ชุมนุมพระนิพนธ์ (บางเรื่อง)/๗๐

จาก วิกิซอร์ซ
ปาฐกถา เรื่อง ประเพณีไทย
ของ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ




(องค์ปาฐกทรงแยกเรื่องประเพณีของไทยไว้เป็นห้าตอน คือ ประเพณีการเกิด ประเพณีการศึกษา ประเพณีการทำมาหากิน ประเพณีการแต่งงาน และประเพณีการตาย ในตอนหนึ่ง ๆ ได้ประทานอรรถาธิบายไว้แจ่มแจ้ง

ต่อไปนี้ คือ สำเนาปาฐกถาซึ่งพนักงานชวเลขประจำสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยได้จัดส่งมา ยังเกรงว่า จะขาดตกบกพร่องไปบ้าง ซึ่งหากเกิดมีขึ้นเช่นได้ปรารภนี้ หวังว่า จะได้รับประทานอภัยโทษจากองค์ปาฐก และได้รับอภัยจากผู้อ่านทั่วกัน)




บัดนี้ ปรากฏว่า มีผู้เอาใจใส่ต่อโบราณคดีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน พวกที่ศึกษาโบราณคดีหลายคนที่เป็นมิตรสหายของฉันได้นำความคิดความเห็นมาสอบถามซึ่งเขาอยากจะรู้และสงสัย ฉันยินดีอย่างยิ่งที่จะชี้แจงให้มิตรสหายทุก ๆ คนทราบ สิ่งไรที่รู้ก็จะบอกให้ทราบ สิ่งไรที่ไม่รู้ก็จะบอกได้ว่า ไม่รู้ แต่การที่มาถามกันทีละคนสองคนนั้นเป็นการลำบากอยู่ เพราะฉันเป็นผู้มีกิจต้องไปโน่นมานี่ ข้อความที่ต้องการรู้มีมาก ไม่มีเวลาพอที่จะชี้แจงให้เขาทราบได้

อีกสถานหนึ่งนั้น ความคิดอันเดียวกัน บางทีคนนี้มาถาม ต่อมา คนโน้นมาถาม ฉันอธิบายไปซ้ำ ๆ ซากๆ เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ ฉันได้พูดขึ้นว่า ผู้ใดอยากจะรู้ขอให้รวมกันเข้า ฉันอยากจะชี้แจง จงนัดพร้อมกัน ถ้ามีจำนวนมาก แสดงปาฐกถาให้ฟังก็ได้ หรือถ้ามีผู้ใคร่รู้สี่ห้าคน มาพร้อมกันที่บ้านฉันก็ได้ เมื่อได้บอกมิตรไปเช่นนี้แล้ว ในเวลาไม่ช้านัก ก็ได้รับคำแจ้งความว่า มีผู้อยากฟังจำนวนสี่สิบคนเศษ ฉันได้ตอบไปว่า ถ้าเช่นนั้นไปหาที่ฟังเป็นปาฐกถา ที่แสดงมีอยู่สองแห่ง คือ ที่พิพิธภัณฑ์ และที่หอพระสมุด ที่พิพิธภัณฑ์วันอาทิตย์เปิดให้มหาชนชม จึงตกลงกันให้มาฟังที่หอพระสมุด ปาฐกถาที่จะแสดงวันนี้เกิดจากมีมิตรอยากฟังเรื่อง "ประเพณีไทย" ก่อนที่จะแสดงจำต้องบอกก่อนว่า เกิดมาเป็นคน ท่านทั้งหลายก็ตาม ตัวฉันก็ตาม ไม่มีความรู้มาแต่กำเนิด สิ่งไรที่รู้ก็จะชี้แจงให้ฟัง สิ่งไรที่ผิดพลาดไปบ้างก็จงอภัย

