คำแปลธรรมเทศนาของพระโลกนาถ/ธรรมเทศนา/1

จาก วิกิซอร์ซ


พระธรรมเทศนา พระโลกนาถ




ในวันหนึ่งๆ เรากินสัตว์ที่ถูกฆาตกรรมดูก็เล็กน้อย แต่เมื่อรวมเข้าซิ! จะเป็นเรื่องสำคัญนัก “น้ำทีละหยดยังทำให้ถังเต็มได้ฉันใด คนพาลจะมีบาปหนาก็ด้วยกระทำทีละน้อยๆ ฉันนั้น”

ท่านมีอำนาจเหนือสัตว์อยู่ 200,000 (สองแสน) ตัว[1] ท่านจะเว้นชีวิตให้เพื่อความเมตตาไม่ได้เจียวหรือ? หรือท่านจะฆ่ามันเพื่อลิ้นของท่าน ท่านจะมีสุขใจได้อย่างไร? ในเวลาที่เสพเนื้อสัตว์โดยรู้อยู่ว่า รสโอชะนั้นได้ประกอบขึ้นด้วยความรับทุกขเวทนาของสัตว์อื่นๆ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้นทรงเสวยแต่ผักผลไม้ต่างๆ คนชอบเสพเนื้อสัตว์บางคนพยายามพิสูจน์ว่า พระองค์เข้าสู่ปรินิพพานโดยเสวยเนื้อสุกร เหลวไหลอะไรเช่นนั้น สมเด็จพระพุทธองค์ทรงบริโภคแต่ผลาหารมาจนตลอดพระชนม์ชีพ จะว่าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานด้วยการเสวยเนื้อสุกรอย่างไรได้ พระองค์ทรงเสวยผักผลไม้ต่างๆ จนตลอดกาลอวสาน พระองค์เสด็จสู่ปรินิพพานโดยเสวย “เห็ดที่เป็นพิษต่างหาก” อินเดียนักบุญไม่เสพเนื้อสัตว์หมด มาจนถึงทุกวันนี้

พระเจ้าอโศก ก็เป็นพุทธศาสนิกที่แท้ พระองค์เสวยแต่ผลาหาร และได้ตั้งกฎหมายขึ้นคุ้มครองชีวิตสัตว์ทั้งหลายด้วย ไม่มีราชาธิราชองค์ใดในพงศาวดาร ที่จะเปรียบปานพระองค์ได้ พระองค์เป็นบรมราชาธิราชอย่างแท้จริง “กษัตริย์อธิราชในมวลประวัติศาสตร์ทั้งปวง ไม่มีใครจะดีเลิศล่วงพระเจ้าอโศกราช รัศมีของพระองค์ส่งแสงสว่างอยู่กลางนภากาศ ดุจดาราเด่นดวงสุกใสสะอาดอยู่ดวงเดียว”

เมื่ออาตมาเริ่มนับถือพระพุทธศาสนาในอเมริกา [2] อาตมาก็เริ่มรับประทานแต่ผักตั้งแต่บัดนั้นมา แม้ว่าในเวลารับประทานอาหาร พวกพี่น้องจะพากันล้อเลียนอาตมา ที่กลับเป็นคนรับประทานแต่ผักในทันทีทันใดนั้นก็ดี แต่อาตมาก็คงมั่นอยู่ในคำปฏิญาณนั้น และปฏิเสธอย่างแน่นแฟ้น ไม่ยอมรับประทานเนื้อสัตว์ เนื้อปลา หรือไข่ เป็นอันขาด

แต่ครั้งโบราณกาล มีพยาธิอยู่เพียง 3 ชนิดเท่านั้น กล่าวคือ อิจฉา-ความต้องการ อนสนัง-ความหิว และชรา-ความแก่ แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากการที่ฆ่าสัตว์กิน พยาธิ 3 ประการนี้ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 98 จำพวก พยาธิเกิดขึ้นได้จากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ถ้าเราขว้างก้อนหินให้ตรงดิ่งขึ้นไปบนอากาศ ก้อนหินนั้นก็จะตกลงตรงหัวเรา ในทำนองเดียวกันถ้าเราให้ทุกข์แก่สัตว์ใดๆ ทุกข์นั้นก็จักตกลงบนหัวเราอีก เหตุอย่างไรผลอย่างนั้น

