งานแปล:ไคดัง: เรื่องเล่าขานและการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งประหลาด/บทที่ 6

จาก วิกิซอร์ซ
ไคดัง: เรื่องเล่าขานและการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งประหลาด (พ.ศ. 2447) โดย ลัฟคาดิโอ เฮิร์น, แปลจากภาษาอังกฤษ โดย วิกิซอร์ซ
บทที่ 6 ว่าด้วยคันฉ่องกับระฆัง
  • ว่าด้วย
    คันฉ่อง
    กับ
    ระฆัง
ว่าด้วย
คันฉ่อง
กับ
ระฆัง


800 ปีก่อน เหล่านักบวชแห่งมูเง็นยามะ ในมณฑลโทโตมิ ประสงค์จะได้ระฆังใบใหญ่สำหรับวัด และวอนขอให้สตรีทั้งหลายในเขตสงฆ์ช่วยเหลือโดยบริจาคคันฉ่องสัมฤทธิ์เก่า ๆ มาเป็นโลหะหลอมระฆัง

[แม้จนทุกวันนี้ ที่ลานวัดญี่ปุ่นบางแห่ง ท่านก็อาจเห็นคันฉ่องสัมฤทธิ์เก่า ๆ ที่บริจาคมาเพื่อวัตถุประสงค์นั้นสุมอยู่เป็นกอง การรวบรวมวัตถุเช่นนี้ครั้งใหญ่ที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมาเกิดขึ้นที่ลานวัดแห่งหนึ่งของนิกายโจโดะ ที่ฮากาตะ ในคีวชู ซึ่งมีการถวายคันฉ่องให้มาทำรูปพระอมิตาภสัมฤทธิ์สูง 33 ฟุต]

ครั้งนั้น มีสตรีสาวผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นภริยาชาวนา อาศัยอยู่ ณ มูเง็นยามะ บริจาคคันฉ่องของตนให้วัดใช้เป็นโลหะหลอมระฆัง แต่ภายหลัง นางเกิดเสียดายคันฉ่องยิ่งนัก นางนึกขึ้นได้ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับคันฉ่องนั้นที่มารดาเคยเล่าให้ฟัง และนางก็จำได้ว่า คันฉ่องนั้นใช่แต่เคยเป็นของมารดานาง แต่ยังเคยเป็นของแม่และยายของมารดานางด้วย ทั้งนางยังระลึกได้ถึงรอยยิ้มพิมพ์ใจที่สะท้อนบนคันฉ่องนั้น จริงสิ ถ้านางลองเสนอเงินสักก้อนให้เหล่านักบวชแทนคันฉ่อง นางก็อาจขอมรดกตกทอดชิ้นนั้นคืนจากพวกเขาได้ แต่นางไม่มีเงินดังที่จำเป็นต้องใช้เลย คราใดที่นางไปวัด นางก็เห็นคันฉ่องของนางวางอยู่ ณ ลานวัดหลังราวรั้วท่ามกลางคันฉ่องอันอื่น ๆ ที่สุมกองกันอยู่ตรงนั้น นางดูออกเพราะด้านหลักคันฉ่องมีการสลักนูนเป็นรูปโชจิกูไบ อันเป็นสัญลักษณ์นำโชคสามประการ คือ สน ไผ่ และดอกบ๊วย ซึ่งเป็นที่สำราญตาของทารกอย่างนางในครั้งที่มารดาอวดโฉมคันฉ่องอันนี้แก่นางเป็นหนแรก นางจึงรอคอยโอกาสไปฉกชิงคันฉ่องนั้นมาซ่อนไว้ เพื่อที่นางจะได้เก็บสงวนไว้ตลอดไปนับจากนั้น แต่โอกาสก็ไม่มาสักที และนางก็เริ่มขุ่นใจเหลือใจ ด้วยเกิดรู้สึกราวกับว่า ตนได้หลงผิดบริจาคชีวิตส่วนหนึ่งให้เขาไป นางครุ่นคำนึงถึงคำกล่าวแต่เก่าก่อนที่ว่า คันฉ่องคือดวงจิตของอิสตรี (เป็นคำกล่าวที่ปรากฏด้านหลังคันฉ่องสัมฤทธิ์หลายอันอย่างน่าประหลาด โดยคำว่า ดวงจิต นั้นเขียนด้วยอักษรจีน) และนางก็หวั่นเกรงว่า คำกล่าวนี้จะเป็นจริงในแบบพิลึกกว่าที่นางจินตนาการไว้ แต่นางก็ยังไม่กล้าบอกเล่าความทรมานนี้แก่ผู้ใด

