คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 4 / 2547

จาก วิกิซอร์ซ
คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๔/๒๕๔๗

เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง

..........................................................

ตามที่ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๖ เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง นั้น

โดยที่รัฐบาลมีนโยบายให้โอนงานที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบในการทำหน้าที่เบิกจ่ายเงินและการบัญชีของทุนหมุนเวียน ให้ฝ่ายเลขานุการเจ้าของโครงการเป็นผู้ดำเนินการ และกระทรวงพลังงานได้จัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(องค์การมหาชน) ขึ้น ทำหน้าที่รับผิดชอบเบิกจ่ายเงินและการบัญชีของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่รับโอนจากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๗ นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีนโยบายช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบปัญหาราคาน้ำมันแพงให้แก่ชาวประมงโดยให้ตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร

ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. ๒๕๑๖ นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๖ และกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๒/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๖ เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง

ข้อ ๒  ในคำสั่งนี้

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนี้

“น้ำมันเชื้อเพลิง” หมายความว่า น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาและน้ำมันที่คล้ายกันหรือน้ำมันสำหรับเครื่องยนต์ที่คล้ายกัน และให้ความหมายรวมถึงก๊าซและยางมะตอยด้วย

“ก๊าซ” หมายความว่า ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว ซึ่งได้แก่ โปรเปน โปรปิลีน นอร์มัลบิวเทน ไอโซ - บิวเทนหรือบิวทีลีนส์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันเป็นส่วนใหญ่

“คลังก๊าซ” หมายความว่า สถานที่ พร้อมด้วยถังเก็บก๊าซ อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับใช้เก็บก๊าซเพื่อการขายส่งโดยมีถังเก็บก๊าซที่มีขนาดความจุตั้งแต่สองพันลูกบาศก์เมตรขึ้นไป

“ถังก๊าซหุงต้ม” หมายความว่า ภาชนะที่ใช้บรรจุก๊าซที่มีขนาดบรรจุก๊าซไม่เกินถังละ ๕๐ กิโลกรัม แต่ไม่หมายความถึงภาชนะที่ใช้บรรจุก๊าซเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ

“โรงกลั่น” หมายความว่า โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง สถานที่ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงภายในราชอาณาจักรและให้หมายความรวมถึงโรงแยกก๊าซในราชอาณาจักรที่ผลิตและจำหน่ายก๊าซเพื่อใช้ในราชอาณาจักรและโรงอุตสาหกรรมเคมีปิโตรเลียมและสารละลายด้วย

“สถานีบริการ” หมายความว่า สถานที่ที่ดำเนินกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะให้แก่ประชาชน แต่ไม่หมายความรวมถึงสถานีบริการที่เป็นของกระทรวง ทบวง กรม หรือรัฐวิสาหกิจ และร้านค้าน้ำมันเชื้อเพลิง

“ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร” หมายความว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตและจำหน่าย ณ โรงกลั่นเพื่อใช้ในราชอาณาจักร

“ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้า” หมายความว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าเพื่อใช้ในราชอาณาจักร

“ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น” หมายความว่า ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นที่จำหน่ายให้แก่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๓

“ราคาขายปลีก” หมายความว่า ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำหนดโดยประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ แล้วแต่กรณี

“ค่าการตลาด” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งรวมผลตอบแทนในการดำเนินธุรกิจของเจ้าของสถานีบริการ ซึ่งรับน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ค้าน้ำมัน และของผู้ค้าน้ำมันซึ่งรับน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจากโรงกลั่นเพื่อใช้ในราชอาณาจักร หรือจากผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี

“ผู้ค้าน้ำมัน” หมายความว่า ผู้กระทำการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยซื้อ สั่งนำเข้า หรือได้มาด้วยประการอื่นใดเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีปริมาณการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดหรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่สองหมื่นเมตริกตันขึ้นไป

