ชุมนุมพระนิพนธ์ (บางเรื่อง)

จาก วิกิซอร์ซ
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

ปก ลงสารบัญ




ชุมนุมพระนิพนธ์


(บางเรื่อง)


ของ


สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ




สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ


พลโท พระยาสีหราชเดโชไชย


ณ ฌาปนสถานวัดโสมนัสวิหาร
๗ สิงหาคม ๒๕๐๐



หน้า (๓) ขึ้นลงสารบัญ



คำนำ


ด้วยกรมศิลปากรได้รับแจ้งความจำนงจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขอจัดพิมพ์หนังสือ เรื่อง ชุมนุมพระนิพนธ์ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยขอเลือกพิมพ์เพียงเจ็ดเรื่อง ปรากฏรายชื่อตามสารบัญซึ่งพิมพ์ไว้ข้างต้นของหนังสือนี้ เพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาสีหราชเดโชไชย กำหนดงานวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร กรมศิลปากรมีความยินดีอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ดังประสงค์

พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ มีอยู่มากมาย และพิมพ์แยกย้ายอยู่ในหนังสือต่าง ๆ หลายสิบเล่ม แต่ละเรื่องล้วนมีสาระน่าอ่านอย่างยิ่ง ให้ความรู้ทั้งในด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี การปกครอง การศาสนา และอื่น ๆ กรมศิลปากรเคยรวบรวมให้สำนักพิมพ์จัดพิมพ์เป็นเล่มใหญ่มีสองภาคด้วย คือ ภาคหนึ่ง มีพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ดรวมทั้งสิ้นสามสิบสามเรื่อง และภาคสอง มีพระนิพนธ์รวมทั้งสิ้นยี่สิบสองเรื่อง และเมื่อมีผู้มาขอ อนุญาตให้จัดพิมพ์ดังประสงค์

กรมศิลปากรขออนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุประทานซึ่งเจ้าภาพได้บำเพ็ญ ทั้งกุศลซึ่งให้พิมพ์หนังสือที่ดีเช่นนี้ขึ้นแจก จงอำนวยวิบากสมบัติอันดีงามให้พลันลุแด่ท่านผู้สิ้นชีพิตักษัยตามสมควรแก่คติอุปบัตินั้น ๆ เทอญ


กรมศิลปากร
๖ กรกฎาคม ๒๕๐๐



หน้า ๑–๓ (๔–๖) ขึ้นลงสารบัญ



คำนำ


เนื่องจากในงานพระราชทานเพลิงศกพลโท พระยาสีหราชเดโชไชย (สวาสดิ์ บุนนาค) กรรมการอำนวยการและกรรมการบริหารของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ณ ฌาปนสถานวัดโสมนัสวิหาร ในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๐ นี้ คุณหญิงสุนีย์สาย สีหราชเดโชไชย ภริยา ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนคำนำสำหรับหนังสือซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลรับอนุญาตจากกรมศิลปากรให้จัดพิมพ์ชุมนุมพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลโท พระยาสีหราชเดโชไชย ครั้งนี้ ประกอบทั้งเป็นความเจตนาของข้าพเจ้าอยู่แล้ว จึงยินดีที่จะสนองความปรารถนาและร่วมมือให้การเป็นไปตามประสงค์ของคุณหญิงทุกประการ

โดยที่ท่านพลโท พระยาสีหราชเดโชไชย เป็นผู้ได้ประกอบแต่กรรมดีมาตั้งแต่ครั้งยังรับราชการอยู่ในกองทัพบก ซึ่งข้าพเจ้าขณะนั้นก็ยังเป็นนายทหารชั้นผู้น้อยและเคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของท่าน ข้าพเจ้าได้ตระหนักดีว่า ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณธรรมอันสูง เป็นนายทหารซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัย ประกอบด้วยความกล้าหาญ สมแก่การที่เป็นชายชาติทหาร มีชีวิตเป็นทหารมาตั้งแต่ดั้งเดิม นอกจากการปฏิบัติหน้าที่มาด้วยดีควรแก่การสรรเสริญดังกล่าวมาแล้ว ท่านพลโท พระยาสีหราชเดโชไชยยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่ได้ปกครองบังคับบัญชาผู้น้อยด้วยความเป็นธรรม เห็นอกเห็นใจผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แม้จะมีการเฉียบขาด ก็เพื่อเพียงรักษาระเบียบและวินัยให้ธำรงไว้ด้วยดีเท่านั้น ในขั้นต่อมา เมื่อท่านได้พ้นหน้าที่ราชการในกองทัพบกแล้ว ก็ปรากฏว่า ท่านผู้นี้ได้รับการยกย่องไว้วางใจจากรัฐบาล โดยแต่งตั้งให้รับตำแหน่งพิเศษเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลในด้านต่าง ๆ หลายอย่าง อาทิเช่น เป็นกรรมการในคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอำนวยการและกรรมการบริหารงานของสำนักงานสลากกินแบ่งฯ มาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ตลอดมาว่า ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมานะ บากบั่น และซื่อสัตย์ เข้มแข็งต่อระเบียบวินัยอันดีงาม สมควรแก่การที่จะได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่ง ในระหว่างที่ท่านได้ร่วมงานกับข้าพเจ้ามาในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า ท่านได้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด และประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง อันควรนับเป็นตัวอย่างอันดีงามที่อนุชนรุ่นหลังจะพึงถือตาม

ในโอกาสแห่งวันพระราชทานเพลิงศพพลโท พระยาสีหราชเดโชไชย ครั้งนี้ ข้าพเจ้าในฐานะผู้ที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาในกองทัพบก และได้ร่วมงานกันมาในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งข้าพเจ้าเป็นประธานกรรมการบริหารอยู่ จึงละเลยเสียมิได้ที่จะมีความเศร้าสลดใจในมรณกรรมของท่าน แต่เมื่อคิดได้ว่า สังขารของมนุษย์เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน ย่อมมีการเกิดแก่เจ็บตายเป็นที่ตั้ง ในเมื่อท่านผู้ล่วงลับไปแล้วได้ประกอบแต่กรรมที่ดีตลอดมา แม้ชีพจะสูญสลายไปตามกฎแห่งวัฏสงสารอันย่อมเกิดแก่บุคคลทุกผู้ทุกนามโดยมิเว้น แต่ชื่อเสียงอันดีงามของท่านผู้ล่วงลับไปนี้ก็คงจะได้ดำรงอยู่และได้รับการสรรเสริญชั่วกาลนาน

เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้เป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลให้แก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นระยะ ๆ ตลอดจนถึงวันพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้ และได้จัดพิมพ์หนังสือขึ้นแจกเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่บรรดาผู้ที่มาร่วมการกุศลในงานพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขออนุโมทนาให้กุศลบุญราศีซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ได้บำเพ็ญมา ตลอดจนการพิมพ์หนังสือแจกเป็นสาธารณประโยชน์ครั้งนี้ หากพลโท พระยาสีหราชเดโชไชย ผู้ถึงอนิจกรรมไปแล้ว จะได้ล่วงรู้ด้วยญาณวิถีทางหนึ่งทางใด ก็ขอให้ท่านบันเทิงใจรับอนุโมทนาให้สัมฤทธิ์ตามอุทิศเจตนา และอำนวยอิฐวิบุลมนุญผลตามคตินิยมในสัมปรายภพเทอญ


จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ประธานกรรมการบริหารสำนักงานสลากกินแบ่งฯ



หน้า (๗) ขึ้นลง



สารบัญ


หน้า
๑.   ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๒.   อธิบายมูลเหตุที่ไทยมีไมตรีกับฝรั่ง
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๓๒
๓.   อธิบายเรื่องธงไทย
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๔๗
๔.   เรื่องเครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๖๓
๕.   เรื่องสร้างพระบรมรูปทรงม้า
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๖๗
๖.   ปาฐกถา เรื่อง ประเพณีไทย
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๗๐
๗.   การอำนวยพร
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
๗๘
 



หน้า (๘) ขึ้นลงสารบัญ




พลโท พระยาสีหราชเดโชไชย
(สวาสดิ์ บุนนาค)


ถึงอนิจกรรมวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๐
เกิดวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๖



หน้า ก–ฌ (๙–๑๘) ขึ้นลงสารบัญ



ประวัติ
ของ
พลโท พระยาสีหราชเดโชไชย
(สวาสดิ์ บุนนาค)




พลโท พระยาสีหราชเดโชไชย (สวาสดิ์ บุนนาค) เกิดที่บ้านบางยี่ขัน จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรคนเดียวของหลวงสุนทรภักดี (วุธ บุนนาค) กับนางสุนทรภักดี (ฉุน บุนนาค) เกิด ณ วันจันทร์ ขึ้นหกค่ำ เดือนสิบสอง ปีมะแม จุลศักราช ๑๒๔๕ ตรงกับวันที่ ๕ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๒๖ (ร.ศ. ๑๐๒)

เข้ารับราชการทหารเป็นนักเรียนนายร้อยเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๑ (ร.ศ. ๑๑๗) ในกรมยุทธศึกษาทหารบก

สอบไล่วิชาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้น ๓ เป็นที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ (ร.ศ. ๑๑๙)


ตำแหน่งหน้าที่ราชการ


วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๔๑ เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยในโรงเรียนทหารบก รับเงินเดือนสี่บาท

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๔๓ เป็นหัวหน้านักเรียนนายร้อยในโรงเรียนทหารบก รับเงินเดือนแปดบาท

วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๔๔ สอบไล่ได้ออกรับราชการสำรองราชการกองทหารม้ามณฑลกรุงเทพฯ ในหน้าที่นายร้อยตรี เงินเดือนให้คงรับที่โรงเรียนทหารบกจนกว่าจะได้ประจำกอง

วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๔๔ ได้เลื่อนขั้นว่าที่นายร้อยตรีประจำกองร้อยที่ ๒ กองทหารม้าในมณฑลกรุงเทพฯ รับเงินเดือนนายร้อยตรีชั้น ๒ เดือนละสามสิบห้าบาท

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๔๕ ย้ายไปประจำกองร้อยที่ ๒ กรมทหารม้าที่ ๓ มณฑลนครราชสีมา รับเงินเดือนอัตรานายร้อยโทชั้น ๓ เดือนละแปดสิบบาท

วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๔๖ ประจำกองร้อยที่ ๒ กรมทหารม้าที่ ๓ มณฑลนครราชสีมา รับเงินเดือนอัตรานายร้อยโทชั้น ๒ เดือนละเก้าสิบบาท

วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๔๖ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๒ กรมทหารม้าที่ ๓ มณฑลนครราชสีมา รับเงินเดือนอัตรานายร้อยโทชั้น ๑ เดือนละหนึ่งร้อยบาท

วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๔๘ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๒ กรมทหารม้าที่ ๓ มณฑลนครราชสีมา รับเงินเดือนอัตรานายร้อยเอกชั้น ๓ เดือนละหนึ่งร้อยยี่สิบบาท

วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๔๙ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๒ กรมทหารม้าที่ ๓ มณฑลนครราชสีมา รับเงินเดือนอัตรานายร้อยเอกชั้น ๒ เดือนละหนึ่งร้อยสามสิบบาท

วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๔๙ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๒ กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ คงรับเงินเดือนนายร้อยเอกชั้น ๒

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๐ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๓ โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม คงรับเงินเดือนนายร้อยเอกชั้น ๒

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๕๐ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๑ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม คงรับเงินเดือนนายร้อยเอกชั้น ๒

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๑ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๑ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม รับเงินเดือนอัตรานายร้อยเอกชั้น ๑ เดือนละหนึ่งร้อยสี่สิบบาท

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ เป็นปลัดบัญชาการโรงเรียนทหารบก คงรับเงินเดือนนายร้อยเอกชั้น ๑

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๒ เป็นปลัดบัญชาการโรงเรียนทหารบก รับเงินเดือนอัตรานายพันตรีชั้น ๓ เดือนละหนึ่งร้อยหกสิบบาท

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๒ เป็นผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ ๗ คงรับเงินเดือนอัตรานายพันตรีชั้น ๓

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๔ เป็นผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ ๗ รับเงินเดือนอัตรานายพันตรีชั้น ๑ เดือนละสองร้อยบาท

วันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๕๔ เป็นผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ คงรับเงินเดือนอัตรานายพันตรีชั้น ๑

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๕ เป็นผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ รับเงินเดือนอัตรานายพันโทชั้น ๓ เดือนละสองร้อยยี่สิบบาท

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๖ เป็นผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ คงรับเงินเดือนอัตรานายพันโทชั้น ๓ เดือนละสามร้อยบาท (เปลี่ยนอัตราเงินเดือน)

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๗ เป็นผู้รั้งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๖ รับเงินเดือนอัตรานายพันเอกชั้น ๓ เดือนละห้าร้อยบาท

วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๕๘ เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๖ คงรับอัตราเงินเดือนนายพันเอกชั้น ๓ เดือนละห้าร้อยบาท

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๐ เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๖ รับเงินเดือนอัตรานายพันเอกชั้น ๒ เดือนละห้าร้อยห้าสิบบาท

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๑ เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๖ รับเงินเดือนอัตรานายพลตรีชั้น ๓ เดือนละเจ็ดร้อยบาท

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๔ เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๖ รับเงินเดือนอัตรานายพลตรีชั้น ๒ เดือนละแปดร้อยบาท

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๖๔ เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๕ คงรับเงินเดือนอัตรานายพลตรีชั้น ๒

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๖๔ เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม คงรับเงินเดือนอัตรานายพลตรีชั้น ๒

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๗ เป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เงินเดือนอัตรานายพลตรีชั้น ๑ เดือนละเก้าร้อยบาท

วันที่ ๙ ตุลาคม เป็นแม่ทัพกองน้อยทหารบกที่ ๓ คงรับเงินเดือนอัตรานายพลตรีชั้น ๑ เดือนละเก้าร้อยบาท

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๙ เป็นราชองครักษ์เวร

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๐ เป็นแม่ทัพกองน้อยทหารบกที่ ๓ เงินเดือนอัตรานายพลโทชั้น ๓ เดือนละหนึ่งพันบาท

วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๖๐ เป็นแม่ทัพกองทัพน้อยที่ ๒ คงรับเงินเดือนอัตรานายพลโทชั้น ๓ เดือนละหนึ่งพันหนึ่งร้อยบาท

วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๗๐ เป็นราชองครักษ์เวร

วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๗๑ เป็นแม่ทัพกองทัพที่ ๑ คงรับเงินเดือนอัตรานายพลโทชั้น ๓ เดือนละหนึ่งพันสามร้อยบาท

วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๓ เป็นแม่ทัพกองทัพที่ ๑ เลื่อนขั้นเงินเดือนอัตรานายพลโทชั้น ๒ เดือนละหนึ่งพันสามร้อยบาท

วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๗๔ เป็นผู้รั้งตำแหน่งเสนาธิการทหารบก คงรับเงินเดือนอัตรานายพลโทชั้น ๒ เดือนละหนึ่งพันสามร้อยบาท

วันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาธิการทหารบก คงรับเงินเดือนอัตรานายพลโทชั้น ๒ เดือนละหนึ่งพันสามร้อยบาท


ออกนอกตำแหน่งประจำการทหาร


ออกจากประจำการเป็นนายทหารนอกราชการ กองบังคับการ กระทรวงกลาโหม เพื่อรับพระราชทานบำนาญตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

เป็นนายทหารนอกราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมตั้งแต่วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๗๗ เพื่อให้ตรงกับโครงการที่เปลี่ยนใหม่

ย้ายประเภทเป็นนายทหารพ้นราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๒ เพราะมีอายุครบกำหนดอยู่ในประเภทนายทหารนอกราชการแล้ว


ตำแหน่งพิเศษ


วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๕๓ เป็นราชองครักษ์เวรในรัชกาลปรัตยุบัน (ในครั้งแรกที่มีราชองครักษ์เวร)

วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๕ คงเป็นราชองครักษ์เวรต่อไป

วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๗ คงเป็นราชองครักษ์เวรต่อไป

วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๖๑ คงเป็นราชองครักษ์เวรต่อไป

วันที่ ๔ เมษายน ๒๔๖๓ เป็นองคมนตรี

วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๗๓ เป็นราชองครักษ์พิเศษ

วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๔ เป็นนายทหารพิเศษประจำกองพันทหารม้าที่ ๑ กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ ฯลฯ

วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ ๒

วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ พ้นจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (โดยการจับสลาก)

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๔ เป็นกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ เป็นกรรมการอำนวยการสลากกินแบ่งรัฐบาล

วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕ เป็นกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์

วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๙๕ เป็นกรรมการอำนวยการสลากกินแบ่งรัฐบาล (ยกเลิกการแต่งตั้งเดิม ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๙ ตอนที่ ๓๘ ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๙๕)

วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๕ ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์


ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร


วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๔๔๔ เป็นนายร้อยตรี

วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๔๕ เป็นนายร้อยโท

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๔๘ เป็นนายร้อยเอก

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๕๒ เป็นนายพันตรี

วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๕๕ เป็นนายพันโท

วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๗ เป็นนายพันเอก

วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๖๑ เป็นนายพลตรี

วันที่ ๗ เมษายน ๒๔๗๐ เป็นนายพลโท


ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์


วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๑ เป็นหลวงไกรกระบวนหัด ถือศักดินาแปดร้อย

วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๕๖ เป็นพระราญรอนอริราช ถือศักดินาหนึ่งพัน

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๕๙ เป็นพระยาพระกฤษณรักษ์ ถือศักดินาหนึ่งพันห้าร้อย

วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๑ เป็นพระยาสีหราชเดโชไชยอภัยพิริยบรากรมพาหุ ถือศักดินาหนึ่งหมื่น


ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ


วันรับพระราชทาน ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ๒๔๔๑ เหรียญประพาสมาลา (ร.ป.ม.)

วันรับพระราชทาน ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ เหรียญรัชมังคลาภิเษก (ร.ม.ษ.)

วันรับพระราชทาน ธันวาคม ๒๔๕๑ เหรียญรัชมงคล (ร.ร.ม.)

วันรับพระราชทาน ๘ ตุลาคม ๒๔๕๓ ตราเบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)

วันรับพระราชทาน ๒ ธันวาคม ๒๔๕๔ เหรียญบรมราชาภิเษก (ร.ร.ศ.)

วันรับพระราชทาน ๑๘ มกราคม ๒๔๕๔ ตราจัตุรถาภรณ์มงกุฎ (จ.ม.)

วันรับพระราชทาน ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๘ ตราตริตาภรณ์มงกุฎ (ต.ม.)

วันรับพระราชทาน ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๗ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖ (ว.ป.ร.)

วันรับพระราชทาน ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๗ เข็มข้าหลวงเดิม

วันรับพระราชทาน ๒๗ มีนาคม ๒๔๕๘ ตราตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)

วันรับพระราชทาน ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๙ ตราตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ กับโต๊ะถาดทอง (ต.จ.ว.)

วันรับพระราชทาน ๑๒ เมษายน ๒๔๕๕ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปรัตยุบันชั้นที่ ๕

วันรับพระราชทาน ๓๑ ธันวาคม ๒๔๕๙ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๓ (ว.ป.ร.)

วันรับพระราชทาน ๓๑ ธันวาคม ๒๔๕๙ เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)

วันรับพระราชทาน ๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๐ เหรียญดุษฎีมาลาเข็มราชการแผ่นดิน (ร.ด.ม.แผ่นดิน)

วันรับพระราชทาน ๓๑ ธันวาคม ๒๔๖๑ ตราทุติยจุลจอมเกล้า และพานทองเครื่องยศ (ท.จ.)

วันรับพระราชทาน ๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๑ ตราทวีติยาภรณ์มงกุฎ (ท.ม.)

วันรับพระราชทาน ๓๐ ธันวาคม ๒๔๖๖ ตราทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)

วันรับพระราชทาน ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๗ ตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

วันรับพระราชทาน ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘ เหรียญบรมราชาภิเษก (ทอง)

วันรับพระราชทาน ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ ตราประถมาภรณ์มงกุฎ

วันรับพระราชทาน ๑๒ มีนาคม ๒๔๗๓ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบันชั้นที่ ๓ (ป.ป.ร.๓)

วันรับพระราชทาน ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๔ ตราประถมาภรณ์ช้างเผือก

วันรับพระราชทาน ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ เหรียญบรมราชาภิเษก (ทอง) รัชกาลที่ ๙

วันรับพระราชทาน ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๙๗ เหรียญรัตนาภรณ์ชั้น ๓


ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญต่างประเทศ


วันรับ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๕๐ ตราเซนต์มอริซลัซซาร์ชั้น ๔ ของประเทศอิตาเลีย

วันรับ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๖๔ ตราเลยองด’ฮอนเนอร์ชั้นที่ ๓ ของประเทศฝรั่งเศส


ชีวิตสมรส


ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (ขณะนั้น ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการทหารบก) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สู่ขอนางสาวสุนีย์สาย อมาตยกุล ธิดาหลวงพิเทศพิสัย (ประวัติ อมาตยกุล) กับนางพิเทศพิสัย (พระนมร่ำ อมาตยกุล) ซึ่งถวายตัวเป็นข้าหลวงอยู่ในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ประทานพระยาสีหราชเดโชไชย ซึ่งในขณะนั้นมียศเป็นนายพันเอก พระยาพระกฤษณรักษ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๖ และทรงพระกรุณาประกอบพิธีสมรสประทานที่วังปารุสกวัน จังหวัดพระนคร เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙

พลโท พระยาสีหราชเดโชไชย (สวาสดิ์ บุนนาค) มีบุตรธิดาดังรายชื่อต่อไปนี้

๑.   นายร้อยตำรวจโท สืบสวัสดิ์ บุนนาค
๒.   นายพันตำรวจโท เกียรติ บุนนาค
๓.   นางสเริงรมย์ อมันตกุล
๔.   ร้อยเอก เผด็จ บุนนาค
๕.   ร้อยตรี สีหเดช บุนนาค
๖.   นางสายสวาท บุนนาค
๗.   จ่านายสิบตำรวจ พัฒนเดช บุนนาค
๘.   นายบุญรักษ์ บุนนาค

พลโท พระยาสีหราชเดโชไชย (สวาสดิ์ บุนนาค) ได้ถึงอนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรมแปดค่ำ เดือนเจ็ด เวลา ๐๒:๐๐ น. ณ บ้านเลขที่ ๕๑๘ ซอยประเสริฐสุข ถนนลาดหญ้า จังหวัดธนบุรี อายุเจ็ดสิบสี่ปี




หน้า ๑–๓๑ (๑๐–๔๙) ขึ้นลงสารบัญ



ลักษณะการปกครอง
ประเทศสยามแต่โบราณ


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงแสดงปาฐกถาที่สามัคยาจารย์สมาคม
เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐




๑.   เมื่อเสนาบดีกระทรวงธรรมการตรัสชวนข้าพเจ้าให้มาแสดงปาฐกถาในสมัคยาจารย์ โปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าคิดหาเรื่องมาแสดงตามเห็นสมควร ข้าพเจ้านึกถึงเรื่องการศึกษาในประเทศสยามแต่โบราณกับเรื่องลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ ซึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสศึกษามาเมื่อครั้งรับราชการในกระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทย ทูลถวายพระองค์เจ้าธานีนิวิตแล้วแต่จะทรงเลือก เธอเลือกเรื่องหลัง ข้าพเจ้าจึงเตรียมมาแสดงเรื่องลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณเป็นปาฐกถาให้ท่านทั้งหลายฟังในวันนี้


๒.   ท่านทั้งหลายผู้มาฟังปาฐกถาที่อยู่ในพระราชสำนักได้เคยฟังพระภิกษุเทศน์ถวายก็คงมี[1] แต่ผู้ที่ไม่เคยฟังเห็นจะมีมากกว่า อันลักษณะถวายเทศน์นั้น เมื่อพระผู้จะเทศน์ขึ้นธรรมาสน์ ถวายศีล และบอกศักราชแล้ว ท่านย่อมถวายพระพรทูลความเริ่มต้นว่า ถ้าหากท่านเทศน์ไม่ถูกต้องตามโวหารและอรรถาธิบายแห่งพระธรรมแห่งบทใดบทหนึ่งก็ดี ท่านขอพระราชทานอภัย ด้วยเป็นผู้มีสติปัญญาอันน้อย ดังนี้ แล้วจึงถวายเทศน์ต่อไป แม้สมเด็จพระสังฆราชถวายเทศน์ก็ทูลขออภัยเช่นว่า ซึ่งพระสงฆ์องค์ใดจะละเลยหามีไม่ แต่มิได้เป็นประเพณีที่คฤหัสถ์จะพึงกระทำ ถึงกระนั้นก็ดี มีความอยู่ข้อหนึ่งซึ่งควรจะกล่าวเป็นอารัมภกถาคล้าย ๆ กับที่พระภิกษุท่านกล่าวคำถวายพระพรทูลขออภัย ด้วยปาฐกถาที่ข้าพเจ้าจะแสดงให้ท่านทั้งหลายฟังวันนี้เป็นเรื่องโบราณคดี หรือถ้าจะว่าอีกนัยหนึ่ง คือ เล่าเรื่องก่อนเกิดตั้งหลายร้อยปี ย่อมพ้นวิสัยที่จะรู้ให้ถ้วนถี่ไม่มีบกพร่องหรือจะไม่พลาดพลั้งบ้างเลยได้ การแถลงเรื่องโบราณคดี แม้ในบทพระบาลี มีชาดกเป็นต้น เมื่อท่านจะแสดงอดีตนิทาน ก็มักใช้คำขึ้นต้นว่า "กิร" แปลว่า ได้ยินมาอย่างนั้น ๆ บอกให้ทราบว่า เรื่องที่จะแสดงเป็นแต่ท่านได้สดับมา ข้อสำคัญอันเป็นความรับผิดชอบของผู้นำเรื่องโบราณคดีมาแสดงอยู่ที่ต้องแถลงความตามตนเชื่อว่าจริง และชี้หลักฐานที่ทำให้ตนเชื่อนั้นให้ปรากฏ ข้อใดเป็นแต่ความคิดวินิจฉัยของตนเองก็ควรบอกให้ทราบ ให้ผู้ฟังมีโอกาสเอาเรื่องและหลักฐานที่ได้ฟังไปพิจารณาช่วยค้นคว้าหาความรู้ให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้นในคดีเรื่องที่แสดงนั้น การที่ข้าพเจ้าแสดงปาฐกถา ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า ตั้งใจจะให้เป็นอย่างว่ามานี้


