ข้ามไปเนื้อหา

ประชุมพงศาวดาร/ภาคที่ 51

จาก วิกิซอร์ซ
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ตราของราชบัณฑิตยสภา
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๑
จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต
ราชบัณฑิตยสภารวบรวม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพ
พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา
ครบสัปตมวาร
ณวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒
โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

  • พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา
  • พระรูปฉายเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ พระชันษา ๒๔

สารบารพ์
อธิบายพระนามและนามที่ปรากฏในจดหมายเหตุ หน้า
อธิบายเบื้องต้น "
พระราชปรารภเรื่องปกครองแผ่นดิน "
พระราชดำรัสกับพระยาศรีสุริยวงศ์เรื่องรัชชทายาท "
เรื่องทรงพระราชอุทิศถวายพระธำมรงค์ ๔ องค์ทรงพระพุทธรูป "
พระราชปรารภเรื่องพระสงฆ์ห่มแหวก "
คำสารภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว " ๑๐
คำวินิจฉัยเรื่องพระสงฆ์ห่มผ้า " ๑๒
พระราชปรารภเรื่องอาการทรงพระประชวร " ๑๓
คำขุนราชนิทาน แพทย์ สนองพระราชปรารภเรื่องอาการพระโรค " ๑๕
กรมหมื่นวงศาสนิทเสนอในที่ประชุมด้วยอาการพระโรค " ๑๖
พระราชดำรัสให้ถวายเงินแจกพระสงฆ์ มีบัญชีชื่อวัด จำนวน
พระ และจำนวนเงิน " ๑๘
พระราชนิพนธ์ทรงขมาพระสงฆ์ " ๓๓
พระกระแสรับสั่งเรื่องแจกเงินราษฏร " ๓๕
อธิบายตอนท้าย " ๓๖


พระพุทธรังสรร พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระพุทธนิมต พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เจ้าฟ้าใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าฟ้ามงกุฎ
เจ้าฟ้าน้อย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรมขุนรามอิศเรศ พระองค์เจ้าสุริยา พระเจ้าลูกเธอในรัชชกาลที่ ๑ ต่อมาเลื่อนเป็นกรมพระ
พ่อมั่ง พระองค์เจ้ามั่ง พระเจ้าลูกเธอในรัชชกาลที่ ๒ ต่อมาเลื่อนเป็นสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร
กรมขุนเดชอดิศร
กรมขุนพิพิธภูเบนทร พระองค์เจ้าพนมวัน พระเจ้าลูกเธอในรัชชกาลที่ ๒ ต่อมาเลื่อนเป็นกรมพระ
กรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระองค์เจ้าวาสุกรี พระเจ้าลูกเธอในรัชชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะกลางอยู่วัดพระเชตุพน ต่อมาทรงรับมหาสณุตมาภิเษกเป็นสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส
กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์ พระองค์เจ้ากุญชร พระเจ้าลูกเธอในรัชชกาลที่ ๒ ต่อมาเลื่อนเป็นกรมพระ
กรมหมื่นวงศาสนิท พระองค์เจ้านวม พระเจ้าลูกเธอในรัชชกาลที่ ๒ ต่อมาเลื่อนเป็นกรมหลวงวงศาธิราชสนิท
พระองค์เจ้าฤกษ์ พระเจ้าลูกเธอในกรมพระราชวังบวรฯ รัชชกาลที่ ๒ ทรงผนวชเป็นพระราชาคณะอยู่วัดบวรนิเวศถึงรัชชกาลที่ ๕ ทรงรับมหาสมณุตตมาภิเษกเป็นสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
พระองค์เจ้าลดาวัลย์ พระเจ้าลูกเธอในรัชชกาลที่ ๓ ต่อมาเป็นกรมหมื่นภูมินทรภักดี
พระองค์เจ้าอรณพ พระเจ้าลูกเธอในรัชชกาลที่ ๓ ต่อมาเป็นกรมหมื่นอุดมรัตนราศี
พระองค์เจ้าอุไร พระเจ้าลูกเธอในรัชชกาลที่ ๓ ต่อมาเป็นกรมหมื่นอุดมลักษณสมบัติ
พระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดาในรัชชกาลที่ ๓ ถึงรัชชกาลที่ ๕ เป็นกรมหลวงวรเสรฐสุดา
หม่อมเจ้าพระรอง ในกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ พระเจ้าลูกเธอรัชชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นเปรียญ ๙ ประโยค ต่อมาได้เป็นหม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ที่พระราชคณะอยู่วัดบพิตรพิมุข
เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ต่อมาเลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัศ บุนนาค) ต่อมาเลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ
พระยาราชสุภาวดี (โต กัลยาณมิตร) ต่อมาเลื่อนเป็นเจ้าพระยานิกรบดินทรที่สมุหนายก
พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาเลื่อนเป็นเจ้าพระยาที่สมุหพระกลาโหม ถึงรัชชกาลที่ ๕ เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
พระยาเพ็ชรพิชัย (เสือ สนธิรัตน) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาธรรมา
พระยาอภัยโนฤทธิ์
พระยาเทพวรชุน
พระยาพิพัฒโกษา (บุญศรี บุรณศิริ) ต่อมาเลื่อนเป็นพระยามหาอำมาตย์ แล้วเป็นเจ้าพระยาธรรมา ถึงรัชชกาลที่ ๕ เป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี
พระยาโชฎึกราชเศรษฐี
พระยาประชาชีพ
พระยาเพ็ชรปาณี
พระยาราชเสนา
พระอินทรเทพ (ขุนทอง) ต่อมาเลื่อนเป็นพระยาเพ็ชรพิชัย
พระยาพิเรนทรเทพ
พระศรีสหเทพ (ปาน) ต่อมาเลื่อนเป็นพระยาราชสุภาวดี
จมื่นสรรเพธภักดี
จมื่นเสมอใจราช
จมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
จมื่นราชาบาล
จมื่นสมุหพิมาน (แพ บุนนาค) ต่อมาเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ ถึงรัชชกาลที่ ๕ เลื่อนเป็นเจ้าพระยา
จมื่นอินทามาตย์
หลวงศรีกาฬสมุท
หลวงรักษาสมบัติ
หลวงเทพ (สัสดี)
หลวงพิทักษสุเทพ
ขุนราชนิทาน
หมื่นอภัย (ธรรมการ)
นายชัยขรรค์ (แย้ม บุนนาค) ต่อมาเป็นพระยาวรพงศ์พิพัฒน์
เจ้าจอมมารดาอึ่ง ธิดาเจ้าพระยานิกรบดินทร เป็นเจ้าจอมมารดากรมหลวงวรเสรฐสุดา ถึงรัชชกาลที่ ๕ เป็นท้าวสมศักดิ์
ท้าวศรีสัจจา (แสง)

