งานแปล:รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส (ค.ศ. 1852)/ส่วนที่ 2
- รัฐธรรมนูญ
- คำปรารภ
- ลักษณะ
- (ไม่มีชื่อ) (มาตรา 1)
- รูปแบบการปกครองสาธารณรัฐ (มาตรา 2–4)
- ว่าด้วยประธานาธิบดีสาธารณรัฐ (มาตรา 5–18)
- ว่าด้วยวุฒิสภา (มาตรา 19–33)
- ว่าด้วยองค์กรนิติบัญญัติ (มาตรา 34–46)
- ว่าด้วยคณะมนตรีแห่งรัฐ (มาตรา 47–53)
- ว่าด้วยศาลยุติธรรมชั้นสูง (มาตรา 54–55)
- บทบัญญัติทั่วไปและเฉพาะกาล (มาตรา 56–58)
ประธานาธิบดีสาธารณรัฐ
โดยที่พิเคราะห์ว่า ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้รับการเรียกให้มาประกาศมติดังต่อไปนี้แล้ว
"ประชาชนประสงค์ให้ธำรงอำนาจหน้าที่ของลุย-นาปอเลอง บอนาปาร์ต ไว้ และให้เขาผู้นี้มีอำนาจอันจำเป็นแก่การจัดทำรัฐธรรมนูญตามหลักการรากฐานที่สถาปนาไว้ในประกาศของเขา ลงวันที่ 2 ธันวาคม"
โดยที่พิเคราะห์ว่า หลักการรากฐานที่เสนอให้ประชาชนยอมรับนั้น คือ
"1.ประมุขผู้รับผิดชอบนั้น ย่อมแต่งตั้งขึ้นเป็นเวลา 10 ปี
2.เสนาบดีนั้น ย่อมขึ้นกับอำนาจบริหารแต่ฝ่ายเดียว
3.คณะมนตรีแห่งรัฐซึ่งจัดตั้งขึ้นจากผู้โดดเด่นที่สุดนั้น ย่อมจัดเตรียมกฎหมายและสนับสนุนการอภิปรายในองค์กรนิติบัญญัติ
4.องค์กรนิติบัญญัติซึ่งอภิปรายและออกเสียงในเรื่องกฎหมายนั้น ย่อมแต่งตั้งขึ้นด้วยการออกเสียงเป็นการทั่วไป โดยไม่มีการเลือกตามบัญชี[2] ซึ่งบิดเบือนการเลือกตั้ง
5.สมัชชาแห่งที่สองซึ่งจัดตั้งขึ้นจากบรรดาผู้เลื่องลือนามในประเทศนั้น ย่อมเป็นอำนาจถ่วงดุล และเป็นผู้อารักขากติกาพื้นฐานและเสรีภาพสาธารณะ"
โดยที่พิเคราะห์ว่า ปวงประชาได้ตอบรับด้วยคะแนนเสียง 7,500,000 เสียงแล้ว
จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญอันมีเนื้อความดังต่อไปนี้
มาตราแรกรัฐธรรมนูญรับรู้ รับรอง และรับประกันหลักการยิ่งใหญ่ซึ่งประกาศไว้ในปี 1789 และซึ่งเป็นหลักการรากฐานแห่งกฎหมายมหาชนของชาวฝรั่งเศส
ม.2การปกครองสาธารณรัฐนั้น ให้มอบไว้กับเจ้าชายลุย-นาปอเลอง บอนาปาร์ต ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสาธารณรัฐ เป็นเวลา 10 ปี
ม.3ประธานาธิบดีสาธารณรัฐปกครองโดยทางเสนาบดี คณะมนตรีแห่งรัฐ วุฒิสภา และองค์กรนิติบัญญัติ
ม.4ประธานาธิบดีสาธารณรัฐ วุฒิสภา และองค์กรนิติบัญญัติ ย่อมร่วมกันใช้อำนาจนิติบัญญัติ
ม.5ประธานาธิบดีสาธารณรัฐรับผิดชอบต่อประชาชนชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งประธานาธิบดีมีสิทธิจะวิงวอนถึงได้ทุกเมื่อ[3]
ม.6ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเป็นประมุขแห่งรัฐ ประธานาธิบดีบัญชาการกองทัพบกและเรือ ประกาศสงคราม กระทำสนธิสัญญาทางสันติ พันธมิตร และการค้า แต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ทั้งมวล จัดทำระเบียบและกฤษฎีกาอันจำเป็นต่อการบังคับใช้กฎหมาย
