ข้ามไปเนื้อหา

ชีวประวัติของข้าพเจ้า/ส่วนที่ 2

จาก วิกิซอร์ซ
สารบัญ
บันทึกการทรงจำของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
  1. รูป
    1. ภาพหมู่ของภรรยา บุตร และธิดา
    2. (การบรรเลง ณ) ห้องรับแขก สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส กรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2473 (สมัยรัชกาลที่ 7)
    3. ส่วนหนึ่งของวงดุริยางค์ (จุล) สมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2472
    4. เสวกโท พระเจนดรุิยางค์ ปลัดกรมการดนตรีฝรั่งหลวงประจำพระราชสำนักรัชกาลที่ 7 (ปี พ.ศ. 2470)
    5. พระเจนดุริยางค์ ผู้ควบคุมหมวดดุริยางค์สากล ผู้แต่งทำนองเพลงชาติ เลขานุการสำนักศิลปกรรมแห่งราชบัณฑิตยสถาน
  2. ส่วนนำ
    1. I Am Music
    2. นายดนตรี (คำแปลของ I Am Music)
    3. พระราชนิพนธ์สามัคคีเสวก
  3. บันทึกการทรงจำ
    1. ชีวประวัติของข้าพเจ้า
      1. เครื่องราชอิสสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน
    2. ประวัติการศึกษาวิชาการดนตรี
    3. 35 ปีของชีวิตในการดนตรี (พ.ศ. 2460–2495)
      1. วงเครื่องสายฝรั่งหลวงของพระมงกุฎเกล้าฯ – ประวัติวงดุริยางค์ของกรมศิลปากร – กำเนิด (พ.ศ. 2455–2458)
      2. ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (พ.ศ. 2460)
      3. งานประจำปีในระหว่างฤดูร้อน แสดงการบรรเลงแบบ Popular Concert สำหรับประชาชน ณ สถานที่กาแฟนรสิงห์ (พ.ศ. 2465–2467)
      4. กองแตรวง (Brass Band) กรมเสือป่าพรานหลวง และกรมม้าหลวง (พ.ศ. 2461–2463)
      5. ในรัชชสมัยของสมเด็จพระปกเกล้าฯ (พ.ศ. 2468–2473)
      6. เรื่องการบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากล (สมัยรัชกาลที่ 7)
      7. การปรับปรุงวงดนตรีทัพเรือ และการกำเนิดของเพลงชาติ (พ.ศ. 2470–2475)
      8. วงดนตรีสากลในสมัยกรมศิลปากร (พ.ศ. 2477–2489)
        1. ความหวังที่ล้มเหลว
        2. 10 เดือนในต่างประเทศ
        3. ความผิดหวังด้านต่าง ๆ
        4. เพลงไทยและศิลปของชาติในอนาคต
      9. สภาพของวงดนตรีสากลแห่งกรมศิลปากรปลาย พ.ศ. 2489 (พ.ศ. 2490)
        1. สภาพของเครื่องดนตรี
        2. สภาพของนักดนตรี
        3. ทางที่ควรจะฟื้นฟูและปรับปรุง
        4. ผลที่จะได้รับจากการฟื้นฟูและปรับปรุง
      10. ข้อความเพิ่มเติม
        1. การจัดตั้งวงดนตรีกองทัพอากาศ (พ.ศ. 2483)
        2. การปรับปรุงวงดุริยางค์กรมศิลปากร (พ.ศ. 2486–2490)

Servant and master am I: servant of those dead, and master of those living, through me, spirits immortal, speak the message, that makes the world weep, and laugh, and wonder and worship.

I tell the story of the love, the story of Hate, the story that saves, and the story that damns. I am the incense, upon which prayers float to Heaven. I am the smoke which palls over the field of battle, where men lie dying: with me on their lips.

I am close to the marriage alter, and when the graves open, I stand nearby, I call the wanderer home, I rescue the soul from the depths, I open the lips of lovers, and through me, the dead whisper to the living.

One I serve, as I serve all: and the King, I make my slave, as easily as I subject his slaves, I speak the birds of the air, the insects of the field, the crash of waters, on rock-ribbed shores, the sighing of the wind in the trees, and I am even heard by the soul that knows me, in the clatter of wheels, on city streets.

I know no brother, yet all men are my brothers: I am the father of the best that is in me: I am of them, and they are of me . . . . . . . . . . for, I am the instrument of God.

Ia m M u s i c.(Anonymous)

พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล ป. ๖)
ได้เก็บความมาประพันธ์เป็นคำไทย ว่าดังนี้.-
นายดนตรี, มีคำ, เฉลยไข
ฉันเป็นเจ้า, ฉันเป็นข้า, ไม่ว่าใคร ฉันรับใช้, ท่านทั้งหลาย, ทั้งตายเป็น
วิญญาณที่, มิรู้ตาย, ก็ได้ฉัน เป็นปากป่าว, ข่าวขัน, และข่าวเข็ญ
ให้โลกหวัว, ให้โลกไห้, ไม่วายเว้น ให้งงงวย, หลงให้เซ่น, ให้บูชา ฯ
เรื่องรักรัก, เรื่องชังชัง, ทั้งเรื่องรอด เรื่องวายวอด, ล้วนแต่ฉัน, สรรมาว่า
ฉันเป็นควัน, ธูปลอย, ล่องนภา นำคำสวด, ไปบูชา, พระเมืองแมน
ฉันเป็นควัน, บดบัง, สนามรบ ซึ่งซากศพ, ถมทับ, อยู่นับแสน
ล้วนทูนเทอด, ฉันไว้, ไม่กลัวแคลน ตรึงฉันแน่น, กับฝีปาก, จนพรากใจ
ท่านแต่งงาน, ฉันก็มา, อยู่ข้างข้าง ท่านวายวาง, ฉันก็เวียน, อยู่ใกล้ใกล้
ท่านหลงเพลิน, เดินอยู่ ณ, ประเทศไกล ฉันเรียกให้, กลับบ้าน, ท่านก็มา
ฉันเชิดใจ, ท่านให้พ้น, จากหลุมลึก ฉันช่วยนึก, ให้คู่รัก, ทักจ๊ะจ๋า
ฉันเป็นสื่อ, คนตาย, วายชีวา ให้กระซิบ, สนทนา, กับคนยัง
ฉันรับใช้, เอกชน, คนทั้งสิ้น แม้ฉันสั่ง, เจ้าแผ่นดิน, ก็รับสั่ง
ย่อมเป็นข้า, ให้ฉันใช้, ไม่ชิงชัง ตลอดทั้ง, เสนา, ประชากร
ฉันพูดได้, ทางนก, ในฟากฟ้า ทางแมลง, ในทุ่งนา, ป่าสิงขร
ทางเสียงคลื่น, กระทบฝั่ง, ทางลมจร พัดอ่อนอ่อน, เหมือนระบาย, ถอนหายใจ
ท่านที่รู้, จักฉัน, ท่านอยากพบ อาจประสพ, ฉันไม่ว่า, ที่ไหนไหน
แม้ล้อรถ, หมุนอ่อยอ่อย, อ๋อยอ๋อยไป นั้นท่านได้, พบฉัน, ที่กลางทาง
อันพี่น้อง, ฉันไร้, ได้แต่ชาติ ประชากร, เป็นญาติ, อยู่รอบข้าง
ฉันสืบสรร, ศรีของท่าน, มาทุกปาง ฉันก็สร้าง, ศรีให้ฉัน, ทุกบรรพ์มา
ฉันคือท่าน, ท่านคือฉัน, ท่านรู้เถิด เพราะฉันเกิด, เป็นเครื่องมือ, ของแหล่งหล้า
ท่านจงทราบ, กำเนิด, ฉันเกิดมา ฉันเกิดมา, เป็นดนตรี, ฉะนี้แล ฯ

ศิลปกรรม, นำใจ, ให้สร่างโศรก ช่วยบันเทา, ทุกข์ในโลก, ให้เหือดหาย
จำเริญตา, พาใจ, ให้สบาย อีกร่างกาย, ก็จะพลอย, สุขสำราญ
แม้ผู้ใด, ไม่นิยม, ชมสิ่งงาม เมื่อถึงยาม, เศร้าอุรา, น่าสงสาร
เพราะขาดเครื่อง, ระงับ, ดับรำคาญ โอสถใด, จะสมาน, ซึ่งดวงใจ ฯ

บิดาข้าพเจ้าชื่อ Jacob Feit เป็นชาวอเมริกัน เชื้อชาติเยอรมัน มารดาของข้าพเจ้าเป็นไทย บิดาเกิดเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ (ค.ศ. ๑๘๔๔) ที่เมือง Trier (Treves) ในประเทศเยอรมนี แต่ภายหลังสำเร็จการศึกษาเมื่ออายุได้ประมาณ ๑๙ ปีแล้ว ครอบครัวได้อพยพจากประเทศเยอรมนีไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ในสหรัฐอเมริกา และในคราวสงครามกลางเมืองที่สหรัฐอเมริกา Civil War 1860–1864 สมัยที่ Abraham Lincoln เป็นประธานาธิบดีนั้น ก็ได้เข้ารับราชการทหารฝ่ายเหนือในกองทัพสหรัฐอเมริกา ผ่านศึกกลางเมืองด้วย

ในราวปี พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. ๑๘๖๗) เมื่อสิ้นสงครามแล้ว ท่านได้เข้ามายังประเทศไทยในฐานะนักท่องเที่ยวคนหนึ่งตามวิสัยชายหนุ่ม เมื่อได้มาพักอยู่ในกรุงเทพฯ ชั่วเวลาหนึ่งแล้ว ท่านก็ได้รับคำเชื้อเชิญจากกงสุลอเมริกา (หมอจันดเล S. Chandler) โดยกระแสร์รับสั่งให้เข้ารับราชการเป็นครูแตรวงในพระราชสำนักของสมเด็จพระบัณฑูร กรมพระราชวังบวรมหาวิชัยชาญ (วังหน้า) เมื่อสิ้นสมัยดังกล่าวนี้แล้ว ได้ถูกย้ายมาประจำเป็นครูแตรวงทหารบกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตลอดมาจนถึงวันที่ท่านถึงแก่มรณะกรรมลง คือ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙) รวมอายุได้ ๖๕ ปีเศษ ซึ่งในเวลานั้น สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพบก

มารดาของข้าพเจ้าชื่อ ทองอยู่ วาทยะกร เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๐๑ และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ รวมอายุได้ ๙๓ ปี (เป็นธิดานายปุ๊, นายเม้า เชื้อชาติรามัญ บังคับไทย)

ข้าพเจ้าเกิดเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ (ค.ศ. ๑๘๘๓) ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม เวลาย่ำรุ่ง ที่บ้านญาติของมารดา ตำบลบ้านทวาย ใกล้หัวถนนสาธรเวลานี้ เมื่อข้าพเจ้าเกิดแล้ว มารดาได้พามารวมอยู่กับบิดาที่แพซึ่งตั้งอยู่ฝั่งเหนือปากคลองหลอด

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ (ค.ศ. ๑๘๙๐) ข้าพเจ้ารับการศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนอัสสัมชัญ (Assumption College) ในชั้นต้น เข้าเรียนภาษาฝรั่งเศสจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ (ค.ศ. ๑๘๙๘) จบหลักสูตร ในปีต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ. ๑๘๙๙) ได้เข้าศึกษาภาษาอังกฤษจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๓ (ค.ศ. ๑๙๐๐) รวมเวลาที่ข้าพเจ้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนแห่งนี้ได้ ๑๑ ปีบริบูรณ์

ใน พ.ศ. ๒๔๔๔ (ค.ศ. ๑๙๐๑) ข้าพเจ้าถูกแต่งตั้งเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษในโรงเรียนอัสสัมชัญ และได้ทำการสอนมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๕ (ค.ศ. ๑๙๐๒) รวมเวลาเป็นครูได้ ๒ ปี

วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๖ (ค.ศ. ๑๙๐๓) ข้าพเจ้าออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญโดยมีหนังสือรับรองของท่านอธิการโรงเรียนนี้นำฝากเพื่อเข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวง แผนกกองเดินรถ (Traffic Department) และต่อมาในวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ (ค.ศ. ๑๙๑๓) ข้าพเจ้าก็ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรมีราชทินนามว่า “ขุนเจนรถรัฐ” ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ในกรมรถไฟหลวงตลอดมาจนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ (ค.ศ. ๑๙๑๗) รวมเวลารับราชการในกรมนี้ได้ ๑๔ ปีกับ ๘ เดือน

ต่อจากนั้นเป็นสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายข้าพเจ้าจากกรมรถไฟหลวงมารับราชการในกรมมหรศพในวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ (ค.ศ. ๑๙๑๗) ประจำตำแหน่งเป็นผู้ช่วยปลัดกรม กองเครื่องสายฝรั่งหลวง มีหน้าที่ฝึกฝนอบรมนักดนตรีทางการปฏิบัติเครื่องดนตรีสำหรับวงดนตรีฝรั่งหลวงแห่งพระราชสำนัก ต่อจากนั้นมาอีกประมาณ ๑ เดือนเศษ ข้าพเจ้าก็ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น “หลวงเจนดุริยางค์” ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ (ค.ศ. ๑๙๑๗)

วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๐ (ค.ศ. ๑๙๒๐) ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นปลัดกรม กองดนตรีฝรั่งหลวง และในวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ (ค.ศ. ๑๙๒๒) ก็ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น “พระเจนดุริยางค์”

สมัยรัชกาลที่ ๕ กรมรถไฟหลวง

วันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ (ค.ศ. ๑๙๐๗)

ได้รับพระราชทานเหรียญเงินช้างเผือก

วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙)

ได้รับพระราชทานเหรียญราชาภิเศก รัชกาลที่ ๕ (ได้รับทางกรมรถไฟ)

สมัยรัชกาลที่ ๖ ทางพระราชสำนัก

วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ (ค.ศ. ๑๙๑๘)

ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๔

วันที่ ๓๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒ (ค.ศ. ๑๙๑๙)

ได้รับพระราชทานเหรียญช้างเผือก ชั้น ๕ (บ.ช.)

วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ. ๑๙๒๐)

ได้รับพระราชทานเข็มพระนาม ชั้น ๓

วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ (ค.ศ. ๑๙๒๔)

ได้รับพระราชทานมงกุฎไทย ชั้น ๔ (จ.ม.)

วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕)

ได้รับตราศิลปวิทยาฝรั่งเศส ชั้น ๑ โดยได้รับแต่งตั้งเป็น Officier de l’Instruction Publique.

สมัยรัชกาลที่ ๗ ทางพระราชสำนัก

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕)

ได้รับพระราชทานเหรียญราชาภิเศก รัชกาลที่ ๗

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๕)

ได้รับพระราชทานเหรียญศารทูลมาลาเสือป่าครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์

วันที่สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๒๖)

ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๕ รัชการที่ ๗

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๒๖)

ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาศิลปวิทยา

วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๑ (ค.ศ. ๑๙๒๘)

ได้รับพระราชทานตราช้างเผือก ๔ (จ.ช.)

วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ (ค.ศ. ๑๙๒๙)

ได้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา

วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ (ค.ศ. ๑๙๓๐)

ได้รับพระราชทานตรามงกุฎ ชั้น ๓ (ต.ช.)

วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๔ (ค.ศ. ๑๙๓๑)

ได้รับพระราชทานตราช้างเผือก ชั้น ๓ (ต.ช.)

สมัยรัชกาลที่ ๙ ทางกรมศิลปากร

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ (ค.ศ. ๑๙๕๒)

ได้รับพระราชทานตรามงกุฎไทย ชั้น ๒ ทวิติยาภรณ์

วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ (ค.ศ. ๑๙๕๓)

ได้รับพระราชทานตติยะจุลจอมเกล้าวิเศษ (ชั้น ๓)

วันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ (ค.ศ. ๑๙๕๓)

ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๔ รัชกาลที่ ๙

ในระยะเวลาที่ข้าพเจ้าศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนอัสสัมชัญดังได้กล่าวแล้วนั้น ทางบ้านข้าพเจ้าก็ได้เริ่มทำการศึกษาวิชาการดนตรีจากบิดาของข้าพเจ้า ทั้งนี้ พร้อมทั้งพี่ชายอีก ๒ คนซึ่งบัดนี้ได้ถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว การศึกษาวิชาการดนตรี ข้าพเจ้าได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ. ๑๘๙๒) เมื่ออายุได้ประมาณ ๑๐ ปี ในขั้นแรก ได้ฝึกหัดการปฏิบัติซอ Violin ขนาด ๓/๔ (ส่วนพี่ชายทั้ง ๒ นั้น ได้เริ่มฝึกหัดมาก่อนหน้าข้าพเจ้าประมาณ ๓ ปี) ข้าพเจ้าได้ฝึกหัดซอ Violin นี้มาได้ประมาณ ๓ ปี ครั้นเมื่อมีอายุมากขึ้น นิ้วก้านยาวขึ้น ข้าพเจ้าก็เริ่มฝึกหัดและยึดซอ Cello เป็นเครื่องดนตรีประจำตัวต่อไป

การฝึกฝนเครื่องดนตรีนี้ ข้าพเจ้าต้องฝึกฝนอย่างเคร่งเครียดที่สุด คือ ทุก ๆ วัน ภายหลังที่กลับมาจากโรงเรียนแล้ว ต้องฝึกหัดตั้งแต่ ๑๗.๐๐ น. ถึง ๑๘.๐๐ น. หรือถึง ๑๙.๐๐ น. ส่วนวันพฤหัสและวันหยุดซึ่งเป็นวันหยุดเรียน ก็ต้องฝึกตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น. และในบางวันก็เพิ่มเวลาเช้าตั้งแต่ ๑๐.๐๐ น. ถึง ๑๒.๐๐ น. อีกเวลาหนึ่งด้วย ส่วนการบ้านที่ทางโรงเรียนให้มานั้น ข้าพเจ้าต้องเลื่อนเวลาไปทำในระหว่างเวลา ๒๐.๐๐ น. ถึง ๒๑.๐๐ น. หรือถ้าทำไม่เสร็จ ก็ต้องทำต่อในเวลาเช้าวันรุ่งขึ้นก่อนไปโรงเรียน ซึ่งมีกำหนดเข้าในเวลา ๐๙.๐๐ น. วันหยุดทำการฝึกหัดไม่ใคร่มีเลย นอกจากการเจ็บป่วนหรือเทศกาลวันตรุษฝรั่ง (Christmas) และวันขึ้นปีใหม่ (New Year) สองสามวันเท่านั้น

เวลาล่วงไปในการฝึกฝนด้วยความเคร่งเครียดนี้ ภายหลังเมื่อ

Piano Quarter:- ซ้อมเพลงของ Richard Strauss และ Robert Schumann
Piao:- Mme Arsene Henri ภรรยาเอกอัคร-ราชฑูตฝรั่งเศส
Violin:- Mr. P.N. Hydon พ่อค้าปิอาโนและเครื่องดนตรี
Viola:- Mr. Noost อุปฑูตฮอลันดา
Cello:- พระเจนดุริยางค์

ข้าพเจ้าเติบโตขึ้น ก็มีความสามารถในการปฏิบัติซอ Cello ได้ดีพอใช้ และได้เข้าร่วมบรรเลงแบบคัพภ์ดนตรี Chamber Music กับพี่ชายทั้งสองของข้าพเจ้า เป็นวง Trio (Violin I, Violin II & Cello) โดยใช้บทเพลงซึ่งบิดาจัดซื้อมาเป็นจำนวนมากจากทุก ๆ แห่งที่มีเพลงประเภทนี้จำหน่าย จนแทบจะกล่าวได้ว่า เพลงประเภทนี้เกือบทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกแห่งการดนตรี เช่น ของ Wanhal, Mazas, de Beriot, Dencla, Viotti, Mozart, Beethoven, Schubert, Bruni, Corelli ก็มีไว้พรักพร้อม ส่วนบทเพลง Classic เบ็ดเตล็ดที่เรียบเรียงขึ้นเป็น Transcription สำหรับใช้กับวงดนตรีประเภทนี้ ก็มีไว้ไม่น้อยเหมือนกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บิดาข้าพเจ้ามุ่งหมายที่จะให้เราทั้งสามคนมีจิตใจรักและนิยมบทเพลงในชั้น Classic ทั้งสิ้น ต่อมาเมื่อข้าพเจ้ามีอายุได้ประมาณ ๑๗ ปี ได้รับการฝึกหัด Piano อีกอย่างหนึ่งด้วย

เมื่อข้าพเจ้าออกจากโรงเรียนแล้ว และเข้ามารับราชการอยู่ในกรมรถไฟหลวง ข้าพเจ้ายึดมั่นในการศึกษาวิชาการดนตรีที่ได้รับจากบิดา ทำให้เกิดความสนใจในวิชานี้ยิ่งขึ้น และพยายามทุก ๆ วิถีทางที่จะเพิ่มพูลความรู้ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยการศึกษาค้นคว้าต่อไปด้วยตนเอง เมื่อมีโอกาส ข้าพเจ้าก็เข้าสมทบกับนักดนตรีสมัครเล่นชาวต่างประเทศ ร่วมวงกันบรรเลงเพลง String Quartet, String Quintet หรือ Piano Trio, Piano Quartet หรือ Piano Quintet เสมอ ในการร่วมกันบรรเลงนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติซอ Cello และในระยะเวลาต่อมา ข้าพเจ้าก็ได้เข้าสมทบด้วยการปฏิบัติซอ Viola ด้วย เพราะในหมู่ชาวต่างประเทศไม่ใคร่จะมีผู้ใดสามารถปฏิบัติซอที่กล่าวนี้ได้