๓.   ทีนี้ จะว่าด้วยลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณต่อไป อันแดนดินที่เป็นประเทศสยามนี้เดิมเป็นบ้านเมืองของชนชาติลาวซึ่งยังมีอยู่ในประเทศสยามจนทุกวันนี้ แต่มักเรียกกันว่า ละว้า หรือลัวะ มีแดนดินของชนชาติอื่นอยู่สองข้าง ข้างฝ่ายตะวันตกเป็นบ้านเมืองของพวกมอญ ข้างฝ่ายตะวันออกเป็นบ้านเมืองของพวกขอม (คือ เขมร นั้นเอง แต่โบราณมาชาวประเทศอื่นเรียกว่า ขอม พวกเขาเรียกกันเองว่า เขมร) ส่วนชนชาติไทยแต่ชั้นดึกดำบรรพ์นั้นยังรวบรวมกันอยู่ที่บ้านเมืองเดิมอันเป็นประเทศใหญ่อยู่ข้างเหนือในระหว่างประเทศทิเบตกับประเทศจีน เรื่องพงศาวดารประเทศสยามตอนสมัยดึกดำบรรพ์นั้นรู้ได้ในปัจจุบันนี้แต่ด้วยอาศัยสังเกตโบราณวัตถุที่มีปรากฏอยู่ประกอบกับเรื่องตำนานในพื้นเมือง ได้ความว่า ประเทศลาวเคยถูกพวกมอญและพวกขอมเข้ามามีอำนาจครอบงำหลายคราว ยังมีเมืองโบราณซึ่งพึงสังเกตได้ว่า พวกมอญได้มาตั้งปรากฏอยู่หลายแห่ง เช่น เมืองเพชรบุรีเก่า (ข้างตอนวัดมหาธาตุ) เมืองราชบุรีเก่า ฝ่ายเหนือขึ้นไปก็มี เช่น เมืองชากังราว ซึ่งภายหลังเรียกว่า เมืองนครชุม (อยู่ที่ปากคลองสวนหมากตรงหน้าเมืองกำแพงเพชรข้ามฟาก) และเมืองตากเก่า เมืองเหล่านี้ล้วนตั้งทางฝั่งตะวันตก เอาแม่น้ำไว้ข้างหน้าเมืองเพื่อกีดกันศัตรูอันอยู่ทางฝ่ายตะวันออก จึงสันนิษฐานว่า พวกแผ่อาณาเขตเข้ามาจากฝ่ายตะวันตกมาสร้างไว้ ถ้าผู้สร้างเป็นพวกที่อยู่กลางประเทศ (อย่างกรุงเทพฯ) ก็คงสร้างทางฝั่งตะวันออกเหมือนอย่างเหมือนราชบุรีใหม่และเมืองกำแพงเพชรซึ่งย้ายมาตั้งทางฝั่งตะวันออกตรงข้ามฟากกับเมืองเก่าดังนี้ นอกจากเมืองโบราณ ยังมีศิลาจารึกภาษามอญอันตัวอักษรเป็นชั้นเก่าแก่ปรากฏทั้งที่เมืองลพบุรีและเมืองลำพูน เรื่องตำนานในพื้นเมือง มีเรื่องจามเทวีวงศ์เป็นต้น ก็แสดงให้เห็นเค้าเงื่อนว่า มอญได้มาครอบงำถึงประเทศนี้ ข้อที่รู้ว่าพวกขอมได้มีอำนาจครอบงำประเทศลาวนั้นมีหลักฐานยิ่งขึ้นไปกว่ามอญ ด้วยมีวัตถุสถานบ้านเมืองซึ่งพวกขอมได้สร้างไว้ปรากฏอยู่เป็นอันมาก มักมีทางฝ่ายตะวันออก นอกจากนั้น ยังมีปรางค์ปราสาทหิน พระพุทธรูป เทวรูป ลวดลายอันเป็นแบบขอม ตลอดจนตัวหนังสือขอมซึ่งเขียนคัมภีร์พระไตรปิฎกอยู่เป็นหลักฐาน ส่วนเรื่องพงศาวดารของชนชาติไทยนั้นมีเค้าเงื่อนว่า ตั้งแต่เมื่อพุทธศักราชราว ๕๐๐ ปี ประเทศสยามเดิมถูกพวกจีนบุกรุกชิงเอาดินแดนไปเป็นอาณาเขตเป็นอันดับมา มีพวกไทยที่รักอิสระไม่อยากยอมอยู่ในอำนาจจีนพากันทิ้งเมืองเดิมอพยพไปหาบ้านเมืองอยู่ใหม่ทางทิศตะวันตกพวกหนึ่งไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ต่อแดนเมืองพม่า ต่อมามีไทยอีกพวกหนึ่งอพยพมาจากเมืองเดิมด้วยเหตุอันเดียวกัน แต่พวกนี้แยกลงมาข้างทิศใต้ ไทยทั้งสองพวกจึงได้นามต่างกัน พวกที่อพยพไปตั้งบ้านเมืองอยู่ทางทิศตะวันตกได้นามว่า ไทยใหญ่ (ในปัจจุบันนี้เรียกกันว่า "เงี้ยว" หรือ "ฉาน") พวกที่อพยพลงมาตั้งบ้านเมืองทางทิศใต้ได้นามว่า ไทยน้อย ไทยเราชาวไทยอยู่ในพวกไทยน้อย แรกมาตั้งภูมิลำเนาเป็นบ้านเมืองขึ้นใหม่ในแว่นแคว้นซึ่งยังเรียกว่า สิบสองเจ้าไทย แล้วพากันหาที่ตั้งภูมิลำเนาต่อลงมาข้างใต้โดยลำดับจนแขวงสิบสองปันนาและลานช้าง บางพวกก็ข้ามแม่น้ำโขงลงมาอยู่ในแขวงลานนา (คือ มณฑลยาพักบัดนี้) และมีบางความเลยลงมาอยู่จนถึงแดนเมืองสุโขทัย เมืองลพบุรี ตลอดจนเมืองอู่ทองตั้งแต่ในสมัยเมื่อพวกมอญยังปกครองอยู่ข้างฝ่ายเหนือและพวกขอมยังปกครองอยู่ข้างฝ่ายใต้ มีจำนวนไทยทั้งที่อพยพมาและมาเกิดใหม่ในประเทศนี้มากขึ้นเป็นอันดับมา ครั้นถึงสมัยเมื่ออำนาจมอญและขอมเสื่อมลงด้วยกัน พวกไทยที่ลงมาตั้งบ้านเมืองอยู่ในแขวงลานนาพากันตั้งเป็นอิสระขึ้นก่อน แล้วพวกไทยที่ลงมาตั้งอยู่ในแขวงสุโขทัยก็ตั้งเป็นอิสระขึ้นตาม พวกไทยในแขวงลานนาตั้งเมืองชัยปราการอันอยู่ในแขวงจังหวัดเชียงแสนบัดนี้เป็นที่มั่น แล้วลงมาสร้างเมืองเชียงรายเป็นราชธานี พยายามปราบปรามพวกมอญ ขยายอาณาเขตลงมาทางเมืองหริภุญชัย (คือ เมืองลำพูน) แล้วมาสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี พวกไทยที่ตั้งเป็นอิสระในแขวงสุโขทัยตั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี แล้วพยายามปราบปรามพวกขอมขยายอาณาเขตลงมาทางเมืองลพบุรี ไทยพวกที่ตั้งเป็นอิสระในแขวงลานได้อาณาเขตเพียงแต่ในมณฑลพายัพเดี๋ยวนี้แล้วก็เสื่อมอำนาจ แต่พวกไทยที่ตั้งเป็นอิสระ ณ เมืองสุโขทัยสามารถแผ่อาณาเขตได้กว้างใหญ่ไพศาลไปจนประเทศอื่น และได้ปกครองเป็นเจ้าของประเทศสยามสืบมาจนกาลบัดนี้ จึงนับว่า เมืองสุโขทัยเป็นปฐมราชธานีแห่งประเทศสยามตั้งแต่เป็นสิทธิ์แก่ชนชาติไทยในราวเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมา


๔.   เหตุที่ชนชาติไทยจะได้เป็นใหญ่ในประเทศสยาม เป็นเพราะมีกำลังมากกว่าชนชาติอื่นซึ่งปกครองอยู่ก่อนนั้นเป็นธรรมดา แต่ที่ชนชาติไทยสามารถปกครองประเทศสยามมาได้ช้านาน ถ้าจะนับเวลาก็เกือบถึงเจ็ดร้อยปีเข้าบัดนี้ จำต้องอาศัยคุณธรรมอย่างอื่นอันมีอยู่ในอุปนิสัยของชนชาติไทยด้วย ข้าพเจ้าพิจารณาดูตามหลักฐานที่ปรากฏในพงศาวดารเห็นว่า ชนชาติไทยมีคุณธรรมสามอย่างเป็นสำคัญ จึงสามารถปกครองประเทศสยามมาได้ คือ ความจงรักอิสระของชาติ อย่างหนึ่ง ความปราศจากวิหิงสา อย่างหนึ่ง ความฉลาดในการประสานประโยชน์ อย่างหนึ่ง หรือถ้าจะเรียกเป็นคำภาษาอังกฤษก็คือ love of national independence, toleration and power of assimilation เหล่านี้เป็นสำคัญยิ่งกว่าคุณธรรมอย่างอื่นซึ่งยังมีอีกหลายอย่าง จะกล่าวอธิบายให้เห็นเป็นลำดับต่อไป

ที่ว่าอุปนิสัยชนชาติไทยรักอิสระของชาตินั้น พึงเห็นได้ตั้งแต่ที่พากันทิ้งเมืองเดิมมา เพราะไม่อยากอยู่ในอำนาจของชนชาติอื่น และเมื่อมาได้ครอบครองประเทศสยามแล้ว ในสมัยต่อมา แม้ต้องตกทุกข์ได้ยากด้วยชนชาติอื่นซึ่งมีกำลังมากกว่าเข้ามาย่ำยี บางคราวจนถึงบ้านแตกเมืองเสียยับเยิน ก็ยังพยายามมาแม้จนเอาชีวิตเข้าแลกกู้อิสระของชาติกลับคืนได้อีกทุกครั้ง ปรากฏมาในเรื่องพงศาวดารดังว่านี้เป็นหลักฐาน

ที่ว่าอุปนิสัยไทยปราศจากวิหิงสานั้น คือ ที่อารีต่อบุคคลจำพวกอื่นซึ่งอยู่ในปกครองหรือแม้แต่จะมาอาศัย ความข้อนี้มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังแจ้งอยู่ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชและปรากฏในสมัยอื่นสืบมา พึงเห็นได้ดังชนชาติอื่นหรือพวกที่ถือศาสนาอื่น ๆ อยู่ในประเทศสยาม ไทยก็มิได้รังเกียจเบียดเบียน กลับชอบสงเคราะห์แม้จนถึงศาสนานั้น ๆ ด้วยถือว่า ศาสนาย่อมให้ความสุขแก่ผู้เลื่อมใสเหมือนกันทุกศาสนา เพราะเหตุนี้ แต่โบราณมา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจึงย่อมทรงช่วยอุปการะในการสร้างวัดคริสตังและสร้างสุเหร่าอิสลาม ด้วยมีพระราชประสงค์จะพระราชทานความสุขแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินซึ่งเลื่อมใสในศาสนานั้น ๆ การเช่นนี้ไม่ปรากฏว่า มีเหมือนในประเทศอื่น มีแต่ในประเทศสยาม และยังมีสืบลงมาจนในสมัยปัจจุบันนี้ จะยกตัวอย่างดังเช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานที่ดินที่ริมถนนสาทรให้สร้างวัดไครสเชิช และในการพิธีของพวกแขกเจ้าเซ็นก็ยังมีของหลวงพระราชทานช่วยอยู่ทุกปีจนบัดนี้ คุณธรรมความปราศจากวิหิงสาที่กล่าวมานี้มิใช่จะมีแต่ไทยที่เป็นชั้นปกครองเท่านั้น เป็นอุปนิสัยตลอดไปจนถึงไทยที่เป็นราษฎรพลเมือง ข้อนี้ท่านทั้งหลายผู้เคยเที่ยวเตร่แม้ที่เป็นชาวต่างประเทศคงจะได้สังเกตเห็นว่า เมื่อไปตามหมู่บ้านราษฎรไม่ว่าแห่งใด ๆ ถ้าไม่ประพฤติร้ายต่อเขาแล้ว คงได้พบความต้อนรับอย่างเอื้อเฟื้อโดยมิได้คิดเอาเปรียบอย่างหนึ่งอย่างใดทั่วไปในประเทศสยาม ความปราศจากวิหิงสาคงเป็นข้อสำคัญอันหนึ่งซึ่งทำให้ชนชาติอื่น มีพวกขอมเป็นต้น ไม่รังเกียจการปกครองของชนชาติไทยมาแต่เดิม

ที่ว่าไทยฉลาดในการประสานประโยชน์นั้นก็พึงเห็นได้ตั้งแต่สมัยเมื่อแรกไทยได้ปกครองประเทศสยาม ในสมัยนั้น พวกขอมยังมีอยู่เป็นอันมาก แทนที่จะกดขี่ขับไล่ ไทยกลับคิดเอาใจพวกขอมให้เข้ากับไทยด้วยประการต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น พระเจ้ารามคำแหงมหาราชทรงคิดตั้งแบบหนังสือไทยให้ใช้เขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาขอมด้วยตัวอักษรอย่างเดียวกัน และจารีตประเพณีขอมอย่างใดดีไทยก็รับมาประพฤติเป็นประเพณีของไทยไม่ถือทิฐิ คุณธรรมที่ฉลาดประสานประโยชน์อันนี้คงเป็นปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งในโบราณสมัยซึ่งทำให้ขอมกับไทยกลายเป็นชาวสยามพวกเดียวกัน แม้ในสมัยภายหลังมา เมื่อมีพวกจีนพากันเข้ามาตั้งทำมาหากินในเมืองไทย มาอยู่เพียงชั่วบุรุษหนึ่งหรือสองชั่ว ก็มักกลายเป็นชาวสยามไปด้วยคุณธรรมของไทยที่กล่าวมา ถึงอารยธรรมของชาวยุโรป ไทยในประเทศก็แลเห็นและมีความนิยมก่อนชาวประเทศอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกัน และได้รับประโยชน์จากอารยธรรมนั้นสืบมาจนทุกวันนี้ ก็เพราะความฉลาดประสานประโยชน์อันมีในอุปนิสัยของชนชาติไทย จึงเห็นว่า คุณธรรมทั้งสามอย่างที่พรรณนามาควรนับว่า เป็นอัศจรรย์ในอุปนิสัยของชนชาติไทยมาแต่โบราณด้วยประการฉะนี้


๕.   ลักษณะการปกครองประเทศสยามชั้นสมัยดึกดำบรรพ์ เมื่อลาวยังเป็นใหญ่อยู่โดยลำพังก็ดี หรือในชั้นเมื่อมอญเข้ามามีอำนาจครอบงำก็ดี จะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าหาทราบไม่ เห็นเค้าเงื่อนปรากฏแต่ลักษณะการปกครองของขอมและของไทย พอสังเกตได้ว่า วิธีการปกครองมาแต่คติต่างกัน คือ พวกขอมปกครองตามคติซึ่งได้มาจากชาวอินเดีย พวกไทยปกครองตามคติของไทยซึ่งพามาจากเมืองเดิม มิได้เอาอย่างชาวอินเดีย เรื่องตำนานการปกครองของขอมกับของไทยที่เอามาใช้ในประเทศสยามก็ต่างกัน คือ เมื่อพวกขอมเข้ามามีอำนาจในประเทศสยามนั้น มิได้ปกครองเองทั่วทั้งประเทศ มีปรากฏขึ้นไปฝ่ายเหนือเพียงเมืองสวรรคโลกเท่านั้น เหนือนั้นขึ้นไปหามีไม่ คงเป็นเพราะตอนข้างเหนือพวกอื่นยังปกครองเป็นประเทศราชขึ้นต่อขอม ในเรื่องตำนานโยนกก็ปรากฏว่า ในสมัยเมื่อพวกขอมเข้ามาครอบงำนั้น ทางเมืองหริภุญชัยพวกมอญยังปกครอง ทางเหนือขึ้นไปตามชายแม่น้ำโขงยังมีเจ้าลาวราชวงศ์ลาวจักราชครอบครองอยู่อีกช้านาน ครั้นพวกไทยได้แดนลาวทางฝ่ายเหนือ ก็ปกครองตามจารีตประเพณีของไทยลงมาทางข้างเหนือ เพราะฉะนั้น ในสมัยเมื่อไทยได้เป็นใหญ่ ณ เมืองสุโขทัย วิธีการปกครองประเทศสยามจึงมีอยู่เป็นสองอย่าง เมื่อทางฝ่ายเหนือปกครองตามประเพณีไทย เมืองทางฝ่ายใต้ปกครองตามประเพณีขอม ก็แต่ประเพณีการปกครองของขอมกับของไทยเหมือนกันอย่างหนึ่งซึ่งถือเอาอาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นหลักในการปกครอง มาผิดกันที่พวกขอมถือลัทธิตามชาวอินเดีย สมมติว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นพระโพธิสัตว์ หรือเป็นพระอิศวร พระนารายณ์ แบ่งภาคลงมาเลี้ยงโลก และอาศัยพราหมณ์เป็นเจ้าตำราการปกครอง ลักษณะการที่พวกขอมปกครองราษฎรจึงคล้ายนายปกครองบ่าว ตรงกับภาษอังกฤษซึ่งเรียกว่า autocratic government ส่วนวิธีการปกครองของไทยนั้นนับถือพระเจ้าแผ่นดินเช่นบิดาของประชาชนทั้งปวง วิธีการปกครองก็เอาลักษณะการปกครองสกุลมาเป็นคติ เป็นต้นแต่ถือว่า บิดาเป็นผู้ปกครองครัวเรือน (คำว่า "พ่อครัว" เดิมทีเดียวเห็นจะหมายความว่า ผู้ปกครองครัวเรือนอันธรรมดาย่อมร่วมครัวไฟกัน ภายหลังมา จึงเข้าใจคำว่าพ่อครัวกลายไปเป็นผู้ประกอบอาหาร) หลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้านอยู่ในปกครองของ "พ่อบ้าน") ผู้อยู่ในปกครองเรียกว่า "ลูกบ้าน" หลายบ้านรวมกันเป็นเมือง ถ้าเป็นเมืองขึ้นอยู่ในปกครองของ "พ่อเมือง" ถ้าเป็นเมืองประเทศราช เจ้าเมืองเป็น "ขุน" หลายเมืองรวมเป็นประเทศอยู่ในปกครองของพระเจ้าแผ่นดิน แต่โบราณเรียกว่า "พ่อขุน" ข้าราชการตำแหน่งต่าง ๆ ได้นามว่า "ลูกขุน" ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า วิธีการปกครองของไทยเป็นอย่างบิดาปกครองบุตร หรือเรียกตามภาษาอังกฤษว่า paternal government ยังใช้เป็นหลักวิธีปกครองประเทศสยามสืบมาจนทุกวันนี้


๖.   เมื่อไทยได้ปกครองประเทศสยามในเวลายังมีการปกครองเป็นสองอย่างดังกล่าวมา น่าสันนิษฐานว่า คงจะเกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงตั้งแต่แรกว่า จะปกครองประเทศสยามทั่วไปด้วยวิธีอย่างใดจะเหมาะดี และน่าลงมติว่า คงคิดเห็นด้วยอุปนิสัยสามารถในการประสานประโยชน์ว่า ควรเลือกเอาการที่ดีทั้งสองฝ่ายมาปรุงใช้เป็นวิธีปกครองประเทศสยาม แต่ในสมัยชั้นแรกนั้น ไทยยังไม่ได้ศึกษาทราบคุณและโทษในวิธีการปกครองของขอมมากนัก จึงใช้กระบวนปกครองโดยวิธีของไทยมาก่อน ค่อยเลือกวิธีปกครองของขอมเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ข้อนี้พึงเห็นได้ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ถ้อยคำเป็นภาษาไทยเกือบไม่มีอื่นปน พระเจ้าแผ่นดินก็วางพระองค์แต่เป็นอย่างบิดาของประชาชน เช่น ผูกกระดึงไว้ที่ประตูพระราชวัง ใครมีทุกข์ร้อนก็ให้ไปสั่นกระดึงร้องทุกข์ได้ ดังนี้ แต่ในจารึกของพระมหากษัตริย์รัชกาลหลังต่อมาปรากฏถ้อยคำภาษาขอมและมีพิธีมากขึ้นเป็นอันดับมา แต่วิธีปกครองอาณาเขตเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีดูประหลาดที่วงอาณาเขตซึ่งการบังคับบัญชาอยู่ในรัฐบาลราชธานีปกครองเองแคบหนักหนา คือ เอาเมืองสุโขทัยเป็นราชธานีที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประทับ แล้วมีเมืองลูกหลวงครองรักษาหน้าด่านอยู่สี่ด่าน คือ เมืองสัชนาลัยซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า เมืองสวรรคโลก อยู่ด้านเหนือ เมืองสองแควซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า เมืองพิษณุโลก อยู่ด้านตะวันออก เมืองสระหลวงซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า เมืองพิจิตร อยู่ด้านใต้ เมืองกำแพงเพชรอยู่ด้านตะวันตก ระยะทางแต่เมืองหน้าด่านเดินถึงราชาธานีเพียงภายในสองวันทุกด้าน นอกนั้นออกไป แม้เมื่อพระราชอาณาเขตสยามกว้างขวางอย่างยิ่งในรัชกาลของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ก็ให้เป็นเมืองปกครองกันเองเป็นประเทศราช เช่น เมืองอู่ทอง เป็นต้น บ้าง เป็นเมืองพ่อเมืองครองบ้าง อาจเป็นด้วยมีความจำเป็นในสมัยนั้น เพราะไทยกำลังปราบขอมแผ่อำนาจลงมาข้างใต้ แต่วิธีควบคุมอาณาเขตด้วยระเบียบการปกครองปล่อยให้เมืองขึ้นมีอำนาจมากอย่างนั้นย่อมมั่นคงแต่เมื่อมีพระเจ้าแผ่นดินอันทรงอานุภาพมาก ถ้าพระเจ้าแผ่นดินอ่อนอานุภาพเมื่อใด ราชอาณาเขตก็อาจแตกได้โดยง่าย เรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยก็เป็นเช่นนั้น พอล่วงรัชกาลพระเจ้ารามคำแหงมหาราชแล้ว หัวเมืองซึ่งเคยขึ้นอยู่ในราชอาณาเขตกรุงสุโขทัยก็ตั้งต้นแยกกันไป โดยตั้งตนเป็นอิสระบ้าง ตกไปเป็นเมืองขึ้นของก๊กอื่นบ้าง กรุงสุโขทัยอ่อนกำลังลงเป็นอันดับมาจนถึง พ.ศ. ๑๘๙๔ พระเจ้าอู่ทองก็รวบรวมหัวเมืองทางข้างใต้ตั้งเป็นอิสระขึ้น ณ กรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาลิไทย ราชนัดดาของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ไม่สามารถปราบได้ ต้องยอมเป็นไมตรีอย่างประเทศที่เสมอกัน ครั้นต่อนั้นมาถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชพะงัวยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม กษัตริย์สุโขทัยองค์หลังสู้ไม่ได้ ก็ต้องยอมเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา รวมเวลาที่กรุงสุโขทัยได้เป็นราชธานีประเทศสยามอยู่ไม่เต็มร้อยปี


๗.   วิธีการปกครองประเทศสยามเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีเค้าเงื่อนทราบความได้มากขึ้น ด้วยยังมีหนังสือเก่าซึ่งอาจจะอาศัยค้นคว้าหาความรู้ได้นอกจากศิลาจารึก คือ หนังสือเรื่องพระราชพงศาวดาร และหนังสือกฎหมายเก่าฉบับพิมพ์เป็นสองเล่มสมุด นั้นเป็นต้น ทั้งมีหนังสือจดหมายเหตุซึ่งฝรั่งแต่งไว้ตั้งแต่สมัยในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมเป็นต้นมาอีกจำพวกหนึ่ง แต่ก็ยังต้องอาศัยสันนิษฐานประกอบอีกเป็นอันมาก ถึงชั้นนี้ สังเกตได้ว่า พวกไทยชาวเมืองอู่ทองเคยได้รับความอบรมและเลื่อมใสในประเพณีขอมมากกว่าพวกเมืองสุโขทัย เพราะไทยที่ลงมาอยู่ข้างใต้ได้อยู่ปะปนกับพวกขอมมาช้านาน ข้อนี้จะพึงเห็นได้ในกฎหมายซึ่งตั้งขึ้นในสมัยนี้ชอบใช้ถ้อยคำภาษาเขมรและภาษาสันสกฤตซึ่งพวกขอมชอบใช้ยิ่งกว่าหนังสือซึ่งแต่งครั้งกรุงสุโขทัย จารีตประเพณีก็ชอบใช้ตามคติขอมมากขึ้น มีข้อสำคัญเป็นอุทาหรณ์ เช่น เรื่องทาสกรรมกรในประเพณีไทยแต่เดิมหามีไม่ พวกไทยที่ลงมาอยู่ข้างใต้มารับประพฤติการใช้ทาสตามประเพณีขอม มีความปรากฏในบานแพนกกฎหมายลักษณะลักพาบทหนึ่งว่า เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยเป็นไมตรีกันนั้น มีผู้ลักพาทาสในกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปเมืองเหนือ พวกเจ้าเงินกราบทูลพระเจ้าอู่ทองขอให้ไปติดตามเอาทาสกลับมาว่า เพราะ "เมืองท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว" ดังนี้ แต่พระเจ้าอู่ทองหาทรงบัญชาตามไม่ ดำรัสสั่งให้ว่ากล่าวเอาแก่ผู้ขายนายประกัน และมีคำซึ่งยังใช้กันมาปรากฏอยู่คำหนึ่งซึ่งเรียกผู้พ้นจากทาสว่า "เป็นไท" ดังนี้ พึงสันนิษฐานได้ว่า เพราะแต่เดิมชนชาติไทยไม่มีที่จะเป็นทาส และไทยมารับใช้ประเพณีทาสกรรมกรจากขอม ทาสจึงได้มีสืบมาในประเทศสยาม จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้เลิกเสียเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ถึงกระนั้น การปกครองกรุงศรีอยุธยาก็ยังเอาแบบของไทยใช้เป็นหลัก เป็นต้นว่า การปกครองอาณาเขตเมื่อชั้นแรกก็วางแบบแผนทำนองเดียวกันกับครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี คือ เอาพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีอยู่กลาง มีเมืองหน้าด่านทั้งสี่ด้าน เมืองลพบุรีอยู่ด้านเหนือ เมืองนครนายกอยู่ด้านตะวันออก เมืองพระประแดงอยู่ด้านใต้ เมืองสุพรรณบุรีอยู่ด้านตะวันตก ระยะทางไปมาถึงราชธานีได้ภายในสองวันเช่นเดียวกัน หัวเมืองนอกจากนั้นก็ยังให้ปกครองกันเองทั่วไป วิธีการปกครองกรุงศรีอยุธยามาแก้ไขมากเมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เหตุด้วยเมื่อได้อาณาเขตกรุงสุโขทัยซึ่งลดศักดิ์ลงเป็นประเทศราชอยู่นั้นมาเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา และตีได้เมืองนครธมซึ่งเป็นราชธานีของประเทศขอมเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๑๙๗๖ ในสมัยนั้น ได้ข้าราชการเมืองสุโขทัยและชาวกรุงกัมพูชาทั้งพวกพราหมณ์พวกเจ้านายท้าวพระยาซึ่งชำนาญการปกครองมาไว้ในกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก ได้ความรู้ขนบธรรมเนียมราชการบ้านเมืองทั้งทางกรุงสุโขทัยและกรุงกัมพูชาถ้วนถี่ดีกว่าที่เคยรู้มาแต่ก่อน จึงเป็นเหตุให้แก้ไขประเพณีการปกครอง เลือกทั้งแบบแผนในกรุงสุโขทัยและแบบแผนขอมในกรุงกัมพูชามาปรุงเป็นวิธีการปกครองกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ ซึ่งเป็นราชโอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ วิธีปกครองที่ปรุงขึ้นเมื่อระหว่าง พ.ศ. ๑๙๙๑ จน พ.ศ. ๒๐๗๒ ในสองรัชกาลที่กล่าวมาจึงได้เป็นหลักของวิธีปกครองประเทศสยามสืบมา ถึงแก้ไขบ้างในบางสมัยก็เป็นแต่แก้พลความ ตัวหลักวิธียังคงอยู่จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้


๘.   ทีนี้ จะว่าด้วยลักษณะการปกครองซึ่งได้ตั้งเป็นแบบสมบูรณ์ครั้งกรุงศรีอยุธยาพรรณนาทีละแผนกต่อไป ลักษณะการปกครองอาณาเขตนั้นมีเค้าเงื่อนปรากฏอยู่ในกฎมนเทียรบาลและทำเนียบศักดินาหัวเมืองว่า เลิกแบบที่มีเมืองลูกหลวงสี่ด้านราชธานีอย่างแต่ก่อน ขยายเขตการปกครองของราชธานีกว้างขวางออกไปโดยรอบ ถ้าจะเรียกนามตามท้องที่ในปัจจุบันนี้ก็คือ รวมมณฑลราชบุรี มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ (เพียงเมืองชัยนาท) มณฑลปราจีน เข้าอยู่ในวงราชธานี กำหนดบรรดาเมืองซึ่งอยู่ในวงราชธานีเป็นเมืองชั้นจัตวา มีผู้รั้งกับกรมการเป็นพนักงานปกครองขึ้นอยู่ในอำนาจเจ้ากระทรวงต่าง ๆ ที่ในราชธานี หัวเมืองซึ่งอยู่ภายนอกวงราชธานีออกไป คงเป็นเพราะอยู่ไกล จะปกครองจากราชธานีไม่สะดวก หรือเพราะอยู่หน้าด่านชายแดน จึงจัดเป็นเมืองพระยามหานครชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี โดยลำดับกันตามขนาดและความสำคัญของเมือง เมืองชนิดนี้ต่อมาเรียกว่า "หัวเมืองชั้นนอก" ต่างมีเมืองขึ้นอยู่ในอาณาเขตทำนองเดียวกับวงราชธานี และบรรดาเมืองชั้นนอกนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นสูงศักดิ์เป็นผู้สำเร็จราชการเมือง มีอำนาจบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดอย่างเป็นผู้ต่างพระองค์ทุกอย่าง และมีกรมการพนักงานปกครองทุกแผนกอย่างเช่นในราชธานี หัวเมืองต่อนั้นออกไปซึ่งเป็นเมืองชนต่างชาติต่างภาษาอยู่ชายแดนต่อประเทศอื่นให้เป็นเมืองประเทศราช มีเจ้านายของชนชาตินั้นเองปกครองตามจารีตประเพณีของชนชาตินั้น ๆ เป็นแต่ใครจะเป็นเจ้าเมืองต้องบอกเข้ามาทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ณ กรุงศรีอยุธยาทรงตั้ง และเมืองนั้นต้องถวายต้นไม้ทองเงินกับเครื่องราชบรรณาการมีกำหนดสามปีครั้งหนึ่ง

ส่วนการปกครองท้องที่ภายในเขตเมืองอันหนึ่งนั้นมีเค้าเงื่อนอยู่ในกฎหมายหลายบท คือ พระราชกำหนดเก่า เป็นต้น การปกครองตั้งต้นแต่ "บ้าน" มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งผู้ว่าราชการเมืองเลือกตั้งเป็นหัวหน้า หลายบ้านรวมกันเป็น "ตำบล" มีกำนันเป็นหัวหน้า ตัวกำนันมักได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พัน" หลายตำบลรวมกันเป็น "แขวง" มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครอง หลายแขวงรวมกันเป็นเมือง มีผู้รั้งหรือพระยามหานครเป็นผู้ปกครอง เป็นที่สุดระเบียบการปกครองท้องที่ดังนี้


๙.   ทีนี้ จะพรรณนาว่าด้วยวิธีปกครองคนตามลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณต่อไป เนื่องในเรื่องที่กล่าวตอนนี้ข้าพเจ้ายังจำได้อยู่ว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๒ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๖) มีคนเข้าใจกันโดยมากว่า รับเอาประเพณีของฝรั่งมาใช้ ผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วยบางคนก็กล่าวว่า ไม่ควรจะเกณฑ์ผู้คนเป็นทหารทั่วทั้งบ้านทั้งเมือง รัฐบาลอยากจะมีทหารเท่าใดก็ควรจ้างเอาอย่างทหารอังกฤษ ความเข้าใจเช่นว่าจะยังมีอยู่หรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบแน่ แต่ความจริงการที่เกณฑ์ชายฉกรรจ์ทุกคนเป็นทหารนั้นเป็นประเพณีของไทยใช้มาเกาแก่ดูเหมือนก่อนตั้งกรุงสุโขทัยก็ว่าได้ ใช่แต่เท่านั้น ถึงวิธีการปกครองประเทศสยาม ถ้าว่าด้วยส่วนปกครองผู้คน ก็ใช้วิธีปกครองอย่างทหารมาแต่ดั้งเดิม การฝ่ายพลเรือนเหมือนแต่อย่างฝากไว้ให้ทหารช่วยทำ จะยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ เช่น เจ้ากระทรวงการพลเรือนแต่ก่อนก็ล้วนแต่เป็นนายพลยังเรียกว่า "เสนาบดี" อันแปลว่า นายพล ติดอยู่จนทุกวันนี้ เพราะเหตุที่วิธีปกครองประเทศสยามแต่เดิมทีใช้วิธีการทหารเป็นหลัก ครั้นเมื่อสมัยต่อมา การที่ต้องทำศึกสงครามห่างลง และมีการต่าง ๆ อันเป็นฝ่ายพลเรือนทวีขึ้น ก็ผ่อนผันหันการทหารเข้าประสานการพลเรือนมากขึ้นเป็นอันดับมา ลักษณะการทหารแต่เดิมจึงเลือนไป แต่ยังคงเป็นหลักอยู่ หาได้เลิกไม่ ที่คนเข้าใจผิดไปก็ด้วยแต่โบราณยังไม่มีวิธีพิมพ์หนังสือ การตั้งหรือแก้ไขพระราชกำหนดกฎหมายอันใดก็เป็นแต่เขียนลงบนแผ่นกระดาษเอาไปป่าวร้องโฆษณา แล้วลอกลงเล่มสมุดรักษาไว้มีไม่กี่ฉบับ ผู้ที่จะได้อ่านก็น้อย ครั้นผู้ที่ได้อ่านหมดตัวไป ก็มิใคร่จะมีใครรู้เรื่องราวและเหตุผลต้นปลายว่า การเรื่องนั้น ๆ เป็นมาอย่างไร

