ข้ามไปเนื้อหา

งานแปล:สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม/บทที่ 5

จาก วิกิซอร์ซ
สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม (ค.ศ. 1908) โดย เออร์เนสต์ ยัง, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 5 โรงเรียน
บทที่ 5
โรงเรียน

เด็กชาวสยาม ในยามที่ยังเยาว์อยู่นัก มักไม่ค่อยทุกข์ร้อนด้วยเรื่องเสื้อผ้าหรือโรงเรียน เด็กเหล่านี้ใช้เวลาไปกับการขี่ควาย ปีนป่ายแมกไม้ สูบยา แจวเรือบด กิน แล้วนอน แต่ในบางช่วงของชีวิต เด็กชายหลายคนก็ไปโรงเรียน เรื่องนี้มิใช่ข้อบังคับ หากเด็กชายคนใดไม่อยากไป เขาจะไม่ไปก็ได้ กระนั้น เด็กชายส่วนใหญ่ ทั้งในแถบชนบทห่างไกล และในพระนครอันวุ่นวายและแออัด ก็ได้เรียนรู้วิชาบางอย่าง บางทีปีนต้นไม้และสูบยามาสักพักจนความหรรษาซาลงเสียแล้ว หรือบางทีเด็กชายผู้นั้นเกิดกระตือรือร้นขึ้นมา และอยากลืมตาอ้าปากกับเขาบ้าง ฉะนี้แล้ว อย่างน้อยก็จะต้องหัดเรียนอ่าน เขียน และ "คิดคำนวณ" แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด ก็ปรากฏว่า เด็กชายชาวสยามทุกคนไปโรงเรียนกันเป็นจริงเป็นจัง แม้จะไม่เข้าเรียนสม่ำเสมอและตรงต่อเวลา แต่ตลอดระยะไม่กี่ปี เด็กชายก็จะเล่าเรียนบางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ตนได้จนสำเร็จ

โรงเรียนของสยามตั้งอยู่ในที่ธรณีสงฆ์อันร่มเย็น โดยทั่วไปเป็นกระต๊อบหรือเรือนเล็กแบบเรียบ ๆ ครูบาอาจารย์มักได้แก่นักบวช แต่อาจพบเจอครูใหญ่ที่เป็นฆราวาสได้ประปราย ในกรณีเช่นนั้น ครูใหญ่ก็เหมือนตัวเด็กเองที่มักไม่สวมเสื้อผ้านักหนา เพียงพันผ้าผืนหนึ่งรอบ ๆ แข้ง[1] แต่ร่างกายท่อนบนนั้นมักเปลือยเปล่า ถ้าครูใหญ่มีเสื้อนอกทำด้วยผ้าทอสีขาวราวกับที่ชาวยุโรปใช้ในเมืองร้อน[2] เมื่อเข้าที่เรียนแล้ว ครูใหญ่ก็มักถอดเสื้อนั้นออกแขวนไว้ เพื่อที่เสื้อจะได้ไม่เปื้อนเปรอะตอนตนสอน ปรกติครูใหญ่จะสูบยาอยู่ไม่วาย และยามใดไม่สูบยา ก็จะเคี้ยวหมาก