ด้วยความสนใจอย่างแท้จริงที่ต้องการแสวงหาความรู้วิชาการดนตรีให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าก็ได้แสวงหาปี่ Clarinet และสั่งซื้อขลุ่ย Flute และแตร Slide Trombone มาฝึกหัดอีกด้วย และในบางโอกาสที่มีเพื่อนนักดนตรีสมัครเล่นด้วยกันจัดตั้งวงดนตรีย่อย ๆ ขึ้น ข้าพเจ้าก็เข้าร่วมวงปฏิบัติซอ Bass อีกอย่างหนึ่ง การค้นคว้าและการศึกษาของข้าพเจ้าดังกล่าวแล้วนี้ ก็พอจะสังเกตเห็นได้ว่า ข้าพเจ้าพยายามหาทางเรียนรู้เครื่องดนตรีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในวงดุริยางค์ (Orchestra) ซึ่งในขณะนั้น ข้าพเจ้ามิได้นึกฝันเลยว่า สักวันหนึ่งในอนาคต ข้าพเจ้าจะต้องยึดเอาการดนตรีเป็นอาชีพในการดำรงชีวิต

ในด้านการศึกษาทางทฤษฎีนั้น ข้าพเจ้าก็ได้สั่งซื้อตำราวิชาการดนตรีต่าง ๆ มาศึกษาเล่าเรียนโดยตนเองด้วยความพยายามตลอดมา ตำราเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นตำราทางวิชาการดนตรีทั้งสิ้น ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษเพื่อเทียบเคียงกัน เช่น ตำราทฤษฎีดุริยางคศาสตร์ตอนต้น (Rudiments of Music) สรุปหลักวิชาเบื้องต้น (Elements of Music) ตำราการประสานเสียง (Harmony) ตำราการประพันธ์เพลง (Composition) ตำราว่าด้วยเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงดุริยางค์ (Orchestra) ในวงโยธวาทิต (Military Band) ตำราการแยกแนวเพลง (Orchestration) ประวัติการดนตรี (Musical History and Biography) หลักวิชาการประพันธ์ (Musical Forms) และตำราว่าด้วยการอำนวยเพลง (Art of Conducting) ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าต้องมายึดเอาการดนตรีเป็นอาชีพแล้ว ก็ได้พยายามหาทางที่จะถ่ายเทวิชานี้ให้แก่ชาวไทยที่สนใจ จึงได้เรียบเรียงตำราวิชาการดนตรีขึ้นเป็นภาษาไทยไว้หลายอย่าง ซึ่งล้วนเป็นตำราในทางทฤษฎีทั้งสิ้น คือ

๑.แบบเรียนตอนต้นของการดนตรีและการขับร้องสำหรับใช้ในโรงเรียนสามัญ

๒.ทฤษฎีการดนตรีตอนต้น (Rudiments of Music)

๓.แบบฝึกหัดบันทึกตัวโน้ตเพลงประกอบกับทฤษฎีการดนตรี

๔.คำถามในทฤษฎีการดนตรีตอนต้น

๕.คำตอบในทฤษฎีการดนตรีตอนต้น

๖.คู่มือสรุปทฤษฎีการดนตรีเบื้องต้น (เป็นชั้นเตรียมการศึกษาวิชาการประสานเสียง)

๗.การประสานเสียงเบื้องต้น (First Step on Harmony)

๘.ตำราการประสานเสียง (Harmony) ๓ เล่มจบ

๙.เฉลยปัญหาในการประสานเสียง

๑๐.ทฤษฎีการดนตรี (Theory of Music)

พ.ศ. ๒๔๕๕

ราว พ.ศ. ๒๔๕๕ (ค.ศ. ๑๙๑๒) สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงสถาปนาวงดนตรีขึ้นวงหนึ่งในพระราชสำนักของพระองค์ เรียกว่า “วงเครื่องสายฝรั่งหลวง” สังกัดกรมมหรศพ ในการต่อมา ได้เริ่มฝึกการปฏิบัติเครื่องดนตรีโดยอาศัยนักดนตรีของวงปี่พาทย์หลวงซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งของกรมมหรศพ ในการที่อาศัยนึกดนตรีของวงปี่พาทย์มาทำการฝึกหัดเครื่องดนตรีฝรั่งนี้ ทางการได้ใช้นักดนตรีที่มีความชำนาญในทางดนตรีไทยอยู่แล้วให้มาปฏิบัติทางดนตรีฝรั่ง โดยมุ่งหวังจะให้ได้ผลรวดเร็วขึ้น เพราะอาจเข้าใจไปว่า เป็นการดนตรีเหมือนกัน แต่ก็เป็นความเข้าใจที่จะสำเร็จได้ยาก ดังจะเห็นได้ในกาลต่อมาเมื่อดนตรีวงนี้ตกมาอยู่ในความอำนวยการของข้าพเจ้า

การประสาสน์วิชาความรู้ให้แก่นักดนตรีในครั้งแรกเริ่มนี้ ทราบมาว่า กรมมหรศพได้ว่าจ้างชาวต่างประเทศผู้หนึ่งที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาเป็นครู ท่านผู้นี้มีชื่อหรือเชื้อชาติอะไร หรือมีความรู้ในวิชาการดนตรีเพียงไร ข้าพเจ้าไม่ทราบ เพราะเวลานั้น ข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่ในกรมรถไฟหลวง ข้าพเจ้าทราบแต่เพียงว่า วิธีการสอนของเขานั้น ต้องอาศัยล่ามเป็นผู้อธิบายความประสงค์อยู่เสมอ เพราะท่านผู้นี้พูดภาษาไทยไม่ได้ และนักดนตรีก็พูดภาษาฝรั่งไม่ได้เช่นกัน การสอนจึงดำเนินไปด้วยความขลุกขลักตลอด

พ.ศ. ๒๔๕๖

เวลาต่อมา ครูผู้นี้ได้ลาออกไปในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๖ (ค.ศ. ๑๙๑๓) กองแตรวงกองทัพบกได้ว่าจ้างชาวอิตาเลียนผู้หนึ่งเข้ามารับราชการเป็นอาจารย์แตรวงแทนบิดาข้าพเจ้าซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙) อาจารย์ผู้นี้ข้าพเจ้ารู้จักดีและคุ้นเคยกันมาก แม้ในเวลานั้น ข้าพเจ้ายังรับราชการอยู่ในกรมรถไฟก็ตาม ท่านผู้นี้มีนิสสัยอ่อนโยน, อารีอารอบดี มีวิชาความรู้สูง มีความชำนาญและความสามารถยิ่งในการปรับปรุงบทเพลงให้วงแตร เพราะเมื่อได้เข้ามารับหน้าที่ในไม่กี่ปี ก็สามารถนำแตรวงของกองทัพบกออกแสดง Concert ด้วยบทเพลงในชั้นวิจิตรศิลปภายในบริเวณกระทรวงกลาโหมหลายครั้ง เป็นที่พอใจของผู้ฟังซึ่งส่วนมากเป็นชาวต่างประเทศ ส่วนวงเครื่องสายฝรั่งหลวงของกรมมหรศพนั้นเล่า ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทางกรมมหรศพจึงได้ขอร้องให้อาจารย์ผู้นี้มาช่วยดำเนินการสอน และให้สั่งซื้อเครื่องดนตรีมาครบชุด เป็นวงดุริยางค์แบบมัธย (Medium Orchestra) ในเมื่อเครื่องดนตรีเหล่านี้ได้รับมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจารย์ผู้นี้ได้เริ่มทำการสอน แต่ก็ยังคงอาศัยนักดนตรีของวงปี่พาทย์เช่นเดิม ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า ทางการมิได้ดำริจะผลิตเด็กให้เป็นนักดนตรีขึ้นมาใหม่ ถึงอย่างไรก็ตาม อาจารย์ผู้นี้ได้ปรับปรุงกิจการต่าง ๆ ด้วยความมานะและความพากเพียรอย่างยิ่งยวดตลอดมา และได้เรียบเรียงบทเพลงขึ้นให้เป็นพิเศษ เพื่อให้นักดนตรีสามารถออกทำการบรรเลงเพลงเบ็ดเตล็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้บ้างพอสมควร อาจารย์ผู้ที่เกี่ยวข้องนี้เป็นชาวอิตาเลียน มาครั้งแรกก็พูดภาษาไทยไม่ได้ ส่วนนักดนตรีที่อยู่ในความควบคุมของท่านก็พูดภาษาต่างประเทศไม่ได้ การสอนจึงต้องดำเนินไปตามวิธีที่ต้องอาศัยล่ามคอยแปลความประสงค์ของผู้ประสาสน์วิชาอยู่เป็นเนืองนิจ ซึ่งทำให้ท่านผู้รับการสอนหนักใจอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าหากได้ล่ามที่ไร้ความรู้ในทางวิชาการดนตรี ก็เห็นจะหมดหวังที่จะทำให้การสอนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่เคราะห์ดีที่ล่ามผู้นี้แม้จะเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย สามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้ และมีความรู้ในทางวิชาการดนตรีอยู่บ้าง เพราะเคยเป็นนักเรียนมาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ

พ.ศ. ๒๔๕๗

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ (ค.ศ. ๑๙๑๔) สงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้ประทุขึ้นในภาคพื้นยุโรป อาจารย์ซึ่งเป็นชาวอิตาเลียนถูกเรียกระดม จำต้องสละหน้าที่กลับไปรับใช้ประเทศชาติของตน

พ.ศ. ๒๔๕๘

ต่อมา วงดนตรีของกรมมหรศพก็เกิดระส่ำระสายขึ้น เพราะขาดครู คงเหลืออยู่แต่ล่ามซึ่งต้องรับมอบหมายหน้าที่แทน ท่านผู้นี้แม้รับราชการทางทหารอยู่ก็ตาม ได้พยายามประคับประคองวงดนตรีของกรมมหรศพเรื่อยมา แต่ก็มิได้กระทำให้ดนตรีวงนี้ดีขึ้นได้เลย เพราะต้องขวักไขว่งานถึง ๒ ทาง ดนตรีวงนี้จึงค่อย ๆ ทรุดโทรมลงไปเป็นลำดับ ถึงกับตามที่ข้าพเจ้าได้ทราบมาในภายหลังว่า ทางกรมมหรศพได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณาธิคุณได้ทรงพระบรมราชานุญาตเลิกล้มดนตรีวงนี้เสีย และส่งเครื่องดนตรีต่าง ๆ ที่มีอยู่ไปให้แก่กองทัพบกใช้ราชการต่อไป แต่พระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ ได้รับสั่งว่า ยังทรงเสียดายในการยุบเลิกดนตรีวงนี้อยู่ เพราะได้ลงทุนในการสร้างมากแล้ว ถ้าหากหาครูในประเทศมาได้ ก็ยังพอมีหวังกอบกู้ให้เจริญขึ้นมาได้ โดยทรงพระราชดำริห์กล่าวขวัญถึงข้าพเจ้าว่า หากได้บุตรชายของครูแตรฝรั่งคนเก่าของกองทัพบกซึ่งรับราชการอยู่ในกรมรถไฟหลวงมา ก็อาจแก้ไขดนตรีวงนี้ให้คืนดีขึ้นได้ เพราะครูแตรวงผู้นี้ท่านทรงรู้จักดีในขณะที่พระองค์ทรงดำรงค์ตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกเมื่อครั้งยังทรงเป็นพระยุพราชเจ้าในรัชกาลที่ ๕ การที่ได้ทรงพระราชดำริห์เช่นนี้ ข้าพเจ้ารับทราบเรื่องราวนี้ก็โดยผู้ที่ได้รับมอบหมายมาทาบทามข้าพเจ้า ในเมื่อท่านผู้นี้ได้มาทาบทามข้าพเจ้าอยู่นั้น ข้าพเจ้าลังเลใจอยู่ ด้วยเหตุว่า ได้รำลึกถึงคำกล่าวขวัญบิดาของข้าพเจ้าที่เคยกำชับข้าพเจ้าไว้หลายครั้งหลายหนก่อนที่ท่านถึงแก่กรรมว่า มิให้ข้าพเจ้ายึดถือและอาศัยวิชาการดนตรีซึ่งท่านได้ให้ไว้นั้นมาเป็นอาชีพเป็นอันขาด ทั้งนี้ ก็เพราะเหตุว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายนายทหารบกชั้นผู้ใหญ่ที่ได้มาเยี่ยมเยียนบิดาข้าพเจ้าในระหว่างเวลาที่ท่านกำลังป่วยหนักและได้เคยทาบทามอยู่เนือง ๆ ร้องขอให้บิดาข้าพเจ้ายินยอมอนุญาตให้ข้าพเจ้าได้ลาออกจากราชการกรมรถไฟหลวงมารับหน้าที่แทนบิดาข้าพเจ้าในหน้าที่ครูแตรวงกองทัพบก แต่บิดาข้าพเจ้าได้ตอบปฏิเสธเขาไปทุกครั้ง อันที่จริง ในเรื่องอาชีพของนักดนตรีและครูดนตรีในประเทศเรานี้ บิดาข้าพเจ้าได้เคยปรารภกับข้าพเจ้าอยู่เสมอ ๆ ว่า “...คนไทยเราไม่ใคร่สนใจในศิลปการดนตรีเท่าใดนัก ชอบทำกันเล่น ๆ สนุก ๆ ไปชั่วคราวเท่านั้น แล้วก็ทอดทิ้งไป...” ข้าพเจ้าจึงเกรงไปว่า หากข้าพเจ้ารับหน้าที่นี้แล้ว ข้าพเจ้าไม่อาจประจำอยู่ได้นาน ไม่เหมือนการทำราชการอยู่ในกรมรถไฟหลวงที่แน่นอนกว่า แต่ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้รับคำชี้แจงจากผู้มาทาบทามนั้นว่า เป็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะให้ข้าพเจ้าย้ายมา ข้าพเจ้าไม่มีหนทางที่จะปฏิเสธได้ จึงจำใจต้องลาออกจากราชการกรมรถไฟหลวงเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ มารับราชการทางกรมมหรศพตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน คือ ในวันรุ่งขึ้น

ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้สุดสิ้นลงแล้ว อาจารย์ดนตรีชาวอิตาเลียนของกองแตรวงกองทัพบกกลับเข้ามารับราชการตามเดิม ในคราวที่กลับมาครั้งนี้ ราว พ.ศ. ๒๔๖๑ (ค.ศ. ๑๙๒๐) ท่านได้เริ่มทำการปรับปรุงวงดุริยางค์ขึ้นวงหนึ่งที่กรมทหารม้า เรียกว่า “วงดุริยางค์ทหารม้ารวม” ท่านได้พยายามฝึกสอนนักดนตรีอย่างขมักเขม้น ถึงกับได้นำวงดุริยางค์นี้ออกประกอบการแสดง Opera ที่สวนมิสกวัน, Opera ที่แสดงนี้ คือ เรื่อง “Cavelleria Rusticana” ของ Mascagni ซึ่งเปิดการแสดงขึ้นโดยอาศัยตัวละครแต่ชาวต่างประเทศที่สมัครเล่นเข้ามาร่วมการแสดง นับว่า เป็นประวัติการณ์ของประเทศไทยที่มีการแสดง Opera ขึ้นเป็นครั้งแรก สำหรับวงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงนั้น อาจารย์ชาวอิตาเลียนนี้ได้ใช้วงดุริยางค์ทหารม้ารวมมาสมทบกันกับนักดนตรีของวงดนตรีฝรั่งหลวง กรมมหรศพ ซึ่งยังผลให้เห็นได้ว่า นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ มา เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสเข้าควบคุมวงดนตรีฝรั่งหลวงเพียง ๒ หรือ ๓ ปีเท่านั้น ก็สามารถผลิตนักดนตรีขึ้นมาได้ทันความต้องการของอาจารย์ผู้นี้ การฝึกซ้อม Opera เรื่องที่ได้กล่าวนั้นใช้เวลาทำการฝึกซ้อมประมาณเวลา ๑ ปี ส่วนบทเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบกับ Opera นั้น อาจารย์ผู้นี้ได้เรียบเรียงขึ้นใหม่เป็นพิเศษเพื่อให้ปฏิบัติได้ง่าย ๆ เหมาะสมแก่นักดนตรีที่ยังมีฝีมืออ่อนอยู่และตัวละครที่มิได้เป็นตัวละครอาชีพ ต่อมาอีกไม่นาน อาจารย์ผูํ้นี้ได้ถึงแก่กรรมลงในกรุงเทพฯ.

(ย้อนกลับปี)
พ.ศ. ๒๔๖๐

ภายหลังที่สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จเสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ (ค.ศ. ๑๙๑๐) แล้ว ข้าพเจ้าได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากกรมรถไฟหลวงมารับราชการในกรมมหรศพในวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ (ค.ศ. ๑๙๑๗) และได้พบกับวงดนตรีฝรั่งหลวงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ในชั้นแรกเริ่มนี้ ข้าพเจ้ามีหน้าที่แต่ในการอบรมสั่งสอนแต่ด้านเดียว ไม่เกี่ยวกับการปกครอง เพราะมีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ควบคุมอยู่แล้ว (เจ้าหน้าที่ผู้นี้เป็นผู้ที่ได้มาทาบทามข้าพเจ้าในการย้ายมาจากกรมรถไฟหลวง)

เมื่อได้มาพบกับวงดนตรีแล้ว ข้าพเจ้าเริ่มทำการทดลองคุณวุฒิของนักดนตรีที่ประจำอยู่ในวง ก็ทราบได้ทันทีว่า นักดนตรีเหล่านี้มีความสามารถน้อยเต็มที และส่วนมากเป็นผู้มีอายุสูง ถ้าขืนฝืนให้ปฏิบัติเช่นนั้นต่อไป ก็จะไม่ได้ผลเลย เพราะนิ้วก้านและข้อมือแข็งทื่อไม่คล่องแคล่ว โสตประสาทในการฟังระดับเสียงดนตรีฝรั่งเป็นต้นในจำพวกเครื่องสี (Strings) ก็ผิดเพี้ยนไปทางระดับเสียงของดนตรีไทยหมด เพราะเคยชินในทางหนึ่งเสียแล้ว ยากที่จะแก้ไขให้เข้ามาอีกทางหนึ่งได้ มิหนำซ้ำ นักดนตรีเหล่านั้นยังต้องฝักใฝ่ในหน้าที่ทางวงปี่พาทย์อีกด้วย เป็นการหมดหวังที่จะโน้มการใช้โสตประสาทมาทางดนตรีฝรั่งได้ ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ปรึกษาหารือกับผู้ปกครอง และได้ตกลงกันทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บัญชาการกรมมหรศพขออนุญาตผลิตนักเรียนจำนวนหนึ่งขึ้นมาใหม่ โดยรับแต่ผู้ที่ยังมีอายุในระหว่าง ๑๒ ปีถึง ๑๔ ปีให้เข้ามารับการฝึกฝนแต่ในด้านดนตรีฝรั่งอย่างเดียว ซึ่งภายในระยะเวลาเพียง ๒ หรือ ๓ ปีเท่านั้น ก็สามารถระบายนักดนตรีของวงปีพาทย์ให้ไปปฏิบัติทางดนตรีไทยตามเดิมได้ และบรรจุนักดนตรีรุ่นใหม่เข้าประจำวงดุริยางค์สากลแทนต่อไป ซึ่งในกาลต่อมาอีก ๕ หรือ ๖ ปี ก็สามารถออกทำการบรรเลงเพลงขนาดเบา Light Music ในการแสดง Popular Concert ได้ ทั้งยังได้มีโอกาสเข้าสมทบกับวงดุริยางค์ของกรมทหารม้ารวมออกทำการบรรเลงประกอบการแสดง Opera “Cavelleria Rusticana” ของ Mascagni ดังกล่าวแล้วได้ด้วย

“กาแฟนรสิงห์” (Cafe Norasingh) เป็นสถานที่ที่ตั้งอยู่มุมถนนศรีอยุธยา ซึ่งบัดนี้ถูกรื้อถอนลงหมดสิ้นแล้ว สถานที่นี้พระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้อาศัยเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และได้ทรงมอบกิจการของสถานที่นี้ให้เป็นหน้าที่ของกรมมหรศพ นอกจากสถานที่ Cafe Norasingh ซึ่งเป็นสถานที่ขายเครื่องว่างและเครื่องดื่มแล้ว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกระโจมแตรถาวรขนาดใหญ่ขึ้นในที่ใกล้เคียงกันอีกด้วย เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ตั้งทำการบรรเลงดนตรีให้ประชาชนฟัง มีทั้งวงดุริยางค์สากลและวงปี่พาทย์สลับรายการกันทุก ๆ วันอาทิตย์ตอนเย็น เริ่มแต่เวลา ๑๗.๐๐ น. ถึง ๑๙.๐๐ น. ตามบริเวณหน้ากระโจมมีโต๊ะและเก้าอี้จัดไว้รับรองสำหรับประชาชนประมาณ ๓๐๐ ถึง ๔๐๐ คน การเข้านั่งฟังการบรรเลงนี้ไม่ต้องเสียเงินค่าผ่านประตู เป็นแต่มีกฎเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ที่เข้ามานั้นต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยเท่านั้น การบรรเลงเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนมิถุนายน เพราะหลังจากนั้นเข้าเขตฤดูฝน การบรรเลงกลางแจ้งเช่นนี้ไม่สะดวกด้วยเหตุหลายประการ วงดุริยางค์และวงปี่พาทย์ได้ทำการบรรเลงเป็นงานประจำจนสิ้นรัชชสมัยของพระองค์ ข้าพเจ้ายังระลึกได้ว่า ทุก ๆ คราวที่มีการบรรเลง ลานพระบรมรูปทรงม้ามุมถนนศรีอยุธยานั้นคับคั่งไปด้วยรถยนตร์ประดุจมีงานมโหฬาร ซึ่งส่วนมากเป็นชาวต่างประเทศที่พากันมาฟังเฉพาะในวันที่มีการบรรเลงดนตรีสากล ประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างล้นเหลือ ถึงกับได้โฆษณากล่าวขวัญสดุดีพระองค์ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันอยู่เนือง ๆ

