จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี (พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๘๑)
หน้านี้ควรจัดทำเป็นแบบพิสูจน์อักษร เนื่องจากมีต้นฉบับสแกนอยู่ที่ ไฟล์:จมห ความทรงจำฯ - ๒๔๕๙.pdf |
งานนี้ยังไม่เสร็จ ถ้าต้องการช่วยเหลือ โปรดดูหน้าช่วยเหลือ หรือทิ้งความเห็นไว้ที่หน้าพูดคุย |
จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี (พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๘๑) จดหมายเหตุความทรงจำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ม.จ.ก., ป.จ. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๖ ............................................
จดหมายเหตุความทรงจำ ตอนที่ได้ฉบับเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวิจารณ์ กับ ตอนที่ได้ฉบับเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙
กรุงเก่าพม่ายกมา ๕,๐๐๐ ล้อมประชิดตั้งค่ายบ้านระจัน โพสามต้น ค่ายใหญ่ล้อมรอบ เกาะเมืองอยู่กลาง พลในเมืองขึ้นหน้าที่ประจำช่องเสมาเมืองถึง ๗๐๐,๐๐๐ ประจุปืนทุกหน้าที่ มิให้ยิงสู้ข้าศึก แผ่นดินต้นอยู่หน้าที่วัดแก้ว ได้ยิงสู้พม่าครั้งหนึ่ง ต้องคาดโทษมิให้ยิง ให้แจ้งศาลาก่อน พม่าล้อมไว้ ๓ ปี แผ่นดินต้นหนีออกจากเมือง กับผู้คนพรรคพวก ๕๐๐ มีปืนถือติดมือแต่ท่าน หนีข้ามฟากไปตะวันออก
ณ วันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ หนีออกจากเมือง พม่าขุดอุโมงค์เข้าเผาเมือง ได้ด้านหน้าวังก่อน ณ วันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๒๙ ปีกุน นพศก เพลายามเศษเข้าเมืองได้ กวาดครัวผ่อนหย่อนสายเชือกให้ลงตามช่องใบเสมา ประตูเมืองไม่เปิดให้ออกกลางคืนอยู่สัก ๑๕ วัน ตั้งให้นายทองสุกเป็นเจ้าอยู่โพสามต้น ให้นายกอง (๑) บุญสงเป็นเจ้าเมืองธนบุรี พม่าเลิกทัพกลับไป
แผ่นดินต้นกับไพร่ ๕๐๐ ไปปะพระเชียงเงิน ให้พลายแหวนกับพังม้วน (๒) ทรงไปตีเมืองตราด เมืองจันทบุรี ตีระยอง เมืองชล เข้าปากน้ำเมืองธนบุรี ณ เดือน ๑๒ ปีกุน นพศก มีแต่ซากศพ เผาเสีย คนโทษอยู่ ๒ – ๓ พัน
ไปตีโพสามต้น ได้หม่อมจิตร หม่อมเจ้ากระจาด ได้ปืนใหญ่พม่าเอาไปไม่ได้ค้างอยู่ ให้ระเบิดเอาทองลงสำเภา ซื้อข้าวถังละ ๑ l ๒ เลี้ยงคนโซไว้ได้กว่าพัน
ไปตีเกยไชยถูกปืนไม่เข้า ไปตีพิษณุโลก ได้หม่อมฉิมลูกเจ้าฟ้าจิตร ในปลายปีกุนกลับมา ถวายพระเพลิงที่นั่งสุริยาอมรินทร์ เจ้าแผ่นดินกรุงเก่า มีการสมโภชพร้อมเสร็จ
ณ ปีชวด สัมฤทธิศก ไปตีเมืองนครราชสีมา กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าศรีสังข์ ไปอยู่พิมาย ต่อสู้รบประจัญกัน จับได้กรมหมื่นเทพพิพิธ บุตรชาย ๒ บุตรหญิง ๑ กับเจ้าศรีสังข์ กรมหมื่นเทพพิพิธ ท่านให้สำเร็จโทษเสีย เจ้าศรีสังข์หนีไปเมืองขอม บุตรกรมหมื่นสุนทรเทพ หม่อมประยงค์ โปรดให้เป็นเจ้าอนิรุทเทวา บุตรกรมหมื่นจิตรสุนทร หม่อมกระจาดให้ชื่อบุษบา บุตรกรมพระราชวัง หม่อมเจ้ามิตรประทานชื่อประทุม บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมมงคล หม่อมพยอม (๓) พี่หม่อมอุบลบุตรเจ้าฟ้าจิตร เลี้ยงเสมอกันทั้ง ๔ คน แต่โปรดหม่อมฉิม หม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง
วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ ให้มาไล่จับหนูใต้ที่เสวยในที่ด้วย เจ้าประทุมทูลว่า ฝรั่งเป็นชู่กับหม่อมฉิม หม่อมอุบล กับคนรำ ๔ คน เป็น ๖ คนด้วยกัน รับสั่งถามหม่อมอุบลไม่รับ หม่อมฉิมว่ายังจะอยู่เป็นมเหสีขี้ซ่อนหรือ มาตายตามเจ้าพ่อเถิด รับเป็นสัตย์หมด ให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือรด ทำประจานด้วยแสนสาหัส ประหารชีวิต ผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือตัดเท้า สำเร็จโทษเสร็จแล้วไม่สบายพระทัย คิดถึงหม่อมอุบลว่ามีครรภ์อยู่ ๒ เดือน ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบล ว่าใครจะตายกับกูบ้าง เสมเมียกรมหมื่นเทพพิพิธว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทร์ หม่อมเกศ (๔) สั่งบุษบา จะตามเสด็จด้วย ประทานเงินคนละ ๑ ชั่ง ให้บังสุกุลตัว ทองคนละ ๑ บาท ให้ทำพระแล้วให้นั่งในแพหยวก นิมนต์พระเข้ามาบังสุกุล แล้วจะประหารชีวิตคนที่ยอมตามเสด็จนั้นก่อน แล้วท่านจะแทงพระองค์ท่านตามไปอยู่ด้วยกันเจ้าข้า พระสติฟั่นเฟือน
เจ้าคุณใหญ่ท้าวเจ้าคุณทรงกันดาล (๕) กับเตี่ยหม่อมทองจันทร์ นิมนต์พระเข้ามามาก ชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรขออย่าให้ทำหาควรไม่ ว่าที่จะได้พบกันนั้นหามิได้ แล้วถวายพระพรขอชีวิตไว้ ได้พระสติคืนสมประดี ประทานเงินเติมให้แก่ผู้รับตามเสด็จนั้น
เจ้าหอกลางประสูติเจ้า เป็นพระราชกุมาร แผ่นดินไหว
ฉลูต้นปี โปรดปล่อยคนโทษในคุกสิ้น หมายสมโภชเจ้าฟ้าน้อย แล้วเสด็จไปตีเมืองนคร เสด็จไปทัพเรือ ทรงเรือพระที่นั่งศรีสักหลาด เข้าปากน้ำเมืองนคร ณ วันเดือน ๑๐ แรม ๗ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๓๑ ปีฉลู เอกศก
เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาอภัยราชา เจ้าพระยาดาฤทธิรงค์ ยกทางสถลมารค ๓ ทัพไม่ทัน เสด็จเข้าเมืองได้แล้วเป็นวัน ทรงพระพิโรธคาดโทษให้ตามเจ้านครที่หนีไปอยู่เมืองจนะ พระฤทธิเทวาเจ้าเมืองรู้ว่ากองทัพยกติดตาม กลัวพระบารมี ส่งตัวเจ้านครกับพวกพ้องพงศ์พันธุ์ ทั้งละครผู้หญิง เครื่องประดับเงินทอง ราชทรัพย์สิ่งของส่งถวายมาพร้อม เสด็จลงมาสมโภชพระบรมธาตุ มีละครผู้หญิง แล้วให้ตั้งแห่สระสนาน ๓ วัน เสด็จอยู่นาน จนจีนนายสำเภาเอาของปากสำเภามาถวาย จึงให้เจ้าดาราสุริวงศ์อยู่กินเมือง เสด็จกลับมากรุงธนบุรี นางห้ามประสูติเจ้า ท่านสงสัยว่าเรียกหนเดียว มิใช่ลูกของท่าน รับสั่งให้หาภรรยาขุนนางเข้าไปถาม ได้พยานคน ๑ ว่าผัวไปหาหนเดียวมีบุตร จึงถามเจ้าตัวว่าท้องกับใคร ว่าท้องกับเจ๊ก เฆี่ยนสิ้นชีวิตในฝีหวาย แต่เจ๊ก (๖) นั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาเอาไปเลี้ยงไว้
ปีขาล โทศก ไปตีเมืองสวางคบุรี พระฝางมีช้างเผือกลูกบ้านออก ยังไม่จับหญ้า รู้ว่าทัพเมืองใต้ยกขึ้นไปจะรบเอาช้างเผือก จึ่งเสี่ยงหญ้าว่าช้างนี้คู่บุญเมืองเหนือ ให้รับหญ้าเมืองเหนือ คู่บุญเมืองใต้ ให้รับหญ้าเมืองใต้ รับหญ้าเมืองใต้ พอทัพถึงเข้าตีได้เมือง พระฝางพาช้างหนี ติดตามไปพบช้างอยู่ชายป่าแม่น้ำมืด ได้มาถวาย รับสั่งให้สมโภชนางพระยาแล้ว ให้รับละครผู้หญิงขึ้นไปสมโภชพระฝาง ๗ วัน แล้วเสด็จไปเยี่ยมเมืองพิษณุโลก สมโภชพระชินราช พระชินศรี ๗ วัน มีละครผู้หญิงเสร็จแล้ว แล้วเสด็จกลับมาที่หาดสูง เสด็จทรงพลายแหวน ประหารชีวิตผู้ทำผิดคิดมิชอบเสร็จแล้ว ให้พลายแหวนเป็นพระยาปราบ พังม้วนเป็นแม่นมนางพระยา แล้วเสด็จกลับมากรุง
ณ ปีเถาะ ไปตีกัมพูชา พุทไธมาศก็ได้ เสร็จกัมพูชา ให้องค์รามอยู่กินเมืองพุทไธมาศ ให้พระยาพิพิธว่าราชการเป็นพระยาราชาเศรษฐี ได้เจ้านำก๊กเล่าเอี๋ย ขับต้อนครอบครัวเข้ามาเมืองธนบุรี
ประทมอยู่แว่วเสียงลูกอ่อนร้องที่ข้างหน้า กริ้วว่าลูกมันหาเอาไปกับแม่มันไม่ ยังจะทำพันธุ์ไว้อีก สมเด็จพระอัยกาทราบ ทรงพระดำริระแวงผิด จึงส่งให้เจ้าวังนอก ว่าสุดแต่เธอ ก็ทำตามกระแสรับสั่ง สำเร็จโทษเสีย
ปีมะโรง เมืองมัตมะแตก พระยาเจ่งพาครัวหนีมาพึ่งพระบารมี พระยาจ่าบ้านแข็งเมืองอยู่ไม่ลงมา เสด็จขึ้นไปตีไม่ได้ ถอยล่าทัพยั้งอยู่เนิน รื้อกลับขึ้นไปตีเชียงใหม่ กลับลงมา ณ ปลายปีพม่ายกไล่หลังมา ๕ ทาง ล้วนทัพหมื่น แต่สู้รบกันอยู่เป็น ๓ ปี เสียพิษณุโลก กลับขุดอุโมงค์เข้าไปตีค่าย พม่าแตกออกจากค่าย รื้อตั้งล้อมกลางแปลง จับได้พม่าแม่ทัพใหญ่ ได้พม่าหลายหมื่น พม่าแตกเลิกทัพไป สมเด็จพระพันปี กรมพระเทพามาตย์ประชวรหนักอยู่แล้วเสด็จสู่สวรรคาลัย เสด็จมาตั้งเขาวงกต โดยสูงแลสุดสายตา ถวายพระเพลิงบนยอดเขาเสร็จ
เจ้าเสง เจ้าดารา อยู่เมืองนคร สิ้นพระชนม์ รับพระศพเข้ามาประทานเพลิงวัดบางยี่เรือ มีการสมโภชพร้อมเสร็จแล้ว
บุตรเจ้านครเก่าเป็นสนมเอก มารดาเจ้าทัศพงศ์เจ้าได้ขวบเศษ โปรดรับสั่งให้เจ้าตาไปเป็นเจ้าแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราช ให้รับพระโองการ เมียรับพระเสาวนีย์ให้ฝึกละครผู้หญิงเป็นเครื่องประดับ มารดาเจ้าเทียบที่กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ โปรดให้ลูกเขยไปเป็นผู้ (๗) ช่วยราชการเมืองนคร ได้กลับคืนไปเมืองปีมะแม สัปตศก