“ภาษี” หมายความว่า ภาษีสรรพสามิต และภาษีอื่น ๆ ที่เรียกเก็บจากน้ำมันเชื้อเพลิง

“อัตราภาษีสูงสุด” หมายความว่า อัตราภาษีสูงสุดของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด ที่กระทรวงการคลังมีอำนาจเรียกเก็บได้

“อัตราภาษีต่ำสุด” หมายความว่า อัตราภาษีต่ำสุดของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด ที่กระทรวงการคลังมีอำนาจเรียกเก็บได้

“ผู้บรรจุก๊าซ” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นผู้บรรจุก๊าซในถังก๊าซหุงต้มตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยการบรรจุก๊าซ

“เจ้าของสถานีบริการ” หมายความรวมถึง ผู้ค้าน้ำมันซึ่งเป็นเจ้าของสถานีบริการโดยให้ถือว่าผู้ค้าน้ำมันเป็นเจ้าของสถานีบริการแต่ละแห่ง และในกรณีที่เจ้าของสถานีบริการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ได้ ให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองหรือจัดการดูแลสถานีบริการด้วย

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

“คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน

“ปลัดกระทรวงพลังงาน” หมายความรวมถึง ผู้ซึ่งปลัดกระทรวงพลังงานมอบหมายด้วย

“สถาบัน” หมายความว่า สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๖

“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน

ข้อ ๓  ให้ตั้งกองทุนเรียกว่า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ประกอบด้วยเงินดังต่อไปนี้

(๑) เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ๑/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๐ เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง

(๒) เงินที่โอนมาจากกองทุนอื่น (ถ้ามี)

(๓) เงินที่ส่งเข้ากองทุนตามคำสั่งนี้

(๔) เงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นคราว ๆ (ถ้ามี)

(๕) เงินอื่น ๆ

ข้อ ๔  ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการคำนวณราคา และกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าเพื่อใช้ในราชอาณาจักร

(๒) กำหนดค่าการตลาดสำหรับการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิง

(๓) กำหนดค่าขนส่งไปยังคลังก๊าซและค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาก๊าซ ณ คลังก๊าซ ตลอดจนกำหนดราคาขายก๊าซณ คลังก๊าซเป็นราคาเดียวกันทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร

(๔) กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนหรืออัตราเงินชดเชยสำหรับก๊าซที่ซื้อหรือได้มาจากผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ซึ่งเป็นผู้ผลิตได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติในราชอาณาจักร น้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร น้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าเพื่อใช้ในราชอาณาจักร น้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งออก น้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายให้แก่เรือเพื่อใช้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร และก๊าซหุงต้มที่จำหน่ายให้แก่ประชาชน

(๕) กำหนดชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน หรือไม่ให้ได้รับเงินชดเชย

(๖) กำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นและคำนวณราคาขายปลีก

(๗) พิจารณากำหนดอัตราภาษีให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าอัตราภาษีต่ำสุดและไม่สูงกว่าอัตราภาษีสูงสุด

(๘) กำหนดให้โรงกลั่นแจ้งราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นต่อคณะกรรมการ

(๙) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามคำสั่งนี้

 (๑๐) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ ๕  ให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน มีอำนาจลงนามในประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานตามอำนาจหน้าที่ในข้อ ๔ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๗)ของคำสั่งนี้

ข้อ ๖  ให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นผู้จัดการกองทุน มีอำนาจหน้าที่ในการจ่ายเงินจากกองทุนตามคำสั่งนี้ และตามที่คณะกรรมการกำหนดตามข้อ ๔ ของคำสั่งนี้  ทั้งนี้ โดยให้มีอำนาจกำหนดระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ตามที่เห็นสมควรด้วย

ข้อ ๗  กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอาจมีรายจ่าย ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นเงินจ่ายชดเชยตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนดตามข้อ ๔ ของคำสั่งนี้

(๒) ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามหมวดรายจ่ายภายในวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการอนุมัติ ดังนี้