พ.ศ. ๒๔๖๗

นอกจากงานภายในส่วนพระองค์แล้ว งานสำคัญ ๆ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้วงดุริยางค์ไปบรรเลงสำหรับประชาชนก็มีงานเฉลิมพระชนม์พรรษา งานสภากาชาด และงานฤดูหนาว เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นงานประจำปีทั้งสิ้น งานนี้ได้จัดให้มีขึ้นที่สวนจิตต์ลดาบ้าง ที่สวนสราญรมย์บ้าง เป็นงาน ๗ วัน ๗ คืน วงดุริยางค์ต้องไปปฏิบัติงานตั้งแต่ค่ำจนใกล้รุ่ง นอกจากนี้ ก็ยังมีงานตามสถานทูต เป็นงานวันชาติของชาติต่าง ๆ ที่ตั้งสถานทูตอยู่ในกรุงเทพฯ นี้ เช่น สถานทูตอังกฤษ, อเมริกา, อิตาลี กับในงานต้อนรับจอมพล Joffre ก็ได้มีที่สถานทูตฝรั่งเศส องค์การต่างประเทศที่สำคัญ ๆ ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เสมอ เช่น The British Legion, Alliance Francaise, St. Andrew’s Ball กับในงานกีฬาต่าง ๆ เช่น การแข่งขันชิงถ้วย Football การแข่งม้าที่ราชกรีฑาสโมสร และที่ราชตฤณมัย เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้แพร่ออกทั่ว ๆ ไปเสมอ

พ.ศ. ๒๔๖๑

กองแตรวง กรมเสือป่าพรานหลวงและม้าหลวง ได้จัดตั้งขึ้นเป็นกองแตรวง ๒ หน่วยต่างกัน เพื่อประกอบกิจการของเสือป่า ซึ่งเป็นราชการอีกส่วนหนึ่งในพระราชสำนัก

พ.ศ. ๒๔๖๓

แตรวงทั้ง ๒ หน่วยนี้ได้จัดตั้งขึ้นตามแบบที่เรียกว่า Brass Band คือ ประกอบด้วยเครื่องทองเหลืองล้วน ๆ ใช้ในการบรรเลงสำหรับประชาชนและในการนำแถวเสือป่า ส่วนนักดนตรีนั้น ใช้ผู้ที่ประจำวงดนตรีฝรั่งหลวง ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว แตรวงทั้ง ๒ หน่วยนี้ก็ได้ถูกยุบเลิกไปพร้อมทั้งกรมเสือป่าด้วย จึงนับได้ว่า ในรัชชสมัยของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้านี้ ศิลปกรรมการดนตรีทั้งไทยและสากลได้ก้าวหน้าขึ้นสู่ความเจริญเป็นอันมาก เพราะนอกจากวงดุริยางค์สากลส่วนพระองค์แล้ว แตรวงของกองทัพบกก็ดี ของกองทัพเรือก็ดี และของกรมทหารรักษาวังก็ดี ก็ได้เจริญรอยตามขึ้นไปด้วย ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ประเทศไทยในสมัยรัชชกาลที่ ๖ เป็นสมัยที่ศิลปกรรมทุก ๆ สาขารุ่งเรืองอย่างน่าพากภูมิใจยิ่ง

พ.ศ. ๒๔๖๘

ต้นรัชชสมัยของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บังเกิดความเศร้าสลดใจแก่บรรดาพศกนิกรไทยทั้งมวล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก่บรรดาข้าราชการในพระราชสำนักของพระองค์ ด้วยข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖

สืบเนื่องจากการสวรรคตนั้นแล้ว ประเทศไทยก็ตกอยู่ในรัชชสมัยของพระปกเกล้าฯ ในระหว่างเวลานั้น วงดนตรีสากลซึ่งเดิมเรียกว่า วงดนตรีฝรั่งหลวงต้องชงักงานการบรรเลงไปชั่วคราว แต่ต่อมาภายหลัง ก็ดำเนินงานการบรรเลงเป็นปรกติอีก โดยสมเด็จพระปกเกล้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นองค์อุปถัมภ์

กิจการของวงดนตรีในตอนต้น ๆ ของรัชชสมัยนี้ ได้บังเกิดการระส่ำระสายขึ้น สืบเนื่องมาจากสาเหตที่มีการเปลี่ยนแปลงในวงราชการของพระราชสำนัก การเปลี่ยนแปลงได้มากระทบกระเทือนไปถึงหน่วยราชการทั่ว ๆ ไป รวมทั้งวงดนตรีนี้ด้วย อนาคตของวงดนตรีฝรั่งหลวงนี้ได้มีข่าวต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นข่าวอกุศลทั้งสิ้น โดยกล่าวกันว่า จะต้องถูกยุบเลิกล้มไป และข่าวต่อมาว่า จะอยู่ได้แต่จะต้องถูกลดจำนวนนักดนตรีลงเป็นวงดนตรีย่อย ๆ ข่าวอกุศลต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าวิตกและกังวลใจเป็นอันมาก ทั้งรู้สึกเศร้าสลดใจเมื่อรำลึกถึงคำกล่าวขวัญของบิดาข้าพเจ้าที่ได้กล่าวไว้ในระหว่างที่ท่านป่วยหนักนั้น ใกล้จะเป็น

ความจริงขึ้นมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงคอยสดับตรับฟังเหตุการณ์คลี่คลายอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใยยิ่ง

ครั้นต่อมา การเปลี่ยนแปลงในวงราชการของพระราชสำนักได้ปรากฏขึ้นมาจริงดังคาดหมายไว้ ยังผลให้กระทบกระเทือนมาสู่กรมมหรศพเป็นขั้นแรก กรมมหรศพนี้ต้องถูกยุบเลิกล้มไปพร้อมกับกรมเสือป่าพรานหลวงและม้าหลวง กรมที่เหลืออยู่ถูกลดฐานะลงเป็นกองเป็นหน่วยย่อย ๆ ไปหมด ศิลปินในกรมโขนและปี่พาทย์ถูกปลดออกไปเป็นส่วนมาก มีจำวนเหลือเพียงปฏิบัติราชการได้บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น สำหรับวงดนตรีฝรั่งหลวง ถูกย้ายจากสโมสรเสือป่าไปอยู่ในบ้านหลังหนึ่งในกรมอัศวราช (ราชตฤณมัยเดี๋ยวนี้) เพื่อรอคอยชตากรรมของวง

ต่อมาวันหนึ่ง ข้าพเจ้าถูกเชิญตัวไปพบกับท่านผู้บัญชาการพระราชสำนักเพื่อปรึกษากิจการของวงดนตรีฝรั่งหลวงวงนี้ ความประสงค์ของท่านผู้บัญชาการนั้นไม่แต่จะลดจำนวนนักดนตรีให้น้อยลงกว่าเดิมอย่างเดียวเท่านั้น ซ้ำยังต้องการให้นักดนตรีเหล่านี้สามารถปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ไปได้ด้วย คือ ต้องเป็นนักดนตรี, บรรเลงในวงดนตรีฝรั่งและวงปี่พาทย์, ต้อนเต้นโขน, ต้องรับการฝึกหัดเดินโต๊ะเพื่อทำหน้าที่นี้ต่อเมื่อมีราชการในการเลี้ยงใหญ่ ท่านผู้บัญชาการนี้ต้องการให้ศิลปินคนหนึ่ง ๆ ปฏิบัติงานได้หลาย ๆ อย่างเช่นนี้ โดยมิได้คำนึงถึงผลของงานที่จะต้องเสียไป เพราะประสงค์แต่ให้ทุ่นงบประมาณเท่านั้น ข้าพเจ้าถูกรับหน้าที่พิจารณาโครงการณ์เปลี่ยนแปลงนี้ และให้เสนอความเห็นขึ้นไปในเร็ววัน

วงดนตรีฝรั่งหลวงเคยดำเนินราชการไปด้วยดีตลอดมา แต่บัดนี้ กำลังจะประสพกับความวิบัติขึ้น คุณความดีของศิลปินที่เขาได้ปฏิบัติราชการมาด้วยความสุจริตและพากเพียร กำลังจะได้รับผลร้ายตอบแทน ข้าพเจ้านำข่าวเปลี่ยนแปลงมาปรึกษาหารือในหมู่ศิลปินของข้าพเจ้าด้วยกันทุกคน ต่างลงความเห็นว่า การดำเนินงานในแบบใหม่นี้คือความหายนะของพวกเขา ไม่มีใครจะสามารถปฏิบัติงานหลายอย่างให้ได้ผลดีในเวลาเดียวกันได้ ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นหัวหน้าวงได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว เห็นว่า ไม่มีทางใดเหลืออยู่ นอกจากจะได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาโดยผ่านทางราชองครักษ์ ซึ่งเมื่อได้ทรงรับทราบแล้วก็ตกพระทัยและกล่าวว่า “นี่อะไรกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีจุดจำนงค์จะบำรุงดนตรีวงนี้ให้เจริญยิ่งขึ้น และเรื่องเปลี่ยนแปลงวงดนตรีเช่นนี้ก็ไม่เคยทราบถึงพระกรรณเลย” ในที่สุด คำกราบบังคมทูลของข้าพเจ้าก็ถูกนำขึ้นถวาย ผลคั่นสุดท้าย คือ ข้าพเจ้าได้รับพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติไปเช่นเดิมทุกประการเพื่อความก้าวหน้าของศิลปด้านนี้ เมื่อเหตุร้ายกลายเป็นดี จึงไม่ต้องสงสัยว่า ข้าพเจ้าจะมิได้รับความเคียดแค้นจากท่านผู้บังคับบัญชาของข้าพเจ้า เพราะท่านเคยกล่าวแก่ข้าพเจ้าด้วยความคิดแคบ ๆ ว่า “นี่มันเมืองไทย จะเอาดนตรีฝรั่งมาไว้ทำไมกัน” จึงขอให้ท่านผู้อ่านได้ใคร่ครวญดูเถิดว่า การดิ้นรนของข้าพเจ้าเพื่อนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าให้แก่ดนตรีวงนี้ ในเมื่อต้องมาถูกต่อต้านกับอุดมคติของผู้บังคับบัญชาที่มุ่งแต่จะทำลายอยู่เช่นนี้ ถ้าหากขาดองค์อุปถัมภ์เสียแล้ว วงดนตรีของกรมศิลปากรในปัจจุบันนี้จะต้องได้ถูกยุบเลิกไปเสียนานแล้ว

วงดนตรีฝรั่งหลวงจึงได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากรัชกาลที่ ๗ ให้ดำรงค์ไปอย่างเดิม แต่นักดนตรียังต้องถูกกระทบกระเทือนทางด้านการครองชีพอยู่โดยไม่มีที่พักอาศัย เพราะสโมสรเสือป่าถูกรื้อพร้อมกับห้องพักอาศัยของนักดนตรี, อาหาร, เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเคยได้รับพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ ๖ ถูกตัดลงจนหมดสิ้น เงินเดือนที่เคยได้รับพระราชทานเพียงเล็กน้อยก็ถูกจำกัดให้มีระดับคงที่ นักดนตรีได้รับความลำบากในเรื่องเงินที่ต้องใช้จ่ายเป็นค่าเช่าที่พัก, ค่าอาหาร, ค่าเครื่องนุ่งห่ม จนได้รับความยากแค้นลำเค็ญ เพราะหมดหนทางที่จะปลีกตัวไปสู่แหล่งอื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ดี น้ำใจที่รักวิชาศิลปก็ยังฝังแน่นอยู่เช่นเดิม ข้าพเจ้าได้ควบคุมให้เขาปฏิบัติงานและฝึกฝนฝีมือต่อไปอย่างขมักเขม้น และ ๓ ปีให้หลัง วงดนตรีนี้ก็สามารถบรรเลงเพลงขนาดสูง ๆ เช่น Symphonic Suite, Symphonic Poem ได้ดี สมรรถภาพของนักดนตรีในวงทำให้สบพระราชหฤทัยเป็นอันมาก บรรดานักดนตรีได้รับเงินเดือนเพิ่มบ้างเพื่อสนองความดีของเขาตามสมควร ส่วนข้าพเจ้าก็ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาจากพระองค์เป็นบำเหน็จความชอบ จากนั้นแล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดการแสดง Symphony Concert สำหรับประชาชนขึ้น ณ โรงโขนหลวง สวนมิสกวัน และต่อมาที่ศาลาสหทัย เงินที่เก็บได้จากการแสดงนั้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่องค์การสาธารณะกุศลโดยไม่หักค่าใช้จ่ายเลย คือ องค์การสภากาชาดไทย, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลจีน, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาล Mc. Cormick เชียงใหม่ เป็นต้น ผลของการปฏิบัติการบรรเลงดนตรีปรากฏคำชมเชยจากชาวต่างประเทศมากมายในหน้าหนังสือพิมพ์ Times, Siam Observer และ Bangkok Daily Mail ดังจะได้คัดมาเสนอเป็นบางราย ดังต่อไปนี้.-

Bangkok Times
7 December 1929
 

Bangkok is unique in this part of the world in having at its disposal an efficient and well trained orchestra, capable of giving us good music well played. Phra Chen has trained his players up to good standard and the general level of the fare provided is high.

Siam Observer
Monday December 9, 1929
 
Symphony Concert
First of the Season’s series
A Great Success

There was good attendance at the Symphony Concert given by the Royal Orchestra under the baton of Phra Chen at the Theatre Royal last night, the first of this season’s series. The programme was a varied but extremely good one and the orchestra was at its best though in the period that has intervened since the last concert was given there have been various changes in its personnel; even item being warmly applauded.

Siam Observer
Friday March 27, 1931
 
Symphony Concert.
By the Royal Orchestra.

The final concert of the series by the Royal Orchestra under the baton of Phra Chen Duriyanga was given at the Sahadhya Hall of the Grand Palace last evening, to a disappointed meagre audience. This was the more to be deplored since the programme given, was from the musical standpoint, probably the best of the whole series. It opened with Mendlesoohln’s overture to Ruy Blas which was played with great swing and verve and met with general appreciation. It was followed by Beethovens No. 5 symphony, in C minor, each of the four movements of which were rendered extremely well . . . . . . . . . .

Siam Observer
Friday January 23, 1931.
 
Symphony Concerts
First of New Series
Excellent Musical Treat

From the point of view of numbers, the attendance at the first of the series of Symphony Concerts by the Royal Orchestra, at the Sala Sahadaya Samagom Hall, Grand Palace, last night, was disappointing, but it was exceedingly appreciative of the efforts of the musicians. There is no question as to the relative claims of the Sala Sahadaya Samagom Hall and the Theatre Royal for an entertainment of this nature, the former is infinitely the superior, though the brasses in the confined space last night were inclined to be on the loud side, but the surroundings helped greatly to bring out the beauty of the string instruments. So even if the brasses were a little loud, the Hall is superior from the point of view of acoustics . . .

Local Radio

Both the officials (at 11 P.M.) and the Royal Orchestra are to be congratulated upon the way the concern of the latter in the Sahadaya Hall of the Grand Palace was put on the air last night . . . . . . . . . .

สมรรถภาพของวงดนตรีที่ได้สร้างขึ้นไว้นั้นยังผลให้ประเทศชาติของเราได้รับเกียรติยศอย่างสูงเด่นน่าพากภูมิใจยิ่ง ถึงกับถูกยกย่องจากชาวต่างประเทศที่เป็นนักติชมการบรรเลง (Critic) ว่า เป็นวงดนตรีที่ดีที่สุดในภาคตะวันออกไกล

ประมาณ ๒ ปีก่อนหน้าที่จะได้เริ่มทำการแสดง Symphony Concert นี้ วงดนตรีต้องไปทำการบรรเลงที่พระที่นั่งอัมพรเป็นงานประจำสัปดาห์ จุดประสงค์ของพระองค์ท่านก็เพื่อกวดขันสมรรถภาพของนักดนตรีไทยให้มีฝีมือและความเชี่ยวชาญยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อมิให้ละอายแก่ชาวต่างประเทศที่จะได้มาฟังการแสดงในลำดับต่อไป ในรัชสมัยของพระองค์ วงดนตรีเคยถูกส่งไปบรรเลงตามสถานทูตต่าง ๆ อันเป็นงานนอกสถานที่ดังเคยปฏิบัติมาในรัชสมัยของพระมงกุฎเกล้าฯ และทุก ๆ คราว งานเฉลิมพระชนม์พรรษาและงานสำคัญอื่น ๆ ก็ได้มีการแสดง Popular Concert เป็นพิเศษและให้ประชาชนฟังได้ เช่น การแสดง Symphony Concert คราวต้อนรับชาวต่างประเทศที่เข้ามาประชุมการแพทย์ในประเทศไทยเกี่ยวด้วยโรคตะวันออก (Tropical Diseases) การแสดง Symphony Concert นี้มายุติลงภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒)

พ.ศ. ๒๔๗๓

ในรัชกาลพระปกเกล้าฯ เพลงไทยก็มีโอกาสไหวตัวในทางดีขึ้น ด้วยการวางหลักการบันทึกเป็นโน้ตสากลเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานและเพื่อป้องกันการศูนย์หายหรือเลอะเลือน แต่ไหนแต่ไรมา เพลงไทยของเราเคยจารึกจดจำอยู่ในสมองของอาจารย์ดนตรีไทยทั้งหลาย เมื่อต่างคนต่างมรณะกรรมไป เพลงไทยก็ตายตามตัวไปด้วย ที่มีเหลืออยู่ก็ค่อย ๆ ลดจำนวนน้อยลงเป็นลำดับ ทั้งยังขาดตกบกพร่องผิดเพี้ยนกันไป หาความแน่นอนไม่ได้ และโดยเหตุนี้ เพื่อจัดให้เพลงไทยได้รูปเป็นมาตรฐานถาวรมิให้สาปศูนย์ไปเสีย งานบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากลจึงได้ถูกริเริ่มขึ้นในความอำนวยการของสมเด็จกรมพระยาดำรง การจดบันทึกเพลงไทยนี้ได้ดำเนินไปที่วังวรดิศ ถนนหลานหลวง ด้วยความละเอียดถี่ถ้วนอย่างยิ่ง กรรมการฝ่ายดนตรีไทยก็ได้เลือกเฟ้นเอาแต่ผู้ทรงคุณวุฒิจริง ๆ ส่วนฝ่ายทางการจดบันทึกนั้น ตกเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะของหัวหน้าเป็นผู้วางหลักการบันทึก พร้อมด้วยนักดนตรีในวงดนตรีฝรั่งหลวงเป็นผู้ช่วยเหลืออีกหลายคน จากนั้นแล้ว เพลงไทยก็ถูกบันทึกขึ้นเป็นจำนวนมาก นับว่า เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่สำหรับดุริยางค์ศิลปประจำชาติของเรา โดยป้องกันการศูนย์หายไปได้ชั้นหนึ่งแล้ว แต่อีกชั้นหนึ่งที่ยังวิตกอยู่ ก็คือ เพลงไทยทั้งหลายนั้นถูกจดไว้ด้วยตัวดินสอดำและด้วยกระดาษบาง ๆ (โดยจุดประสงค์ที่จะให้เป็นต้นฉบับเพื่อทำการพิมพ์ต่อไปในภายหลัง) อาจจะลบเลือนหรือขาดวิ่นเพราะมดปลวกกันกินก็ได้ บัดนี้ เพลงไทยทั้งหมดถูกเก็บรวบรวมไว้ในกรมศิลปากร ข้าพเจ้าจึงวิตกว่า บทเพลงไทยเหล่านี้ที่ครั้งหนึ่งได้อุตส่าห์ทำขึ้นด้วยความลำบากยากเข็ญอาจจะกลับล้มละลายหายศูนย์ตามลักษณะเดิมอีกก็เป็นได้ ศิลปชิ้นเอกของไทย หากไทยเราไม่ช่วยกันรักษา เมื่อเสื่อมสลายลงไปแล้ว ก็จะโทษใครเล่า จะให้ดนตรีสากลเข้ามาแทรกอยู่ในประเทศของเราเพียงอย่างเดียวและละเลยของดีของเราเสียแล้วนั้นหรือ ต่อไปอนุชนรุ่นหลังของเราจะมีศิลปไทยชิ้นไหนไว้อวดอารยะธรรมของประเทศให้ประจักษ์แก่ตาโลกเล่า.