ปีวอก เข้าวัสสันตฤดูฝน นางพระยาล้ม
เดือนอ้าย ลุศักราช ๑๑๓๙ ปีระกา นพศก เจ้าฟ้ากษัตริย์ศึกยกพยุหทัพไปตีเมืองป่าศัก เมืองอัตปือ กลับมาเดือน ๑๐ ปีจอ สัมฤทธิศก ณ เดือนอ้าย ปีจอ กลับไปตีเมืองศรีสัตนาคนหุต ยังตั้งมั่นล้อมอยู่แรมปี ยังไม่เข้าเมืองได้
ฝ่ายผู้รักษากรุงเก่า เชื่อถือมหาดาว่า ผู้มีบุญจะมารื้อถ่ายการน้ำ จะขนทรัพย์ขึ้นสร้างวัดพระราม ผูกโครงช้างเผือกผู้งาดำ ผ้าขาวหุ้มโครง ผ้าดำหุ้มงา เพลาเย็นรอนๆ ชูรูปช้างไว้วัดถมุฆราช คนที่ไม่รู้ด้วยในกลเชื่อถือมาก เมืองมือด่างโกหกอยู่วัดสังขจาย ซื้อน้ำยาเสน่ห์ล่วงอาญาจักร หม้อละ ๕ ตำลึง ไปประสมมหาดาวัดพระราม ได้แจกลงมาถึงข้างใน วิเศษต้นเถ้าแก่แม่เจ้าได้ทาด้วยกันหลายคน ผู้รั้งกรมการหลงเชื่อถือหมด จะได้รื้อถ่ายการน้ำก็หามิได้ มหาดาคิดกลล่อลวงถ่ายเททรัพย์ ผู้เชื่อถือมาบุรณะทำบุญด้วยเป็นอันมาก จนได้ปิดทองพระเกือบแล้ว กิตติศัพท์รู้ลงมาถึงท่านราชาคณะ พระพนรัตน์วัดระฆังถวายพระพร รับสั่งให้นิมนต์มหาดาลงมา ณ วัดแจ้ง ให้ชุมนุมสงฆ์ไล่เลียงดูถามตามกิจสมณะ มหาดาว่าจะบุรณะวัดที่ชำรุดพม่าเผาเสีย จะบุรณะปฏิสังขรณ์พระวิหาร พระอุโบสถ พระพุทธรูป เจดียฐาน ขึ้นดังเก่าโดยสติปัญญา
พระพนรัตน์ถวายพระพร แผ่นดินต้นเห็นด้วย รับสั่งให้มหาดาขึ้นไปสร้างวัด อิ่มเอิบกำเริบอิทธิฤทธิ์ว่าจะฆ่าไม่ตาย ได้กลับขึ้นไป ผู้คนหลงใหลเชื่อว่ามหาดามีบุญจริง จะขี่ช้างเผือกผู้งาดำขึ้นปราสาทสุริยาอมรินทร์ เมื่อมหาดากลับขึ้นไป รับสั่งให้สุริยภักดีธรมาแต่งขึ้นไปฟังดูแยบคาย ว่าจะศรัทธาจริงหรือจะคิดเป็นการแผ่นดิน ดูแยบคายให้แน่ สุริยภักดีธรมาแต่งเพลาสงัดถือดาบเดินขึ้นไปบนปรางค์วัดพระราม เห็นมหาดานอนตื่นอยู่ในปรางค์แต่ ๒ คนกับที่เรียกพระท้ายน้ำ มหาดาตกใจกลัวยกมือคำนับผิดกิจสมณะ เขาซักว่า ได้เงินทองเอาไปเสียไหน มหาดาว่าถ่ายเทกัน เก่าไปใหม่มา เห็นเป็นกลโกหกแน่ กลับลงมาทูล จึงรับสั่งให้เจ้าลูกเธอ กรมอินทรพิทักษ์ขึ้นไปจับ เธอเมตตาสัตว์ที่หลงทำบุญด้วยมหาดา ให้ฝีพายกระทุ้งโห่ร้องขึ้นไป ที่ได้ยินเสียงอื้ออึงหนีได้มาก ที่ยังอยู่ในบริเวณวัดนั้นจับส่งลงมาทั้งผู้รั้ง กรมการกรุงเก่า ข้าราชการที่อยู่แขวงกรุงหลงเชื่อถือจับส่งลงมาหมด รับสั่งว่าตั้งเดโชท้ายน้ำจัตุสดมภ์ ยังขาดแต่พระยายมราชอยู่ในระวางโทษ ฝากไปกับมหาดา วิเศษต้นเถ้าแก่ยายเลี้ยงที่ได้ทายาเมืองมือด่างล่วงอาญาจักรไปประจบกับมหาดา รับสั่งให้ประหารชีวิตเสียด้วยกัน แต่มารดาเจ้ากับอยู่งาน ๔ คนด้วยกัน ลงพระราชอาญาคนละ ๑๐๐ จำไว้ เจ้าฟ้ากษัตริย์ศึกเข้าเมืองได้ ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๓ ค่ำ เจ้าเมืองหนี ได้พระแก้วพระบาง
พระอัยกาเข้าเมืองได้ ๓ วัน เจ้าลูกทรงครรภ์ประสูติเจ้า ณ วันศุกร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๗ ค่ำ ประสูติเป็นพระราชกุมาร ประโคมแตรสังข์ลั่นฆ้องชัย แมลงมุมทั้งไข่ จิ้งจกตกพร้อมกัน แมลงมุมอนิจกรรม จิ้งจกไปได้ ๑๒ วันเจ้าแม่สิ้นพระชนม์ ส่วนเจ้าลูกให้พระพี่นางเธอเอาไปเลี้ยง ให้นามเจ้าสุพันธุวงศ์ ศพนั้นก่อกุฏิไว้ ณ วัดบางยี่เรือ ให้ประโคมทุกเพลา
ณ เดือนอ้าย มีศุภอักษรขึ้นไปถึงเจ้าฟ้ากษัตริย์ศึก ว่าสำเร็จการศึกแล้วให้กลับลงมา บุตรนั้นเสียแล้วยังแต่หลานเป็นผู้ชาย แล้วรับสั่งให้หาเจ้านครด้วย เจ้าฟ้ากษัตริย์ศึกทราบแล้ว เร่งรีบการที่จะส่งพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตลงมา ประทับแรมมาถึงกรุงเก่า ณ วัน เดือน ๔ รับสั่งให้ตั้งพลับพลาที่ประทับ ณ บางธรณี สวนมะปราง
ณ วัน เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๔๒ ปีชวด โทศก รับสั่งให้ข้างในลงเรือประพาส ๔ ลำ ข้างหน้า ๔ ลำ ให้เจ้านครแต่งประพาส ๒ ลำ ๖ ลำด้วยกัน ให้พร้อมลำแต่ตี ๑๑ เรือข้าราชการสวนเรือพระที่นั่งเจ้าคันธวงศ์ล่มหน้าวัดระฆัง พี่เลี้ยงทั้ง ๔ รับเสด็จไว้ได้ พอสว่างเรือประพาสข้างในถึงหน้าวัดชัยชนะสงคราม ดวงพระสุริยเยี่ยมเพียงปลายไม้ ฤกษ์บนนั้นวิปริต รูปเมฆเป็นอาวุธผ่ากลางดวงพระอาทิตย์เป็นอัศจรรย์ พอสายงายถึงพร้อมกันที่ประทับ ทราบว่าเรือที่นั่งพระองค์เจ้าคันธวงศ์ เรือข้าราชการสวนเรือเจ้าล่ม พี่เลี้ยงทั้ง ๔ รับเสด็จไว้ได้ กริ้วบโทนพันที่นั่ง ให้ลงพระราชอาญาคนละ ๑๐๐ ฝีพายคนละ ๕๐ ขุนนางบรรดาตามเสด็จให้ลงพระราชอาญาภรรยาแทนผัวๆ จะได้แห่พระแก้ว เสด็จกลับรับพระแก้วพระบางลงมา เรือประพาสดอกสร้อยสักวา มโหรีพิณพาทย์ละครโขนลงแพ ลอยเล่นมาตามกระแสชลมารค พยุหยาตรากระบวนเรือ ประทับท่าวัดแจ้ง เชิญพระแก้วขึ้นทรงพระยานุมาศแห่มา ณ โรงพระแก้วอยู่ที่ท้องสนาม พลับพลาเสด็จอยู่กลาง ละครผู้หญิงผู้ชายอยู่คนละข้าง เงินโรงผู้หญิง ๑๐ ชั่ง เงินโรงผู้ชาย ๕ ชั่ง มี ๗ วัน ต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้นๆ ละ ๑ ชั่ง บรรดาการมหรสพสมโภชพร้อมเครื่องเล่น ดอกไม้พุ่มระทา ถ้วนเสร็จวันละ ๑ ชั่ง แจกทานคนแก่อายุ ๖๐ ๑ l ๒ อายุ ๘๐ ๒ l__ อายุ ๑๐๐ ๒ l ๒ สมโภชถ้วนสัตตวาร ให้มีละครผู้หญิงประชันกับละครเจ้านครวัน ๑ เงินโรงละ ๕ ชั่ง ละครหลวงแบ่งออกประชันกันเองโรงละ ๕ ชั่ง มีอีก ๓ วัน ถวายเงินกัลปนาให้ซื้อทองคำ เครื่องประดับพระแก้ว ๑๐๐ ชั่ง เสร็จการสมโภชแล้ว ให้ทอผ้าไตรเอกไตรละ ๑ ชั่ง ๑๐๐ ไตรถวายทั้งวัด ถวายเงินไปที่วัดชำรุดคร่ำคร่าในแขวงกรุงธนบุรีวัดละ ๑๐๐ ชั่ง ให้เจ้าวัดจัดแจงทำเครื่องบนขึ้นบุรณะปฏิสังขรณ์ โดยกำลังสมณะเป็นหลายวัด ให้ปลูกไม้ไผ่ ๑,๐๐๐ ไม้แก่น ๑,๐๐๐ ไว้ท่าท่านผู้มีบุญจะมาข้างหน้า จะได้สร้างปราสาท ไม้ไผ่จะทำร่างร้าน ไม้แก่นจะได้ทำ (๘) เสาปราสาท ปลูกไว้สำหรับผู้มีบุญจะมา พระองค์ท่านจะเหาะแล้ว
ให้แต่งสำเภาส่ง (๙) พระราชสาส์นไปถึงพระเจ้าปักกิ่ง ว่าจะขอลูกสาวพระเจ้าปักกิ่ง ให้เจ้าพระยาศรีธรมาธิราชผู้เถ้า กับหลวงนายฤทธิ หลวงนายศักดิ เป็นราชทูต หุ้มแพรมหาดเล็กเลวไปมาก แต่งเครื่องบรรณาการไปกล่าวขอลูกสาวเจ้าปักกิ่ง
ส่งพระราชสาส์นไปแล้ว เขาฟ้องว่าญวนเขมรรู้กันคิดกบฏต่อแผ่นดิน รับสั่งให้ประหารชีวิตนำก๊กเล่าเอี๋ยลูกชาย บรรดาพวกญวนฆ่าเสียครั้งนั้นมาก
แล้วกริ้วข้างในนางอยู่งาน ลูกขุนนางไม่ใช้ ให้เก็บลูกพลเรือนชาวตลาด ญวนงานกลางยกขึ้นไปเป็นนางอยู่งาน มารดาเจ้าอยู่งานเก่าให้เป็นเข็ญใจโทษ นุ่งตาเล็ดงาผ้าห่มผ้าลว้า (๑๐) จึงขับเจ้าหอกลางไปอยู่ที่วังนอก เจ้าลูกเธอทรงผนวช แล้วเงินนอนเจ้าลูกเธอข้างในองค์ละ ๑๐๐ ชั่ง ทองเครื่องประดับ ๑ ชั่ง มอบให้พี่เลี้ยงนางนมคุมของไว้ พี่เลี้ยงยกขึ้นไปเป็นสมศรีสมทรง ดูพระจริตฟั่นเฟือนเฝ้า (๑๑) แต่ฆ่าญวน มีโจทก์ฟ้องว่าขายข้าวเกลือลงสำเภามารายๆ จนกลางปีฉลู ได้ยินข่าวราชการกัมพูชา ว่าเขมรดงยกมาล้อมพุทไธเพชร ยังแต่ลูกองค์โตนองค์เองได้ ๙ ขวบว่าราชการอยู่ เจ้าฟ้ากษัตริย์ศึกเสด็จไปปราบกัมพูชา ทัพหัวเมืองพร้อมกรมอินทรพิทักษ์ลาผนวชเสด็จกับทัพหัวเมือง
อยู่ภายหลังกรุงธนบุรีเกิดโกลี พันศรีพันลาเป็นต้นฟ้องว่า ขุนนางและราษฎรขายข้าวเกลือลงสำเภา โยธาบดีผู้รับฟ้องกราบทูล รับสั่งให้เร่งเงินที่ขุนนางราษฎรขายข้าวเกลือ ให้เฆี่ยนเร่งเงินเข้าท้องพระคลัง ร้อนทุกเส้นหญ้า สมณาประชาราษฎรไม่มีสุข ยุคเข็ญเป็นที่สุดในปลายแผ่นดิน เงินในคลังในหาย ๒,๐๐๐ เหรียญๆ ละ ๑ บาท ๓ สลึง ๑ เฟื้อง แพรเหลือง ๑๐ ม้วน รับสั่งเรียกหาไม่ได้ ชาวคลังต้องเฆี่ยนใส่ไฟย่างแสนสาหัส ท่านสงสัยว่าข้างในขโมยเงินในคลัง จนพระมาตุจฉาพระพี่นางเธอ ให้จำหม่อมเจ้านัดดาแทนมารดาเจ้าแทนอยู่งาน คนรำใหญ่ให้เฆี่ยนคนละ ๑๕๐ คนละ ๑๐๐ คนละ ๕๐ คนรำเล็กให้พ่อให้แม่พี่น้อง ทาสรับพระราชอาญา ๑ __ l__ ๑๐๐ ให้เจ้าตัวแต่คนละ ๒๐ ที คนละ ๑๐ ที ตามรับสั่ง หลวงประชาชีพ โจทก์ฟ้องว่าขายข้าว รับสั่งให้ตัดศีรษะหิ้วเข้ามาถวายที่เสด็จออกทอดพระเนตร เหตุผลกรรมของสัตว์ พื้นแผ่นดินร้อน ราษฎรเหมือนผลไม้ เมื่อต้นแผ่นดินเย็นด้วยพระบารมี ชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแก่น ปลายแผ่นดินแสนร้อนรุมสุมรากโคน โค่นล้มถมแผ่นดินด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น
ผู้รักษากรุงเก่า พระชิตณรงค์ ผูกขาดขึ้นไปจะเร่งเงินไพร่แขวงกรุงเก่าให้ได้โดยจำนวน ๕๐๐ ชั่ง เร่งรัดไพร่เมืองยากครั้งนั้นสาหัส