คดีธรรมก็ตาม คดีโลกก็ตาม ใครรู้ทั้งหมดพ้นวิสัย ฉันเป็นผู้เริ่มศึกษาโบราณคดีมาชำนาญและจนมีอายุมากกว่าท่านทั้งหลายที่อยู่ในที่นี้ เว้นแต่พระยาสิงหาเสนี ขอท่านอย่าเข้าใจผิด ฉันอยากกล่าวในทางโลกว่า เวลานี้เป็นกลางวัน ก็ไม่มีผู้ใดเถียง จึงเป็นอันถูกต้อง หรือว่าด้วยโบราณคดี กรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นผู้สร้าง ก็ไม่มีใครเถียงได้ ก็เมื่อผู้ศึกษาโบราณคดีก็ดี ฉันก็ดี สิ่งที่ไม่รู้มีมากอยู่ ถือตัวว่าเป็นผู้รู้รอบแล้ว ก็เป็นการเข้าใจผิดทั้งสิ้น สิ่งไรที่เรารู้น้อยควรศึกษาหาเหตุผลเพิ่มพูน ความรู้ของเราจะเจริญขึ้นเสมอ ถ้าเรารู้สึกใจว่า รู้พอแล้ว ไม่ต้องพอกพูนอีก นี่ก็คือทางหายนะเท่านั้น ท่านทั้งหลายถ้าประพฤติดังนี้แล้วต้องเสื่อมเป็นแน่ การแต่งหนังสือก็ดี เราควรสังเกตตัวเราเองได้ บทใดไม่ดี เราสังเกตหาเหตุผลหรือปรึกษาผู้รอบรู้ ความคิดความอ่านเราจะกว้างขวางขึ้นอีก สำหรับนักโบราณคดี ถ้าจะเล่นต้องจำไว้ สิ่งที่ร้ายที่สุดนั้นก็คือ ไม่รู้บอกว่ารู้ ทำให้คนทั้งหลายที่พยายามศึกษาเสียไปด้วย หลักของเรื่องโบราณคดีคัดเอาแต่ใจความแล้วจำใส่ใจไว้ให้แม่นยำ จะได้เป็นหลักวินิจฉัยต่อไป

จะยกอุทาหรณ์ปัญหาให้ฟักสักเรื่องหนึ่ง การค้นคว้าของฉัน ค้นมาตั้งสามสิบปี พึ่งได้หลักฐานอันแน่นอนเมื่อเย็นวานนี้เอง ท่านทั้งหลายเคยไปเที่ยวที่พระปฐมเจดีย์ของไทยเรา จังหวัดนครปฐม คงจะได้เห็นศิลาที่มีรอยเจาะบนพระปฐมเจดีย์มีมาก ฉันสงสัย นี่เป็นอะไร มีแต่รอยเจาะไว้ จึงนึกปลงใจว่า เขาคงใช้เชือกผูกร้อยเอามาจากลพบุรีเพื่อสะกวดแก่การขนกระมัง เมื่อครั้งศาสตราจารย์เซเดส์อยู่ด้วยกัน เคยไปเที่ยวด้วยกัน ฉันได้ถามเซเดส์ เซเดส์ตอบไม่ได้ ต่อมาจนเซเดส์กลับไปเมืองญวน เห็นที่วัดมีระฆังทำด้วยหินใช้ตีดัง เซเดส์จึงตอบมาว่า หินที่เจาะรูเป็นระฆังกระมัง ฉันได้ส่งหลวงบริบาลออกไปเอามาสงวนไว้ในพิพิธภัณฑสถานของเรา ทำไมฉันจึงส่งหลวงบริบาลไปเอามา ก็เพราะเห็นเป็นของแปลก และอยากค้นหาเหตุผลต่อไป ต่อเมื่อเย็นวานนี้เอง หลวงบริบาลเอาไม้ตีมีเสียงดังเป็นระฆัง หินเจาะรูค้นมาสามสิบปีพึ่งได้ความรู้ เมื่อเราเห็นสิ่งที่ควรสังเกต เราควรสังเกตให้มาก ที่จริงเป็นของสนุกมาก เหมือนคิดหมากรุกกล แต่นี่เป็นของโลก สนุกดีทีเดียว เมื่อภายหลังเราพบของจริงเข้าจะยินดีที่สุด เราควรเล่น เพราะเป็นการเล่นของนักโบราณคดี ความยินดีของเราจะบังเกิดขึ้นเอง