จดหมายเหตุ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต


พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๘ เสด็จดำรงสิริราชสมบัติมาโดยความผาสุกสิริสวัสดิ์ได้ ๒๕ พรรษา ครั้นถึงปีจอ จุลศักราช ๑๒๑๒ (พ.ศ. ๒๓๙๓) ทรงพระประชวรไม่สบายพระองค์มาตั้งแต่เดือน ๑๐ แต่ในเดือนท้ายระดูพรรษา ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินได้ตลอดตามเคยอย่างทุกปี แต่นั้นมา พระอาการก็ไม่สบายมากขึ้น พระองค์ก็ทรุดโทรมลงโดยลำดับ ได้ประชุมแพทย์ถวายพระโอสถ พระอาการก็ไม่เคลื่อนคลายขึ้น พระองค์ทรงทราบชัดว่า พระอาการซึ่งทรงพระประชวรครั้งนี้จะเป็นอวสานแห่งพระชนมายุ มิได้ทรงประมาท จึงทรงแสดงพระราชปรารภและพระราชประสงค์ด้วยเรื่องต่าง ๆ ดังปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ คุณพระรัตนตรัยอันเป็นใหญ่ในโลกนี้ ให้เจ้าพระยาพระคลัง พระยาศรีพิพัฒ พระยาราชสุภาวดี กับขุนนางผู้น้อยทั้งปวง จงเป็นสามัคคีรสแก่กันและกัน ตั้งใจฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์มาแล้ว ได้ช่วยกันรักษาแผ่นดินสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวอันเป็นปฐมกษัตริย์มาได้ถึง ๖๙ ปี จนมีพระญาติประยุรวงศานุวงศสืบ ๆ มาเป็นอันมากประมาณถึงพันหนึ่งสองพัน แต่ที่เป็นผู้หญิงนั้นยกเสีย ว่าแต่ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ก็มี กลางคนก็มี เด็กก็มีนั้น สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวได้ชุบย้อมคุณานุรูปทุกองค์ แต่ที่จะให้บังคับให้ท่านผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดิน บังคับไม่ได้ ขอเสียเถิด ให้พระญาติประยุรวงศกับขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยประนีประนอมกันสมมุติ จะให้พระองค์ใดหรือผู้ใดขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินก็สุดแต่จะเห็นพร้อมกันเถิด ให้เห็นแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า พระบาทสบเด็จพระพุทธเลิศหล้า สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวด้วย อย่าให้ฆ่าฟันกันเสียนักเลย จงช่วยกันรักษาแผ่นดินไปด้วยกันเถิด

อนึ่ง การพระราชกุศลซึ่งได้สร้างวัดวาอารามกับทั้งพระราชกุศลสิ่งอื่น ๆ ยังค้างอยู่เป็นอันมากนั้น ถ้าท่านผู้ใดจะได้ครองแผ่นดินสืบไป จงสงเคราะห์แก่ข้าด้วย เงินในท้องพระคลังทั้งข้างหน้าข้างในมีอยู่สัก ๔๐,๐๐๐ ชั่งเศษ ขอไว้ให้ข้าสัก ๑๐,๐๐๐ ชั่ง จะได้ใช้ในการพระราชกุศลซึ่งยังค้างอยู่นั้น ยังเงินอีก ๓๐,๐๐๐ ชั่งเศษนั้น จงเอาไว้ใช้ในการแผ่นดินต่อไปเถิด ทองคำก็มีอยู่กว่า ๒๐๐ ชั่งเศษ ขอแบ่งไว้ให้ข้าเป็นส่วนพระราชกุศลสำหรับปิดวัดวาอารามที่ยังค้างอยู่นั้นให้สำเร็จก่อน ทองเหลืออยู่จากนั้นจะใช้ทำเครื่องละเม็งละคอนและการแผ่นดินก็ตามเถิด

อนึ่ง พระอัฐิพระไอยกีพระไอยกาของข้าซึ่งอยู่ในหอพระอัฐินั้นกีดอยู่ ก็ให้มอบไว้แก่พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใด ๆ ก็ตามเถิด ถ้าและเขาฆ่าเสียหมดแล้ว ก็มอบไว้กับพระเจ้าลูกเธอผู้หญิงที่ยังเหลือนั้น จะได้เชิญไปเสียให้พ้น ถึงพระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีสุลาไลยนี้เล่าก็เป็นสูงเท้าหน้าต่ำเท้าหลัง หาสมควรที่จะอยู่ร่วมกับพระบรมอัฐิไม่ ก็ให้เชิญไปไว้กับพระอัฐิพระไอยกีพระไอยกาเสียด้วยเถิด

จดหมายกระแสพระราชโองการฉะบับนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นวงศาสนิท พระยาพิพัฒโกษา เขียนออกมาณวันจันทร เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีจอ โทศก เพลาตี ๑๑ ทุ่มเศษ

(คัดจากพระราชพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศ)

ครั้นณวันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เพลาบ่าย ๕ โมง มีรับสั่งให้หาพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก เข้าไปเฝ้าในที่ มีพระราชโองการถามว่า พระยาพิพัฒน์ฯ ได้เอาจดหมายที่ทรงอนุญาตนั้นออกไปปรึกษาหารือเสนาบดีแล้วหรือ เขาว่ากะไรบ้าง พระยาศรีสุริยวงศ์กราบทูลว่า ได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อม ทุกคนพากันเศร้าโศกและเห็นว่า โปรดฯ ดังนี้ พระเดชพระคุณเป็นที่สุด ปรึกษากันว่า พระโรคนั้นยังไม่ถึงตัดรอน แพทย์หมอยังพอฉลองพระเดชพระคุณได้อยู่ ซึ่งจะยกพระวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นก็ยังไม่สมควร จะช่วยกันฉลองพระเดชพระคุณว่าราชการแผ่นดินมิให้มีเหตุการณ์ภัยอันตรายขึ้นได้ จึงตรัสสั่งให้ท่านพระยาศรีสุริยวงศ์ขยับเข้าไปให้ชิดพระองค์ ให้ลูบดูพระสรีรกาย แล้วดำรัสว่า ร่างกายทรุดโทรมถึงเพียงนี้แล้ว หมอเขาว่า ยังจะหายอยู่ ไม่เห็นด้วยเลย การแผ่นดินไปข้างหน้า ไม่เห็นผู้ใดที่จะรักษาแผ่นดินได้ กรมขุนเดชเล่า ท่านก็เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไร ท่านก็เชื่อง่าย ๆ จะเป็นใหญ่โตไปไม่ได้ กรมขุนพิพิธเล่าก็ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ ท่านฟ้าน้อยเล่าก็มีสติปัญญา รู้วิชชาการช่างและการทหารต่าง ๆ อยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ เกียจคร้าน รักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ก็เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่คนเดียว แต่รังเกียจอยู่ว่า ท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้น ก็จะให้พระสงฆ์ห่ามผ้าอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดินดอกกระมัง กลัวเจ้านายข้าราชการเขาจะไม่ชอบใจ จึงได้อนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวงสุดแท้แต่จะเห็นพร้อมเพรียงกัน การต่อไปภายหน้า เห็นแต่เองที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป การศึกษาสงครามข้างญวนข้างพะม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่พวกข้างฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะร่ำเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว ทุกวันนี้ คิดสละห่วงใหญ่ให้หมด อาลัยอยู่แต่วัดสร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไป จะไม่มีผู้ช่วยทนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินมีอยู่ ๔๐,๐๐๐ ชั่ง ขอสัก ๑๐,๐๐๐ ชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ให้ช่วยบอกแก่เขา ขอเงินรายนี้ให้ช่วยทนุบำรุงวัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้นเสียให้แล้วด้วย ท่านพระยาศรีสุริยวงศ์รับพระราชโองการแล้วก็ร้องไห้ถอยออกมาจากที่เฝ้า.

วันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ค่ำ ปีจอ โทศก มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ หาพระยาพิพัฒน์โกษา จมื่นสรรเพ็ธภักดี เข้าไปเฝ้าในที่พระบรรทม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบพระธำมรงค์ ๔ องค์ คือ

พระธำมรงค์เพ็ชร์ใจกลางผลบัวอ่อน ๑

พระธำมรงค์เพ็ชร์ใจกลางผลสวาดอ่อน ๑

พระธำมรงค์ทับทิมใจกลางผลสวาดอ่อน ๑

พระธำมรงค์ทับทิมใจกลางผลบัวอ่อน ๑

ทรงพระกรุณาดำรัสสั่งว่า พระอาการไม่คลาย มีแต่ทรุดลงทุกวัน ทรงเห็นว่า พระโรคจะไม่หาย ถ้าสิ้นพระชนม์เสด็จสวรรคตแล้ว ก็ให้เชิญพระธำมรงค์เข้าไปทรงพระในหอพระ.
(บัญชีรายละเอียดเพ็ชร์พลอยประดับพระธำมรงค์ ๔ องค์)

พระธำมรงค์เพ็ชร์องค์ ๑ มีเพ็ชร์ใจกลางผลบัวอ่อน ๑ เพ็ชร์มงคลผลเขืออ่อน ๑๗ เพ็ชร์หน้าจอกผลกล่อมแก่ ๑๔ เพ็ชร์บ่าผลกล่ำปอก ๒ เพ็ชร์มงคลบ่าผลเขือแก่ ๒๖ รวม ๖๐

เพ็ชร์ประดับก้านผลกล่อมแก่ ๖ ผลเขือแก่ ๔ ผลงาอ่อน ๗ ผลงาแก่ ๒๓ รวม ๔๐ รวมทั้งองค์เป็น ๑๐๐

พระธำมรงค์องค์นี้ใส่กล่องทองรูปไข่หลังประดับนิด (นิล?)

พระธำมรงค์ทับทิม ๑ องค์ มีทับทิมใจกลางผลสวาดอ่อน ๑ บ่าทับทิมผลกล่ำอ่อน ๒ หน้าเพ็ชร์ผลกล่อมแก่ ๑๒ รวมทั้งองค์เป็น ๑๕

พระธำมรงค์องค์นี้ใส่กำปั่นทองหลังกราบช้าง ทั้ง ๒ องค์นี้ทรงพระพุทธรังสรรค์

พระธำมรงค์เพ็ชร์อีกองค์ ๑ มีเพ็ชร์ใจกลางผลสวาดอ่อน เป็นเรือนนอก มีเพ็ชร์เม็ดเดียว

พระธำมรงค์ทับทิมอีกองค์ ๑ มีทับทิมใจกลางผลบัวอ่อน ๑ มงคลเพ็ชร์ผลเขือแก่ ๑๘ หน้าจอกทับทิมผลบัวอ่อน ๑๔ บ่าทับทิมผลกล่ำแก่ ๒ รองบ่าเพ็ชร์ผลกล่อมปอก ๒ ก้านเพ็ชร์ผลเขืออ่อน ๗ ก้านเพ็ชร์ผลเขือแก่ ๓๐ เป็นทับทิม ๑๗ เพ็ชร์ ๕๗ รวมทั้งองค์เป็น ๗๔

พระธำมรงค์ ๒ องค์นี้ใส่กล่องนากหลังประดับพลอยดอกตะแบกอยู่กล่องเดียวกัน ทั้ง ๒ องค์นี้ทรงพระพุทธนิมิต

พ่อมั่งขา พ่อจงเป็นเชฐมัตตัญญู พ่อจงรู้วารน้ำจิตต์และอธิบายของข้าผู้พี่ อันขันธะทุพลภาพมากอยู่แล้ว ด้วยแผ่นดินศรีอยุธยาทรงพระเจ้าแผ่นดินมา ๒ พระองค์แล้ว กับพี่ด้วยอีกคนหนึ่งเป็น ๓ ตั้งแต่แผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อมสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ท่านได้ปราบดาภิเษกปีขาลนั้นมาได้ ๕ ปี ถึงปีมะแม พี่จึงเกิด ตั้งแต่จำความได้มาจนอายุได้ ๒๒ ปี ได้บวชในแผ่นดินนั้น ต่ออายุได้ ๒๓ จึงสิ้นแผ่นดินไป มาเป็นแผ่นดินของล้นเกล้าล้นกระหม่อมอีก ๑๖ ปี จึงมาเป็นแผ่นดินของพี่ พระภิกษุผู้เป็นสงฆรัตนในกรุงศรีอยุธยาก็เห็นนุ่งสะบงทรงจีวรเป็นลูกบวบทั้งสิ้นด้วยกัน แต่พะม่ารามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโสมภารอยู่นั้นและ เห็นครองผ้าผิดกับพระภิกษุของเรา จึงเรียกกันว่า พระมอญ เดี๋ยวนี้ พระไทยก็ห่มผ้าเป็นมอญ โดยอัตตโนมัติปัญญาของพี่ เห็นว่า ถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังเสด็จอยู่ ก็เห็นจะให้ประชุมพระราชาคณะได้ว่ากล่าวกันให้เห็นว่า ควรไม่ควรนานอยู่แล้ว นี่พี่กลัวจะเป็นบาปเป็นบุญเป็นคุณเป็นโทษ พระสงฆ์จะแตกร้าวกันไป จึงมิได้ว่ากล่าว แต่ใจนั้นรักแต่อย่างบุราณอย่างเดียวนั้นและ สืบไปเบื้องหน้า พระภิกษุไทยซึ่งห่มผ้าเป็นมอญนั้นศูนย์ไป พี่เห็นว่า จะควรกับศรีอยุธยา ก็ถ้าแม้นกลับมากขึ้นอีกด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ชื่อของพี่ผู้ได้เป็นเจ้าแผ่นดินก็มีแต่จะเสียไป เขาจะว่า เป็นเมืองมอญเมืองพะม่าไปเสียมาแต่ครั้งแผ่นดินนั้น นี่แลเป็นความวิตกของพี่มากนักหนา ให้พ่อเห็นแก่พี่ ช่วยเอาขึ้นแจ้งกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เธอเป็นบรมญาติอันใหญ่ ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ทั้งรู้พระสัทธรรมของพระเจ้าเป็นอันมาก แล้วก็เป็นพระภิกษุศรีอยุธยา พี่มีจีวรอยู่ผืนหนึ่ง ให้พ่อช่วยถวายกรมหมื่นนุชิต ถ้าเธอจะรับเอาไว้ครองได้ ก็ให้ถวายเธอเถิด ถ้าเธอจะมิรับไว้ครองแล้ว ก็ให้เอาคืนมาเสีย

จดหมายกระแสพระราชโองการฉะบับนี้ ทรงพระกรุณาโปรดให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอรณพ เขียนออกมาณวันอังคาร เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ ปีจอ โทศก เพลาตี ๒ ทุ่มเศษ