รับสั่งให้ขุนแก้วน้องพระยาสรรค์ เอาปืนขึ้นไปต่อยศิลาปากนกปืน ๑,๐๐๐ ไปคบคิดกับกำนันบ้านแขวงกรุงเก่า ปักหนังสือชวนพวกรักษากรุงว่าจะเข้าด้วยกันหรือไม่เข้า เพลา ๒ ยามจะเข้าเผาบ้าน ผู้รักษากรุงว่าไม่เข้า จะเผาก็เผาเสีย เพลา ๒ ยาม ผู้ร้ายเข้าล้อมบ้าน ได้สู้รบกันเป็นสามารถ กองผู้ร้ายทิ้งพลุระดมเผา บุตรผู้รักษากรุงโจนน้ำหนี ผู้ร้ายพุ่งหอกซัดถูกบุตรพระยาอินทรอภัยผู้รักษากรุง กับบุตรภรรยาสิ้นชีวิตในไฟ ๔ คน พระยาอินทรอภัยกลับมาทูล
ลุศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลู ตรีนิศก รับสั่งให้พระยาสรรค์ไปจับผู้ร้ายที่เผาบ้านผู้รักษากรุงเก่า พระยาสรรค์ขึ้นไป น้องพระยาสรรค์เป็นกองผู้ร้าย จับพระยาสรรค์ตั้งเป็นแม่ทัพลงมาวันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ เพลาตี ๑๐ ทุ่ม ตั้งค่ายมั่นคลองรามัญ ยิงระดมลูกปืนตกในกำแพง เสียงสนั่นหวั่นไหว ข้างในตกใจร้องอื้ออึง ประทมตื่นคว้าได้พระแสงทรงเสด็จขึ้นบนที่นั่งเย็น ตรัสเรียกฝรั่งที่ประจำป้อม ฝรั่งได้รับสั่งยิงปืนใหญ่ออกไป ถูกเรือข้าศึกล่ม เขาไปจับบุตรภรรยาฝรั่งมาให้ฝรั่งยิง พอรุ่งสว่าเห็นหน้าว่าไทย ฝรั่งโจนกำแพงลงไปหากัน ผู้คนเบาบางร่วงโรยนัก เสด็จออกหน้าวินิจฉัย ทราบว่าพระยาสรรค์มาปล้นตีเมือง ให้จำภรรยากับบุตรไว้ เสด็จเข้ามาฟันตะรางปล่อยคนโทษข้างใน พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย์ ต่อสู้ลากปืนจ่ารงขึ้นป้อม ข้าศึกถอยหนี เสด็จกลับออกไป มีรับสั่งห้ามว่าสิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย์ มิให้สู้อยู่ตายด้วยเจ้าข้าวแดง
พระยาสรรค์ให้นิมนต์พระราชาคณะให้ถวายพระพร ให้ทรงบรรพชาชำระพระเคราะห์เมือง ๓ เดือน ทรงพระสรวลตบพระเพลา ว่าเอหิภิกขุลอยมาถึงแล้ว ให้เชิญพระกรรบิดออกไป เพลา ๓ โมงเช้า ทรงพระบรรพชา วันเดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี กับ ๔ เดือน ทรงผนวช
ณ วันพุธ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ (๑๒) พระยาสรรค์ขึ้นนั่งซัง แจกเงินข้างใน กลับออกไปนอนอยู่ข้างหน้า สั่งว่าจะฟังละครร้องอยู่ข้างใน จะฟังแต่สำเนียง (๑๓) ครั้นคนเสียงคลอดบุตร พระยาสรรค์ให้ประโคม ท่านให้ไปห้ามว่าอย่าให้ทำเลย มันสุดชาติแล้ว
พระยาสรรค์มีเทศนา ให้ข้างในออกไปฟังธรรม ไฟเทียนเจ้าคุณใหญ่ไหม้ม่าน ได้ยินเสียงคนอื้ออึงชักหอกดาบที่ท้องพระโรง ข้างในกลับเข้ามาเวลา ๒ ทุ่ม
๒ ยามเกิดศึกกลางเมือง พระยาสรรค์ปล่อยเจ้ารามลักษณ์ออกไปเรียกท่านที่ทรงผนวชว่าประจุออกเถิด ท่านว่าสิ้นบุญเราแล้วอย่าทำเลย เจ้ารามลักษณ์ออกไปจุดไฟบ้าน ไหม้ตลอดลงมาถึงวังหลัง ได้สู้รบกันจนแสงทองขึ้น พระยาเจ่ง ขุนแก้วน้องพระยาสรรค์ ลากปืนใหญ่มาช่วยพระวังหลัง เจ้ารจจาแดง (๑๔) เป็นทัพเรือ ตีกระหนาบหนุนพระวังหลัง เจ้ารามลักษณ์สู้แต่ผู้เดียวโดยโมหันธ์ เหลือกำลังแตกหนีไปอยู่วัดยาง พระวังหลังติดตามจับได้ ไต่ถามได้ความจริงว่า พระยาสรรค์ปล่อยเธอออกความก็ติด (๑๕) อยู่พระยาสรรค์สิ้น
สมเด็จพระอัยกา เจ้าฟ้ากษัตริย์ศึก เสด็จอยู่กรุงกัมพูชา ถอยมาประทับด่านกระบินทร์ ทราบว่ากรุงธนข้นเข็ญ เป็นศึกขึ้นกลางเมืองถึง ๒ ครั้ง จึงเสด็จกลับเข้าพระนคร
ณ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๔๔ ปีขาล จัตวาศก เพลา ๒ โมงเศษ สุขสวัสดิฤกษ์ เสด็จเข้าพระนคร ปราบดาภิเษก อดิเรกเฉกชมสมบัติจักรพรรตราพร้อม ถวาย ๑๒ พระกำนัล ๑๒ พระคลัง แล้วมีพระราชโองการรับสั่งให้ตั้งกรุงเทพมหานครยังฝั่งบุรพทิศ พระสุริยทรงกลด ๗ วัน เมื่อตั้งทวาราวดี อุดมโชคเข้าเหยียบกรุงธนบุรี แรกเสด็จยั้งประทับ ณ วัดควงไม้พระมหาโพธิบัลลังก์ ประจญพญามารด้วยพระบารมี ๓๐ ทัศ เป็นปฐมกษัตริย์สมเด็จเอกาทศรฐพระเจ้าปราสาททองเสด็จข้ามฟากฝั่งมหรณพ เฉลิมภพกรุงทวาราวดี พระโองการให้ฐาปนาที่ท้องสนามในเป็นพระอุโบสถหอไตรเสร็จ เชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ส่วนพระธรรมไว้หอไตร ก่อพระเจดียฐานประจุพระบรมธาตุพร้อมเสร็จ
ให้บุรณะวัดโพธิ์
ณ ปลายปีองค์เชียงสือมาสู่โพธิสมภาร
ณ ปีเถาะต้นปี มีบัณฑิต ๒ คนเข้าวังหน้า จับตัวได้ประหารชีวิตทั้งผู้รู้เห็น เอี้ยงบุตรหญิง ๑ บุตรชาย ๒ เกศบุตรชาย ๒ จุ้ยบุตรหญิงอยู่วังหลวง พระยาภัยโนฤทธิ์ บุตร ๒ (๑๖) อยู่วังหลวง พระโองการทรงตัดสิน (๑๗) ทั้ง ๓ คน ให้ประหารชีวิตพร้อมกันทั้งพ่อแม่ลูกเป็นเสร็จ
ณ กลางปีเถาะ ในวังหลวง เพ็ง ทองคำ มอน งานี่ทำผิดคิดมิชอบ สืบสวนเป็นสัตย์ เฆี่ยนคนละ ๑๐๐ ประหารชีวิต ทั้งขุนแก้ว น้องพระยาสรรค์
ณ ปลายปี พระโองการรับสั่งให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกไปตีไกรเกริน
ณ ปีมะโรง ฉศก ถวายพระเพลิงแผ่นดินต้นที่วัดบางยี่เรือ มีการมหรสพสมโภชพร้อมเสร็จ
เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์สิ้นพระชนม์ ถวายพระเพลิงที่วังเก่า
แล้วมีพระโองการให้หาบรรดาเมืองขึ้น เอก โท ตรี จัตวา ปากใต้ฝ่ายเหนือ ให้เข้ามาเฝ้าพร้อม ณ กรุงเทพมหานคร บรรดาสุริยวงศ์กัมพูชาส่งเข้ามากรุง
ณ เดือน ๘ ปีมะเส็ง พระโองการรับสั่งให้มีงานละครผู้หญิงโรงใหญ่สมโภชพระแก้ว ประทานเงินโรงวันละ ๑๐ ชั่ง ๓ วัน สำรับพระสงฆ์ทรงประเคน แล้วทรงถวายน้ำผึ้งไม้เท้า ศาลาฉทานตั้งรายรอบพระนคร ทิ้งต้นกัลปพฤกษ์ ๓วันต้นละ ๑ ชั่ง มีการมหรสพสมโภชพร้อม เถลิงพระนครด้วย
พระบางประทานคืนไปเวียงจันทน์
น้ำมาก (๑๘) ข้าวสารเกวียนละ ๑ ชั่ง พระโองการรับสั่งให้จำหน่ายข้าวฉางแจกราษฎรให้ทั่วถึงกัน ลุศักราช ๑๑๔๘ ปีมะเมีย อัฐศก ข้าวยังแพงเสมอ ได้ข่าวพม่ามาทำนาปลายแดน ณ เดือน ๑๒ พม่าตั้งฉางข้าวฉางเกลือ มาถึงสามสบลาดหญ้า เจ้าอังวะยกแยกทางเหนือทางใต้ เป็นทัพกษัตริย์ทั้ง ๕ ทาง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาธิราชทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จพระราชดำเนินพลทัพ ๒๐ หมื่น ออกตัดศึกที่ฮึกหาญ ไม่ต้านทานพระบารมี เจ้าอังวะหนี ณ วันเดือน ๓ แรม ๑๔ ค่ำ เสด็จกลับมาถึงกรุง ณ เดือน ๔
ปีมะแม ไปตีตานี กลิอ่อง มะริต แล้วทำเมืองใหม่
ณ ปีวอก นพศก ทรงพระดำริจะรื้อยกพระไตรปิฎก ให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง โปรดเปลื้องสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ได้สุขในอนาคตภายหน้า โดยกำหนดการที่จะเลี้ยงพระทั้งข้างหน้าข้างใน รับเลี้ยงจนจบพระไตรปิฎก แต่ปฐมกษัตริย์ลำดับมาถึงที่นั่งสุริยาอมรินทร์ สิ้นกษัตริย์ จนแผ่นดินเดิม หาได้เพียรเพิ่มบารมีที่จะทรงสร้างไม่ แต่สมเด็จพระอับกาเป็นปฐม ได้ยกพระไตรปิฎกเสร็จแล้ว ฉลองหอไตร ออกโรงละครเล็กเลิกแล้ว เพลาค่ำจุดดอกไม้ ตกลงหลังคาหอไตรไหม้ แต่พระไตรปิฎกรื้อขนได้สิ้น ที่อุโบสถพระแก้วลูกไฟไม่ถึง ยังบริบูรณ์ดีอยู่ พระโองการตรัสว่าเทวดารักษาบำรุงพระศาสนา เห็นว่าหอไตรยังต่ำอยู่ จึงจำเพาะให้ไหม้แต่หอไตร ลูกไฟไม่ตกถึงพระอุโบสถ จะชำรุดมัวหมองนั้นหาไม่ จะให้ทรงสร้างพระมณฑปขึ้นทรงพระไตรปิฎก
ณ วันอาทิตย์ เดือน ๗ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีระกา เอกศก เพลาบ่าย ๓ โมง ๖ บาท อสนีบาตพาดสายตก ติดหน้าบันมุขเด็จเบื้องทิศอุดร ไหม้ตลอดทรงบนปราสาท ปลายหักฟัดฟาดลงพระปรางค์ (๑๙) ซ้ายเป็น ๒ ซ้ำลงซุ้มพระทวารแต่จำเพาะไหม้ พระโองการตรัสว่าเราได้ยกพระไตรปิฎก เทวดาให้โอกาสแก่เรา ต่อเสียเมืองจึงจะเสียปราสาท ด้วยชะตาเมืองคอดกิ่วใน ๗ ปี ๗ เดือน เสร็จสิ้นพระเคราะห์เมือง จะถาวรลำดับกษัตริย์ถึง ๑๕๐ ปี แล้วพระยาราชวังเมืองสมุหคชบาลกราบทูลว่า ครั้งพระเจ้าปราสาททอง เพลิงฟ้าผ่าปราสาท ๓ ปี ได้เมืองทวายมาเป็นเมืองขึ้นแต่ครั้งนั้น พระราชทานเงินพระยาราชวังเมือง ๑ ชั่ง ต้องกับคำพระโหราทูล เมื่อผึ้งจับต้นจันทน์ที่เกยทิศประจิม ว่าจะได้นางกับเครื่องบรรณาการมาต่างประเทศ
