งานแปล:สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม/บทที่ 9

จาก วิกิซอร์ซ
สอดส่องหลายท้องถิ่น: สยาม (ค.ศ. 1908) โดย เออร์เนสต์ ยัง, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 9 วัด

วัดโพธิ์ บทที่ 9

บทที่ 9
วัด

มีวัดอยู่ทุกหนทุกแห่งในสยาม บางแห่งไม่ใหญ่ไปกว่ายุ้งฉางมากนัก ส่วนแห่งอื่น ๆ เป็นมหาอาคารมีหลังคาสูงยิ่งและสิ่งรายรอบอลังการ บางแห่งค่อนข้างใหม่ เฉิดฉายอยู่ในสรรพแสงระยับแห่งสีทองและสีสันนานา ขณะที่แห่งอื่น ๆ เก่าคร่ำคร่า หาความสะอาดมิได้ และพังทลายเป็นผุยผง ปรกติแล้วจะไม่ซ่อมแซมวัดกัน แต่จะสร้างวัดขึ้นและจากนั้นก็ปล่อยให้ปรักหักพังไป วัดไม่ใช่สถานที่สำหรับบูชาอันใดอยู่ภายใน เพราะถ้าจะพูดกันให้ชัดแล้ว ไม่มีใครจะให้บูชาอยู่ในนั้น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงขอให้ผู้คนมาคุกเข่าต่อพระองค์ พระองค์ทรงเป็นมนุษย์ หาใช่เทวดา และทรงกลายเป็นที่เลื่อมใสก็เพราะทรงดำรงพระชนม์แบบห่างไกลบาป มนุษย์คนอื่นใดที่ใช้ชีวิตเหมือนของพระองค์ ก็ย่อมกลายเป็นพระพุทธเจ้าได้ดุจกัน และวัดนั้นมิได้สร้างมาไว้ให้อ้อนวอนภาวนาอยู่ภายใน เพราะไม่มีใครจะให้อ้อนวอนถึงอยู่ในนั้น มนุษย์ทุกผู้ทุกนามต้องรักษาตนด้วยการกระทำของตนเอง และพระพุทธองค์จะไม่ทรงทำเสมือนว่า ทรงสดับและตอบรับคำภาวนาทั้งหลาย ในวัดมีการอ่านคัมภีร์ ขับขานบทสวด และบางทีก็เทศนาธรรม แต่ไม่มีการบูชาและไม่มีการอ้อนวอนภาวนาอย่างที่เราเข้าใจและประพฤติในเรื่องเหล่านี้กันเสียทีเดียว

ทีนี้ เพื่อให้เข้าใจว่า เหตุใดจึงสร้างวัดกันมากมายนัก ท่านจึงจำต้องรู้บางเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธเพิ่ม พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า เมื่อเราตาย วิญญาณเราจะผ่านไปสู่ร่างอื่น ถ้าในชาตินี้เราเป็นคนชั่วร้ายเหลือเกิน เราก็อาจจะไปเกิดใหม่เป็นแมว หรือคางคก หรือด้วง ถ้าเราเป็นคนแสนดี เราก็อาจจะปรากฏโฉมใหม่เป็นขุนนางหรือเจ้าชาย หรือบางทีอาจได้ใช้ชีวิตเป็นเทยพดาในภพภูมิอื่น คนผู้ได้มีชีวิตอันดีพร้อม ไม่เคยคิด พูด หรือทำสิ่งผิดใด ๆ ย่อมไปสู่นิพพาน ที่ซึ่งมีสันติสุขไม่รู้จบ และไม่พานพบความวุ่นวาย เศร้าโศก หรือโรคภัยประการใดเลย เมื่อถึงซึ่งนิพพานแล้ว วิญญาณจะพบความสงบไปชั่วกาล และจะไม่เกิดใหม่อีก ไม่ว่าในสวรรค์หรือบนโลก