อันดนครี, มีคุณ, ทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้, ดังจินดา, ค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์, ครุฑา, เทวาราช จัตะบาท, กลางป่า, พนาสิน
แม้ปี่เรา, เป่าไป, ให้ได้ยิน ก็สุดสิ้น, สิ่งโมโห, ที่โกรธา
ให้ใจอ่อน, นอนหลับ, หมดสติ อันลัทธิ, ดนตรี, ดีหนักหนา
ซึ่งสงสัย, ไม่สิ้น, ในวิญญาณ์ จงนิทรา, เถิดจะเป่า, ให้เจ้าฟัง.
คัดจากพระอภัยมณี (สุนทรภู่)

(สำเนา)
ที่ ๒๔/๕๑๖
วันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๓
 
แจ้งความยังท่านเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง

ด้วยราชบัณฑิตยสภาปรารภว่า เพลงปี่พาทย์มโหรีของไทยฝึกหัดและรักษากันมาแต่ด้วยความทรงจำ เป็นเหตุให้เพลงปี่พาทย์มโหรีของเก่าสูญไปมีเหลืออยู่แต่ชื่อเป็นอันมาก น่าเสียดายอยู่ เห็นว่า ความบกพร่องอันนี้อาจจะแก้ไขในปัจจุบันนี้ด้วยวิธีจดเพลงลงโน้ตรักษาไว้ และราชบัณฑิตสภาเต็มใจที่จะรับอำนวยการ ถ้าหากเจ้าคุณเห็นชอบด้วย และรับจะอุดหนุนด้วยผู้เชี่ยวชาญการดุริยางค์ดนตรีทั้งอย่างไทยและอย่างฝรั่งขึ้นอยู่ในกระทรวงวังทั้งนั้น ขอให้พระเจนดุริยางค์จัดคนชำนาญการจดโน้ตมาให้ และขอให้อนุญาตให้เรียกครูดุริยางค์ดนตรีในกรมมหรศพมาบอกเพลงให้จด จดแล้วเก็บรักษาไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร เห็นว่า ถ้าทำอย่างนี้ จะได้เพลงปี่พาทย์ของไทยไว้สืบไปไม่มีสูญโดยไม่ต้องเพิ่มเงินจ่ายอย่างหนึ่งอย่างใดนอกจากค่ากระดาษเครื่องเขียน เพราะผู้ชำนาญเหล่านี้รับเงินเดือนในกระทรวงวังอยู่แล้วทั้ง ๒ พวก หวังใจว่า เจ้าคุณจะเห็นชอบด้วยและอนุญาตตามที่เสนอมา.

  • (ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
  • นายกราชบัณฑิตยสภา
(สำเนา)
ที่ ๗๕/๓๓๖๐
กรมบัญชาการ
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๓
 
ขอประทานกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ที่ ๒๔/๕๑๖ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศกนี้ ทรงพระปรารภเรื่องทำโน้ตเพลงไทยและฝรั่งรักษาไว้ที่หอพระสมุดสำหรับพระนครเพื่อให้ถาวรไม่มีเวลาสูญนั้น

ข้าพระพุทธเจ้าได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเรียนพระราชปฏิบัติ ทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการไปได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งให้เสวกเอก พระยานัฏกานุรักษ์ ผู้กำกับการกรมปี่พาทย์และโขนหลวง กับเสวกโท พระเจนดุริยางค์ ปลัดกรมกองเครื่องสายฝรั่งหลวง มาเฝ้าฟังพระดำริห์และจัดการถวายตามพระประสงค์

  • ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ
  • (ลงนาม) ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาวรพงศ์
สำเนา กระทรวงวัง รับที่ ๑๑๒๒ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔
ที่ ๓๐/๘๕
กรมเครื่องสายฝรั่งหลวง
วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔
 
เรียนมหาเสวกตรี พระยาบำเรอภักดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงวัง

ตามหนังสือที่ ๒๑/๓๓๙๕ ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๔ ให้ข้าพเจ้าไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อฟังพระดำริในเรื่องจดเพลงไทยทำโน้ตขึ้นนั้น ข้าพเจ้าได้ไปเฝ้าตามบัญชาท่านเสนาบดีแล้ว

บัดนี้ การจดเพลงไทยได้ทำเสร็จแล้วชุดหนึ่ง เรียกว่า เพลงโหมโรงเย็น หรือโหมโรงละคร ฉบับรวมเครื่องปี่พาทย์ (Score) ดังได้ส่งมาพร้อมกับหนังสือฉบับนี้แล้ว ขอท่านได้โปรดนำสมุดรวมเครื่องปี่พาทย์ (Score) ฉบับนี้ส่งไปยังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตสภา ต่อไป

อนึ่ง เพลงในสมุดเล่มนี้ได้จดไว้ตามทางและวิธีบอกโดยข้าราชการในกรมปี่พาทย์หลวง ซึ่งหลวงประดิษฐไพเราะเป็นหัวหน้า ส่วนข้าราชการในกองเครื่องสายฝรั่งหลวงที่มีหน้าที่จดนั้น ข้าพเจ้าได้ทำบัญชีรายนามแนบมาพร้อมกับหนังสือฉบับนี้ด้วยแล้ว

แล้วแต่จะโปรด

  • เสวกโท พระเจนดุริยางค์
  • ปลัดกรมกองเครื่องสายฝรั่งหลวง

หน้าที่ราชการและนาม หน้าที่จดเพลง
ปลัดกรมกองเครื่องสายฝรั่งหลวง
เสวกโท พระเจนดุริยางค์
(บี. ไฟท์ วาทยะกร)
ควบคุมการจดทั่วไปทุก ๆ ทาง
ครูผู้ช่วย รองเสวกตรี
ขุนสนั่นบรรเลงกิจ
(ญวน โตษะกาญจนะ)
ทางระนาดเอก
นักดนตรีพิเศษ รองเสวกตรี
ขุนสำเนียงชั้นเชิง
(มล โกมลรัตนะ)
ทางตะโพน, กลองทัด
และเครื่องตีทั่วไป
นักดนตรีพิเศษ ว่าที่รองเสวกตรี
ฉอ้อน เนตะสูตร
ทางทุ้มไม้และทุ้มเหล็ก
นักดนตรีชั้น ๑ พันเด็กชาเอก
ทรัพย์ วิเศษประภา
ทางฆ้องใหญ่และฆ้องเล็ก
กับทางปี
นักดนตรีชั้น ๑ พันเด็กชาเอก
เชื้อ อัมพลิน
ทางฆ้องใหญ่และฆ้องเล็ก
กับทางปี่
นักดนตรีชั้น ๒ พันเด็กชาโท
วิเชียร แม๊กอินไตร์
คัดลอกโน้ตเพลงจากต้นฉบับ
แต่หน้า ๑ ถึง ๒๔๑
นักดนตรีชั้น ๑ พันเด็กชาเอก
โพธิ์ ทศนุติ์
เขียนอักษรกำกับและคัดลอกโน้ต
เพลงแต่หน้า ๒๔๒–๒๔๗
(สำเนา)
ที่ ๑๐/๙๕๕
กรมบัญชาการ
วันที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔
 
ขอประทานกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

เนื่องจากหนังสือข้าพระพุทธเจ้าที่ ๗๕/๓๓๖๐ ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ศกก่อน เรื่อง ทำโน้ตเพลงไทยและฝรั่งรักษาไว้ที่หอพระสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งให้เสวกเอก พระยานัฏกานุรักษ์ กับเสวกโท พระเจนดุริยางค์ มาเฝ้าเพื่อจัดทำถวาย

บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับรายงานจากพระเจนดุริยางค์ว่า ได้จดเพลงไทยสำเร็จแล้ว ๑ ชุด เรียกว่า เพลงโหมโรงเย็น หรือโหมโรงละคร ฉบับรวมเครื่องปี่พาทย์ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายสมุดจดเพลงนี้มาพร้อมด้วยสำเนารายงานของพระเจนดุริยางค์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

(ลงนาม) ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาวรพงศ์
(สำเนา)
ที่ ๖/๒๔๙
ราชบัณฑิตยสภา
วันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔
 
แจ้งความมายังท่านเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์

ฉันได้รับจดหมายของเจ้าคุณกับสมุดโน้ตรวมเพลงปี่พาทย์ซึ่งพระเจนดุริยางค์ทำขึ้นเสนอต่อเจ้าคุณมาให้ราชบัณฑิตยสภาเป็นตอนแรก ฉันรู้สึกยินดียิ่งนักซึ่งได้แลเห็นผลของการสำคัญซึ่งเจ้าคุณได้มอบหมายให้ราชบัณฑิตยสภาช่วยจัดการ เป็นอันสำเร็จผลได้แน่นอน ไม่มีที่สงสัย ต่อไปนี้ มีปัญหาว่า จะกินเวลาที่จะต้องทำการต่อไปอีกสักกี่ปีกี่เดือน จึงจะได้เพลงไทยลงโน้ตไว้ทั้งหมดมิให้มีเวลาสูญได้

ในการจดโน้ตเพลงไทยที่ทำมา ได้เริ่มลงมือทำตั้งแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยกำหนดนัดให้พวกครูในกรมปี่พาทย์หลวงกับพวกครูในกองเครื่องสายฝรั่งหลวงมาประชุมกันที่วังวรดิศทุกวันพฤหัสบดีและวันเสาร์ ฉันได้มอบหน้าที่ให้หม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ธิดาของฉัน เป็นผู้ต้อนรับเลี้ยงดู พระเจนดุริยางค์เป็นผู้อำนวยการจดโน้ต และครูปี่พาทย์หลวงช่วยกันบอกเพลงให้ตั้งต้นด้วยเพลงในตำราเล่นโขนของโบราณเป็นลำดับมา ฉันขอเสนอต่อเจ้าคุณว่า บรรดาผู้ที่มีหน้าที่มาทำการจดโน้ตเพลงตั้งแต่ทำมาด้วยความเอื้อเฟื้อและความสามัคคีโดยตั้งใจจะให้การสำเร็จเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อแรกลงมือทำอยู่ ค่อนข้างลำบากเล็กน้อย แต่เมื่อคุ้นแก่วิธีการที่ทำ ก็ทำเร็วและสะดวกยิ่งขึ้นทุกที จึงเชื่อได้ว่า คงเป็นการสำเร็จตามประสงค์

อนึ่ง ในพวกครูปี่พาทย์หลวง ฉันได้คุ้นเคยทราบคุณวุฒิของเขามาแล้วโดยมาก แต่พระเจนดุริยางค์นั้น ฉันเพิ่งมาคุ้นเคยความสามารถของเขาในคราวนี้ เห็นประจักษ์ว่า มีความสามารถในวิชาดนตรีฝรั่งยิ่งกว่าใคร ๆ ที่ฉันรู้จักมาในชาวสยามนี้ และเป็นผู้มีน้ำใจรักวิชาจริง ๆ จึงมีความยินดีที่ได้ทำการร่วมกัน

สมุดที่เจ้าคุณส่งมาให้ จะได้ส่งไปรักษาไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร โดยมีตู้เฉพาะสำหรับโน้ตเพลงดนตรีที่จะได้มาต่อไป ในที่สุด ขอขอบพระคุณเจ้าคุณอีกครั้งหนึ่งที่ได้บัญชาการให้ได้ตั้งต้นในเรื่องนี้ อันจะเป็นคุณและประโยชน์แก่บ้านเมืองต่อไปในภายหลังอย่างหนึ่ง.

  • (ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
  • นายกราชบัณฑิตยสภา
(สำเนา)
  • วังวรดิศ
  • วันที่ ๑๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔
แจ้งความมายังท่านเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง

ด้วยการทำโน้ตเพลงไทยได้ดำเนินมาเป็นลำดับ เดี๋ยวนี้ถึงขั้นที่จะทำเพลงไหว้ครูโขนและละคร พวกครูปี่พาทย์แจ้งแก่ฉันว่า เพลงเหล่านี้บอกได้แต่พระยานัฏกานุรักษ์ อีกประการหนึ่ง ที่จะบอกเพลงไหว้ครูนั้น ต้องมีพิธีกรรมตั้งหัวโขนครูทำสักการะบูชาด้วยตามประเพณี ฉันจึงจดหมายฉบับนี้มายังเจ้าคุณ เพื่อจะได้โปรดสั่งพระยานัฏกานุรักษ์ให้มาบอกเพลงไหว้ครู กับทั้งให้จัดเครื่องสำหรับพิธีมาด้วย ส่วนเครื่องกระยาบวงสรวงนั้น ฉันรับจะช่วยจัดทำที่บ้าน ไม่ให้ต้องลำบาก ถ้าเจ้าคุณโปรดแล้ว ขอให้สั่งพระยานัฏกาฯ มาพบกับหม่อมเจ้าพัฒนายุนัดหมายให้เป็นที่เข้าใจกัน

เนื่องในเรื่องจดโน้ตเพลงไทยนี้ เมื่อดอกเตอร์แอสมิส ราชทูตเยอรมัน ทราบความ ได้แสดงความยินดีแก่ฉันมาก และชี้แจงขอให้ทำต่อไปอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำแผ่นเสียงกราโมโฟลเพลงไทยเพราะ ๆ จะได้รับรู้แพร่หลายไปในนานาประเทศ ฉันคิดดูเห็นชอบกับเขาด้วย เพราะสังเกตแผ่นเสียงเพลงไทยที่ทำขายกันยังไม่มีดีถึงสมควร บางทีเครื่องดนตรีดี คนร้องร้องไม่ดี บางทีคนร้องร้องดี แต่พวกชาวดนตรีทำไม่เพราะ กระบวนที่เลือกเพลงการต่าง ๆ ก็ยังไม่ดี ถ้าลองทำให้ดีจริง ๆ เห็นพอจะทำได้ โดยไม่ต้องออกเงินลงทุนรอนอย่างไร ราชทูตเยอรมันไปหาผู้รับทำมาให้คนหนึ่ง ซึ่งเป็นเอเยนต์ของบริษัทแผ่นเสียงปาเลอโฟล ได้มาพูดกับฉัน เขารับจะตกลงดังกล่าวต่อไปนี้

๑.เขาจะเรียกหาช่างและเครื่องมือเข้ามาทำด้วยทุนของเขาเอง และยอมให้ค่าจ้างคนร้องกับชาวดนตรีตามอย่างธรรมเนียมที่เคยทำแผ่นเสียงกันมา บรรดาแผ่นเสียงที่ได้ทำขึ้น เขาจะให้เป็นกำนัล ๓ แผ่น (คือ สำหรับกระทรวงวัง แผ่น ๑ ราชบัณฑิตยสภา แผ่น ๑ ตัวฉัน แผ่น ๑)

๒.เขาขอให้ฉันจัดหาที่หาคนร้องและชาวดนตรีกะเพลงต่าง ๆ ให้ทำ และยอมให้ใช้ชื่อว่า “แผ่นเสียงราชบัณฑิตยสภา” ดังนี้

ฉันพิเคราะห์ดู ก็ไม่เสียรัดเสียเปรียบอันใดกัน แต่ว่า การนี้จะต้องได้รับอนุญาตของเจ้าคุณก่อน จึงจะตกลงกับเขาได้ เพราะจะต้องขอแรงคนในกรมปี่พาทย์หลวงตลอดจนพวกพระเจนดุริยางค์ให้ช่วยในการนี้ ฉันจึงมีจดหมายฉบับนี้มาหารือเจ้าคุณจะเห็นชอบด้วยหรือประการใด.

(ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
(สำเนา)
ที่ ๑๔/๑๐๗๔
กรมบัญชาการ
วันที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔
 
ขอประทานกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๔ เดือนนี้ มีพระประสงค์ให้สั่งพระยานัฏกานุรักษ์มาเฝ้าหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุนัดหมายให้เป็นที่เข้าใจกันในเรื่องที่จะบอกเพลงไหว้ครูโขนละครเพื่อทำโน้ตเพลงไทย กับรับสั่งไปด้วยเรื่องเอเยนต์แผ่นเสียงของบริษัทแผ่นเสียงปาเลอโฟนรับตกลงจะทำแผ่นเสียงกราโมโฟนเพลงไทยที่เพราะ ๆ นั้น ได้ทราบเกล้าฯ แล้ว

ข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งพระยานัฏกานุรักษ์ให้อนุวรรตน์ตามพระกระแสรับสั่งในเรื่องที่จะทำโน้ตเพลงไหว้ครูโขนละครแล้ว ส่วนการที่จะทำแผ่นเสียงกราโมโฟนเพลงไทย ทางกระทรวงวังก็ได้เคยดำริเหมือนกันว่า จะทำอย่างที่เขาทำแผ่นเสียงเศรณีการที่ส่งไปทำการกระจายเสียงอยู่เดี๋ยวนี้ก็เพื่อจะให้ชำนาญขึ้น เมื่อมีเอเย่นต์ของบริษัทปาเลอโฟนรับจะตกลงทำให้ได้ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าก็ยินดีมาก เชื่อด้วยเกล้าฯ ว่า เขาจะทำได้ดี แต่แผ่นเสียงที่จะให้เป็นกำนัลนั้น ตามที่เคยมาคราวก่อน ต้องจัดทูลเกล้าฯ ถวาย ๒ ชุด จึงควรขอเพิ่มสำหรับทูลเกล้าฯ ถวายอีก ๒ ชุด

  • ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ
  • (ลงนาม) ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาวรพงศ์
(สำเนา)
วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕
ถึงหลวงประดิษฐไพเราะทราบ

การจดโน้ตเพลงที่วังวรดิศได้หยุดโดยเสด็จพ่อไม่ทรงสบายนั้น บัดนี้ เห็นว่า ควรจะทำต่อไปดังเดิมแล้ว ฉะนั้น ฉันเห็นว่า ควรจะเริ่มทำตั้งแต่วันที่ ๑๔ เดือนนี้เป็นต้นไป และใช้วันพฤหัสบดีกับวันเสาร์ตามเดิม จะเป็นการขัดข้องหรือไม่ ขอให้ตอบมาให้ทราบด้วย และถ้าไม่ขัดข้อง ก็ขอได้สั่งผู้ที่มีหน้าที่มาบอกให้ทราบทั่วกันด้วย.

พัฒนายุ ดิศกุล
(สำเนา)
  • บ้านหน้าวังบูรพาภิรมย์
  • วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕
ทูลหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุทรงทราบ

ตามที่ทรงกำหนดวันสำหรับทำการจดโน้ตเพลงต่อไปใหม่นั้น เป็นการดีแล้ว กระหม่อมไม่มีการขัดข้อง ฉะนั้น กระหม่อมจะได้บอกผู้มีหน้าที่ในการนี้ให้พร้อมกันในวันที่ ๑๔ เวลาตามเดิม

  • แล้วแต่จะโปรด
  • เกล้ากระหม่อม หลวงประดิษฐไพเราะ

(ครั้นต่อมาในวันที่ ๒๔ มิถุนายน การบันทึกเพลงไทยนี้ต้องหยุดชงักลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง)


พ.ศ. ๒๔๗๐

ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านผู้บังคับการสถานีทหารเรือผู้หนึ่งได้มาพบกับข้าพเจ้า ณ ที่ทำการของข้าพเจ้าที่สวนมิสกวัน เพื่อขอร้องให้ข้าพเจ้าไปช่วยเหลือในการปรับปรุงวงดนตรีของกองทัพเรือซึ่งมีวงโยธวาทิต (แตรวง) และวงดุริยางค์ (Orchestra) ข้าพเจ้าก็ยินดีอนุโลมตามคำขอร้องนั้น ด้วยรับรองว่า จะไปปรับปรุงให้อาทิตย์ละ ๒ ครั้งในตอนบ่าย ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติงานเป็นประจำเรื่อย ๆ มา จนถึงสมัยที่ข้าพเจ้าต้องออกไปดูกิจการดนตรียังต่างประเทศ (เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐) ต่อมาภายหลังที่ได้กลับมาแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้ดำเนินการอบรมต่อไปอีก จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๘๓ (สมัยสงครามอินโดจีน) ต่อจากนั้นมา ข้าพเจ้าได้ถูกสั่งย้ายจากกรมศิลปากรไปยังกองทัพอากาศเพื่อจัดตั้งวงดุริยางค์อีกวงหนึ่ง เพราะทางกองทัพอากาศได้เปิดที่ทำการภาพยนตร์เสียงขึ้นหน่วยหนึ่งที่ทุ่งมหาเมฆ จังหวัดพระนคร เรียกชื่อว่า หน่วยกองภาพยนตร์ทหารอากาศ และโดยเหตุที่ระยะทางจากตำบลนี้ถึงกองดุริยางค์ทหารเรือซึ่งตั้งอยู่ที่ฝั่งธนบุรี ต้องเสียเวลาในการเดินทางมากมาย ต่อมา ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องยุติการไปอบรมที่กองดุริยางค์ทหารเรือเสีย