ทีนี้ เมื่อมีการส่งคันฉ่องทั้วงปวงที่บริจาคมาเป็นระฆังแห่งมูเง็นยามะนั้นไปยังโรงหลอม ช่างทำระฆังพบว่า มีคันฉ่องอันหนึ่งในจำพวกนั้นไม่ยอมหลอมละลาย แมัจะเพียรแล้วเพียรเล่าเพื่อให้มันละลาย มันก็ไม่ระย่อต่อความพยายามทุกรูปแบบ เห็นได้ชัดว่า หญิงผู้ให้คันฉ่องนั้นแก่วัดคงเสียดายในการให้ นางมิได้ถวายข้าวของด้วยความเต็มใจ และเหตุฉะนั้น ดวงจิตอันเห็นแก่ตัวของนางจึงฝังติดอยู่กับคันฉ่อง ดลให้คันฉ่องแข็งกระด้างและเย็นเยือกอยู่ท่ามกลางเตาเผา

แน่ล่ะ เรื่องนี้ถึงหูทุกคน และในไม่ช้าทุกคนก็รู้ว่า คันฉ่องที่ไม่ยอมหลอมละลายนั้นเป็นของผู้ใด และเพราะมลทินอันเป็นความลับนี้ถูกเปิดโปงต่อสาธารณะ หญิงผู้น่าสมเพชนั้นจึงอดสูเหลือแสน และโกรธแค้นเหลือเกิน และเนื่องจากนางทนความอัปยศมิได้ นางจึงกระทำให้ตนเองจมน้ำตาย หลังจากที่เขียนจดหมายสั่งเสียไว้เป็นข้อความว่า

"ครั้นกูตายแล้ว การหลอมคันฉ่องไปหล่อระฆังก็จะไม่ยากอีก แต่คนผู้ลั่นระฆังใบนั้นให้แตกได้ไซร้ ผีกูจะให้สมบัติมหึมา"

ท่านต้องรู้ก่อนว่า โดยทั่วไปนั้นคิดกันว่า คนใดตายด้วยความโกรธขึ้ง หรือปลิดชีพตนด้วยความโกรธเคือง ความประสงค์หรือคำมั่นสัญญาสุดท้ายของคนผู้นั้นจะมีพลังเหนือธรรมชาติ พอหลอมคันฉ่องของหญิงผู้ล่วงลับนั้นเสร็จ และหล่อระฆังเป็นผลสำเร็จ ผู้คนก็นึกถึงข้อความในจดหมายขึ้นมา ต่างคนต่างมั่นใจว่า วิญญาณของผู้เขียนจดหมายจะบันดาลทรัพย์สินให้แก่ผู้ทำระฆังแตก และทันทีที่มีการแขวนระฆังไว้ในลานวัด ก็แห่กันไปลั่นระฆังใบนั้น โดยเหวี่ยงฆ้อนระฆังกันเต็มเหนี่ยวสุดเรี่ยวแรง แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า ระฆังใบนั้นเป็นระฆังชั้นยอด และมันอาจหาญทานทนการกระหน่ำตีของพวกเขา กระนั้น ผู้คนก็ยังไม่เลิกล้มความตั้งใจไปง่าย ๆ พวกเขาไปลั่นระฆังกันต่ออย่างบ้าระห่ำ ทุกเวล่ำเวลา วันแล้ววันเล่า โดยไม่แยแสใด ๆ ต่อคำทัดท้านของนักบวช เหตุฉะนั้น การลั่นระฆังจึงกลายเป็นที่เดือดร้อน และเหล่านักบวชก็อดรนทนไม่ได้ และกำจัดระฆังนั้นเสียโดยกลิ้งมันลงเนินไปสู่บึง บึงนั้นลึก และระฆังก็จมจ่อมลงไปในท้องบึงจนมิด และนั่นคือจุดจบของเจ้าระฆัง เหลือแต่ตำนานระฆังสืบมา และในตำนานนั้น ระฆังเป็นที่เรียกขานกันว่า มูเง็นกาเนะ หรือ ระฆังมูเง็น

 

ทีนี้ มีความเชื่อโบราณอันพิลึกพิลั่นของญี่ปุ่นว่า การทำงานบางอย่างของจิต ซึ่งอนุมานได้จากคำกริยาว่า นาโซราเอรุ[1] นั้น มีความขลังทางไสยศาสตร์อยู่ แม้จะไม่มีการอธิบายขยายความไว้ก็ตาม คำดังกล่าวนี้เองไม่อาจถ่ายทอดอย่างพอเพียงด้วยคำใด ๆ ในภาษาอังกฤษ เพราะมีการนำคำนี้ไปใช้งานในไสยศาสตร์แบบสนองตอบหลายแขนง รวมถึงในการกระทำศาสนกิจอันสำเร็จด้วยศรัทธาอีกหลายประการ ตามพจนานุกรมแล้ว ความหมายทั่วไปของ นาโซราเอรุ คือ "เลียนแบบ" "เปรียบ" หรือ "เทียบ" แต่ความหมายที่รู้กันเฉพาะวงใน คือ แทนที่วัตถุหรือการกระทำอย่างหนึ่งด้วยอีกอย่างหนึ่งในจินตภาพ เพื่อกระทำให้เกิดผลลัพธ์ทางไสยศาสตร์หรือทางปาฏิหาริย์