เรื่องประเพณีไทยที่จริงฉันเสียเปรียบอยู่หน่อย ถ้าบอกให้รู้ตัวแต่เนิ่น ๆ ก็จะได้มีเวลาเที่ยวค้นคว้าให้มากกว่านี้อีก เอาเพียงเท่าที่รู้ก็แล้วกัน แต่อาจจะขาดตกบกพร่องได้ ประเพณีแบ่งได้สามชนิด คือ ประเพณีส่วนตัวบุคคล ประเพณีส่วนประชุมชน ประเพณีส่วนรัฐบาล ที่เรียกว่า ประเพณี ก็คือ คนทั้งหลายทำตาม ๆ กันมา คนแต่ก่อนเคยทำอย่างไร คนต่อมาก็ทำอย่างนั้น ประเพณีส่วนตัวบุคคลที่ประพฤติกันอยู่ก่อน ก็คือ ผู้ชายต้องใส่เสื้อราชปะแตน จนบัดนี้ก็ยังปรากฏอยู่ ที่จริงเราก็มิได้คิดเช่นนั้น แต่เป็นประเพณีอย่างนี้ อีกอย่างหนึ่ง ประเพณีส่วนประชุมชน เช่น ทอดกฐิน และผ้าป่า เป็นงานที่เคยทำพร้อมกันมา อีกอย่างหนึ่ง ประเพณีส่วนรัฐบาล เช่น พิธีโล้ชิงช้า เป็นต้น แต่จะแสดงให้ฟังทั้งสามหมวดวันนี้ไม่ได้ เวลาไม่พอ ฉันจะยกขึ้นแสดงแต่ประเพณีเฉพาะส่วนตัวบุคคลของไทยเรา ประเพณีของไทยเราจะสังเกตได้จากพงศาวดารซึ่งท่านทั้งหลายรู้แล้วว่า ไทยได้อพยพครอบครัวมาจากทางเหนือ เมื่อเดิมอยู่เมืองจีน ภายหลังไทยมีอำนาจ ตั้งผู้ปกครอง ยกมาทางใต้ อยู่ปะปนกับชาวต่างประเทศ เช่น ขอม เขาได้ปกครองอยู่ก่อน เราเอาแบบมาประพฤติตาม บางทีจีนนำมา เราประพฤติก็มี

คราวนี้ จะกล่าวแต่หลักของประเพณีที่เกิดขึ้นในส่วนตัวของบุคคล จัดเป็นห้าประเภท คือ ประเพณีเนื่องในการศึกษา หนึ่ง ประเพณีเนื่องในการอาชีพ หนึ่ง ประเพณีเนื่องในการมรณะ หนึ่ง ประเพณีเนื่องในการแต่งงาน หนึ่ง ประเพณีเนื่องในการเกิด หนึ่ง

การเกิด ถึงแม้ว่าสัตว์เดียรัจฉาน ก็รักลูกเป็นธรรมดา เมื่อเกิดมาแล้วอยากจะเลี้ยงต่อไป ไม่อยากให้เป็นอันตราย นี่เป็นธรรมดาของสัตว์ คนเราในเวลาเกิด มีความวิตกและความยินดีของพ่อแม่เท่ากัน เมื่อเกิดมาแล้วก็ช่วยกันแก้ไขอย่างดีที่สุด สมัยนี้ การอนามัยดีถึงที่สุด เด็กที่เกิดมาไม่ได้รับอันตราย เพราะมีผู้ศึกษาค้นคว้าหาเหตุผล ในสมัยโบราณ ต้นของประเพณีการคลอดบุตร มารดาใกล้ต่ออันตราย แม่ ๆ ของเด็กและตัวของเด็กที่ตายไปก็มาก จึงเป็นเรื่องกลัวกันนัก ไม่อยากมีลูก คลอดบุตรครั้งหนึ่งเรียกกันว่า ออกทัพครั้งหนึ่ง เมื่อไม่เป็นอันตรายก็บุญกุศล แต่โบราณสิ่งไรอันเกิดด้วยเหตุสุดวิสัยมักโทษผีปิศาจ ในเมื่อเวลาตายลง เด็กที่เกิดมาไม่ควรตายก็ตาย คนโบราณเชื่อว่า ผีเอาไป คิดจัดการป้องกันอย่างสำคัญ ถือว่า ประเพณีการเกิดเป็นของประหลาดหนักหนา ท่านทั้งหลายที่เคยไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์คงเห็นตุ๊กตาชำรุดทรุดโทรมมีมาก ฉันเห็นว่า มันมีประโยชน์เป็นความรู้แก่ชนชั้นหลัง จึงเอามาไว้ ตุ๊กตาเหล่านี้หาคอดีไม่ได้ คอหักทั้งนั้น ฉันไปพบที่สวรรคโลกกับเซเดส์ด้วยกัน ฉันถามเซเดส์ เซเดส์ก็เห็นไปต่าง ๆ ฉันว่า ชะรอยตุ๊กตาเสียกบาลกระมัง ไม่มีหัว มีแต่ตัว เซเดส์ถามว่า เป็นพิธีอะไรกันจึงได้ทำอย่างนี้ แต่ก่อนที่บ้านฉันถึงเวลาขึ้นปีใหม่เดือนใหม่ แม่เคยนำเอาดินมาปั้นเป็นตุ๊กตาเล็ก ๆ แล้วมีข้าวตอกดอกไม้ไปวางไว้ที่หนทางสามแพร่ง เป็นการสะเดาะเคราะห์ เซเดส์เขาแปลว่า เสียกบาล ก็คือ เสียหัว นั่นเอง คือ ต่อยให้คอหัก คนโบราณเวลาออกลูก ซื้อตุ๊กตามาทำพิธี แล้วบอกว่า ให้แก่ผี นอกจากนี้ มีพิธีประกอบอีกหลายอย่าง เช่น เมื่อเด็กออกแล้ว เอาใส่กระด้งร่อนเร่ แล้วกล่าวว่า "สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครรับไปเน้อ" แล้วก็เอาเบี้ยมาซื้อ เรียกว่า แม่ซื้อ วิธีนี้เป็นวิธีกันผีอีกเหมือนกัน ใช่แต่เท่านั้น ยังให้ชื่อถึงสองชื่อ ชื่อเมื่อเด็ก ๆ ชื่อหนึ่ง ชื่อเขียด อึ่ง บึ้ง โตขึ้นได้อีกชื่อหนึ่ง นี่พบทางเชียงใหม่ สิ่งเหล่านี้เพื่อให้ผีเกลียด เนื่องจากความรักลูกถนอมลูก ไม่รู้ว่า ผีมันมีจริงหรืออย่างไร ทำตามกันมาอย่างนั้น นอกจากนี้ สามวันยังมีพิธีทำขวัญกันอีก ถ้าจะว่าไปแล้ว พิธีการเกิดย่อมทำด้วยความรักเป็นประมาณ

คราวนี้ว่าด้วยการศึกษา โลกเขาแบ่งเป็นสี่ประเภท เรียกว่า ขนาดอุ้ม ขนาดจูง ขนาดแล่น ขนาดรุ่น ฉันเอาหลักนี้มาสันนิษฐานประกอบเข้ากับการศึกษา เด็กที่เรียกอุ้มนั้นสันนิษฐานว่า ตั้งแต่เกิดมาจนมีอายุได้สามขวบ ขนาดจูงนั้นตั้งแต่สี่ขวบถึงเจ็ดขวบ ซึ่งจะไปไหนยังไปตามลำพังไม่ได้ ต้องมีคนคอยจูง ต่อนั้นขึ้นไปถึงชั้นแล่น เด็กที่เป็นขนาดแล่น ผู้ชายอายุแปดปีจนถึงสิบสามปี ผู้หญิงตั้งแต่แปดปีจนถึงสิบเอ็ดปี ชั้นที่สี่เป็นชั้นผู้ใหญ่ หมายความว่า ถึงขนาดรุ่นรู้เดียงสา นับเด็กผู้ชายตั้งแต่อายุสิบสามปี เด็กผู้หญิงตั้งแต่สิบเอ็ดปี คนโบราณเมื่อโกนผมไฟแล้วมักจะเอาไว้จุก และเคยทำพิธีกันใหญ่โต คนหลัง ๆ ก็ประพฤติตามกันมาจนบัดนี้ จึงได้เกิดมีความสงสัยกันขึ้นด้วยเรื่องไว้จุกต้นเดิมมาจากไหน ฉันสันนิษฐานได้ทำไมจึงไว้จุก คือว่า จะได้เป็นเครื่องหมายแสดงให้ปรากฏในที่ชุมนุมชนทั้งหลายว่าเป็นเด็กแล้วเท่านั้น เมื่อเข้าที่ชุมนุม ผู้ใหญ่จะได้มีความเมตตาอุปการะให้ความเสมอภาคตามสมควรแก่เด็ก ต่อเมื่ออายุย่างเข้าเขตเดียงสา พ่อ แม่ ชวด ตาของเราก็จัดการโกนจุก มีพิธีรีตองกันอีก เพื่อให้พ้นจากเขตเดียงสา บรรดาประเพณีทุกอย่างตั้งขึ้นด้วยความดีทั้งนั้น เพราะฉะนั้น คนชั้นหลังจึงได้ประพฤติตาม เมื่อมีคนทำตามแล้ว ต้องเกิดขึ้นด้วยความยินดี เด็กขนาดอุ้มและจูงเป็นหน้าที่ของแม่ฝึกหัดสั่งสอน จะดีหรือชั่วแล้วแต่แม่ นักปราชญ์ท่านจึงกล่าวยกย่องว่า "แม่เป็นศาสตราจารย์ผู้ประเสริฐ" แม่จึงเป็นเจ้าหนี้เราอยู่มาก ครั้นถึงขนาดรุ่นและแล่น อายุตั้งแต่แปดขวบขึ้นไป ผู้ชายเป็นส่วนของพ่อ ผู้หญิงเป็นส่วนของแม่ ผู้ชายช่วยพ่อแม่ทำสวนทำนาค้าขายเป็นการอาชีพ ผู้หญิงอยู่กับบ้านฝึกหัดตัวเป็นแม่เรือนหุงต้มปฏิบัติกิจการทางบ้าน ผู้ชายบางคนพ่อเอาไปฝากวัดถวายพระ การเอาไปถวายพระก็เพื่อให้ทำการแทนในหน้าที่ลูกศิษย์ จะสังเกตได้ว่า เด็กมักจะเรียกพระว่า หลวงพ่อ คือ นับถือว่า พ่อของตัวจริง ๆ การที่ให้พระเป็นผู้ฝึกหัดอบรมสั่งสอนนั้นมีประโยชน์ทั้งพ่อแม่และตัวเด็กหลายอย่าง เพราะพระเป็นผู้มีเวลามาก จึงได้มีประเพณีมาจนกระทั่งบัดนี้ ต่อจากนั้น พ่อแม่เมื่อมีสติปัญญาก็เอาลูกไปฝากทำการงาน การฝากวัดเป็นของจำเป็นเหมือนกัน การนำลูกเข้าฝากวัดเปรียบเหมือนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ได้เรียนรู้การสมาคมกับผู้อื่น และได้เล่าเรียนท่องธรรมปฏิบัติสำหรับตัวด้วย แต่ก่อนมาถือกันว่า ฝากพระเหมือนเข้าอยู่ในยูนิเวอซิตีแห่งสยาม เมื่อเติบโตอายุเข้าเขตบวช พระหรือพ่อแม่ก็จัดการบวชให้ การบวชเป็นของสำคัญนักสำหรับคนไทยเรา การบวชเป็นวิธีรักษาตัวให้อิสระต่อไปภายหน้า ทุกวันนี้ การบวชก็ยังแพร่หลายอยู่ น่าชมเชย สำหรับตัวฉันเองได้ใช้ความรู้ในการบวชมาจนทุกวันนี้ คนที่ทำราชการบางเวลาใจคอให้ลุ่มหลงไปในทางกิเลสตัณหา แต่เมื่อหวนคิดในทางธรรมก็คิดได้ยับยั้งชั่งใจได้ กระนั้นก็ดี เมื่อถึงเวลามีเมีย ฝ่ายหญิงเขามักจะถามว่า บวชเรียนแล้วหรือยัง นี่เราจะเห็นได้ว่า ส่วนศึกษาสำคัญที่สุดแห่งเดียว ก็คือ บวชพระ

การแต่งงานประเพณีไทยเราดีมาก ปล่อยให้ผู้หญิงเป็นอิสระมาแต่โบราณ คือ ไม่เก็บตัวดังเช่นหญิงแขก ผู้ชายที่รักผู้หญิงบางคนมักจะพาเพื่อนไปดูที่บ้านเจ้าสาว แล้วทำความรู้จักมักคุ้นกันเสียก่อนจึงแต่งงาน วิธีนี้ดีมาก เพราะเป็นชีวิตของเขาต่อไปภายหน้า เป็นการดีกว่าที่เรียกว่า "คลุมถุงชน" คือ ทั้งฝ่ายชายและหญิงไม่เคยรู้จักสนทนากันเลย ฝ่ายผู้ปกครองนับถือรักใคร่กันก็จัดการแต่งงานให้ ดังนี้ เป็นการทำลายชีวิตในอนาคต การแต่งงานมีอยู่สองชนิด เรียกวา อาวาหมงคล หนึ่ง วิวาหมงคล หนึ่ง อธิบายกันง่าย ๆ ก็คือ อาวาหมงคล ผู้หญิงต้องไปแต่งงานที่บ้านผู้ชาย วิวาหมงคล คือ ผู้ชายต้องไปแต่งงานที่บ้านผู้หญิง พูดถึงเรื่องการแต่งงาน บางทีจะไม่เป็นที่พอใจแก่คนทั้งหลายมากอยู่ ตามที่ได้สังเกตเห็นทุกวันนี้ เจ้าภาพทำการผิดมาก เมื่อมีการแต่งงาน ผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายชายและหญิงมักจะเชิญแขกไปรดน้ำเป็นจำนวนมาก งานใครมีผู้คนไปรดน้ำมากดูเป็นการหรู ใครคิดบ้างว่า เจ้าสาวเขาจะนึกอย่างไร การเชิญแขกรดน้ำแต่งงานเกิดจากการหลงยศข้างผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย กิจที่พอจะเห็นได้ ผู้ที่ไปรดน้ำมักจะเป็นผู้มีอำนาจและมีเกียรติ การเชิญแขกไปรดน้ำเป็นการไถลออกไปนอกประเพณี ตามประเพณีเดิมเขาเชิญเฉพาะผู้ปกครองและผู้รับถือของบ่าวสาวไปรดน้ำเพื่อให้รู้เห็นเป็นพยานในการที่ได้เป็นสามีภรรยากันเท่านั้น บุคคลชายหญิงเมื่อแต่งงานแล้วก็เป็นอิสระ จะไปอยู่แห่งใดก็ได้ ออกจากอกพ่อแม่

กล่าวถึงประเพณีอาชีพ การทำพานทำขันอย่างที่บ้านหล่อทำกันอยู่ทุกวันนี้ และการทำนาทำสวน เป็นประเพณีของเรามาแต่เดิม ฯลฯ ฉันอยากจะเล่าเรื่องให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง ได้พบที่มณฑลนครศรีธรรมราช หมู่บ้านหนึ่งมีเรือนสักหนึ่งพันหลัง ทั้งบ้านจะหาใครมีเงินถึงสองร้อยบาทไม่มี แต่หาคนจนก็ไม่มี ผู้ชายทำสวน ผู้หญิงช่วยทำงานบ้าน ฉันสอบถามได้ความว่า สินค้าที่ทำมาหาได้ก็ไปแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องนุ่งห่มบ้าง เครื่องใช้บ้าง เครื่องบริโภคบ้าง แล้วก็มาสู่กันกินสู่กันใช้ ไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน ตั้งหน้าทำมาหากิน การปกครองเขาปกครองกันเป็นครัวเรือน

คราวนี้ จะกล่าวถึงความมรณะ ธรรมดาการตายจะเอาซากศพไว้ไม่ได้ ฉันได้อ่านพบในหนังสือของเซอฮารีฟสิงห์ นักปราชญ์อินเดีย ว่า ที่ตายแล้วต้องรีบเอาไปฝัง พวกที่ถือทางพุทธเห็นว่า วิญญาณอาศัยรูป ร่างกายเป็นของไม่มีประโยชน์ พวกถืออย่างนี้จึงเอาศพไปเผา คราวนี้ ติกันว่า การเผาศพเป็นขมาผู้ตาย คนที่ไม่รู้เมื่อตายแล้วก็ไม่ควรไปเผาเพราะไม่มีกิจที่จะขมากัน ถ้าผู้นั้นเป็นศัตรูควรไปเผาอย่างยิ่ง ที่จริงเมื่อเวลาเผา เจ้าภาพควรบอกให้รู้เท่านั้นว่า ศพคนนั้นจะเผาวันนั้น เขาจะไปเผาหรือไม่เป็นธุระของเขา และยังติต่อไปอีกว่า ผู้เผาต้องเอาธูปเทียนไปเอง เพราะตั้งใจไปขมาศพ เจ้าภาพไม่ควรตั้งธูปเทียนไว้ให้สำหรับผู้ไปเผา ในเมื่อเวลาใส่ธูปเทียนต้องตั้งใจอธิษฐานขอขมาอภัยต่อผู้ตายได้ล่วงเกินอะไรบ้าง กระทำอย่างนี้จึงจะนับว่า เป็นการถูกต้อง