พ.ศ. ๒๔๗๔

ในระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้ากำลังไปให้การอบรมที่วงดนตรีทหารเรือราวปลาย พ.ศ. ๒๔๗๔ ข้าพเจ้าได้พบปะกับเพื่อนนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ผู้หนึ่ง ท่านผู้นี้ข้าพเจ้าคุ้นเคยรักใคร่และรู้จักสนิทสนมกันมาแต่ก่อนแล้ว เพื่อนของข้าพเจ้าผู้นี้เป็นผู้ที่รักวิชาการดนตรีอยู่บ้างและชอบร้องเพลง ท่านได้ถือโอกาสมาพบข้าพเจ้าที่กองดุริยางค์ทหารเรืออยู่เนือง ๆ และเฉพาะมาเวลาเดียววันเดียวกับที่ข้าพเจ้าไปให้การอบรบ ณ ที่นั้นเสมอ แรกเริ่มเดิมที ข้าพเจ้าก็มิได้ทราบความประสงค์อันแท้จริงของท่านในการที่พยายามมาพบข้าพเจ้าบ่อย ๆ อยู่มาวันหนึ่ง ท่านได้กระซิบร้องขอให้ข้าพเจ้าประพันธ์เพลงให้บทหนึ่ง โดยขอให้ทำนองเป็นเพลงที่มีความรู้สึกคล้ายคลึงกับเพลงชาติฝรั่งเศสที่ชื่อ “La Maraeillaise” ข้าพเจ้าตอบไปว่า ไม่จำเป็นจะต้องมีก็ได้ เพราะเพลงชาติที่มีชื่อว่า สรรเสริญพระบารมี ของเรานั้นก็มีอยู่แล้ว แต่ท่านตอบกลับว่า ชาติต่าง ๆ เขาก็มีเพลงประจำชาติอยู่หลาย ๆ บท เช่น เพลงธง, เพลงราชนาวี, เพลงทหารบก และอื่น ๆ อีกมากมาย ใคร่อยากจะให้ไทยเรามีเพลงปลุกใจเพิ่มเติมขึ้นไว้อีกบ้าง เพราะเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นเป็นเพลงของพระมหากษัตริย์ แต่เพลงสำหรับประชาชนนั้นเรายังหามีไม่ ข้าพเจ้าจึงตอบปฏิเสธไปว่า ข้าพเจ้าจะรับทำเช่นนี้ไม่ได้ เพราะมิใช่เป็นคำสั่งของทางราชการ ขอให้ท่านเลิกความคิดนี้เสีย แต่ท่านก็ตอบว่า ขอฝากไว้เป็นแนวความคิดไปพลางก่อน ในวันข้างหน้า จะมาวิสาสะกับข้าพเจ้าในเรื่องนี้อีก

เมื่อท่านผู้นี้ได้จากข้าพเจ้าไปแล้ว ข้าพเจ้าก็ปรึกษาหารือกับนายทหารเรืออีกท่านหนึ่งที่มีหน้าที่อยู่ในกองแตรวง เมื่อท่านผู้นี้ได้ทราบเรื่อง ก็เตือนข้าพเจ้าทันทีว่า ให้ข้าพเจ้าระวังเพื่อนผู้นั้นให้จงหนัก เพราะเขาลือกันว่า ท่านเป็นคอมมิวนิสต์ ข้าพเจ้าตกใจเป็นที่สุด และพลันก็เข้าใจถึงความประสงค์ของท่านที่ต้องการเพลงชาติใหม่ เพราะในเวลานั้น ข้าพเจ้าได้ยินข่าวอกุศลมาบ้างแล้วว่า จะเกิดการปฏิวัติในไม่ช้า ข้าพเจ้าได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ไว้แล้วที่จะหลีกทางให้พ้นจากเรื่องการเมืองไปเสีย โดยปลีกตัวมิยอมเข้าคลุกคลีในเรื่องเพลงนี้อีกต่อไป ซึ่งในกาละต่อมา แม้เพื่อนของข้าพเจ้าจะได้มาติดต่อกับข้าพเจ้าในเรื่องนี้อีกหลายครั้ง ข้าพเจ้าก็ประวิงเวลาอยู่เรื่อย ๆ มา จนถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เพลงชาติที่เพื่อนของข้าพเจ้าต้องการนั้นก็ยังมิได้อุบัติขึ้น

พ.ศ. ๒๔๗๕

ต่อมาอีกประมาณ ๕ วันภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อการปฏิวัติได้สงบลงบ้างแล้ว การที่ปรากฏว่า เพื่อนของข้าพเจ้าผู้นี้เป็นผู้ร่วมก่อการด้วยคนหนึ่ง และท่านได้มาปรากฏตัวต่อข้าพเจ้าอีกที่สวนมิสกวัน ท่านได้แสดงความเสียใจที่มิได้มีเพลงชาติสำหรับขับร้องในวันปฏิวัติตามที่ท่านมุ่งหมายไว้ แล้วก็ขอร้องให้ข้าพเจ้ารีบจัดการประพันธ์ให้โดยด่วน อ้างว่า เป็นความประสงค์ของคณะผู้ก่อการ ในระหว่างเวลาที่สภาพทางการเมืองกำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ ก็ยากที่ข้าพเจ้าจะปฏิเสธอีกต่อไป จึงได้ขอร้องว่า หากข้าพเจ้าทำให้แล้ว ก็ขอได้กรุณาปกปิดนามของข้าพเจ้าให้มิดชิดด้วย และขอเวลา ๗ วัน เพื่อนของข้าพเจ้าก็รับคำแล้วก็ลาจากไปโดยต้องเข้าประชุมในการร่างรัฐธรรมนูญที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

ในระหว่างเวลา ๗ วันนี้ ข้าพเจ้าต้องรู้สึกกระวนกระวายใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยประสพมาในชีวิตเลย ไม่ทราบว่า จะตัดสินใจอย่างไรถูก เพลงก็คิดไม่ออก เพราะสมองหงุดหงิด เมื่อครบกำหนด ๗ วันในตอนเช้า (ซึ่งข้าพเจ้าจำได้แน่นอนว่า เป็นวันจันทร์) ข้าพเจ้าก็เตรียมตัวมาปฏิบัติราชการตามเคยที่สวนมิสกวัน ขึ้นรถรางประจำทางจากถนนสุริยวงศ์มาเปลี่ยนรถที่สี่แยก เอส. เอ. บี. และในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเดินทางอยู่ในรถรางสายนี้ ทำนองเพลงก็บังเอิญปรากฏขึ้นมาในสมองของข้าพเจ้าอย่างครบถ้วน ข้าพเจ้าลงจากรถรางตรงไปยังที่ทำการที่สวนมิสกวัน ก็เริ่มจดบันทึกทำนองเพลงที่จำได้ลงบนแผ่นกระดาษโน้ตเพลงทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้ลืม ข้าพเจ้าตรงไปที่ Piano ทดลองการประสานเสียง ก็พอดีเพื่อนข้าพเจ้าเดินเข้ามาตามกำหนด ต่อเมื่อข้าพเจ้าได้ดีด Piano ให้ฟังแล้ว ท่านก็พอใจเป็นอย่างยิ่ง เลยร้องขอให้ข้าพเจ้าแยกแนวและปรับเพลงนี้เข้าวงดุริยางค์ทหารเรือให้ทันการบรรเลงประจำสัปดาห์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม คือ วันพฤหัสต่อมา เพราะในเวลาที่มีการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ทางการจัดให้มีการบรรเลงดนตรีเป็นประจำทุก ๆ วันพฤหัสตอนบ่ายเพื่อการรื่นเริงของสมาชิกสภา เพลงที่ข้าพเจ้าประพันธ์นี้ก็จะได้ถือโอกาสนำออกบรรเลงเพื่อทดลองความเห็นของสมาชิกทั่ว ๆ ไปด้วย ข้าพเจ้ารับรองว่า จะจัดทำให้เป็นที่เรียบร้อย พร้อมกันนั้น ก็ได้กำชับเพื่อนของข้าพเจ้าอีกเป็นครั้งสุดท้ายว่า ให้สงวนนามของข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ไว้อย่างเด็ดขาด ท่านก็รับปากไว้อย่างแม่นมั่น

ครั้นต่อมาในวันศุกร์รุ่งขึ้นตอนเช้า ข้าพเจ้าจับหนังสือพิมพ์ศรีกรุงซึ่งเคยรับเป็นประจำ ก็ได้ประสพกับข่าวที่ทำให้ต้องอกสั่นขวัญหาย ข่าวนั้นแจ้งว่า เมื่อวานนี้ ได้มีการทดลองฟังการบรรเลงทำนองเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ ยกย่องว่า เป็นบทเพลงที่ไพเราะคึกคักน่าฟัง ทั้งกระทัดรัดกินเวลา บรรเลงเพียง ๔๕ วินาที เหมาะสมที่จะยึดถือเอาเป็นเพลงชาติได้ ตอนท้ายได้นำเอานามของข้าพเจ้าลงตีพิมพ์ไว้ว่า เป็นผู้ที่ได้ประพันธ์เพลงบทนี้ จึงไม่ต้องสงสัยว่า ข้าพเจ้าจะไม่ตระหนกตกใจมากยิ่งเพียงไร ทั้งรู้สึกเดือดดาลต่อสหายที่รักของข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้กำชับไว้แล้วว่า ให้ปกปิดนามของข้าพเจ้าไว้ แต่นี่กลับมาเปิดโปงเสียเช่นนี้ ก็ดูกระไรอยู่ ข้าพเจ้ารู้สึกหวาดในภัยที่จะคืบคลานมาสู่ตัวและครอบครัวของข้าพเจ้าเป็นที่สุด และแน่นอนทีเดียว ในวันศุกร์ตอนเช้านั้นเอง ข้าพเจ้ามาปฏิบัติราชการตามเคยที่โรงโขนหลวง สวนมิสกวัน ก็พอดีเวลา ๐๙.๐๐ น. เศษ ได้รับโทรศัพท์จากกระทรวงวังว่า ให้ข้าพเจ้าไปพบกับท่านเสนาบดีเวลา ๑๐.๐๐ น. เป็นการด่วน ข้าพเจ้าได้ออกจากที่ทำการทันที มุ่งไปพบกับท่านเสนาบดีตามคำสั่ง เมื่อข้าพเจ้าได้มาประสพหน้าท่านเสนาบดีเข้าแล้ว ท่านก็ตวาดว่า ข้าพเจ้าได้ไปทำอะไรไว้ในเรื่องเพลงชาติ รู้หรือไม่ว่า พระเจ้าแผ่นดินเรายังอยู่ จะทำอะไรไว้ในเรื่องนี้ทำไมไม่ปรึกษาขออนุญาตเสียก่อน แล้วกำชับให้ข้าพเจ้าชี้แจงเรื่องนี้มาให้ละเอียด ทั้งให้ส่งสำเนาเพลงชาตินั้นมาด้วย เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลในบ่ายวันนี้ ข้าพเจ้าตอบไปว่า เพลงนี้ข้าพเจ้าได้ประพันธ์ขึ้นเพื่อให้เพื่อนของข้าพเจ้าเป็นการส่วนตัวเท่านั้น มีแต่ทำนองล้วน ๆ ไม่มีเนื้อร้องที่จะถือว่าเป็นเพลงชาติได้ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่า จะมีความผิดอย่างไร เพราะเพลงแบบนี้ใคร ๆ ที่มีความรู้ในการประพันธ์เพลงก็สามารถทำได้ทั้งนั้น แต่ก็ต้องสนองคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จึงได้กลับมายังที่ทำการด้วยอารมย์กระวนกระวายอย่างยิ่ง เมื่อได้กลับมาถึงที่ทำการแล้ว ข้าพเจ้าก็รีบโทรศัพท์ไปยังเพื่อนของข้าพเจ้าที่พระที่นั่งอนันตสมาคมให้มาพบข้าพเจ้าทันที ในไม่ช้า ท่านผู้นี้ก็ได้มาถึง เมื่อท่านได้รับทราบข้อความต่าง ๆ แล้ว ก็กลับไปยังพระที่นั่งอนันตอีก ภายหลังจึงทราบว่า ท่านผู้นี้ได้ไปพบกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ท่านนายกผู้นี้ก็ได้รีบชี้แจงไปยังเสนาบดีกระทรวงวังเรื่องการประพันธ์เพลงนี้เป็นความดำริห์ของท่านและสมาชิกสภาร้องขอมายังข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้ามิได้ทำขึ้นแต่โดยลำพัง ทั้งเพลงนี้เพียงอยู่ในขั้นทดลองเท่านั้น ยังมิได้อุปโหลกขึ้นเป็นเพลงชาติ และก็มิได้ลบล้างเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งเป็นเพลงของพระเจ้าแผ่นดินโดยเฉพาะ จะอย่างไรก็ตาม พอถึงเดือนตุลาคม ศกนั้นเอง ข้าพเจ้าก็ถูกสั่งปลดออกจากราชการรับเบี้ยบำนาญฐานรับราชการมานานครบ ๓๐ ปี แม้ในเวลานั้น ข้าพเจ้ามีอายุได้ ๔๙ ปีเท่านั้น เงินเดือน ๕๐๐ บาทต่อเดือนของข้าพเจ้า ก็ถูกแบ่งออกครึ่งหนึ่งเป็นบำนาญ อีกครึ่งหนึ่งเป็นเงินเดือน โดยให้รับราชการต่อไปในอัตราเงินเดือนใหม่นี้

เมื่อเพลงนี้ได้แพร่หลายออกไปสู่ยังประชาชนแล้ว ต่อมา ทางการก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อดำเนินงานการประกวดเพลงชาติขึ้น ซึ่งได้มีผู้เสนอเข้าแข่งขันกันเป็นอันมาก ครั้งสุดท้าย ได้มีมติที่ประชุมกรรมการรับรองเพลงของข้าพเจ้าเป็นเพลงชาติสืบไป ส่วนเนื้อร้องนั้นเป็นของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) และมหาฉันท์ ขำวิไล ภายหลังต่อมา เมื่อประเทศสยามได้ถูกเปลี่ยนนามเป็นประเทศไทยแล้ว ก็ได้มีการแก้เนื้อร้องใหม่ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ (แต่ในความเห็นของข้าพเจ้า เนื้อใหม่นี้ไม่สู้จะสอดคล้องกับทำนองเท่าเทียมกับเนื้อร้องเดิม) โดยเฉพาะทำนองเพลงชาติที่ข้าพเจ้าได้ประพันธ์ขึ้นนี้นั้น ข้าพเจ้าได้มอบไว้เป็นสมบัติของชาติสืบไป ดังได้รับการยกย่องจากรัฐบาลดังสำเนาต่อไปนี้.-

(สำเนา)
ที่ จ.๔๔๖๒/๒๔๗๗
สำนักนายกรัฐมนตรี วังปารุสกวัน
วันที่ ๒๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗
 
เรื่อง ประกวดเพลงชาติ
นายกรัฐมนตรี เรียน พระเจนดุริยางค์

ในสมัยที่สยามประเทศได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีความมุ่งหวังที่จะบำรุงชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นนี้ ประชาชนพลเมืองควรจะมีเพลงชาติเป็นเครื่องปลุกใจให้รักชาติเพลงหนึ่งด้วย

บัดนี้ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับรองทำนองเพลงของท่านเป็นเพลงชาติแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความชื่นชมยินดีในวุฒิสามารถและกำลังน้ำใจรักชาติซึ่งเป็นปัจจัยให้ท่านประพันธ์เพลงนั้นสำเร็จเป็นอย่างดี และขอชมเชยคุณความดีของท่านในการสนองคุณชาติในครั้งนี้ด้วย.

  • ขอแสดงความนับถือ
  • (ลายเซ็น) นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

พระเจนดุริยางค์
ผู้ควบคุมหมวดดุริยางค์สากล
ผู้แต่งทำนองเพลงชาติ
เลขานุการสำนักศิลปกรรม
แห่งราชบัณฑิตยสถาน
Phra Chen Duriyang
Chief of the Royal Orchestra
(European Section)
Creator of New National Anthem
Secretary of Academy of Fine Arts
Royal Institute.

Although Phra Chen Duriyang has never been in Europe, his talents and his devotion to the study of European music make him one of the outstanding masters in the East. It is by his arduous labours that the members of the Royal Orchestra have arrived at such an advanced stage of training. He also earnestly encourages the study of European music among the young Siamese in general.

The programme of the musical performance conducted by Phra Chen Duriyang himself during the dinner of this evening party is as follows:

1.Grand March “Pomp and Circumstances” (Elgar)

2.Overture “Rosamunde” (Schubert)

3.Selection “Carmen” (Bizet)

4.Selection “The Flying Dutchman” (Wagner)

5.Selection “Rigoletto” (Verdi)

6.Fantasia on Russian Melodies “The Glory of Russia” (Krein)

Siamese National Anthems, Maha Roek, etc.

เมื่อวงดนตรีฝรั่งหลวงได้ย้ายจากพระราชสำนักรัชกาลที่ ๗ มาสู่กรมศิลปากรแล้ว ได้มีการแสดงละครเรื่อง “อุเทน” กับการแสดงคอนเสอร์ตที่โรงโขนหลวง สวนมิสกวัน เนื่องในงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๙ ในงานนี้ กรมศิลปากรได้เชิญคณะทูตานุทูตและชาวต่างประเทศมาชมการแสดงอย่างพร้อมพรักกัน.

พ.ศ. ๒๔๗๗

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว กิจการของวงดนตรีสากลก็ถูกย้ายเข้ามาอยู่ในสังกัดของกรมศิลปากร ระดับความเจริญของวงดนตรีซึ่งเคยมีขีดสูงสุดในรัชกาลที่ ๗ นั้น ก็กลับลดลงสู่ต่ำ กิจการของวงดนตรีสากลได้ถูกกระทบกระเทือนอย่างหนักที่สุดอีกวาระหนึ่ง

กรมศิลปากรได้ร้องขอให้ดนตรีฝรั่งหลวงย้ายจากสำนักพระราชวังมาอยู่ในความควบคุมของกรมนี้ต่อไป และก็ได้มีชื่อเรียกว่า “วงดนตรีสากล กรมศิลปากร” แทนชื่อ วงดนตรีฝรั่งหลวง ข้าพเจ้าถูกเชิญตัวให้เข้าพบกับท่านผู้บริหารของกรมศิลปากรในสมัยนั้น ในขั้นแรกที่ได้รับทราบ ก็คือ มติของคณะรัฐมนตรีที่ประสงค์จะตัดงบประมาณของดนตรีวงนี้ลงให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง โดยมีการเลือกได้ตัดทอนได้ ๒ ประการ คือ.- (๑) จะปลดนักดนตรีให้มีจำนวนเหลืออยู่เพียงครึ่งหนึ่ง หรือ (๒) ถ้าต้องการจะให้นักดนตรีมีจำนวนอยู่เต็ม ก็ต้องลดเงินเดือนพวกเขาให้น้อยลงครึ่งหนึ่งจากเดิม ข้าพเจ้ารับทราบมติของคณะรัฐมนตรีด้วยความตกใจยิ่ง และรู้สึกเดือดดาลขึ้นมาบ้างในมติที่มิได้คำนึงอะไรหมดนอกจากจะตัดเพื่อทุ่นเงิน ข้าพเจ้าได้กล่าวชี้แจงให้ฟังว่า ดนตรีสากลวงนี้ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะให้เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติยศของประเทศชาติสืบไป เมื่อสิ้นรัชชสมัยของพระองค์แล้ว สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมถ์ พระองค์ได้เอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นสมดังพระราชประสงค์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ดนตรีวงนี้เป็นวงเดียวเท่านั้นที่นำชื่อเสียงเกียรติคุณมาสู่ประเทศชาติมากที่สุด ชาวต่างประเทศที่มาพบเห็นจะมาฟังก็มากันยกย่องด้วยความจริงใจว่า ดีเด่นอยู่ในภาคตะวันออกไกล บัดนี้ มติของคณะรัฐมนตรีต้องการตัดค่าใช้จ่ายของวงดนตรีลงเสีย ก็เท่ากับตัดรากฐานของวงให้ยุบสลายลง เพียงขณะนี้ บรรดานักดนตรีก็ได้รับพระราชทานเงินเดือนเพียงเล็กน้อย (ราว ๒๐ ถึง ๕๐ บาท) หากจะถูกลดอัตราให้ต่ำลงอีก ความอัตคัดขัดสนทางด้านการครองชีพก็ย่อมเกิดขึ้นในครัวเรือนของเขา การปฏิบัติราชการมาด้วยความพากเพียรน่าที่จะได้รับความกรุณาเป็นรางวัลตอบแทนน้ำใจ แต่เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีจะตัดเงินเดือนเขาให้น้อยลงอีกก็ดูกระไรอยู่ อีกประการหนึ่ง ถ้าจะปลดนักดนตรีให้มีจำนวนน้อยลง ผลร้ายนอกจากจะบังเกิดแก่ผู้รับเคราะห์จากการว่างงานแล้ว ดนตรีวงนี้ก็จะไม่เป็นวงดนตรีที่สมบูรณ์สมลักษณะของวงดุริยางค์ (Orchestra) อีกด้วย ในที่สุด ข้าพเจ้าจึงชี้แจงว่า หนทางที่ดียิ่ง ก็คือ ข้าพเจ้าเองกล้าพอที่จะพ้นจากตำแหน่งไปเสียคนเดียวดีกว่า เพื่อลดเงินก้อนหนึ่งของข้าพเจ้าลงไป แทนที่จะลดเงินเดือนของนักดนตรีออกคนละครึ่ง และทั้งยังสนองมติของคณะรัฐมนตรีให้สมปรารถนาอีกด้วย ท่านผู้บริหารงานแห่งกรมศิลปากรได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าพิจารณาหาหนทางที่เหมาะสมกว่าที่ได้กล่าวแล้ว ข้าพเจ้าถูกนัดให้มาทำการตกลงกันใหม่ภายในหนึ่งสัปดาห์