กระหม่อมฉัน เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทวาวงศ ขอรับพระราชทานสารภาพโดยสัตย์โดยจริงว่า แต่ก่อนเมื่อเป็นภิกษุหนุ่มแรกบวช กำลังยังตั้งหน้าหาความรู้วินัยสิกขา ไปคบหากับพระสงฆ์พวกศึกษา คิดละเอียดไปต่าง ๆ ได้ฟังท่านพูดกันว่า ห่มอย่างรามัญเห็นถูกต้องด้วยเหตุต่าง ๆ ก็พลอยเห็นไปด้วย แต่ยังไม่ได้ห่มเองมิได้ ครั้นภายหลัง พระสงฆ์อื่น ๆ ท่านห่มเข้าไปในพระราชวัง เป็นรับสั่งถามเลย ๆ มิได้มีรับสั่ง ก็พลอยคิดดีใจไปว่า ทรงพระกรุณาโปรดให้ถือตามชอบใจ จึงพลอยทำด้วยต่อมา โดยรักไปข้างทางสิกขา หาได้นึกมาถึงพระเกียรติยศและการแผ่นดินเป็นของสำคัญแข็งแรงเหมือนดังทรงพระราชดำริครั้งนี้ไม่เลย ถ้านึกได้แต่ครั้งนั้น ก็มิได้ประพฤติมาดังนี้ อนึ่ง เมื่อครั้งโน้น เป็นแต่มีศิษย์เป็นพระสงฆ์อนุจรอยู่ ๕ องค์ ๖ องค์ ไม่ทราบว่า จะมีศิษย์หามากมายไป ครั้นอาศัยพระบารมีเป็นที่ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยง บริษัทจึงมากขึ้น จึงคิดเห็นบ้างว่า จะประพฤติห่มอย่างรามัญไม่สมควรแก่พระเกียรติยศและประเพณีพระนค แต่กาลเลยมานานแล้ว ก็กระดากอยู่ และไม่มีผู้ใหญ่บังคับบัญชาเป็นที่อ้าง ก็เกรงใจศิษย์หาพวกพ้องที่ประพฤติเหมือนกันอยู่นั้น ครั้งนี้ ได้รับสั่งในกรมเป็นที่อ้าง ก็ยินดีจะประพฤติตามพระราชประสงค์สนองพระเดชพระคุณมิให้มีความรำคาญเคืองพระบรมราชอัธยาศัย พระเดชพระคุณเป็นที่ล้นที่พ้น ชีวิตอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อนึ่ง ก็จะได้เป็นสามัคคีคารวะด้วยพระราชาคณะผู้ใหญ่เป็นอันมากต่อไปในเบื้องหน้าด้วย.

ควรมิควรสุดแต่จะโปรด

ปฏิญาณนี้ถวายไว้แต่ณวันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีจอ โทศก

พระลังกาในอารามนี้ ๑๑ องค์ ขอรับประทานตามใจเขาเถิด บ้านเมืองครูอาจารย์เขาที่บวชอย่างนั้น ครั้นเคี่ยวเข็นเข้า ความจะอึงออกไปนอกบ้านนอกเมือง.

อธิบายเรื่องต่อมา

ถึงรัชกาลที่๔ พระสงฆ์ธรรมยุติกาซึ่งต้องห่มผ้าคลุมอย่างมหานิกายพากันถวายพระพรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกลับห่มแหวกอย่างเดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบว่า การปฏิบัติพระธรรมวินัยเป็นการของสงฆ์ แล้วแต่จะศรัทธาอย่างไรก็ปฏิบัติอย่างนั้น ไม่เกี่ยวด้วยฝ่ายอาณาจักร เพราะฉะนั้น ไม่ทรงห้ามปรามหรือทรงอนุญาตทั้ง ๒ สถาน แต่นั้น พระสงฆ์ธรรมยุติกาก็กลับห่มแหวกต่อมา

(สันนิษฐานว่า สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสถวาย)

ผ้าอันตรวาสก แปลว่า ผ้าปิดบังซึ่งโทษ ด้วยเห็นโดยพยัญชนะ อนฺตร แปลว่า โทษ วาสก แปลว่า ปิด ว่า กำบัง ผ้าอุตฺตราสงค แปล ว่าผ้าบังเฉวียง ผ้าคล้องอยู่โดยมากในเบื้องซ้าย อุตฺตร แปลว่า เบื้องซ้าย อาสงค แปลว่า คล้องอยู่โดยมาก สํฆาฏิ แปลว่า ป้องกันอันตรายโดยรอบ สํ แปลว่า โดยรอบ ฆาฏิ แปลว่า ป้องกันเสียซึ่งอันตราย ถ้าจะนุ่งห่ม ก็ควรจะกระทำให้ต้องตามแปล จึงจะชอบ

ผ้าสะบงเป็นผ้านุ่งปกนาภีมณฑลและชงฆมณฑล ผ้าจีวรห่มเป็นผ้าบังเฉวียง ผ้าสังฆาฏิห่มเป็นผ้าคลุมปกกิจมณฑล อนึ่ง ในมหาอรรถกถาว่า สมปมาณํ จีวรํ ปารุเปนฺเตน สํหริตฺวา พาหาย อุปริ ฐปิตา อุโภ อนฺตา พหิมุขา ติฏฺฐนฺติ ความว่า ชายทั้ง ๒ อันพระภิกษุเมื่อห่มซึ่งจีวรอันประมาณพอเสมอม้วนเข้าแล้วตั้งลงในเบื้องบนแห่งแขน มีหน้าในภายนอกตั้งอยู่ และจะเอาผ้าจีวรซ้อนเข้ากับผ้าสังฆฏิห่มคลุม ม้วนบวบวางลงเสมอบ่านั้น เห็นจะไม่ต้องด้วยความอันนี้

ท่านทั้งหลายทั้งปวง แพทย์หมอต่าง ๆ ก็ดี คนเราที่มีปัญญาก็ดี จงรู้อาการโรคของข้าซึ่งเจ็บครั้ง นี้เดิมให้กะเสาะกะแสะ กินเข้าไม่มีรส ตั้งแต่เป็นมาสักปีเศษสองปีแล้ว กินเข้าเก้ามื้อสิบมื้อจะมีรสสักมื้อหนึ่ง เบื่อเข้าสวย กินแต่เข้าต้ม เข้าบุหรี่ เข้ามูนกะทิ มื้อหนึ่งได้สักถ้วยหนึ่งข้อนถ้วย แล้วก็ให้เจ็บหลัง เสียดท้องข้างซ้ายตามชายโครงตั้งแต่ยอดอกไปจนถึงเกลียวปัศฆาฏตามสายเสียดตั้งแต่ชายโครงลงไปจนกระทั่งข้อเท้า ได้ให้หมอนวดก็หายบ้าง พอประทะประทังอยู่บ้าง วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง ได้ความสุขเป็นปกติครึ่งหนึ่งบ้างข้อนหนึ่งบ้าง ครั้นนานมา ก็ได้ความสุขแต่เมื่อขณะนวด โรคเป็นดังนี้ ได้บอกแก่หมอนวดให้หายาให้กินมาหลายขนานนักหนาแล้ว พอประทะประทังมาได้ ร่างกายก็ซูบผอมลงทุกวัน ๆ เดี๋ยวนี้ เจ็บจนลงล้มหมอนนอนเสื่อ ก็มีโรคอยู่แต่เพียงให้เสียดให้เฟ้อข้างตำหระชายดังกล่าวแล้ว เกิดขึ้นใหม่แต่ปิดอุจจาระปิดผายลมเสีย นอนหงายไม่ได้ ให้เสียดให้เต้นไปในท้อง ให้ปวดฝัก ให้คลื่น ให้เหียน ให้หิวเป็นกำลัง กินเข้าไม่ได้เลย ให้เจ็บหน้าตะโพก นอนไม่หลับ กลางคืนคืนหนึ่ง เคลิ้มไปได้สัก ๓ บาทนาฬิกา กลางวัน สักชั่วโมงหนึ่ง เอาเป็นดี กินยาก็พอประทะประทังมาได้ แล้วโรคเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ให้ขัดปัสสาวะเบาออกเล็กน้อย ให้ปวดอยู่เป็นหลายวัน จึงค่อยเบามากออกมาได้ คลายปวดไปหน่อยหนึ่ง โรคซึ่งเกิดอยู่ในกายนั้นก็มีแต่เท่านี้ และจะเป็นอย่างไรมากกว่านี้ขึ้นไปอีก พิเคราะห์ดูก็ยังไม่เห็น ท่านผู้ใดเป็นแพทย์เป็นหมอและมีสติปัญญาน้ำจิตต์กอบไปด้วยเมตตากรุณา จงคิดอ่านช่วยเยียวยาโรคข้าให้หายสักครั้งหนึ่งเถิด ข้าจะให้ส่วนกุศลซึ่งข้าได้ทำบุญให้ทานไว้ในพระพุทธสาสนา และการกุศลต่าง ๆ อีก เป็นที่สุดจนได้ให้ทานเข้านกเข้ากากิน แก่ท่านกึ่งหนึ่ง หนังสืออันนี้ ถ้าท่านผู้ใดได้เห็นได้อ่านแล้ว ถ้าเห็นเหลือสติปัญญาซึ่งจะเยียวยาโรคข้าให้หายได้ ก็จงจำเริญพระไตรลักษณว่า นามรูปํ อนิจฺจํ นามรูปํ ทุกฺขํ นามรูปํ อนตฺตา จะมีผลาอานิสงส์แก่ตนเป็นอันมาก