- ค่าจ้างชั่วคราว

- ค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ

- ครุภัณฑ์

- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเห็นชอบ

(๓) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง

(๔) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใด ๆ เพื่อให้การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือการจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ

(๕) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเห็นชอบ

ข้อ ๘  ในกรณีที่คณะกรรมการกำหนดให้มีการส่งเงินเข้ากองทุนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร ให้ผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ณ โรงกลั่นและจำหน่ายเพื่อใช้ในราชอาณาจักรส่งเงินเข้ากองทุนตามปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตและจำหน่ายเพื่อใช้ในราชอาณาจักรในอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

การส่งเงินเข้ากองทุนตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งแก่กรมสรรพสามิตพร้อมกับการชำระภาษีสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง (ถ้ามี) ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กรมสรรพสามิตกำหนด

ข้อ ๙  ในกรณีที่คณะกรรมการกำหนดให้มีการส่งเงินเข้ากองทุนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าให้ผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในราชอาณาจักรส่งเงินเข้ากองทุนตามปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าเพื่อใช้ในราชอาณาจักรในอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

การส่งเงินเข้ากองทุนตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งแก่ผู้รับชำระอากรขาเข้าพร้อมกับการชำระค่าภาษีอากรสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น (ถ้ามี)  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กรมศุลกากรกำหนด

ข้อ ๑๐  ในกรณีที่คณะกรรมการกำหนดให้มีการจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร ให้ผู้อำนวยการทำหน้าที่สั่งจ่ายเงินจากกองทุนชดเชยให้แก่ผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ณ โรงกลั่นและจำหน่ายเพื่อใช้ในราชอาณาจักร ตามปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตและจำหน่ายเพื่อใช้ในราชอาณาจักรในอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

การขอรับเงินชดเชยตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นรายการแจ้งชนิดและปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวแก่กรมสรรพสามิตพร้อมกับการชำระภาษีสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง (ถ้ามี) และให้นำข้อ ๘ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ ๑๑  ในกรณีที่คณะกรรมการกำหนดให้มีการจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้า ให้ผู้อำนวยการทำหน้าที่สั่งจ่ายเงินจากกองทุนชดเชยให้แก่ผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในราชอาณาจักร ตามปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าเพื่อใช้ในราชอาณาจักรในอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

การขอรับเงินชดเชยตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นรายการแจ้งชนิดและปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวแก่ผู้รับชำระอากรขาเข้าพร้อมกับการชำระค่าภาษีอากรสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น (ถ้ามี) และให้นำข้อ ๙ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ ๑๒  ในกรณีที่มีการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง

(๑) ถ้าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน ให้ผู้ส่งออกได้รับยกเว้นไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน แต่ถ้ามีการส่งเงินเข้ากองทุนแล้วให้ผู้ส่งออกขอคืนได้

(๒) ถ้าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะได้รับเงินชดเชยจากกองทุน ไม่ให้ผู้ส่งออกได้รับเงินชดเชยถ้ามีการได้รับเงินชดเชยจากกองทุนแล้วให้ผู้ส่งออกส่งเงินคืนกองทุน ไม่ว่าผู้ส่งออกนั้นจะเป็นผู้ได้รับเงินชดเชยหรือไม่

การขอรับยกเว้นไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน การขอคืนเงิน และการส่งเงินคืนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบของกรมสรรพสามิตหรือระเบียบของกรมศุลกากร แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ การส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำไปขายหรือจำหน่ายต่อให้แก่ชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร

ข้อ ๑๓  ในกรณีที่มีการขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำไปขายหรือจำหน่ายต่อให้แก่ชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร

(๑) ถ้าคณะกรรมการกำหนดให้มีการส่งเงินเข้ากองทุน ให้ผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวส่งเงินเข้ากองทุน ตามปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายหรือจำหน่ายในอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(๒) ถ้าคณะกรรมการกำหนดให้มีการจ่ายเงินชดเชยจากกองทุน ให้ผู้อำนวยการทำหน้าที่สั่งจ่ายเงินจากกองทุนชดเชยให้แก่ผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว ตามปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายหรือจำหน่ายในอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(๓) ในกรณีที่ผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงมิได้นำน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับเงินชดเชยตาม (๒) ไปขายหรือจำหน่ายต่อให้แก่ชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ให้ผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นส่งเงินคืนกองทุน ไม่ว่าผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นจะเป็นผู้ได้รับเงินชดเชยหรือไม่

การส่งเงินเข้ากองทุนและการขอรับเงินชดเชยตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมสรรพสามิตกำหนด

ข้อ ๑๔  ในกรณีที่มีการขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่เรือเพื่อใช้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร

(๑) ถ้าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะได้รับเงินชดเชยจากกองทุน ไม่ให้ผู้ขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นได้รับเงินชดเชย ถ้าได้รับเงินชดเชยจากกองทุนแล้ว ให้ผู้ขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นส่งเงินคืนกองทุน ไม่ว่าผู้ขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นจะเป็นผู้ได้รับเงินชดเชยหรือไม่

(๒) ถ้าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน และส่งเงินเข้ากองทุนแล้ว ให้ผู้ขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นได้รับเงินคืนจากกองทุน

ทั้งนี้ในอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนดสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดเดียวกันที่ใช้บังคับในวันปล่อยเรือเพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

การส่งเงินคืนกองทุนและการขอเงินคืนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมศุลกากรกำหนด

ข้อ ๑๕  ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นควรให้มีการกำหนดราคาขายปลีก ให้กระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) สั่งให้กรมการค้าภายในนำเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพิจารณากำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในกรุงเทพมหานคร

(๒) สั่งให้กรมการค้าภายในประสานงานกับคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพิจารณาการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในจังหวัด โดยคำนึงถึงอัตราค่าขนส่งที่เหมาะสมด้วย

ในกรณีที่คณะกรรมการให้กำหนดราคาขายปลีกเฉพาะในกรุงเทพมหานครให้ปฏิบัติตามความใน (๑) แต่ในกรณีที่คณะกรรมการให้กำหนดราคาขายปลีกเฉพาะในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครให้ปฏิบัติตามความใน (๒)

ข้อ ๑๖  ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงให้กรมธุรกิจพลังงานกระทรวงพลังงาน สั่งเป็นหนังสือให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลตามแบบที่กำหนดดังต่อไปนี้

(๑) แจ้งแผนการผลิต สั่ง นำเข้า และจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งเดือน

(๒) แจ้งปริมาณ ราคา และสถานที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าภายในสามวัน นับแต่วันนำเข้า

(๓) แจ้งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อหรือได้มา จำหน่ายและคงเหลือเป็นประจำ เดือนละ ๓ ครั้ง ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(ก) ครั้งที่ ๑ สำหรับการซื้อหรือได้มา และจำหน่ายระหว่างวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๑๐ ของเดือน ภายในวันที่ ๑๓ ของเดือนเดียวกัน

(ข) ครั้งที่ ๒ สำหรับการซื้อหรือได้มา และจำหน่ายระหว่างวันที่ ๑๑ ถึงวันที่ ๒๐ ของเดือน ภายในวันที่ ๒๓ของเดือนเดียวกัน

(ค) ครั้งที่ ๓ สำหรับการซื้อหรือได้มา และจำหน่ายระหว่างวันที่ ๒๑ ถึงวันสิ้นเดือน ภายในวันที่ ๓ ของเดือนถัดไป

ข้อ ๑๗  เพื่อให้มีก๊าซสำหรับประชาชนใช้ในการหุงต้มอย่างพอเพียง ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งขายหรือจำหน่ายก๊าซที่บรรจุในถังก๊าซหุงต้ม ต้องจัดให้มีการบรรจุก๊าซใส่ถังก๊าซหุงต้มและจำหน่ายให้ทั่วถึงทุกอำเภอที่มีการใช้ถังหุงต้มซึ่งแสดงเครื่องหมายการค้าของตน