หลักแห่งวิธีการปกครองของไทยแท้จริงมีความสองข้อนี้เป็นสำคัญ คือ พระราชอาชญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดิน ข้อหนึ่ง กับการที่บังคับให้บรรดาชายฉกรรจ์มีหน้าที่ต้องเป็นทหารสำหรับช่วยรักษาบ้านเมือง อีกข้อหนึ่ง ใช้คำว่า "ทำราชการ" แปลว่า การของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงอาชญาสิทธิ์เป็นประมุขแห่งการรักษาบ้านเมือง หน้าที่อันนี้ถือว่ามีทั่วกันหมดทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ผิดกันแต่ที่ให้ทำการต่างกันตามความสามารถของบุคคลต่างชั้นต่างจำพวกเพื่อให้ได้ผลดีอย่างยิ่งแก่บ้านเมือง ถ้าว่าแต่โดยส่วนชายฉกรรจ์ที่เป็นไพร่พลเมืองนั้นมีหน้าที่ดังจะกล่าวโดยสังเขปต่อไปนี้ คือ

๑.   เมื่อมีอายุได้สิบแปดปีต้องเข้าทะเบียนเป็น "ไพร่สม" ให้มูลนายฝึกหัดและใช้สอย (จะมีกำหนดกี่ปียังค้นหาหลักฐานไม่พบ เพราะชั้นหลังมากลายเป็นอยู่ตลอดอายุของนายไปเสีย ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า เดิมจะมีกำหนดสองปี) ครั้นอายุได้ยี่สิบปี (ปลดจากไพร่สม) ไปเป็น "ไพร่หลวง" มีหน้าที่รับราชการแผ่นดิน ผู้อื่นจะเอาไปใช้สอยไม่ได้ อยู่ในเขตรับราชการไปจนอายุได้หกสิบปีจึงปลดด้วยเหตุชรา หรือมิฉะนั้น แม้อายุยังไม่ถึงหกสิบปี ถ้ามีบุตรส่งเข้ารับราชการสามคน ก็ปลดบิดาให้พ้นจากราชการเหมือนกัน

๒.   ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเข้าสังกัดอยู่ในกรมใดกรมหนึ่ง จะลอยตัวอยู่ไม่ได้ ลูกหลานเหลนซึ่งสืบสกุลก็ต้องอยู่ในกรมนั้นเหมือนหัน จะย้ายกรมได้ต่อได้รับอนุญาต เพราะเหตุนี้ ถ้าสังกัดกรมในราชธานี ไพร่กรมนั้นก็ต้องตั้งถิ่นฐานอยู่ในวงหัวเมืองราชธานี ถ้าเป็นไพร่คงเมืองชั้นนอกเมืองไหนก็ต้องอยู่ในแขวงเมืองนั้น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในเวลามีการศึกสงครามเกิดขึ้น จะได้เรียกระดมคนได้ทันท่วงที รวมคนในวงราชธานีเป็นกองทัพหลวง และรวมคนในเมืองชั้นนอกเป็นเมืองและกองพลหรืออย่างอื่นตามกำลังของเมืองนั้น ๆ

๓.   ในเวลาปรกติ ไพร่หลวงในวงราชธานีต้องเข้ามาประจำราชการปีละหกเดือน ได้อยู่ว่างปีละหกเดือน กำหนดเวลาประจำราชการเช่นว่านี้เรียกว่า เข้าเวร ต้องเอาเสบียงของตนมากินเองด้วย เมื่อถึงสมัยกรุงธนบุรีลดเวลาเวรลงคงเหลือแต่สี่เดือน ครั้นต่อมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ลดลงอีกเดือนหนึ่ง คงต้องมาเข้าเวรประจำราชการแต่ปีละสามเดือน

มีความข้อหนึ่งเนื่องต่อการที่ชายฉกรรจ์ต้องมาเข้าเวรดังกล่าวมาซึ่งคนทั้งหลายยังไม่รู้หรือเข้าใจผิดอยู่โดยมาก ควรจะกล่าวอธิบายแทรกลงตรงนี้ คือ เมื่อตอนกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา รัฐบาลต้องการตัวเงินใช้จ่ายยิ่งกว่าได้ตัวคนมาเข้าเวร จึงยอมอนุญาตให้ไพร่ซึ่งไม่ปรารถนาจะเข้าเวรเสียเงิน "ค่าราชการ" เหมือนอย่างจ้างคนแทนตัวได้ เมื่อมาถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ข้าราชการต้องเสียปีละสิบแปดบาท มีผู้สมัครเสียเงินค่าราชการแทนเข้าเวรเป็นพื้น ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อตั้งพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารแล้ว โปรดให้ผู้ซึ่งไม่ต้องถูกเกณฑ์เป็นทหารคงเสียเงินค่าราชการแต่ปีละหกบาท เท่ากับมีหน้าที่ต้องเข้าเวรรับราชการปีละเดือนหนึ่ง ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขให้เรียกว่า รัชชูปการ และโปรดให้พวกชายฉกรรจ์ ซึ่งเคยได้รับความยกเว้นด้วยปราศจากเหตุอันสมควร ต้องเสียด้วย แม้ที่สุด จนพระองค์เองก็ทรงยอมเสียค่ารัชชูปการปีละหกบาทเหมือนกับคนอื่น ๆ เงินค่ารัชชูปการมิได้เป็นภาษีอากรที่ตั้งขึ้นใหม่ เป็นเรื่องแก้ไขลดหย่อนลงมาจากค่าราชการอันมีประเพณีเดิมดังแสดงมา

จะกลับกล่าวถึงวิธีเกณฑ์ไพร่รับราชการตามประเพณีโบราณต่อไป ส่วนหัวเมืองพระยามหานครนั้น ในเวลาปรกติไม่ต้องการตัวไพร่เข้ามาประจำราชการมากเหมือนที่ในราชธานี รัฐบาลจึงคิดให้มีวิธีส่งส่วยแทนเข้าเวร เพราะหัวเมืองเหล่านั้นมีป่าดงและภูเขาอันเป็นที่มีหรือที่เกิดสิ่งของต้องการใช้สำหรับราชการบ้านเมือง ยกตัวอย่างดังดินประสิวที่สำหรับทำดินปืน ต้องใช้มูลค้างคาวอันมีในถ้ำตามหัวเมือง และดีบุกสำหรับทำกระสุนปืนอันมีมากในมณฑลภูเก็ต จึงอนุญาตให้ไพร่ในท้อที่นั้น ๆ หาสิ่งของซึ่งรัฐบาลต้องการใช้มาส่งโดยกำหนดปีละเท่านั้น ๆ แทนที่ต้องมาเข้าเวรรับราชการ จึงเกิดมีวิธีเกณฑ์ส่วยด้วยประการฉะนี้

คราวนี้ จะว่าด้วยบุคคลซึ่งเป็นชั้นนายสำหรับควบคุมบังคับบัญชาไพร่อันต้องเป็นคนมีความสามารถยิ่งกว่าไพร่พลสามัญ ก็ในสมัยโบราณนั้นยังไม่มีโรงเรียนซึ่งใครสมัครเรียนวิชาอย่างไรจะอาจเรียนได้ตามชอบใจ บุคคลทั้งหลายได้อาศัยศึกษาวิชาการต่าง ๆ ในสกุลของตนเป็นประมาณ เป็นต้นว่า บุคคลซึ่งเกิดในตระกูลผู้ปกครอง เช่น ราชสกุลก็ดี สกุลเสนาบดีและเจ้าบ้านการเมืองก็ดี ย่อมได้โอกาสศึกษาวิธีการปกครองมากกว่าบุคคลจำพวกที่เกิดในสกุลทำสวนทำนาหาเลี้ยงชีพ เพราะเหตุนั้น ในวิธีการควบคุมคนแต่โบราณ ผู้เป็นชั้นนายจึงมักอยู่ในสกุลซึ่งได้คุ้นเคยแก่ราชการที่ทำสืบกันมา เป็นอย่างนี้ตลอดลงไปจนนายชั้นต่ำที่เรียกว่า ขุนหมื่น แต่จะได้มีกฎหมายให้เป็นนายและเป็นไพร่ตามชั้นบุคคลนั้นหามิได้ มีกฎหมายลักษณะอันหนึ่งตั้งขึ้นเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เรียกว่า "พระราชกำหนดศักดินา" ว่าด้วยกรรมสิทธิ์ถือที่นา ให้บุคคลเป็นเจ้าของที่นาได้มากและน้อยกว่ากันตามยศ เป็นต้นว่า พระมหาอุปราชจะมีนาได้เพียงแสนไร่ที่เป็นอย่างมาก และเจ้าพระยาจะมีนาได้ไม่เกินหมื่นไร่ และลดอัตราลงมาตามยศบุคคลโดยลำดับ จนถึงไพร่สามัญกำหนดให้มีนาได้เพียงคนละยี่สิบห้าไร่เป็นอย่างมาก ดังนี้ มูลเหตุเดิมก็เห็นจะประสงค์เพียงห้ามมิให้ใครหวงที่นาไว้เกินกว่ากำลังที่จะทำให้เกิดผลได้ แต่ภายหลังมาเกณฑ์เอาศักดินาตามกฎหมายนี้ไปใช้เป็นหลักในการอย่างอื่นอีกหลายอย่าง ที่สำคัญนั้น คือ เอาไปใช้เป็นอัตราสำหรับปรับไหม ดังเช่น ผู้ทำความผิดในคดีอย่างเดียวกัน ถ้ามียศเป็นนายพล ต้องเสียเงินค่าปรับมากกว่านายพัน เพราะศักดินามากกว่ากัน หรือถ้าปรับไหมให้แก่กันในคดีอย่างเดียวกัน ถ้าไพร่กระทำผิดต่อไพร่ ปรับทำขวัญกันตามศักดินาไพร่ ถ้าไพร่กระทำผิดต่อขุนนาง ต้องเอาศักดินาขุนนางปรับไพร่ แต่ถ้าขุนนางกระทำผิดต่อไพร่ ก็เอาศักดินาขุนนางนั้นเองปรับทำขวัญไพร่ ดังนี้

อีกอย่างหนึ่งนั้น ในการที่เป็นความกันในโรงศาล ยอมให้ผู้มีศักดินาตั้งแต่สี่ร้อยไร่ขึ้นไปแต่งทนายว่าความแทนตัวได้ ประโยชน์ที่ได้ด้วยศักดินายังมีต่อไป จนถึงเข้าลำดับในที่เฝ้า และอย่างอื่น ๆ อีก จึงเป็นข้อสำคัญอันหนึ่งซึ่งทำให้คนปรารถนายศศักดิ์ แต่บุคคลซึ่งเป็นนายตามประเพณีโบราณต้องรับราชการเป็นนิจ และไม่พ้นราชการได้เมื่ออายุถึงหกสิบเหมือนอย่างไพร่ และไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากรัฐบาล (เช่นรับเงินเดือนกันทุกวันนี้) ผลประโยชน์ที่ได้ในตำแหน่งได้จากอุปการะจากไพร่ที่อยู่ในบังคับบัญชาของตน คือ ได้อาศัยใช้สอยพวกสมพล และได้สิ่งของซึ่งพวกไพร่หลวงเพาะปลูกหรือทำมาหาได้แบ่งส่วนมากำนัลโดยใจสมัคร ถ้าและตัวนายเป็นตำแหน่งทำราชการอันเกิดค่าธรรมเนียม เช่น ค่าประทับตราตำแหน่ง เป็นต้น ก็ได้ค่าธรรมเนียมเป็นประโยชน์ในตำแหน่งด้วย ผู้ว่าราชการตามหัวเมืองยังได้ค่าปรับอันเป็นภาคหลวง เรียกว่า "เงินพินัย" เป็นผลประโยชน์ด้วยดังนี้

ตำแหน่งข้าราชการทั้งปวงมีทำเนียบเป็นกำหนดมาแต่โบราณ ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ แต่ไม่ตรงกับเช่นใช้ในโบราณสมัย ในทำเนียบนั้นกำหนดศักดิ์อีกสามอย่างนอกจากศักดินาที่กล่าวมาแล้ว คือ "ยศ" เช่น เป็นเจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น อย่างหนึ่ง "ราชทินนาม" เช่น ที่เรียกว่า เจ้าพระยามหาเสนาบดี พระยาราชนิกุล พระอินทรเทพ หลวงคชศักดิ์ ขุนมหาสิทธิโวหาร เป็นต้น อย่างหนึ่ง "ตำแหน่ง" เช่น เป็นเสนาบดี หรือปลัดทูลฉลอง เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชี เป็นต้น อย่างหนึ่ง แต่โบราณศักดิ์ทั้งสามกับทั้งศักดินารวมอยู่ในตัวบุคคลคนเดียว และเฉพาะแต่ในกระทรวงและกรมเดียวด้วย เป็นต้นว่า ถ้าใครได้ราชทินนามว่า "มหาเสนา" คงต้องเป็นเจ้าพระยา และเป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หรือโปรดให้ใครเป็นอัครมหาเสนาบดีกลาโหมก็คงต้องมีนามว่า "มหาเสนา" และมียศเป็นเจ้าพระยาด้วย ดังนี้ ข้าราชการตำแหน่งอื่น และชั้นอื่น กระทรวงอื่น ก็เป็นเช่นเดียวกันตลอดถึงข้าราชการหัวเมือง เช่น ผู้ว่าราชการเมืองพิษณุโลกก็คงเป็นเจ้าพระยา (หรือพระยา) สุรสีห์ ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีก็คงเป็นพระยา (หรือพระ) สุนทรสงคราม ถึงเปลี่ยนตัวคน ชื่อก็คงอยู่กับตำแหน่ง ไม่มีกิจที่จะต้องถามว่า เดี๋ยวนี้ใครเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หรือว่า ใครเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย เพราะคงชื่อว่าเป็นเจ้าพระยามหาเสนาและพระยาราชนิกุลอยู่เป็นนิจ ประเพณีเช่นว่ามาในโบราณสมัยทำนองนี้จะแลเห็นประโยชน์อย่างนี้ คือ ให้คนทั้งหลายต้องศึกษาเพียงทำเนียบที่ตั้งไว้ก็อาจจะรู้ได้ว่า ใครเป็นใครทุกตำแหน่งทุกกระทรวง มิพักต้องขวนขวายยิ่งกว่านั้น แต่ลักษณะการตั้งข้าราชการแต่โบราณเป็นแต่อาลักษณ์รับสั่งแล้วมีหมายบอกไปยังเจ้ากระทรวง ต่อในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริให้มีสัญญาบัตรพระราชทานต่อพระหัตถ์เป็นประเพณีสืบมา


๑๐.   ทีนี้ จะแสดงอธิบายระเบียบกระทรวงธุรการแต่โบราณต่อไป ได้กล่าวมาแล้วว่า วิธีการปกครองประเทศสยามแต่โบราณเอาการทหารเป็นหลัก การพลเรือนเอาแต่อาศัยใช้ทหารทำ หลักของวิธีนี้ยังใช้มาปรากฏจนในรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์ เช่น เมื่อคราวยกกองทัพไปปราบพวกฮ่อ ครั้งปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ตัวแม่ทัพ คือ เจ้าพระยาภูธราภัยก็ดี เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงก็ดี ก็เป็นข้าราชการตำแหน่งฝ่ายพลเรือน พวกนายทัพนาย นายกอง และไพร่พลก็รวมกันทั้งกรมฝ่ายทหารและกรมฝ่ายพลเรือน มิได้เกณฑ์แต่กรมฝ่ายทหารฝ่ายเดียว เห็นได้ชัดว่า หลักเดิมถือว่า บรรดาคนทั้งหลายต้องเป็นทหารด้วยกันหมด แท้จริงเพิ่งมาแยกการฝ่ายพลเรือนขาดจากทหารเมื่อตั้งพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารใน พ.ศ. ๒๔๔๖ ลักษณะการพลเรือนแต่โบราณจัดเป็นสี่แผนก เรียกว่า เมือง วัง คลัง นา หรือเรียกรวมกันว่า "จตุสดมภ์" แปลว่า หลักทั้งสี่ ลักษณะที่จัดระเบียบการฝ่ายพลเรือนเป็นสี่แผนกนั้นสันนิษฐานว่า จะเป็นตำรามาแต่อินเดีย ด้วยประเทศอื่นที่ใกล้เคียงกับพม่าก็ดี เขมรก็ดี ตลอดจนชวามลายู แบ่งเป็นสี่แผนกทำนองเดียวกันทั้งนั้น ไทยเราคงได้แบบมาจากพวกขอม เหตุที่แบ่งเป็นสี่แผนกนั้นบางทีจะเอาหลักทางทหารมาใช้นั่นเอง คือ ให้เสนาบดีผู้เป็นหัวหน้าจตุรงคเสนาทำการพลเรือนคนละแผนก จะกล่าวอธิบายลักษณะการพลเรือนที่ละแผนกต่อไป คือ

เสนาบดีกรมเมือง เป็นพนักงานปกครองท้องที่ รักษาสันติสุข บังคับบัญชาบรรดาไพร่บ้านพลเมืองเมื่ออยู่ในท้องที่ถิ่นฐานภูมิลำเนาของตนทั่วไป

เสนาบดีกรมวัง เป็นหัวหน้าในพระราชสำนัก และเป็นเจ้ากระทรวงยุติธรรมด้วย จึงมีนามว่า "ธรรมาธิกรณ์" อันเหตุที่กระทรวงวังจะได้ว่าการยุติธรรมด้วยนั้น เพราะประเพณีโบราณถือเป็นคติเหมือนกันหมดทุกประเทศแม้จนในยุโรปว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ที่ประทานยุติธรรมแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน หรือถ้าจะว่าอย่างเข้าใจได้ง่าย ๆ พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ทรงบัญญัติให้ราษฎรประพฤติอย่างไร หรือห้ามมิให้ประพฤติอย่างไร กับทั้งเมื่อราษฎรเกิดคดีด้วยเบียดเบียนกันก็ดี หรือด้วยเกี่ยงแย่งกันก็ดี ใครนำความมากราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ซึ่งจะชี้ว่า ผู้ใดผิด และบังคับให้ต้องรับโทษตามสมควรแก่ความผิดนั้น ลักษณะการเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงปกครองพระราชอาณาเขตกว้างขวางก็พ้นวิสัยที่จะทรงปฏิบัติได้ แม้เช่นนั้น บางพระองค์ ดังเช่น พระเจ้ารามคำแหงมหาราช ก็พอพระราชหฤทัยจะประพฤติ จึงผูกกระดึงที่ประตูพระราชวังเพื่อให้ราษฎรมาสั่นกระดึงถวายฎีกาได้ แต่ก็ได้ประโยชน์แก่ราษฎรที่อยู่ในเมืองสุโขทัย หาเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างไกลไม่ ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าแผ่นดินจึงต้องแบ่งพระราชอำนาจให้มีผู้อื่นช่วยในการรักษาความยุติธรรม แต่เพื่อจะเอาการนั้นไว้ให้ใกล้พระเนตรพระกรรณ จึงโปรดให้เสนาบดีกระทรวงวังซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดพระองค์เป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม และมีอำนาจตั้งยกกระบัตรออกไปอยู่ตามหัวเมืองเมืองละคน สำหรับบอกรายงานการรักษาความยุติธรรมในเมืองนั้น ๆ เข้ามาให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบด้วย วิธีการศาลยุติธรรมแต่โบราณเป็นอย่างไรจะแสดงอธิบายในที่อื่นต่อไปข้างหน้า

เสนาบดีกระทรวงพระคลัง เป็นพนักงานรับจ่ายและเก็บรักษาพระราชทรัพย์อันได้มาแต่ส่วยสาอาการ หรือที่เราเรียกกันทุกวันนี้ว่า ภาษีอากร เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏว่ากำหนดเป็นสี่ประเภท เรียกว่า จังกอบ ประเภทหนึ่ง อากร ประเภทหนึ่ง ส่วย ประเภทหนึ่ง ฤชา ประเภทหนึ่ง อธิบายมีอยู่ในกฎหมายลักษณะพระธรรมนูญบ้าง ในลักษณะอาญาหลวงบ้าง อยู่ในหนังสือมองสิเออเดอลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศสแต่งบ้าง จะรวมมาชี้แจงเป็นสังเขป

ที่เรียกว่า จังกอบ นั้น คือ เก็บชักสินค้าเป็นส่วนลด หรือเก็บเงินเป็นอัตราตามขนาดยานพาหนะซึ่งขนสินค้าเมื่อผ่านด่านขนอน ประเพณีเก็บจังกอบเห็นจะมีมาแต่ก่อนไทยได้เป็นใหญ่ในประเทศสยาม ด้วยปรากฏในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชว่า โปรดเลิกจังกอบในเมืองสุโขทัย แต่ภาษีอากรอย่างอื่นประเภทใดจะตั้งเมื่อใดไม่ทราบแน่

ที่เรียกว่า อากร นั้น คือ เก็บชักส่วนผลประโยชน์ซึ่งราษฎรทำมาหาได้ด้วยประกอบการต่าง ๆ เช่น ทำเรือกสวน เป็นตน หรือโดยได้รับสิทธิจากรัฐบาล เช่น อนุญาตให้ขุดหาแร่และเก็บของในป่า หรือจับปลาในน้ำ หรือต้มกลั่นสุรา เป็นต้น

ที่เรียกว่า ส่วย นั้น คือ ยอมอนุญาตให้บุคคลบางจำพวกส่งสิ่งของซึ่งรัฐบาลต้องการใช้ แทนแรงคนที่จะต้องเข้ามาประจำทำราชการโดยเหตุดังกล่าวมาแล้วที่อื่น

ที่เรียกว่า ฤชา นั้น เรียกจากการต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลต้องทำให้เฉพาะตัวบุคคล คือ ที่เราเรียกกันทุกวันนี้ว่า ค่าธรรมเนียม ตลอดจนเบี้ยปรับ ก็พระราชทรัพย์ที่ได้นั้นเป็นตัวเงินบ้าง เป็นสิ่งของต่าง ๆ มีคลังสำหรับเก็บแยกกันตามประเภท เช่น คลังมหาสมบัติสำหรับเก็บเงินทอง เป็นต้น จึงมีคำเรียกกันว่า สิบสองท้องพระคลัง

ที่เรียกว่า ภาษี ดูเหมือนจะเกิดแต่ให้ผู้รับประมูลกันส่งเงินหลวง ภาษีอย่างใดใครรับประมูลส่งเงินมากกว่าเพื่อน ผู้นั้นก็ได้เป็นเจ้าภาษี ได้ยินว่า เพิ่งมีขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์นี้

ที่กรมพระคลังได้ว่าการต่างประเทศด้วยนั้นมีมูลมาแต่ตอนกลางสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เหตุด้วยเมื่อมีชาวต่างประเทศแล่นเรือเข้ามาค้าขาย เป็นหน้าที่ของของกรมพระคลังจะต้องซื้อสิ่งของที่ต้องการใช้ในราชการ และขายของส่วยซึ่งมีอยู่ในพระคลังเหลือใช้สอย ความเกี่ยวข้องในระหว่างชาวต่างประเทศกับกรมพระคลังเกิดแต่ด้วยเรื่องค้าขายเป็นมูล และเลยมาถึงภารธุระอย่างอื่นซึ่งเกี่ยวกับชาวต่างประเทศ เหตุด้วยกรมพระคลังคุ้นเคยกับชาวต่างประเทศยิ่งกว่ากรมอื่น จึงเลยมีหน้าที่เป็นพนักงานสำหรับบรรดาการที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศอีกแผนกหนึ่ง เรียกว่า "กรมท่า" เพราะบังคับการท่าที่เรือค่างประเทศเข้ามาค้าขาย การพระคลังกับการต่างประเทศรวมอยู่ในเสนาบดีคนเดียวกันมาจนกรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่งแยกเป็นต่างแผนกกันเมื่อปลายรัชกาลที่ ๔ และมากำหนดเป็นกระทรวงเสนาบดีต่างกัน เรียกว่า กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงหนึ่ง กระทรวงพระคลัง กระทรวงหนึ่ง เมื่อในรัชกาลที่ ๕

เสนาบดีกรมนานั้นแต่โบราณมีหน้าที่เป็นพนักงานตรวจตราการทำไร่นาและออกสิทธิ์ที่นาซึ่งถือว่าเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยการทำนาเป็นอาชีพของราษฎรในประเทศนี้ยิ่งกว่าการอย่างอื่น แต่หาได้เกี่ยวข้องถึงให้กรรมสิทธิ์ที่บ้านที่สวนไม่ ที่บ้านกรมเมืองเป็นผู้ให้กรรมสิทธิ์ ที่สวนกรมพระคลังเป็นผู้ให้กรรมสิทธิ์ หน้าที่กรมนาอีกอย่างหนึ่งนั้น คือ เก็บหางข้าวขึ้นฉางหลวง ซึ่งนับว่าเป็นการสำคัญ ด้วยเสบียงอาหารเป็นกำลังของรี้พลสำหรับป้องกันบ้านเมือง แต่โบราณมิได้เรียกเป็นเงินค่านา ใครทำนาได้ต้องแบ่งเอามาส่งขึ้นฉางหลวงไว้สำหรับใช้ราชการ จึงเรียกว่า หางข้าว ต่อถึงรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้เปลี่ยนเก็บเป็นตัวเงินแทนข้าวเปลือก เพื่อมิให้ราษฎรได้ความลำบากด้วยต้องขนข้าวมาส่งถึงฉางหลวง จึงได้เรียกว่า ค่านา แต่นั้นมา

ลักษณะการที่แบ่งเป็นสี่กระทรวงดังกล่าวแล้วมีมาแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยา หรือบางทีจะมีมาก่อนนั้นขึ้นไปอีกก็เป็นได้ เมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งเสนาบดีเพิ่มขึ้นอีกสองตำแหน่ง ในหนังสือพระราชพงศาวดารใช้คำว่า "เอาทหารเป็นสมุหพระกลาโหม เอาพลเรือนเป็นสมุหนายก" ดังนี้ คือ ตั้งกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้าราชการฝ่ายทหารทั่วไป กระทรวงหนึ่ง ตั้งกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าราชการฝ่ายพลเรือนทั่วไป กระทรวงหนึ่ง เสนาบดีหัวหน้าสองกระทรวงนี้มียศเป็นอัครมหาเสนาบดีสูงกว่าเสนาบดีจตุสดมภ์ทั้งสี่ ดูเหมือนจะมีหน้าที่ทำนองอย่างเสนาธิการฝ่ายทหารหนึ่งคน ฝ่ายพลเรือนสองคน เป็นที่ทรงปรึกษาราชการ ถ้าและราชการฝ่ายทหารเกิดขึ้น สมุหพระกลาโหมก็ได้เป็นประธานที่ประชุมข้าราชการฝ่ายทหารปรึกษาข้อราชการนั้นนำมติขึ้นกราบบังคมทูล และเมื่อมีพระราชโองการดำรัสสั่งราชการอันใด ถ้าและราชการนั้นเป็นฝ่ายทหาร กรมวังผู้ต้นรับสั่งก็หมายบอกมายังกลาโหม กลาโหมหมายสั่งไปยังกรมทหารทั้งปวง ส่วนราชการฝ่ายพลเรือนก็เป็นหน้าที่ของสมุหนายกมหาดไทยอย่างเดียวกัน และอัครมหาเสนาบดีทั้งสองนี้มีหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาหัวเมืองได้อีกอย่างหนึ่ง การบังคับหัวเมืองมีปรากฏในหนังสือมองสิเออเดอลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศสแต่งเมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ว่า มหาดไทยบังคับการฝ่ายพลเรือน กลาโหมบังคับการฝ่ายทหารทุกหัวเมือง จึงสันนิษฐานว่า แบบเดิมจะเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อภายหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มา บางทีจะเป็นด้วยหัวเมืองกบฏในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา หรือเป็นด้วยเห็นว่า สั่งการก้าวก่ายกันนัก จึงเปลี่ยนเป็นให้แบ่งหัวเมืองออกเป็นสองภาค หัวเมืองฝ่ายภาคเหนือให้สมุหนายกมหาดไทยบังคับการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน หัวเมืองภาคใต้ก็ให้สมุหพระกลาโหมบังคับบัญชาเช่นเดียวกัน ครั้นต่อมา (จะเป็นในรัชกาลไหนไม่ทราบแน่) สมุหพระกลาโหมคนหนึ่งมีความผิด โปรดให้เอาหัวเมืองซึ่งกลาโหมเคยว่ากล่าวนั้นไปขึ้นในกรมท่า คือ เสนาบดีพระคลัง มาจนเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงโปรดให้คืนหัวเมืองให้กลาโหม คงให้กรมท่าว่าแต่เหล่าหัวเมืองปากอ่าว หัวเมืองแยกกันขึ้นอยู่ในสามกระทรวงมาจนเมื่อจัดมณฑลเทศาภิบาลในรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้เปลี่ยนเอาการเป็นหลักบังคับหัวเมือง คือ มหาดไทยบังคับการปกครองท้องที่ กลาโหมบังคับฝ่ายทหาร และกระทรวงอื่น ๆ บังคับราชการในกระทรวงนั้นทั่ว ๆ พระราชอาณาเขต

นอกจากกรมกลาโหม มหาดไทย และกรมเมือง วัง คลัง นา มีกรมที่เป็นชั้นรองลงมาสำหรับราชการต่าง ๆ อีกมาก จะพรรณนาให้พิสดารในปาฐกถานี้ เวลาหาพอไม่ ท่านผู้ใดใคร่จะทราบให้พิสดาร จงไปดูทำเนียบศักดินาในหนังสือกฎหมายเก่านั้นเถิด