เด็ก ๆ จะนั่งขัดสมาธิอยู่บนพื้นดุจช่างตัดเย็บ[3] โต๊ะเก้าอี้หามีไม่ และถ้ามี เด็ก ๆ ก็จะนั่งขัดสมาธิอยู่บนนั้นดังเดิม ทุกคนต้องเรียนอ่าน ทีนี้ ภาษาสยามเป็นประเภทที่เรียกว่า ภาษา มีวรรณยุกต์ กล่าวคือ ความหมายของแต่ละคำนั้นขึ้นอยู่กับเสียงสูงต่ำที่เปล่ง ตัวอย่างเช่น คำว่า "ma" ออกเสียงได้ถึงสามแบบ และดังนั้นจึงมีถึงสามความหมาย คือ "มา" "ม้า" และ "หมา" เหตุฉะนั้น ถ้าท่านเรียกเพื่อนว่า "มานี่" โดยผิดวรรณยุกต์ อาจกลายเป็นท่านด่าเขาด้วยการกล่าวว่า "หมานี่" ฯลฯ ท่านอาจอยากบอกชาวนาว่า "ขอข้าม นา แกได้ไหม" หากท่านออกเสียงคำนั้นผิดวรรณยุกต์ไป อาจกลายเป็น "ขอข้าม หน้า แกได้ไหม" เป็นคำขอที่อาจพาให้เกิดเรื่องวุ่น โดยเฉพาะถ้าชาวนาผู้นั้นตัวใหญ่ยักษ์ บางพยางค์ยังมีวรรณยุกต์มากถึงห้าเสียง ชาวต่างชาติจึงเห็นว่า การแสดงความหมายของตนให้ถูกต้องนั้นช่างยากเย็นแสนเข็ญ เนื่องจากคำคำหนึ่งจะมีความหมายถูกต้องต้องอาศัยสำเนียงที่เจาะจงเอื้อนเอ่ย การอ่านทั้งหมดจึงต้องกระทำด้วยเสียงอันดังเพื่อมิให้น่าเบื่อ บัณฑิตน้อยทั้งหลายในโรงเรียนจะต่างคนต่างเล่าเรียนจากหน้าตำราหรือบทเรียนของตนโดยเฉพาะ และเสียงอ่านทั้งหลายจะประสานเป็นหนึ่งเดียว ขึ้นสูงบ้าง ลงต่ำบ้าง อย่างเสียงฮัมเป็นจังหวะจะโคน บางคราวดังเต็มเสียง ถ้าครูเฝ้าดูอยู่และเหล่าบัณฑิตน้อยตื่นตัว แต่มักเบาและอ่อยลง เมื่อครูใหญ่งีบไปบนพื้นหรือเอกเขนกไปกับแสงตะวัน และนักเรียนเริ่มเหนื่อยล้ากับภารกิจจำเจของตน

กระดานชนวนและดินสอหินนั้นใช้ในการเขียน แต่นักเรียนที่ร่ำรวยกว่าเพื่อนย่อมใช้ดินสอแท่ง ในโรงเรียนตามหมู่บ้านนั้นไม่เคยเห็นมีน้ำหมึกเลย

โรงเรียนบางแห่งสอนเลขคณิตถึงขั้นหารสั้น แต่โรงเรียนแห่งอื่นอีกมากมายนั้นไร้การสอนเลขคณิตโดยสิ้นเชิงด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า ครูบาอาจารย์ก็ไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย ส่วนเรื่องรายการพัสดุเอย ทศนิยมซ้ำเอย และบรรดาเรื่องชวนปวดหัวอื่น ๆ ที่มนุษย์เราดำเนินการด้วยตัวเลขนั้น เขาเหล่านี้ไม่มีความรู้และไม่เคยจินตนาการถึง

บางทีมีการเรียนไวยากรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าครูพอจะรู้เรื่องใด ๆ ในวิชานี้ ส่วนบรรดาผู้ใคร่จะให้คนอื่นมองว่าตนฉลาดนั้น จำจะต้องท่องจำตำราศักดิ์สิทธิ์เป็นหน้า ๆ จนสามารถกล่าวทวนเนื้อหาได้ในทันทีหรือโดยไม่มีผิดพลาด แต่ถ้อยคำที่ตนกำลังเอ่ยนั้นแปลว่ากระไร เขาเหล่านั้นก็หาเข้าใจไม่ เพราะตำราศักดิ์สิทธิ์นั้นเขียนด้วยภาษาที่ตายแล้วซึ่งไม่มีใครใช้อีกและผู้เข้าใจก็มีไม่กี่คน

และทั้งหมดก็แค่นี้ ไม่มีวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ไร้ซึ่งห้องปฏิบัติงาน ห้องทดลอง หรือชั้นเรียนวาดเขียน

ไม่มีเครื่องเรือนลักษณะใด ๆ ไม่มีแผนภาพ กระดานดำ หรือโต๊ะตั่ง ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นเด็กแต่ละคนนั่งนิ่งอยู่บนพื้นพร้อมกล่องเล็ก ๆ อยู่เบื้องหน้าสำหรับวางกระดานชนวนหรือหนังสือของตนไว้บนนั้น เห็นแล้วก็สงสัย กล่องเหล่านี้มีสัก 40 ใบ ทุกใบหาได้จากตลาดในท้องถิ่น แถมมีโฆษณาต่าง ๆ เกี่ยวกับสรรพคุณของสบู่แพร์[4] หรือโกโก้แคดเบอรี[5] ติดอยู่ด้านข้าง