จดหมายพระราชทานพระอาการฉะบับนี้ ทรงพระกรุณาโปรดให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าบุตรี เชิญออกมาให้พระยาราชสุภาวดีณวันศุกร เดือน ๓ แรม ๕ ค่ำ ปีจอ โทศก เวลาเช้า ๔ โมงเศษ

ข้าพระพุทธิเจ้า ขุนราชนิทาน ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมฟังพระอาการ ได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อมเห็นด้อยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า ซึ่งทรงพระประชวรครั้งนี้ เพื่อพระวาโยกระษัยกล่อน จึงกระทำให้แน่นให้เสียด ให้ขัดประบังคนหนักเบา ประทมไม่หลับ พระอาการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานออกมาทั้งนี้ จะขอสนองพระเดชพระคุณถวายพระโอสถให้หายแต่จะช้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด ขอเดชะ

กรมหมื่นวงศาสนิทขอรับประทานทำเรื่องราวกราบทูลพระบรมวงศานุวงศ ทั้งพระเจ้าลูกเธอทุก ๆ พระองค์ กับท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ และทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแต่บรรดาที่เป็นข้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวด้วยกัน จงคิดถึงกตัญญูรู้จักพระเดชพระคุณซึ่งทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อมเลี้ยงตามควรกับวาศนาแห่งตน ๆ ได้เย็นเกล้าเย็นกระหม่อมทั่วหน้าคนทั้งสิ้น พระราชอาณาจักรของสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็กว้างขวางใหญ่โตเป็นอันมาก คงจะมีผู้รู้วิชชาคุณแห่งแพทย์ต่าง ๆ อยู่โดยกันที่ป่วยเป็นโรคเช่นทรงพระประชวรครั้งนี้ก็คงจะมีบ้าง พระอาการก็ยังไม่ถึงหนักถึงหนา มีแจ้งอยู่ที่โปรดให้จดหมายพระราชทานออกมาไว้ที่เจ้าคุณสัสดีนั้นแล้ว กระหม่อมฉันสนองพระเดชพระคุณมาก็เต็มสติปัญญามาหลายวันช้านาน แล้วก็ได้ปรึกษาท่านพระยาราชสุภาวดี พระยาพิพัฒนโกษา ตรึกตรองถวายพระโอสถมา ก็หาคลายขึ้นได้สมคาดคิดไม่ พระอาการทบทวนไป ยังประชวรอยู่ ครั้นขัดข้อง จะหันหน้าไปปรึกษาผู้ใดอีก ก็พูดคำหนึ่งสองคำแล้วก็เลยไป ครั้นปรึกษาเจ้ากรม ปลัดกรม ขุน หมื่น พัน ในกรมหมอ จดหมายแต่ตำรายาต่าง ๆ มาให้คนละ ๒ ขนานบ้าง ๓ ขนานบ้าง ครั้นไล่เลียงคาดคั้นจะให้มั่นคงเข้า ก็นิ่งเสียบ้าง พูดจาเลื่อนใหลแก้ตัวไปต่าง ๆ หาแน่นอนแข็งแรงไม่ เหมือนเสียมิได้ก็เหมือนกัน ขอพระเดชพระคุณทุกพระองค์จงช่วยกระหม่อมฉันคิดอ่านสนองพระเดชพระคุณสืบเสาะหาหมอและคนไข้ที่เคยเจ็บเป็นโรคเช่นพระอาการเคยได้พบได้เห็นมาไล่เลียงช่วยกระหม่อมฉันคิดสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวให้หาย จึงจะควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

กรมหมื่นวงศาสนิทมายื่นณวันอาทิตย์ เดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ ปีจอ โทศก เพลา ๓ โมงเช้า

ศุภมัสดุ อดีตกาล พระพุทธศักราชชไมยสหัสสสังวัจฉระ ไตรสตาธฤก ไตรนวุติ ปัตยุบันกาล โสณสังวัจฉระ มาฆมาส กาฬปักษ อัฏฐมีดฤถี ศศิวาร บริเฉทกาลอุกกฤษฐ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ทรงพระราชศรัทธาเป็นสาสนูปถัมภกยกพระพุทธสาสนา ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบริจาคพระราชทรัพย์เป็นนิจภัตรและคิลานภัตรอุทิศถวายแก่ภิกษุสงฆ์สามเณรเนืองนิตยเป็นหลายสิบปีมาแล้ว บัดนี้ ทรงพระประชวรเพื่อพระวาโย มีพระกมลสันดานน้อมไปในพระรัตนตรยาธิคุณ ทรงเห็นพระราชอานิสงส์ในสังฆทานบารมีอันเป็นเหตุที่จะให้สำเร็จแก่พระโพธิญาณโดยพระราชหฤทัย จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอรรณพ เบิกพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังมอบให้ไวยาวัจกรกัปปิยการกสำเร็จจตุปัจจัยทั้งสี่ถวายแก่พระภิกษุและสามเณรในพระอารามหลวงในกรุง นอกกรุง และหัวเมืองซึ่งขึ้นแก่กรุงเทพพระมหานคร แต่บรรดาซึ่งได้รับพระราชทานนิตยภัตรมาแต่ก่อน องค์หนึ่งเงินตรา ๕ ตำลึง คิดเป็นพระภิกษุสงฆ์นิจภัตร สิริถวายเงินกับพระสงฆ์ ๘๔ อาราม เป็นพระสงฆ์ (ดังนี้)