ในการบรรจุก๊าซหรือจำหน่ายตามวรรคหนึ่ง ผู้ค้าน้ำมันดังกล่าวอาจมอบหมายให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๓ รายอื่น หรือผู้บรรจุก๊าซเป็นผู้ดำเนินการแทนได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน  ทั้งนี้ การยื่นขออนุญาต การเปลี่ยนแปลง การยกเลิก และการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามระเบียบที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด

ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๓ หรือผู้บรรจุก๊าซซึ่งดำเนินการแทนผู้ค้าน้ำมันดังกล่าวต้องทำการปิดผนึกลิ้น (Valve) ถังก๊าซหุงต้มทุกครั้งที่บรรจุก๊าซ และต้องมีเครื่องหมายประจำตัวแสดงไว้ที่อุปกรณ์ปิดผนึกลิ้น (Seal) ถังก๊าซหุงต้ม โดยต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบของกรมธุรกิจพลังงานในการขอรับเครื่องหมายประจำตัว การปิดผนึกลิ้น การแสดงเครื่องหมายประจำตัวและการดำเนินการอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามที่กำหนดไว้ข้างต้น

เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการปฏิบัติของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. ๒๕๔๓ และผู้บรรจุก๊าซให้เป็นไปตามที่กำหนดในวรรคสาม ให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานออกประกาศแต่งตั้งข้าราชการในกรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่รวมทั้งกำหนดการออกบัตรประจำตัวและการดำเนินการอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการตรวจสอบในท้องที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งกำหนดการออกบัตรประจำตัวและการดำเนินการอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการตรวจสอบในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ แต่ละจังหวัด

ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๓ ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการแทนผู้ค้าน้ำมันตามวรรคสองและผู้จำหน่ายก๊าซที่บรรจุใส่ถังก๊าซหุงต้มแล้ว ต้องยินยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งตามวรรคสี่เข้าไปในสถานที่บรรจุก๊าซ เก็บรักษาก๊าซ หรือจำหน่ายก๊าซเพื่อทำการตรวจสอบการปฏิบัติตามที่กำหนดในวรรคสาม

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการแทนผู้ค้าน้ำมันตามวรรคสองปฏิบัติไม่ถูกต้องตามที่กำหนดในวรรคสาม ไม่ว่าจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ ให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานมีอำนาจสั่งเพิกถอนการอนุญาตตามวรรคสองได้ทุกราย และแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ตั้งของผู้ถูกเพิกถอนทราบ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งเพิกถอนได้เฉพาะรายที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดของตนและแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ

ข้อ ๑๘  ห้ามมิให้ผู้ใดขายหรือจำหน่ายหรือมีไว้จำหน่าย ซึ่งก๊าซที่บรรจุใส่ถังก๊าซหุงต้มแล้วโดยไม่มีอุปกรณ์ปิดผนึกลิ้นหรือเครื่องหมายประจำตัวตามที่กำหนดในข้อ ๑๗ วรรคสาม

ข้อ ๑๙  ห้ามมิให้ผู้ใดขายหรือจำหน่ายก๊าซให้แก่ผู้บรรจุก๊าซ หรือฝาก หรือกระทำด้วยวิธีการใด ๆ ให้ผู้บรรจุก๊าซมีก๊าซอยู่ในครอบครอง ยกเว้นก๊าซที่ได้มาจากการเป็นผู้ดำเนินการบรรจุก๊าซแทนผู้ค้าน้ำมันตามข้อ ๑๗ วรรคสอง หรือก๊าซที่บรรจุในถังก๊าซหุงต้มแล้ว

ข้อ ๒๐  ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๓ขายหรือจำหน่ายก๊าซให้แก่สถานีบริการ ยกเว้นก๊าซที่บรรจุในถังก๊าซหุงต้มแล้ว