ม.7การประสาทความยุติธรรม ย่อมกระทำในนามประธานาธิบดี
ม.8ประธานาธิบดีมีสิทธิริเริ่มกฎหมายแต่ผู้เดียว
ม.9ประธานาธิบดีมีสิทธิอภัยโทษ
ม.10ประธานาธิบดีอนุมัติและประกาศใช้กฎหมายและคำสั่งวุฒิสภา
ม.11ทุกปี ให้ประธานาธิบดีนำเสนอสภาวการณ์ของสาธารณรัฐต่อวุฒิสภาและต่อองค์กรนิติบัญญัติโดยใช้สาร[4]
ม.12ประธานาธิบดีมีสิทธิประกาศภาวะปิดล้อม[5] ในจังหวัดหนึ่งแห่งหรือกว่านั้น แต่ต้องแจ้งวุฒิสภาโดยพลันทันที[6]
ผลสืบเนื่องจากภาวะปิดล้อม ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายวางระเบียบไว้
ม.13เสนาบดีย่อมไม่ขึ้นกับผู้ใดนอกจากประมุขแห่งรัฐ เสนาบดีแต่ละคนรับผิดชอบก็แต่ในการกระทำทางการปกครองเฉพาะเท่าที่เกี่ยวข้องกับตน ไม่มีความรับผิดชอบร่วมกันในระหว่างเสนาบดี วุฒิสภาเท่านั้นที่สามารถตั้งข้อกล่าวหาต่อเสนาบดี
ม.14เสนาบดี สมาชิกของวุฒิสภา ขององค์กรนิติบัญญัติ และของคณะมนตรีแห่งรัฐ ทหารบกและเรือ ผู้พิพากษา และผู้ปฏิบัติกิจหน้าที่สาธารณะ ย่อมกระทำสัตย์สาบานดังนี้
"ข้าขอสาบานว่า จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และซื่อสัตย์ภักดีต่อประธานาธิบดี"
ม.15คำสั่งวุฒิสภาย่อมกำหนดจำนวนเงินที่จัดสรรเป็นรายปีให้แก่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสำหรับตลอดระยะเวลาแห่งการปฏิบัติกิจหน้าที่
ม.16ถ้าประธานาธิบดีสาธารณรัฐตายก่อนสิ้นวาระตน ให้วุฒิสภาเรียกประชุมประชาชาติเพื่อเลือกตั้งใหม่
ม.17เพื่อประโยชน์ของฝรั่งเศส ประมุขแห่งรัฐมีสิทธิกำหนดชื่อพลเมืองที่ตนจะเสนอให้ประชาชนไว้วางใจและออกเสียงให้ โดยใช้ตราสารอันเป็นความลับและฝากไว้กับหอเอกสารวุฒิสภา
ม.18จนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสาธารณรัฐ ให้ประธานวุฒิสภาปกครอง [ประเทศ] ไปพร้อมกับรัฐมนตรีที่ยังอยู่ในกิจหน้าที่ โดยให้ประกอบกันเป็นคณะมนตรีการปกครอง และให้ประชุมปรึกษาโดยเสียงข้างมาก
ม.19จำนวนสมาชิกวุฒิสภาจะเกินกว่า 150 คนมิได้ สำหรับปีแรก กำหนดไว้ที่ 80 คน
ม.20วุฒิสภาประกอบด้วย
1.การ์ดีนาล[7] มาเรชาล[8] และอามีราล[9]
2.พลเมืองผู้ที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเห็นควรยกขึ้นสู่ยศศักดิ์สมาชิกวุฒิสภา
ม.21สมาชิกวุฒิสภาจะถูกโยกย้ายมิได้ และจะเป็นไปชั่วชีวิต
ม.22กิจหน้าที่ของวุฒิสภาย่อมไม่มีค่าตอบแทน กระนั้น ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจะมอบเงินอุดหนุนรายบุคคลให้สมาชิกวุฒิสภาโดยคำนึงถึงราชการที่เขาจัดทำและสถานะทางทรัพย์สินของเขาก็ได้ แต่จะเกินกว่า 30,000 ฟรังก์ต่อปีมิได้
ม.23ประธานและรองประธานวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีสาธารณรัฐ และเลือกมาจากในหมู่สมาชิกวุฒิสภา