พระสงฆ์ที่มีนิตยภัตร
กรมหมื่นนุชิต
เจ้าฟ้ามงกุฏ
พระองค์เจ้าฤกษ์
หม่อมเจ้ารอง
พระราชาคณะ ๖๘
ถานาตำแหน่ง ๑๗
ถานาที่เป็นเปรียญ ๑๕
พระครูเจ้าวัด ๑๙
เปรียญ ๑๐๔
เจ้าอธิการ
สามเณรเปรียญ
รวม ๒๓๕
พระสงฆ์ที่รับเข้าถัง
ถานาที่เป็นเปรียญ ๓ ประโยค
ถานาสามัญ ๒๗๙
เปรียญ ๓ ประโยค ๔๐
เปรียญ ๒ ประโยค
พระอนุจร ๖,๗๖๖
สามเณรเปรียญ ๓ ประโยค ๒๒
รวม ๗,๑๑๗
รวมทั้งสิ้น ๗,๓๕๒ รูป
(รูปละ ๒๐ บาท) เป็นเงิน ๑,๘๓๘ ชั่ง (๑๔๗,๐๔๐ บาท)

พระราชกุศลซึ่งทรงบริจาคในครั้งนี้ก็จัดเป็นอสทิสทานยากที่ผู้ใดจะกระทำได้ คงจะเป็นปัจจัยให้สำเร็จแก่พระโพธิญาณโดยราชประสงค์ อนึ่ง ขอพรพระสงฆ์สากยบุตรพุทธชิโนรสทั้งปวงจงเป็นทิพโอสถอันประเสริฐมาบำบัดพระโรคให้เสื่อมคลาย จะได้ทรงสร้างพระราชกุศลส่ำสมพระบารมีเป็นที่พึ่งแก่พระวงศานุวงศและเสนามาตยมนตรีสมณะชีพราหมณ์ประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบไปภายหน้า จงทรงพระเจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล พระชนมทฤฆายุอุดมเทอญ ฯ

บัญชีรายวันและรายการจ่ายเงินพระราชทานพระสงฆ์
วันจันทร เดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ ถวายพระสงฆ์ ๗ พระอาราม
พระสงฆ์ที่มีนิตยภัตร
กรมหมื่นนุชิต
เจ้าฟ้ามงกุฏ
พระองค์เจ้าฤกษ์
พระราชาคณะ ๑๒
ถานาตำแหน่ง
ถานาที่เป็นเปรียญ
เปรียญ ๓๐
สามเณรเปรียญ
รวม ๖๑
พระสงฆ์ที่รับเข้าถัง
ถานาสามัญ ๔๒
ถานาที่เป็นเปรียญ ๑๐
พระอนุจร ๘๗๕
สามเณรเปรียญ ๓ ประโยค
รวม ๙๓๐
รวมทั้งสิ้น ๙๙๑ รูป
องค์ละ ๕ ตำลึง เป็นเงิน ๒๔๗ ชั่ง ๑๕ ตำลึง
วันจันทร เดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ

วัดพระเชตุพน กรมพระกลาโหม พระยาเทพวรชุน เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๔๑๓ รูป เงิน ๑๐๓ ชั่ง ๕ ตำลึง

วัดบวรนิเวศ ๑๐๒ รูป วัดบรมนิวาส ๒๙ รูป วัดดอกไม้ ๑๘ รูป วัดสี่จีน ๑ รูป กรมมหาดเล็กเป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๑๕๐ รูป เป็นเงิน ๓๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดสุทัศนเทพวราราม กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๓๕๔ รูป เงิน ๘๘ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดรังสีสุทธาวาส กรมมหาดไทย พระยาเพ็ชรพิไชย พระยาราชเสนา เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๗๔ รูป เงิน ๑๘ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

รวมแจกในวันจันทร เดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ พระสงฆ์ ๙๙๑ รูป องค์ละ ๕ ตำลึง เป็นเงิน ๒๔๗ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

วันอังคาร เดือน ๓ แรม ๙ ค่ำ ถวายเงินพระสงฆ์ ๑๘ พระอาราม
ในกรุง
พระสงฆ์ที่มีนิตยภัตร
หม่อมเจ้ารอง
พระราชาคณะ
ถานาตำแหน่ง
ถานาที่เป็นเปรียญ
พระครูเจ้าวัด
เปรียญ ๒๔
รวม ๔๐
พระสงฆ์ที่รับเข้าถัง
ถานาที่เป็นเปรียญ ๓ ประโยค
ถานาสามัญ ๔๑
เปรียญ ๓ ประโยค
พระอนุจร ๑,๔๒๓
สามเณรเปรียญ ๓ ประโยค
รวม ๑,๔๘๐
รวมในกรุง ๑,๕๒๐
หัวเมือง
พระราชาคณะ
พระครู
เปรียญนิตยภัตร
เปรียญ ๒ ประโยค
รวม

รวมในกรุงและหัวเมือง ๑,๕๒๙ รูป องค์ละ ๕ ตำลึง เป็นเงิน ๓๘๒ ชั่ง ๕ ตำลึง

วันอังคาร เดือน ๓ แรม ๙ ค่ำ

วัดชนะสงคราม กรมขุนพิพิธ พระยาเพ็ชรพิไชย พระยาราชเสนา เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๑๗๙ รูป เงิน ๔๔ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

วัดเทพธิดาราม กรมพระตำรวจ จมื่นราชามาตย์ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๑๒๕ รูป เงิน ๓๑ ชั่ง ๕ ตำลึง

วัดมหาธาตุ กรมขุนรามอิศเรศ พระยาเทพวรชุน เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๔๐๐ รูป เงิน ๑๐๐ ชั่ง

วัดราชนัดดา กรมมหาดเล็ก เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๙๘ รูป เงิน ๒๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดราชบุรณะ กรมท่ากลาง หลวงรักษาสมบัติ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๓๗๘ รูป เงิน ๙๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดสามพระยา ๑๑๑ รูป วัดเครือวัลิ ๗๕ รูป กรมมหาดเล็ก เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๑๘๖ รูป เงิน ๔๖ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดดาวดึงส์ ๒๔ รูป วัดฉิมพลี ๓๐ รูป วัดชิโนรสาราม ๑๔ รูป วัดใหม่ทองเสม ๑๗ รูป วัดครุฑ ๒๑ รูป วัดพวา ๒๓ รูป วัดลาดสิงขร ๑๓ รูป วัดลาดบัวขาว ๑๑ รูป วัดขุนจันทร ๑ รูป กรมพระตำรวจ พระยาอภัยโนฤทธิ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๑๕๔ รูป เงิน ๓๘ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดนนท์รามัญ ๕ รูป วัดประทุมธานี ๔ รูป ในกรม แจก พระสงฆ์ ๙ รูป เป็นเงิน ๒ ชั่ง ๕ ตำลึง

รวมแจกในวันอังคาร เดือน ๓ แรม ๙ ค่ำ พระสงฆ์ ๑,๕๒๙ รูป เป็นเงิน ๓๘๒ ชั่ง ๕ ตำลึง

สิริเข้ากัน ๒ วัน ๒๕ อาราม เป็นพระสงฆ์ ๒,๕๒๐ รูป องค์ละ ๕ ตำลึง เป็นเงิน ๖๓๐ ชั่ง

รายการต่อไปนี้ไม่ได้ลงวันไว้ แต่เข้าใจว่า แจกวันพุธ เดือน ๓ แรม ๑๐ ค่ำ เพราะอยู่ในระวาง ๙ กับ ๑๑ ค่ำ