ลุศักราช ๑๑๕๔ ปีชวด จัตวาศก พระยาทวายแต่งเครื่องบรรณาการ กับนางเข้ามาถวายยังกรุงเทพมหานคร พม่ารู้ฆ่าบิดามารดาพระยาทวาย แล้วแต่งคนลงมาผลัดให้พระยาทวายขึ้นไปอังวะ พระยาทวายฆ่าพม่าที่ลงมาผลัดเป็นเจ้าเมืองนั้นเสีย แข็งเมืองอยู่ ฝ่ายเจ้าอังวะรู้ แต่งกองทัพมาป้องกันเมืองทวายไว้ พระยาทวายแต่งศุภอักษรถวายมา ว่าพระยาทวายกับสรรพสัตว์ในเมืองทวาย ให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงพระเมตตาแก่สัตว์ในเมืองทวายเหมือนเกิดแต่สายพระอุทร ด้วยพระราชนัดดาของพระองค์ แต่ครั้งกรุงเก่าแตกมาอยู่ ณ เมืองทวาย จะขอพระบารมีแผ่ไปช่วยครั้งนี้ จะได้เชิญพระราชนัดดาออกมาถวาย แล้วจะถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาถวายต่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ให้ไทยผู้มีชื่อถือมา เป็นหนังสือลับของพระราชนัดดา ได้ทราบในศุภอักษรแน่ว่าพระราชนัดดาจริง ยกพยุหทัพหลวงเสด็จไปเหยียบเมืองทวาย ได้พระราชนัดดา กับพระยาทวาย ไทยทวาย มาเป็นฝุ่นเมือง กรุงเทพมหานครพูนสุขเกษมมา
รับสั่งพระโองการตรัส วัดสะแกให้เรียกวัดสระเกศ แล้วบุรณะปฏิสังขรณ์ เห็นควรที่ต้นทางเสด็จเข้าพระนคร ประทับชุมพลทหารพร้อม ณ วัดโพธิ์ เหมือนครั้งนารายณ์เป็นเจ้าชุมพล จึงสร้างวัดไว้ในเกาะ ๒ ชั้น ให้เรียกวัดนารายณ์ชุมพล อยู่จนตราบเท่าแผ่นดินนี้
ลุศักราช ๑๑๕๕ ปีฉลู เบญจศก มีการสมโภชพร้อมโขนละครหุ่นงิ้วมอญรำ ครบการเครื่องเล่น ทำล้อเลื่อนตามทางสถลมารค สุดอย่างที่งามตา ได้เห็นเล่าฟังมาแต่ก่อนๆ ไม่เสมอแห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ องค์เอง พระพงศ์นรินทร ตามเสด็จ ส่วนเสด็จทรงเครื่องต้น ฉลงอพระศอ พระกรน้อย ทรงประพาส เครื่องประดับพระองค์เสร็จ ทรงพระมหามงกุฎ เสด็จทรงพระยานุมาศ องค์เองใส่พระมหากฐินใหญ่ พระพงศ์นรินทร ใส่พระชฎาเบี่ยงกรรเจียกทัด ขึ้นยานุมาศตามเสด็จ มีการสมโภชแห่เครื่องเล่นเรื่องรามเกียรติ์ อุณรุท อิเหนา มิใช่แห่รูป รูปภาพ แต่ล้วนละครโขน ขึ้นรำร้องบนจักร ชักล้อเลื่อนตามทางสถลมารค มีตาแต่ ๒ ตาดูแห่ไม่เห็นทั่ว จะพรรณนาเหลือกำลัง ทั้งคนร้องคนรำยังอยู่ จึงรวมงามไว้ในตา อันการมหรสพสมโภชทรงผนวชเฉลิมวงศ์พงศ์กษัตริย์สืบมา
ณ เดือน ๑๐ ทิ้งไฟในวัง ทิ้งหนังสือ ชำระ (๒๐) เป็นสัตย์ ใส่ด้วยบท ประหารชีวิตที่จากแดง
ข้างในทำกลลวงล่อต่อทรัพย์ จับรูปสักนาม โจทก์ ๓ จำเลย ๒ รวม ๕ คน ประหารชีวิตที่วัดเขียน
ปีเถาะ สัปตศก พระโองการรับสั่งให้ช่างทำพิชัยราชรถขึ้น จะทรงพระโกศพระอัฐิ ๗ รถ ให้ตัดเสาพระเมรุตั้งทรงประดับเครื่องให้เสร็จ แล้วแต่ในปีเถาะ
ได้พระคชาธารเจ้าพระยามงคลจักรพาลเล็บครบ พระอินทรไอยรา ลุศักราช ๑๑๕๘ ปีมะโรง อัฐศก เชิญพระอัฐิทรงพิชัยราชรถ รถพระ รถชัก รถโปรยข้าวตอก รถที่นั่งรอง รถจันทน์ ๒ รูปสัตว์ แรดทรงสังเค็ดเพลิงแห่หน้า รูปสัตว์ถ้วนพรรณทรงสังเค็ดผ้าไตรบาตร ตั้งแห่ในราชวัติฉัตรธง (๒๑) เรียงชักแห่เข้าพระเมรุทิศมุขแทรกมุขกระสัน ประดับชั้นสามสร้าง เสี้ยวกางประจำประตู ชั้นในฉัตรเงินลำยอง ฉัตรทองฉัตรนากบรรจง เยี่ยมทรงอย่างปรางคปราสาท เทวราชประณมกร ๙ ชั้นอย่างพระเมรุพระบรมโกศพระพุทธเจ้าหลวงกรุงเก่า ชักพระอัฐิเข้าพระเมรุทอง ถวายพระเพลิงสมเด็จพระอัยกาพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินกลาง
กรมหลวงนรินทรรณเรศ สิ้นพระชนม์ต้นปีมะเส็ง ถวายพระเพลิงที่พระเมรุ
ณ วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ อ้ายมาลักเพศเข้าวังหลวง จับตัวได้ ประหารชีวิตที่วัดตะเคียน
ณ วันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ลุศักราช ๑๑๖๑ ปีมะแม เอกศก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมศรีสุดารักษ์ เสด็จสู่สวรรคาลัย
ณ วันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ สมเด็จตรัสว่า (๒๒) เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี เสด็จสู่สวรรคาลัย เชิญพระโกศไว้ที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ฟ้าผ่าปราสาทแต่ไม่ไหม้
ณ เดือน ๕ ปีวอก โทศก เชิญพระโกศขึ้นทรงพิชัยราชรถตามกันเข้าพระเมรุทอง ร่วมชั้นพระเบญจาเดียวกัน ถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว
ได้คชาธาร พระเทพกุญชร มาเป็นศรีพระนครสืบลำดับกษัตริย์
พระโองการรับสั่งให้ขุดคลองรอบเกาะ ให้บ่ายเรือที่นั่งได้ เรียกว่าคลองมหานาค
ณ เดือน ๖ ระกา ตรีนิศก ฉลองวัดพระเชตุพน ผลทานมาก ทิ้งฉลากพระราชโอรส พระราชนัดดา นักสนม สินธพคชานาเวศ เป็นยอดยิ่งบารเมศจำหน่ายทาน ฉลากละ ๕ ชั่ง ๔ ชั่ง ๓ ชั่ง ต้นกัลปพฤกษ์ ๘ ต้น ทรงโปรยหน้าพลับพลา ดอกไม้เงินทอง แต่ทรงสร้างจนแลองจารึกไว้ ณ แผ่นศิลา อยู่ในพระศาสนา ๕๐๐ สิ้นเสร็จ มีโขนโรงใหญ่ ดอกไม้พุ่มพลุไฟพะเนียงกรวด เสียงประโคมฉลองเสร็จ
ณ เดือน ๑๒ ฉลองวัดสระเกศ มีพระโองการรับสั่งให้ข้างหน้าข้างในตั้งเลี้ยงพระให้สิ้นทั้งวัด ประทานเงินหลวงกัลปพฤกษ์ โปรยทาน การมหรสพสมโภชเสร็จ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอหลานเธอแต่งเรือประพาสคู่เคียง ประสานเสียงร้องดอกสร้อยสักรวา ดุริยางค์จำเรียงถวายลำร้องรับกับเสียงดอกไม้น้ำ สทาโป้งปีบไฟพะเนียงพุ่มพลุกรวด เสียงสนั่นครื้น แผ้วพื้นเมฆา จันทราทรงกลด หยุดยั้งรถโมทนา ทานเจ้าหล้าเหลือแหล่ พึ่งแผ่พระบารมี สมโภชครบสัตตวาร เสร็จการฉลองวัด
ณ ปีจอ จัตวาศกปลายปี กรมหลวงเทพหริรักษ์สิ้นพระชนม์ ถวายเพลิงที่วัง ณ วัดราชบุรณะ
ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๖๕ ปีกุน เบญจศก พระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระอัยกาวังบวรสถานมงคลเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติได้บุรณะวัดมหาธาตุ ทรงสร้างพระมรฎป ประจุพระบรมธาตุแล้วบุรณะวัดสุวรรณ วัดชัยชนะสงคราม สละราชสมบัติทรงผนวช ๗ วัน ยอดศีลบารมี อยู่ในราชสมบัติ ๒๒ ปี
เจ้าลำดวน เจ้าอินทปัต คบคิดกับอินกลาโหมพินาศอัคคีสกลนิกร จะทำศึกเสี้ยนแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกา นายเวร นายปลัดเวร ฟ้องกราบทูล ไต่ถามรับเป็นสัตย์ ลงพระราชอาญาคนละร้อย ให้สำเร็จโทษ ณ วัดปทุมคงคา ทั้งนั้นให้ประหารชีวิต ศีรษะเสียบไว้สำเหร่
ณ วัน เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีชวด ฉศก พระองค์เจ้าพระชันษา ๗ ขวบตามเสด็จลงที่นั่งบัลลังก์ ตกหว่างเรือ ไม่จม ลอยพระองค์ได้ โปรดประทานพระนามใหม่ (๒๓) สมโภชเจ้าฟ้ากุณฑล ๓ วัน เฉลิมพระขวัญพร้อมพระญาติวงศ์ ข้าราชการสมโภชถ้วนหน้า
ณ ปีฉลู สัปตศก ๓ พระยามรณภาพ ประทานเพลิงวัดสุวรรณทาราม
ณ วัน ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑ ปีขาล อัฐศก วังสถานพิมุขอยู่ในราชสมบัติ ๒๕ ปี สวรรคาลัย
ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ราชาภิเษกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมหลวงเสนานุรักษ์ รับพระบัณฑูรน้อย
ณ เดือน ๖ ปีเถาะ นพศก ตั้งเขาไกรลาสแห่โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑล ทรงเครื่องต้น ประดับพระองค์ทรงพระมหามงกุฎ สมมุตวงศ์อย่างเทพอัปสร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาจูงพระกรเสด็จขึ้นยอดเขาไกรลาส กรมขุนอิศรานุรักษ์ เป็นพระอิศวร ทรงพระมหากฐิน ทรงประดับ (๒๔) เครื่องต้น เป็นพระอิศวรประสาทพร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาจูงพระกรขึ้นส่งถึงยอดเขา พระอิศวรรดน้ำสังข์ทักษิณาวรรตแล้วประสาทพระพร เจ้าบุตรแก้วรับพระกร ลงจากยานุมาศ ขึ้นบนเกยพระมหาปราสาท
ณ วันเดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ กรมหลวงจักรเจษฎา สิ้นพระชนม์ ถวายเพลิงวัดมงคลภิมุข
ณ วันเดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก เจ้าฟ้ากรมสุนทรเทพ (๒๕) สิ้นพระชนม์ ไว้พระศพบนปรางค์ (๒๖) ปราสาท
พระโองการตรัสสั่งกรมหมื่นเทพ (๒๗) ว่าสิ้นลูกคนนี้แล้ว พระกรรณตึง ๔ ด้าน (๒๘) อากรขนอนตลาด เจ้าดูชำระเถิดอย่าทูลเลย
ถวายพระเพลิงที่พระเมรุทอง
ณ เดือน ๔ ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพระราชโองการรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอหลานเธอ ข้างหน้าข้างใน ข้าราชการ เจ้าพระยาและพระยาผู้ใหญ่ผู้น้อย รับเงินทำสำรับละบาท เลี้ยงพระ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันละ ๕๐๐ ครบ เครื่องไทยทาน ต้นกัลปพฤกษ์ ๘ ต้น ทรงโปรยดอกไม้เงินทองเป็นทาน ครบการฉลอง ทั้งปฏิสังขรณ์บุรณะเสร็จ มีละครผู้หญิง ๓ วัน การมหรสพพร้อมเครื่องสมโภช เสร็จฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร ให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่ ณ เมือง สุโขทัย ชะลอเลื่อนลงมากรุง ประทับท่าสมโภช ๗ วัน ณ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ยกทรงเลื่อนชักตามทางสถลมารค พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระทุกหน้าวัง หน้าบ้าน ร้านตลาด ตลอดจนถึงที่ประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุตสาหะเพิ่มพระบารมี หวังที่หน่วงโพธิญาณจะโปรดสัตว์ ทำนุบำรุงพระศาสนา เสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนแห่พระ หาทรงฉลองพระบาทไม่ จนถึงพลับพลา เสด็จขึ้นเซพลาด เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรารับทรงพระองค์ไว้