“อยู่เถิด! และปล่อยให้เขาอยู่ด้วย” ขอให้ถือข้อนี้ไว้เป็นคาถา ถ้าท่านบั่นทอนชีวิตผู้อื่น ชีวิตของท่านก็จักต้องสั้นไปด้วย ถ้าท่านมีชีวิตอยู่โดยการกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา สัตว์เหล่านั้นก็จะกระโดดคว้าคอหอย และคอยกินท่านเสียเช่นเดียวกัน เป็นธรรมดาอยู่เองที่บุคคลจะกลายเป็นปลาไปก็ได้ ถ้าได้บรรจุปลา 120,000 (หนึ่งแสนสองหมื่น) ตัวเข้าไว้ในกระเพาะ ขอให้ดูเหยี่ยวกินปลาเถิด ว่ามีเนื้อหนังเหม็นคาวปลาอย่างไร เมื่อรูปขันธ์ (ร่างกาย) เป็นปลาไปแล้ว ขันธ์อื่นๆ (จิตใจ) ก็เป็นปลาไปด้วย แล้วผู้รับประทานปลาก็กลับกลายไปเกิดเป็นปลา นี่คือเหตุและผลกำลังดัน และกำลังสะท้อนต้องเท่ากัน และตรงกันข้ามอยู่เสมอไป เพราะฉะนั้น เราจงเป็นผู้เสพแต่ผักเถิด แล้วจะทำให้การฆ่าสัตว์ลดน้อยลงไป เราจงเป็นผู้เสพแต่ผักเถิด แล้วจะได้ทำให้โรคภัยไข้เจ็บลดน้อยลงไป นี่เป็นทางๆ เดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่นอีก

หลักสำคัญของพระพุทธศาสนาก็คือความกรุณา ฉะนั้น ถ้าพุทธศาสนิกชนคนใดขาดความกรุณา คนนั้นก็กลับไม่ใช่พุทธศาสนิกชน เพราะถ้าไม่มีกรุณา พระพุทธศาสนาก็ไม่มีประโยชน์ ดังนี้ จงพยายามเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี โดยเป็นผู้มีกรุณารับประทานแต่ผัก อย่างเดียวกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ผู้ทรงพระมหากรุณายิ่งนั้นเทอญ

เมื่ออาตมาและพวกเดินทางไปเมืองจิตตากอง (ในเขตพม่า) โดยเรือกลไฟ “นิลลา” นั้น กัปตันเรือได้พูดกับอาตมา ด้วยถ้อยคำเอาจริงเอาจังว่า “พระเจ้าสร้างปลาในทะเล ฉะนั้นจะผิดร้ายอะไรที่กินปลา”

อาตมาก็ตอบเขา ด้วยถ้อยคำเอาจริงเอาจังอย่างเดียวกันว่า “พระเจ้าสร้างสิงโตในป่า ดังนั้นสิงโตนั้นจะผิดร้ายอย่างไรที่จะกินกัปตันเรือ ‘นิลลา’ เสีย”