ข้อ ๒๑  ผู้บรรจุก๊าซต้อง

(๑) ไม่ซื้อหรือรับก๊าซหรือรับฝากหรือกระทำด้วยวิธีการใด ๆ ให้มีก๊าซอยู่ในครอบครอง ยกเว้นก๊าซที่ได้มาจากการเป็นผู้ดำเนินการบรรจุก๊าซแทนผู้ค้าน้ำมันตามข้อ ๑๗ วรรคสอง หรือก๊าซที่บรรจุในถังก๊าซหุงต้มแล้ว

(๒) ไม่นำก๊าซที่ได้มาจากการเป็นผู้ดำเนินการบรรจุก๊าซแทนผู้ค้าน้ำมันตามข้อ ๑๗ วรรคสอง ไปขายหรือจำหน่ายหรือใช้ในการอื่นก่อนนำไปบรรจุใส่ถังก๊าซหุงต้ม

ข้อ ๒๒  เจ้าของสถานีบริการต้อง

(๑) ไม่ซื้อหรือรับก๊าซจากผู้ใดนอกจากผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.๒๕๔๓ ยกเว้นก๊าซที่บรรจุในถังก๊าซหุงต้มแล้ว

(๒) ไม่ขายหรือจำหน่ายก๊าซเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะในวันและเวลาที่ทางราชการกำหนดห้ามสำหรับขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ

(๓) ไม่บรรจุก๊าซลงในถังก๊าซหุงต้ม เพื่อขายหรือจำหน่ายก๊าซให้ผู้อื่น

ข้อ ๒๓  ห้ามมิให้ผู้ใดนำก๊าซที่บรรจุในถังก๊าซหุงต้มไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะหรือถ่ายก๊าซออกจากถังก๊าซหุงต้มนอกสถานที่บรรจุก๊าซ ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีการ

ใด ๆ ทั้งสิ้น

ข้อ ๒๔  ในกรณีที่มีการซื้อหรือได้มาซึ่งก๊าซจากผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมซึ่งได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติ ให้ผู้ซื้อหรือได้มาซึ่งก๊าซนั้นส่งเงินเข้ากองทุนหรือขอรับเงินชดเชยจากกองทุนในอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

การส่งเงินเข้ากองทุนหรือการขอรับเงินชดเชยจากกองทุนตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นรายการแจ้งชนิดและปริมาณก๊าซดังกล่าวแก่ผู้รับชำระค่าภาคหลวงก๊าซพร้อมกับการชำระค่าภาคหลวงสำหรับก๊าซ (ถ้ามี)  ทั้งนี้ตามระเบียบที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนด

ข้อ ๒๕  ในกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๔๓ ขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ซึ่งนำน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นไปใช้เป็นวัตถุดิบในโรงกลั่นหรือกรณีผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบในโรงกลั่นทั้งนี้ยกเว้นน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง

(๑) ถ้าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน ให้ผู้ค้าน้ำมันซึ่งขายหรือผู้ซึ่งนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน แต่ถ้ามีการส่งเงินเข้ากองทุนแล้ว ให้ขอคืนได้

(๒) ถ้าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะได้รับเงินชดเชยจากกองทุน ไม่ให้ผู้ค้าน้ำมันซึ่งขายหรือผู้ซึ่งนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นได้รับเงินชดเชย แต่ถ้ามีการได้รับเงินชดเชยจากกองทุนแล้ว ให้ส่งเงินคืนกองทุน

การขอรับยกเว้นไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน การขอคืนเงินที่ส่งเข้ากองทุนและการส่งเงินคืนกองทุนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบของกรมสรรพสามิตหรือระเบียบของกรมศุลกากร แล้วแต่กรณี

ข้อ ๒๖  ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนไม่ส่งเงินเข้ากองทุน หรือส่งเงินเข้ากองทุนไม่ครบตามจำนวนที่ต้องส่ง หรือไม่ส่งเงินคืนกองทุนภายในเวลาที่กำหนดให้ดำเนินการดังนี้