พระศรีศากยมุนี มีลายจารึกไว้ในแผ่นศิลา ตั้งศักราชว่า ไปข้างหน้าลุงจะให้สัตย์ต่อหลาน ผู้น้อยจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะได้เป็นผู้น้อย จารึกไว้แต่แรกสร้างยังอยู่
แล้วยกพระขึ้นที่ เสด็จกลับ ออกพระโอษฐ์เป็นที่สุด เพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้นแล้ว
ณ เดือน ๗ เดือน ๘ ทรงประชวรหนักลง ณ เดือน ๙ ข้างขึ้น ทรงพระองค์ไม่ได้ ประทมแจกเบี้ยหวัด มีละครฉลองทานที่ท้องพระโรง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ
ลุศักราช ๑๑๗๑ ปีมะเส็ง เอกศก เพลายาม ๔ บาท พระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระอัยกาสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๒๘ ปี บุนนาค พลเทพ ข้าหลวงเดิม ปลายแผ่นดินต้น เข้ากับขุนแก้วน้องพระยาสรรค์ มาตีกรุงธนบุรี สมเด็จพระอัยกาได้ปราบดาภิเษก (๒๙) เป็นปฐม ครั้นเสด็จสวรรคต สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะได้ราชสมบัติ กลับเข้ากับพระหน่อแผ่นดินต้น เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรา อินทรเดชะ สท้านมณเฑียร รอดทรงราม พระตะเบิด จางวางกองมอญ เพชรปาณี พลเทพ ลุงหลาน เป็นกำลังกรมขุนกษัตรา จะเกิดศึกกลางเมือง ยังหาได้ถวายพระเพลิงไม่ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ปราบดาลำดับวงศ์เป็น ๒ ครั้ง ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๓ ค่ำ เจ้าพระยาอภัยภูธรจับเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตราที่ทวาร ๒ ชั้น ณ วันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ สำเร็จโทษ ตัดไม้ไม่ไว้หน่อ ฆ่าพ่อไม่เลี้ยงลูก สำเร็จโทษเสียด้วยกัน ณ วัดปทุมคงคา ทั้งนั้นประหารชีวิตที่สำเหร่
พระโองการให้ตั้งการพระเมรุ มีศึกพม่าแทรกกลางมาล้อมประชิดเมืองถลาง สมเด็จพระบิตุจฉา กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จไปปราบพม่าที่ล้อมถลางไว้ เดชะพระบารมีที่ได้ยกพระไตรปิฎกขึ้นไว้ให้พระพุทธศาสนาเรียบเรียง (๓๐) พม่าได้ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่ง ดังดั่งกำลังเสียงปืนใหญ่ พม่าหนีเลิกทัพกลับไป มีชัยชนะด้วยพระบารมี กลับคืนเข้าพระนคร ณ วันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ
ลุศักราช ๑๑๗๓ ปีมะแม ตรีนิศก เพลาอุดมฤกษ์ เชิญพระบรมโกศทรงพระพิชัยราชรถ ชักแห่เข้าพระเมรุทอง พระเบญจาทองคำทำเป็นรูปภาพประดับ ๙ ชั้น ทรงพระบรมโกศ ๗ วัน ถวายพระเพลิง สมโภชพระอัฐิ ๓ วัน เอกาทศวารการเสร็จ เชิญเสด็จพระบรมโกศทรงยานุมาศแห่กลับเข้าพระราชวัง ทรงประดิษฐานไว้ ณ หอพระอัฐิ ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีวอก จัตวาศก สมเด็จพระบิตุจฉา กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นไปรับเจ้าพระยาเศวตกุญชร พร้อมกำหนดพิธีลงสรง ทูลกระหม่อมฟ้ามงกุฎไตรภพได้พระคชาธารเผือกผู้เป็นศรีพระนครมาถึงแผ่นดินนี้
ณ เดือน ๑๐ ปีระกา เบญจศก ข้างในทำผิดคิดมิชอบ พระโองการให้ประหารชีวิตทั้งผู้หญิงผู้ชาย
แล้วทรงพระดำริ ให้ช่างเขียนอย่างเส้นลายบานประตูวัดพระใหญ่ ยกเข้าไป ทรงพระศรัทธาลงลายพระหัตถ์สลักภาพกับกรมหมื่นจิตรภักดี
มีพระโองการให้ช่างแต่งทรงพระมรฎป ให้ทรงเครื่องบนสูงกว่าเก่า จะทรงพระพุทธบาท แล้วบุรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งให้บริเวณกว้างเก่า
ณ ปีจอต่อกุน ได้พระคชาธารเผือกผู้ เจ้าพระยากลาง
ณ วันพุธ เดือน ๕ แรม ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๗๑ ปีชวด อัฐศก พม่าออกจากคุก ฆ่าพะทำมะรงพัศดี เป็นศึกขึ้นกลางเมือง
ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ เจ้าฟ้ากุณฑลประสูติเจ้าฟ้าอัมพร ได้จัตุรงคโชคชัยชนะสิ้นเสร็จ พระยาปลัดทวาย พระโองการปราบราบเลี่ยน สิ้นเสี้ยนหนามแผ่นดิน ยิ่งด้วยพระบารมีที่สุด ยังสมบัติมนุษย์ยังให้เห็นแก่ตา ว่ามีพระคชาธารเผือกผู้คู่ควร ไม่ได้บาศซัดคล้อง เมืองปัตบอง เมืองเชียงใหม่ เมืองแพร่ (๓๑) ถวายเป็นเครื่องบรรณาการ ด้วยบารมีบุญฤทธิ์พระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระอัยกา (๓๒)พระเจ้าช้างเผือก
ณ วันเดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ กรมศรีสุเรนทรถึงอนิจกรรมในระหว่างโทษ
ณ เดือน ๕ ลุศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลู นพศก กรมหมื่นสิ้น พระ (๓๓) ชนมายุ ประชุมเพลิงวัดราชบุรณะ
เจ้าฟ้า (๓๔) กษัตรีทำผิดคิดมิชอบ พระโองการรับสั่งใส่ด้วยบทสำเร็จโทษ ณ วัดปทุมคงคา
ณ วันเดือน ๘ ขึ้น ๓ ค่ำ สมเด็จพระบิตุจฉา วังบวรสถานมงคลเสด็จสู่สวรรคาลัย อยู่ในราชสมบัติ ๗ ปีกับ ๑๐ เดือน
ณ ปีขาล สัมฤทธิศก พระโองการให้ตั้งเขาขุดท่อผ่าเส้นกลาง ไขระหัดน้ำเข้าในวังที่สวนขวา รื้อขนศิลามาก่อ เป็นหอพระเจ้าอยู่กลาง ทรงสร้างพิมานเสร็จ เถลิง สมโภช มีดอกสร้อยสักรวา เกษมษา สำราญบานจนถึงกาล
วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๘๒ ปีมะโรง โทศก ฉลองวัดแจ้ง ประดับแต่งเครื่องไทยทานเหลือหลาย จะบรรยายไม่ถ้วนครบประมวลการ มีละครผู้หญิงโรงเล็ก การมหรสพสมโภชพร้อมเสร็จจัตวาร
ณ วันศุกร์ เดือน ๖ แรม ๑ ค่ำ ประจุบันกาลเกิดณรงค์ (๓๕) สงครามยุทธ์ เพียงแผ่นดินจะทรุดล่ม ด้วยลมพายุไข้วิบัติเปลือง ฝุ่นเมืองม้วยพินาศ รอดชีวาตม์ด้วยเทวงศ์ ดำรงทรงปัถพิน เป็นปิ่นสุธาโลก ดับโรคระงับเข็ญ กลับชุ่มเย็นระงับร้อน ผ่อนถึงพรหมลิขิต
ณ วันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ กรมอินทรพิพิธสิ้นพระชนม์ ถวายพระเพลิงที่วัดระฆัง
พระโองการรับสั่งให้รื้อยกสังคายนาสวดมนต์ ลำดับกษัตริย์ แต่ก่อนหาได้ยกไม่ แต่พระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระอัยกาบรมโกฐเป็นปฐม สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในพระโกศ แผ่นดินกลาง (๓๖) ได้ยกสังคายนาสวดมนต์ แต่ลำดับกษัตริย์ ๒ พระองค์
พระโองการให้ปล่อยสัตว์ครั้งนั้น เหมือนมนุษย์ได้เห็นสวรรค์ ทรงปล่อยมนุษย์ชายหญิงคนโทษไทยในคุกตะรางทิมโขลนทิมตำรวจ พระโองการโปรดปล่อยสิ้น จำหน่ายพระราชทรัพย์ซื้อเป็ด ไก่ สุกร มัจฉา บรรจุเต็มลำนาวาล่มเทปล่อยครบสัตวาร ทรงพระศรัทธาเมตตากรุณาสัตว์ นานาประเทศเขตขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร หลั่งน้ำษิโณทกอุทิศช่วยชีวิตไว้ได้เกือบกึ่ง พระทัยแผ่พึ่งกุศลส่ง ดำรงสุธาธรณินทร์ ระงับสิ้นความวิโยค ซึ่งกำจัดพลัดพรากจากบิดามารดา ภรรยามิ่งมิตร บุตรญาติสนิทเชื้อสาย อนิจกรรมทำลายขันธ์ กว่าหมื่นพันจะคณนาที่ได้รอดมาครั้งนั้น บารมีทรงธรรม์ธเรศตรี จะดำรงธรณีลำดับมา
ปีมะเมีย จัตวาศก กรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์ วันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก พระชนมพรรษา ๕๒ ปี
กรมหลวงประภาวดีสิ้นพระชนม์ลำดับกัน ถวายพระเพลิงพระเมรุทอง
ณ วันเดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก ฉศก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทูลกระหม่อมฟ้ามงกุฎไตรภพ เสด็จทรงผนวช
พระคชาธารเผือกผู้ทั้งคู่ล้ม
ณ วันศุกร์ เดือน ๘ แรม ๖ ค่ำ ยังเสด็จออกทรงประดับภูเขาเพชร มรกต ทับทิม นิล ไพฑูริย์ แล้วเสด็จขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระโกศแผ่นดินกลางประชวรแต่วันนั้น
ณ วันเสาร์ เดือน ๘ แรม ๗ ค่ำ เสด็จออกถวายทรงประเคน เสด็จขึ้น วันนั้นพระยาปราบไตรจักรกอดเสาเบญพาดร้องก้องสนั่นไม่จับหญ้า ยกงวงฟาดงาน้ำตาไหล ทั้งพระยาสินธพชาติกับโคอุศุภราชสโมสรสังวาสกัน ที่ศาลาสารบาญชี คนดูอื้ออึงเสียงแซ่ กับเจ้าพระยาปราบร้องเพลาเดียวกัน แต่พระยาปราบร้องอยู่จนวันเดือน ๘ แรม ๑๐ ค่ำ เพลาค่ำเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปีกับ ๑๐ เดือน
สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดินทรจักรพรรดิได้ราชาภิเษกสวัสดิเอกอิสรวงศ์เฉลิมภพ เพียงทรงจักรแก้วแผ้วพื้นแผ่นดินเลื่อนราบระเหมือนหน้ากลอง ไม่มีเสี้ยนฆ้องระฆังหนาม เฉลิมภพ ๓ กษัตริย์เอกอดิเรกลากวงศ์ ดำรงกรุงเทพมหานคร ทรงศีลสังวรเดือนละ ๘ หน เป็นรากต้นแก่นในพุทธวงศ์ บำรุงสงฆ์พระศาสนาให้รุ่งเรือง ทรงพระศรัทธาเปลื้องการกุศลด้วยผลบารมี ๓๐ ทัศ
พระโองการตรัสให้ตั้งการที่จะถวายพระเพลิงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระโกศ
ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีระกา สัปตศก เชิญเสด็จทรงพิชัยราชรถ รถพระ รถชัก รถข้าวตอก รถจันทน์ ตั้งแห่รูปสัตว์ ทรงสังเค็ดผ้าไตรบาตร แห่เข้าพระเมรุทองขนาดใหญ่ พระเบญจาราชาวดี มีการมหรสพ ๗ วัน ถวายพระเพลิง ทั้งสมโภชพระอัฐิ ๑๑ วัน เชิญพระโกศพระอัฐิทรงยานุมาศ ตั้งแห่เข้าพระราชวังทรงประดิษฐานไว้หอพระอัฐิ
กรมหมื่นจิตรภักดีประชวร ๗ วัน สิ้นพระชนม์ ณ วันเดือน ๖ แรม ๙ ค่ำ
ลดพระเบญจาถวายพระเพลิงที่พระเมรุทอง ณ วันเดือน ๖ แรม ๑๓ ค่ำ เป็นการเสร็จการที่พระเมรุแล้ว
แต่ทรงสร้างพระไตรปิฎกเป็นปฐมเดิม เพียรเพิ่มพระบารมี จนได้ถวัลยราชเฉลิมภพได้สำเร็จจบ ๑ ไว้วัดพระราชโอรสเรืองเดช มีศาลาฉ้อมาเป็นนิจแล้ว เบื้องปฤษฎางค์ ได้ทรงสร้างพระบารมีโปรดคนโทษทำผิดคิดมิชอบ ต้องด้วยบทพระอัยการยกประทานชีวิตไว้ หลั่งน้ำษิโณทกตกศีรษะทั้งผู้ชายผู้หญิง โปรดประทานชีวิตปล่อย ๗ คน แล้วมีสงฆ์มาขอพระองค์ใหญ่วิลาส พระองค์ลักขณา อุทิศถวาย ไม่เสียดายเด็ดดวงพระทัยยื่น แล้วสงฆ์ถวายคือ ว่าจะเพิ่มพระบารมี ทรงถวายไตร พระบารมี เบื้องปฤษฎางค์ อย่างพุทธชิโนวงศ์ ได้บำรุงทรงพระศาสนาไปว่าจะถ้วน ๕๐๐๐ ปี
ณ วันเดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ ปีจอ อัฐศก ได้ข่าวกรุงศรีสัตนาคนหุต ดึงดุประมาทหมิ่นต่อแผ่นดินย้อนแย่ง จะปันแบ่งอาณาเขตให้แคบเข้า เวียงจันทน์เล่าเชลยเดิม ไม่ควรฮึกเหิมบังอาจทำมาเหยียบย่ำเมืองนครราชสีมาเลย ล่วงมากวาดครัวถึงสระบุรี ถึงแขวงกรุงเก่าทำใหญ่เยี่ยม พระบัณฑูรทราบเตรียมพยุหทัพขันธ์ โสกันต์พระเจ้าองค์วาง ตามเสด็จพร้อมเสนางคนิกร ณ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๖ ค่ำ เพลา ๔ โมง ๖ บาท เทวราชอำนวยพร ดังพระรามจรข้ามสมุทร ทรงพระหลักชัย เสด็จทรงที่นั่งเหราราช อำนาจศึกทัพกษัตริย์พร้อมขัตติยวงศ์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ยกทัพหมื่นล่วงก่อน กรมพระราชวังเป็นจอมจัตุรงค์เป็นทัพหลวง กรมหมื่นเทพพลภักดิ์ประคองคู่พระองค์ กรมหมื่นนรานุชิตเป็นปีกขวา พระองค์เจ้าสุริวงศ์เป็นปีกซ้าย กรมหมื่นรามอิศเรศเป็นยกกระบัตรทัพ
กรมธิเบศร์บวรเป็นทัพหนุน พร้อมมูลพิริยพล ฝ่ายอัครมหาเสนา เจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพ พระยาราชนุกุลเป็นปลัดทัพ พระสารเพธภักดีเป็นยกกระบัตรทัพ พระยาสีหราชเดโชเป็นทัพหน้า เจ้าพระยาและพระยาขุนนางวังหลวงยกตามเสด็จ กรมพระราชวังเป็นทัพกษัตริย์ ออกตัดต้นโค่นรากแก่นเวียง พื้นแผ่นดินเวียงล่มแล้ว พระกาลแผ้วผ่อนอักตัญญู อนุหนีไม่ต่อสู้ถอยหลบหลีกลัด ทัพกษัตริย์ตัดหาเห็นช่องเดิน ตามลำเนินเข้าสองข้างทาง ทรงอัศวาวางบาทย่างใหญ่มิได้หยุดยั้ง ประทับพลไพร่ พระบารมีจักรฤทธิไกร บำรุงงานสู้สงครามมีชัย ลาวเห็นคนใส่เสื้อแดงหมวกแดงอยู่บนต้นไม้ ลาวสำคัญว่าทัพไทยระดมยิงถูกกิ่งไม้ร่วงหล่น เดชผลพระบารมีบุญฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์ พระกาลเมือง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง บำรุงเรืองเดชอิศรศักดาเดช ข้ามเขตขุนเขาเสด็จเข้าเมืองได้ ณ เดือน ๖ ปีกุน นพศก พระบัณฑูรให้ถอนหลักชัยมิให้ลำดับเรื่อง เผาเมืองไหม้หมด สมที่กำหนดอัศจรรย์ พระเสื้อเมืองผันหนี อกธรณีแตกแยกแล้ง จึงคิดกบฏแบ่งพวกเชลยเดิม ฮึกเหิมกระหยิ่มยิ่งใหญ่ สู้พระบารมีไม่ได้กลับหนี กรมพระราชวังรับพระบางกลับคืนกรุงเทพพระมหานคร เสด็จถึงกรุง ณ เดือน ๑๐ ปีกุน นพศก
เดือน ๕ ปีชวด สัมฤทธิศก ถวายพระเพลิงสมเด็จอมรินทรามาตย์เสร็จ เจ้าพระยาอภัยภูธรตามเสด็จกรมพระราชวังป่วยลงกลางทาง มีรับสั่งให้รับศพลงมา ประทานเพลิงที่พระเมรุเสร็จแล้ว ฟ้าผ่าพระเมรุทิศประจิม สำแดงพระเดชานุภาพ กลับปราบได้ลาวเขมรเชลยเก่ากลับคืนเดิม ด้วยพระบารมี อนุกลับคืนเวียง
มีพระโองการรับสั่งให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพ พระสารเพธภักดีเป็นยกกระบัตรทัพ พระยาราชนิกุลเป็นปลัดทัพ พระยาสีหราชเดโชเป็นทัพหน้า พระยาพิชัยสงครามยกก่อน ตั้งอยู่เวียงพันพร้าว อนุฆ่าเสีย เจ้าพระยาราชสุภาวดี พระยาสีหราชเดโชยกไป ราชวงศ์ตรงสกัดออกตัดทัพ หลวงพิพิธถูกง้าว เจ้าพระยาราชสุภาวดีลงจากม้าสู้กับราชวงศ์ ถูกอาวุธอยู่คงพลัดไพล่ กลับมีชัยในสงคราม ราชวงศ์ขามถอยหลัง ถูกปืนไม่ยืนยั้งแพ้พ่าย ดังทหารนารายณ์ราม ญวนมาใกล้ความโมหันธ์ พระยาณรงค์พิชัยฆ่าญวน ๓๐ อนุหนีไป เจ้าเมืองผ่อนจับตัวใส่กรงเหล็ก ลงเรือพิฆาต แห่ดาบเขียวดาบแดง เป็นขนาดมาฤดูหนาว ฆ้องตระเวนดังกราวในสนั่นครั่นครื้น ราษฎรตื่นกันแลดูสองฟากฝั่ง สองผัวเมียหมอบดังเสือบอบอยู่ในกรง ทรงเครื่องครบพันธนามาหน้าวัง พระบัณฑูรรับสั่งให้เมียแต่งตัวลงเรือเอาข้าวเกลือไปส่งไม่แลดู พระพรมสำหรับขู่ให้ดูเมีย นักโทษไม่แลดูหน้า จนถึงท่าสักใหญ่ไขส่งพลัน พระโองการให้ใส่ขาหยั่ง เสียบเป็นท้ายที่นั่งมุขเด็จหน้าจักรวรรดิ ๓ วัน แล้วไปอยู่เรือนคุกถึงอนิจกรรม ซากศพเสียบประจานอยู่สำเหร่ จนโซมเซถมน้ำประจำท่า พลีบวงสรวงเทพยุดาซึ่งได้รักษาพระนคร
ปีฉลู เอศก พระโองการทรงสร้างพระบารมี ให้บุรณะปฏิสังขรณ์วัดพระราชโอรสเรืองเดช บริเวณอาวาสกว้างกว่าเก่า เจดียฐานสูงใหญ่ กุฎีสงฆ์ตึก ขุดคลองรอบ บำรุงสร้างเสร็จ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดอรุณทาราม วัดราชบุรณะ ฉลองวัดพระราชโอรสเรืองเดช มีการมหรสพสมโภชพร้อม ทรงฉลองอุทิศพร้อมทุกวัด
ณ เดือน ๖ ปีขาล โทศก กรมสุรินทรรักษ์ สิ้นพระชนม์ ถวายพระเพลิงที่พระเมรุเสร็จแล้ว เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ กรมหมื่นนเรนทร สิ้นพระชนม์ เป็นลำดับมา
ณ ปีเถาะ เดือน ๕ เกิดเพลิงกลางพระนคร ติดไหม้ถึงกรมสุนทรธิบดินทร์ สิ้นพระชนม์ในเพลิงรุม กรมหมื่นนเรศร์โยธีเสด็จมาดับไฟ กลับไปประชวรลงสิ้นพระชนม์ เป็นลำดับมา ทั้ง ๔ กรม เข้าฤดูฝนถวายพระเพลิงที่ลำดับกษัตริย์ แต่กรมสุนทรธิบดินทร์ถวายพระเพลิงที่วัดสระเกศ เชิญพระอัฐิทรงยานุมาศแห่ประดับพร้อมเครื่องสูง เข้าสมโภชในพระเมรุทองเสร็จแล้ว
ณ เดือน ๑๑ เรือเดินได้บนดอนดอน แล่นทุ่งพระเมรุ เกณฑ์น้ำดับเพลิง เป็นเชิงให้แผ่นดินชื่นที่ร้อนให้คืนสุขสบาย ด้วยชลสายกระแสเหตุ บารเมศโพธิญาณ แล้วบันดาลแห้งหาย
ณ วันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๒ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๙๔ ปีมะดรง จัตวาศก เพลา ๕ ทุ่ม ๙ บาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จสู่สวรรคาลัย แต่อยู่ในราชสมบัติ ได้วัดศักดาเดช วัดศรีสุดาราม วัดมงคลสถานสุทธาวาส วัดบวรนิเวศ เชิญพระชินศรีมาประดิษฐานไว้ ณ วัดบวรนิเวศ กับพระฉลองพระองค์ ทรงฉลองพร้อมกันเสร็จ เสด็จสู่สวรรคาลัย อยู่ในราชสมบัติ ๗ ปีกับ ๘ เดือน ๖ วัน ถวายพระเพลิงที่ลำดับกษัตริย์ เสด็จเข้าพระเมรุทอง
ณ วันเดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะเส็ง เบญจศก เพลา ๑ โมง ๕ บาท ทรงประเคนแล้วเสด็จขึ้น ระย้าแก้วแกว่งไกว พระโองการตรัสให้ดูที่ปราสาทวัดพระแก้วเป็นเหมือนกัน ด้วยพระบารมีแก่กล้า นางพระธรณีพระคงคา ทั้งท้าวจัตุโลกทั้ง ๔ สุชัมบดี เทวสโมสรนุโมทนาทานเจ้าฟ้าเหลือแล พึ่งแผ่นิสงส์สร้างพระไตรปิฎกผูกละ ๑ บาท ๓ สลึง ผูกละ ๒ บาท ผูกละ ๑ บาท ๒ สลึง เป็นนิจ บุญฤทธิสะท้านสุธาไหว จะพลันได้พระโพธิญาณ
ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลา ๗ ทุ่มนาฬิกา หวั่นไหวพระที่นั่งบุษบกในพระแท่น ระย้าอัจกลับ หวั่นไหวทั่วทั้งคงคา กระฉ่อนฟูมฟองฝั่ง พระบารมียังจะยืนยิ่งเป็นมิ่งมงกุฎกรุง จะได้บำรุงพระศาสนาถาวรถ้วน ๕,๐๐๐ พระเกียรติยศนั้นจะฟุ้งเฟื่อง แก่นพิชัยสงครามเรืองอานุภาพ
ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑ แรม ๕ ค่ำ เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพลเทพ องค์อิ่ม องค์ด้วง องค์แก้ว เจ้าพระยาและพระยา เมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา ยกพร้อมเพลาบ่าย ๔ โมง ๖ บาท เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพใหญ่ ไปตีพนมเพ็ญเดินพลตามสถลมารค องค์จันทร์ได้ข่าวหนี ผลอกตัญญูลบหลู่พระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกา เลี้ยงองค์เองแต่ชันษาได้ ๙ ปี จนได้บวชแห่ทรงเครื่องกษัตริย์อย่างว่าเกิดแต่สายอุทร จนถึงองค์จันทร์เหมือนกับราชนัดดา หาเข้ามาถวายพระเพลิงไม่ เป็นคนอกตัญญูทรยศต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แผ่นดินกลาง หาเข้ามาถวายพระเพลิงไม่ ด้วยจะสูญสุริวงศ์ พุทไธเพชรไปตั้งเมืองใหม่ ทัพหน้าองค์แก้วเข้าเมืองได้ กวาดอพยพทั้งเครื่องยศที่ประทาน ได้พระคชาธารอำนวยสัตบุษ ส่งเข้ามากรุงเทพมหานคร แล้วติดตามองค์จันทร์ไปประจบทางร่วมกับทัพเรือ
ล่วงเลยพุทไธมาศ มะจะระหนีไม่ต่อสู้ ไปตั้งรบพระจันดานัวนาว ท่อยทีสามารถในการณรงค์ สันทัดทรงกำลังกล้า ให้พลประดาเข้าหักค่าย มิได้เสียดายชีวิต ลงเรือไล่กระชิดต้อนเร่งพลรบ ปะใครหลีกหลบประหารชีวิต ศึกกระชั้นชิดติดพัน เสียงปืนครื้นครั่นกัมปนาท ไม่ขยาดถอยหลบ สู้รบกันสาหัสจนเข้าฤดูคิมหันต์ น้ำแห้งสำเภาเดินไม่คล่อง เอาช้างกฤพองชักลาก ล่าถอยมาอยู่เมืองจันทบุรี เจ้าคุณพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพลเทพ พระยา และพระยาหัวเมืองปากใต้ กระบวนทัพเรือ ได้ครอบครัวฝรั่งเขมรญวนส่งเข้ามากรุงเป็นอันมาก เจ้าพระยาบดินทรเดชาถอยมามั่นมัตบอง
มีพระราชสาส์นพระเจ้าแวกนามมาเป็นทางราชไมตรี ยังคิดถึงพระเดชพระคุณ สมเด็จพระอัยการทศรฐบรมโกศพระเจ้าปราสาททอง มีพระคุณต่อพระเจ้าแวกนาม เมื่อแตกไตรเกรินมาพึ่งพระบารมี หนีกลับออกมา ได้ลูกดินประทานให้กลับออกไปเป็นกำลังรบได้เมืองคืน ด้วยพระบารมีบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวงสมเด็จพระอัยกา ว่ามีพระคุณต่อบิดามารดา เฆียนเซี่ยนสงครามชวนเลิกศึก ด้วยอำนาจพระเจ้านั่งเกล้าทรงธรรม องค์จันทร์ถึงอนิจกรรม ญวนนำข่าวแจ้งข้อราชการ เสร็จสิ้นศึกเขมร
ณ เดือน ๖ ปีมะเมีย ฉศก กรมหลวงเทพพลภักดิ์เสด็จขึ้นไปรับพระคชาธาร สีก้านสัตบุษอำนวยพงศ์สมโภชที่กรุงเก่าแล้ว แห่ลงมากรุงเทพมหานคร ปลูกโรงสมโภชในพระราชวัง ประทานชื่อเจ้าพระยามงคลหัศดิน กรินทรอำนวยพงศ์กำภูพุชพ่ายภินิหาร ด้วยสมเด็จภานธรเลิศฟ้า ยังได้คชาดำเมืองนครราชสีมาลอกเป็นเผือก แต่ตายังดำอยู่ พระโองการรับสั่งให้พระพิเรนทรเทพไปรับลงมาถึงกรุงเก่า กรมหลวงเทพเสด็จไปรับ ณ วันเดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีมะเมีย ฉศก สมโภชอยู่บ้านจวบแขวงกรุงเก่า ๗ วัน แล้วทำเรือขนานคู่ชักแห่เจ้าพระยาเผือกผู้ตาดำดังนิล สำแดงพระบารมีลงมาให้เห็นประจักษ์ ที่แผ่นดินไหวถึง ๒ ครั้งเป็นอัศจรรย์ เทพยุดารักษาพระศาสนา จึงสำแดงให้ประจักษ์ตาโลกทั้งปวง ว่าแต่สร้างพระบารมีเกือบสำเร็จพระโพธิญาณ แต่พระเนตรยังไม่ฌานสรรพัญญูเป็นพุทธคุณชิโนรส ในอนาคตภายภาคหน้า เมื่อพระศาสนาพระเมตไตรย ลำดับใน ๑๐ พระพุทธชิโนวงศ์บรมโพธิสัตว์ มิได้คลาดบรมบาทบพิตร สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดินทร์ จักรพินทรงธรรมเที่ยง ชุบเลี้ยงพระญาติวงศานุวงศ์กษัตริย์ดังฉัตรแก้วกั้นทวีป บรมโพธิเดียวแท้ประชุมพึ่ง จนถึงสำเร็จพระโพธิญาณ โดยโวหารที่ได้เห็นประจักษ์ มีการสมโภช ๓ วัน ไว้โรงในพระราชวัง พระโองการประทานชื่อพระยามงคลขึ้นอินทรอัยราวรรณ มีสีสังข์บัลลังก์ทรง พาหนะบรมพงศ์จักรแก้ว บารมีแผ้วผ่องแล้ว ณ วันเดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ ปีมะแม สัปตศก พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าลักขณาสิ้นพระชนม์ ถวายพระเพลิงที่พระเมรุทอง มีการมหรสพสมโภชพร้อมเสร็จการ
ณ วันเดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีวอก อัฐศก สมเด็จพระพันวษาสิ้นพระชนม์ พระศพทรงพิชัยราชรถชักเข้าพระเมรุทอง ถวายพระเพลิงที่ลำดับกษัตริย์ มีการมหรสพสมโภชพร้อมเสร็จการ
เจ้าคุณวังหลวงประชุมเพลิงในพระเมรุทองเจ้าข้างในวังหลัง กรมหมื่นเสพสุนทร ถวายพระเพลิงลำดับกัน ณ วัดอมรินทาราม
ณ ปีวอก ฉศก สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดินทร์ทรงบุรณะสมภาร ในการพระราชกุศลเสมอมามิได้ขาด ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เดิมสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาปราบดาภิเษกแล้วฐาปนาเป็นอาราม แล้วบุรณะปฏิสังขรณ์ได้ฉลองถึง ๒ ครั้ง เป็นที่สุดพระบารมี สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดินทร์ทรงบุรณะยกฐานในพระอุโบสถทรงมรฎปสูงกว่าเก่า ฉลุลายเสากุดั่นพื้นผนังเหมือนเตือนพิศ วิจิตรลำยองทรงมรฎปพื้นเลื่อมลายบรรจงแว่นฟ้าทองคำ ดาดพื้นลงยาราชาวดีงามที่สุด ตามนุษย์แลไม่เห็นสวรรค์หมายชั้นดาวดึงส์ พระปรางค์ทรงเครื่องเรียงรายตลอดหน้าวัด ส่วนในระเบียงรอบประกอบเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ชั้นในหน้าทั้งบริเวณพระศรีรัตนศาสดาราม พระเจดีย์ทรงงามประภัสสร เจดีย์บัวอย่างเจดีย์ลังกา ทั้งหอระฆังดูแทนเวชัย ทรงสร้างสรรพิหารยอดประดับ พื้นผนังขาวแพรวพราวเลื่อมศรีเพรา เชิญพระศิลา ๓พระองค์ ทรงประดิษฐานไว้เป็นพระประธานเฒ่า ฝาผนังเขียนเรื่องอิเหนา ลายระบายเส้นทองคำ ประดับพื้นทำล้วนศิลาลาด สะอาดเลื่อมบรรจงสรร ส่วนพระมรฎปนั้นทรงสูงใหญ่ ลำดับทักษิณ ๓ ชั้น ทรงพระไตรปิฎก ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ประดิษฐานไว้ในตู้ทรงพระมรฎป ลายมุกรูปภาพครุฑอัดยัดเยียดนาคหิ้วครุฑเมียง เทพนั่งเรียงประนมนิ้วอัญชุลี มรฎปทรงพระไตรปิฎกของสมเด็จพระอัยกาทรงประดิษฐานไว้ ของสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดินทร์ ตู้ลายรดน้ำประจำทั้ง ๔ ทิศ ในสถานที่นมัสการเสื่อสานด้วยเงินแล่นปูพื้น ชื่นแสงช่วงดวงแก้วยอดพระมรฎป ใครเห็นดังเยี่ยมภพสุธาสวรรค์ พระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินกลาง ทรงสร้างไว้ ณ หอพระมนเทียรธรรม ทรงไว้ตู้มุก ๓ ใบ ลายกำมะลอใบ ๑ เป็น ๔ ประดิษฐานไว้ในพระศาสนา ลำดับกษัตริย์ ๓ งามบรรจงทุกสิ่งสรรพ เครื่องบูชา เสาศิลาบัวแกะลายเครือวัลย์ ทั้ง ๘ ต้นไว้หน้าอุโบสถ บัวทองใส่วานเทวรูปทองอยู่บูรพา มีศาลารายรอบบริเวณ เกณฑ์ฤษีอยู่กุฏิคณะหลัง รูปหล่อปั้นนั่งยืนพื้นสัตว์เหมือนคณนา สระบุษบันสารพันไม้ผลาผล รูปปั้นอยู่บนกำแพงเรียงโต๊ะตั้งเคียงทั้งกลองชัย ในอุโบสถระย้าแก้วดังดาวล้อมจันทร์ วิหารรอบประดับชั้นกำแพงราย บัวกระถางเคลือบตั้งถวาย ทั้งนกทัณฑิมา ถือไม้เท้าหล่อด้วยเหล็กวิลาด อยู่บูรพา ๒ อยู่ประจิม ๒ ตัว ๒ ตาแลดูไม่ทั่ว ดังว่านับดาวประดับเดือน ในทวีปนี้ไม่มีเหมือนที่สุดงาม
พระบางได้กลับมาแต่เวียงจันทน์ พระโองการรับสั่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา ให้เชิญพระบางไปประดิษฐานไว้ ณ วัดจักรวรรดิราชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาสร้างวิหารฝาผนังนอกเขียนลายรดน้ำ ฝาผนังในทองทึบทรงเครื่องประดับ แล้วไปตีเมืองพนมเพญ เสร็จศึกกลับเข้ามา มีการฉลองสมโภชเสร็จแล้ว
พระโองการบุรณะวัดเชตุพน ทรงเก่าคร่ำคร่าชำรุด แล้วสั่งให้รื้อกระทุ้งรากโบสถ์ให้ลึกซึ้งอยู่ถ้วน ๕๐๐๐ โดยกำหนด ทรงสร้างอุโบสถใหญ่กว้างกว่าเก่า แต่อำนาจบุญฤทธิ์ ทรงอธิษฐานไว้ให้ยืนถ้วน ๕๐๐๐ ปี
ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะแม นพศก ยกเครื่องบนวัดพระเชตุพน บันดาลด้วยอำนาจผลอธิษฐาน ให้ยืนนานถ้วน ๕๐๐๐ เผอิญตัวไม้พลัดผันฟัดฟาด กัมปนาทหวาดหวั่น เสียงสนั่นดังฟ้าฟาดสาย อิฐปูนแตกกระจายเป็นควันละอองต้องตามัวไม่รู้จักหน้ากัน ครื้นครั่นธรณี คนถึงวิสัญญีพินาศ ที่เจ็บปวดขาเข่าคลาดศีรษะแตกบาดเจ็บอยู่มาก บริจาคพระราชทรัพย์แจกจ่าย ที่ถึงอนิจกรรม ประทานเงินเผาศพคนละชั่ง ๑ ที่ถูกตัวไม้แตกกระเด็นทับขาหักเข่าคลาด แผลหนัก ประทานเงิน ๑๕ ตำลึง ที่บาดแผลแตกน้อย ๗ ตำลึง ๕ ตำลึง ประทานตามน้อยมาก เฉลิมภาคพระโพธิญาณ จ้างช่างที่ชำนาญยกตัวไม้ประดับเครื่องบนขึ้นได้แล้ว วิหารทิศพระระเบียงพร้อมเสร็จ ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ทรงเครื่อง ทั้งหอไตร พระพุทธไสยาสน์ ทรงพระองค์ยาว ๒๑ วา ทั้งวิหารพร้อมเสร็จแล้ว ตั้งภูเขาทุกประตุวัด ลำดับกษัตริย์ไม่ได้สร้างพระไสยาสน์ไว้เส้นเศษวา อารามตึกกุฎีสงฆ์ เลขวัด ๑๐๐๐ คงหมวดหมู่เพิ่มเติม แล้วฐาปนาที่หลังพระวิหารใหญ่