ในกรุง
พระสงฆ์ที่มีนิตยภัตร
พระราชาคณะ ๒๔
ถานาตำแหน่ง
ถานาที่เป็นเปรียญ
พระครูเจ้าวัด
เปรียญ ๒๕
สามเณรเปรียญ
รวม ๖๔
พระสงฆ์ที่รับเข้าถัง
ถานาที่เป็นเปรียญ ๓ ประโยค
ถานาสามัญ ๙๔
เปรียญ ๓ ประโยค ๑๕
พระอนุจร ๒,๑๓๖
สามเณรเปรียญ ๓ ประโยค
รวม ๒,๒๕๓
หัวเมือง
พระครูนิตยภัตร
ถานาสามัญ
พระอนุจร ๖๘
รวม ๗๗

รวมทั้งสิ้น ๒,๓๙๔ รูป องค์ละ ๕ ตำลึง เงิน ๕๙๘ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

(บัญชีพระอารามและผู้แจกในวันนี้)

วัดโปรดเกษ ๒๔ รูป วัดไพรชน ๓๔ รูป วัดบริวาส ๙ รูป วัดรวก ๑๐ รูป วัดจำปา ๑๒ รูป วัดภคินีนาฏ ๒๑ รูป วัดคหบดี ๔๖ รูป จมื่นสรรเพ็ธ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๑๕๖ รูป เงิน ๓๙ ชั่ง

วัดโชตนาราม กรมท่าซ้าย พระยาโชฎึก เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๕๑ รูป เงิน ๑๒ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

วัดบางลำภู กรมพระสัสดี หลวงเทพ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๕๔ รูป เงิน ๑๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดคูหาสวรรค์ จมื่นอินทามาตย์ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๒๙ รูป เงิน ๗ ชั่ง ๕ ตำลึง

วัดจักรวรรดิ กรมพระกลาโหม พระยาเทพวรชุน เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๓๐๐ รูป เงิน ๗๕ ชั่ง

วัดบพิตรพิมุข ๙๑ รูป วัดใหม่พระยาศรีพิพัฒน์ ๖๗ รูป จมื่นสมุหพิมาน เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๑๕๗ รูป เงิน ๓๙ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดสระเกศ ๒๖๙ รูป วัดสมอแครง ๑๖ รูป กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๒๘๕ รูป เงิน ๗๑ ชั่ง ๕ ตำลึง

วัดโมลีโลก ๙๔ รูป วัดปากน้ำ ๔๔ รูป พระยาอภัยโนฤทธิ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๑๓๘ รูป เงิน ๓๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดทองนพคุณ จมื่นราชาบาล เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๖๒ รูป เงิน ๑๕ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดทองธรรมชาติ ๔๙ รูป วัดประทุมคงคา ๒๐๑ รูป กรมขุนเดชอดิศร เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๒๕๐ รูป เงิน ๖๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดเกาะแก้ว ๕๙ รูป วัดดุสิต ๑๐๔ รูป วัดภูมิรน ๑๙ รูป กรมท่ากลาง หลวงรักษาสมบัติ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๑๘๒ รูป เงิน ๔๕ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดกระบือ ๔๔ รูป วัดบวรมงคล ๕๑ รูป พระยาเพ็ชรพิไชย เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๙๕ รูป เงิน ๒๓ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

วัดสมอราย กรมพระสัสดี หลวงศรีกาลสมุท เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๕๘ รูป เงิน ๑๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดราชโอรส ๑๔๘ รูป วัดศาลาคฤน ๑ วัดหนัง ๓๙ รูป วัดนางนอง ๕๔ รูปวัดกัลยาณมิตร ๑๑๑ รูป กรมพระสัสดี พระยาราชสุภาวดี เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๓๕๓ รูป เงิน ๘๘ ชั่ง ๕ ตำลึง

วัดหงส์ พระพิเรนทรเทพ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๑๙๖ รูป เงิน ๔๙ ชั่ง รวมแจกในวันนี้ พระสงฆ์ ๒,๓๙๔ รูป องค์ละ๕ ตำลึง เป็นเงิน ๕๙๘ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

สิริเข้ากัน ๓ วัน พระสงฆ์ ๔,๙๑๔ รูป เงิน ๑,๒๒๘ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ถวายเงินพระสงฆ์ ๔๐ พระอาราม
ในกรุง
พระสงฆ์ที่มีนิตยภัตร
พระราชาคณะ ๑๘
ถานาตำแหน่ง
ถานาที่เป็นเปรียญ
พระครูเจ้าวัด
เปรียญ ๒๑
อธิการ
รวม ๕๔
พระสงฆ์ที่รับเข้าถัง
ถานาที่เป็นเปรียญ ๓ ประโยค
ถานาสามัญ ๘๐
เปรียญ ๓ ประโยค
พระอนุจร ๒,๐๐๙
สามเณรเปรียญ ๓ ประโยค
รวม ๒,๑๕๙
หัวเมือง
พระสงฆ์ที่มีนิตยภัตร
พระราชาคณะ
พระครู
เปรียญ
รวม
พระสงฆ์ที่รับเข้าถัง
ถานา ๑๖
เปรียญ
พระอนุจร ๒๗๑
รวม ๒๙๕

รวมทั้งสิ้น ๒,๔๕๔ รูป องค์ละ ๕ ตำลึง เป็นเงิน ๖๑๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ วัดสุวรรณาราม กรมพระกะลาโหม พระยาเทพวรชุน เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๒๖๖ รูป เงิน ๖๖ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดพระยาทำ กรมพระสัสดี หลวงเทพ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๕๗ รูป เงิน ๑๔ ชั่ง ๕ ตำลึง

วัดเงิน ๔ รูป วัดทอง ๑๖ รูป วัดแก้ว ๓ รูป พระยาอภัยโนฤทธิ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๖๐ รูป เงิน ๑๕ ชั่ง

วัดราชคฤห์ กรมนา พระยาประชาชีพ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๙๒ รูป เงิน ๒๓ ชั่ง

วัดระฆัง ๒๔๘ รูป วัดสิงห์บางคูเวียง ๑ รูป วัดน้อยนางทำ ๙ รูป กรมท่ากลาง หลวงรักษาสมบัติ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๒๕๘ รูป เงิน ๖๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดราชสิทธิ์ กรมขุนพิพิธ พระยาเพ็ชรปาณี เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๑๓๔ รูป เงิน ๓๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดกลาง จมื่นราชามาตย์ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๙๙ รูป เงิน ๒๔ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

วัดสังกะจาย พระพิเรนทรเทพ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๖๖ รูป เงิน ๑๖ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดอินทาราม จมื่นราชาบาล เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๕๖ รูป เงิน ๑๔ ชั่ง

วัดจันทาราม พระอินทรเทพ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๔๖ รูป เงิน ๑๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดอรุณ ๒๒๖ รูป วัดเศวตรฉัตร ๔๓ รูป วัดวิสุทธาราม ๑๗ รูป ล้อมวัง พระยาเพ็ชรพิไชย เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๒๘๖ รูป เงิน ๗๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดอับสรสวรรค์ กรมมหาดไทย พระศรีสหเทพ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๓๖ รูป เงิน ๙ ชั่ง

วัดอัมพวัน ๒๒ รูป วัดจอมสุดาราม ๑๒ รูป วัดอภัยทาราม ๑๑ รูป วัดบางขนุน ๑ รูป จมื่นสรรเพธภักดี เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๔๖ รูป เงิน ๑๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดอมรินทร กรมมหาดไทย พระศรีสหเทพ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๒๕๕ รูป เงิน ๖๓ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