โรงเรียนเริ่มตอน 9 โมง เหล่าเด็กชายจะมาช่วง 10 ถึง 11 โมง ส่วนครูใหญ่จะปรากฏตัวเมื่อตนเสร็จมื้อเช้าแล้ว ในตารางเวลาที่ไม่เคยเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนี้ เรื่องเดียวที่ยึดถือกันอย่างตรงเผง ก็คือ เวลาเลิกเรียน

ในพระนคร โรงเรียนที่จัดตั้งและสั่งสอนกันอย่างดียิ่งนั้นบัดนี้มีอยู่จำนวนหนึ่ง และแม้แต่ในหมู่บ้านบางแห่ง ก็กำลังปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ขึ้นอย่างช้า ๆ

ที่ใดมีการจ้างครูอังกฤษ ก็มีการลงแรงฝึกสอนการละเล่นอย่างอังกฤษบ้าง เด็กผู้ชายซึมซัมเรื่องเหล่านี้ไวนัก การละเล่นยอดนิยมคือคริกเก็ต และใช้เวลาไม่นานเด็กชายบางคนก็เก่งกาจทัดเทียมครูบาอาจารย์ของตน ข้าพเจ้าไม่มีทางลืมคริกเก็ตนัดแรกที่คณะเด็กชายชาวสยามเล่นกับเด็กฮินดูกลุ่มหนึ่งซึ่งได้หยิบจับการนี้ขึ้นเล่นมาแล้วในอินเดีย แต่ละฝ่ายได้ผู้ชมจากชาติตนมาแน่นขนัด ฝูงชนฮินดูผิวดำรวมตัวกันอยู่ใต้แมกไม้กลุ่มหนึ่ง สวมผ้าโพกหัวสะอาดตาและเสื้อคลุมยาวสง่าดังแกล้งวาด มีนัยน์ตาลุกวาว ใบหน้าร้อนผ่าว ด้วยความลุ้นระทึก ชาวสยามผู้มีผิวพรรณอ่อนกว่าและแต่งองค์ทรงเครื่องน้อยกว่าออกันอยู่เคียงใกล้ แม้จะไม่เริงเร้าเท่า แต่ก็เริงรื่นและดูแล้วชื่นตายิ่งกว่า ทุกแห่งหนมีคนขายยาสูบ คนถือกาชา และคนค้าเบียร์ขิงกับแกงกะหรี่ ปรี่มารวมตัวกัน การเล่นนัดนี้พรรณนาให้ฟังไม่ถูก แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่ข้าพเจ้าจะไม่หวนคิดถึงมันโดยไม่รำลึกถึงนายตำรวจบนถนนผู้โดนบอลเข้าที่เท้าอันเปลือยเปล่า แล้วไม่ยอมคืนบอลให้ จนกระทั่งนักเล่นคริกเก็ต 23 คน ซึ่งต่างคนต่างพูดกันไปคนละภาษา และยิ่งอากัปกิริยาแล้วก็มีกันไปคนละอย่าง ต่างพากันมาเกลี้ยกล่อมเจ้าหน้าที่ผู้บาดเจ็บจนเชื่อว่า พวกตนมิได้ตั้งใจทำร้ายเขาเลย

หมายเหตุ

[แก้ไข]
  1. อาจหมายถึง นุ่งโจงกระเบนหรือผ้าเตี่ยวเหมือนบรรดาชายใน รูปที่ 1
  2. อาจหมายถึง เสื้อสีขาวเหมือนที่ชายคนหนึ่งสวมอยู่ใน รูปที่ 1
  3. ช่างเสื้อฝรั่งสมัยก่อนมักนั่งขัดสมาธิทำงาน ดังใน รูปที่ 2 จนเกิดคำเรียกว่า "การนั่งแบบช่างเสื้อ" (tailor sitting)
  4. อาจหมายถึง สบู่ยี่ห้อ "แพส์" (Pears) ของบริเตน ซึ่งผลิตมาตั้งแต่ ค.ศ. 1807
  5. อาจหมายถึง โกโก้ยี่ห้อ "แคดเบอรี" (Cadbury) ของบริเตน ซึ่งผลิตมาตั้งแต่ ค.ศ. 1824