ข้ามไปเนื้อหา

คำแปลธรรมเทศนาของพระโลกนาถ/ธรรมเทศนา

จาก วิกิซอร์ซ


พระธรรมเทศนา พระโลกนาถ




ในประเทศอินเดีย ชาวฮินดูมักพากันถามอาตมาเสมอๆ ว่า “ทำไมพวกอุบาสกอุบาสิกาในพม่า ลังกา และสยาม จึงรับประทานเนื้อสัตว์? สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิได้เทศนาหลักแห่งความเมตตากรุณาไว้ดอกหรือว่า อหิงสา ปรมา ธมฺมา ความไม่เบียดเบียนกันเป็นธรรมะสูงสุด”

เมื่ออาตมาได้ฟังคำพูดเช่นนั้น ทำให้อาตมาต้องอึ้งเสมอ อาตมาต้องนิ่ง อาตมาไม่มีคำตอบ สัมปชัญญะบอกอาตมาว่า คำกล่าวหาของพวกเหล่านั้นเป็นความจริง แล้วอาตมาปลอบตนเองด้วยความคิดที่ว่า สมเด็จพระพุทธองค์มิได้ทรงอุบัติขึ้น เพื่อบุคคลทั่วไปที่จมอยู่ในกองกิเลส พระองค์ทรงโปรดได้แต่เฉพาะบางคน ที่มีจิตบริสุทธิ์พอที่จะสำเร็จได้เท่านั้น

ขอให้เรามาแยกแยะปัญหาข้อนี้ให้ถี่ถ้วน ขอให้มาแสวงหาความจริงโดยไม่ต้องเกรงกลัวอะไร เพราะความจริงเป็นของดีที่สุดถึงแม้จะทำให้รู้สึกเจ็บบ้าง คมมีดของนายศัลยแพทย์ก็จำเป็นจะต้องใช้ตัดเอาเนื้อร้ายออกเสียจนได้

ทำไมคนทั่วไปจึงสมคบกันอย่างเงียบๆ ละเมิดศีลข้อ ๑ ที่ว่า ปาณาติปาตาเวรมณีฯ งดเว้นจากการทำชีวิตให้ตกล่วงไปอยู่ ดังนี้คนทุกคนชอบเสพเนื้อสัตว์ ดังนั้น แต่ละคนจึงจงใจให้คนอื่นเชื่อไปว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรานั้นทรงอนุญูาตให้เสพเนื้อสัตว์ได้ ขอให้เปิดช่องให้มนุษย์แต่น้อยเดียวเถิด! แล้วมนุษย์จะกระโดดเข้าขยายช่องนั้น กว้างออกไปจนโตเต็มความพอใจของตน “อกุศลเจตนาของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุดได้” เขาจะถือเอาความผ่อนผันของสมเด็จพระศาสดาจารย์ไปใช้โดยไม่มีจำกัดขีดขั้น มนุษย์จะยกเอาพุทธานุญาตขึ้นมาบังหน้า แล้วระเริงกันไปโดยไม่มีการเหนี่ยวรั้ง หมู่มนุษย์นั้นจะถือว่า บรรลุสภาพบุคคลแล้วยังไม่ได้ เป็นเพียงแต่ทารกต้องใช้ไม้เรียวอยู่เสมอ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ทรงอนุญาตให้ภิกษุบริโภคเนื้อสัตว์ได้ต่อเมื่อไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน หรือไม่สงสัยว่าสัตว์นั้นถูกฆ่าเฉพาะเพื่อภิกษุนั้น ภิกษุเป็นผู้ปราศจากสมบัติ จะซื้อหรือขายอะไรไม่ได้ ฉะนั้นภิกษุจะต้องรับเอาอาหารใดๆ ที่จะพึงได้โดยดุษณีภาพ จะเป็นอาหารดีหรือเสีย มากหรือน้อย ผักหรือเนื้อ ก็ต้องรับทั้งสิ้น

แต่หลักข้อนี้ใช้แก่ภิกษุเป็นส่วนมาก ไม่ใคร่ใช้สำหรับอุบาสกอุบาสิกา เป็นธรรมดาอยู่เองที่ฆราวาสจะเถียงว่า “ก็เมื่อพระภิกษุซึ่งเป็นอาจารย์และผู้นำของเราบริโภคเนื้อสัตว์ได้ เหตุไรเราจะเอาอย่างไม่ได้? เรากินเนื้อสัตว์กันเถิด” คารมเหตุผลนั้นถูก แต่ความหมายสุดท้ายนั้นผิด…