๑๑.   ทีนี้ จะพรรณนาถึงระเบียบการปกครองประเทศสยามแต่โบราณทางฝ่ายตุลาการ คือ ว่าด้วยกฎหมายก่อน แล้วจะว่าด้วยลักษณะการพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป อันกฎหมายย่อมมีพร้อมกันกับการปกครอง ที่การปกครองประชุมชนจะปราศจากกฎหมายนั้นหาได้ไม่ เป็นแต่ต่างประเทศหรือต่างสมัยย่อต่างกันเพียงลักษณะการตั้งและวิธีใช้กฎหมายกับทั้งตัวบทกฎหมายเอง เราท่านทั้งหลายย่อมทราบอยู่ว่า ในประเทศของเราทุกวันนี้ ถ้าตั้งพระราชกำหนดกฎหมายอันใดขึ้นใหม่ ย่อมพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา หนังสือราชกิจจานุเบกษาแพร่หลายไปถึงไหน ก็ทราบความไปถึงนั่นว่า มีบทกฎหมายอย่างนั้น ๆ เจ้าพนักงานที่จะรักษาการหรือจะพิพากษาคดีให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายก็ได้อาศัยอ่านหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ ก็การพิมพ์หนังสือไทยเพิ่งพิมพ์ได้ยังไม่ถึงแปดสิบปี ขอให้ท่านทั้งหลายลองนึกดูว่า เมื่อครั้งยังไม่มีวิธีพิมพ์หนังสือไทย ได้แต่เขียนด้วยมือนั้น การที่คนทั้งหลาย แม้จนผู้บังคับบัญชาการ และผู้พิพากษาตุลาการ จะรู้บทกฎหมายได้ด้วยยากสักปานใด ยิ่งกว่านั้นยังมีอีก ขอให้ลองนึกถอยหลังขึ้นไปสมัยเมื่อก่อนพระเจ้ารามคำแหงมหาราชทรงบัญญัติหนังสือไทยขึ้น ยังไม่มีหนังสือที่จะเขียนภาษาไทย การที่จะตั้งและจะให้รู้กฎหมายบ้านเมืองจะทำกันอย่างไร ข้อนี้ประหลาดที่มีเค้าเงื่อนพอจะทราบได้ ด้วยมีตัวอย่างกฎหมายเก่ากว่าสองพันปีมาแล้วซึ่งตั้งขึ้นด้วยไม่ใช่หนังสือยังปรากฏอยู่ คือ พระวินัยพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ พระสงฆ์ยังท่องจำสวดพระปาติโมกข์กันอยู่ทุกวันนี้ แสดงให้เห็นว่า กฎหมายซึ่งตั้งขึ้นเมื่อก่อนใช้หนังสือคงใช้การท่องจำเป็นสำคัญ และพึงคิดเห็นได้ต่อไปว่า ผู้ซึ่งจะท่องจำไว้ได้ถ้วนถี่คงมีน้อย เพราะเหตุนี้ ความเชื่อถือยุติธรรมในตัวผู้ปกครอง ตั้งแต่ผู้ปกครองครัวเรือนขึ้นไป จึงเป็นข้อสำคัญ และเป็นหลักอันหนึ่งในวิธีปกครองของไทยมาแต่โบราณ กฎหมายซึ่งตั้งครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แม้เมื่อมีหนังสือไทยแล้ว หามีเหลืออยู่จนบัดนี้ไม่ มีปรากฏแต่กฎหมายซึ่งตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แม้ในรัชกาลพระเจ้าอู่ทองก็ยังเหลืออยู่หลายบท พอสังเกตลักษณะการตั้งและรักษากฎหมายสำหรับบ้านเมืองแต่โบราณได้ อันลักษณะการตั้งกฎหมายนั้น แรกทำเป็นหมายประกาศอย่างพิสดาร ขึ้นต้นบอกวันคืน และบอกว่า พระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ที่ไหน ๆ ใครเป็นผู้กราบทูลคดีเรื่องอันใดขึ้นเป็นมูลเหตุ พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริเห็นอย่างไร ๆ จึงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติไว้อย่างนั้น ๆ รูปกฎหมายที่แรกตั้งยังมีปรากฏหลายบท จะพึงเห็นได้ในกฎหมายเก่าฉบับพิมพ์สองเล่ม ตอนพระราชกำหนดเก่า พระราชกำหนดใหม่ และกฎหมายพระสงฆ์

เพราะกฎหมายซึ่งตั้งขึ้นชั้นแรกดังกล่าวมามีความส่วนบานแพนกซึ่งเล่าเรื่องมูลเหตุยืดยาว เรื่องมูลเหตุนั้นไม่ต้องการใช้เมื่อยกบทกฎหมายมาพิพากษาคดี จึงมีวิธีทำกฎหมายย่ออีกอย่าหนึ่ง คือ ตัดความที่ไม่ต้องการออกเสีย กฎหมายอย่างย่อนี้ยังปรากฏอยู่ในบทซึ่งเรียกว่า กฎหมายสามสิบหกข้อ และเรียกว่า พระราชบัญญัติ ในกฎหมายพิมพ์สองเล่ม

แม้ย่ออย่างนั้นแล้ว เมื่อจำเนียรกาลนานมา มีบทกฎหมายมากเข้า ก็ค้นยาก จึงตัดลงอีกชั้นหนึ่ง ดูเหมือนพวกพราหมณ์ชาวอินเดียจะมาสอนให้ทำอนุโลมตามแบบมนูธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นหลักกฎหมายในอินเดีย คือ ตัดความส่วนอื่นออกหมด คงไว้แต่ที่เป็นตัวข้อบังคับ เอาเรียงลำดับเป็นมาตรา แล้วแยกออกเป็นลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น ลักษณะโจร และลักษณะกู้หนี้ เป็นต้น กฎหมายเก่าจึงปรากฏอยู่เช่นนี้เป็นพื้น

หนังสือกฎหมายไทยสูญไปเสียครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นอันมาก ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้รวบรวมฉบับกฎหมายมาตรวจชำระ เลือกแต่ที่จะให้คงใช้ เขียนเป็นฉบับหลวงขึ้นสามฉบับ ประทับตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว เป็นสำคัญทุกเล่มสมุด แล้วโปรดให้รักษาไว้ที่หอหลวง ฉบับหนึ่ง ที่ศาลาลูกขุนใน ฉบับหนึ่ง ที่ศาลหลวง ฉบับหนึ่ง ผู้เป็นเจ้าหน้าที่จะขอลอกคัดเอาสำเนาไปก็ได้ แต่ในการชี้ขาดถือเอาฉบับหลวงเป็นสำคัญ กฎหมายเพิ่งได้พิมพ์เมื่อในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์

วิธีการพิจารณาและพิพากษาคดีในประเทศสยามตามแบบครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานียังใช้ต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์จนกระทั่งตั้งกระทรวงยุติธรรมในรัชกาลที่ ๕ เป็นวิธีแปลกที่เอาแบบอินเดียมาประสมกับแบบไทยด้วยความฉลาดในการประสานประโยชน์อันพึงเห็นได้ในเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่ง จึงเป็นประเพณีที่ไม่มีเหมือนในประเทศอื่น คือ ใช้บุคคลสองจำพวกเป็นพนักงานตุลาการ จำพวกหนึ่งเป็นพราหมณ์ชาวต่างประเทศซึ่งเชี่ยวชาญนิติศาสตร์ เรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลหลวง มีสิบสองคน หัวหน้าเป็นพระมหาราชครูปุโรหิต คนหนึ่ง พระมหาราชครูมหิธร คนหนึ่ง ถือศักดินาเท่าเจ้าพระยา หน้าที่ของลูกขุน ณ ศาลหลวงสำหรับชี้บทกฎหมาย แต่จะบังคับบัญชาอย่างใดไม่ได้ อำนาจการบังคับบัญชาทุกอย่างอยู่กับเจ้าพนักงานที่เป็นไทย ดังจะพึงเห็นได้ในวิธีพิจารณาความซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ ถ้าใครจะฟ้องความ จะเขียนเป็นหนังสือฟ้องไม่ได้ ต้องไปร้องต่อจ่าศาลว่า ประสงค์จะฟ้องความเช่นนั้น ๆ จ่าศาลจดถ้อยคำลงเป็นหนังสือแล้วมอบให้พนักงานประทับฟ้องนำขึ้นปรึกษาลูกขุน ณ ศาลหลวงว่า เป็นฟ้องต้องตามกฎหมายควรรับพิจารณาหรือไม่ ถ้าลูกขุนเห็นว่า ควรรับ พนักงานประทับฟ้องหารือลูกขุนอีกชั้นหนึ่งว่า เป็นกระทรวงศาลไหนที่จะพิจารณา แล้วส่งฟ้องกับตัวโจทก์ไปยังศาลนั้น ตุลาการศาลนั้นหมายเรียกตัวจำเลยมาถามคำให้การ แล้วส่งคำหา คำให้การ ไปปรึกษาลูกขุนให้ชี้สองสถาน คือว่า ข้อใดรับกันในสำนวน และข้อใดจะต้องสืบพยาน ตุลาการจึงไปสืบพยานตามคำลูกขุน ครั้นสืบเสร็จแล้ว ส่งสำนวนไปยังลูกขุน ลูกขุนชี้ว่า ฝ่ายไหนแพ้คดีเพราะเหตุใด ๆ ตุลาการก็นำคำพิพากษาไปส่งผู้ปรับ ผู้ปรับวางโทษว่า ควรจะปรับโทษเช่นนั้น ๆ ส่งให้ตุลาการไปบังคับ ถ้าคู่ความไม่พอใจในคำพิพากษาถวายฎีกาได้ แต่การที่ถวายฎีกานั้นผู้ถวายจำต้องระวังตัว ถ้าเอาความเท็จไปถวายฎีกา อาจจะถูกพระราชอาชญา เพราะเหตุนั้น จึงเป็นเครื่องป้องบกันมิให้ถวายฎีกาพร่ำเพื่อ

ศาลต่าง ๆ ตามธรรมเนียมโบราณมีสี่ประเภท คือ ศาลความอาชญา ศาลความแพ่ง สองประเภทนี้ขึ้นอยู่ในกระทรวงวัง ศาลนครบาลสำหรับชำระความโจรผู้ร้ายเสี้ยนหนามแผ่นดินขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล นอกจากนี้ อีกประเภทหนึ่งเป็นศาลการกระทรวง คือ คดีเกิดขึ้นเนื่องในหน้าที่ราชการกระทรวงไหน ศาลกระทรวงนั้นได้พิจารณา ใช้วิธีพิจารณาดังกล่าวมาเหมือนกันหมดทุกศาล ศาลตามหัวเมืองก็อนุโลมตามวิธีศาลในกรุง แต่ที่ประชุมกรมการทำการส่วนลูกขุน เพราอยู่ไกลจะส่งเข้ามาหารือในกรุงไม่สะดวก กับอีกอย่างหนึ่ง ในการปรับโทษผู้แพ้คดี ให้ส่งคำพิพากษาไปให้เมืองที่ใกล้เคียงกันเป็นผู้ปรับ ถ้าคู่ความไม่พอใจคำพิพากษา อาจอุทธรณ์เข้ามาได้ถึงเจ้ากระทรวงผู้บังคับบัญชาหัวเมืองนั้น ๆ ลักษณะปกครองทางตุลาการแต่โบราณเป็นดังแสดงมา


๑๒.   ได้แสดงลักษณะการปกครองฝ่ายธุรการและฝ่ายตุลาการมาแล้ว ยังมีการปกครองอีกแผนกหนึ่ง คือ ฝ่ายศาสนา สมควรจะแสดงด้วยให้ครบทุกฝ่ายในการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ อันชนชาติไทยมิได้ปรากฏว่าถือศาสนาอื่นนอกจากพระพุทธศาสนามาแต่ดึกดำบรรพ์ สันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวก็เห็นจะถือผีเช่นเดียวกับมนุษย์จำพวกอื่นซึ่งยังมิได้ประสบศาสนาอันมีธรรมะเป็นหลัก ครั้นพระพุทธศาสนาแผ่มาถึง พวกไทยก็พากันเลื่อมใสศรัทธาถือพระพุทธศาสนามาจนตราบเท่าทุกวันนี้ แต่ไทยจะได้รับพระพุทธศาสนาไปจากเมืองมอญหรือได้รับมาทางเมืองจีน ข้อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่จะรู้ได้แน่ อย่างไรก็ดี เมื่อชนชาติไทยลงมาสู่ประเทศสยามนั้น ถือพระพุทธศาสนามาแล้ว ศาสนาซึ่งพวกลาว มอญ และขอมถือกันอยู่เมื่อก่อนพวกไทยจะลงมายังประเทศสยามนั้น มีโบราณวัตถุปรากฏอยู่เป็นเค้าเงื่อนว่า พวกชาวอินเดียได้มาสอนพระพุทธศาสนาในประเทศเหล่านี้ตั้งแต่เมื่อราวพระพุทธศักราชได้ ๔๐๐ ปี และลัทธิพระพุทธศาสนาซึ่งมาสอนในชั้นแรกนั้นเป็นอย่างเก่าซึ่งถือกันในมคธราษฎร์ คือ ที่มักเรียกกันว่า "ลัทธิหีนยาน" ใช้ภาษาบาลีจารึกพระธรรม มีโบราณวัตถุสมัยนี้อยู่ทางตะวันตก คือ ที่พระปฐมเจดีย์เป็นสำคัญ จึงสันนิษฐานว่า พระพุทธศาสนาที่แผ่มาถึงประเทศสยามชั้นแรกเนื่องจากครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชให้เที่ยวสอนพระพุทธศาสนาในนานาประเทศ ผู้สอนพระพุทธศาสนาจึงมาจากมคธราษฎร์และมาทางเมืองมอญจนถึงประเทศนี้ ครั้นภายหลังมาถึงสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาที่ในอินเดียเกิดมี "ลัทธิมหายาน" ซึ่งสมมุติว่า พระพุทธเจ้าเป็นหลายภูมิ และนับถือพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ว่า เป็นผู้บำรุงโลก เปลี่ยนใช้ภาษาสันสกฤตจารึกพระธรรม ข้างฝ่ายศาสนาพราหมณ์ซึ่งถือลัทธิไตรเพทอยู่ก่อนก็เกิดลัทธิไสยศาสตร์ซึ่งถือพระอิศวร พระนารายณ์ ขึ้นตามกัน มีชาวอินเดียอีกพวกหนึ่งพาลัทธิมหายานของพระพุทธศาสนากับศาสนาไสยศาสตร์ของพราหมณ์มาสั่งสอนที่เกาะสุมาตรา เกาะชวา และประเทศจาม ประเทศขอม ชาวประเทศเหล่านั้นรับนับถือแล้ว พวกชาวเมืองศรีวิชัยในเกาะสุมาตราพาลัทธิศาสนามาทางมณฑลนครศรีธรรมราช ทางหนึ่ง พวกขอมพาเข้ามาจากกรุงกัมพูชา อีกทางหนึ่ง จึงมาแพร่หลายในประเทศสยามนี้ มีในศิลาจารึกที่เมืองลพบุรีแผ่นหนึ่งกล่าวว่า ที่เมืองลพบุรีในสมัยเมื่อเป็นเมืองหลวงพวกขอมปกครองอยู่นั้น มีทั้งพระสงฆ์ลัทธิหีนยานและมหายานอยู่ในลพบุรีด้วยกัน ลัทธิมหายานและไสยศาสตร์มิได้แพร่หลายขึ้นไปถึงท้องที่ซึ่งพวกมอญและไทยปกครองอยู่ข้างฝ่ายเหนือ ข้อนี้มีเค้าเงื่อนที่โบราณวัตถุเป็นรูปพระโพธิสัตว์อย่างลัทธิมหายาน และเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ พบปะแต่ข้างใต้ หามีขึ้นไปถึงมณฑลพายัพไม่ ครั้นถึงสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมลง เหตุด้วยพวกถือศาสนาอื่นได้เป็นใหญ่ นานาประเทศก็ขาดทางติดต่อกับอินเดียด้วยเรื่องพระพุทธศาสนา ต่างประเทศต่างถือมาตามนิยมของตน จนเมื่อราว พ.ศ. ๑๖๙๖ มีกษัตริย์สิงหลพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราช ทรงศรัทธาเลื่อมใสอุปถัมภ์พระศาสนา ให้ทำสังคายนาพระไตรปิฎก และบำรุงสงฆมณฑลให้ร่ำเรียนพระธรรมวินัย ฟื้นพระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นในลังกาทวีป เกียรติคุณนั้นแพร่หลายเลื่องลือมาถึงประเทศรามัญ ประเทศสยาม และประเทศกัมพูชา มีพระสงฆ์ทั้งมอญ ไทย และเขมรพากันไปยังลังกาทวีป ไปศึกษาลัทธิธรรมวินัยที่ฟื้นขึ้นใหม่ แล้วบวชแปลงเป็นพระสงฆ์ลังกาวงศ์ พาลัทธิพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์มายังประเทศของตน เรื่องนี้มีแจ้งอยู่ในจารึกกัลยาณีของพระเจ้ารามาธิบดีปิฎกธรเมืองหงสาวดี และในหนังสือชินกาลมาลินีที่แต่งขึ้น ณ เมืองเชียงใหม่ พวกพระสงฆ์มอญนำลัทธิลังกาวงศ์มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ แล้วพาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาประเทศนี้ทางเมืองเชียงใหม่ พวกพระสงฆ์ไทยนำลัทธิลังกาวงศ์มาตั้งที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วแพร่หลายขึ้นมาถึงเมืองสุโขทัยอีกทางหนึ่ง ในสมัยเมื่อไทยได้เป็นใหญ่ในไทยประเทศ กำลังลัทธิลังกาวงศ์แรกเข้ามารุ่งเรืองในประเทศนี้ ไทยก็รับนับถือลัทธิลังกาวงศ์ ข้อนี้มีปรากฏอยู่ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชว่า สังฆนายกในกรุงสุโขทัยล้วนมาแต่เมืองนครศรีธรรมราช ก็คือ พระสงฆ์ที่ถือลัทธิลังกาวงศ์นั้นเอง พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์นั้นถือคติอย่างหีนยาน พระไตรปิฎกก็เป็นภาษามคธ เมื่อไทยรับถือลัทธิลังกาวงศ์ พระสงฆ์ไทยจึงเลิกศึกษาพระธรรมวินัยในภาษาสันสกฤตอย่างแต่ก่อน เปลี่ยนเป็นศึกษาภาษามคธแต่นั้นมา แต่ภาษาสันสกฤตยังคงใช้อยู่ในฝ่ายฆราวาส ข้อนี้พึงเห็นเค้าเงื่อนได้จนในสมัยใกล้กับปัจจุบัน เช่น ในการแปลพระปริยัติธรรม แปลศัพท์ "สตฺถา" ว่า "พระศาสดา" ดังนี้ ก็คือ แปลภาษามคธที่ใช้ขึ้นใหม่เป็นภาษาสันสกฤตซึ่งใช้มาแต่เดิม เห็นได้เป็นสำคัญ ส่วนสงฆมณฑลนั้น เมื่อผู้คนนับถือลัทธิลังกาวงศ์มากขึ้น แม้ในประเทศสยามพระเจ้าแผ่นดินมิได้บังคับให้พระสงฆ์นิกายเดิมบวชแปลงเป็นลังกาวงศ์เหมือนอย่างเช่นบังคับในประเทศรามัญก็ดี เมื่อจำเนียรกาลนานมา พระสงฆ์ที่ถือลัทธินิกายเดิมก็น้อยลงทุกที จนที่สุดรวมเป็นนิกายเดียวกัน (คือ ที่เราเรียกกันทุกวันนี้ว่า "มหานิกาย") ถึงกระนั้น ลักษณะการที่จัดสงฆมณฑลแต่โบราณก็ยังปรากฏเค้าเงื่อนอยู่ตามเรื่องตำนานที่กล่าวมาที่แบ่งเป็น "คณะเหนือ" คือ พวกนิกายเดิม คณะหนึ่ง "คณะใต้" คือ พวกนิกายลังกาวงศ์ที่ขึ้นมาจากนครศรีธรรมราช คณะหนึ่ง ยังมีเค้าเงื่อนอยู่จนทุกวันนี้ ส่วนพระสงฆ์นิกายธรรมยุติกานั้นเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ เป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเมื่อยังทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อจะประพฤติพระธรรมวินัยให้ถี่ถ้วนเคร่งครัดกว่าที่พระสงฆ์ประพฤติอยู่เป็นสามัญในสมัยนั้น มีผู้เลื่อมใสบวชเรียนในสำนักพระสงฆ์ธรรมยุติกามาก จึงได้เป็นนิกายหนึ่งต่อมาจนทุกวันนี้ ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์แต่โบราณ พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระเถรานุเถระให้มียศและราชทินนาม และโปรดให้มีอำนาจที่จะปกครองบังคับบัญชาพระภิกษุสงฆ์ผู้น้อย มีทำเนียบสงฆ์อยู่ส่วนหนึ่ง คล้ายกับทำเนียบตำแหน่งกระทรวงราชการฝ่ายฆราวาส คือ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นใหญ่ในสมณมณฑล รองลงมา สมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ แล้วถึงพระราชาคณะ และพระครูฐานานุกรมเป็นอันดับกัน กำหนดสงฆ์เป็นสองฝ่ายตามพระพุทธนิยม คือ ฝ่ายคันถธุระ และฝ่ายวิปัสสนาธุระ ฝ่ายคันถธุระถือเป็นหน้าที่ที่จะสั่งสอนพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายถาวร หลักของพระพุทธศาสนาก็คือคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นมคธภาษา เพราะฉะนั้น เบื้องต้นจองการที่จะบำเพ็ญกิจฝ่ายคันถธุระจึงต้องเรียนภาษามคธให้รู้แตกฉาน เพื่อจะได้สามารถอ่านพระไตรปิฎกรอบรู้พระธรรมวินัยได้ การเรียนภาษามคธเป็นสำคัญดังกล่าวมา พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงอุดหนุนทำนุบำรุงการเล่าเรียนภาษามคธ พระภิกษุองค์ใดเล่าเรียนรอบรู้สอบได้ก็ทรงตั้งเป็นมหาบาเรียนเป็นชั้นกันตามคุณธรรม และทรงเลือกพระสงฆ์ในพวกเปรียญเป็นพระราชาคณะเป็นพื้น ส่วนวิปัสสนาธุระนั้นถือกิจที่จะกระทำจิตใจให้ผ่องพ้นกิเลสความเศร้าหมองเป็นที่ตั้ง พระภิกษุสงฆ์องค์ใดรอบรู้วิธีสมถภาวนา สามารถในทางวิปัสสนาธุระ พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตั้งแต่งเป็นพระราชาคณะฝ่ายสมถะ คนทั้งหลายก็พากันนิยม แต่มักนับถือไปในทางว่าศักดิ์สิทธิ์

ถ้าว่าถึงการปกครองที่เกี่ยวข้องกันในระหว่างศาสนากับบ้านเมืองมีหลักเรียกว่า พุทธจักร อย่างหนึ่ง อาณาจักร อย่างหนึ่ง พุทธจักร คือ การรักษาพระธรรมวินัยให้ถูกต้องตามพระพุทธเจ้าบัญญัตินั้นเป็นใหญ่อยู่แก่พระสงฆ์ แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ใช้พระราชอำนาจบังคับบัญชา ข้อนี้พึงเห็นเช่นการมีพระราชปุจฉา ถ้าพระสงฆ์พร้อมกันถวายวิสัชนาว่าพระธรรมวินัยเป็นอย่างไร ถึงไม่ทรงพระราชดำริเห็นชอบ ก็ทรงอนุมัติตามไม่ฝ่าฝืน จะยกเป็นตัวอย่าง ดังเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชดำริจะเอาพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ พระยืนองค์ใหญ่ในกรุงศรีอยุธยาซึ่งพม่าเผาทำลายเหลือแต่ซาก มาหล่อเป็นพระพุทธรูปองค์ใหม่ มีพระราชปุจฉา พระราชาคณะทั้งปวงถวายวิสัชนาว่า ถึงทำลายก็ยังเป็นรูปพระพุทธเจ้าอยู่ จะเอามาทำลายหล่อหลอมนั้นไม่ควร ก็ทรงปฏิบัติตาม ส่วนอาณาจักรนั้น คือ การปกครองในทางโลก เบื้องต้นแต่การตั้งตำแหน่งพระสงฆ์ตลอดจนการที่พระสงฆ์จะต้องประพฤติตามราชกำหนดกฎหมายบ้านเมืองอยู่ในพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินทั้งสิ้น ยกตัวอย่างดังเช่น ผู้ประพฤติเป็นโจรผู้ร้ายเสี้ยนหนามแผ่นดิน หรือฝ่าฝืนพระราชกำหนดกฎหมายด้วยประการอย่างอื่น ถึงจะถือเพศเป็นพระภิกษุ ก็หาพ้นพระราชอาชญาไปได้ไม่

ส่วนศาสนาไสยศาสตร์ของพวกพราหมณ์นั้นมีหลักฐานปรากฏว่า ได้รับความทำนุบำรุงตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีสืบมาจนปัจจุบันนี้ เหตุด้วยไสยศาสตร์ที่มาถือกันในประเทศนี้มิได้เป็นปฏิปักษ์กับพระพุทธศาสนา หรือจะว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ พระสงฆ์ในฝ่ายพระพุทธศาสนาสั่งสอนในทางธรรมปฏิบัติ ฝ่ายพราหมณ์สั่งสอนขนบธรรมเนียมบ้านเมืองและนิติศาสตร์ราชประเพณีเป็นประโยชน์ในทางโลก แม้พระเป็นเจ้าในศาสนาไสยศาสตร์ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ ไทยก็รับนับถืออย่างเช่นเทวดาในชั้นฟ้าอันมีในคติพระพุทธศาสนา ไม่ขัดข้องต่อกัน จึงได้สร้างเทวรูปเหล่านั้นและทำเทวสถานสำหรับบ้านเมืองมีสืบมาจนกาลบัดนี้




หน้า ๓๒–๔๖ (๕๐–๖๔) ขึ้นลงสารบัญ



อธิบายมูลเหตุที่ไทยมีไมตรีกับฝรั่ง




ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มีเหตุสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร คือ ที่ได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับโปรตุเกส เป็นทีแรกที่กรุงสยามจะได้เป็นไมตรีกับฝรั่ง เมื่อปีขาล จุลศักราช ๘๘๐ พ.ศ. ๒๐๖๑ ตรงกับ ค.ศ. ๑๕๑๘

ตำนานเหตุการณ์ที่ฝรั่งชาติโปรตุเกสมาเป็นไมตรีนั้น แต่เดิมมา ทางที่ไปมาค้าขายในระหว่างยุโรปกับประเทศทางตะวันออก (คือ ประเทศทั้งหลายตั้งแต่อินเดียตลอดไปจนถึงเมืองจีน) ไปมากันในสามทาง คือ ทางสายเหนือ เดินบกได้ตั้งแต่เมืองจีนมาข้างเหนือประเทศทิเบต ไปลงแม่น้ำอมุราหรือโอซุส[ก] มีทางจากอินเดียขึ้นไปบรรจบกันที่แม่น้ำนี้ ล่องน้ำลงไปแล้วต้องขึ้นเดินบกเลียบชายทะเลคัสเปียน ไปลงท่าที่ทะเลดำ ทางหนึ่ง ทางสายกลาง ใช้เรือแต่เมืองจีนแล่นมาทางทะเลจีน (ความปรากฏว่า จีนรู้จักใช้เข็มทิศเดินเรือในทะเลมาแต่เวลาร่วมพุทธกาลแล้ว) ผ่านอ่าวสยามไปทางเกาะสุมาตรา แล่นเลียบไปจนถึงอินเดีย จากอินเดียก็ใช้เรือแล่นเลียบฝั่งไปทางอ่าวเปอร์เซียจนถึงแม่น้ำติคริส[ข] แล้วขึ้นเดินบกไปลงท่าที่ทะเลเมดิเตอเรเนียน ทางสายกลางนี้ถ้าเดินบกจากอินเดียไปทางประเทศเปอร์เซียก็ได้เหมือนกัน อยู่มา พวกอาหรับที่อยู่ตามเมืองชายทะเลแดงซึ่งเคยแล่นเรือเลียบฝั่งมาอินเดียทางอ่าวเปอร์เซียมาสังเกตรู้ลมมรสุมว่า มีฤดูที่ลมพัดแน่วแน่อยู่ทางทิศเดียว จึงจับเวลาให้สบมรสุม แล่นเรือข้ามทะเลอาหรับไปมาอินเดียได้ เกิดพบทางเส้นใต้นี้อีกสายหนึ่ง รับสินค้าบรรทุกเรือไปทางทะเลแดงได้จนถึงประเทศอียิปต์ ต้องขึ้นเดินบกหน่อยหนึ่ง ก็ไปถึงท่าทะเลเมดิเตอเรเนียน พวกพ่อค้าที่ทำการค้าขายในระหว่างประเทศทางตะวันออกกับยุโรปเดินไปมาค้าขายตามทางสามสายที่กล่าวมานี้ อนึ่ง แต่โบราณมีสิ่งสินค้าซึ่งเป็นของเกิดทางประเทศฝ่ายตะวันออก เป็นของดีมีราคาที่ต้องการใช้ในยุโรป มีหลายอย่าง เป็นต้นว่า ผ้าแพรและถ้วยชามซึ่งส่งไปจากเมืองจีน ทองคำและเพชรนิลจินดาซึ่งเป็นของเกิดในสุวรรณภูมิประเทศและในอินเดีย ตลอดจนเครื่องเทศมีขิงและพริกไทยเป็นต้นซึ่งปลูกเป็นแต่ทางตะวันออกนี้ บรรดาที่ซื้อขายใช้สอยกันในยุโรปเป็นของที่พ่อค้าหาไปจากประเทศทางตะวันออกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การค้าขายกับประเทศทางตะวันออกเป็นการที่เกิดกำไรแก่พวกพ่อค้า และเป็นผลประโยชน์แก่เมืองท่าที่รับส่งสินค้าเป็นอันมากแต่โบราณ

เมื่อ พ.ศ. ๕๔๓ เกิดพระเยซูขึ้นในหมู่ชนชาติยิวในมณฑลปาเลสตินซึ่งเป็นเมืองขึ้นของประเทศโรมในยุโรป พระเยซูประกาศตั้งคริสต์ศาสนา มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาเกิดขึ้น แต่พวกยิวที่เป็นศัตรูเก่าของพระเยซูมีมากกว่า จึงจับพระเยซูประหารชีวิตเสียที่เมืองเยรูซาเล็มเมื่อ พ.ศ. ๕๗๔ แต่เหตุที่พระเยซูถูกประหารชีวิตนั้นเอง กลับทำให้พวกสานุศิษย์เชื่อมั่นในลัทธิศาสนาของพระเยซู จนคริสต์ศาสนาแพร่หลายไปถึงยุโรป จำเนียรกาลนานมา เป็นศาสนาที่ฝรั่งนับถือแทบทั่วไป