เขาเหล่านี้ย่อมแต่งตั้งขึ้นเป็นเวลา 1 ปี
ค่าตอบแทนของประธานวุฒิสภานั้น ย่อมกำหนดด้วยกฤษฎีกา
ม.24ประธานาธิบดีสาธารณรัฐย่อมเรียกประชุมและปิดประชุมวุฒิสภา ประธานาธิบดีย่อมกำหนดระยะเวลาของสมัยประชุมวุฒิสภาด้วยกฤษฎีกา
การประชุมวุฒิสภานั้น มิได้เป็นไปโดยเปิดเผย
ม.25วุฒิสภาเป็นผู้อารักขากติกาพื้นฐานและเสรีภาพสาธารณะ ไม่ว่ากฎหมายใดก็ไม่อาจประกาศใช้โดยไม่เสนอต่อวุฒิสภาก่อน
ม.26วุฒิสภาย่อมคัดค้านการประกาศใช้
1.กฎหมายที่อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาสนา ศีลธรรม เสรีภาพทางศาสนา[10] เสรีภาพของปัจเจกบุคคล ความเสมอภาคในกฎหมายของพลเมือง ความละเมิดมิได้ของกรรมสิทธิ์ และหลักการห้ามโยกย้ายผู้พิพากษา
2.สิ่งทั้งหลายที่อาจเป็นอันตรายต่อการป้องกันดินแดน
ม.27วุฒิสภาย่อมใช้คำสั่งวุฒิสภาวางระเบียบ
1.การก่อตั้งอาณานิคมและอาลเฌรี[11]
2.บรรดาสิ่งที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติไว้ และที่จำเป็นต่อการดำเนินไปของรัฐธรรมนูญ
3.ความหมายของมาตราในรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดการตีความต่าง ๆ กัน
ม.28คำสั่งวุฒิสภา ให้เสนอต่อประธานาธิบดีสาธารณรัฐเพื่อการอนุมัติ และให้ประธานาธิบดีประกาศใช้
ม.29วุฒิสภาย่อมรักษาไว้หรือเพิกถอนเสียซึ่งการกระทำ[12] ทั้งปวงที่รัฐบาลเสนอมาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือที่พลเมืองร้องเรียนมาด้วยสาเหตุเดียวกัน
ม.30ในรายงานที่มีต่อประธานาธิบดีสาธารณรัฐ วุฒิสภาจะระบุหลักการรากฐานของร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อชาติอย่างยิ่งไว้ก็ได้
ม.31วุฒิสภายังสามารถเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ถ้าอำนาจบริหารตกลงรับข้อเสนอนั้น ให้ตราการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยคำสั่งวุฒิสภา
ม.32กระนั้น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในหลักการรากฐานอันเป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ดังที่ระบุไว้ประกาศ ลงวันที่ 2 ธันวาคม และที่ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้ตกลงรับแล้วนั้น ให้เสนอเข้าสู่การออกเสียงเป็นการทั่วไป
ม.33ในกรณีที่องค์กรนิติบัญญัติถูกยุบ และจนกว่าจะมีการเรียกประชุมขึ้นใหม่ ให้วุฒิสภาจัดให้มีทุกสิ่งที่จำเป็นให้การปกครองดำเนินไปได้ โดยใช้มาตรการฉุกเฉินตามข้อเสนอของประธานาธิบดีสาธารณรัฐ
ม.34การเลือกตั้งย่อมอิงประชากร
ม.35ในองค์กรนิติบัญญัติ ให้มีผู้แทน 1 คนต่ออัตราผู้เลือกตั้ง 35,000 คน
ม.36ผู้แทนนั้นย่อมเลือกตั้งมาด้วยการออกเสียงเป็นการทั่วไป โดยไม่มีการเลือกตามบัญชี[2]