ภิกษุไม่มีเงิน ดังนั้นภิกษุจะต้องบริโภคตามแต่จะได้ ไม่ใช่ตามแต่จะชอบ แต่อุบาสกอุบาสิกามีเงิน กินอะไรได้ตามประสงค์ผักหรือเนื้อ

ในเรื่องอาหารนี้ ภิกษุมีเสียงไม่ได้ แต่อุบาสกอุบาสิกามีเสียงได้เต็มที่ ภิกษุเลือกอะไรไม่ได้ อุบาสกอุบาสิกาเลือกได้ทุกประการ ถ้าภิกษุบริโภคเนื้อสัตว์ ก็เป็นกรรมที่ไม่มีเจตนา ภิกษุเลือกชนิดอาหารที่จะรับไม่ได้ เมื่อภิกษุบริโภคเนื้อสัตว์บ้าง ก็บริโภคด้วยความไม่เต็มใจยิ่ง แต่ถ้าอุบาสกอุบาสิกาเสพเนื้อสัตว์ โดยมากเป็นกรรมที่มีเจตนา เพราะอุบาสกเลือกชนิดอาหารได้ อุบาสิกามีเงิน จะซื้ออาหารอย่างไรก็ได้ตามชอบ ผัก หรือ เนื้อ

เพราะฉะนั้น เรื่องของภิกษุจึงต่างกับเรื่องของอุบาสก ภิกษุที่แท้จริงนั้นหวังจะบริโภคแต่ผัก เพราะฉะนั้น ฆราวาสผู้ประสงค์จะได้บุญมากต้องถวายผักแก่ภิกษุ อย่าถวายเนื้อสัตว์เลย ผู้ที่ถวายเนื้อสัตว์แก่ภิกษุนั้น ได้บุญน้อย หรือไม่ได้เลย ฆราวาสผู้ถวายอาหารที่เป็นผักแก่พระภิกษุจะได้บุญมากมาย

การรับประทานเนื้อสัตว์นั้น ทำให้มีความสงสัย แม้เราจะไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ว่าเนื้อนั้นไม่ได้ทำสำหรับเราโดยเฉพาะก็ดี แต่เราก็สงสัยอยู่เสมอ เนื้อสัตว์จะต้องทำเพื่อผู้บริโภคเสมอไป ฉะนั้น การรับประทานเนื้อสัตว์ก็เป็นการผิดศีล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ทรงสั่งสอนให้รับประทานผักโดยทางอ้อม ทำไมไม่สอนโดยตรงเล่า ก็เพราะว่าหลักทุกหลักต้องมีข้อยกเว้น สมเด็จพระศาสดาทรงเป็นบรมมหาปราชญ์แห่งปราชญ์ทั้งหลาย

ทำไมจึงมีชีวิตอยู่ในความสงสัยตลอดไปเล่า? เป็นผู้เสพแต่ผักเสียเถิด แล้วความสงสัยก็จะหมดสิ้นไป จะได้อยู่ในทางที่ปราศจากภัย จะได้มีชีวิตอยู่โดยจิตใจบริสุทธิ์

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ต้องการให้เราปฏิบัติเมตตาและกรุณา ศีลข้อ 1 นั้นชัดมาก มิได้หมายความแต่เฉพาะว่า เราจะต้องไปฆ่า หรือทำร้ายสัตว์มีชีวิต แต่หมายความด้วยว่า เราจะต้องไม่ทำให้มีการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์มีชีวิตใดๆ ด้วย

พระธรรมบทกล่าวไว้ว่า :-

คนใดหรือสัตว์ใดจะเป็นใครก็ตามที
แม้ตนโทษกรณ์มีก็ย่อมหวาดขลาดต่อทัณฑ์
เหตุว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมกลัวตายทั่วหน้ากัน
ลองเอาใจเรานั้นใส่ใจเขาเข้าก็เห็น
(เหตุนี้ขอทีเถิด!อย่าละเมิดซึ่งศีลเบญจ์)
ผลาญสัตว์จึงควรเว้นหรืออย่าเข่นให้ฆ่ากัน
คนใดหรือสัตว์ใดจะเป็นใครก็ตามที
แม้ตนโทษกรณ์มีก็ย่อมหวาดขลาดต่อทัณฑ์
เหตุว่าสัตว์ทุกผู้ย่อมต้องรู้รักชีวัน
จงประพฤติแก่ท่านนั้นดุจต้องการให้เราเป็น
(เหตุนี้ขอทีเถิด!อย่าละเมิดซึ่งศีลเบญจ์)
ผลาญสัตว์จึงควรเว้นหรืออย่าเข็นให้ฆ่ากัน
แม้นใครจักทำลำเค็ญให้แก่สัตว์เป็น
ผู้ต้องการสุขทุกคน
เพื่อหวังบำเรอสกลให้สุขแก่ตน
ตัวเองจักต้องเวทนา
ดับจิตไปแล้วเถิดหนากรรมนั้นจักมา
สนองให้ไม่พบสุขเอย