เมื่อบุคคลถึงแก่กรรม ความดีทั้งหมดและความชั่วทั้งมวลที่เขาได้กระทำ จะนำมาประมวลกัน และหาจุดสมดุลสักอย่าง ความสุขหรือทุกข์ของเขาในชาติหน้า ขึ้นอยู่กับว่า เขาได้จุดสมดุลที่ดีหรือไม่ดี มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คนเราอาจกระทำในชีวิตนี้ซึ่งอาจได้รับการพิจารณาไปในข้างดี การทำสิ่งเหล่านี้ คือ การ "ทำบุญ" การกระทำบางอย่างอาจก่อให้เกิดผลบุญเพียงเล็กน้อย ขณะที่อย่างอื่น ๆ ก่อผลบุญมหาศาล ดังที่นักบวชพูดกัน วิธีอันดีที่สุดวิธีหนึ่งซึ่งจะทำให้ได้สัดส่วนสำคัญจากข้างที่ถูกที่ใช่ในการพิจารณาบาปบุญ ก็คือ การสร้างวัด ฉะนั้น เมื่อบุคคลรวยพอ เขาก็จะก่อสร้างวิหารให้พระพุทธเจ้า ที่ซึ่งเราจะได้เห็นรูปของพระองค์ ได้เรียนรู้บทเรียนจากพระองค์ และได้ขับขานการสรรเสริญต่อพระองค์ แต่ครั้นสร้างวัดขึ้นแล้ว ก็เป็นอันจบเรื่องเท่านั้น และไม่ต้องซ่อมแซมกันอีก ชาวพุทธพูดกันว่า แม้วัดจะพังทลายไป เดี๋ยวลูกหลานตนก็จะสร้างแห่งอื่นขึ้นเอง ฉะนั้น จึงจะมีโบสถ์อยู่ล้นเหลือทุกเมื่อ และมีโอกาสในการทำบุญแบบนี้อยู่มากมาย

คำสยามว่า "วัด" นั้น หมายถึง บรรดาอาคารที่ล้อมด้วยกำแพงศักดิ์สิทธิ์ ทั้งรวมถึงเรือนที่นักบวชอยู่ หมู่อาคารศักดิ์สิทธิ์ที่ไว้รูปเคารพ และเครื่องตบแต่งรูปขดเกลียวเกินจะนับจำนวนได้ซึ่งใช้ครอบพระธาตุ ในกลุ่มอาคารเหล่านี้ อาาคารศักดิ์สิทธิ์ที่สุด คือ โบสถ์ ริมมุมทั้งสี่ คือ เหนือ ใต้ ออก และตกนั้น จะมีศิลา[1] สี่แผ่นสลักเป็นรูปใบของต้นโพ ต้นไม้ที่โคตมะทรงกลายเป็นพระพุทธเจ้าในคราวประทับอยู่ใต้ร่มเงา ครั้นสร้างโบสถ์แล้ว จะรดน้ำมนต์ลงบนศิลาเหล่านี้ และจึงเป็นอันป้องกันผีร้ายมิให้ย่างกรายเข้ามาได้ตลอดกาล

ในเขตวัด มักมีสิ่งปลูกสร้างปลายสอบงามชดช้อยคอยครอบพระธาตุหรือพระธาตุสมมุติ ท่านจะเห็นสิ่งเหล่านี้บางสิ่งได้จากรูปหลายรูปในหนังสือนี้ บางทีสิ่งดังกล่าวจะตั้งตรงอยู่บนพื้น แต่ในโอกาสอื่น จะพบขดเกลียวเรียวแหลมอยู่บนซุ้มประตู หรือแม้กระทั่งอยู่บนยอดอาคาร มีเรื่องหนึ่งซึ่งเล่าว่า หลังพระพุทธองค์ทรงดับขันธ์แล้ว ศิษย์ผู้หนึ่งของพระองค์นำสรรพทรัพย์สินของพระบรมครูไปแจกจ่ายให้สาวกคนอื่น ๆ ส่วนตนเองตั้งใจจะไม่เก็บสิ่งใดไว้กับตน แต่เมื่อพบพระทันตธาตุของพระพุทธองค์เข้า เขาก็จ้องมองพระธาตุนั้นด้วยใจอยาก และแล้วก็ฉวยพระธาตุไป และแอบซ่อนพระธาตุไว้ในมวยผมซึ่งชาวฮินดูหลายคนมีไว้บนศีรษะ[2] เทวะพระองค์หนึ่งในสรวงสวรรค์เห็นพฤติการณ์นี้เข้า จึงเหาะลงมาบนโลกอย่างรวดเร็ว ฉกชิงพระธาตุอันล้ำค่านั้นไปเสียจากที่ซ่อน แล้วกลบฝังพระธาตุไว้ใต้เนินใหญ่ที่ตนสร้างไว้ในลักษณะปลายสอบเพื่อให้คล้ายช่อผมที่เคยใช้ซ่อนพระทันตธาตุ อย่างไรก็ดี เรื่องอื่น ๆ ระบุว่า รูปทรงของเนินพระธาตุนั้นมีที่มาจากการที่พระพุทธเจ้าทรงแถลงแก่สาวกขณะประทับนอนบนพระแท่นก่อนเสด็จดับขันธ์ว่า ให้ฝังพระอัฐิไว้ใต้เนินรูปเหมือนกองข้าว

