขอคําวินิจฉัยจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้วดําเนินการไปตามคําวินิจฉัยนั้น

ให้สํานักงบประมาณจัดงบประมาณแก่คณะทํางานเพื่อดําเนินการตามคําสั่งนี้ตามความจําเป็น

เมื่อได้ดําเนินการตามคําสั่งนี้แล้ว ให้ประธานคณะทํางานรายงานหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นระยะ ๆ และเผยแพร่ผลการดําเนินการต่อสาธารณชน ในกรณีที่คณะทํางานเห็นว่าสมควรยุติหรือไม่จําเป็นต้องดําเนินการต่อไป ให้รายงานหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยจัดทําบัญชีแสดงค่าใช้จ่ายเสนอไปด้วย เมื่อได้รับความเห็นชอบของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้วคําสั่งนี้เป็นอันสิ้นสุดลง


สั่ง ณ วันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ /ตอนพิเศษ ๘๕ ง /หน้า ๒ / ๑๖ เมษายน ๒๕๕๘ .



๓/๒๕๕๘ ขึ้น ๖/๒๕๕๘

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"