ม.37ผู้แทนมิได้รับค่าตอบแทนใด ๆ
ม.38ผู้แทนย่อมแต่งตั้งขึ้นเป็นเวลา 6 ปี
ม.39องค์กรนิติบัญญัติย่อมอภิปรายและออกเสียงในร่างกฎหมายและภาษีอากร
ม.40การแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ ซึ่งคณะกรรมการที่รับมอบหมายให้ตรวจสอบร่างกฎหมายได้ตกลงรับแล้วนั้น ให้ประธานองค์กรนิติบัญญัติส่งกลับไปยังคณะมนตรีแห่งรัฐโดยไม่ต้องอภิปราย
ถ้าคณะมนตรีแห่งรัฐไม่ตกลงรับการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นด้วย จะเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเข้าสู่การประชุมปรึกษาขององค์กรนิติบัญญัติมิได้
ม.41สมัยประชุมสามัญขององค์กรนิติบัญญัตินั้น มีระยะเวลา 3 เดือน การประชุมขององค์กร ย่อมเป็นไปโดยเปิดเผย แต่คำเรียกร้องของสมาชิก 5 คนก็เพียงพอให้องค์กรจัดตั้งตนเองเป็นคณะกรรมาธิการลับได้[13]
ม.42รายงานการประชุมที่ลงไว้ในวารสารหรือการเผยแพร่ทางอื่นใด ให้มีแต่การนำบันทึกการประชุมมาถ่ายทอดไว้ โดยให้ร่างขึ้นภายใต้ความดูแลของประธานองค์กรนิติบัญญัติเมื่อสิ้นการประชุมแต่ละครั้ง
ม.43ประธานาธิบดีสาธารณรัฐย่อมแต่งตั้งประธานและรองประธานองค์กรนิติบัญญัติขึ้นเป็นเวลา 1 ปี บุคคลเหล่านี้ย่อมเลือกจากในหมู่ผู้แทน ค่าตอบแทนของประธานองค์กรนิติบัญญัตินั้น ย่อมกำหนดด้วยกฤษฎีกา
ม.44เสนาบดีจะเป็นสมาชิกองค์กรนิติบัญญัติมิได้
ม.45สิทธิในการร้องเรียนนั้น ให้ใช้ต่อวุฒิสภา จะมีการร้องเรียนใดต่อองค์กรนิติบัญญัติมิได้
ม.46ประธานาธิบดีสาธารณรัฐย่อมเรียกประชุม เลื่อนประชุม ปิดประชุม และยุบองค์กรนิติบัญญัติ ในกรณียุบนั้น ประธานาธิบดีสาธารณรัฐต้องเรียกประชุมองค์กรชุดใหม่ภายในกำหนด 6 เดือน
ม.47จำนวนมนตรีแห่งรัฐในราชการสามัญนั้น คือ ตั้งแต่ 40 ถึง 50 คน
ม.48ประธานาธิบดีสาธารณรัฐย่อมแต่งตั้งมนตรีแห่งรัฐ และอาจถอดถอนเขาเหล่านั้น
ม.49คณะมนตรีแห่งรัฐมีประธาน คือ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐ และเมื่อประธานาธิบดีไม่อยู่ คือ บุคคลที่ประธานาธิบดีกำหนดให้เป็นรองประธานคณะมนตรีแห่งรัฐ
ม.50ภายใต้การอำนวยการของประธานาธิบดีสาธารณรัฐ คณะมนตรีแห่งรัฐย่อมรับมอบหมายให้จัดทำร่างกฎหมายและระเบียบการบริหารสาธารณะ และแก้ไขความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในเรื่องการบริหาร
ม.51คณะมนตรีแห่งรัฐย่อมสนับสนุนการอภิปรายร่างกฎหมายในวุฒิสภาและองค์กรนิติบัญญัติในนามรัฐบาล
มนตรีแห่งรัฐผู้รับมอบหมายให้พูดในนามรัฐบาลนั้น ย่อมมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีสาธารณรัฐ
ม.52ค่าตอบแทนของมนตรีแห่งรัฐแต่ละคนนั้น คือ 25,000 ฟรังก์
ม.53ในคณะมนตรีแห่งรัฐ เสนาบดีย่อมมียศ มีที่นั่ง และมีสิทธิออกเสียงในการประชุมปรึกษา
