จดหมายเหตุเก่า เรื่องฯ ทูตไทยไปนมัสการพระมาลัยเจดีย์เมืองหงสา/อธิบาย

จาก วิกิซอร์ซ
อธิบาย

จดหมายเหตุซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ ๑ ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาทรงแต่งทูตให้ไปบูชาพระเจดีย์องค์ ๑ (ในสำเนาบางฉบับว่า พระเมาลีเจดีย์ บางฉบับว่า พระมาลัยเจดีย์ บางฉบับข้างต้นเรียกว่า พระเมาลีเจดีย์ ต่อไปข้างปลายเรียกว่า พระมาลัยเจดีย์) ณเมืองหงสาวดี พวกทูตที่ไปนั้นกลับมาเล่าความพรรณาถึงทางที่ไปแลพระเจดีย์ที่ได้ไปเห็น จึงมีผู้เอาความที่เล่าเรียบเรียงเปนจดหมายเหตุฉบับนี้ ความที่ปรากฏในจดหมายเหตุฉบับนี้ ใครอ่านก็เห็นจะลงเนื้อเห็นเปนอย่างเดียวกันว่า กล่าวเกินจริงโดยมาก แต่เปนจดหมายเหตุที่ปรากฏมาเก่าแก่แต่โบราณ บางทีชั้นเิมจะเปนแต่เรื่องสำหรับเล่ากันมา พึ่งมาจดลงเปนหนังสือต่อชั้นหลัง หรือเปนหนังสือมีอยู่แต่โบราณ แต่ความเคลื่อนคลาศไปโดยเหตุที่คัดลอกกันหลายต่อ อย่างไรก็ดี เห็นว่า มูลความจริงคงจะมีอยู่บ้าง ควรจะพิมพ์ไว้มิให้สูญเสีย

จะกล่าวข้อความซึ่งได้ลองพิจารณาสอบสวนพอเปนอธิบายแก่ท่านทั้งหลายผู้ที่ได้รับหนังสือนี้ไป่าน อันนามมหาเจดีย์สถานซึ่งเรียกในจดหมายเหตุนี้ต่างกันอยู่เปนสองอย่างนั้น สืบถามได้ความว่า พระเจดีย์ที่เรียกว่า เมาลีเจดีย์ ทุกวันนี้หามีไม่ พระเจดีย์ที่ชื่อทำนองเดียวกันมีแต่พระเกศธาตุอันเปนมหาเจดีย์สถานณเมืองร่างกุ้ง แต่พระเจดียชื่อว่า มาลัยเจดีย์ นั้น มีอยู่ที่เมืองหงสาวดี แต่มิได้เปนพระเจดีย์สำคัญเช่นพระมุตเตา ได้ความดังนี้ จึงสันนิษฐานว่า พระเจดีย์ที่ทูตไทยไปบูชาครั้งนั้น เห็นะจเปนพระเกศธาตุที่เมืองร่างกุ้ง ด้วยเปนมหาเจดีย์สถานมาแต่โบราณ แลในสมัยนั้น เมืองร่างกุ้งยังเปนแดนรามัญ ซึ่งเรียกในจดหมายเหตุว่า เมืองหงสาวดี ก็ไม่อัศจรรย์อันใด หมายนามว่า เปนประเทศ อย่างเดียวกับเรียกประเทศสยามว่า กรุงศรีอยุธยาโบราณ แม้คิดเห็นเช่นนี้ ชื่อจดหมายเหตุฉบับนี้เคยเรียกกันมาว่า ไปบูชาพระเมาลีเจดีย์หรือมาลัยเจดีย์ที่เมืองหงสาวดี จะแก้ไขตามอัตโนมัติหาควรไม่ จึงคงไว้ตามเดิม

พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาซึ่งโปรดฯ ให้ทูตไปบูชาพระเมาลีเจดีย์นั้น พิเคราะห์ดูในเรื่องพงศาวดาร เห็นว่า จะเปนสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งเสวยราชย์ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๙๑ จน พ.ศ. ๒๐๓๑ ด้วยปรากฎในหนังสือยวนพ่ายแลหนังสือพระราชพงศาวดารประกอบว่า มีทางสัมพันธมิตร์ไมตรีกับพระเจ้ารามาธิบดีปิฎกธรเมืองหงสาวดี เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จออกทรงผนวช พระเจ้าหงสาวดีได้แต่งทูตให้เชิญเครื่องบริขารเข้ามาถวาย

อนึ่ง มีชื่อตำบลที่ทูตเดิรทางปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุที่พิมพ์นี้บางตำบล ได้ให้ลองสืบสวน ก็หาได้ความว่า มีชื่อตำบลเหล่านั้นอยู่ในท้องที่หนทางที่กล่าวถึงไม่ แต่ก็ไม่ปลาดอันใด อาจจะเปนชื่อที่เรียกกันมาแต่เก่าก่อนแลเปลี่ยนแปลงเปนอย่างอื่นไปเสียในภายหลังก็เปนได้

ลายมือชื่อของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ
ลายมือชื่อของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