ตัวอย่างเช่น ท่านไม่มีเงินพอจะใช้สร้างวัดในพุทธศาสนา แต่ท่านสามารถนำก้อนกรวดมาวางไว้หน้าพระพุทธรูปได้อย่างไม่ลำบาก พร้อมความรู้สึกเปี่ยมศรัทธาอย่างเดียวกับที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านสร้างวัดขึ้นเมื่อท่านร่ำรวยพอจะสร้างได้สักแห่ง ผลบุญของการถวายก้อนกรวดเช่นนั้นจะเท่า หรือแทบจะเท่า กับผลบุญในการสถาปนาวัดขึ้นทีเดียว . . . ท่านไม่สามารถอ่านคัมภีร์พุทธ 6,771 เล่มได้จบ แต่ท่านสามารถสร้างตู้หนังสือหมุนได้[2] ขึ้นโดยบรรจุคัมภีร์เหล่านั้นไว้ แล้วหมุนตู้นั้นไปรอบ ๆ โดยดันมันไปเหมือนดันกว้าน และถ้าท่านหมุนตู้นั้นไปด้วยจิตอธิษฐานอย่างแรงกล้าว่า ท่านสามารถอ่านทั้ง 6,771 เล่มได้ ท่านก็จะได้รับผลบุญอย่างเดียวกับที่จะได้จากการอ่านครบ . . . พรรณนามาเท่านี้ก็คงจะพอเป็นคำอธิบายความหมายทางศาสนาของคำว่า นาโซราเอรุ แล้ว

ส่วนความหมายทางไสยศาสตร์นั้น ไม่อาจอธิบายให้ครบถ้วนโดยไม่ยกตัวอย่างให้หลากหลายอย่างยิ่ง แต่สำหรับความมุ่งหมายในตอนนี้ เพียงตัวอย่างดังต่อไปนี้ก็ใช้ได้แล้ว คือ ถ้าท่านจะทำหุ่นฟางตัวเล็ก ๆ ด้วยเหตุผลเดียวกับที่ภคินีเฮเลนทำหุ่นขี้ผึ้งตัวน้อย[3] แล้วเอาตะปูยาวไม่ต่ำกว่า 5 นิ้วตรึงมันไว้กับต้นไม้สักต้นที่ป่าของวัดในอุสุภยาม[4] และถ้าบุคคลที่ท่านจินตนาการให้หุ่นฟางตัวเล็กตัวนั้นเป็นสื่อแทนเกิดเสียชีวิตหลังจากนั้นด้วยอาการทุรนทุรายสาหัสขึ้นมา นั่นล่ะจะเป็นตัวอย่างสำหรับความหมายหนึ่งของ นาโซราเอรุ . . . หรือลองสุมมติกันว่า มีขโมยขึ้นเรือนท่านกลางดึก แล้วยกเค้าข้าวของมีค่าของท่านไป ถ้าท่านสามารถตรวจเจอรอยเท้าของขโมยผู้นั้นในสวนของท่าน และรีบเผาใบโกฐจุฬาจีน[5] ใบใหญ่ ๆ ไปบนรอยเท้าแต่ละรอยนั้น ฝ่าเท้าของเจ้าหัวขโมยจะเกิดอักเสบ และจะทำให้ขโมยผู้นั้นอยู่ไม่เป็นสุข จนกว่าจะยอมกลับมาลุแก่โทษต่อท่าน นี่ก็เป็นคุณไสยแบบสนองตอบอีกประเภทหนึ่งซึ่งเรียกกันด้วยคำว่า นาโซราเอรุ และประเภทที่ 3 นั้นมีตัวอย่างจากตำนานมากมายเกี่ยวกับระฆังมูเง็นนี้