ม.54ให้ศาลยุติธรรมชั้นสูงพิพากษาบรรดาบุคคลที่ถูกนำตัวมาต่อหน้าในฐานะผู้ถูกแจ้งข้อหาอาชญากรรม กระทำประทุษร้าย หรือคบคิดกันต่อต้านประธานาธิบดีสาธารณรัฐ และต่อต้านความมั่นคงภายในหรือภายนอกของรัฐ โดยไม่มีการอุทธรณ์ และไม่อาจอาศัยการกลับคำพิพากษา[14]
ศาลนี้จะรับคดี[15] ได้ก็แต่โดยอาศัยกฤษฎีกาของประธานาธิบดีสาธารณรัฐ
ม.55ให้คำสั่งวุฒิสภากำหนดการจัดองค์กรของศาลสูงแห่งนี้
ม.56บทบัญญัติของประมวลกฎหมาย กฎหมาย และระเบียบที่มีอยู่แล้ว ซึ่งไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ ให้ใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะถูกยกเลิกเพิกถอนตามกฎหมาย
ม.57ให้กฎหมายกำหนดการจัดองค์กรเทศบาล นายกเทศมนตรีนั้น ให้มาจากการแต่งตั้งของอำนาจบริหาร และจะนำมาจากภายนอกคณะเทศมนตรีก็ได้
ม.58รัฐธรรมนูญนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันก่อตั้งองค์กรใหญ่ของรัฐซึ่งรัฐธรรมนูญนี้จัดองค์กรไว้
กฤษฎีกาที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐให้ไว้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคมจนถึงช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ให้มีผลเป็นกฎหมาย
จัดทำ ณ วังตุยเลอรี วันที่ 14 มกราคม 1852
- ได้ดูและประทับมหาลัญจกรแล้ว
- ผู้อารักขาลัญจกร เสนาบดียุติธรรม
- เออ. โรแอร์[16]
(คัดจาก มอนีเตอร์[17] ฉบับ 15 มกราคม 1852)
หมายเหตุ
[แก้ไข]- ↑ การลงประชามติในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 20 และ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1851
- ↑ 2.0 2.1 CNRTL (2012k) ว่า "scrutin de liste" (แปลตรงตัวว่า "การเลือกแห่งบัญชี") เป็นการเลือกตั้งที่ผู้เลือกตั้งเลือกบัญชีรายชื่อบุคคล (แทนที่จะเลือกตัวบุคคลเป็นรายไป)
- ↑ ประกาศ ลงวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1852 ว่า สิทธินี้ คือ สิทธิของประธานาธิบดีขอให้ประชาชนตัดสินใจว่า จะยังไว้วางใจในประธานาธิบดีอยู่หรือไม่
- ↑ CNRTL (2012i) ว่า "message" ที่แปลว่า "สาร" นั้น มีความหมายเจาะจงถึงเอกสารที่กษัตริย์หรือประธานาธิบดีฝรั่งเศสใช้ติดต่อสื่อสารกับรัฐสภา
- ↑ CNRTL (2012l) ว่า "état de siège" (แปลตรงตัวว่า "ภาวะแห่งการปิดล้อม") หมายถึง สถานการณ์ที่เมืองเมืองหนึ่งถูกปิดล้อมและเจ้าหน้าที่ทางทหารสามารถใช้อำนาจทุกอย่าง
- ↑ "Dans le plus bref délai" แปลตรงตัวว่า "ในความชักช้าที่น้อยที่สุด" CNRTL (2012g) ว่า เป็นสำนวน แปลว่า "ทันที" (immédiatement) หรือ "ในเวลาใกล้ชิดอย่างยิ่ง" (dans un temps très proche)
- ↑ CNRTL (2012c) ว่า "cardinal" คือ ผู้ดำรงตำแหน่งชั้นสูงในคณะสงฆ์ นุ่งผ้าสีม่วง และมีหน้าที่เลือกตั้งสันตะปาปาและช่วยเหลือสันตะปาปาในการปกครองศาสนจักร