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๑๑๑๔ เกิดพระนาบีมะหะหมัดขึ้นในหมู่ชนชาติอาหรับที่เมืองเมกกะ พระนาบีมะหะหมัดประกาศตั้งศาสนาอิสลามขึ้นอีกศาสนาหนึ่ง นับศักราชศาสนาอิสลามตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๑๑๖๕ พระนาบีมะหะหมัดเที่ยวรบพุ่งแผ่ศาสนาอิสลามอยู่สิบปี ก็กระทำกาลกิริยาเมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๕ ต่อจากนั้นมาก มีกาหลิฟ (ภาษาอาหรับแปลว่า ผู้รับทายาท)[ค] เป็นหัวหน้าศาสนาอิสลามทำการรบพุ่งแผ่อาณาจักรและศาสนาอิสลามตามอย่างพระนาบีมะหะหมัดต่อมา ศาสนาอิสลามแพร่หลายรวดเร็วมาก เมื่ออุมา[ฆ] เป็นกาหลิฟ นับเป็นองค์ที่สอง พวกอิสลามได้บ้านเมืองในประเทศที่ใกล้เคียงไว้ในอำนาจตั้งแต่ต่อแดนอินเดียออกไปจนถึงยุโรป ทางค้าขายไปมาที่กล่าวมาแล้วทั้งสายใต้และสายกลางตกอยู่ในอำนาจของพวกอิสลาม อุมาแลเห็นประโยชน์ที่อาจจะได้ในการค้าขายมาเป็นกำลังตั้งอำนาจและบำรุงการแผ่ศาสนาอิสลาม จึงอุดหนุนให้พวกที่ถือศาสนาอิสลาม โดยมากเป็นพวกอาหรับ ให้เอาเป็นธุระทำการค้าขายพร้อมไปกับทำกิจในศาสนา แม้พวกที่ส่งไปเที่ยวสอนศาสนาอิสลามตามเมืองต่างประเทศที่ยังไม่ได้ขึ้นแก่กาหลิฟก็สั่งให้ไปเที่ยวตั้งทำการค้าขายพร้อมกับการสั่งสอนศาสนาด้วย เหตุนี้ พวกฝรั่งที่ถือศาสนาพระเยซูเป็นอริอยู่กับพวกอิสลามด้วยผิดลัทธิศาสนากัน จะค้าขายกับประเทศทางตะวันออกจึงไม่สะดวกดังแต่ก่อน ต้องคิดหาทางหลีกเลี่ยงอำนาจของพวกอิสลามมาค้าขายกับประเทศทางตะวันออกโดยทางข้างสางเหนือ แต่ต่อมาเมื่อประเทศในทางสายนั้นตกอยู่ใต้อำนาจแขกอิสลาม ฝรั่งก็ต้องจำใจรับสินค้าทางตะวันออกที่พวกอิสลามนำไปขาย ต้องยอมเสียกำไรให้แก่พวกอิสลามอีกชั้นหนึ่ง

ความคิดเห็นได้มีแก่ฝรั่งมานานแล้วว่า น่าจะแล่นเรือทางทะเลเลียบตามแนวฝั่งตะวันตกของทวีปอาฟริกามาถึงอินเดียและเมืองจีนใต้ แต่ในครั้นนั้น ความรู้ภูมิศาสตร์ยังมีน้อย และกำลังติดการรบพุ่งกับพวกแขกอิสลามเสียช้านานหลายร้อยปี จน พ.ศ. ๑๖๔๓ เมื่ออำนาจพวกอิสลามถอยลง ฝรั่งตีคืนบ้านเมืองที่เป็นประเทศสเปนและโปรตุเกสเดี๋ยวนี้ได้โดยมาก ได้ตั้งราชอาณาจักรโปรตุเกสขึ้น แล้วมีราชโอรสของพวกพระเจ้าดองยวง[ง] พระเจ้าโปรตุเกสองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ดองเฮนริก[จ] เป็นผู้มีอัธยาศัยนิยมในวิชาการเดินเรือ คิดพากเพียรจะเดินเรือมาให้ถึงอินเดีย จึงรับอาสาพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสแต่งเรือไปเที่ยวตามเมืองต่างประเทศแสวงหาผลประโยชน์อย่างวิธีซึ่งพวกอิสลามเคยทำมาแต่ก่อนบ้าง คือ เที่ยวสอนคริสต์ศาสนาให้แพร่หลาย ประการหนึ่ง เที่ยวค้าขายหากำไรเป็นผลประโยชน์ให้แก่เมืองโปรตุเกส ประการหนึ่ง และถ้าพบบ้านเมืองควรจะเอาไว้ในอำนาจได้ ก็ขยายอาณาจักรโปรตุเกสให้กว้างขวางออกไปด้วย ประการหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสทรงพระดำริเห็นชอบด้วย จึงอนุญาตให้ดองเฮนริกลงมาตั้งอยู่ที่เมืองชายทะเลแห่งหนึ่ง ดองเฮนริกเกลี้ยกล่อมผู้ที่ชำนาญการเดินเรือและฝึกสอนผู้คนควบคุมเข้าได้เป็นพวก ลงทุนจัดหาเรือเดินทะเลบรรทุกสินค้าของยุโรปส่งเรือเหล่านั้นไปค้าขายตามเมืองอาฟริกาข้างตะวันตกได้สำเร็จประโยชน์มาก คือ ไปได้บ้านเมืองที่ฝรั่งยังไม่เคยไปแต่ก่อนเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสหลายแห่ง ในส่วนการค้าขาย เอาสินค้ายุโรปไปเที่ยวแลกของดีมีราคาในอาฟริกา คือ งาช้าง และทองคำ เป็นต้น ก็ได้กำไรมาก ส่วนการสอนคริสต์ศาสนานั้น นอกจากพาบาทหลวงไปเที่ยวสั่งสอน ดองเฮนริกยังให้เที่ยวรับซื้อพวกแขกดำซึ่งเป็นทาสเป็นเชลยอยู่ตามอาฟริกาพาบรรทุกเรือมาเมืองโปรตุเกสขายต่อไปแก่พวกโปรตุเกสที่มีใจศรัทธาจะสั่งสอนพวกมิจฉาทิฐิรับซื้อไปไว้ใช้สอยและสั่งสอนให้เข้ารีตคริสต์ศาสนา เกิดกำไรในการนี้ด้วยอีกประการหนึ่ง เมื่อการที่ดองเฮนริกทำได้ประโยชน์ดีเกินกว่าที่คาดหมายดังกล่าวมานี้ จึงเกิดความวิตกขึ้นว่า จะมีผู้อื่นมาทำการประชัน พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสจึงตั้งพระราชบัญญัติห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดแต่งเรือออกมาเที่ยวค้าขายทำการประชันกับดองเฮนริก และเพื่อจะป้องกันมิให้ฝรั่งชาติอื่นมาแย่งชิง ดองเฮนริกได้ไปทูลขออาชญา[ฉ] ต่อโป๊บผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในคริสต์ศาสนาที่เมืองโรม โป๊ปก็ออกอาชญาอนุญาตให้แก่ดองเฮนริกว่า บรรดาเมืองมิจฉาทิฐิที่โปรตุเกสได้ไปพบปะ ให้เป็นอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส ห้ามมิให้ชาติอื่นไปแย่งชิง แต่โปรตุเกสจะต้องทำการสอนคริสต์ศาสนาให้แพร่หลายในบรรดาเมืองที่ได้ไปพบปะนั้น จึงจะถืออำนาจตามอาชญาของโป๊ปได้ เมื่อดองเฮกริกทำการสำเร็จประโยชน์และได้อำนาจดังกล่าวมาแล้ กิตติศัพท์ก็แพร่หลาย มีพวกฝรั่งทั้งชาติโปรตุเกสและชาติอื่นขอเข้าเป็นพวกดองเฮนริกเป็นอันมาก ดองเฮนริกแต่งเรือไปเที่ยวตามเมืองต่างประเทศโดยอาการดังกล่าวมาคราวละสองลำบ้างสามลำบ้างทุก ๆ ปี ตั้งแต่ดองเฮนริกได้เริ่มทำการมาตลอดเวลาสี่สิบปี ตรวจทางทะเลตามฝั่งอาฟริกาลงมาได้เพียงแหลมเวอเด[ช] ด้วยการที่ใช้ใบในมหาสมุทรแอตแลนติกต้องฝ่าคลื่นฝืนลม เรือที่มีใช้อยู่ในเวลานั้นลงมาได้ด้วยยาก ดองเฮนริกสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๓ เพราะการที่ดองเฮนริกทำกลายเป็นการสำคัญของโปรตุเกส ทั้งที่ได้ทรัพย์และได้อำนาจดังที่กล่าวมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสจึงจัดเอาเป็นราชการแผ่นดินต่อมา

ถึง พ.ศ. ๒๐๒๙ ในรัชกาลพระเจ้าดองยวงที่ ๒ ครองประเทศโปรตุเกส พระเจ้าดองยวงแต่งให้บาโทโลมิวเดอดายส์[ซ] คุมเรือกำปั่นสองลำแล่นมาตรวจทาง บาโทโลมิวเดอดายส์แล่นก้าวในมหาสมุทรแอตแลนติกหลงเลยมาได้ถึงแหลมอาฟริกาใต้ที่เรียกว่า แหลมกู๊ดโฮ๊ป ในบัดนี้ ได้ความรู้ว่า ได้พบทางที่จะมาอินเดียเป็นแน่แล้ว บาโทโลมิวเดอดายส์จะแล่นเรือเลยมาอินเดีย แต่พวกลูกเรือถูกลำบากกรากกรำเสียช้านาน ไม่ยอมแล่นต่อมาอีก จึงจำต้องกลับไปเมืองโปรตุเกส

ต่อมา มีฝรั่งชาวเยนัว[ฌ] คนหนึ่งชื่อ คริสโตเฟอโคลัมบัส[ญ] ได้ไปเดินเรืออยู่กับโปรตุเกสหลายปี ไปได้ความที่เกาะมะไดราซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้ฝั่งอาฟริกาว่า มีไม้คลื่นซัดมาในมหาสมุทรจากทางทิศตะวันตกมาติดเกาะนั้น ไม้มีรอยคนแกะเป็นลวดลาย จึงเกิดความคิดเห็นว่า แผ่นดินอินเดียที่โปรตุเกสค้นหาทางไปอยู่นั้นจะเป็นแผ่นดินยาวแต่ตะวันออกไปจนทางตะวันตกตลอดมหาสมุทรแอตแลนติก คริสโตเฟอโคลัมบัสจึงนำความเห็นทั้งนี้ทูลแก่พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส จะขอรับอาสาคุมเรือไปเที่ยวหาประเทศอินเดียถวายโดยทางตะวันตกอีกทางหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสให้ที่ประชุมผู้ชำนาญแผนที่และการเดินเรือปรึกษาความเห็นของคริสโตเฟอโคลัมบัส ที่ประชุมไม่เห็นด้วย คริสโตเฟอโคลัมบัสมีความน้อยใจ จึงลอบออกจากเมืองโปรตุเกสไปรับอาญาพระเจ้าแผ่นดินสเปน ประเทศสเปนเวลานั้นยังแบ่งเป็นสองราชอาณาจักร แต่รวมกันด้วยพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองฝ่ายได้ทำการวิวาห์กัน พระเจ้าแผ่นดินสเปนแต่งเรือให้คริสโตเฟอโคลัมบัสคุมไปเที่ยวหาประเทศอินเดียตามประสงค์ คริสโตเฟอโคลัมบัสแล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพียรไปจนพบหมู่เกาะในทวีปอเมริกาเหนือที่ยังเรียกอยู่จนทุกวันนี้ว่า หมู่เกาะอินเดียฝ่ายตะวันตก โดยเข้าใจในครั้งนั้นว่า เป็นประเทศอินเดีย มิใช่ทวีปหนึ่งต่างหาก คริสโตเฟอโคลัมบัสถือเอาแผ่นดินที่ไปพบนั้นเป็นเมืองขึ้นของประเทศสเปน จึงเกิดอำนาจแข่งโปรตุเกสขึ้นในทางเที่ยวหาเมืองขึ้นแต่ครั้งนั้น จนต้องไปขออาชญาโป๊ปให้ป้องกันการที่จะแย่งชิงเมืองขึ้นกันในระหว่างโปรตุเกสกับสเปน โป๊ป[ฎ] จึงเอาแผนที่โลกเท่าที่รู้อยู่ในเวลานั้นมาขีดเส้นแต่เหนือไปใต้ และบอกอาชญา[ฏ] ว่า บรรดาแผ่นดินข้างตะวันตกของเส้นนั้น ถ้าพวกสเปนไปพบ ให้เป็นเมืองขึ้นของสเปน ข้างตะวันออกของเส้นออกของเส้น ให้เป็นของโปรตุเกส แต่ทั้งสองประเทศต้องสอนคริสต์ศาสนาให้แพร่หลายในเมืองเหล่านั้น จึงจะมีอำนาจตามอาชญาของโป๊ป

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๙ ในรัชกาลของพระเจ้ามานูเอล[ฐ] ครองกรุงโปรตุเกส พระเจ้ามานูเอลให้วัสโคดาคามา[ฑ] คุมเรือรบสามลำพร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธบรรทุกสินค้ายุโรปและเครื่องราชบรรณาการสำหรับที่จะถวายพระเจ้าแผ่นดินตามเมืองในประเทศตะวันออก แล่นอ้อมทวีปอาฟริกาออกมาให้ถึงอินเดียให้จงได้ วัสโคดาคามาแล่นเรือฝ่าคลื่นลมออกมาด้วยความลำบากเป็นอันมาก เรือมาเสียลงลำหนึ่ง เหลืออยู่แต่สองลำ มาถูกพายุใหญ่ พวกลูกเรือทนความลำบากกรากกรำจะขอให้กลับหลายครั้ง วัสโคดาคามาไม่ยอมกลับ แต่เพียรแล่นเรือมาถึงสิบเอ็ดเดือน จึงแล่นอ้อมทวีปอาฟริกามาได้ถึงเมืองเมลินเดซึ่งอยู่ทางชายทะเลด้านตะวันออก มาหานำร่องได้ที่เมืองเมลินเด[ฒ] แล้วแล่นข้ามทะเลอาหรับมาถึงเมืองกาฬีกูฎ[ณ] ที่อินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๐๔๑

สมัยเมื่อเมื่อโปรตุเกสแล่นเรือจากยุโรปออกมาถึงอินเดียได้นั้น ในประเทศอินเดียได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงมากกว่าแต่ก่อนเสียเป็นอันมาก เป็นต้นว่า ตั้งแต่เกิดศาสนาอิสลามขึ้นในแว่นแคว้นแดนอาหรับ ถึงพวกอิสลามไม่ได้ยกกองทัพมารบพุ่งจนถึงแดนอินเดียก็จริง แต่ได้พากันออกมาเที่ยวตั้งทำการค้าขายและมาเที่ยวสอนศาสนาอิสลามอยู่ตลอดเวลาถึงหกร้อยปี มีผู้คนพลเมืองเข้ารีตถือศาสนาอิสลามเป็นอันมาก บ้านเมืองในประเทศอินเดียในเวลานั้นก็ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีอานุภาพปกครองเป็นราชอาณาจักรใหญ่โตเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าอโศก แยกกันอยู่เป็นประเทศน้อย ๆ เมืองทางอินเดียข้างฝ่ายเหนือ มี คันธารราฐ เป็นต้น ในเวลานั้น ผู้คนพลเมืองก็เข้ารีตนับถือศาสนาอิสลามเสียแล้ว ข้างตอนกลางบางเมืองถือศาสนาอิสลาม แต่ที่ยังถือศาสนาพราหมณ์ก็ยังมีอยู่มาก แต่ตอนข้างใต้ยังถือศาสนาพราหมณ์ เมืองกาฬีกูฎที่วัสโคดาคามาแล่นเรือมาถึงเป็นที่แรกตั้งอยู่ชายทะเลข้างตะวันตกในแหลมมละบา[ด] เป็นราชธานีของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งถือศาสนาพราหมณ์ เรียกพระนามว่า พระเจ้าสมุทรินทร[ต] ส่วนการค้าขายตามหัวเมืองชายทะเลในอินเดีย ไม่ว่าในเมืองที่ถือศาสนาอิสลามหรือถือศาสนาพราหมณ์ มีพวกพ่อค้าแขกอิสลามไปตั้งทำการค้าขายอยู่ช้านานแล้วทุกแห่ง วิธีค้าขายของพวกเหล่านี้ ไปทูลขออนุญาตต่อพระเจ้าแผ่นดินตั้งห้างตามเมืองเก่ารับซื้อสินค้าในพื้นเมืองบรรทุกเรือไปเที่ยวจำหน่ายตามนานประเทศตลอดจนยุโรป และรับสินค้าต่างประเทศมาจำหน่ายในพื้นเมือง ส่วนพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองบ้านเมืองตั้งแต่มีพวกอิสลามมาตั้งทำการค้าขายก็เกิดผลประโยชน์ทั้งในทางเก็บภาษีอากร และตั้งคลังสินค้าซื้อขายสิ่งของบางอย่างเป็นของหลวงได้กำไรอีกชั้นหนึ่ง เมื่อว่าโดยย่อ ในเวลานั้น การค้าขายในระหว่างยุโรปกับประเทศทางตะวันออก คือ อินเดีย เป็นต้น อยู่ในมือของพวกพ่อค้าแขกอิสลามทุกอย่าง ไม่มีผู้ใดสามารถจะแย่งชิง เมื่อวัสโคดาคามาแล่นเรือมาถึงเมืองกาฬีกูฎ ให้ขึ้นไปทูลพระเจ้าสมุทรินทรว่า เป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการมาจากพระเจ้ากรุงโปรตุเกสให้มาเจริญทางพระราชไมตรี ขอไปค้าขายกับเมืองกาฬีกูฎ ฝ่ายพระเจ้าสมุทรินทรเคยได้ผลประโยชน์อยู่ในการค้าขายดังกล่าวมาแล้ว เมื่อได้ทราบว่า ได้มีฝรั่งโปรตุเกสจะมาขอทำการค้าขายอีกชาติหนึ่ง ก็ไม่มีความรังเกียจ รับรองวัสโคดาคามาอย่างราชทูต และยอมอนุญาตให้โปรตุเกสซื้อขายสินค้าตามประสงค์ แต่ฝ่ายพวกพ่อค้าแขกอิสลามในเมืองกาฬีกูฎเมื่อรู้ว่า โปรตุเกสแล่นเรือบรรทุกสินค้ามาถึงอินเดียได้จากยุโรป ก็คิดการณ์ล่วงหน้าแลเห็นได้ตลอดว่า ถ้าพวกฝรั่งไปค้าขายกับอินเดียได้โดยทางเรือ ผลประโยชน์การค้าขายของตนจำจะต้องตกต่ำ ด้วยทางที่พวกพ่อค้าแขกขนสินค้าไปมาในระหว่างอินเดียกับยุโรปต้องบรรทุกเรือแล้วขนขึ้นเดินบกไปลงเรืออีก ต้องเสียค่าขนสินค้ามาก ฝรั่งเอาสินค้าบรรทุกเรือแล่นตรงมาได้รวดเดียว เสียค่าขนน้อย คงจะขายสินค้ายุโรปได้ราคาถูกกว่า และอาจจะซื้อสินค้าพื้นเมืองได้ราคาแพงกว่าตน ถ้าขับเคี่ยวกันไป การค้าขายคงจะไปตกอยู่ในมือฝรั่งหมด พวกพ่อค้าแขกอิสลามคิดเห็นดังนี้จึงตั้งใจจะกีดกันมาแต่แรกเพื่อจะมิให้โปรตุเกสไปมาค้าขายในอินเดียได้ดังประสงค์ ในเบื้องต้น พวกพ่อค้าแขกอิสลามทำอุบายให้เกิดข่าวเล่าลือให้ราษฎรหวาดหวั่นต่าง ๆ จนไม่กล้ามาค้าขายกับฝรั่ง และไปบนบานเจ้าพนักงานให้แกล้งกีดขวางหน่วงเหนี่ยววัสโคดาคามามิให้ทำการได้สะดวก แต่เผอิญในเวลานั้นมีฝรั่งชาวสเปนคนหนึ่งซึ่งแขกอิสลามเอาเข้ารีตแล้วพามาไว้ที่เมืองกาฬีกูฎ ได้ทราบความคิดของพวกพ่อค้าแขกอิสลาม มีความสงสารพวกโปรตุเกสด้วยเป็นชาติฝรั่งด้วยกัน จึงลอบนำความไปแจ้งแก่วัสโคดาคามา วัสโคดาคามาจึงอุบายซ้ายกลพวกพ่อค้าแขก โดยแกล้งทำเป็นไม่รู้เท่าราษฎรในเชิงค้าขาย เมื่อเวลาเอาสินค้ายุโรปขึ้นไปค้าขาย แม้พวกชาวเมืองจะต่อตามจนถึงขาดทุนก็ยอมขาย ส่วนสินค้าที่ชาวเมืองนำมาขายให้ ถึงจะโก่งเอาราคาแพง วัสโคดาคามาก็ยอมซื้อ พวกชาวเมืองเข้าใจว่า ฝรั่งโง่ ก็พากันมาซื้อขายกับวัสโคดาคามามากขึ้น พวกพ่อค้าแขกอิสลามเห็นดังนั้นจึงเอาความไปยุยงแก่ขุนนางผู้ใหญ่ให้กราบทูลพระเจ้าสมุทรนิทรว่า กิริยาที่พวกโปรตุเกสซื้อขายดูไม่คิดถึงทุนรอนตามทำนองค้าขาย เห็นจะเป็นคนสอดแนมที่ฝั่งแต่งให้มาสืบสวนการงานบ้านเมือง เมื่อรู้กำลังแล้ว ฝรั่งคงจะยกกองทัพใหญ่มาตีเมืองเป็นแน่ พระเจ้าสมุทรินทรเห็นจริงด้วย จึงให้จับวัสโคดาคามากับพรรคพวกซึ่งขึ้นไปบนบกขังไว้ ฝ่ายน้องชายวัสโคดาคามาซึ่งอยู่ในเรือเห็นพระเจ้าสมุทรินทรทำแก่พี่ของตนดังนั้น ก็จับขุนนางเมืองกาฬีกูฎซึ่งลงไปอยู่ในเรือไว้บ้าง เมื่อมีเหตุขึ้นดังนี้ พระราชครูผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าสมุทรินทรเห็นว่า จะเกิดวุ่นวาย จึงเข้าไปทูลพระเจ้าสมุทรินทรว่า วัสโคดาคามาเป็นราชทูตมาแต่พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศซึ่งพระเจ้าสมุทรินทรได้รับรองแล้วอย่างราชทูต ที่จะมาทำร้ายผู้เป็นราชทูตผิดประเพณี พระเจ้าสมุทรินทรจึงให้ปล่อยวัสโคดาคามา และว่ากล่าวไกล่เกลี่ยให้หายความเคียดแค้น วัสโคดาคามาได้ออกเรือจากเมืองกาฬีกูฎเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๐๔๑ แล่นไปแวะที่เมืองคานะนอ[ถ] ซึ่งอยู่ชายทะเลฝั่งมละบา ข้างเหนือเมืองกาฬีกูฎ พวกพ่อค้าแขกอิสลามที่เมืองนั้นก็แกล้งอีก แต่เจ้าเมืองคานะนอไม่เชื่อฟังคำยุยงของพ่อค้าแขกอิสลาม ช่วยเป็นธุระแก่พวกโปรตุเกสหาสินค้าได้จนเหลือระวางเรือ วัสโกดาคามาสำเร็จความประสงค์แล้วก็แล่นเรือจากอินเดียกลับไปถึงเมืองโปรตุเกสเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๐๔๒

การที่วัสโคดาคามาแล่นเรือมาได้ถึงอินเดียคราวนั้นเป็นประโยชน์อย่างสำคัญแก่โปรตุเกส ด้วยตั้งแต่โปรตุเกสพากเพียรตรวจทางทะเลมาได้เกาะและบ้านเมืองชายทะเลอาฟริกาตามรายทางไว้เป็นเมืองขึ้นบ้าง เป็นไมตรีบ้าง ขยายอำนาจและอาณาจักรออกมาโดยลำดับ มีที่พักเป็นระยะมาตลอดทาง แล้วพอรู้ทางว่ามาถึงอินเดียได้ ก็อาจจะจัดการเดินเรือไปมาค้าขายถึงอินเดียได้ทันที ส่วนผลประโยชน์ที่จะพึงได้ในการค้าขายกับอินเดียนั้น แต่เพียงในเที่ยวแรกที่วัสโคดาคามามาด้วยเรือสองลำ ราคาสินค้าที่ได้ไปเมื่อคิดราคาเทียบกับทุนที่แต่งเรือออกมาครั้งนั้น โปรตุเกสได้กำไรถึงหกสิบเท่า จึงเกิดความทะเยอทะยานยินดีกันอย่างใหญ่ในประเทศโปรตุเกส ด้วยแลเห็นทั่วกันว่า ประเทศโปรตุเกสจะเป็นประเทศที่มีกำลังทั้งอำนาจและทรัพย์สมบัติ ต่อมา การก็เป็นจริงดังนั้นทุกประการ

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๐๔๓ พระเจ้ากรุงโปรตุเกสให้แต่งเรือออกมาอินเดียอีก คราวนี้ คิดการเตรียมแก้ไขความขัดข้องมาเสร็จ ด้วยได้ความรู้แล้วว่า ทางตะวันออกพวกถือศาสนาอิสลามซึ่งเคยเป็นข้าศึกกับฝรั่งมาหลายร้อยปียังมีอำนาจอยู่ และการค้าขายทางตะวันออกก็อยู่ในมือของคนพวกนั้น การที่พวกโปรตุเกสออกมาประเทศตะวันออก คงจะถูกพวกแขกที่ถือศาสนาอิสลามคิดร้ายรังเกียจกันทั้งการสอนคริสต์ศาสนาและการค้าขาย มิให้โปรตุเกสทำการได้สะดวก ด้วยเหตุนี้ เรือที่แต่งให้บรรทุกสินค้าและพาพวกบาทหลวงออกมาสอนคริสต์ศาสนาในคราวที่สองนั้น พระเจ้ากรุงโปรตุเกสจึงให้แต่งเป็นกองทัพมีจำนวนเรือรบสิบสามลำ กระสุนดินดำ และนายไพร่พลทหารประจำลำรวมหนึ่งพันห้าร้อยคน ก็เลือกสรรแต่ล้วนที่กล้าหาญชำนาญศึก ให้เปโดรอัลวเรสคาบรัล[ท] เป็นแม่ทัพ และเป็นราชทูตคุมเครื่องราชบรรณาการออกมาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองประเทศตามรายทางบรรดาที่เข้ากับโปรตุเกส และมอบอำนาจออกมากับคาบรัลในครั้งนั้นว่า ถ้าบ้านใด เมืองใด หรือบุคคลจำพวกใดขัดขวางแก่การของโปรตุเกส ว่ากล่าวโดยดีไม่ตลอดแล้ว ก็ให้ใช้กำลังปราบปรามเอาไว้ในอำนาจให้จงได้

คาบรัลยกกองทัพเรือออกจากเมืองโปรตุเกสเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๐๔๓ ใช้ใบเรือลงมาจนถึงแหลมเวอเดแล้ว แล่นก้าวออกไปในมหาสมุทรแอตแลนติก เรือไปถูกพายุซัดพัดข้ามมหาสมุทรไปพบเมืองบราซิลในอเมริกาใต้เข้า จึงได้เมืองบราซิลเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสในคราวนั้น คาบรัลแล่นเรือกลับจากเมืองบราซิลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาถึงเมืองเมลินเดในอาฟริกาข้างตะวันออกซึ่งเป็นไมตรีกับโปรตุเกสมาแต่ก่อน เมื่อเดือนกรกฎาคม เรือที่ไปด้วยกันสิบสามลำ ไปแตกเสียกลางทางบ้าง พลัดกันบ้าง เหลืออยู่แต่หกลำ คาบรัลรับนำร่องที่เมืองเมลินเดแล้วก็แล่นข้ามทะเลอาหรับมา รวมเวลาตั้งแต่ออกจากเมืองโปรตุเกสมาได้หกเดือนจึงถึงท่าเมืองกาฬีกุฎเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม พระเจ้าสมุทรินทรเมื่อเห็นกองทัพเรือโปรตุเกสยกมาคราวนี้ก็ให้ข้าราชการออกไปรับพาคาบรัลขึ้นไปเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการ และยอมทำสัญญาอนุญาตที่ดินให้พวกโปรตุเกสตั้งห้างค้าขายที่เมืองกาฬีกูฎตามประสงค์ แต่ครั้นเมื่อสร้างห้างสำเร็จแล้ว โปรตุเกสหาซื้อสินค้าอยู่สองเดือนไม่ได้สินค้า จึงสืบสวนได้ความว่า เพราะพวกพ่อค้าแขกอิสลามอุบายชิงรับซื้อบรรดาสิ่งสินค้าซึ่งรู้ว่าพวกโปรตุเกสต้องการไว้เสียก่อน ไม่ให้พวกโปรตุเกสหาซื้อได้ คาบรัลไปทูลความต่อพระเจ้าสมุทรินทร พระเจ้าสมุทรินทรก็มิรู้ที่จะทำประการใด คาบรัลขัดใจ จึงให้ไปแย่งเอาสินค้าของพวกพ่อค้าแขกอิสลามซึ่งกำลังเอาลงบรรทุกเรือที่จอดอยู่ในอ่าว พวกพ่อค้าแขกอิสลสามที่อยู่บนบก เมื่อเห็นพวกโปรตุเกสปล้นเอาสินค้าของตนดังนั้น ก็คุมพรรคพวกยกมาปล้นสินค้าที่ห้างของโปรตุเกสบ้าง พวกแขกอิสลามกับพวกโปรตุเกสเกิดรบกันขึ้นในเมืองกาฬีกูฎ พวกแขกอิสลามมากกว่า ฆ่าพวกโปรตุเกสตายห้าสิบสี่คน และเผาห้างของโปรตุเกสเสียสิ้น พวกกองทัพเรือโปรตุเกสเห็นพวกแขกอิสลามทำร้ายพวกของตนที่อยู่บนบก ก็ยกกำลังไปตีปล้นเรือของพวกพ่อค้าแขกอิสลามบรรดาที่จอดอยู่ในอ่าวเมืองกาฬีกูฎ ฆ่าพวกแขกล้มตายเป็นอันมาก แล้วเผาเรือเหล่านั้นเสียถึงสิบลำ แล้วเลยเอาปืนใหญ่ยิงเมืองกาฬีกูฎอยู่สองชั่วโมง แล้วจึงถอนสมอใช้ใบเรือไปจากเมืองกาฬีกูฎ ไปพบเรือแขกเข้าที่ไหน พวกโปรตุเกสก็ปล้นเรือแขกตลอดทางมา จึงเกิดสงครามขึ้นระหว่างพวกโปรตุเกสกับพวกแขกอิสลามขึ้นแต่ครั้งนั้น