ปลาชนิดใหญ่กินปลาเล็ก แต่อำนาจไม่ใช่ธรรม คริสตศาสนิกชนพูดว่า “พระเจ้าสร้างสัตว์ทั้งหลายมาเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์” ถ้าท่านจะไปถามสิงโตและเสือบ้าง มันก็จะพากันพูดว่า “พระเจ้าสร้างมนุษย์มาเพื่อประโยชน์แก่พวกเรา” มนุษย์เป็นศัตรูที่ร้ายที่สุดของสัตว์ อกุศลเจตนาของมนุษย์นั้นหาที่สิ้นมิได้ มนุษย์จะยึดถือเอาสิ่งใดๆ เสียทั้งนั้นที่จะหยิบฉวยได้ มนุษย์ใช้สมองจับสัตว์อื่นๆ ที่โง่กว่าไปไว้ในอำนาจ ดังนั้นมนุษย์จึงเป็นผู้ข่มเหงเขาเก่งที่สุดบนพื้นพระธรณีนี้ มนุษย์ใช้ปัญญาความฉลาดจับสัตว์บนอากาศ บนพื้นดิน และในน้ำ มาเพื่อลิ้น เพื่อท้อง หรือเพื่อเล่นสนุก ฯลฯ ขอให้หยุดจับสัตว์เล่นกันเสียทีเถิด สัตว์เดียรัจฉานนั้นเป็นผู้โง่เง่า ที่แท้สมควรจะได้รับความกรุณาของเรา เพราะความโง่เง่านั้นอย่างยิ่ง

ขอจงแผ่เมตตาให้แก่สัตว์ให้ทั่วไป ขอจงใช้ความเมตตาจุดขึ้นเป็นอัคคี เผาผลาญตัณหาให้สิ้นไปในกองมหาเพลิงแห่งเมตตานั้นเทอญ

เวลาสัตว์เจ็บตาย เราก็เอามันไปฝังดินเสียทันที แต่เวลามันตายโดยการฆาตกรรมด้วยคมมีดของคนฆ่าสัตว์ เรากลับเอาฝังไว้ในกระเพาะเราเสียโดยทันทีเหมือนกัน ดังนั้นกระเพาะของคนก็คือป่าช้า มนุษย์ก็คือ หลุมฝังศพที่เดินได้ ประชาชนที่เลี้ยงร่างตนด้วยร่างสัตว์ที่ฆาตกรรมเอามา ต้องเป็นพวกที่ขาดความกรุณาอย่างแน่นอน เขาเหล่านั้นเป็นเหมือนนกแร้งที่หากินอยู่ตามป่าช้า เขาลักเอาซากศพไปจากป่าช้า แล้วก็เปลี่ยนตัวของตัวเป็นป่าช้าที่มีชีวิต กระเพาะมนุษย์เป็นป่าช้าใหญ่โตมาก เพราะสามารถฝังสัตว์ที่ถูกฆ่าถึง 200,000 (สองแสน) ตัวได้ในระยะเวลา 60 ปี

รับประทานเนื้อสัตว์นั้นบาป บาปคืออะไร บาปคือสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์แก่ตัวเองหรือผู้อื่น การรับประทานเนื้อสัตว์ทำให้เกิดทุกข์แก่ตัวเองและสัตว์นั้นๆ เพราะฉะนั้น การรับประทานเนื้อสัตว์จึงเป็นบาป

(ซ. ต. พ.)

อีกประการหนึ่ง การทำบาปคือการทำผิดกฎที่ว่าจะรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตน สัตว์นั้นเป็นเพื่อนบ้านของเรา การรับประทานเนื้อสัตว์จึงเป็นการกระทำผิดกฎ รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตน เพราะฉะนั้นการกินเนื้อสัตว์จึงเป็นบาป

(ซ. ต. พ.)
การเสวยครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา
(พุทธปัจฉิมบิณฑบาต)

เมื่อสามเดือนก่อนปรินิพพาน ที่เมืองเวสาลี พระพุทธองค์ได้ตรัสประทานโอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ว่า :-

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่านทั้งหลายให้รู้สิ่งที่ปัจจัยแต่งขึ้น สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา จงตั้งหน้าหาทางช่วยตน ให้ถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท ปรินิพพานแห่งตถาคตจะมาถึงในไม่ช้า ต่อแต่นี้ไปอีก 3 เดือน ตถาคตจักปรินิพพาน”

“วัยแห่งเราแก่งอมแล้ว ชีวิตแห่งเราใกล้ถึงที่สุดแล้ว
เราจักละท่านไป เราจักจากไป พึ่งตัวเราผู้เดียว
ฉะนั้นจงตั้งใจเถิด! ภิกษุทั้งหลายผู้ทรงศีล ทรงปัญญา
จงมีความดำริมั่นดี จงตามรักษาซึ่งจิตตน
บุคคลใดที่ไม่ท้อถอย ยึดมั่นอยู่ในธรรมวินัยนี้
จักข้ามชาติสังสารนี้ได้ จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”