ณ เดือน ๙ มีพระโองการให้ตั้งกองชำระร้อนราษฎรให้เป็นสุข อากรขนอนตลาดที่เรียกล่วงเกินธรรมเนียมให้ลงเสมอเก่า แต่ค่าน้ำยกขาดมิให้ทำอากร แล้วทรงชำระผู้ร้ายได้เป็นสัตย์ส่งไปคุก ที่มาลุแก่โทษตัวแล้วจะจับผู้ร้ายถวาย พระราชทานเงินชุบเลี้ยง ที่มาลุแก่โทษจำเพาะตัวได้ทำผิด รู้สึกตัวกลัวพระราชอาญามาลุแก่โทษ ให้สาบานตัวและสักขาว่าเป็นผู้ร้าย
ณ วันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๓ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๙๙ ปีระกา นพศก สมเด็จพระพันปี กรมศรีสุราไลย เสด็จสู่สวรรคาลัย เพลา ๓ ยาม
ณ วันพุธ เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ยกพระโกศเสด็จพระยานุมาศ ตั้งแห่เป็นขนาดกระบวนเครื่องสูงประดับพร้อม เทวดาประณมมือถือดอกบัว ประณมเรียงเคียงพระโกศ สนั่นโสตสำเนียงเสียงนางร้องไห้ ประสานเสียงกลองประโคมก้องไตรภพ พระศพสมเด็จเสด็จสถิตมหาปราสาท
พระโองการเสด็จกลับยังพระที่นั่งสุริยาอมรินทรวินิจฉัย เจ้าพระยาบดินทรเดชารับตัดเสาพระเมรุขนาดใหญ่ ๒ ต้น เจ้าพระยาราชสุภาวดี ๑ ต้น พระยาเพชรบุรี ๑ ต้น
ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ เจ้าพระยาบดินทรเดชาทูลลา เพลาบ่ายชายออกเรือ ไปเมืองปราจีนบุรี เกณฑ์ให้ตัดเสาพระเมรุได้คล่อง ไพร่ไม่เจ็บป่วยต้องค้าง คงลากลงถึงที่ทั้ง ๔ ต้นงามเสลา ไม้เล็ก ๑,๐๐๐ เจ้าพระยาราชสุภาวดี ณ วันจันทร์ เดือน ๑๑ แรม ๙ ค่ำ เพลาเช้าไปสระบุรี เกณฑ์ไพร่ตัดเสาพระเมรุ ไม่บาดเจ็บว่องคมขวานได้ครบการทั้งสี่ต้น ขนลากลงท่า ล่องมาพร้อมเสร็จ ไม้เล็ก ๑,๐๐๐ เสมอกันถ้วนครบการ ด้วยพระบารมีเป็นที่ยิ่ง สารพัดสิ่งไม่ขัดขวาง สมเด็จพระพันปีกรมพระศรีสุราไลย ได้ทรงสร้างพระไตรปิฎกจบ ๑ สร้างวัดหนังพอเสร็จ เครื่องไทยทานบาตร ๕๐๐ ไตร ๕๐๐ พร้อมเสร็จ พอเสด็จสวรรคาลัย
ณ วันเสาร์ เดือน ๑ ขึ้น ๕ ค่ำ สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดินทร์ ได้ทรงถวายไตรสดับปกรณ์ ๕๐๐ ที่พระศพบนพระมหาปราสาท รับพระบรมธาตุเสด็จมาแต่เมืองน่าน แห่ไปมีการสมโภชพร้อม ณ วัดหนัง ตั้งสวดมนต์
ณ วันเดือน ๑ ขึ้น ๖ ค่ำ ฉลองแล้วทรงทิ้งฉลาก ๑๐ ตำลึง ทั้งต้นกัลปพฤกษ์ทั้งข้างหน้าข้างใน ณ พระที่นั่งมุขเด็จพุทธไธศวรรย์ หน้าจักรวรรดิท้องสนามนอก
ณ วันพุธ เดือน ๑ แรม ๑ ค่ำ พระโองการรับสั่งให้ชักพระประธานทรงหล่อหน้าตัก ๐ ๒ ๓ ๑ ๐ มาประทับสมโภช มีการมหรสพพร้อม ณ พระทวารวิเศษไชยศรี
ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑ แรม ๒ ค่ำ ชักพระพุทธรูป ทรงเลื่อนชักแห่ประโคมฆ้องกลองชัยชนะครื้นครั่น สนั่นเสียงมโหรีจีนไทยแขกมอญ มีโรงโขนละคร งิ้วมอญรำหุ่น ฝุ่นเมืองเหนือหนุนมานมัสการ ทั้งได้ดูงานสมโภช สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดินทร์บรมบาท เสด็จทรงพระราชยาน เสด็จตามชินาจารย์พระพุทธองค์ ประทับทรงเสด็จยังพลับพลา แล้วชะลอเลื่อนข้ามตะพานมาตลอดพ้น ราษฎรกล่นเกลื่อนกว่าหมื่นพัน ชวนกันมาวันทา เข้าชักพร้อมหน้าจนถึงที่ สถิตสถานพระอุโบสถปรากฏการมหรสพสมโภช สำเนียงเสียงเสนาะโสต ปราโมทย์โมทนา พิณพาทย์ทำบูชาสัก ๑๐๐ วง ฉลองพระพุทธองค์ชินวร สโมสรแสนเกษมเปี่ยมเปรมอิ่มด้วยศรัทธา ถ้วนหน้าประชาชน พระโองการรับสั่งขนานนามวัด ให้ชื่อวัดสุทัศน์เทพธาราม
ณ วันเสาร์ เดือน ๑ แรม ๔ ค่ำ เจ้าพระยาบดินทรเดชา เพลา ๓ โมงเช้า ออกเรือไปฟังข่าวราชการเมืองมัตบอง
พระองค์ตรัสให้ตั้งทรงพระเมรุขนาดใหญ่ ได้ยกเครื่องบนลำดับชั้น
ณ วันอังคาร เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ เพลายาม ๙ บาท กรมหลวงเทพพลภักดิ์สิ้นพระชนม์ พระศพใส่พระโกศไว้วัง ประดับเครื่องสูงพร้อม ประโคม
ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ลุศักราช ๑๒๐๐ ปีจอ สัมฤทธิศก ยกยอดฉัตรพระเมรุ สมเด็จพระพันปี กรมพระศรีสุราไลย
ณ วันพุธ เดือน ๖ ขึ้น ๒ ค่ำ ตั้งสวดฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ณ วัดพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ ชักพระบรมธาตุสมโภชในพระเมรุทอง ฉลองพร้อมกัน มีแจง ๕๐๐ ทรงถวายไตร บาตร ๕๐๐ ทั้งเครื่องไทยทานเหลือแล พึ่งแผ่พระบารมี ชักพระบรมธาตุกลับเข้า
ณ วันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ แล้วชักพระอัฐิสมเด็จพระบรมโกศพระอัยกา พระพุทธเจ้าหลวงในพระโกศ ตั้งแห่ทรงพระยานุมาศ เข้าประดิษฐานในพระเมรุทอง สมโภชมีการมหรสพพร้อม สดับปกรณ์ไตร ๒๐๐ จีวร ๓๐๐ เป็น ๕๐๐ ต้นกัลปพฤกษ์ ๘ ต้น พระราชทานเงินคนสูงอายุ แต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๓ ค่ำ ทั้งข้างหน้าข้างใน ตั้งแต่อายุปีกุน ๗๒ ขึ้นไป ข้างในคนละ ๑๐ ตำลึง ผ้าคนละ ๒ สำรับ ข้างหน้าตามบรรดาศักดิ์ เจ้าพระยาและพระยาได้ ๓ ชั่ง ผ้า ๒ สำรับ พระหลวงได้ ๑๐ ตำลึง ผ้า ๒ สำรับ คนพิการชรา ง่อยเปลี้ย วันละ ๕๐๐ ชักพระอัฐิตั้งแห่กลับเข้าพระราชวัง
ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ ชักพระศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระศรีสุราไลย ทรงยานุมาศ จากพระที่นั่งมุขเด็จมหาปราสาท ตั้งแห่อ้อมมาทางท้ายสนม ขึ้นทรงพิชัยราชรถท้ายวัดพระเชตุพน เกณฑ์แห่ รูปสัตว์ ทรงสังเค็ดผ้าไตร บาตรขนาดเดิม ครั้งพระอัฐิพระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระบรมโกศพระอัยกาปฐมกษัตริย์ ลำดับชักแห่เข้าพระเมรุทอง บรรทมพระเมรุ ๗ วัน มีการมหรสพพร้อมสมโภช
ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ถวายพระเพลิง ณ วันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เก็บพระอัฐิกลับคืน ทรงไว้ในพระโกศ ทั้งสวมในกรมพระศรีสุราไลยลอยพระอังคารเสร็จ ๓ วัน มีการมหรสพพร้อมเสร็จเสมอ
ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ แรม ๒ ค่ำ ชักพระอัฐิแห่เข้าพระราชวังเสร็จ
ณ วันเสาร์ เดือน ๖ แรม ๔ ค่ำ พระเทพกุญชรป่วยลง เพลา ๘ ทุ่ม ล้ม ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ เพลา ๓ ยาม
ณ วันจันทร์ เดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ ประดับเครื่องสูงกั้นกลด เทวดาแห่ ๕๐๐ ลงเท
ณ วันพุธ เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ ชักพระศพกรมหลวงเทพ ทรงยานุมาศเข้าพระเมรุทอง ถวายพระเพลิง ณ วันศุกร์ เดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ เป็นเสร็จการ
เชิงอรรถ
(๑) บางฉบับว่า นายบุญสง (๒) บางฉบับว่า พังหมอน (๓) บางฉบับว่า หม่อมพควม (๔) บางฉบับว่า หม่อมลาอีกคน ๑ (๕) บางฉบับว่า เจ้าคุณใหญ่ทรงกันดาร (๖) บางฉบับว่า เจ้าเล็ก (๗) บางฉบับว่า เป็นเจ้าช่วยราชการเมืองนคร (๘) บางฉบับว่า ไม้แก่นดูกในก่อตั้งเสาปราสาท (๙) บางฉบับว่า ทรง (๑๐) บางฉบับว่า นุ่งเล็ดงา ห่มผ้าวาสลึง (๑๑) บางฉบับว่า เข้า (๑๒) บางฉบับว่า แรม ๑๔ ค่ำ (๑๓) บางฉบับว่า น้ำเสียง (๑๔) บางฉบับว่า เจ้ารจจาแต่งกองมอญเป็นทัพเรือ (๑๕) บางฉบับว่า ตกอยู่พระยาสรรค์สิ้น (๑๖) บางฉบับว่า บุตรหญิง ๒ (๑๗) บางฉบับว่า ทรงสิ้น (๑๘) บางฉบับว่า ปีมะเส็งน้ำมาก (๑๙) บางฉบับว่า พระปรัศซ้าย (๒๐) บางฉบับว่าแต่เป็นสัตย์ ไม่มีคำว่าชำระ (๒๑) บางฉบับว่า ฉัตรจรงเรียง (๒๒) บางฉบับว่า สมเด็จตรัสสาเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จตรัสสาเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (๒๓) บางฉบับว่า หมาย (๒๔) บางฉบับว่า ทรงประพาส (๒๕) บางฉบับว่า เจ้าฟ้ากรมพระสุนทรเทพ (๒๖) บางฉบับว่า บนปราสาท ไม่มีปรางค์ (๒๗) บางฉบับว่า กรมหมื่น ไม่มี เทพ (๒๘) บางฉบับว่า พระเนตรมืด พระกรรณตึง ๔ ด้าน (๒๙) บางฉบับไม่มี ภิเษก (๓๐) บางฉบับว่า รุ่งเรือง (๓๑) บางฉบับว่า เมืองน่าน (๓๒) บางฉบับไม่มี (๓๓) บางฉบับว่า สิ้นชนมายุ ไม่มี พระ (๓๔) บางฉบับว่า เจ้ากษัตรี (๓๕) บางฉบับว่า มรณสงคราม (๓๖) ฉบับพระราชวิจารณ์หมดเพียงนี้