วัดพระยาญาติ เจ้าคุณพระยาศรีพิพัฒน์ รับแจก พระสงฆ์ ๘๖ รูป เงิน ๒๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดประยุรวงศ ๒๙๐ รูป วัดนวลนรดิศ ๕๔ รูป วัดกุฏิ ๑๐ รูป กรมท่า หลวงรักษาสมบัติ รับไปแจก พระสงฆ์ ๓๕๔ รูป เงิน ๘๘ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

วัดปราสาท ในกรม แจก พระสงฆ์ ๑ รูป เงิน ๕ ตำลึง

วัดเครือ จมื่นสรรเพ็ชร แจก พระสงฆ์ ๒ รูป เงิน ๑๐ ตำลึง

รวมพระสงฆ์ ๒,๑๕๙ รูป เงิน ๕๓๙ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

รวมหัวเมือง

กรุงเก่า ๒๒๒ สมุทสงคราม ๗๐ ฉะเชิงเทรา ๑ สาครบุรี ๑ ราชบุรี ๑ หลวงพิทักษ์สุเทพ หมื่นอภัยธรรมการ เป็นผู้แจก พระสงฆ์ ๒๙๕ รูป เงิน ๗๓ ชั่ง ๑๕ ตำลึง รวมในกรุงและหัวเมือง พระสงฆ์ ๒,๔๕๔ เงิน ๖๑๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง (จำนวนรายละเอียดแตกกับยอดในประกาศ น่าจะจดบกพร่อง เห็นว่า เป็นของเก่า จึงคงไว้)

ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลเป็นอดีตล่วงแล้ว ๒๓๙๓ พรรษา ลุกาลผคุณมาส ศุกรปักษ์ ฉัฏฐมีดีถี โสรวาร บริเฉทกาลกำหนด เพลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จบรมนาถบรมธรรมิกราชะธิราชบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระประชวร มีความรำจวนพระราชหฤทัยถึงพระราชกิริยาซึ่งได้ทรงประพฤติมา ในการซึ่งได้ทรงปฏิสันถารปราศรัย และมีพระราชดำรัสด้วยกิจใดๆ กับพระสงฆ์ราชาคณะถานานุกรมบาเรียนและภิกษุอนุจรองค์ใด ๆ ก็ดี ตั้งแต่จำความได้มาจนกาลบัดนี้ ทรงพระบริวิตกระแวงอยู่ว่า เกลือกจะมีความพลั้งพลาดประมาทในโวหารเป็นการอคารวะ ไม่สมควรที่จะทรงตรัสแก่สมณบรรพษัทในพระสาสนา อนึ่ง ตั้งแต่ทรงถวัลยราชราชาภิเษกมา บางทีอธิกรณ์มีในพระสงฆ์ ก็ได้ทรงตรัสประภาษเป็นพระราชดำริดุจหนึ่งกระด้าง เพื่อจะให้พระราชาคณะถานานุกรมเจ้าหมู่เจ้าคณะทั้งปวงเกรงพระราชานุภาพ จะให้อุตสาหะสั่งสอนศิษยานุศิษย์และปราบปรามภิกษุอลัชชีเหล่าอันธพาล ให้พระพุทธสาสนาถาวรวัฒนาการบริสุทธิสะอาด ด้วยอำนาจพระเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นสาสโนปถัมภก ก็ครั้งนี้ มีพระราชวิตกว่า พระราชกิริยาทั้งปวงนั้น ลางอันจะเป็นอคารวะและไม่เป็นที่ชอบใจแก่พระผู้เป็นเจ้าบางองค์ ทรงวิปฏิสารอยู่ จึงมีพระราชโองการมานพระบันฑูรสุรสีหนาทอาราธนาภาพเจ้าฟ้ามงกุฏ สมมุติเทวาวงศ ให้เป็นธุระรับเชิญกระแสพระราชโองการ มาอ่อนน้อมนมัสการขอษมาโทษที่จะพึ่งมี เพราะพระราชดำรัสซึ่งทรงตรัสเย้าหยอกฤๅคมคายใด ๆ ก็ดีทั้งปวง เป็นพระราชกิริยาอันล่วงเป็นไปในพระราชาคณะถานานุกรมบาเรียนภิกษุอนุจรองค์ใด ๆ ในเวลาอันใดอันหนึ่งซึ่งล่วงมาแล้วนั้น ให้ทราบตลอดไปทุกรปบรรดาที่ได้เคยเข้ามารับราชนิมนตนกิจทั้งปวง ขอให้พระผู้เป็นเจ้าทุกองค์จงปลงอัธยาศัย ออมอดโทษถวายอภัยด้วยน้ำใจอันเต็มไปด้วยเมตตากรุณาเป็นบุเรจาริก อย่าให้เป็นกรรมเวรต่อไป ให้สิ้นพระราชวิปฏิสารรำคาญทั้งปวงนั้น อนึ่ง ขอให้พระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงจงกระทำสัตยาธิษฐานด้วยคุณพระศรีรัตนตรัย และจตุปาริสุทธศีล และสาสนานุสิกขากิจ ถวายพระราชกุสโลทิศแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ให้มีประชวรคลายหายพระโรคเป็นเกษมสุขสวัสดิ์ ให้ได้ทรงพระปฏิบัติบำเพ็ญพระกุศลเป็นพุทธการบารมีเพื่อพระโพธิญาณ สมควรแก่การที่ได้ทรงประสบพบพระพุทธสาสนาอันเป็นอดุลาดิศัยบุญเขตต์นี้เทอญ ฯ

ให้พระราชาคณะและถานานุกรมบรรดาที่ได้มาอ่านกระแสพระราชโองการนี้บอกแก่พระราชาคณะ ถานานุกรม และบาเรียน ในอารามที่ยังไม่ได้อ่าน มาอ่านณศาลายามค่ำเวลาบ่ายต่อ ๆ ไปเถิด.

วันศุกร เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีจอ โทศก เพลาย่ำรุ่งแล้ว เจ้าจอมมารดาอึ่ง กับท้าวศรีสัจจา แสง ออกมาที่ประตูสนามราชกิจ ทูลกับพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอรรณพ ว่า มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอรรณพ ให้เรียกเอาเงินตราที่พระคลังมหาสมบัติมาแจกแก่ราษฏรคนละบาท ตั้งแต่วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีจอ โทศก ไปทุกวัน เมื่อเชิญพระกระแสพระราชโองการออกมานั้น กรมหมื่นวงศาสนิท พระองค์เจ้าลัดดาวัลิ พระองค์เจ้าอุไร จมื่นเสมอใจราช นายไชยขรรค์ อยู่พร้อมกัน.

เมื่อพระอาการประชวรหนักลง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรสถานมาประทับอยู่ณพระวิมานองค์ตะวันตก พระองค์ดำรงอยู่ในพระสติสัมปชัญเป็นปกติเรียบร้อยมา แต่พระอาการนั้นยังทรุดหนัก ๆ ตามลำดับ จนถึงณวันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน ยังเป็นโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ เวลา ๘ ทุ่ม ๕ บาท เสด็จสวรรคต พระชนมายุ ๖๓ ปี กับ ๑๑ วัน เสด็จดำรงในสิริราชสมบัติ ๒๖ ปี ๗ เดือน ๒๓ วัน.

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก