ข้ามไปเนื้อหา

ชีวประวัติของข้าพเจ้า/ส่วนที่ 3

จาก วิกิซอร์ซ
ผลงานในกรมตำรวจ

ในปี ๒๔๙๓ นายพลตำรวจเอก หลวงชาติตระการโกศล ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังกรมศิลปากรขอยืมตัวคุณพระเจนดุริยางค์มาเป็นผู้วางโครงการณ์จัดตั้งวงดุริยางค์ขึ้นในกรมตำรวจ เพื่อใช้บรรเลงนำขบวนสวนสนามและในรัฐพิธีต่าง ๆ ฉะนั้น ในตอนเช้า คุณพระเจนดุริยางค์จะมาประจำทำการสอนที่กรมตำรวจ และในตอนบ่าย ก็จะไปปฏิบัติงานทางกรมศิลปากร

ผลงานที่คุณพระเจนดุริยางค์ได้พยายามอบรบสั่งสอนตำรวจดุริยางค์นั้นได้ปรากฏผลแก่สายตาประชาชนเป็นครั้งแรกในประวัติของกรมตำรวจ ซึ่งในพิธีการสวนสนามของกรมตำรวจเมื่อ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๙๔ ได้ใช้วงดุริยางค์ของกรมตำรวจบรรเลงนำขบวนสวนสนามเอง วงดนตรีของกรมตำรวจได้รับความยกย่องสรรเสริญจากบรรดาท่านผู้ใหญ่ตลอดจนถึงประชาชน นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุณพระเจนดุริยางค์นำวงโยธวาทิตของตำรวจเข้าถวายการบรรเลงที่พระที่นั่งอัมพรสถานอีกด้วย ต่อมา ก็ยิ่งทรงโปรดปรานมากยิ่งขึ้น เมื่อมีพระราชพิธีหรืองานต้อนรับพระราชอคันตุกะต่างประเทศแล้ว มักจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้วงดุริยางค์ตำรวจเข้าถวายการบรรเลงแทบทุกครั้งไป ในการนี้ คุณพระเจนดุริยางค์จะเป็นผู้จัดรายการเพลงและควบคุมการฝึกซ้อมด้วยตนเอง

ในตอนปลายปี ๒๔๙๖ กรมตำรวจได้มอบหมายให้คุณพระเจนดุริยางค์จัดตั้งวงดุริยางค์ตำรวจให้กับโรงเรียนพลตำรวจในภาคต่าง ๆ รวมทั้งโรงเรียนพลตำรวจนครบาล ท่านจึงได้รวบรวมตำราแบบเรียนแบบฝึกหัดสำหรับอบรมนักดนตรีของวงโยธวาทิตเพื่อทำหน้าที่เป็นครูฝึกนักดนตรีอีกชั้นหนึ่ง

จากผลงานที่คุณพระเจนดุริยางค์ที่ได้ปฏิบัติมา เป็นผลให้วงดุริยางค์ของกรมตำรวจเจริญเป็นปึกแผ่นขึ้น กรมตำรวจจึงได้ขอโอนคุณพระเจนดุริยางค์จากกรมศิลปากรมารับราชการในกรมตำรวจในตำแหน่งผู้อำนวยการฝึกสอนวิชาการดนตรี และผู้เชี่ยวชาญวิชาดนตรี กรมตำรวจ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ เป็นต้นมา และรับราชการต่อเนื่องมาจนถึงวาระสุดท้ายที่ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๑.