วงดนตรีสากลกำลังจะถูกทำลายลงอีก คำบอกเล่าของบิดาข้าพเจ้าเมื่อ ๒๕ ปีก่อนกำลังจะปรากฏผลจริงขึ้น ข้าพเจ้าได้ระลึกถึงถ้อยคำของท่านบิดาที่ห้ามมิให้ยึดถือการดนตรีเป็นอาชีพ เพราะจะบังเกิดความเดือดร้อนลำบากนานาประการนั้น บัดนี้ กำลังจะเป็นจริงขึ้นแล้ว คุณความดีที่พวกเรานักดนตรีได้สร้างขึ้นด้วยความพากเพียรและยากแค้นทุก ๆ สมัย ไม่เคยรอดพ้นจากความเดือดเนื้อร้อนใจไปได้เลย บำเหน็จรางวัลในฝีมือทางด้านศิลปของเรานั้นได้รับผลตอบแทน คือ การถูกรื้อถอนที่พักอาศัย, ถูกโยกย้ายสถานที่, ถูกปลด, ถูกลดเงินเดือน และอื่น ๆ อีกหลายอย่างต่อหลายอย่าง นี่คือผลตอบแทน “อย่างยุติธรรม” ที่พวกเราได้รับ? เราไม่มีโอกาสได้รับความปรารถนาดีอันใดจากบรรดารัฐมนตรีที่ลงมตินี้ หากจะประสงค์อย่างเดียวเท่านั้น คือ ต้องการตัด. . . ตัด. . . ตัดให้ลดน้อยลงอย่างที่สุด ไม่มีใครทราบฐานะของการดนตรีได้ดีนอกจากข้าพเจ้า วงดนตรีที่มีจำนวนสมลักษณะของ (Orchestra) ถ้าถูกตัดลง ก็ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ข้าพเจ้าจำต้องร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่ศิลปของชาติอีกวาระหนึ่ง ในคราวนี้ ได้ขอความเห็นอกเห็นใจจากเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในฐานันดรศักดิ์พระองค์หนึ่งในฐานะที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของท่านเจ้าคุณพหลฯ นายกรัฐมนตรี แล้วในที่สุด กรรมการพิจารณาค่าใช้จ่ายสำหรับวงดนตรีสากลของเราก็ถูกจัดตั้งขึ้นมา คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยเจ้านายอีกพระองค์หนึ่งทรงเป็นประธาน พร้อมด้วยเลขานุการ, กรรมการ, ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรจากจังหวัดต่าง ๆ เช่น จังหวัดหนองคายและมหาสารคาม เป็นต้น ซึ่งโดยเฉพาะผู้แทน ๒ ท่านจาก ๒ จังหวัดนี้ได้มีบทบาทสำคัญในการประชุมครั้งนั้น ดังจะกล่าวต่อไป

ในการประชุม ข้าพเจ้ามิได้เป็นกรรมการ แต่ได้ถูกเชิญตัวไปเข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อประธานได้เริ่มเปิดประชุมด้วยการกล่าวบอกจุดหมายของการประชุมแล้ว ท่านผู้แทนราษฎรแห่งจังหวัดหนองคาย (สมัยนั้น) ก็กล่าวถามถึงค่าใช้จ่ายสำหรับดนตรีวงนี้ เมื่อได้ทราบจากเจ้าหน้าที่แล้ว ก็ลุกขึ้นให้ความเห็นสำหรับตัวขึ้นว่า การใช้จ่ายเงินของชาติจำนวนมากมายเช่นนี้ให้หมดเปลืองไปเพื่อบำเรอคนคนเดียวนั้น ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่ง หากจะนำเงินนี้ไปซื้อยาบำบัดโรคและซื้อเรือลอยลำแจกยาในลำน้ำโขงให้แก่ชาวบ้านแล้ว ยังจะดีเสียกว่า ข้าพเจ้านึกเสียใจอยู่มาก เมื่อได้รับคำเสนอจากกรรมการผู้นี้ในฐานะที่ท่านเป็นผู้แทนราษฎรเฉพาะจังหวัดเดียว โดยมิได้คำนึงถึงราษฎรอีกหลาย ๆ จังหวัดทั่วประเทศ ไม่คำนึงถึงนายแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยชนิดของยาให้เหมาะแก่โรค ซึ่งยาอาจเป็นผลร้ายถ้าแจกจ่ายผิด ๆ ถูก ๆ ไม่คำนึงถึงเกียรติยศของชาติที่ดนตรีวงนี้ได้เคยสร้างให้มาแต่ไหนแต่ไร ข้าพเจ้ารู้สึกว่า หากท่านผู้แทนหนองคายจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศแล้ว บางทีพระที่นั่งอนันตสมาคมคงจะถูกโยกย้ายไปตั้งอยู่ในจังหวัดริมแม่น้ำโขงของท่านละกระมัง ท่านกรรมการอีกผู้หนึ่ง คือ ผู้แทนจังหวัดมหาสารคาม เสนอความคิดเห็นว่า ควรมีไว้รับแขกเมืองบ้างและเพื่อเปิดโอกาสแสดงให้ประชาชนเข้าฟังบ้างตามสมควรเป็นครั้งคราวในโอกาสต่อ ๆ ไปที่จะจัดให้มีขึ้น แต่จำนวนนักดนตรีนั้นจำต้องตัดลงเสีย ข้าพเจ้าผิดหวังที่ได้มาพบกรรมการผู้มาประชุมเรื่องการดนตรีแต่ไม่รู้จักดนตรีเลยแม้แต่น้อย ฉะนั้น จึงได้ชี้แจงให้ทราบถึงวิธีการจัดตั้งวงดนตรีประจำชาติตามลักษณะของ Orchestra ว่า ชนิดของเสียงของเครื่องทั้งวงจำต้องให้มีดุลภาพกัน วงดนตรีต้องประกอบด้วยเครื่องสาย (String Instruments), เครื่องลม (Wind Instruments), เครื่องทองเหลือง (Brass Instruments), และเครื่องตี (Percussion Instruments) เสียงของเครื่องสายจะต้องมีกำลังต้านทานเสียงของเครื่องลม, เครื่องทองเหลือง และเครื่องตีได้ และจำนวนนักดนตรีก็จะต้องให้เป็นไปตามที่หลักวิชาการดนตรีได้กำหนดไว้ หากวงดนตรีถูกลดจำนวนลงเสีย เสียงบรรเลงก็ไม่เข้าสู่ดุลภาพ ทำให้ระคายโสตประสาท ข้าพเจ้าถูกที่ประชุมให้แสดงข้อเท็จจริงจากเรื่องที่ได้กล่าว โดยกำหนดให้มีการบรรเลงขึ้น และต่อมา กรรมการทั้งหมดก็ได้ร่วมประชุมกันอีกวาระหนึ่งต่อหน้าวงดนตรีที่ข้าพเจ้าได้จัดขึ้นที่สวนมิสกวัน ข้าพเจ้าได้ควบคุมวงดนตรีเต็มอัตราจำนวนบรรเลงให้ฟัง และแล้ว ก็พิศูจน์ข้อเท็จจริงโดยการลดจำนวนเครื่องสายลงเป็นขั้น ๆ จากจำนวนเดิมให้น้อยลง. . . น้อยลง จนเหลือซอไวโอลินเพียง ๒–๓ คันในโอกาสสุดท้าย ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสทราบว่า บรรดาท่านกรรมการผู้มาฟังดนตรีนั้นแต่ละคนจะมีความรู้ในการฟังดนตรีเช่นอารยะชนทั้งหลายหรือไม่อย่างไร จะใช้หูหรือตาสำหรับดนตรี ข้าพเจ้าก็ไม่อาจทราบ หลังจากการบรรเลงในวันนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้รอฟังผลชี้ขาดต่อมาด้วยความกระวนกระวายและรู้สึกห่วงใยเป็นอันมาก ต่อมาอีกไม่นาน ข้าพเจ้าก็ได้รับทราบคำสั่งจากท่านประธานกรรมการภายในห้องของท่านเองที่กระทรวงมหาดไทย (ตามตำแหน่งที่ปรึกษาราชการที่ท่านดำรงอยู่ในขณะนั้น) พร้อมด้วยเลขานุการ ท่านประธาน ในฐานันดรศักดิ์หม่อมเจ้า ได้ทรงแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ดนตรีจะต้องถูกโยกย้ายมาอยู่ที่กรมศิลปากร แต่ส่วนการจัดตั้งวงนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีได้ตกลงให้ถือหลักการตั้งวงตามที่ข้าพเจ้าได้เสนอไปทุกอย่าง คือ วงดนตรีประกอบด้วยนักดนตรีประมาณ ๗๕ คน กับมีการเพาะนักเรียนฝึกหัดประจำวงปีหนึ่ง ๆ ๒๐ คน วงดนตรีสากลนี้จึงหลุดพ้นจากอุปสรรคร้ายมาได้ชั้นหนึ่ง แต่ต่อมา ก็ถูกจำกัดอีกไม่ให้มีนักดนตรีฝึกหัด เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ ข้าพเจ้าต้องตกเป็นหน้าที่ชี้แจงอีกว่า ถ้าไม่มีนักดนตรีฝึกหัด หากวงดนตรีใหญ่ขาดจำนวนไป จะเป็นด้วยถูกปลด หรือตาย หรือออกไปด้วยเหตุประการใดก็ตาม วงดนตรีก็หมดทางที่จะหานักดนตรีที่อื่นมาจุนเจือได้ และการที่วงดนตรีต้องขาดจำนวนลง ย่อมจะเป็นผลเสียหาย ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับเงินค่าใช้สรอยเพื่อการนี้ได้อีกปีหนึ่ง ๖๐๐ ถึง ๗๐๐ บาท วงดนตรีจึงรับนักเรียนฝึกหัดได้ ลดจากจำนวนเดิมเป็นเพียง ๔–๕ คน เมื่อจำนวนนักดนตรีประจำวงได้ถูกปลด, ทุพพลภาพ หรือตายไป ก็ไม่มีทางจุนเจือจำนวนให้คงที่ได้ กิจการของวงดนตรีสากลจึงบังเกิดความขลุกขลักอีกเรื่อยมา

วงดนตรีสากลแห่งกรมศิลปากรได้รับอันตรายถึงขั้นสุดท้าย คือ ความหายนะ ท่านผู้บริหารงานกรมศิลปากร (สมัยนั้น) ตัดจำนวนดนตรีกระจัดกระจายออกไป ส่วนหนึ่ง (๑๘ คน) ถูกส่งไปเป็นนักดนตรีประจำละครกรมศิลปากรที่นิยมกันในสมัยนั้น อีกส่วนหนึ่ง (๘ คน) ถูกย้ายไปประจำกรมโฆษณาการ เมื่อคราวที่กรมนี้ได้ตั้งวงดนตรีแจ๊ส Jazz Band ขึ้น กิจการทั้งนี้ก็เพื่อตัดทอนเงินงบประมาณของวงดนตรีสากลเอาไปบำรุงในทางอื่นตามที่มั่นหมายในขั้นแรก นักดนตรีมีจำนวนน้อยลงไปด้วยการปลดบ้าง, ลาออกบ้าง, ตายบ้าง, และโยกย้ายไปประจำทางอื่นดังกล่าวแล้วบ้าง ในที่สุด วงดนตรีสากลที่เคยเชิดชูเกียรติยศของประเทศตลอดมา ก็เริ่มทรุดโทรมลงสู่ความหายนะอย่างรวดเร็ว

สมบัติของวงดนตรีที่มีอยู่ส่วนมากเกือบทั้งหมดได้ติดมาเมื่อย้ายจากราชสำนักสู่กรมศิลปากร สิ่งของเหล่านี้มีเครื่องดนตรีต่าง ๆ อย่างมากมาย, บทเพลงนับจำนวน ๑,๐๐๐ กว่าบท เครื่องอุปกรณ์ เช่น ตู้, โต๊ะ, เก้าอี้ ทุกอย่างเป็นสิ่งของทรัพย์สินส่วนพระองค์ทั้งสิ้น ในระหว่างที่วงดนตรีสากลมาอยู่ในสังกัดของกรมศิลปากร ก็ไม่ได้รับสิ่งของเพิ่มเติมอะไรมากมาย นอกจากเครื่องดนตรี ๔–๕ ชิ้น ราคาไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท และบทเพลงกับแบบฝึกหัดอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ กับมีเครื่องอะไหล่ เช่น สายซอ, ลิ้นปี่ ซึ่งเป็นการจำเป็นจริง ๆ ที่ต้องใช้ หาไม่แล้ว วงดนตรีก็จะไม่มีเสียงขึ้นมาได้

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า วงดนตรีสากลนี้มาอยู่ในสังกัดของกรมศิลปากรโดยอาศัยทุนเดิมจากพระราชสำนักเป็นส่วนมากที่สุด วงดนตรีไม่ได้รับความอุปการะจากกรมเท่าที่ควรจะเป็นไปเลยนับแต่สมัยแรกเริ่มมา ดังนั้น วงดนตรีของกรมศิลปากรจึงปรากฏความทรุดโทรมให้เห็นอยู่ดังเช่นทุกวันนี้

พ.ศ. ๒๔๗๖

ในสมัยต้นของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง วงราชการก็ได้ตั้งใจให้มีการทำนุบำรุงศิลปทางการดนตรีขึ้นอีกวาระหนึ่ง การทำนุบำรุงศิลปที่ทางราชการได้กำหนดนี้ ก็คือ จัดตั้งสถานที่สมัครยาจารย์เพื่อให้บรรดาครูสามัญได้รับการอบรมศึกษาทางด้านวิชาการดนตรี (แต่การกระทำนี้ก็ล้มเลิกลงใน ๒ ปีต่อมา) และต่อจากนั้น ก็ได้มีการจัดส่งนักศึกษาคนหนึ่งไปรับการอบรมที่เมืองมะนิลาในประเทศฟิลลิปปินส์

พ.ศ. ๒๔๗๘

ส่วนทางด้านเอกชน ก็ได้มีการจัดตั้งสถานการศึกษาวิชาการดนตรีขึ้นเพื่อรับนักเรียนให้ได้มีการศึกษาโดยเคร่งครัด ในการนี้ เพื่อนข้าราชการทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ของข้าพเจ้าคนหนึ่งได้เป็นผู้ทำการวิ่งเต้นหาทุนมาช่วยเหลือ และผลที่ได้รับก็สำเร็จลงอย่างน่าขอบคุณ โครงการณ์พิเศษที่กำหนดนี้ ได้รับทุนช่วยจากท่านรัฐบุรุษในคณะรัฐมนตรีบางท่านเป็นเงินซึ่งรวบรวมได้ประมาณ ๓,๐๐๐ ถึง ๕,๐๐๐ บาท และในที่สุด สถานศึกษาวิชาการดนตรีก็ได้อุบัติขึ้น ณ ตึกว่างชั้นบนของบริษัทสยามอิมปอร์ต (เดิม) เชิงสะพานมอญ มีชื่อว่า “วิทยาสากลดนตรีสถาน”

พ.ศ. ๒๔๗๗

วิทยาลัยการดนตรีแห่งนี้รับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาวิชาการดนตรีได้ประมาณ ๔๐ ถึง ๕๐ คน ซึ่งเป็นนักศึกษาชาย, หญิง ที่เข้ามาสมัครเรียนด้วยใจรัก แต่ทั้งหมดต้องการเรียนรู้วิชาการดนตรีเพื่อเป็นเพียงสมัครเล่น (Amateur) มากกว่าต้องการจะศึกษาเพื่อยึดถือเอาเป็นอาชีพ (Professional) อย่างจริงจัง สถานที่ศึกษาแห่งนี้ได้เปิดทำการสอนขึ้นสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ น. ถึง ๑๙.๐๐ น. อันเป็นเวลานอกราชการ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่บรรดาอาจารย์และนักศึกษาผู้มีกิจธุระในเวลาปกติ

พ.ศ. ๒๔๗๙

วิทยาสากลดนตรีสถานได้ดำเนินกิจการสืบมาเพียงชั่วระยะเวลา ๒ ปี หลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้ถูกส่งออกไปดูกิจการดนตรียังต่างประเทศ เป็นเหตุให้หมดโอกาสที่จะควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด กิจการต่าง ๆ จึงมิได้ดำเนินไปโดยราบรื่น และภายหลังก็เลิกล้มไปในที่สุด

พ.ศ. ๒๔๘๐

มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ข้าพเจ้าถูกส่งตัวออกไปดูกิจการดนตรียังต่างประเทศตามคำสั่งของทางราชการ ข้าพเจ้าคิดหวังด้วยความยินดีว่า ความปรารถนาดีของรัฐบาลที่มีขึ้นในบัดนี้นั้น บางทีอาจเป็นผลให้ศิลปทางดนตรีเจริญขึ้นได้อีกวาระหนึ่ง เพราะกิจการทางวิชาการดนตรีในอารยะประเทศย่อมเป็นแบบแผนอันดียิ่งสำหรับเรา

ข้าพเจ้าออกเดินทางไปตามประเทศต่าง ๆ ที่มีการศึกษาวิชาการดนตรีชั้นเยี่ยมของโลก เช่น ประเทศอังกฤษ (ที่กรุงลอนดอน), ประเทศฝรั่งเศส (กรุงปารีส), ประเทศเยอรมัน (กรุงเบอร์ลินและเมืองมิวนิค), ประเทศอิตาลี (กรุงโรมและเมืองมิลาน) กับที่ประเทศออสเตรีย (คือ ที่กรุงเวียนนา) ทุก ๆ เมืองของทุก ๆ ประเทศ ข้าพเจ้าได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ทางการดนตรีเป็นอย่างดี ข้าพเจ้าถูกพาเข้าชมกิจการของวิทยาลัยการดนตรีต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น

ในประเทศอังกฤษ กรุงลอนดอน (๑) Royal Academy of Music (๒) Royal College of Music (๓) Guildhall School of Music (๔) Trinity College of Music (๕) Royal Military School of Music Kneller Hall.

ในประเทศเยอรมัน กรุงเบอร์ลิน (๑) Hochschule fur Musik และที่เมืองมิวนิค (๒) Staatlicher Akademie der Tonkunst Hochschule fur Musik.

ในประเทศฝรั่งเศส กรุงปารีส (๑) Conservatoire National de Musique (๒) Ecole Normal de Musique.

ในประเทศอิตาลี กรุงโรม (๑) Regia Academia di Santa Cecillia และที่เมืองมิลาน (๒) R. Conservatoire di Musica Giuseppe Verdi.

กับสถานการแสดง Opera หลายแห่งในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย สำหรับที่กรุงเวียนนานี้ ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสที่จะเข้าดูกิจการศึกษาได้ เพราะเป็นเวลาที่วิทยาลัยการดนตรีปิดภาคเรียน

ทุก ๆ ประเทศที่ข้าพเจ้าแวะเยี่ยม นอกจากจะได้ดูกิจการดนตรีตามวิทยาลัยต่าง ๆ ดังกล่าวนามมาแล้ว ข้าพเจ้ายังได้มีโอกาสเข้าฟังและชมการแสดง Symphony Concert และ Opera อีกด้วยหลายแห่ง เช่น ที่ Queen’s Hall, Albert Hall, Covent Garden, Sadler’s Well กับสถานที่อื่น ๆ อีกมาก ทั้งในลอนดอน, เบอร์ลิน, ปารีส, โรม, มิลาน, ซาลสบูร์ก และเวียนนา ฯลฯ ข้าพเจ้าถูกเจ้าหน้าที่พาเข้าดูความเป็นไปต่าง ๆ ได้ฟังและได้ชมการแสดงหน้าเวที ได้ดูหลักฉากการสร้าง ได้ดูการดำเนินงานภายในของเขา และทุกสิ่งทุกอย่างก็อยู่ในความสังเกตจดจำของข้าพเจ้ามาทุก ๆ ระยะ

ข้าพเจ้ากลับมาสู่ประเทศไทยในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ พร้อมด้วยความหวังที่จะได้พบเห็นกิจการดนตรีของเราเจริญรุ่งเรืองขึ้น

พ.ศ. ๒๔๘๑

ข้าพเจ้าลงมือร่างโครงการณ์การศึกษาเสนอให้กับกรมศิลปากรทันที ระเบียบและวิธีการดำเนินงานต่าง ๆ ที่มีอยู่พร้อมมูลในโครงการณ์นั้นก็ได้เป็นไปตามแนวทางการศึกษาเช่นอารยะประเทศเท่าที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น แต่กรมศิลปากรก็กลับเพิกเฉย มิได้นำพาแต่อย่างใด ความหวังของข้าพเจ้าในอันที่จะได้เห็นกิจการทางด้านดุริยางค์ศิลปของชาติเจริญรุ่งเรืองขึ้นในอนาคต ก็เลยต้องยุติสุดสิ้นลงพร้อมกันกับโครงการณ์นั้นด้วย

พ.ศ. ๒๔๘๒

ภายหลังที่ข้าพเจ้ากลับมาประเทศไทยแล้ว ความหวังต่าง ๆ ที่จะให้ศิลปทางการดนตรีของชาติดำเนินไปอย่างรุ่งโรจน์ก็กลับต้องล้มเหลวลงทุก ๆ ด้าน แม้กระทั่งวงดนตรีสากลของกรมศิลปากรเอง แทนที่จะเจริญขึ้น ก็กลับทรุดโทรมลงอีก จำนวนนักดนตรีลดน้อยลงกว่าเดิม โดยได้ลาออกไปเพื่อประกอบอาชีพทางอื่น เพราะไม่ได้รับความยุติธรรมในเรื่องเงินเดือนบ้าง ถูกปลดออกไปด้วยเหตุต่าง ๆ บ้าง ฐานะของวงดนตรีจึงอยู่ในสภาพที่น่าสลดใจอย่างที่สุด และบทเพลงไทยก็พลอยรับเคราะห์กรรม ถูกสั่งให้งดการบันทึกต่อไปด้วย

