คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๔/๒๕๔๘

จาก วิกิซอร์ซ
คำสั่งนายกรัฐมนตรี

ที่ ๔/๒๕๔๘

เรื่อง การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และคณะที่ปรึกษา
_______________

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ แล้ว นั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ วรรคสาม และวรรคสี่ มาตรา ๘ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

๑.  ให้ผู้ปฏิบัติงานในกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มีหน้าที่ปฏิบัติงานตามพระราชกำหนดดังกล่าว กฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ  ทั้งนี้ เท่าที่มีความจำเป็นในการปฏิบัติงานให้สถานการณ์ฉุกเฉินยุติลง

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้อำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กำหนดมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เว้นแต่การใช้อำนาจสอบสวนต้องเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๓ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตรี หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป

๒.  ให้แม่ทัพภาคที่ ๔ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้มีอำนาจตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘

๓.  พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ๑. ผู้ใดจะใช้อำนาจหน้าที่ในเรื่องใดได้เพียงใด การแบ่งหน้าที่การปฏิบัติงานระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ๑. กับหน่วยงานเดิมตามกฎหมายที่โอนมาเป็นของนายกรัฐมนตรีหรือกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ รวมทั้งวิธีปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ให้เป็นไปตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบกำหนด ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่รองนายกรัฐมนตรีผู้กำกับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดด้วย

ในการกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ๑. ใช้อำนาจใดตามกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบและแจ้งให้หน่วยงานเดิมตามกฎหมายนั้นทราบด้วย

๔.  ในการใช้อำนาจปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้อำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และพนักงานเจ้าหน้าที่ถือหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้

(ก) การใช้อำนาจกำหนดการห้ามหรือการให้กระทำตามข้อกำหนดนี้จะต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้น้อยที่สุด และสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนทุกศาสนา

(ข) ในกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้กำกับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สั่งการแตกต่างไปจากที่ผู้อำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สั่งการไว้ ให้ผู้อำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามการสั่งการนั้นของรองนายกรัฐมนตรีโดยพลัน

๕.  ให้มีคณะที่ปรึกษาคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” (กสชต.) โดยมีองค์ประกอบดังนี้

(๑) รองนายกรัฐมนตรี                                 ประธานกรรมการ

(พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์)

(๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ              รองประธานกรรมการ”

(นาย)

(๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม                 รองประธานกรรมการ

(๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย                รองประธานกรรมการ

(๕) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม                 รองประธานกรรมการ

(๖) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม               รองประธานกรรมการ

(๗) (ยกเลิก)

(๘) ปลัดกระทรวงกลาโหม                             กรรมการ

(๙) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ                    กรรมการ

(๑๐) ปลัดกระทรวงมหาดไทย                         กรรมการ

(๑๑) ปลัดกระทรวงยุติธรรม                           กรรมการ

(๑๒) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ                        กรรมการ

(๑๓) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ กรรมการ

และสังคมแห่งชาติ

(๑๔) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ            กรรมการ

(๑๕) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด                           กรรมการ

(๑๖) ผู้บัญชาการทหารบก                             กรรมการ

(๑๗) ผู้บัญชาการทหารเรือ                            กรรมการ

(๑๘) ผู้บัญชาการทหารอากาศ                         กรรมการ

(๑๙) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ                      กรรมการ

(๒๐) อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ                    กรรมการ

(๒๑) หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง                  กรรมการ

ตามที่ประธานเห็นสมควร

(๒๒) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ              กรรมการและเลขานุการร่วม

(๒๓) รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด                      กรรมการและเลขานุการร่วม

(พลเอก สิริชัย ธัญญสิริ)

(๒๔) รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ         กรรมการและเลขานุการร่วม

ที่ได้รับมอบหมาย

(๒๕) อธิบดีกรมการปกครอง                          กรรมการและเลขานุการร่วม

(๒๖) รองเสนาธิการทหารบก ที่ได้รับมอบหมาย     กรรมการและเลขานุการร่วม

ให้คณะกรรมการดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดนี้และปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี มอบหมาย

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


สั่ง ณ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี


งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"