คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕๗/๒๕๕๕
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
คำสั่งที่ ๕๗/๒๕๕๕ | เรื่องพิจารณาที่ ๔๙/๒๕๕๕ |
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
- เรื่อง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔ ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจฟ้องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อศาลปกครองหรือไม่
ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบสรุปได้ว่า นายปราโมทย์ โชติมงคล ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้อง คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๐๖/๒๕๕๓ ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือร้องเรียนพร้อมเอกสารหลักฐานจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีกรณีมีคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๑๘๔/๒๕๕๓ เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย กล่าวคือ เป็นการออกคำสั่งหลังจากวันที่พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การพิจารณาและออกคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๑๘๔/๒๕๕๓ เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และถือเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจออกคำสั่งตามนัยแห่งมาตรา ๑๒ ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้นได้ออกคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๑๘๔/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่มีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ คือ วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ออกคำสั่งดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ (๒) ซึ่งบัญญัติให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๑๘๔/๒๕๕๓ ดังกล่าว เนื่องจากมิได้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการหรือการปฏิบัติราชการของรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๗ (๑) และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการบริหารงานบุคคล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๑๑/๑ ดังนั้น คำสั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๑๘๔/๒๕๕๓ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๒ จึงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๔๕ (๒) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำ ที่ อ. ๑๐๗๙/๒๕๕๓ คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๔๗๒/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๕ สรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ (๒) เนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ๑๘๔/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓ อันเป็นการออกมาภายหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่แล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา (ผู้ร้อง) ได้ยื่นคำร้อง ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นข้าราชการซึ่งเป็นบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๔ (๑) (ก) จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินในการนำคดีฟ้องศาลปกครองนั้น ผู้ร้อง ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เห็นว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะฟ้องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อศาลปกครองในฐานะข้าราชการได้ เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๒ บัญญัติว่า "ผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้อง (๑) ไม่เป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ" ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป จึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔
ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔ หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔ บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้น เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย" เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๒ ถึง มาตรา ๒๕๔ และบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๓๐๑ มาตรา ๓๐๒ และมาตรา ๓๐๙ ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินก็เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๒ ถึง มาตรา ๒๔๕ และบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๒๙๙ และมาตรา ๓๐๒ ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่า มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกับผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มิใช่ศาลตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป จึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔ ได้
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๑ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" เมื่อผู้ร้องดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๙ ซึ่งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๙ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ข้อ ๓ วรรคสอง บัญญัติให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน ต่อมา ผู้ร้องมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ จึงต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ (๒) และโดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๕๑/๒๕๕๔ ว่า บทบัญญัติมาตรา ๓๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๙ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติให้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีผลใช้บังคับได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ การใดที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกำหนดไว้ก็ให้เป็นไปตามนั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะของบทเฉพาะกาล ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ (๒) ที่บัญญัติว่า นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๓๓ แล้วผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์อีกกรณีหนึ่ง เมื่อการบังคับใช้ต่างกัน ผลของการใช้บังคับจึงไม่ขัดหรือแย้งกัน
ดังนั้น การที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่า ผู้ร้องมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ จึงเป็นการพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ (๒) เมื่อผู้ร้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยผลของกฎหมายแล้ว ผู้ร้องจึงไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐๑ วรรคสอง ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ กรณีไม่เข้าเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้ร้องจะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๔
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
- วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
- ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
- จรัญ ภักดีธนากุล
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- จรูญ อินทจาร
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- เฉลิมพล เอกอุรุ
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- ชัช ชลวร
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- นุรักษ์ มาประณีต
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- บุญส่ง กุลบุปผา
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- สุพจน์ ไข่มุกด์
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- อุดมศักดิ์ นิติมนตรี
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"