- ↑ CNRTL (2012h) ว่า "maréchal" เป็นยศสูงสุดที่ให้แก่นายพลในกองทัพบก โดยทั่วไปมักให้เพราะความชอบชั้นสูงในยามสงคราม
- ↑ CNRTL (2012b) ว่า "amiral" เป็นยศสูงสุดในกองทัพเรือ
- ↑ CNRTL (2012f) ว่า "culte" แปลว่า (1) การบูชาทางศาสนาซึ่งกระทำต่อพระเจ้า เทพเจ้า นักบุญ ฯลฯ (2) การแสดงความเคารพซึ่งมีลักษณะทางศาสนา อันกระทำต่อบุคคล วัตถุ ฯลฯ (3) ศาสนา หรือนิกายทางศาสนา
- ↑ อาลเฌรี (Algérie) คือ แอลจีเรีย (Algeria) สมัยที่เป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส ดู French Algeria
- ↑ CNRTL (2012a) ว่า "acte" สามารถหมายถึง (1) การกระทำของบุคคล (2) คำวินิจฉัยที่เกิดจากอำนาจทางทหาร ตุลาการ การปกครอง ฯลฯ (3) ตราสารทางกฎหมาย นอกเหนือไปจากความหมายอื่น ๆ
- ↑ การจัดตั้งตนเอง "เป็นคณะกรรมาธิการลับ" (en comité secret) เป็นสำนวนกฎหมายฝรั่งเศส หมายถึง การประชุมลับ ดังที่ CNRTL (2012e) อธิบายว่า หมายถึง ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาประชุมด้วย ดูเพิ่มที่ comités secrets
- ↑ CNRTL (2012d) ว่า "cassation" หมายถึง คำตัดสินของศาลสูงที่ให้เพิกถอนคำตัดสินของศาลล่าง โดยเป็นการตัดสินในข้อกฎหมาย มิใช่ในรูปคดี ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติศัพท์สำหรับคำนี้ว่า "การกลับคำพิพากษา" จึงนำศัพท์บัญญัตินี้มาใช้
- ↑ CNRTL (2012j) ว่า ในภาษากฎหมาย "saisir" หมายถึง นำ (คดี) เข้าสู่เงื้อมมือของกระบวนการยุติธรรม
- ↑ เออแฌน โรแอร์ (Eugène Rouher)
- ↑ เลอมอนีเตอร์อูว์นีแวร์แซล (Le Moniteur universel)
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- CNRTL (2012a). "Acte". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012b). "Amiral". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012c). "Cardinal". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012d). "Cassation". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012e). "Comité". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012f). "Culte". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012g). "Délai". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012h). "Maréchal". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012i). "Message". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012j). "Saisir". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012k). "Scrutin". Centre national de ressources textuelles et lexicales.
- CNRTL (2012l). "Siège". Centre national de ressources textuelles et lexicales.