เรื่องราวที่พวกโปรตุเกสทำอย่างไรต่อมาในอินเดียมีมากมายเกินกว่าจะอธิบายได้โดยพิสดารในที่นี้ ตั้งแต่พวกโปรตุเกสเกิดรบขึ้นกับพวกพ่อค้าแขกอิสลามที่เมืองกาฬีกูฎเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๓ แล้ว แต่นั้นมา การค้าขายของพวกโปรตุเกสก็กลายเป็นเอากำลังเที่ยวแย่งชิงทรัพย์สมบัติ หาอำนาจและอาณาจักรทางตะวันออก เอาแต่ชื่อว่าเที่ยวสอนคริสต์ศาสนาและค้าขายขึ้นบังหน้า เพราะการใช้ปืนไฟใหญ่น้อยและวิธีรบพุ่งในทางทะเลพวกชาวตะวันออกยังไม่ชำนาญเท่าโปรตุเกส โปรตุเกสน้อย ๆ คนเคยรบชนะพวกชาวอินเดียที่มากกว่าหลายคราวจึงได้ใจ แต่นั้น โปรตุเกสก็แต่งกองทัพเรือออกมาจากยุโรปทุกปี พบเรือแขกเข้าที่ไหน ก็ปล้นเอาทรัพย์สมบัติและทำลายเรือเสีย ส่วนเมืองตามชายทะเลในอินเดียเมืองไหนที่ยอมเข้ากับโปรตุเกส โปรตุเกสก็ตั้งห้าง แล้วเลยทำห้างขึ้นเป็นป้อม เอากำลังทหารที่มารักษากดขี่เจ้าบ้านผ่านเมืองเอาเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสบ้าง เมืองไหนที่ไม่เข้าด้วยหรือไม่ค้าขายด้วย โปรตุเกสก็ถือว่า เป็นข้าศึก เที่ยวรบพุ่งทำร้ายต่าง ๆ ไม่ช้านานเท่าใด เมืองอินเดียตามชายฝั่งทะเลมละบาก็ตกอยู่ในอำนาจโปรตุเกสหลายเมือง ส่วนการค้าขาย เมื่อโปรตุเกสเที่ยวทำลายเรือของพวกพ่อค้าแขกอิสลามเสียเป็นอันมากแล้ว โปรตุเกสก็ได้สินค้าประเทศทางตะวันออก เมืองโปรตุเกสเกิดเป็นที่ชุมนุมการค้าขายกับประเทศทางตะวันออกขึ้นใหญ่โต จนเมืองฝรั่งแถวทะเลเมดิเตอเรเนียนซึ่งเคยร่ำรวยด้วยการค้าขายกับประเทศทางตะวันออกตามเส้นทางเปอร์เซียและอียิปต์ถึงความอัตคัดขัดสนไปหลายเมือง เมื่อการค้าขายกับประเทศทางตะวันออกเปลี่ยนไปเฟื่องฟูเป็นตลาดใหญ่อยู่ที่เมืองโปรตุเกสดังกล่าวมานี้ จึงมีชาวโปรตุเกสเป็นอันมากทะเยทะยานอยากออกมาหาทรัพย์สมบัติทางตะวันอออก พวกผู้ดีมีสกุลก็เข้าไปรับอาสาเป็นนายทหารบ้าง ออกมาเป็นผู้สอนศาสนาบ้าง ที่เป็นฝรั่งเลวก็ไปอาสาเป็นลูกเรือและพลทหาร ด้วยความเข้าใจทั่วกันว่า เป็นช่องทางที่จะปราบปรามพวกอิสลาม เอาทรัพย์สมบัติของพวกมิจฉาทิฐิไปเป็นอาณาประโยชน์ อย่างพวกอิสลามได้เคยทำแก่ปู่ย่าตายายของตนมาแต่ก่อน ไม่ถือว่า เป็นบาปกรรมอันใด

เมื่อโปรตุเกสไปมาหาที่มั่นได้ที่ชายทะเลอินเดียแล้ว ได้ข่าวว่า ทางตะวันออกต่อมา มีเมืองมะละกาเป็นเมืองท่าสำคัญในทางรับส่งสินค้าระหว่างเมืองจีนกับอินเดีย และมีสินค้าตามเมืองที่ใกล้เคียงซึ่งมาขายที่เมืองมะละกามาก เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๘๗๐ พ.ศ. ๒๐๕๑ ตรงในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระเจ้ากรุงโปรตุเกสจึงแต่งให้โลเปสเดอสิไครา[ธ] คุมเรือกำปั่นรบสี่ลำเป็นราชทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับเจ้าเมืองมะละกาซึ่งเป็นแขกมลายูนับถือศาสนาอิสลามแล้วในเวลานั้น เจ้าเมืองมะละกาก็รับรองสิไคราอย่างราชทูต และยอมให้ที่ตั้งห้างตามประสงค์ แต่เมื่อพวกโปรตุเกสขึ้นไปซื้อขายสินค้าที่ห้างตั้งใหม่ ไปเกิดวิวาทขึ้นกับพวกชาวเมืองมะละกา สิไคราสงสัยว่า เจ้าเมืองมะละกาคิดกลอุบายเข้ากับพวกพ่อค้าแขกอิสลามจะทำร้าย สิไครามีความโกรธเป็นกำลัง จึงจับพวกชาวมะละกาที่ลงมาอยู่ในเรือเอาลูกธนูเสียบหนังหัวประจานส่งขึ้นไปบอกเจ้าเมืองมะละกาว่า ถ้าไม่คบกับโปรตุเกสโดยดี โปรตุเกสจะตีเอาเมืองมะละกาให้จงได้ ฝ่ายเจ้าเมืองมะละกาเห็นโปรตุเกสดูหมิ่นก็โกรธ จึงให้ขุนนางคนหนึ่งมีตำแหน่งเป็นบันดาหร[น] ว่าการฝ่ายทหาร คุมกำลังไปล้อมจับโปรตุเกสที่ขึ้นไปซื้อขายอยู่บนบก ฆ่าฟันตายเสียบ้าง จับเป็นไว้ได้เป็นตัวจำนำก็หลายคน สิไคราไม่มีกำลังพอที่จะตีเอาเมืองมะละกาได้ในคราวนั้น ด้วยพลเรือขึ้นไปถูกพวกชาวมะละกาฆ่าฟันและจับไว้เสียมาก จึงให้เผาเรือโปรตุเกสเสียสองลำ เอาคนมาลงเรือที่ยังเหลืออยู่สองลำแล่นกลับไป เมื่อความทราบถึงกรุงโปรตุเกสว่า เจ้าเมืองมะละกาทำร้ายแก่พวกโปรตุเกส ก็ให้เตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองมะละกา แต่ประจวบเวลาเกิดเหตุขึ้นในอินเดียและทางทะเลแดง ด้วยพวกเจ้าบ้านผ่านเมืองแขกที่ถูกโปรตุเกสรังแกกดขี่ต่าง ๆ หลายเมืองเข้ากันรบพุ่งโปรตุเกส โปรตุเกสต้องปราบปรามอยู่จนปีมะแม จุลศักราช ๘๗๑ พ.ศ. ๒๐๕๒ อัฟฟอนโสอัลบูเคอเค[บ] แม่ทัพใหญ่ซึ่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ของพระเจ้าโปรตุเกส จึงยกกองทัพเรือมายังเมือมะละกา กองทัพอัลบูเคอเคแล่นมาพบเรือแขกที่ไหนก็ตีชิงเรื่อยมา จนถึงเมืองมะละกาเมื่อเดือนมิถุนายน อุบายให้ไปบอกเจ้าเมืองมะละกว่า เป็นราชทูตจะมาเป็นไมตรีโดยดี ไม่รบพุ่ง ให้เจ้าเมืองมะละกาส่งตัวพวกโปรตุเกสที่จับไว้เป็นตัวจำนำลงมาให้ แล้วอัลบูเคอเคก็จะขึ้นไปหาเจ้าเมือง ข้างเมืองมะละก็ให้มาบอกว่า จะยอมเป็นไมตรีและจะส่งพวกโปรตุเกสคืนให้ แต่ขอให้อัลบูเคอเคขึ้นไปทำทางไมตรีเสียก่อน อัลบูเคอเคคอยอยู่ เห็นการไม่ตกลงกัน ก็ยกกำลังขึ้นตีเมืองมะละกา ได้รบพึ่งกันถึงตะลุมบอน ชาวมะละกาสู้ไม่ได้ ต้องถอยออกไปนอกเมือง พวกโปรตุเกสเผาเมืองมะละกาเสีย แล้วก็ถอยกลับลงเรือ พวกชาวมะละกาก็กลับเข้ามาตั้งค่ายอยู่ในเมืองอีก ในเวลานั้น มีสำเภาจีนมาค้าขายอยู่ที่เมืองมะละกาประมาณหนึ่งร้อยลำ สำเภาจีนจะกลับไปเมือง อัลบูเคอเคจึงให้โปรตุเกสคนหนึ่งชื่อ เฟอนันเด[ป] ถือหนังสือโดยสารเรือสำเภาจีนเข้ามากรุงศรีอยุธยาขอเป็นไมตรีไปค้าขายกับไทย ด้วยได้ทราบว่า เมืองมะละกาเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ก่อน

อัลบูเคอเคมาตระเตรียมการอยู่ที่เรือ พอพร้อมเสร็จก็คุมกำลังขึ้นตีเมืองมะละกาครั้งที่สองในเดือนสิงหาคม คราวนี้ รบพุ่งกันเป็นสามารถ พวกเจ้าเมืองมะละกาสู้โปรตุเกสไม่ได้ก็แตกหนี เมืองมะละกาจึงได้อยู่ในอำนาจโปรตุเกสแต่นั้นมา

เมื่อโปรตุเกสได้เมืองมะละกาไว้เป็นที่มั่นแล้ว ถึงปีขาล จุลศักราช ๘๘๐ พ.ศ. ๒๐๖๑ พระเจ้ามานูเอล พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส จึงแต่งให้ดวดเตโคเอลโล[ผ] เป็นราชทูตเข้ามาทำสัญญามีทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ณ กรุงศรีอยุธยาในคราวคราวเดียวกับไปทำทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดี ตามจดหมายของโปรตุเกสว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงยินดีรับเป็นไมตรีกับโปรตุเกส พระราชทานอนุญาตให้โปรตุเกสตั้งห้างไปมาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาและที่เมืองปัตตานีได้ตามประสงค์ และจะรับแต่งกองทัพไทยไปช่วยโปรตุเกสปราบปรามพวกแขกที่มาตีเมืองมะละกาด้วย ต่อมา ปรากฏว่า โปรตุเกสได้รับอนุญาตให้ไปตั้งห้างค้าขายที่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองมะริดอีกสองเมือง

ถึงปีเถาะ จุลศักราช ๘๘๑ พ.ศ. ๒๐๖๒ โปรตุเกสไปขอเป็นไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีก็ยอมให้ไปมาค้าขายตามประสงค์ และให้โปรตุเกสตั้งห้ามที่เมืองเมาะตะมะอีกแห่งหนึ่ง โปรตุเกสจึงเป็นไมตรีกับไทยและมอญแต่นั้นมา

เรื่องที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เดิมเมืองมะละกาเป็นเมืองขึ้นของไทย ข้อนี้ไม่มีที่สงสัย ด้วยหนังสือทั้งปวงของไทย ของมลายู และของฝรั่งถูกต้องกัน และมีเนื้อความในพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า ไทยได้ยกกองทัพลงไปตีเมืองมะละกาเมื่อปีกุน จุลศักราช ๘๑๗ (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) พ.ศ. ๑๙๙๘ แต่จะมีผลอย่างไรไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เหตุที่ไทยยกกองทัพลงไปตีเมืองมะละกาเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น เห็นจะเป็นด้วยเรื่องเจ้าเมืองเข้ารีตถือศาสนาอิสลามเอาใจไปเผื่อแผ่แก่พวกอาหรับที่มาเป็นครูบาอาจารย์สอนให้กระด้างกระเดื่องขึ้น แต่กองทัพไทยเห็นจะตีไม่ได้เมืองมะละกาคราวนั้น เมื่อโปรตุเกสมาตีเมืองมะละกา เกรงจะเกิดวิวาทกันขึ้นกับไทยซึ่งเป็นเจ้าของเมืองมะละกาอยู่แต่เดิม จึงแต่งราชทูตเข้ามาขอเป็นไมตรีกับไทย ในเวลานั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ยังไม่เสร็จสงครามกับเชียงใหม่ จึงรับเป็นไมตรีกับโปรตุเกส

การที่โปรตุเกสมาเป็นไมตรีกับไทยก็ดี กับมอญก็ดี ไม่มาเกะกะวุ่นวายเหมือนกับเมืองแขกในอินเดีย เพราะสองประเทศนี้ถือพุทธศาสนา ไม่มีสาเหตุที่จะวิวาทกันด้วยเรื่องลัทธิศาสนา ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ทั้งสองประเทศเป็นประเทศใหญ่ที่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองได้สิทธิ์ขาด โปรตุเกสจะทำร้ายไม่ได้เหมือนในอินเดีย จึงมาค้าขายแต่โดยดี ใช่แต่เท่านั้น ยังมีพวกฝรั่งโปรตุเกสที่คิดหาสินจ้างโดยลำพังตัวพากันเข้ามาอยู่ในบ้านเมืองมารับจ้างเป็นทหารทำการรบพุ่งให้ทั้งไทยและมอญ การค้าขายและเป็นไมตรีกับฝรั่งต่างประเทศได้เริ่มต้นมีมาแต่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีที่ ๒ โดยมูลเหตุดังอธิบายมานี้




หน้า ๔๗–๖๒ (๖๕–๘๐) ขึ้นลงสารบัญ



อธิบายเรื่องธงไทย




๑.   ตามที่สืบสวนได้ความว่า แต่โบราณมา เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ใช้ธงสีต่าง ๆ เป็นเครื่องหมายสำหรับกองทัพกองละสี ใช้ในเวลาเมื่อจัดกองทัพไปทำสงคราม ส่วนเรือกำปั่นเดินทะเลใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องหมาย ยังหามีธงชาติอย่างเช่นเข้าใจกันในทุกวันนี้ไม่

๒.   ถึงรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๐ ถึง พ.ศ. ๒๓๖๖ เมื่ออังกฤษตั้งสถานีการค้าที่เมืองสิงคโปร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้สร้างเรือกำปั่นหลวงขึ้น ๒ ลำ สำหรับการค้าของรัฐบาล คือ หาเครื่องศัสตราวุธเป็นต้น ไปมาในระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองสิงคโปร์และเมืองมาเก๊า เรือทั้ง ๒ ลำนั้นก็ชักธงแดง อังกฤษเจ้าเมืองสิงคโปร์บอกให้นายเรือเข้ามากราบทูลว่า เรือทะเลของพวกชวามลายูที่ไปมาค้าขาย ณ เมืองสิงคโปร์ก็ชอบชักธงแดงเหมือนกัน ขอให้พระเจ้าอยู่หัวกรุงสยามใช้ธงอย่างอื่นเสีย จะได้จัดการรับรองเรือหลวงได้สะดวก ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ช้างเผือกไว้ ๓ ตัวซึ่งนับถือในประเพณีไทยว่า เป็นเกียรติยศอย่างสูง จึงโปรดให้ทำรูปช้างสีขาวอยู่ในวงจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดง หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก (รูปช้างอยู่ในวงจักร ได้เอามาใช้เป็นตราด้านหลังเงินเหรียญครั้งรัชกาลที่ ๔) แต่ธงตราช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวง เรือพ่อค้าไทยยังใช้ธงแดงอยู่อย่างเดิม

๓.   ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ ทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตก มีเรือกำปั่นชาวยุโรปและอเมริกาเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ กงสุลต่างประเทศก็เข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เขาชักธงชาติของเขา ความจำเป็นที่จะต้องมีธงชาติของสยามเกิดขึ้นด้วยเหตุนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ใช้ธงช้างที่ประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๒ เป็นธงชาติ แต่ให้เอารูปจักรออกเสีย ด้วยจักรเป็นเครื่องหมายสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ให้คงแต่มีรูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง แล้วทรงประดิษฐ์ธงขึ้นอีก ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า "ธงมหามงกุฎ" สำหรับประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน พื้นสีแดงเหมือนธงชาติ อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า "ธงไอราพต" พื้นแดงเหมือนธงชาติ มีรูปช้าง ๓ เศียรสีขาวผูกเครื่องยืนแท่น มีบุษบกตั้งบนหลังช้าง และมีรูปฉัตรตั้งข้างหน้าและข้างหลังข้างละ ๔ คัน อยู่กลางธง สำหรับรัฐบาลสยาม

๔.   ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งพระราชบัญญัติแบบอย่างธงขึ้นใหม่สำหรับใช้ในราชการ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ ดังจะกล่าวต่อไปตามลำดับหมวดของธง คือ


หมวดธงประจำพระองค์


ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ สำหรับประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน พื้นนอกสีแดงพื้นในสีขาบ กลางมีโล่ตราแผ่นดินภายใต้มหาพิชัยมงกุฎ และมีเครื่องสูง ๗ ชั้นสองข้าง (อย่างธงพระมหามงกุฎประจำพระองค์รัชกาลที่ ๔) ในโล่ตราแผ่นดินนั้น ช่องบนรูปช้างไอราพตสามเศียรพื้นเหลืองบอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างขวานั้นเป็นรูปช้างเผือกพื้นชมพู เป็นนามสัญญาแห่งลาวประเทศ ช่องล่างข้างซ้ายนั้นเป็นรูปกริชคดและตรง ๒ อันไขว้กันพื้นแดง บอกสัญญานามมลายูประเทศ และมีแท่นรองโล่และเครื่องสูง ๗ ชั้นพื้นเหลืองรวมสัญญานามที่หมายเหล่านี้ทั้งสิ้น จึงเป็นบรมราชธวัชมหาสยามินทร์สำหรับใช้ในเรือพระที่นั่งและชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวัง

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดให้เปลี่ยนนามเรียกว่า "ธงมหาราช" ได้ใช้ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้าง

ธงมหาราชใหญ่ พื้นสีเหลือง กว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน ที่ศูนย์กลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง สำหรับใช้ประจำพระองค์ เมื่อนายทหารคลี่เชิญไปในกระบวนใด เป็นที่หมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยกระบวนนั้น หรือชักขึ้นในที่แห่งใด ก็เป็นที่หมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใด ให้ชักธงมหาราชใหญ่ขึ้นไว้ที่ยอดเสาเป็นเครื่องหมาย

ในคราวเดียวกันนี้ได้ทรงสร้างธงประจำพระองค์ขึ้นอีก ๒ อย่าง อย่าง ๑ เรียกว่า

ธงมหาราชน้อย เป็นคู่กับธงมหาราชใหญ่ ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนกับธงมหาราชใหญ่ กว้างไม่เกินกว่า ๖๐ เซนติเมตร และมีชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งธงกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างปลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียง ๒ ส่วนแห่งด้านยาว สำหรับชักขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใดเช่นธงมหาราชใหญ่ แต่ถ้าเวลาใดโปรดเกล้าฯ ให้ชักธงมหาราชน้อยแทนธงมหาราชใหญ่แล้ว ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวายคำนับ

อีกอย่าง ๑ เรียกว่า "ธงกระบี่ธุชและธงพระครุฑพาหะน้อย"

ธงกระบี่ธุชนั้น มีรูปวานรทรงเครื่องบนพื้นผ้าแดง และธงครุฑพาหะน้อย มีรูปครุฑแดงบนพื้นผ้าเหลือง โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ คราวเสด็จไปสมโภชพระปฐมเจดีย์ และพระราชมนเทียร ณ พระที่นั่งสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ราษฎรขุดได้แผ่นสัมฤทธิ์รูปกระบี่ ๑ รูปครุฑ ๑ คู่กัน เป็นของประจำธงชัยสำหรับกษัตริย์แต่โบราณ เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ (ชม สุนทราชุน) เมื่อยังเป็นพระยาสุนทรบุรี สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงโปรดให้ประกอบเป็นธงกระบี่ธุช และธงพระครุฑพาหะน้อย สำหรับนายทหารเชิญนำเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบ ธงกระบี่ธุชไปข้างขวา ธงพระครุฑพาหะน้อยไปข้างซ้าย หรือเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนรถพระที่นั่ง มีนายทหารเชิญขึ้นม้านำข้างหน้าข้างขวาและข้างซ้ายอย่างกระบวนราบ

ธงราชินี พื้นนอกสีแดงกว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว พื้นในถัดมุมแฉกเข้ามาส่วนหนึ่งสีขาบกว้าง ๖ ส่วน ยาว ๘ ส่วน รูปเครื่องหมายที่ในพื้นที่ขาบเหมือนกับธงมหาราช (รัชกาลที่ ๕) เป็นเครื่องหมายในองค์พระอัครมเหสี สำหรับชักขึ้นบนเสาธงใหญ่ในเรือพระที่นั่งซึ่งสมเด็จพระอัครมเหสีได้เสด็จโดยพระราชอิสริยยศเป็นที่หมายให้ปรากฏว่า ได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้สร้าง

ธงราชินีใหญ่ พื้นสีเหลือง กว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว ที่ศูนย์กลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดงเหมือนกับธงมหาราชใหญ่ เป็นเครื่องหมายประจำพระองค์สมเด็จพระราชินี สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่เรือพระที่นั่งซึ่งสมเด็จพระราชินีได้เสด็จโดยพระราชอิสริยยศ เป็นที่หมายให้ปรากฏว่า ได้เสด็จในเรือลำนั้น และทรงสร้าง

ธงราชินีน้อย ขนาดและส่วนเหมือนกับธงมหาราชน้อย ต่างกันแต่ชายธงเป็นสีแดง ใช้แทนธงราชินีใหญ่สำหรับประจำพระองค์สมเด็จพระบรมราชินี ในขณะที่โปรดให้ใช้ธงราชินีน้อยนี้ ห้ามมิให้เจ้าหน้ายิงสลุตถวายคำนับ

ธงเยาวราชธวัช สำหรับราชตระกูลนั้นเหมือนอย่างธงบรมราชธวัช พื้นสีแดง กลางมีโล่ตราแผ่นดินและจักรี ยกแต่มหาพิชัยมงกุฎ เครื่องสูงแท่นและพื้นน้ำเงินเท่านั้น สำหรับชักขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือรบและเรือพระที่นั่งซึ่งราชตระกูลพระองค์นั้นได้เสด็จไปโดยอิสริยยศทางราชการ เป็นที่หมายว่า ราชตระกูลนั้นอยู่เรือรบหรือเรือพระที่นั่งลำนั้น ธงเยาวราชนี้เฉพาะใช้ได้แต่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศ์กรมสมเด็จ กรมพระ กรมหลวง กรมขุน กรมหมื่น และพระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ซึ่งมีอิสริยยศสมควรที่จะรับสลุตอย่างหลวง ในเรือรบทหารยืนเพลาและยิงสลุต ๒๑ นัด ทหารบกยืนแถวคลี่ธงจุฑาธุชธิปไตย ธงชัยเฉลิมพล แตรเป่าเพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายคำนับเป็นเกียรติยศ ราชตระกูลนอกนั้นถ้ามีราชการต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษก่อนจึงจะใช้ได้

ธงนี้ได้ใช้ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดให้เลิก และทรงสถาปนาธงเยาวราชขึ้นใหม่ พื้นสีขาบ กว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน เครื่องหมายกลางธงเหมือนอย่างธงมหาราช เว้นแต่เครื่องสูง ๒ ข้างโล่เป็น ๕ ชั้น ใช้เป็นธงเครื่องหมายเฉพาะพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือรบลำใดลำหนึ่งซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จโดยพระราชอิสริยยศ เป็นที่หมายให้ปรากฏว่า เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้เปลี่ยนธงเยาวราชเป็นธงเยาวราชใหญ่ สำหรับใช้เป็นเครื่องหมายในพระองค์สมเด็จพระเยาวราช พื้นนอกสีขาบกว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน พื้นในสีเหลือง กว้างยาวกึ่งส่วนของพื้นนอก ที่ศูนย์กลางพื้นในมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใดซึ่งสมเด็จพระเยาวราชเสด็จโดยอิสริยยศ เป็นที่หมายให้ปรากฏว่า ได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น และทรงสร้าง

ธงเยาวราชน้อย เพิ่มขึ้นสำหรับเป็นเครื่องหมายในพระองค์สมเด็จพระเยาวราช คือ ตอนต้นมีลักษณะสัณฐานเหมือนธงเยาวราชใหญ่ กว้างไม่เกินกว่า ๖๐ เซนติเมตร มีชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งธงกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างปลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๒ แห่งด้านยาว สำหรับใช้แทนธงเยาวราชใหญ่ ในขณะที่ใช้ธงนี้ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวายคำนับ

ธงพระวรราชชายาแห่งพระเยาวราช พื้นสีขาบ มีรูปเครื่องหมายเหมือนกับธงเยาราช แต่ตัดชายเป็นรูปอย่างหางนกแซงแซว สำหรับพระองค์วรชายาแห่งมกุฎราชกุมาร

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้ทรงสร้าง

ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชใหญ่ เหมือนกับธงเยาวราชใหญ่ แต่ตัดชายเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซว สำหรับประจำพระองค์พระวรชายาแห่งพระเยาวราช และได้ทรงสร้าง

ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชน้อย เหมือนกับธงเยาวราชน้อย ผิดกันแต่ชายเป็นสีแดง สำหรับใช้แทนธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชใหญ่ ในขณะที่ใช้ธงนี้ ห้ามมิให้มีการยิงสลุตถวาย

ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า พื้นสีขาบ กลางมีโล่ตราแผ่นดิน เบื้องบนแห่งโล่มีรูปจักรีไขว้กัน และมีมหามงกุฎสวมบนจักรี กว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน สำหรับชักบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใดซึ่งพระราชวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งเสด็จโดยอิสริยยศทางราชการ พระราชวงศ์ผู้ซึ่งจะใช้ธงนี้ได้เฉพาะแต่พระราชวงศ์ผู้ใหญ่ซึ่งมีอิสริยศสมควรที่จะรับสลุตอย่างหลวง ๒๑ นัด ในเรือรบมีทหารยืนเพลาใบ และทหารบกยืนแถวคลี่ธงชัย แตรทำเพลงสรรเสริญพระบารมีถวายคำนับเป็นเกียรติยศ พระราชวงศ์อันมีอิสริยยศต่ำกว่านั้นนับว่า เป็นพระราชวงศ์ผู้น้อย ถ้ามีราชการไปต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษก่อนจึงจะใช้ธงนี้ได้

ถึงรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้สร้าง

ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า พื้นสีขาบ กว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน ที่ศูนย์กลางมีวงกลมสีเหลือง เส้นตัดศูนย์กลางวงกลมมีขนาดเท่ากึ่งส่วนกว้างของธง ภายในวงกลมมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชกาลใด ๆ เสด็จในเรือนั้นโดยอิสริยยศ และทรงสร้าง

ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีชายธงสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งธงมีขนาดกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างปลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๒ แห่งด้านยาว ใช้สำหรับแทนธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า ในขณะใช้ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวาย

ธงราชวงศ์ฝ่ายใน พื้นสีขาบ รูปเครื่องหมายในธงเหมือนกับธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า แต่ตัดชายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ สำหรับราชวงศ์ฝ่ายใน

ถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดให้เปลี่ยนเครื่องหมายภายในธงราชวงศ์ฝ่ายใน เป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดงเหมือนกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ผิดกันแต่ตัดชายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลใด ๆ เสด็จในเรือนั้นโดยพระอิสริยยศ และทรงสร้าง

ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน เหมือนกับธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า ผิดกันแต่ชายธงเป็นสีแดง ใช้สำหรับแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน ในเวลาที่ใช้ ห้ามมิให้มีการยิงสลุตถวายคำนับ


หมวดธงแผ่นดิน


ธงจุฑาธุชธิปไตย คือ ราชธวัชสำหรับรัฐบาลสยาม พื้นสีแดง มีรูปช้างไอราพตสามเศียรทรงเครื่องยืนแท่น มีบุษบกและเครื่องสูง ๗ ชั้น ๔ องค์ ในกลางบุษบกมีอักษร จ.ป.ร. (จุฬาลงกรณ์บรมราชาธิราช) ไขว้กัน เป็นพระนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีจุลมงกุฎ นัยหนึ่งว่า พระเกี้ยวยอด อยู่บนอักษรพระนาม (ที่หมายพระนามาภิไธยในบุษบกนั้นเปลี่ยนตามรัชกาล) สำหรับใช้ชักขึ้นในพระนคร เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และใช้เป็นราชธวัชสำหรับพลหลวงที่เรียกว่าทหารกรมต่าง ๆ ถ้าทหารกรมหนึ่งกรมใดจะไปราชการสงคราม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จพระราชดำเนินในกองทัพนั้น ต้องใช้ธงนี้เป็นเครื่องหมายสำคัญแทนพระองค์ หรือเวลาที่ออกยืนแถวรับเสด็จ หรือเจ้านายต่างประเทศให้เป็นเกียรติยศ ธงนี้ใช้ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงโปรดให้กลับใช้ธงสำหรับรัฐบาลสยามอย่างรัชกาลที่ ๔ และให้เรียกนามว่า "ธงไอราพต"

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงสถาปนาธงแผ่นดินเพิ่มขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า

ธงมหาไพชยนต์ธวัช พื้นนอกแดง พื้นในสีดำ กลางมีพานแว่นฟ้าสองชั้นรองวชิราวุธ มีฉัตร ๕ ชั้นสองข้าง เหตุที่สร้างธงนี้ ทรงพระราชปรารภว่ารูปครุฑสัมฤทธิ์หุ้มทองของโบราณที่ขุดได้ ณ ตำบลโคกพระในดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อเสด็จถึงเมืองปราจีนในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น เป็นโบราณวัตถุซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นยอดธงสำหรับนำทัพของพระราชาธิบดีในสมัยโบราณ การที่มีผู้นำมาทูลเกล้าฯ ถวายก็นับว่าเป็นสิ่งประกอบด้วยสวัสดิมงคล และธงจุฑาธุชธิปไตย อันเป็นธงสำคัญสำหรับประจำกองทัพบกนั้น ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถได้โปรดให้สร้างขึ้น และบรรจุเซ่นพระเจ้าแล้วพระราชทานไว้เพื่อประกองทัพบก สืบมาเป็นประเพณีอันดีงาม สมควรที่จะทรงปฏิบัติตามเยี่ยงสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมครุฑโบราณนั้นให้งดงามเพื่อติดบนยอดคันธง และโปรดให้ปักธงเป็นธงเป็นลายอย่างพระราชลัญจกรประจำพระองค์บนพื้นดำทับบนพื้นแดงอีกชั้นหนึ่ง พระราชทานนามว่า "ธงมหาไพชยนต์ธวัช" ตามนามแห่งธงท้าวอมรินทราธิราช ซึ่งได้ใช้นามเทพเสนาไปปราบอสูรเหล่าร้ายพ่ายแพ้แด่พระบารมี ใช้เป็นธงสำคัญประจำกองทัพบกเพิ่มเข้าอีกธงหนึ่ง อย่างจุฑาธุชธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


หมวดธงประจำกอง


ธงประจำกองทัพบก พื้นแดงขอบมีจักรสีขาวสามด้าน กลางเป็นรูปตราแผ่นดิน โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ และได้พระราชทานแก่กองทหาร ซึ่งจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อยังเป็นพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ตำแหน่งแม่ทัพ ได้ใช้ธงนี้นำทัพไปปราบฮ่อซึ่งเข้ามาก่อการจลาจลในเขตหัวพันห้าทั้งหกและสิบสองปันนาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ภายหลังพระราชทานนามธงนี้ว่า "จุฑาธุชธิปไตย" ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดให้สร้างธงมหาไพชยนต์ธวัช พื้นนอกสีแดง พื้นในสีดำ กลางมีรูปพานแว่นฟ้าสองชั้นรองวชิราวุธ มีเครื่องสูง ๕ ชั้น ข้างละ ๑ องค์ ดังได้กล่าวมาแล้วในหมวดธงสำหรับแผ่นดิน ก็ไม่ได้เลิกถอนธงจุฑาธุชธิปไตย ยังคงใช้ต่อมา

ธงประจำกองทหารบก โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔ พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางมีมหาพิชัยมงกุฎและเครื่องสูง ๗ ชั้นสองข้างดังได้กล่าวมาแล้วในหมวดธงประจำพระองค์ ใช้เป็นธงประจำกองทหารพระองค์ปืนทองปราย ซึ่งได้มีอยู่แล้วแต่ในรัชกาลที่ ๓ กอง ๑ กองทหารหน้าซึ่งได้ตั้งขึ้นในคราวเดียวกันนี้กอง ๑ กองทหารปืนใหญ่ซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ กอง ๑ กองทหารล้อมวังซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ กอง ๑ และกองทหารอย่างยุโรปซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ กอง ๑ รวม ๖ กอง ใช้ในเวลาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระนคร แต่ถ้ามิได้เสด็จประทับอยู่ในพระนครแล้ว ถ้ากองทหารมีการจำเป็นที่จะต้องใช้ธงประจำกอง โปรดให้ใช้ธงสำหรับแผ่นดินรูปช้างไอราพตสามเศียรทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าไปข้างเสา มีบุษบกทรงอุณาโลมภายในตั้งอยู่บนหลัง มีเครื่องสูง ๗ ชั้นอยู่หน้าหลังข้างละ ๒ องค์ ดังกล่าวมาแล้วในหมวดธงสำหรับแผ่นดิน เป็นธงประจำกองแทนธงสำหรับพระองค์

ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้เปลี่ยนธงสำหรับประจำพระองค์ใหม่ ใช้ธงพื้นนอกแดง พื้นในสีขาบ กลางเป็นรูปโล่ตราแผ่นดิน มีจักรไขว้กันอยู่บนโล่ มหาพิชัยมงกุฎสวมอยู่บนจักรี มีเครื่องสูง ๗ ชั้นสองข้าง ดังกล่าวมาแล้วในหมวดธงประจำพระองค์แทน ส่วนธงสำหรับแผ่นดินคงใช้ธงไอราพตอย่างรัชกาลที่ ๔ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดให้เปลี่ยนตราธงประจำกองทหารบกต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในเวลานั้น เป็นธงตราแผ่นดินบนพื้นผ้าแดง แทนธงประจำพระองค์และธงสำหรับแผ่นดิน ได้พระราชทานแก่กองทหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ คือ กองทหารม้าใน (ม้าหลวง) ๑ กองทหารปืนใหญ่นอก (ปืนใหญ่หลวง) ๑ กองทหารราบในมหาดเล็ก ๑ กองทหารราบนอกรักษาพระองค์ ๑ กองทหารราบนอกล้อมวัง ๑ กองทหารราบนอกฝีพาย ๑ รวม ๖ กอง

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อทำการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก โปรดให้เปลี่ยนธงประจำกองทหารบกใหม่ ใช้ธงรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นแดง ที่มุมธงข้างบนหน้าช้างมีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ จ. สีเหลืองแก่ ป. สีน้ำเงิน ร. สีแดง และมีรัศมีและจุลมงกุฎสีเหลืองอยู่เบื้องบน เป็นธงประจำกองทหารบกกรมต่าง ๆ รวม ๑๒ กอง

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้เปลี่ยนธงประจำกองทหารบกใหม่ ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นแดง ที่มุมธงข้างบนหน้าช้างมีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ว.ป.ร. สีน้ำเงิน มีรัศมีและมหาพิชัยมงกุฎเบื้องบนสีเหลือง ได้พระราชทานแก่ทหารบกกองต่าง ๆ เมื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


หมวดธงตำแหน่ง


ธงจอมทัพบก มีรูปคทาและพระแสงกระบี่ไขว้กัน มีจักรและมหาพิชัยมงกุฎสีขาวบนพื้นแดง สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ สำหรับตำแหน่งจอมทัพบก

ธงราชทูต ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นผ้าแดง ที่มุมธงข้างบนหน้าช้างมีโล่ตราแผ่นดิน และมีจักรมงกุฎ สำหรับราชทูตประจำต่างประเทศและข้าหลวงใหญ่ไปราชการพิเศษ ซึ่งผู้ที่ได้รับราชการนั้นอยู่ในสถานตำแหน่งผู้แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน หรือผู้แทนรัฐบาลจึงจะใช้ได้ เป็นที่หมายยศของผู้ที่รับราชการนั้น ชักขึ้นเสาหน้า

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้เปลี่ยนรูปโล่ตราแผ่นดินและจักรีมงกุฎในธงราชทูตเป็นรูปครุฑกางกรมีมหามงกุฎในวงกลม

ธงกงสุลสยาม ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงข้างบนหน้าช้างมีโล่ตราแผ่นดิน สำหรับตำแหน่งกงสุลสยามประจำต่างประเทศ ในคราวเดียวกับที่โปรดให้เปลี่ยนเครื่องหมายในธงราชทูตนั้นก็ได้โปรดให้เปลี่ยนเครื่องหมายในธงกงสุลเป็นรูปครุฑกางกรในวงกลมด้วย

ธงผู้ว่าราชการเมือง ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นผ้าแดง ที่มุมธงข้างบนมีวงกลมขาวโต ๑ ใน ๔ ส่วนของด้านกว้างแห่งธงนั้น ในกลางวงกลมมีตราตำแหน่งของผู้ที่ไปราชการนั้น

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้ใช้ธงนี้สำหรับตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา มีเครื่องหมายในวงกลมเป็น ๕ ช่อง ช่องบนรูปปราสาท ภายในมีพานแว่นฟ้ารองสังข์ทักษิณาวัตร หลังปราสาทมีรูปต้นหมัน ช่องกลางข้างขวารูปอ่างทอง ข้างซ้ายรูปเขาแก้ว ช่องล่างข้างขวารูปสิงห์หมอบบนแท่น ข้างซ้ายรูปศร ๓ เล่ม ถ้าเป็นผู้ว่าราชการเมืองก็ให้ใช้ตรานามเมืองนั้นในวงกลมด้วย

ธงเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ พื้นสีขาบ กลางมีรูปสมอไขว้กับจักรสีเหลือง ข้างบนมีมหามงกุฎ โปรดให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ สำหรับตัวเสนาบดีหรือรองเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เมื่อชักขึ้นบนเสาในเรือลำใด ให้พึงเข้าใจว่าเสนาบดีหรือรองเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้อยู่ในเรือลำนั้น ถ้าและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระอัครมเหสีก็ดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมงกุฎราชกุมารก็ดี ได้ประทับอยู่ในเรือหลวงลำหนึ่งลำใดอันได้ชักธงมหาราช ธงราชินี หรือธงเยาวราชขึ้นไว้บนเสาใหญ่ และได้ชักธงเสนาบดีไว้บนเสาหน้าด้วยแล้ว ก็ให้เจ้าหน้าที่ในเรือรบและป้อมทั้งปวงยิงสลุตตามประเพณี ถ้ามีแต่ธงมหาราช หรือธงราชินี หรือธงเยาวราช ชักขึ้นบนเสาใหญ่ ไม่มีธงเสนาบดีบนเสาหน้า ห้ามการยิงสลุตทุกหน้าที่

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้ใช้ธงนี้เป็นเครื่องหมายสำหรับตัวเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ชักขึ้นไว้ ณ ที่ทำการของเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และใช้ชักขึ้นที่ยอดเสาใหญ่ในเรือ เป็นเครื่องหมายว่าเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้อยู่ในเรือลำนั้น และในเวลาที่ชักธงมหาราชใหญ่ หรือธงราชินีใหญ่ขึ้นที่เสาใหญ่เรือลำใด ให้ชักธงเสนาบดีนี้ขึ้นที่เสาหน้าเรือลำนั้นด้วยเสมอไป


ธงหมายยศ


ธงจอมพลเรือ ใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนผ้าสีขาบ ข้างหน้าช้างมีรูปสมอไขว้ ๒ ตัว กับมหามงกุฎสีเหลือง ทรงสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดให้ใช้สำหรับหมายตำแหน่งยศจอมพลเรือ ถ้าใช้ในเรือใหญ่ให้ชักขึ้นที่เสาใหญ่

ธงเกตุ เป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นบนพื้นผ้าสีขาบ สำหรับหมายยศแม่ทัพเรือ ตำแหน่งนายพลเรือเอกชักขึ้นที่เสาใหญ่ ตำแหน่งนายพลเรือโทชักขึ้นที่เสาหน้า ตำแหน่งนายพลเรือตรีชักขึ้นที่เสาท้าย ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดให้เรียกว่า "ธงฉาน" สำหรับนายพลเรือเอกชักขึ้นบนเสาใหญ่ สำหรับนายพลเรือโทเพิ่มรูปจักรสีขาวที่มุมธงข้างหน้าช้างจักร ๑ ชักขึ้นบนเสาหน้า สำหรับนายพลเรือตรีเพิ่มจักรสีขาวข้างมุมบนมุมล่างหน้าช้าง ๒ จักร ชักขึ้นบนเสาหลัง หรือถ้าเป็นเรือ ๒ เสาชักขึ้นบนเสาหน้า

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้ใช้ธงพื้นสีขาบ กลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหน้าเข้าข้างเสาไม่มีจักร เรียกว่า "ธงฉาน" สำหรับชักหน้าเรือหลวงทั้งปวง ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งหรือเรือรบในขณะที่อยู่ในราชการ ถ้าชักขึ้นที่ปลายพรวนเสาหน้าเรือลำใด เป็นเครื่องหมายว่าเรือลำนั้นเป็นเรือยามประจำอ่าว และใช้เป็นธงประจำกองสำหรับกองทหารเรือเวลาขึ้นบกด้วย

ส่วนธงฉานที่มีจักร เรียกว่า "ธงนายพลเรือ" ไม่มีจักรสำหรับยศนายพลเรือเอก ชักขึ้นที่เสาใหญ่ มีจักรดวง ๑ ข้างมุมบนสำหรับยศนายพลเรือโท ชักขึ้นเสาหน้า มีจักร ๒ จักรข้างมุมบนและมุมล่างสำหรับยศนายพลเรือตรี ถ้าเรือ ๓ เสาให้ชักขึ้นที่เสาหลัง ถ้า ๒ เสาให้ชักขึ้นที่เสาหน้า

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ โปรดให้แก้ธงชาติเป็นพื้นสีแดงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสา สำหรับใช้เป็นธงราชการ ส่วนธงค้าขายใช้สำหรับสาธารณชนที่เป็นชาติชาวสยามทั่วไป เป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นแดง มีขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาวส่วนครึ่ง มีแถบขาว ๒ แถบ กว้าง ๑ ใน ๖ ส่วนของธง ทาบภายในติดตามยาว ห่างจากขอบล่างและบน ๑ ใน ๖ ส่วนของส่วนกว้างแห่งธง ได้ใช้อยู่หนึ่งปี ถึงพ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงพระราชดำริว่าธงชาติสยามซึ่งได้ประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้นยังไม่สง่างามพอสำหรับประเทศ สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าอีกสีหนึ่งให้เป็น ๓ สี ตามลักษณะธงชาติของนานาประเทศที่ใช้อยู่โดยมากนั้น และสีน้ำเงินก็เป็นสีประจำพระชนมวารเฉพาะพระองค์ด้วย จึงโปรดให้แก้ธงชาติสยามเป็นรูปสี่เหลี่ยมรีมีขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน มีแถบน้ำเงินแก่กว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๓ ของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้าง ๑ ส่วน ซึ่งแบ่ง ๖ ของขนาดกว้างแห่งธง ข้างละแถบ แล้วมีแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาวประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ให้เรียกนามว่า "ธงไตรรงค์" สำหรับใช้ชักขึ้นในเรือพ่อค้าทั้งหลาย และในที่ต่าง ๆ ของสาธารณชนที่เป็นชาติชาวสยามทั่วไป ส่วนธงพื้นสีแดงกลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เป็นธงชาติสยามมาแต่ก่อนนั้นให้ยกเลิก

ในคราวเดียวกันนี้ได้โปรดให้แก้ธงฉานเหมือนธงไตรรงค์ แต่มีรูปสมอไขว้กับจักร และมีรูปพระมหามงกุฎสีเหลืองอยู่เบื้องบนตรงกลางพื้นธงด้วย

ธงหางแซงแซว ข้างต้นพื้นแดง กลางเป็นวงจักรสีขาว ๔ ดวง ข้างปลายหางแซงแซวนั้นมีสีขาบ สำหรับหมายตำแหน่งยศนายพลเรือเอก ตำแหน่งยศนายพลเรือโทมีจักร ๓ ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือตรีมีจักร ๒ ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือจัตวามีจักรดวง ๑ ชักขึ้นที่เสาใหญ่

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดให้ใช้ธงฉานตัดชายเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซวแทน เรียกว่า ธงหางแซงแซวรับชัว สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ เป็นที่หมายว่านายพลเรือจัตวาอยู่ในเรือนั้น ใช้ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้สร้างธงนายพลเรือเหมือนธงฉาน เป็นเครื่องหมายตำแหน่งยศนายพลเรือเอก ถ้าใช้ในเรือให้ชักขึ้นที่เสาใหญ่ ถ้าและธงนี้มีรูปจักรสีขาวจักร ๑ อยู่ที่มุมบนข้างหน้าช้าง เป็นธงหมายตำแหน่งยศนายพลเรือโท ถ้ามี ๒ จักรเป็นธงหมายตำแหน่งยศนายพลเรือตรี ธงนายพลเรือโทถ้าใช้ในเรือให้ชักขึ้นที่เสาหน้า ส่วนนายพลเรือตรีนั้น ถ้าเป็นเรือ ๓ เสา ให้ชักขึ้นที่เสาหลัง ถ้าเป็นเรือ ๒ เสาให้ชักขึ้นที่เสาหน้า ถ้านายพลเรือจัตวาให้คงใช้ธงฉานตัดชายเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซวเป็นเครื่องหมายตำแหน่งยศ ถ้าใช้ในเรือให้ชักขึ้นบนเสาหลัง

ธงหางจระเข้ ข้างต้นพื้นแดง กลางเป็นวงจักรสีขาว ๔ ดวง ข้างปลายสีขาบ ยาว ๓๐ ฟิต กว้าง ๖ นิ้ว สำหรับใช้ในเรือรบ เป็นที่หมายตำแหน่งผู้บังคับการ มีจักร ๔ ดวงสำหรับนายเรือเอก ๓ ดวงสำหรับนายเรือโท ๒ ดวงสำหรับนายเรือตรี ดวง ๑ สำหรับนายเรือจัตวา

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดให้ใช้ธงหางจระเข้ไม่มีรูปจักร สำหรับชักขึ้นบนเสา เป็นที่หมายเฉพาะนายเรือ ได้ใช้ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้เรียกว่า "ธงนายเรือ" สำหรับชักขึ้นบนเสา เป็นที่หมายเฉพาะนายเรือ

ธงผู้ใหญ่ ข้างต้นกว้าง ๑๔ นิ้ว ยาวศอกคืบ เรียวปลายแหลม ส่วนหนึ่งข้างต้นพื้นสีขาบ สองส่วนข้างปลายพื้นสีขาว มีจักรสีขาวอยู่กลางพื้นสีขาบ ทรงสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ สำหรับใช้กับธงหางจระเข้เมื่อเรือหลวงทอดอยู่นอกพระมหานครตั้งแต่ ๒ ลำขึ้นไป อันได้ชักธงหางจระเข้ขึ้นไว้บนเสาใหญ่ทุกลำ ถ้าลำใดชักธงนี้ขึ้นบนเสา เป็นที่หมายว่านายเรือผู้ใหญ่อยู่ในเรือลำนั้น

ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับนายทหารผู้ใหญ่ในกระบวนเรือซึ่งอยู่ในลำนั้น เว้นไว้แต่ถ้านายทหารผู้ใหญ่เป็นนายพลจึงให้ใช้ธงนายพลตามตำแหน่งยศ

ธงนำร่องของกรุงสยาม เป็นรูปช้างเผือกเปล่าพื้นแดง ขอบนอกขาวทั้ง ๔ ด้าน สำหรับชักบอกเป็นที่หมาย ชักขึ้นในที่ใด นำร่องอยู่ที่นั้น ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ โปรดให้แก้ไขธงนำร่องเหมือนธงไตรรงค์ แต่มีขอบขาวโดยรอบ เป็นเครื่องหมายตำแหน่งพนักงานนำร่อง ให้ชักธงนี้ขึ้นบนเสาหน้าเป็นสัญญา และโปรดให้สร้างธงราชนาวีขึ้นใหม่ในคราวเดียวกันนี้ มีลักษณะเหมือนธงไตรรงค์ แต่มีวงกลมสีแดงอยู่กลาง ขอบจุดแถบสีแดงของพื้นธงภายในดวงกลมนั้นมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสา สำหรับใช้ชักขึ้นที่ท้ายเรือและสถานที่ราชการต่าง ๆ ของราชนาวีด้วย

ส่วนธงตำแหน่งราชการสำหรับหน้าที่กระทรวงทบวงการต่าง ๆ ก็โปรดให้เปลี่ยนพื้นธงเหมือนธงไตรรงค์ แต่ต้องเติมเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดลงที่กลางธงเป็นสำคัญ เจ้าพนักงานกรมใดจะใช้เครื่องหมายธงนั้นเป็นอย่างไร ต้องแจ้งความให้กระทรวงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาพระราชบัญญัติธงนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนจึงจะใช้ได้




หน้า ๖๓–๖๖ (๘๑–๘๔) ขึ้นลงสารบัญ



เรื่องเครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้




เรื่องเครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ นั้น ฉันได้เคยสืบเสาะมาช้านานตั้งแต่ยังเป็นนายทหารมหาดเล็ก ความดังจะเล่าให้ฟังต่อไป เมื่อเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ยังเป็นพระยาว่าการกรมม้า ฉันเคยถามว่า เครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้นั้นอยู่ที่กรมม้าหรือที่ไหน ฉันอยากจะเห็น เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ บอกว่า ในสมัยเมื่อกรมพระพิทักษเทเวศร์ องค์พระอัยกาของตัวท่าน ทรงบัญชาการกรมม้าในรัชกาลที่ ๔ ข้าราชการเก่าในกรมม้าคนหนึ่งเขาเคยชี้แผงข้างเครื่องม้าให้ท่านดูคู่หนึ่ง บอกว่า แผงคู่นั้นเป็นแผงเครื่องม้าที่อะแซหวุ่นกี้ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ แต่เวลานั้น ตัวท่านยังเป็นเด็ก ก็ไม่ได้เอาใจใส่จำไว้ว่า คู่ไหน แต่สิ่งอื่นนอกจากแผงข้างท่านไม่เคยได้ยินว่า มีอยู่ในกรมม้า ฉันขอให้สืบถามถึงแผงข้างคู่นั้นก็ไม่ได้ความ เพราะคนชั้นเก่าที่เคยจำได้ก็ตายเสียหมดแล้ว ตัวท่านเองก็จำไม่ได้ ฉันลองพยายามถามคนอื่นต่อมาก็ไม่มีใครรู้ว่า เครื่องม้าที่อะแซหวุ่นกี้ถวายอยู่ไหน

มาถึงรัชกาลที่ ๗ สมัยเมื่อฉันเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา รับพระราชดำรัสสั่งให้จัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร หวนรำลึกขึ้นถึงแผงข้างเครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้ที่เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ (ซึ่งถึงอสัญกรรมเสียนานแล้ว) เคยบอกว่า อยู่ในกรมม้า คิดว่า แผงข้างคู่นั้นลวดลายที่เขียนคงเป็นอย่างพม่า ถึงเก็บปะปนอยู่กับแผงข้างเครื่องม้าของไทย พิจารณาลวดลายที่เห็นจะรู้ได้ว่า แผงข้างคู่ไหนเป็นของอะแซหวุ่นกี้ ฉันจึงขอให้กรมม้าส่งบรรดาแผงข้างที่มีอยู่มาให้ฉันดู ได้มากกว่าสิบคู่ แลเห็นว่า ผิดกันเป็นสองอย่าง อย่างหนึ่ง พื้นลงรักสีแดง เขียนลายทองล้วน อีกอย่างหนึ่ง เขียนลายด้วยสีต่าง ๆ มีอย่างละหลายคู่ด้วยกัน ครั้นพิจารณาต่อไปถึงลวดลาย ก็เกิดประหลาดใจ ด้วยแผงข้างเหล่านั้นเขียนลายแบบ เช่น รูปสิงห์ เป็นต้น อย่างพม่าทั้งนั้น ก็หมดทางที่จะสังเกตลวดลายให้รู้ว่า คู่ไหนเป็นของอะแซหวุ่นกี้ (เหตุใดแผงข้างในกรมม้าจึงเขียนลายแบบพม่าทั้งนั้น จะลองคิดวินิจฉัยกล่าวที่อื่นต่อไปข้างหน้า) การที่ฉันสืบหาเครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้ด้วย "ค้นของ" ยุติเพียงเท่านี้

แต่ยังสืบด้วย "ค้นคิด" ต่อไป ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ เล่ม ๒ หน้า ๔๒๓) พรรณนาถึงของซึ่งอะแซหวุ่นกี้ให้กำนัลแก่เจ้าพระยาจักรี แม่ทัพไทย (คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ครั้งนั้นมีของสี่สิ่งด้วยกัน คือ

เครื่องม้าทองสำรับหนึ่ง
ผ้าสักหลาดพับหนึ่ง
ดินสอแก้วสองก้อน
น้ำมันดินสองหม้อ

ที่เรียกว่า "เครื่องม้าทอง" นั้นที่จริงต้องเป็นแต่ "ปิดทองคำเปลว" จะเป็นอย่าง "หุ้มทองคำ" ไม่ได้ เพราะเครื่องม้าหุ้มทองคำมีแต่เครื่องม้าพระที่นั่ง ทางเมืองพม่าก็น่าจะมีประเพณีเช่นเดียวกัน แม้ตัวอะแซหวุ่นกี้เองก็จะขี่เครื่องม้าหุ้มทองคำไม่ได้ ยังมีข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งซึ่งมิใคร่มีใครรู้ คือ การที่สบเสียทำทางไมตรีกับข้าศึกอาจมีโทษเทียบถึงเป็นกบฏ ข้อนี้ทำให้เชื่อได้แน่ว่า เจ้าพระยาจักรีคงรีบส่งของกำนัลที่อะแซหวุ่นกี้ให้มานั้นมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี มิได้เอามาใช้สอยเอง และน่าจะเป็นมูลเหตุที่เครื่องม้าอะแซหวุ่นกี้ตกมาอยู่ในกรมม้า เพราะเห็นเป็นแต่เครื่องอย่างขุนนางพม่าใช้ เมื่ออยู่ในกรมม้านานมาหลายปี เครื่องส่วนอื่นผุพังหรือกระจัดกระจายไปหมด จึงเหลืออยู่แต่งแผงข้างดังเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ว่า

มีกรณีทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เมืองเชียงใหม่ให้เอาช้างไปขายที่เมืองพม่า ความทราบถึงพระเจ้ามินดง สั่งให้เลี้ยงดูอุปการะพวกท้าวพระยาชาวเชียงใหม่ แล้วส่งสังวาลเครื่องยศอย่างพม่ามาประทานพระเจ้ากาวิโลรส พวกชาวเชียงใหม่ที่ไม่ชอบกล่าวหาว่า พระเจ้ากาวิโลรสเอาใจออกหากไปเข้ากับพม่า พระเจ้ากาวิโลรสก็เอาสายสร้อยนั้นลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ กราบทูลเล่าเรื่องตามจริงให้ทรงทราบ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระราชดำรัสว่า ไม่ทรงระแวงความซื่อสัตย์ของพระเจ้ากาวิโลรสอย่างไร แต่สายสร้อยนั้นไม่ทรงรับไว้ ด้วยทรงรังเกียจว่า จะเป็นรับเครื่องยศพม่า ฝ่ายพระเจ้ากาวิโลรสก็ไม่ยอมเอาสายสร้อยนั้นกลับไปเมืองเชียงใหม่ ด้วยเกรงจะเป็นมลทินว่า ยังปรารถนาจะคบหาพม่า ลงที่สุด พระเจ้ากาวิโลรสถวายสายสร้อยนั้นสมโภชพระเจ้าลูกเธอในเจ้าจอมมารดาเที่ยง พระสนมเอก ซึ่งประสูติใหม่เมื่อพระเจ้ากาวิโลรสอยู่ในกรุงเทพฯ ให้แก้ไขทำเป็นเครื่องแต่งพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงพระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าหญิงพวงสร้อยสอางค์ (มักเรียกกันแต่ว่า "พระองค์สร้อย") ยังดำรงพระชนม์อยู่ในบัดนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๒) เหตุด้วยสร้อยพม่าสายนั้นเป็นนิมิต

จะกล่าววินิจฉัยเหตุที่แผงข้างในกรมม้าเขียนเป็นลวดลายอย่างพม่าต่อไป เครื่องม้าที่ใช้กันในเมืองไทยมีสองอย่างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเครื่องม้าทหาร อย่างหนึ่ง เครื่องม้าพลเรือน อย่างหนึ่ง เครื่องม้าทหารทำตามแบบพม่า อานทำด้วยไม้มีแผงข้างและโกลน เครื่องม้าพลเรือนเป็นแบบไทย ใช้กันในพื้นเมือง อานทำเป็นเบาะ ไม่มีแผงข้าง และไม่มีโกลน มักเรียกเครื่องม้าสองอย่างนั้นต่างกันว่า "เครื่องแผง" และ "เครื่องเบา" สังเกตดูเครื่องแผงหนักกว่าและทำยากกว่าเครื่องเบาะ แต่เห็นจะนั่งกระชับตัวเวลารบพุ่งดีกว่าเครื่องเบาะ จึงใช้เป็นเครื่องสำหรับทหารม้าขี่ พวกกรมม้าแซงเป็นอย่างทหารม้ารักษาพระองค์ จึงใช้เครื่องแผงมาแต่เดิม แม้ในชั้นหลัง เช่น สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อใช้อานม้าอย่างฝรั่งกันดาษดื่นแล้ว ในงานแห่สนานหรือขี่ม้าห้อแข่งกัน เมื่อแห่แล้ว พวกกรมม้ายังขี่เครื่องแผงในงานนั้น ๆ ข้อนี้เป็นมูลที่มีเครื่องแผงอยู่ในกรมม้ามาก พึงเห็นได้ด้วยจำนวนแผงข้างที่ยังเหลืออยู่ดังกล่าวมาแล้ว ข้อที่เขียนแผงข้างเป็นลวดลายอย่างพม่านั้น เห็นว่า จะเป็นได้ด้วยเหตุอย่างเดียว ด้วยแผงข้างที่อยู่ในกรมม้าโดยมากเป็นเครื่องบรรณาการเมืองประเทศราชในมณฑลพายัพถวาย ประเพณีโบราณเมืองประเทศราชต้องถวายต้นไม้ทองเงินกับสิ่งของซึ่งถนัดทำหรือหาได้ในเมืองนั้น ๆ มาใช้ราชการในกรุงเทพฯ เมืองแขกมลายูประเทศราชยังถวาย "ปิโส" (คือ โล่ทำด้วยหวายหรือเปลือกไม้) มาจนรัชกาลที่ ๕ ที่คิดเห็นว่า เครื่องแผง หรืออาจจะเป็นแต่เฉพาะตัวแผงข้าง (เอามาประกอบกับอานที่ทำในกรุงเทพฯ) เป็นเครื่องราชบรรณาการประเทศราชมณฑลพายัพนั้น เพราะศิลป์ในเมืองเหล่านั้นแต่ก่อนชอบใช้แบบพม่า ยังมีปรากฏอยู่จนทุกวันนี้มาก เช่น รูปสิงห์ปั้น และลายจำหลัก เป็นต้น แผงข้างเครื่องม้าเขียนลวดลายที่ชอบทำในพื้นเมืองจึงเป็นลายพม่า ที่ไทยในกรุงเทพฯ ไปถ่ายแบบอะไรของพม่ามาทำในสมัยกรุงธนบุรีหรือกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนรัชกาลที่ ๕ เห็นจะไม่มี ด้วยยังแค้นพม่าทั้งบ้านทั้งเมือง ชวนให้เห็นต่อไปว่า เครื่องม้าที่อะแซหวุ่นกี้ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น แม้เมื่อรัชกาลที่ ๑ ก็น่าจะไม่ได้ถือว่า เป็นของสลักสำคัญอันควรจะเก็บเชิดชูไว้ต่างหาก เครื่องม้าทองคำที่เจ้าคุณ (พระยาอนุมานราชธน) เห็นในเครื่องราชูปโภคนั้น ฉันนึกว่า เห็นจะเป็นของเมื่อรัชกาลที่ ๑ คราวเดียวกับสร้างเครื่องราชูปโภคอย่างอื่นแทนของเดิมซึ่งสูญเสียเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ฉันเคยเห็นผูกม้าพระที่นั่งจูงตามเสด็จในกระบวนแห่พยุหยาตรา แต่ไม่เคยพิจารณาดูถ้วยถี่