วันสุดท้าย สมเด็จพระผู้มีพระภาคกับสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงแคว้น ปาวา และทรงรับปัจฉิมบิณฑบาตทานที่บ้านนายจุนทะฯ ช่างโลหะเป็นชาวฮินดูที่ไม่นิยมเสพเนื้อสัตว์

นางสุชาดาได้ผลานิสงส์ที่เป็นผู้ถวายภัตตาหาร ซึ่งเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ทรงบริโภคแล้ว ก็ได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ นายจุนทะฯ ได้ผลานิสงส์ที่เป็นผู้ถวายภัตตาหาร ซึ่งเมื่อพระองค์ทรงบริโภคแล้ว ก็ได้เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ซึ่งเป็นการดับขันธ์ได้สิ้น ไม่มีอะไรเหลืออยู่

นางสุชาดา ถวายน้ำข้าว[3] (ข้าวปายาส) เป็นบิณฑบาตที่ดีที่สุดสำหรับบำเพ็ญญาณ สมเด็จพระภควันต์ทรงสรรเสริญไว้ 11 ประการคือ :-

  1. น้ำข้าว ทำให้เกิดอายุ
  2. น้ำข้าว ทำให้เกิดวรรณ
  3. น้ำข้าว ทำให้เกิดสุข
  4. น้ำข้าว ทำให้เกิดพละ
  5. น้ำข้าว ทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ
  6. น้ำข้าว ปลดเปลื้องความหิว
  7. น้ำข้าว บำบัดความกระหาย
  8. น้ำข้าว ทำให้เวทนาแห่งกายสิ้นไป
  9. น้ำข้าว ชำระไตให้สะอาด
  10. น้ำข้าว ทำให้อาหารย่อย
  11. น้ำข้าว เป็นยาบำบัดโรค

สมเด็จพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญไว้ ดังนี้

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้เสวยเนื้อสัตว์ เพื่อตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยเหตุใดเล่า? ก็เพราะเหตุว่า เนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดตัณหาและราคะ และทำลายเสียซึ่งกรุณา น้ำข้าวเป็นสิ่งไม่มีโทษ จึงเป็นภัตตาหารที่ดีเยี่ยมเพื่อการตรัสรู้

นายจุนทะฯ ถวายอาหาร 3 สิ่ง คือ (1) สุกรมัททวะ (2) ข้าวหวาน (โภชนียะ?) (3) ขนมหวาน (ขาทนียะ?)

เมื่อสมเด็จพระพุทธองค์ประทับลงแล้ว พระองค์ได้ทรงตรัสแก่นายจุนทะฯ ช่างโลหะว่า “ดูกร จุนทะฯ สุกรมัททวะอันใดที่ท่านได้ทำไว้แล้วนั้น ท่านจงอังคาสแก่เราเถิด! ส่วนอาหารอื่นๆ คือข้าวหวานและขนมหวานนั้น จงอังคาสภิกษุสงฆ์นั้นเถิด”

จุนทะฯ นายช่างโลหะ จึงสนองพระพุทธพจน์ว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า” แล้วก็นำสุกรมัททวะที่ตนได้ทำแล้วนั้น ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์เดียว ส่วนอาหารอื่นมีข้าวหวานและขนมหวานนั้น ได้นำถวายแก่ภิกษุสงฆ์

อะไรคือ สุกรมัททวะ? ศาสตราจารย์ รีส เดวิดส์ แปลว่า เห็ดใต้ดินชนิดหนึ่ง พวกชอบเนื้อสัตว์รักที่จะแปลว่า “เนื้อสุกรป่าอ่อน” แต่โปรดจำไว้ว่า สมเด็จพระสัพพัญญูมิได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์องค์อื่นบริโภค “สุกรมัททวะ” นั้น