อาคารหลักมีผนังตั้งตรงพร้อมช่องสี่เหลี่ยมมุมฉากเป็นหน้าต่าง ไม่มีช่องโค้งงาม ๆ ไม่มีสิ่งสลัก และไม่มีกระจกสี หลังคาทำเป็นชั้น ๆ ซึ่งซ้อนทับกัน และปกคลุมด้วยกระเบื้องสวยงามเป็นสีเป็นสัน ทั้งสีอำพัน สีทองคำ สีแดงก่ำ และสีฟ้า เสาไม้สักมหึมาหลายหมู่ได้รับการเรียงไว้เพื่อให้มีทางเท้าร่มเย็นรายรอบอาคาร ด้านนอกนั้นทาสีขาวล้วน เว้นแต่ที่หลังคา และเมื่อตะวันเที่ยงวันสาดส่องลงมายังวัด สถานที่เหล่านี้ก็จะเปล่งประกายและเฉิดฉาย เฉกเช่นสีขาวกระฉอกใหญ่มีสีสันพันลึกประดับอยู่บนยอด

ภายในมีแสงน้อยนิด และถ้าหลังคาสูง คานหลังคาย่อมซ่อนตัวอยู่ในความมืด ที่ปลายสุดมีพระพุทธรูปมหึมาเคลือบด้วยทองคำประทับอยู่ มีรูปของพระพุทธองค์เองและสาวกในขนาดย่อมลงมารายล้อมอยู่ บางรูปยกมือขึ้นราวกับจะกล่าวสิ่งใด ที่เหลือมีพัดบังหน้าเสมือนว่าจะกันตนจากสิ่งชั่วร้ายโสมมและความทุกข์ระทมของโลก บางทีรูปเหล่านี้ก็มีจำนวนมากมายนัก ณ วัดแห่งหนึ่งในอยุธยา ราชธานีเก่า มีรูปเหล่านี้ไม่น้อยกว่า 20,000 องค์

ที่ปลายสันหลังคาวัด ที่มุมหน้าบัน และในที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง จะมีหงอนงามโง้ง[3] สิ่งเหล่านี้สื่อถึงเศียรนาค หรืองูมีหัว 7 หัว ซึ่งขดตัวรอบพระกายของพระบรมครู แล้วใช้หัวทั้ง 7 คุ้มกันพระองค์ในคราวที่ทรงถูกมารร้ายโจมตีใต้ต้นโพ[4]