หลังจากระฆังถูกกลิ้งลงบึงไปแล้ว ก็แน่ละที่ไม่เหลือโอกาสลั่นระฆังนั้นในลักษณะที่จะทำให้มันแตกได้อีก แต่บุคคลทั้งหลายที่เสียดายโอกาสซึ่งหดหายไปนี้ก็ต่อยตีวัตถุที่จินตนาการเป็นเครื่องแทนระฆังใบนั้น โดยหวังว่า จะเป็นที่พอใจแก่วิญญาณเจ้าของคันฉ่องผู้ได้ก่อเรื่องวุ่นวายไว้เอาไว้มากเหลือเกิน หนึ่งในบุคคลเหล่านี้ คือ สตรีนางหนึ่งนาม อูเมงาเอะ ซึ่งเลื่องชื่อลือนามในตำนานญี่ปุ่นเพราะความสัมพันธ์ของนางกับคาจิวาระ คาเงซูเอะ นักรบแห่งตระกูลเฮเกะ ระหว่างที่คนทั้งสองออกท่องเที่ยวไปด้วยกันนั้น วันหนึ่ง คาจิวาระก็พบว่า ตนตกที่นั่งลำบากใหญ่หลวงเข้าแล้วเพราะเงินทองไม่พอ ฝ่ายอูเมงาเอะนึกถึงธรรมเนียมประจำระฆังมูเง็นขึ้นมาได้ ก็หยิบอ่างสัมฤทธิ์มา แล้วมโนว่า มันเป็นสิ่งแทนของระฆังใบนั้น ก่อนตีอ่างจนแตก พลางร้องขอทองคำ 300 แท่ง แขกในเรือนแรมที่คนคู่นี้แวะอยู่ก็ออกมาถามไถ่ถึงต้นตอเสียงดังปึงปังและเสียงร้องร่ำ และเมื่อรับรู้เรื่องราวความเดือดร้อนนั้น ก็นำทองคำ 300 เรียวมามอบให้อูเมงาเอะจริง ๆ ในเวลาต่อมา มีการแต่งลำนำว่าด้วยเรื่องอ่างของอูเมงาเอะ และแม้จนทุกวันนี้นางรำทั้งหลายก็ยังขับขานลำนำบทนั้นกันอยู่ ความว่า

  • อูเมงาเอะ โนะ โชซุบาจิ ทาตาอิเตะ
  • โอกาเนะ กะ เดรุ นาราบะ
  • มินะ ซัง มิอูเกะ โวะ
  • โซเระ ทาโนมิมาซุ
 "หากตีอ่างอย่างอูเมงาเอะไซร้ แล้วข้าได้เงินทองกองหนักหนา
จะนำของนั้นไปไม่ชักช้า ไถ่เพื่อนพ้องพี่น้องข้าทั้งสิ้นเอย"

หลังเหตุการณ์นี้แล้ว ชื่อเสียงระฆังมูเง็นก็ทวี และหลายผู้หลายคนเอาอย่างอูเมงาเอะ โดยหวังจะมีวาสนาทัดเทียมกับนางบ้าง ในบรรดาคนเหล่านี้มีชาวนาเสเพลผู้หนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ใกล้มูเง็นยามะ ณ ฝั่งแม่น้ำโออิงาวะ หลังหมดสิ้นสินทรัพย์ไปกับการใช้ชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อ ชาวนาผู้นี้ก็เอาโคลนในสวนมาทำเป็นระฆังมูเง็นแบบจำลองด้วยดินเหนียวให้แก่ตนเอง แล้วตีระฆังดินเหนียวนั้นจนแตก พลางกู่ร้องขอลาภยศยิ่งใหญ่อยู่พักหนึ่ง

และแล้ว ร่างสตรีสวมชุดขาว มีเผ้าผมยาวสลวย ถือไหใบหนึ่งซึ่งปิดฝาไว้ ก็ผุดขึ้นมาจากพื้นต่อหน้าเขา และหญิงนั้นกล่าวว่า "ข้ามาเพื่อตอบรับคำภาวนาอันแรงกล้าของเจ้า เพราะคำภาวนานั้นคู่ควรแก่การตอบรับ ฉะนั้น จงรับไหนี้ไป" พูดเช่นนั้นแล้ว นางก็ส่งไหให้ต่อมือของเขาแล้วอันตรธานไป

ชายผู้เริงรื่นก็รุดรีบเข้าไปในเรือนของตนเพื่อแจ้งข่าวดีนี้แก่ภริยา เขานำไหปิดผนึกอันหนักอึ้งนั้นวางลงต่อหน้าภริยา และเมื่อพวกเขาเปิดมันออกมาด้วยกัน ก็พบว่า จนปริ่มล้นทีเดียวที่ไหนั้นบรรจุ . . .

ไม่สิ! ข้าพเจ้าก็บอกท่านไม่ได้เหมือนกันว่า ไหนั้นบรรจุอะไร


  1. ดู 準える (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. ดูตัวอย่างใน รูปที่ 1 (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. อาจหมายถึงเรื่องราวในบทกวีชื่อ Sister Helen ของดานเต เกเบรียล รอสเซ็ตติ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. ชื่อเวลาช่วงหนึ่งตามการนับเวลาแบบโบราณ ตรงกับ 13–15 นาฬิกา ดู Ox (zodiac) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. ม็อกซา (moxa) หมายถึง ใบแห้ง ๆ ของต้นโกฐจุฬาจีน ใช้ในการรมยา มาจากภาษาญี่ปุ่นว่า โมงูซะ (mogusa) หมายถึง ต้นโกฐจุฬาลัมพา (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)