(๑) ในกรณีที่ผู้นั้นเห็นเองว่า ตนมีกรณีดังกล่าว ให้ผู้นั้นส่งเงินตามจำนวนที่ต้องส่ง หรือตามจำนวนที่ขาด หรือตามจำนวนที่ต้องคืนเข้ากองทุน พร้อมทั้งเงินเพิ่มในอัตราร้อยละสามต่อเดือนของจำนวนเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ครบกำหนดส่งเงินเข้ากองทุน จนกว่าจะครบแก่กรมสรรพสามิต สำหรับผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ณ โรงกลั่นและจำหน่ายเพื่อใช้ในราชอาณาจักรและผู้ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง หรือแก่กรมศุลกากรสำหรับผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และผู้ซึ่งขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่เรือเพื่อใช้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี

(๒) ในกรณีที่กรมสรรพสามิตสำหรับผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ณ โรงกลั่นและจำหน่ายเพื่อใช้ในราชอาณาจักรและผู้ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง หรือกรมศุลกากรสำหรับผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้ซึ่งขายหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่เรือเพื่อใช้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เป็นผู้ตรวจพบว่ามีกรณีดังกล่าว ให้กรมสรรพสามิตหรือกรมศุลกากร แล้วแต่กรณี แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเงินตามจำนวนที่ต้องส่ง หรือตามจำนวนที่ขาด หรือตามจำนวนที่ต้องคืนเข้ากองทุน พร้อมทั้งเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหกต่อเดือนของจำนวนเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ครบกำหนดส่งเงินเข้ากองทุนจนกว่าจะครบแก่กรมสรรพสามิตหรือกรมศุลกากร แล้วแต่กรณี ภายในระยะเวลาที่กำหนด

หากพ้นกำหนดระยะเวลาตาม (๒) แล้ว ผู้มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนไม่ได้ส่งเงินพร้อมทั้งเงินเพิ่มหรือส่งไม่ครบตามจำนวนที่ต้องส่ง ให้กรมสรรพสามิตหรือกรมศุลกากร แล้วแต่กรณีดำเนินการให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเร็ว

ให้ถือว่าเงินเพิ่มตาม (๑) และ (๒) เป็นเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนด้วย และในการคำนวณระยะเวลาเพื่อการคำนวณเงินเพิ่มตาม (๑) หรือ (๒) นั้น หากมีเศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน

ข้อ ๒๗  เงินที่ส่งเข้ากองทุน และเงินชดเชยที่ได้รับจากกองทุนตามคำสั่งนี้ให้ถือเป็นรายจ่ายหรือเงินได้ แล้วแต่กรณี ตามประมวลรัษฎากร

ข้อ ๒๘  การขอรับเงินชดเชยตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ถูกยกเลิกตามข้อ ๑ ของคำสั่งนี้ หากมิได้กระทำภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับห้ามมิให้ผู้อำนวยการรับไว้พิจารณา

ข้อ ๒๙  บรรดาระเบียบและประกาศที่ออกตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ถูกยกเลิกตามข้อ ๑ ของคำสั่งนี้ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้จนกว่าจะมีระเบียบหรือประกาศที่ออกตามคำสั่งนี้ใช้บังคับ  ทั้งนี้ ระเบียบและประกาศดังกล่าวให้นำมาใช้บังคับกับการส่งเงินเข้ากองทุน การขอรับเงินชดเชย และการจ่ายเงินจากกองทุนทั้งในกรณีที่เป็นการปฏิบัติตามหรือในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ถูกยกเลิกตามข้อ ๑ ของคำสั่งนี้ ก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับด้วย

ข้อ ๓๐  ในกรณีที่มีปัญหาในการตีความเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยและให้คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่สุด

ข้อ ๓๑  คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นต้นไป


สั่ง ณ วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

พันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี



เชิงอรรถ[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"