การซื้อเนื้อสัตว์ในตลาดนั้นทำให้มีการฆ่าสัตว์ เพราะการจำหน่ายย่อมต้องให้พอเพียงแก่ความต้องการ ฉะนั้น การซื้อเนื้อในตลาดก็เป็นการผิดศีลข้อ 1

ดร.โสนิ เขียนไว้ว่า “สำหรับข้าพเจ้านั้น ถ้าคำว่า ‘อย่าฆ่าสัตว์’ มิได้หมายความไปถึงว่า ‘อย่าเสพเนื้อสัตว์’ ด้วยแล้ว ศีลห้าก็จะศูนย์ค่าและความหมายไปสิ้น ข้าพเจ้าถือข้อนี้เคร่งนัก ความตัดสินใจมั่นในข้อนี้ ได้ทำให้ข้าพเจ้าเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์มา 11 ปีแล้ว และความเชื่อมั่นข้อนี้พร้อมด้วยความสัตย์จริงเป็นกำลังหนุนอยู่ จักทำให้ข้าพเจ้าได้อุปการะแก่สัตว์อันน่าสงสารได้บ้างในบางกาล ขณะนี้ ข้าพเจ้ากำลังคิดตั้งสมาคมสำหรับผู้ที่ปลงใจจะเว้นจากการเสพเนื้อสัตว์ในสภาพใดๆ อยู่”

จริงทีเดียว ศีลห้าจะศูนย์ค่าและความหมายสิ้น ถ้าคำว่า ‘อย่าฆ่าสัตว์’ มิได้หมายความไปถึงว่า ‘อย่าเสพเนื้อสัตว์’ ด้วย ทั้งนี้เพราะว่าจะมีการเสพเนื้อสัตว์ไม่ได้เลย ถ้าไม่มีการฆ่าสัตว์เสียก่อน กินเนื้อสัตว์ทำให้เกิดการฆ่าสัตว์ ฉะนั้นอย่าฆ่าสัตว์หมายถึงอย่ากินเนื้อสัตว์ด้วย

ดร.โสนิ เขียนต่อไปว่า “การเสพเนื้อสัตว์ได้ฝังรากลงในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเสียแล้ว จนกระทั่งไม่รู้สึกกันว่าเป็นของชั่วร้าย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะต้องมีคนฉลาดการคัดค้านในข้อนี้” จริงทีเดียวเราจะได้ฟังพุทธศาสนิกชนกล่าวความเช่นว่า “เนื้อสัตว์ตายในตลาดเป็นของบังสุกุล อาจรับประทานได้” ดังนี้! เพื่อนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเอ๋ย! อาตมาขอคัดค้านในข้อนี้ “เนื้อสัตว์ตายในตลาดไม่ใช่ของบังสุกุล ทำไมไม่ใช่ ก็เพราะว่าการจำหน่ายย่อมต้องให้พอกับความต้องการ เนื้อบังสุกุลต้องเป็นเนื้อที่มีขึ้นด้วยเหตุสุดวิสัย เป็นต้นว่าเนื้อของสัตว์ที่ตายเอง ตราบใดที่มีการจำหน่ายให้พอกับความต้องการแล้ว จะไม่มีเนื้อบังสุกุลเลย ถ้าไม่มีความต้องการก็จะไม่มีเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าตาย เพราะฉะนั้นท่านจะต้องรับผิดในการที่เขาจำหน่าย ท่านจะต้องรับผิดในการที่เขาฆ่าสัตว์ตาย ท่านละเมิดศีลข้อ 1 ปาณาติปาตาเวรมณีฯ นั้น

การจำหน่ายย่อมเป็นไปตามส่วนของความต้องการ
ความต้องการเป็นเหตุ
การจำหน่ายเป็นผล
ถ้าไม่มีเหตุ ก็ไม่มีผล
ถ้าไม่มีความต้องการ ก็ไม่มีการจำหน่าย และไม่มีการฆ่าสัตว์
(ซ. ต. พ.)

ถ้าไม่มีคนกินเนื้อสัตว์หรือคนซื้อ ผู้ฆ่าสัตว์ก็จะต้องเลิกอาชีพหรือต้องเปลี่ยนไปทำกิจการอื่นๆ ที่น่านับถือกว่า โอ้ … ท่านผู้ชอบกินเนื้อทั้งหลาย คนฆ่าสัตว์นะเป็นผู้สมคบกับท่านด้วยน่ะ! ท่านให้เงินเขาเป็นสินจ้าง ท่านจ้างเขาฆ่าสัตว์ซึ่งไม่รู้เดียงสา เพื่อกระเพาะของท่าน

พุทธศาสนิกชนบางท่านลวงตนเองอย่างใหม่ คือ สับปลา หรือเนื้อนั้นเป็นชิ้นเล็กๆ เล็กที่สุดจนมองไม่เป็นเนื้อ ด้วยศิลปเหล่านั้น เขาอาจลวงตนเองได้ แต่จะลวงกรรมนั้นไม่ได้ดอก ปาณาติบาตฯ ก็คือ ปาณาติบาตฯ จะทำเนื้อเป็นอย่างใด ชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ ก็ไม่พ้นกรรมร่วมอยู่นั่นเอง

สมเด็จพระศรีสรรเพ็ชร์พุทธเจ้าของเรานั้นอุบัติมาในโลก เพื่อคัดค้านการบูชายัญด้วยเลือดเนื้อ ซึ่งกระทำกันอยู่ในสมัยของพระองค์ แต่มาบัดเดี๋ยวนี้ เรากลับบูชายัญด้วยเลือดเนื้อ เพื่อเอาใส่กระเพาะของเราให้เต็ม โลหิตในโรงฆ่าสัตว์นั้นไหลหลั่งดุจอุทกธาร อาตมาอยากทราบนักว่า ในสมัยโบราณที่เขาใช้บูชายัญต่อพระเจ้า กับสมัยนี้ที่บูชาต่อกระเพาะนั้นต่างกันอย่างไร? อาตมาว่าท้องก็คือพระเจ้านั่นเอง

ท้องนั้นเมื่อใส่อาหารเข้าไปเต็มแล้ว ก็คือความเปล่าด้วยความโง่เขลา (อวิชชา) ทำให้เกิดสังสารโลกขึ้น เหตุนี้จงปล่อยให้ท้องว่าง โดยรับประทานอาหารแต่มื้อเดียว แล้วท่านก็จักทำลายสังสารโลกเสียได้ โดยสำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่คือวิธีของพระมหากัสสปะเถระ และธุดงค์บัญญัติ 13 ข้อของท่าน อดอาหารและทรมานตน นุ่งห่มแต่น้อย และอยู่กลางแจ้ง นำความสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และนิพพานมาให้ได้เป็นตัวอย่าง

ถ้าเมื่อใดพุทธศาสนิกชนละการเสพเนื้อสัตว์เสียได้แล้ว เมื่อนั้นความต้องการเนื้อสัตว์ก็จะน้อยลง ขอให้อุบาสกอุบาสิกาทุกคนจงบังคับตนเอง อย่าไปติผู้อื่นเขา แม้คนคนเดียวไม่อาจช่วยชีวิตสัตว์ทั้งโลกได้ก็ดี แต่คนคนนั้นก็ยังอาจช่วยชีวิตสัตว์ที่เขาสามารถจะช่วยได้อยู่ การทำตัวอย่างนั้นติดต่อกันไปได้ เริ่มรับประทานแต่ผักขึ้นคนเดียว จะยังผลให้ผู้อื่นเห็นเกิดกุศลจิตอีกหลายคนกระทำตาม “การปฏิบัติเป็นตัวอย่างนั้นดีกว่าออกบัญญัติ”

ขอให้คิดดู ชีวิตสัตว์ประมาณ 200,000 (สองแสน) ตัว จะต้องถูกฆ่าเพื่อคนคนหนึ่งมีชีวิตอยู่ 60 ปี น่าสลดใจไหมเล่า? ดูซิคนคนเดียวกินอะไรบ้างในชีวิต ๖๐ ปี :-

นก เป็ด ไก่ ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... 20,000 ตัว
ไข่... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... .60,000 ฟอง
กุ้ง ปลา ฯลฯ ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... 120,000 ตัว
สัตว์อื่นๆ ( สุกร โค ฯลฯ) ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... ... 3,000 ตัว
รวมทั้งสิ้น (สองแสนสามพันชีวิต) ... ... ... ... ... ... ... ... 203,000 ตัว