ครั้งหนึ่ง วงดนตรีสากลวงนี้ได้มีงานพิเศษโดยถูกขอร้องให้ไปทำการบรรเลง ณ สโมสรราชกรีฑาสมาคมเป็นงานประจำเดือนละ ๑ หรือ ๒ ครั้งทุกเดือน และวงดนตรีก็มีรายได้จากผลงานนั้นตลอดมาเป็นเงินประมาณ ๕,๐๐๐–๖,๐๐๐ บาท เงินจำนวนนี้ ทางการมิได้แจกจ่ายให้แก่นักดนตรีเลยแม้แต่น้อย คงเก็บไว้โดยอ้างว่า เพื่อบำรุงวงดนตรีนี้ต่อไป และบัดนี้ วงดนตรีก็ได้รับความทรุดโทรมลง ควรที่จะได้รับการทำนุบำรุงแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ทำใบเสนอขึ้นเพื่อขออนุมัติการจ่ายเงินเพื่อรับนักเรียนฝึกหัดรุ่นใหม่ เพราะทางการไม่มีเงินงบประมาณให้ คำร้องขอของข้าพเจ้าได้ดำเนินไปด้วยความติดขัด และกว่าจะสำเร็จลงได้ ก็ต้องชี้แจงกับท่านผู้บริหารงานแห่งกรมศิลปากรมากมาย ในที่สุด ก็ได้รับอนุญาตให้รับนักเรียนมาทำการฝึกหัดได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อเสริมจำนวนนักดนตรีของวงที่ขาดอัตราเดิมไป

ข้าพเจ้าจัดตั้งโรงเรียนขึ้นอีกครั้งหนึ่งภายในโรงโขนหลวง สวนมิสกวัน โรงเรียนอยู่ในห้องหลังโรงโขนซึ่งระเกะระกะไปด้วยฉากละครเก่า ๆ และสกปรกอย่างที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ดี นักดนตรีทั้งหลายก็ร่วมมือกันช่วยทำความสะอาดและจัดที่ว่างเพื่อการศึกษาของนักเรียนฝึกหัดด้วยความหวังอันแจ่มใสของการดนตรีที่เรานึกคิดกันอยู่ ทางกรมศิลปากรมิได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องเครื่องอุปกรณ์เลย ดังนั้น กระดานดำ, โต๊ะเรียน และม้านั่ง ฯลฯ จึงเป็นสิ่งของที่เอามาจากวิทยาสากลดนตรีสถานที่ได้เลิกล้มไปแล้วทั้งสิ้น โรงเรียนการดนตรีที่ข้าพเจ้าสถาปนาขึ้นใหม่นี้ เริ่มรับนักเรียนในรุ่นแรกประมาณ ๒๘ คน ๖ เดือนให้หลัง ก็มีการสอบไล่คัดเลือกเอาเฉพาะผู้มีไหวพริบและความเพียร คงเหลืออยู่เพียง ๑๗ คน

ในการรับนักเรียนรุ่นแรกนี้ ข้าพเจ้าได้ทำการตกลงกับท่านผู้มีอำนาจแห่งกรมศิลปากรไว้แล้วว่า เงินที่เสนอขอขึ้นไปนั้นจะต้องได้รับจ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงให้สำหรับนักเรียนฝึกหัดเหล่านี้คนละ ๑๕ บาทต่อเดือน เมื่อปรากฏจำนวนนักเรียนที่แท้จริงเช่นนี้ แทนที่จะได้รับเงินจ่ายดังที่ทำการตกลงกันไว้ ก็กลับผิดหวังอีก แม้ข้าพเจ้าจะได้เสนอคำร้องเรียนขึ้นไปก็มิได้รับผลตอบแทนประการใด ครั้นได้ส่งคำร้องฉบับที่ ๒ ที่ ๓ เตือนขึ้นไปอีก ผลที่ได้รับ ก็คือ ข้าพเจ้าถูกสั่งปลดออกจากตำแหน่งหัวหน้ากองดุริยางค์ศิลป เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นอาจารย์ใหญ่ ขาดอำนาจหน้าที่ทางปกครองเด็ดขาดตั้งแต่นั้น บรรดานักเรียนฝึกหัดทั้งหลาย เมื่อหมดที่พึ่งจากเงินค่าเบี้ยเลี่ยง ต่างคนต่างก็พากันออกไปรับราชการเป็นนักดนตรีในกรมกองอื่นจนหมดสิ้น เช่น วงดนตรีกรมโฆษณาการ วงดนตรีทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และวงดุริยางค์ทหารอากาศ เป็นต้น

วงดนตรีของกรมศิลปากร เมื่อขาดความหวังจากนักเรียนฝึกหัดเช่นนี้แล้ว จำนวนนักดนตรีก็คงขาดตกบกพร่องอยู่เช่นเดิม ฐานะของวงทรุดหนักลงอีก จนเหลือวิสัยที่ข้าพเจ้าจะดิ้นรนเพื่องานนี้ต่อไปได้

เบื้องหลังของการที่วงดนตรีไม่ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับนักเรียนฝึกหัดนั้น เหตุผลที่ข้าพเจ้าสืบทราบมาภายหลัง คือ จำนวนเงินนับพันที่มีอยู่นั้นเป็นแต่เพียงตัวเลขในบัญชีเท่านั้น ส่วนตัวเงินที่แท้จริงได้อันตรธานไปทางใด ข้าพเจ้าหาทราบไม่

ข้าพเจ้าได้ดำรงค์ตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของกรมศิลปากรได้ประมาณ ๖ เดือน ก็ถูกสั่งย้ายไปรับราชการทางกองทัพอากาศ เมื่อคราวที่สถาปนากองภาพยนตร์ขึ้นมา จึงจำต้องมีวงดนตรีเพื่อใช้ประกอบการทำภาพยนตร์เสียง และข้าพเจ้าก็ได้ถูกย้ายมาเพื่อการนี้ ต่อมาภายหลัง ทางการได้ร้องขอให้ข้าพเจ้ามาช่วยเหลือดูแลกิจการดนตรีของวงดุริยางค์ศิลปากรอีกในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ข้าพเจ้าได้สละหน้าที่ทางกองภาพยนตร์ทหารอากาศกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และภายหลัง ก็ได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ในแผนกดุริยางค์ศิลปแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร

พ.ศ. ๒๔๗๘ – พ.ศ. ๒๔๘๙

ความปรารถนาของข้าพเจ้าเท่าที่ดิ้นรนต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ตลอดมาจนบัดนี้นั้น ก็เพื่อชาติและศิลปอันเป็นที่รักของข้าพเจ้า ฉะนั้น การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เป็นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันจึงมิได้มีทางนอกเหนือไปเป็นอย่างอื่นแต่ประการใด ข้าพเจ้าได้พยายามฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ตลอดมาจนนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ทั้งนี้ ก็โดยประสงค์เพื่อที่จะให้ศิลปะของชาติได้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเท่าเทียมกับอารยะประเทศอื่นเขา แต่ผลจากการกระทำเหล่านี้ แม้จะสำเร็จลงไป ก็มิได้มีเวลายาวนาน ทุกครั้งทุกสมัยมักจะปรากฏผู้คอยทำลายล้างอยู่

สุดท้ายของการบันทึกนี้ ข้าพเจ้าหมดหวังอย่างใด ๆ ทั้งสิ้นแล้ว มีความห่วงใยเหลืออีกเพียงสิ่งเดียว ก็คือ ดนตรีไทย–ศิลปประจำชาติที่มียั่งยืนมาแต่โบราณกาล แต่ในอนาคตนั้น ดนตรีไทยอันเป็นศิลปประจำชาติจะเป็นไปสถานใด เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องวิตกอยู่มาก

สมัยหนึ่ง ได้มีการบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากลขึ้น ข้าพเจ้าควบคุมการบันทึกด้วยความพากเพียร แม้จะเกิดอุปสรรคนานาประการ ก็หาได้ย่อท้อไม่ เมื่อเวลาล่วงไป บทเพลงไทยก็ได้ถูกบันทึกขึ้นไว้มาก ข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินงานการบันทึกโดยตรงก็รู้สึกยินดีที่จะเห็นศิลปประจำชาติไทยได้เป็นหลักฐานปึกแผ่นมั่นคงไปถึงชั้นลูกหลาน อนุชนรุ่นหลังเหล่านี้ก็จะได้มีไว้เป็นพยานอวดแก่ชาวต่างประเทศได้ว่า ประเทศไทยก็หาได้เป็นประเทศที่ป่าเถื่อน ไร้วัฒนธรรม ไร้อารยะธรรม หรือปราศจากศิลปกรรมเช่นที่เขาคิดไม่ ด้วยความปรารถนาดีอย่างแท้จริงของข้าพเจ้านี้ แม้ในการเดินทางไปต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ข้าพเจ้าก็ไม่ลืมเอาเพลงไทยติดตัวไปด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการว่าจ้างให้โรงพิมพ์ในต่างประเทศถ่ายทอดโน้ตบันทึกในต้นฉบับเป็นตัวพิมพ์เสีย ซึ่งทั้งนี้ ย่อมจะเป็นหลักฐานมั่นคงยิ่งขึ้นอีก ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ข้าพเจ้าได้พบกับเจ้าของและผู้จัดการบริษัทการพิมพ์บทเพลงที่มีชื่อเสียงของโลกบริษัทหนึ่ง คือ Boosey & Hawkes เพื่อตกลงจ้างพิมพ์บทเพลงไทยชุดเรื่อง “ทำขวัญ” ขึ้นประมาณ ๑๗๕ หน้า และในฐานที่เจ้าของเป็นผู้ชอบพอกับข้าพเจ้าอยู่มาก เขาจึงตอบรับด้วยความยินดี โดยยอมรับพิมพ์ให้ในอัตราค่าจ้างที่ต่ำที่สุดเพียง ๑๕๐ ปอนด์ต่อบทเพลงทั้งเรื่องถึง ๕๐๐ ชุด ซึ่งในอัตราแลกเปลี่ยนเงินเวลานั้นก็ประมาณ ๑,๖๐๐ บาท นอกจากนั้น บริษัทยังจะมอบแม่พิมพ์ให้ไว้กับเราอีกด้วย ซึ่งการมอบแม่พิมพ์นี้เป็นสิทธิพิเศษสำหรับเราเท่านั้นที่ได้รับ ข้าพเจ้าส่งข่าวอันน่ายินดีนี้มายังกรมศิลปากร โดยหวังที่จะได้รับเงินอนุเคราะห์เพื่อศิลปประจำชาติ แต่แล้ว กรมศิลปากรผู้มีหน้าที่โดยตรงกับการรักษาศิลปก็หาได้กระตือรือร้นไม่ แม้ข้าพเจ้าได้พยายามแผ้วถางทางเพื่อกิจการนี้ทุกอย่างแล้วก็ตาม ท่านผู้บริหารงานแห่งกรมศิลปากรก็กลับตอบปฏิเสธไป บทเพลงไทยที่หวังจะได้เข้าสู่แท่นพิมพ์เพื่อเป็นตัวอย่างและหลักฐานอันถาวรก็จำต้องกลับมาสู่ประเทศไทยในลักษณะตัวเขียนอีกตามเดิม

บัดนี้ กรมศิลปากรก็ยังได้เก็บบทเพลงไทยไว้ด้วยลักษณะที่เป็นมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น ข้าพเจ้าจึงวิตกถึงความเสื่อมโทรมของแผ่นกระดาษบาง ๆ กับลายเส้นดินสอที่จะต้องลบเลือนไปตามอายุขัย บทเพลงไทยที่ครั้งหนึ่งได้ถูกเอาใจใส่ป้องกันไม่ให้ศูนย์หายไปจนถึงกับบันทึกไว้เป็นโน้ตสากลเพื่อความถาวรในอนาคตนั้น แต่บัดนี้ ก็ไม่อาจแน่นอนใจว่า จะยั่งยืนตลอดไปหรือไม่ เมื่อตราบใดที่ยังไม่มีการสถาปนาให้บทเพลงเหล่านี้เป็นตัวพิมพ์และเผยแพร่ออกไป

(ทราบต่อมาว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ กรมศิลปากรได้พิมพ์เพลงในเรื่อง โหมโรงเย็น พร้อมสรรพ์มีฉบับรวมเครื่อง (Score) และฉบับประจำเครื่องต่าง ๆ ของวงปี่พาทย์ และในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ก็ได้พิมพ์เพลงในเรื่อง “ทำขวัญ” แต่เพียงฉบับรวมเครื่อง (Score) อย่างเดียวเท่านั้น.)

พ.ศ. ๒๔๙๐

วงดนตรีของกรมศิลปากรในบัดนี้มีสภาพเสื่อมโทรมลงทั้งเครื่องดนตรีและนักดนตรี ข้าพเจ้าเห็นเป็นการพ้นวิสัยที่จะรับเอาภาระกิจของวงดนตรีนี้มาฟื้นฟูและปรับปรุง หากไม่มีเงินพอที่จะกอบกู้ ดังที่ได้ชี้แจงถึงสภาพที่เสื่อมโทรมและทางที่ควรจะฟื้นฟูปรับรุงดังต่อไปนี้.-

๑.ทั้งจำพวกเครื่องลม (Woodwind) และเครื่องทองเหลือง (Brass) ซึ่งใช้การอยู่ในบัดนี้ เป็นเครื่องที่สั่งซื้อจากห้าง (Boosey and Hawkes) ใช้การมากว่า ๒๐ ปีแล้ว เกินอายุที่จะใช้การได้ดีต่อไป มีจำนวนที่พอใช้การได้เป็นบางเครื่อง หากมีโอกาสจัดหาใหม่ เครื่องเก่าที่พอใช้การได้กับเครื่องเก่าที่ชำรุดพอซ่อมได้ เหมาะที่จะใช้เป็นเครื่องหัดนักเรียนมากกว่าใช้เป็นเครื่องบรรเลง

๒.จำพวกเครื่องสาย Strings บางเครื่องหักจนใช้การไม่ได้ และโดยมากชำรุด จึงจะต้องซ่อม เข้าทำนองที่ต้องจัดหาใหม่เป็นส่วนมาก

นอกจากปิอาโนหลังหนึ่งถูกปลวกทำลายเสียหาย ไม่แน่ว่าจะซ่อมได้หรือไม่แล้ว หลังอื่นก็มีลักษณะเสื่อมโทรมที่จะต้องได้รับการซ่อมแซมกลไกภายในเสียใหม่

๓.เครื่องอะไหล่ต่าง ๆ ทั้งจำพวกเครื่องลม, เครื่องทองเหลือง และเครื่องสาย ขาดมือแทบทั้งสิ้น สมควรและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดหาไว้สำรองจ่ายให้พอใช้การได้ทุกเมื่อ

๔.เครื่องมือและเครื่องใช้ในการซ่อม ตลอดจนช่างซ่อมและห้องซ่อมที่ข้าพเจ้าได้จัดตั้งขึ้นไว้แต่เดิม ได้ถูกยุบเสียสิ้น เครื่องซ่อมที่เหลืออยู่โดยมากเป็นของชำรุด ใช้การไม่ได้ หรือไม่มีผู้ใดรับซื้อ

๕.บทเพลงเป็นจำนวนมากเหลืออยู่ไม่ครบชุด บางฉบับถูกปลวกทำลาย บางฉบับศูนย์หาย บางฉบับชำรุดขาดวิ่น เพราะเก่าเก็บและใช้การมานาน

๑.นักดนตรีที่มีตัวอยู่ในขณะนี้ บางคนทุพพลภาพ บางคนอ่อนแอ ไม่มีกำลังพอที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่ได้เท่าที่ควร บางคนอ่อนฝีมือในทางปฏิบัติเพราะมิได้มีการฝึกซ้อมและอบรมเพียงพอตามหลักนักดนตรี นักดนตรีเหล่านี้อาศัยหน้าที่แอบแฝง เพื่อความสงสารและเห็นซึ่งกันและกันบ้าง เพื่อผดุงให้มีตัวพอเป็นวงดนตรีบ้าง มีนักดนตรีที่มีกำลังกายและฝีมือดีพอสมควรแก่การปฏิบัติงานได้ไม่เกิน ๒๐ คน ไม่พอแก่การที่จะรวมเป็นวงดนตรีซิโฟนี่ซึ่งต้องการนักดนตรีประมาณ ๖๐ คนเป็นอย่างต่ำ

๒.นักดนตรีทั้งนี้ได้รับเงินเดือน อย่างต่ำ ๓๐ บาท บวกเงินเพิ่มพิเศษอีก รวมประมาณ ๒๔๐ บาท อย่างสูง ๕๐ บาท บวกเงินเพิ่มพิเศษอีก รวมประมาณ ๓๐๐ บาท ไม่พอแก่การครองชีพส่วนตัวและครอบครัวให้อยู่ดีกินดีตามควรแก่อัตภาพ เมื่อการครองชีพของเขาต้องตกในลักษณะดังนี้ เขาก็หาโอกาสหยุดงานด้วยเหตุต่าง ๆ แล้วแต่จะสบโอกาสอำนวย เพื่อมิให้ต้องเสียค่าพาหนะไปมาประจำวันบ้าง เพื่อหารายได้พิเศษนอกเหนือความรู้ในหน้าที่นักดนตรีบ้าง บางคนก็เข้าหารายได้จากวงดนตรีลีลาศในเวลาค่ำคืน อันเป็นเหตุให้เสื่อมความสามารถทางฝีมือดนตรีและอิดโรยกำลัง เป็นการพ้นวิสัยที่จะหวังให้นักดนตรีเหล่านี้อยู่ในระเบียบวินัยหรือมีความซื่อตรงจงรักภักดีต่อหน้าที่ราชการ เมื่อเหตุการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ จะหวังให้คุณภาพในวงดนตรีดีถึงขนาด ย่อมเป็นการยาก เพราะเขาห่วงใยในการครองชีพกว่าการงานในหน้าที่ราชการ ความรู้สึกนึกคิดที่จะปฏิบัติกิจการในหน้าที่นักดนตรีด้วยจิตใจบริสุทธิ์ผุดผ่องหรือร่วมแรงร่วมใจในวงดนตรีด้วยดี ย่อมด้อยลงเป็นธรรมดา อุปมาดังทีมฟุตบอลล์ เมื่อมีนักฟุตบอลล์ที่ไม่มีกำลังใจและอารมณ์ช่วยทีมของตนแล้ว ทีมนั้นก็ย่อมหวังชัยชนะได้ยาก

เมื่อชี้แจงถึงสภาพของเครื่องดนตรีและนักดนตรีอันมีสภาพน่าอนาถ เพราะความเสื่อมโทรมเนื่องจากขาดการทำนุบำรุงและซ่อมแซม หากจะฟื้นฟูและปรับปรุงวงดนตรีกรมศิลปากร ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ถ้าไม่มีเงินเพียงพอกอบกู้มั่นคงแล้ว แม้ผู้หนึ่งผู้ใดจะมีกำลังใจ กำลังกาย และความสามารถ หรือมีความมานะพยายามสักปานใดก็ตาม ก็ตกอยู่ในฐานะที่หนักใจและมองไม่เห็นช่องทางสำเร็จได้ เพราะทางที่จะฟื้นฟูและปรับปรุงจำจะต้องดำเนินการตั้งแต่.-

๑.เริ่มดำเนินการซ่อมเครื่องดนตรีที่ชำรุดและเสื่อมโทรมทั้งหมดให้มีสภาพใช้การได้ แล้วจัดหาเครื่องดนตรีใหม่ทดแทนเครื่องที่หมดโอกาสซ่อมหรือเพิ่มเครื่องใหม่ เพื่อความเหมาะสมแก่กิจการนี้

๒.สะสมเครื่องอะไหล่ให้พอใช้การไม่ขาดมือเมื่อต้องการ

๓.จัดหาเครื่องมือและเครื่องใช้ในการซ่อม ตลอดจนช่างซ่อมและห้องซ่อม

๔.จัดหาและซ่อมบทเพลงที่มีไม่ครบชุดหรือศูนย์หาย ให้ครบชุดและเพียงพอแก่ความต้องการของวงดุริยางค์

๕.จัดหาผู้รับผิดชอบในการรักษาและตรวจตราบทเพลง

๖.ระบายนักดนตรีที่ไม่เหมาะสมออกรับบำเหน็จบำนาญตามควรแก่การณ์

๗.แสวงหานักดนตรีภายนอกที่สามารถและผ่านการสอบตรวจทางแพทย์และทางปฏิบัติแล้วเข้ามาร่วมงาน

๘.จัดตั้งโรงเรียนเพื่อผลิตนักดนตรีขึ้นมาใหม่สำหรับใช้การในภายหน้า กับตั้งวงดุริยางค์นักเรียน (Junior Orchestra) อีกวงหนึ่งเป็นวงสำรองสำหรับป้อนนักดนตรีที่ต้องขาดหน้าที่ไปจากวงมาตรฐาน

๙.กำหนดอัตราเงินเดือนนักดนตรีให้พอแก่การครองชีพ เพื่อตัดกังวลในกิจส่วนตัวและฝักใฝ่ในการหาลำไพ่ภายนอก

๑๐.กำหนดอัตราเงินรางวัลให้ผู้ที่ทำการนอกเหนือหน้าที่ เช่น ผู้ที่ต้องทำการฝึกสอน เป็นการบำรุงกำลังน้ำใจในหน้าที่พิเศษ (ครูฝึก)

๑๑.วางระเบียบที่เกี่ยวแก่ความประพฤติและการปฏิบัติให้อยู่ในวินัย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและป้องกันการปฏิบัติตามใจชอบจนเสื่อมเกียรตินักดนตรีหรือเกียรติของกรมกอง เช่น ไปสมทบวงดนตรีภายนอกทำการรับจ้างเพื่อแสวงหารายได้พิเศษโดยมิได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการของวงดนตรี

๑๒.นอกจากกิจการที่จะฟื้นฟูและปรับปรุงอันเกี่ยวแก่เครื่องดนตรีและนักดนตรีแล้ว ก็มีเรื่องที่จะต้องพิจารณาถึงสถานที่ เดิมดนตรีสากลวงนี้ตั้งอยู่ ณ สถานที่ในบริเวณโรงโขนหลวง สวนมิสกวัน ต่อมา ได้ย้ายมาอัดแออยู่ในส่วนหนึ่งของบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติซึ่งสถานที่คับแคบและมีเสียงอื่นรบกวนรอบด้าน ไม่เหมาะแก่การฝึกซ้อมและการเล่าเรียน เห็นสมควรจะได้กลับไปอยู่ที่สวนมิสกวันดังเดิม ขยายสถานที่นี้ให้เหมาะสมแก่กิจการดนตรีขึ้นอีก

ตามที่ได้ชี้แจงถึงสภาพของความเสื่อมโทรมและทางที่ควรจะฟื้นฟูและปรับปรุงแล้ว ถ้ามีทุนพอที่จะกอบกู้งานนี้ได้ ก็อาจแก้ความเสื่อมและปรับปรุงกิจการของวงดนตรี ตลอดจนจัดหานักดนตรีตามอัตราที่ตองการ ก็ต้องใช้เวลาประมาณ ๓ เดือน กับภายในเวลาอีก ๑ ปี เป็นเวลาฝึกซ้อมกวดขันฝีมือนักดนตรีให้เข้มแข็งพอที่จะปฏิบัติการในหน้าที่ของเขา เป็นอันว่า วงดนตรีที่ปรับปรุงนี้พอจะทำการแสดง Symphony Concert ในลำดับต่อไปได้บ้าง ก็จะต้องใช้เวลาประมาณ ๒ หรือ ๓ ปีนับแต่วันเริ่มดำเนินการนี้เป็นต้นไป

พ.ศ. ๒๔๘๓

ในกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๓ (ราวเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน) ข้าพเจ้าถูกสั่งย้ายจากกรมศิลปากรให้ไปรับราชการทางกองทัพอากาศเพื่อจัดตั้งวงดนตรี โดยที่กองทัพอากาศได้จัดตั้งหน่วยภาพยนตร์ขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการดนตรีใช้บรรเลงประกอบการภาพยนตร์กับสำหรับใช้ในราชการของกองทัพอากาศอีกด้วย

แต่ในขณะนั้น สงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เกิดขึ้นในภาคพื้นยุโรปแล้ว การสั่งซื้อเครื่องดนตรีจากต่างประเทศจึงหมดโอกาสที่จะจัดทำได้ ฉะนั้น ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะได้รับคำสั่งให้ไปจัดการในเรื่องการจัดตั้งวงดนตรีนี้ ทางหน่วยภาพยนตร์ได้จัดซื้อเครื่องดนตรีเท่าที่หาได้ในท้องตลาด แต่คงได้เพียงบางชิ้นซึ่งพอจัดทำให้เป็นวง Jazz Band ขนาดย่อม ๆ ได้เท่านั้น แม้วงดนตรีประเภทนี้จะใช้เป็นวงราชการของกองทัพอากาศ ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปกครองก็มุ่งจะให้จัดตั้งเป็นวงดุริยางค์ (Orchestra) เสียด้วย ข้าพเจ้าจึงได้แนะนำให้ทางกองทัพอากาศติดต่อยืมเครื่องดนตรีบางอย่างจากกรมศิลปากร ซึ่งข้าพเจ้าทราบแน่นอนทีเดียวว่า มีในคลังของแผนกดุริยางค์สากลของกรมศิลปากรอย่างเหลือเฟือ แต่ครั้งแรกที่ขอร้องไป ทางกรมศิลปากรกลับปฏิเสธมิยอมให้ยืม อ้างว่า กำลังใช้ราชการอยู่ ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ข้าพเจ้ารู้แน่ว่า ไม่ถูกต้องต่อความจริง ต่อมาภายหลัง ประมาณอีกหนึ่งปีเศษ เมื่อได้เปลี่ยนตัวอธิบดีกรมศิลปากรแล้ว จึงมีโอกาสยืมมาได้พร้อมทั้งบทเพลงด้วย

ในขั้นเริ่มต้น ข้าพเจ้าได้วางโครงการณ์และเปิดโรงเรียนสอนวิชาการดนตรีเพื่อผลิตนักดนตรีขึ้นในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ โดยโครงการณ์นี้ได้รับอนุมัติจากผู้บัญชาการกองทัพอากาศเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งผลของการศึกษานี้ ปรากฏว่า ภายหลังระยะเวลาเพียง ๒ ปี วงดุริยางค์ของกองทัพอากาศก็สามารถปฏิบัติบทเพลงในขั้นเบื้องต้นได้ดีพอใช้ ครั้นต่อมา ข้าพเจ้าถูกขอร้องจากกรมศิลปากรให้ไปช่วยกิจการของวงดุริยางค์กรมศิลปากรอีกเพราะกำลังเสื่อมโทรมลง ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องปลีกตัวออกไปตรวจราชการทางวงดุริยางค์ศิลปากรด้วย แต่ในระยะเวลาต่อมา ข้าพเจ้าต้องถูกปลดออกจากราชการของกองทัพอากาศเนื่องด้วยครบเกษียณอายุ ๖๐ ปี (วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖) ข้าพเจ้าจึงได้ลาออกจากราชการของกองทัพอากาศและมาปฏิบัติราชการทางกรมศิลปากรแต่ทางเดียว โดยได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์การดนตรีประจำมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อแรกเริ่มตั้งขึ้น ในฐานะลูกจ้างรับเงินเดือน

ในระหว่างเวลาที่ข้าพเจ้าปฏิบัติราชการอยู่ในกองทัพอากาศนั้น ข้าพเจ้ามีโอกาสเรียบเรียงวิชาการดนตรีและการขับร้องไว้หลายเล่ม โดยจัดพิมพ์ไว้ด้วยเครื่องอัดสำเนา

พ.ศ. ๒๔๘๖

เมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดขึ้นแล้ว ไม่ปรากฏว่า มีนักศึกษาวิชาการดนตรีมาสมัครเล่าเรียนแม้แต่คนเดียว ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสให้วิทยาทานแก่นักดนตรีของวงดุริยางค์ศิลปากรที่สนใจในวิชานี้ให้ได้มารับการอบรมเพิ่มเติมความรู้เพื่อประโยชน์ของตัวเขาเอง จัดได้เป็นครูดนตรีที่สมบูรณ์ในอนาคต แต่ก็มีนักดนตรีที่สมัครเข้ามาเล่าเรียนเพียง ๔ คนเท่านั้น นอกจากวิชาการประสานเสียงแล้ว ข้าพเจ้ายังได้สอนภาษาอังกฤษให้อีกด้วย นักดนตรี ๔ คนที่กล่าวนี้ไม่มีโอกาสมารับการอบรมได้อย่างจริงจัง เพราะติดราชการในหน้าที่นักดนตรีอยู่ ผลจึงไม่ใคร่สมบูรณ์เท่าที่ควร

พ.ศ. ๒๔๙๐

ในลำดับต่อมา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ปรากฏว่า วงดุริยางค์ศิลปากรทรุดโทรมหนักขึ้นไปอีก ข้าพเจ้าจึงถูกสั่งย้ายจากมหาวิทยาลัยศิลปากรให้ไปประจำในกองการสังคีตซึ่งวงดุริยางค์สากลสังกัดอยู่ เพื่อแก้ไขให้กลับฟื้นตัวขึ้นมา

เมื่อข้าพเจ้าได้ไปตรวจดู ก็ปรากฏว่า ข้อบกพร่องมีอยู่มากมาย ซึ่งนับแต่เวลาที่ข้าพเจ้าได้จากไปตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นต้นมา เพื่อไปรับราชการทางกองทัพอากาศ ปรากฏว่า บทเพลงของวงดุริยางค์กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เครื่องดนตรีมีสภาพทรุดโทรมมาก เครื่องอะไหล่ต่าง ๆ เช่น สายซอต่าง ๆ ลิ้นปี่ต่าง ๆ มีไม่พอจ่ายให้แก่นักดนตรี นักดนตรีจึงต้องอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องฝึก ทั้งไม่มีการควบคุมการใช้จ่ายเครื่องอะไหล่เหล่านี้ด้วย ในการแก้ข้อบกพร่องต่าง ๆ เหล่านี้ ข้าพเจ้าจำเป็นต้องทำทะเบียนเพลงและทะเบียนเครื่องดนตรีขึ้นมา และวางหลักการบัญชี การควบคุมการใช้จ่ายเครื่องอะไหล่ต่าง ๆ ด้วย ข้าพเจ้าต้องเสียเวลาเพื่อการนี้ไม่น้อยกว่า ๓ เดือน ในด้านนักดนตรีนั้นเล่า ก็ปรากฏว่า ไม่มีระเบียบและวินัยทั้งมารยาทเสียเลย การฝึกซ้อมรวมวงต้องดำเนินไปอย่างขลุกขลักยากเข็ญที่สุด เพราะนักดนตรีส่วนมากมารับราชการสายเป็นประจำ บางวันถึงเวลา ๑๐.๐๐ น. เศษแล้ว ก็ยังไม่พร้อมที่จะทำการซ้อมรวมวงได้ ครั้นตอนบ่าย ก็หายหน้าไปเป็นส่วนมาก จะรวมวงฝึกซ้อมก็ไม่ได้ การบกพร่องเหล่านี้ต้องกระทบกระเทือนต่อการฝึกฝนเป็นธรรมดา ครั้นต่อเมื่อข้าพเจ้าเข้มงวดเข้าบ้าง ในเรื่องเวลาทำการฝึกซ้อมก็ดี ในเรื่องระเบียบวินัยก็ดี เพื่อหวังผลของการปฏิบัติดังที่ข้าพเจ้าเคยทำมาแล้วในสมัยที่ข้าพเจ้ายังควบคุมดุริยางค์วงนี้อยู่ แต่ก็ได้รับการกลั่นแกล้งจากนักดนตรีเกเรบางคน ทำเสียงสุนัขหอนบ้าง เปรตร้องบ้าง เขียนภาพหัวกระโหลกกับกระดูกไขว้ไว้บนฝาตู้เพลงบ้าง ในที่สุด ถึงกับวันหนึ่งได้เอาหมวกของข้าพเจ้าไปเตะเล่น แล้วไปซุกซ่อนไว้หลังตู้ ซึ่งกว่าข้าพเจ้าจะพบเห็น ก็ต้องกลับบ้านโดยมิได้สวมหมวก วิธีเล่นอย่างสกปรกและวิตถารในสถานที่ราชการและในเวลาราชการเช่นนี้ ข้าพเจ้าไม่เคยประสพมาเลยในชีวิตเป็นข้าราชการของข้าพเจ้ามานานกว่า ๕๐ ปี (แต่ขอกล่าวในที่นี้ด้วยว่า ข้าพเจ้าต้องยกเว้นการตำหนินี้ในหมู่นักดนตรีชั้นผู้ใหญ่รุ่นเก่า ๆ ของข้าพเจ้าซึ่งยังมีเหลืออยู่ในถึงกึ่งของจำนวนนักดนตรีทั้งหมด นักดนตรีเหล่านี้ยังคงแสดงความเคารพยำเกรงข้าพเจ้าเช่นเดิม) ข้าพเจ้าต้องถูกโจมตีโดยนักดนตรีที่เกเรเหล่านี้ด้วยการส่งบัตรสนเท่ห์ไม่หยุดหย่อน กล่าวหาความเข้มงวดของข้าพเจ้า นี่คืออุปสรรค์ขั้นแรกของการปรับปรุง แต่ครั้นต่อมา เหตุการณ์ที่กล่าวนี้ก็ค่อย ๆ เบาบางลงมาบ้าง แต่ก็ยังหวังให้มีการฝึกซ้อมรวมวงในตอนบ่ายไม่ได้เช่นเคย

ข้าพเจ้ามองเห็นได้ชัดทีเดียวว่า ความเสื่อมโทรมของวงดุริยางค์วงนี้เกิดขึ้นเพราะการหย่อนในระเบียบวินัยเป็นต้นเหตุ ซึ่งเป็นการยากนักยากหนาที่จะทำให้ฟื้นตัวให้ดีขึ้นได้ ในเมื่อนักดนตรีเหล่านี้ไม่เต็มใจร่วมมือเพื่อเกียรติของตนเอง และเพื่อประโยชน์ของราชการ โดยที่เคยตัวเสียแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ดี ข้าพเจ้ายังหมั่นเพียรและพยายามที่ให้มีการฝึกซ้อมการบรรเลงเพลงสำหรับประชาชนประจำสัปดาห์ในฤดูร้อน และการแสดง Symphony Concert ภายหลังฤดูฝน ถึงสามครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ และอีกสามครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ด้วยความลำบากหนักใจเป็นที่สุด ทั้งนี้ ก็เพราะในระหว่างเวลาของการฝึกซ้อมนั้น ไม่เคยปรากฏเลยว่า มีนักดนตรีมาประจำวงในหน้าที่ของตนโดยครบถ้วนแม้แต่ครั้งเดียว นอกจากวันแสดงจริงเท่านั้น เพราะเขาหวังจะได้รับเงินรางวัลจากผลของการแสดงเท่านั้น จึงเห็นได้ชัดทีเดียว นักดนตรีส่วนมากหวังแต่เงิน ส่วนงานและเกียรตินั้นไม่เอาแน่ ข้าพเจ้าเห็นว่า Symphony Concert ต่าง ๆ เท่าที่ได้แสดงไปแล้วนั้น ควรจะทำได้ดีกว่าที่ได้ทำไปแล้วอย่างมาก ถ้าหากการฝึกซ้อมได้ดำเนินไปอย่างมีระเบียบวินัยและพร้อมเพรียงกัน

พ.ศ. ๒๔๙๖

เนื่องจากอุปสรรคต่าง ๆ ที่ถ่วงความเจริญของดุริยางค์วงนี้ดังได้กล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า มีทางเดียวเท่านั้นที่จะแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ได้ คือ จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาการดนตรีเพื่อผลิตนักดนตรีขึ้นมาใหม่ โดยให้สังกัดอยู่ในแผนกดุริยางค์สากลในความอำนวยการของข้าพเจ้าโดยตรง แต่โครงการณ์นี้ได้รับการขัดขวางต่าง ๆ นานาจากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของกรมศิลปากร ดังจะเห็นได้จากสำเนาเอกสารที่แนบมานี้

(สำเนา)
สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
กรมศิลปากร
รับที่ ๓๘๖๘ วันที่ ๑๙ ธ.ค. ๙๕
 
ที่ วธ. ๑๗๑๑๑/๒๔๙๕
กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
๑๘ ธันวาคม ๒๔๙๕
 
เรื่อง พระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องการสอนวิชาดนตรี
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอว่า ในคราวที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายคำชี้แจงข้อราชการเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ศกนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปรารภว่า ตามโรงเรียนต่าง ๆ ควรจะได้มีการสอนและฝึกวิชาดนตรีทั้งไทยและสากลด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กราบบังคมทูลว่า ขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการก็ได้กระทำอยู่แล้ว แต่ส่วนมากเป็นการสอนขับร้องและดนตรีไทย จึงรับที่จะนำมาพิจารณารื้อฟื้นใหม่ พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่า การดนตรีของเราขาดครูผู้ชำนาญ ครูดนตรีที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ นับวันแต่จะหมดไป ควรจะได้ตั้งโรงเรียนการดนตรีขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อฝึกให้มีผู้ชำนาญในวิชาดนตรี อันจะเป็นประโยชน์แก่ทางราชการและประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กราบบังคมทูลว่า หากจัดเป็นโรงเรียนแล้ว ทาง ก.พ. จะต้องเทียบวุฒิของผู้ที่สำเร็จจากโรงเรียนแห่งนี้เพื่อเข้ารับราชการด้วย มิฉะนั้น เริ่มแรกจะมีนักเรียนน้อยและอาจหาผู้สมัครไม่ใคร่ได้ และรับที่จะเสนอให้ทางรัฐบาลพิจารณาว่า จะจัดตั้งขึ้นเพื่ออยู่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการหรือกรมศิลปากรต่อไป

อนึ่ง เรื่องโรงละครของกรมศิลปากร ขณะนี้ ปรากฏว่า ชำรุดทรุดโทรมมาก ควรจัดทำให้ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กราบบังคมทูลว่า รัฐบาลได้คิดจะทำเหมือนกัน แต่งบประมาณถูกตัดไป ทรงพระราชทานความเห็นว่า เงินที่จะมาทำ ควรเป็นเงินประเภทลงทุนหรือเงินกู้ แล้วให้กรมศิลปากรจัดหาประโยชน์เพื่อนำส่งคืนเป็นการใช้หนี้

คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ศกนี้ ลงมติมอบให้กระทรวงวัฒนธรรมรับไปพิจารณาจัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาดนตรีขึ้น รวมทั้งเรื่องการสร้างโรงละครแห่งชาติด้วย

จึงยืนยันมา.

  • ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
  • (ลงนาม) ชำนาญอักษร
  • (หลวงชำนาญอักษร)
  • เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  • นำเรียนผู้รักษาการแทนปลัดกระทรวง
  • เพื่อทราบและนำเสนอ
  • รมช. ทราบและพิจารณาทั้ง ๓ เรื่อง
  • กรมศิลปากรมีและดำเนินการอยู่แล้ว
๑๙ ธ.ค. ๙๕
ขอประทานเสนอท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ

กระผมจักได้ส่งเรื่องให้อธิบดีกรมศิลปากรพิจารณาดำเนินการตามพระราชประสงค์ต่อไป.

  • (ลงนาม) รณสิทธิพิชัย
  • ๑๙ ธ.ค. ๙๕
ทราบแล้ว
  • (ลงนาม) พล ท. สวัสดิ์สรยุทธ
  • ๒๑ ธ.ค. ๙๕
เสนออธิบดีกรมศิลปากร

ได้โปรดพิจารณาและดำเนินการตามพระราชประสงค์ต่อไป

  • (ลงนาม) รณสิทธิ
  • ๒๒ ธ.ค. ๙๕

ส่งหัวหน้า กกส. พิจารณาเสนอ สงสัยในหลักการข้อใด ให้ถามได้

  • (ลงนาม) รณสิทธิ
  • ๒๓ ธ.ค. ๙๕
รายงานการประชุมหัวหน้ากอง กศก.
ครั้งที่ ๖/๒๔๙๖
วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๙๖
เริ่มประชุมเวลา ๑๐.๓๐ น.

ผู้ที่มาประชุม

๑. พ.ท. หลวงรณสิทธิพิชัย อศก. ประธาน
๒. ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกพิเศษ
๓. นายศิลป พีระศรี อาจารย์ปฏิมากร
๔. หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ภัณฑารักษ์เอก
๕. นายกฤษณ์ อินทโกศัย ลศก.
๖. นายธนิต อยู่โพธิ์ หัวหน้า กกส.
๗. นายตรี อมาตยกุล หัวหน้า กสก.
๘. ม.จ.ยาใจ จิตรพงศ์ หัวหน้า กสก.
๙. นายแนบ พวงไพโรจน์ รักษาการหัวหน้า กหศ.
๑๐. นายมานิต วัลลิโภดม หัวหน้า กบค.
๑๑. นายยิ้ม ปัณฑยางกูร รักษาการหัวหน้า กจช.
๑๒. นายสถาพร เวคะวากยานนท์ รักษาการ ลมศ.
๑๓. นายนิวัตน์ คชพงศ์ รักษาการหัวหน้า ผสบ. เลขานุการ

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ประธานกล่าวว่า เรื่องดุริยางค์สากล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้มีสมรรถภาพและคุณภาพดีกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ และท่านนายกรัฐมนตรีก็มีความประสงค์เช่นนั้น และใคร่จะให้ตั้งโรงเรียนเป็นเอกเทศโดยเฉพาะ แต่การตั้งเป็นเอกเทศ รู้สึกว่า ไม่สะดวกต่อการบังคับบัญชา และไม่มีวิทยะฐานะ เพราะเรียนแต่ทางดนตรีอย่างเดียว ไม่ได้เรียนวิชาสามัญ จึงให้คงเปิดเรียนในโรงเรียนนาฏศิลปตามที่ตกลงกันไว้แล้ว วิชาสามัญคงมีสอนไปตามหลักสูตร ส่วนวิชาศิลป ขอให้เรียนแต่วิชาดุริยางค์สากลโดยเฉพาะอย่างเดียว และขอให้หัว กกส. รับไปพิจารณาวางหลักสูตร นอกจากนั้น ขอให้เปิดสอนศิลปชั้นสูงขึ้น เพื่อนักเรียนจะได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารต่อไป หัวหน้า กกส. รับทราบ . . . . . . . . . .

ขอให้สังเกตุด้วยว่า ในฐานะที่ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์การดนตรีมหาวิทยาลัยศิลปากร และได้ถูกเรียกตัวเข้ามาให้ช่วยเหลือการปรับปรุงกิจการของวงดุริยางค์สากลศิลปากรในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญการดนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา แต่ก็มิได้ถูกเชิญตัวให้เข้ามาร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วยนั้น เป็นการสมควรหรือไม่ประการใด ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาและวินิจฉัยดูด้วย ครั้นต่อมาอีก ๑๐ เดือน ข้าพเจ้าได้รอคอยดูการคลี่คลายของการปรับปรุงตามวิธีของที่ประชุมนี้กำหนดไว้ เห็นแล้วก็หมดศรัทธาและสิ้นหวังที่จะทำให้ดุริยางค์วงนี้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องลาออกจากราชการของกรมศิลปากรตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมา.

กรุงเทพฯ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