อะไรคือ สุกรมัททวะ? ท่านภิกขุ สุภัทร์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้ให้คำอธิบายอย่างดีไว้ในหนังสือ พุทธีสต์ คาตะซีสม์ (พระพุทธปุจฉา-วิสัชนา)[4] ของท่านว่า “สุกรมัททวะเป็นเห็ดชนิดหนึ่งซึ่งรับประทานได้” ไม่ใช่ “เนื้อสุกรป่า” ดังที่เคยแปลกัน การผิดเพี้ยนเกิดขึ้นโดยอาการดังนี้ คือ พระอรรถกถาจารย์ชาวอินเดียแต่โบราณกาล มิได้เข้าใจคำนี้ถูกต้องมาแต่แรก ความหมายที่แท้จริง ซึ่งใช้กันในเฉพาะชนบทเดียวนั้น ได้สูญหายไปเสียแล้ว “สุกโร” หมายความว่า หมูป่า “มัททะเวน” หมายความว่า สิ่งซึ่งอ่อนนุ่มหรือชุ่มชื่นอร่อย แต่ว่า เมื่อเอาคำสองคำนั้นมาสมาสกันเข้าแล้ว ทำให้เกิดความหมายที่น่าสงสัย แม้จะมีเหตุผลโต้แย้งอยู่มากมายก็ดี ในที่สุด นักชอบเสพเนื้อได้ลงความเห็นสอดคล้องต้องกันไปว่า คำนี้จะต้องหมายถึงเนื้อหมูป่าอ่อน อย่างไรก็ดี แปลดังนี้ผิด หลักฐานที่ค้นพบใหม่ จะแปลคำนั้นว่า หมูอ่อนนุ่มหรือชุ่มชื่นนั้นไม่ได้ ต้องแปลว่า สิ่งซึ่งอ่อนนุ่มหรือชุ่มชื่นแก่หมู แปลอย่างง่ายก็ว่า “หมูชอบ” หรือ “หมูยินดี” การใช้เรียกชื่อสิ่งของโดยคำอุปมาอุปไมยเช่นนี้ ได้ใช้กันอยู่ในมคธ ประเทศครั้งพุทธกาล คำนั้นจึงได้ใช้เรียกเห็ด ซึ่งหมูป่าในอินเดียชอบแสวงหาเป็นอาหารนัก อย่างเดียวกับหมูในทวีปยุโรปชอบกินทรัฟเฟิล (เห็ดใต้ดินชนิดหนึ่ง)




  1. เป็นตัวเลขโดยประมาณในสมัยนั้น
  2. ดร.โลกนาถภิกขุ ได้ปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา มรณภาพอายุ 85 พรรษาที่พม่า
  3. คำที่แปลว่า “น้ำข้าว” นั้น ในฉบับภาษาอังกฤษใช้ว่า “Rice-Milk” อันคำว่า “Milk” ในภาษาอังกฤษนั้น หมายความถึงน้ำนมสัตว์หรือมนุษย์ก็ได้ และหมายความว่า น้ำยางที่ได้มาจากต้นไม้ หรือ ผลไม้ (เช่น กะทิ) ก็ได้ เหตุฉะนี้ คำว่า “Rice-Milk” จึงมีความหมายถึง “น้ำยางที่ได้มาจากข้าว” จะได้เมื่อหุงต้มแล้วก็ดี หรือได้โดยคั้นจากเมล็ดข้าวอ่อนโดยตรงก็ดี เรียกว่า “Rice-Milk” ได้ทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ดี คำนี้จะแปลว่า ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมตามคำอธิบายในเรื่องข้าวปายาสนั้นไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงแปล “Rice-Milk” เป็นกลางๆ ไว้ว่า “น้ำข้าว” ซึ่งให้หมายได้อย่างกว้างว่า น้ำที่ได้มาจากข้าวดังกล่าวแล้ว …….ผู้แปล
  4. A Buddhist Catechism By Subhadra Bhikshu (Friedrich Zimmermann)