มีศาลาหรือที่พักหนึ่งแห่งหรือหลายแห่งเกี่ยวข้องกับวัด การสร้างศาลาเป็นอีกวิธีหนึ่งในการทำบุญ และเพราะการก่อสร้างที่พักทำด้วยไม้เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการสร้างวัด ในประเทศนี้จึงมีศาลาอยู่เป็นพัน ๆ หลัง ศาลานั้นจะตั้งขึ้น ณ ฝั่งแม่น้ำหรือลำคลอง ณ พื้นที่เปล่าเปลี่ยวของป่า ณ ที่ดินรกร้างริมเมืองหรือหมู่บ้าน หรือที่จริงก็เกือบทุกหนทุกแห่ง ศาลาประกอบด้วยอาคารยกพื้นซึ่งยกขึ้นสูงเหนือพื้นไม่กี่ฟุต และปกคลุมด้วยหลังคาซึ่งมีเสาไม่กี่ต้นรองรับอยู่ ไม่มีผนังหรือฉากกั้น ผู้เดินทางจะพักผ่อน กินดื่ม หรือนอนหลับที่นี่ก็ได้ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าใด ๆ ไร้ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง และมักถูกรังควานจากคนบ้าในถิ่นนั้น คนเดินทางจร หรือฝูงเด็กครื้นเครงช่างสอดรู้ คนผู้นั้นจะบ่นก็ไม่ได้อีก เพราะอาคารยกพื้นเพรียวลมแห่งนี้เปิดเสรีต่อทุกคนที่มาเยือน

วัดอันเป็นที่รู้จักที่สุดแห่งหนึ่งในบางกอก คือ วัดที่ภูเขาทอง ภูเขานี้ทำจากอิฐและปูนสอ และสูงสัก 200 ฟุตได้ ไม้ต้น ไม้พุ่ม และไม้เลื้อยงอกคลุมภูเขานั้น และทีแรกก็ยากจะเชื่อได้ว่า ภูเขานี้เป็นฝีมือมนุษย์ บนยอดมีเจดีย์สีขาวเพียงหิมะ และใต้เจดีย์นี้ ที่ในศาลซึ่งเคลือบด้วยทองคำ มีแก้วจำลองพระทนต์องค์หนึ่งของพระพุทธเจ้าอยู่ ทุก ๆ ปีผู้คนนับพันจะมาบูชาพระทนต์นี้เป็นเวลา 3 วัน เขาจะซื้อทองคำเปลวนิดหน่อย หรือดอกไม้ขี้ผึ้งเล็กน้อย ครั้นแล้ว เขาจะขึ้นไปบนยอดภูเขา ณ ที่นั้น เขาจะแปะทองคำเปลวบนราวเหล็กรอบศาล จุดเทียน โยนดอกไม้ขี้ผึ้งเข้าในเพลิงกองใหญ่ แล้วลั่นกลองสองสามใบ เมื่อเสร็จการอุทิศเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้แล้ว เขาจะไปที่เชิงภูเขาอีกครั้ง ที่ล่างภูเขานั้นมีงานแสดงสินค้าเป็นการใหญ่ มีหวยทุกประเภท มีร้านน้ำชา มีบรรดาหนุ่มสาวครึกครื้น มีนักบวชห่มผ้าเหลืองหลายสิบรูป มีการแสดงประกอบซึ่งมีหญิงร่างยักษ์กับงู 2 หัว ทั่วทุกแห่งหนล้วนแล้วแต่เสียงสรวลเสเฮฮา การสนทนาเจื้อยแจ้ว และความรื่นเริงบันเทิงใจ

ในวัดอีกแห่งมีรูปพระพุทธเจ้าบรรทม รูปเคารพนี้ยาว 175 ฟุต[5] และมีอาคารเป็นของตนเองหนึ่งหลังเต็ม ๆ รูปอันใหญ่ยักษ์นี้ทำขึ้นจากอิฐแล้วปิดด้วยซีเมนต์เคลือบทอง รอบอกยาว 18 ฟุต เท้ายาว 5 หลา นิ้วเท้าซึ่งยาวเท่ากันทุกนิ้วนั้นมีขนาด 1 หลา

หมายเหตุ[แก้ไข]

  1. คือที่เรียกว่า ใบเสมา
  2. เป็นเรื่องโทณพราหมณ์ขโมยพระธาตุ
  3. คงหมายถึง ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์
  4. คงหมายถึง นาคที่ชื่อ มุจลินท์ ซึ่งคุ้มกันพระพุทธเจ้าจากลมฝนขณะประทับใต้ต้นจิก แต่ในที่นี้คงสับสนกับเหตุการณ์ที่มารมาผจญขณะพระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นโพ
  5. อาจหมายถึง พระนอนที่วัดบางพลีใหญ่กลาง ซึ่งยาว 53 เมตร (ราว 175 ฟุต)