หน้า ๖๗–๖๙ (๘๕–๘๗) ขึ้นลงสารบัญ



เรื่องสร้างพระบรมรูปทรงม้า




พระบรมรูปทรงม้านั้นเกิดแต่กรณีสองเรื่องประกอบกัน กรณีที่หนึ่ง เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จไปยุโรปครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ เวลานั้น ทรงสร้างถนนราชดำเนินเสร็จแล้ว และได้ลงมือสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ทั้งคิดแผนผังสนามใหญ่เชื่อมถนนราชดำเนินกับบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว กรณีที่สอง เวลานั้น ยังอีกปีเศษจะถึงอภิลักขิตมงคลซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินนับได้สี่สิบสองปี รัชกาลยืนนานยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นบรรดาได้ปกครองประเทศสยามแต่ปางก่อนทั้งสิ้น กำหนดว่า จะมีการสมโภชเป็นงานใหญ่ ดำรัสสั่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ให้ทรงปรึกษากับเสนาบดีคิดกะโครงการพิธีรัชมงคลว่าจะทำอย่างเสียแต่ในเวลาเสด็จไม่อยู่ แล้วกราบทูลไป อย่ารอให้เสียเวลา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงตรัสให้ปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดี มีความเห็นพร้อมกันว่า "การสมโภช" เช่นเมื่อเสด็จกลับจากยุโรปคราวแรกเป็นต้นก็ดี และ "การฉลอง" เช่นเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์อายุครบหนึ่งร้อยปีเป็นต้นก็ดี ได้ทำมาในรัชกาลที่ ๕ แล้วหลายอย่าง แต่ล้วนเป็นการที่รัฐบาลหรือบุคคลต่างจำพวกช่วยกันทำแทบทั้งสิ้น งานฉลองราชสมบัติรัชมงคลครั้งนี้ผิดกับงานอื่นที่ได้เคยทำมาแต่ก่อน ด้วยเป็นมงคลอันพึงประสบได้ด้วยยากยิ่งนัก ควรให้ผิดกับงานแต่ก่อน ๆ เห็นว่า ควรถือเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในทรงปกครองทำนุบำรุงประเทศและประชาชนชาวสยามให้เจริญรุ่งเรืองและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นสุขสำราญมาช้านานกว่าพระมหากษัตริย์แต่ปางก่อน ข้อนี้เป็นหลักชักชวนชาวสยามทุกชาติทุกภาษาทั่วพระราชอาณาเขตให้บริจาคทรัพย์ตามกำลัง รวมเงินนั้นทูลเกล้าถวายเป็นของชาวสยามรายตัวทั่วหน้าพร้อมใจกันสนองพระเดชพระคุณอย่างที่เรียกกันเป็นสามัญว่า "ทำขวัญ" แล้วแต่จะทรงใช้สอยเงินนั้นตามพระราชหฤทัย ให้กระทรวงนครบาลเป็นเจ้าหน้าที่บอกบุญในกรุงเทพฯ และกระทรวงมหาดไทยบอกบุญตามหัวเมือง กำหนดเป็นข้อสำคัญในการบอกบุญนั้น คือ ๑. อย่าให้เป็นการกะเกณฑ์อย่างไร แล้วแต่ใจใครสมัครให้เท่าใด แม้เพียงเป็นจำนวนสตางค์ก็ได้ แต่ ๒. ให้พยายามบอกทั้งเหตุและการที่ทำบุญนั้นให้รู้ทั่วทุกตัวคนบรรดาอยู่ในพระราชอาณาเขต เวลาเมื่อปรึกษากันนั้น มีเสนาบดีบางคนเห็นว่า ควรจะสร้างสิ่งอันใดไว้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติด้วยสักสิ่งหนึ่ง แต่ข้อนี้ตกลงกันว่า ควรจะรอไว้ลงมติต่อเมื่อรู้เค้าว่า จะได้เงินเฉลิมพระขวัญสักเท่าใดก่อน

ในเวลาเมื่อกำลังบอกบุญอยู่นั้น ได้ทราบข่าวมาแต่ยุโรปว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรนครวังแวซายในประเทศฝรั่งเศส โปรดพระรูปพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ทรงม้าหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์อันตั้งไว้ในลานข้างหน้าพระราชวัง ทรงปรารภว่า ถ้ามีพระบรมรูปของพระองค์ทรงม้าตั้งไว้ในสนามที่ถนนราชดำเนินต่อกับบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม จะเป็นสง่างามดีเหมือนเช่นเขามักมีกันตามประเทศต่าง ๆ ในยุโรป สืบราคาสร้างพระบรมรูปเช่นว่านั้นราวสองแสนบาท ได้ข่าวที่กล่าวมาประจวบกับเวลาที่ได้เค้าว่า มีคนยินดีถวายเงินเฉลิมพระขวัญแพร่หลาย จะได้เงินมาก ที่ประชุมเสนาบดีจึงลงมติ แล้วสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกราบทูลขอถวายพระบรมรูปทรงม้านั้นเป็นของประชาชนชาวสยามสนองพระเดชพระคุณในงานรัชมงคล ก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต จึงเกิดมีพระบรมรูปทรงม้าขึ้นด้วยประการฉะนี้ ควรกล่าวเพิ่มเติมต่อไปอีกสักหน่อยว่า เงินเฉลิมพระขวัญครั้งนั้น เมื่อจ่ายใช้ในการสร้างพระบรมรูปทรงม้าแล้ว ยังเหลือตัวเงินอยู่กว่าล้านบาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามมติเดิม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า จะเอาเงินนั้นใช้สถาปนาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดประโยชน์แก่ชาวสยามสนองคุณความกตัญญูกตเวทีที่ได้มีต่อพระองค์นั้น แต่ยังไม่ทันตกลงว่า จะทำอะไร สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงดำเนินการตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ โปรดให้ใช้เงินเฉลิมพระขวัญที่ยังเหลืออยู่นั้นตั้งมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์

เรื่องถวายพระบรมรูปทรงม้า รายการพิธี ทั้งคำที่ทูลถวาย และพระราชดำรัสตอบ มีอยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาโดยพิสดาร




หน้า ๗๐–๗๗ (๘๘–๙๕) ขึ้นลงสารบัญ



ปาฐกถา เรื่อง ประเพณีไทย
ของ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ




(องค์ปาฐกทรงแยกเรื่องประเพณีของไทยไว้เป็นห้าตอน คือ ประเพณีการเกิด ประเพณีการศึกษา ประเพณีการทำมาหากิน ประเพณีการแต่งงาน และประเพณีการตาย ในตอนหนึ่ง ๆ ได้ประทานอรรถาธิบายไว้แจ่มแจ้ง

ต่อไปนี้ คือ สำเนาปาฐกถาซึ่งพนักงานชวเลขประจำสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยได้จัดส่งมา ยังเกรงว่า จะขาดตกบกพร่องไปบ้าง ซึ่งหากเกิดมีขึ้นเช่นได้ปรารภนี้ หวังว่า จะได้รับประทานอภัยโทษจากองค์ปาฐก และได้รับอภัยจากผู้อ่านทั่วกัน)




บัดนี้ ปรากฏว่า มีผู้เอาใจใส่ต่อโบราณคดีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน พวกที่ศึกษาโบราณคดีหลายคนที่เป็นมิตรสหายของฉันได้นำความคิดความเห็นมาสอบถามซึ่งเขาอยากจะรู้และสงสัย ฉันยินดีอย่างยิ่งที่จะชี้แจงให้มิตรสหายทุก ๆ คนทราบ สิ่งไรที่รู้ก็จะบอกให้ทราบ สิ่งไรที่ไม่รู้ก็จะบอกได้ว่า ไม่รู้ แต่การที่มาถามกันทีละคนสองคนนั้นเป็นการลำบากอยู่ เพราะฉันเป็นผู้มีกิจต้องไปโน่นมานี่ ข้อความที่ต้องการรู้มีมาก ไม่มีเวลาพอที่จะชี้แจงให้เขาทราบได้

อีกสถานหนึ่งนั้น ความคิดอันเดียวกัน บางทีคนนี้มาถาม ต่อมา คนโน้นมาถาม ฉันอธิบายไปซ้ำ ๆ ซากๆ เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ ฉันได้พูดขึ้นว่า ผู้ใดอยากจะรู้ขอให้รวมกันเข้า ฉันอยากจะชี้แจง จงนัดพร้อมกัน ถ้ามีจำนวนมาก แสดงปาฐกถาให้ฟังก็ได้ หรือถ้ามีผู้ใคร่รู้สี่ห้าคน มาพร้อมกันที่บ้านฉันก็ได้ เมื่อได้บอกมิตรไปเช่นนี้แล้ว ในเวลาไม่ช้านัก ก็ได้รับคำแจ้งความว่า มีผู้อยากฟังจำนวนสี่สิบคนเศษ ฉันได้ตอบไปว่า ถ้าเช่นนั้นไปหาที่ฟังเป็นปาฐกถา ที่แสดงมีอยู่สองแห่ง คือ ที่พิพิธภัณฑ์ และที่หอพระสมุด ที่พิพิธภัณฑ์วันอาทิตย์เปิดให้มหาชนชม จึงตกลงกันให้มาฟังที่หอพระสมุด ปาฐกถาที่จะแสดงวันนี้เกิดจากมีมิตรอยากฟังเรื่อง "ประเพณีไทย" ก่อนที่จะแสดงจำต้องบอกก่อนว่า เกิดมาเป็นคน ท่านทั้งหลายก็ตาม ตัวฉันก็ตาม ไม่มีความรู้มาแต่กำเนิด สิ่งไรที่รู้ก็จะชี้แจงให้ฟัง สิ่งไรที่ผิดพลาดไปบ้างก็จงอภัย

คดีธรรมก็ตาม คดีโลกก็ตาม ใครรู้ทั้งหมดพ้นวิสัย ฉันเป็นผู้เริ่มศึกษาโบราณคดีมาชำนาญและจนมีอายุมากกว่าท่านทั้งหลายที่อยู่ในที่นี้ เว้นแต่พระยาสิงหาเสนี ขอท่านอย่าเข้าใจผิด ฉันอยากกล่าวในทางโลกว่า เวลานี้เป็นกลางวัน ก็ไม่มีผู้ใดเถียง จึงเป็นอันถูกต้อง หรือว่าด้วยโบราณคดี กรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นผู้สร้าง ก็ไม่มีใครเถียงได้ ก็เมื่อผู้ศึกษาโบราณคดีก็ดี ฉันก็ดี สิ่งที่ไม่รู้มีมากอยู่ ถือตัวว่าเป็นผู้รู้รอบแล้ว ก็เป็นการเข้าใจผิดทั้งสิ้น สิ่งไรที่เรารู้น้อยควรศึกษาหาเหตุผลเพิ่มพูน ความรู้ของเราจะเจริญขึ้นเสมอ ถ้าเรารู้สึกใจว่า รู้พอแล้ว ไม่ต้องพอกพูนอีก นี่ก็คือทางหายนะเท่านั้น ท่านทั้งหลายถ้าประพฤติดังนี้แล้วต้องเสื่อมเป็นแน่ การแต่งหนังสือก็ดี เราควรสังเกตตัวเราเองได้ บทใดไม่ดี เราสังเกตหาเหตุผลหรือปรึกษาผู้รอบรู้ ความคิดความอ่านเราจะกว้างขวางขึ้นอีก สำหรับนักโบราณคดี ถ้าจะเล่นต้องจำไว้ สิ่งที่ร้ายที่สุดนั้นก็คือ ไม่รู้บอกว่ารู้ ทำให้คนทั้งหลายที่พยายามศึกษาเสียไปด้วย หลักของเรื่องโบราณคดีคัดเอาแต่ใจความแล้วจำใส่ใจไว้ให้แม่นยำ จะได้เป็นหลักวินิจฉัยต่อไป

จะยกอุทาหรณ์ปัญหาให้ฟักสักเรื่องหนึ่ง การค้นคว้าของฉัน ค้นมาตั้งสามสิบปี พึ่งได้หลักฐานอันแน่นอนเมื่อเย็นวานนี้เอง ท่านทั้งหลายเคยไปเที่ยวที่พระปฐมเจดีย์ของไทยเรา จังหวัดนครปฐม คงจะได้เห็นศิลาที่มีรอยเจาะบนพระปฐมเจดีย์มีมาก ฉันสงสัย นี่เป็นอะไร มีแต่รอยเจาะไว้ จึงนึกปลงใจว่า เขาคงใช้เชือกผูกร้อยเอามาจากลพบุรีเพื่อสะกวดแก่การขนกระมัง เมื่อครั้งศาสตราจารย์เซเดส์อยู่ด้วยกัน เคยไปเที่ยวด้วยกัน ฉันได้ถามเซเดส์ เซเดส์ตอบไม่ได้ ต่อมาจนเซเดส์กลับไปเมืองญวน เห็นที่วัดมีระฆังทำด้วยหินใช้ตีดัง เซเดส์จึงตอบมาว่า หินที่เจาะรูเป็นระฆังกระมัง ฉันได้ส่งหลวงบริบาลออกไปเอามาสงวนไว้ในพิพิธภัณฑสถานของเรา ทำไมฉันจึงส่งหลวงบริบาลไปเอามา ก็เพราะเห็นเป็นของแปลก และอยากค้นหาเหตุผลต่อไป ต่อเมื่อเย็นวานนี้เอง หลวงบริบาลเอาไม้ตีมีเสียงดังเป็นระฆัง หินเจาะรูค้นมาสามสิบปีพึ่งได้ความรู้ เมื่อเราเห็นสิ่งที่ควรสังเกต เราควรสังเกตให้มาก ที่จริงเป็นของสนุกมาก เหมือนคิดหมากรุกกล แต่นี่เป็นของโลก สนุกดีทีเดียว เมื่อภายหลังเราพบของจริงเข้าจะยินดีที่สุด เราควรเล่น เพราะเป็นการเล่นของนักโบราณคดี ความยินดีของเราจะบังเกิดขึ้นเอง

เรื่องประเพณีไทยที่จริงฉันเสียเปรียบอยู่หน่อย ถ้าบอกให้รู้ตัวแต่เนิ่น ๆ ก็จะได้มีเวลาเที่ยวค้นคว้าให้มากกว่านี้อีก เอาเพียงเท่าที่รู้ก็แล้วกัน แต่อาจจะขาดตกบกพร่องได้ ประเพณีแบ่งได้สามชนิด คือ ประเพณีส่วนตัวบุคคล ประเพณีส่วนประชุมชน ประเพณีส่วนรัฐบาล ที่เรียกว่า ประเพณี ก็คือ คนทั้งหลายทำตาม ๆ กันมา คนแต่ก่อนเคยทำอย่างไร คนต่อมาก็ทำอย่างนั้น ประเพณีส่วนตัวบุคคลที่ประพฤติกันอยู่ก่อน ก็คือ ผู้ชายต้องใส่เสื้อราชปะแตน จนบัดนี้ก็ยังปรากฏอยู่ ที่จริงเราก็มิได้คิดเช่นนั้น แต่เป็นประเพณีอย่างนี้ อีกอย่างหนึ่ง ประเพณีส่วนประชุมชน เช่น ทอดกฐิน และผ้าป่า เป็นงานที่เคยทำพร้อมกันมา อีกอย่างหนึ่ง ประเพณีส่วนรัฐบาล เช่น พิธีโล้ชิงช้า เป็นต้น แต่จะแสดงให้ฟังทั้งสามหมวดวันนี้ไม่ได้ เวลาไม่พอ ฉันจะยกขึ้นแสดงแต่ประเพณีเฉพาะส่วนตัวบุคคลของไทยเรา ประเพณีของไทยเราจะสังเกตได้จากพงศาวดารซึ่งท่านทั้งหลายรู้แล้วว่า ไทยได้อพยพครอบครัวมาจากทางเหนือ เมื่อเดิมอยู่เมืองจีน ภายหลังไทยมีอำนาจ ตั้งผู้ปกครอง ยกมาทางใต้ อยู่ปะปนกับชาวต่างประเทศ เช่น ขอม เขาได้ปกครองอยู่ก่อน เราเอาแบบมาประพฤติตาม บางทีจีนนำมา เราประพฤติก็มี

คราวนี้ จะกล่าวแต่หลักของประเพณีที่เกิดขึ้นในส่วนตัวของบุคคล จัดเป็นห้าประเภท คือ ประเพณีเนื่องในการศึกษา หนึ่ง ประเพณีเนื่องในการอาชีพ หนึ่ง ประเพณีเนื่องในการมรณะ หนึ่ง ประเพณีเนื่องในการแต่งงาน หนึ่ง ประเพณีเนื่องในการเกิด หนึ่ง

การเกิด ถึงแม้ว่าสัตว์เดียรัจฉาน ก็รักลูกเป็นธรรมดา เมื่อเกิดมาแล้วอยากจะเลี้ยงต่อไป ไม่อยากให้เป็นอันตราย นี่เป็นธรรมดาของสัตว์ คนเราในเวลาเกิด มีความวิตกและความยินดีของพ่อแม่เท่ากัน เมื่อเกิดมาแล้วก็ช่วยกันแก้ไขอย่างดีที่สุด สมัยนี้ การอนามัยดีถึงที่สุด เด็กที่เกิดมาไม่ได้รับอันตราย เพราะมีผู้ศึกษาค้นคว้าหาเหตุผล ในสมัยโบราณ ต้นของประเพณีการคลอดบุตร มารดาใกล้ต่ออันตราย แม่ ๆ ของเด็กและตัวของเด็กที่ตายไปก็มาก จึงเป็นเรื่องกลัวกันนัก ไม่อยากมีลูก คลอดบุตรครั้งหนึ่งเรียกกันว่า ออกทัพครั้งหนึ่ง เมื่อไม่เป็นอันตรายก็บุญกุศล แต่โบราณสิ่งไรอันเกิดด้วยเหตุสุดวิสัยมักโทษผีปิศาจ ในเมื่อเวลาตายลง เด็กที่เกิดมาไม่ควรตายก็ตาย คนโบราณเชื่อว่า ผีเอาไป คิดจัดการป้องกันอย่างสำคัญ ถือว่า ประเพณีการเกิดเป็นของประหลาดหนักหนา ท่านทั้งหลายที่เคยไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์คงเห็นตุ๊กตาชำรุดทรุดโทรมมีมาก ฉันเห็นว่า มันมีประโยชน์เป็นความรู้แก่ชนชั้นหลัง จึงเอามาไว้ ตุ๊กตาเหล่านี้หาคอดีไม่ได้ คอหักทั้งนั้น ฉันไปพบที่สวรรคโลกกับเซเดส์ด้วยกัน ฉันถามเซเดส์ เซเดส์ก็เห็นไปต่าง ๆ ฉันว่า ชะรอยตุ๊กตาเสียกบาลกระมัง ไม่มีหัว มีแต่ตัว เซเดส์ถามว่า เป็นพิธีอะไรกันจึงได้ทำอย่างนี้ แต่ก่อนที่บ้านฉันถึงเวลาขึ้นปีใหม่เดือนใหม่ แม่เคยนำเอาดินมาปั้นเป็นตุ๊กตาเล็ก ๆ แล้วมีข้าวตอกดอกไม้ไปวางไว้ที่หนทางสามแพร่ง เป็นการสะเดาะเคราะห์ เซเดส์เขาแปลว่า เสียกบาล ก็คือ เสียหัว นั่นเอง คือ ต่อยให้คอหัก คนโบราณเวลาออกลูก ซื้อตุ๊กตามาทำพิธี แล้วบอกว่า ให้แก่ผี นอกจากนี้ มีพิธีประกอบอีกหลายอย่าง เช่น เมื่อเด็กออกแล้ว เอาใส่กระด้งร่อนเร่ แล้วกล่าวว่า "สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครรับไปเน้อ" แล้วก็เอาเบี้ยมาซื้อ เรียกว่า แม่ซื้อ วิธีนี้เป็นวิธีกันผีอีกเหมือนกัน ใช่แต่เท่านั้น ยังให้ชื่อถึงสองชื่อ ชื่อเมื่อเด็ก ๆ ชื่อหนึ่ง ชื่อเขียด อึ่ง บึ้ง โตขึ้นได้อีกชื่อหนึ่ง นี่พบทางเชียงใหม่ สิ่งเหล่านี้เพื่อให้ผีเกลียด เนื่องจากความรักลูกถนอมลูก ไม่รู้ว่า ผีมันมีจริงหรืออย่างไร ทำตามกันมาอย่างนั้น นอกจากนี้ สามวันยังมีพิธีทำขวัญกันอีก ถ้าจะว่าไปแล้ว พิธีการเกิดย่อมทำด้วยความรักเป็นประมาณ

คราวนี้ว่าด้วยการศึกษา โลกเขาแบ่งเป็นสี่ประเภท เรียกว่า ขนาดอุ้ม ขนาดจูง ขนาดแล่น ขนาดรุ่น ฉันเอาหลักนี้มาสันนิษฐานประกอบเข้ากับการศึกษา เด็กที่เรียกอุ้มนั้นสันนิษฐานว่า ตั้งแต่เกิดมาจนมีอายุได้สามขวบ ขนาดจูงนั้นตั้งแต่สี่ขวบถึงเจ็ดขวบ ซึ่งจะไปไหนยังไปตามลำพังไม่ได้ ต้องมีคนคอยจูง ต่อนั้นขึ้นไปถึงชั้นแล่น เด็กที่เป็นขนาดแล่น ผู้ชายอายุแปดปีจนถึงสิบสามปี ผู้หญิงตั้งแต่แปดปีจนถึงสิบเอ็ดปี ชั้นที่สี่เป็นชั้นผู้ใหญ่ หมายความว่า ถึงขนาดรุ่นรู้เดียงสา นับเด็กผู้ชายตั้งแต่อายุสิบสามปี เด็กผู้หญิงตั้งแต่สิบเอ็ดปี คนโบราณเมื่อโกนผมไฟแล้วมักจะเอาไว้จุก และเคยทำพิธีกันใหญ่โต คนหลัง ๆ ก็ประพฤติตามกันมาจนบัดนี้ จึงได้เกิดมีความสงสัยกันขึ้นด้วยเรื่องไว้จุกต้นเดิมมาจากไหน ฉันสันนิษฐานได้ทำไมจึงไว้จุก คือว่า จะได้เป็นเครื่องหมายแสดงให้ปรากฏในที่ชุมนุมชนทั้งหลายว่าเป็นเด็กแล้วเท่านั้น เมื่อเข้าที่ชุมนุม ผู้ใหญ่จะได้มีความเมตตาอุปการะให้ความเสมอภาคตามสมควรแก่เด็ก ต่อเมื่ออายุย่างเข้าเขตเดียงสา พ่อ แม่ ชวด ตาของเราก็จัดการโกนจุก มีพิธีรีตองกันอีก เพื่อให้พ้นจากเขตเดียงสา บรรดาประเพณีทุกอย่างตั้งขึ้นด้วยความดีทั้งนั้น เพราะฉะนั้น คนชั้นหลังจึงได้ประพฤติตาม เมื่อมีคนทำตามแล้ว ต้องเกิดขึ้นด้วยความยินดี เด็กขนาดอุ้มและจูงเป็นหน้าที่ของแม่ฝึกหัดสั่งสอน จะดีหรือชั่วแล้วแต่แม่ นักปราชญ์ท่านจึงกล่าวยกย่องว่า "แม่เป็นศาสตราจารย์ผู้ประเสริฐ" แม่จึงเป็นเจ้าหนี้เราอยู่มาก ครั้นถึงขนาดรุ่นและแล่น อายุตั้งแต่แปดขวบขึ้นไป ผู้ชายเป็นส่วนของพ่อ ผู้หญิงเป็นส่วนของแม่ ผู้ชายช่วยพ่อแม่ทำสวนทำนาค้าขายเป็นการอาชีพ ผู้หญิงอยู่กับบ้านฝึกหัดตัวเป็นแม่เรือนหุงต้มปฏิบัติกิจการทางบ้าน ผู้ชายบางคนพ่อเอาไปฝากวัดถวายพระ การเอาไปถวายพระก็เพื่อให้ทำการแทนในหน้าที่ลูกศิษย์ จะสังเกตได้ว่า เด็กมักจะเรียกพระว่า หลวงพ่อ คือ นับถือว่า พ่อของตัวจริง ๆ การที่ให้พระเป็นผู้ฝึกหัดอบรมสั่งสอนนั้นมีประโยชน์ทั้งพ่อแม่และตัวเด็กหลายอย่าง เพราะพระเป็นผู้มีเวลามาก จึงได้มีประเพณีมาจนกระทั่งบัดนี้ ต่อจากนั้น พ่อแม่เมื่อมีสติปัญญาก็เอาลูกไปฝากทำการงาน การฝากวัดเป็นของจำเป็นเหมือนกัน การนำลูกเข้าฝากวัดเปรียบเหมือนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ได้เรียนรู้การสมาคมกับผู้อื่น และได้เล่าเรียนท่องธรรมปฏิบัติสำหรับตัวด้วย แต่ก่อนมาถือกันว่า ฝากพระเหมือนเข้าอยู่ในยูนิเวอซิตีแห่งสยาม เมื่อเติบโตอายุเข้าเขตบวช พระหรือพ่อแม่ก็จัดการบวชให้ การบวชเป็นของสำคัญนักสำหรับคนไทยเรา การบวชเป็นวิธีรักษาตัวให้อิสระต่อไปภายหน้า ทุกวันนี้ การบวชก็ยังแพร่หลายอยู่ น่าชมเชย สำหรับตัวฉันเองได้ใช้ความรู้ในการบวชมาจนทุกวันนี้ คนที่ทำราชการบางเวลาใจคอให้ลุ่มหลงไปในทางกิเลสตัณหา แต่เมื่อหวนคิดในทางธรรมก็คิดได้ยับยั้งชั่งใจได้ กระนั้นก็ดี เมื่อถึงเวลามีเมีย ฝ่ายหญิงเขามักจะถามว่า บวชเรียนแล้วหรือยัง นี่เราจะเห็นได้ว่า ส่วนศึกษาสำคัญที่สุดแห่งเดียว ก็คือ บวชพระ

การแต่งงานประเพณีไทยเราดีมาก ปล่อยให้ผู้หญิงเป็นอิสระมาแต่โบราณ คือ ไม่เก็บตัวดังเช่นหญิงแขก ผู้ชายที่รักผู้หญิงบางคนมักจะพาเพื่อนไปดูที่บ้านเจ้าสาว แล้วทำความรู้จักมักคุ้นกันเสียก่อนจึงแต่งงาน วิธีนี้ดีมาก เพราะเป็นชีวิตของเขาต่อไปภายหน้า เป็นการดีกว่าที่เรียกว่า "คลุมถุงชน" คือ ทั้งฝ่ายชายและหญิงไม่เคยรู้จักสนทนากันเลย ฝ่ายผู้ปกครองนับถือรักใคร่กันก็จัดการแต่งงานให้ ดังนี้ เป็นการทำลายชีวิตในอนาคต การแต่งงานมีอยู่สองชนิด เรียกวา อาวาหมงคล หนึ่ง วิวาหมงคล หนึ่ง อธิบายกันง่าย ๆ ก็คือ อาวาหมงคล ผู้หญิงต้องไปแต่งงานที่บ้านผู้ชาย วิวาหมงคล คือ ผู้ชายต้องไปแต่งงานที่บ้านผู้หญิง พูดถึงเรื่องการแต่งงาน บางทีจะไม่เป็นที่พอใจแก่คนทั้งหลายมากอยู่ ตามที่ได้สังเกตเห็นทุกวันนี้ เจ้าภาพทำการผิดมาก เมื่อมีการแต่งงาน ผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายชายและหญิงมักจะเชิญแขกไปรดน้ำเป็นจำนวนมาก งานใครมีผู้คนไปรดน้ำมากดูเป็นการหรู ใครคิดบ้างว่า เจ้าสาวเขาจะนึกอย่างไร การเชิญแขกรดน้ำแต่งงานเกิดจากการหลงยศข้างผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย กิจที่พอจะเห็นได้ ผู้ที่ไปรดน้ำมักจะเป็นผู้มีอำนาจและมีเกียรติ การเชิญแขกไปรดน้ำเป็นการไถลออกไปนอกประเพณี ตามประเพณีเดิมเขาเชิญเฉพาะผู้ปกครองและผู้รับถือของบ่าวสาวไปรดน้ำเพื่อให้รู้เห็นเป็นพยานในการที่ได้เป็นสามีภรรยากันเท่านั้น บุคคลชายหญิงเมื่อแต่งงานแล้วก็เป็นอิสระ จะไปอยู่แห่งใดก็ได้ ออกจากอกพ่อแม่

กล่าวถึงประเพณีอาชีพ การทำพานทำขันอย่างที่บ้านหล่อทำกันอยู่ทุกวันนี้ และการทำนาทำสวน เป็นประเพณีของเรามาแต่เดิม ฯลฯ ฉันอยากจะเล่าเรื่องให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง ได้พบที่มณฑลนครศรีธรรมราช หมู่บ้านหนึ่งมีเรือนสักหนึ่งพันหลัง ทั้งบ้านจะหาใครมีเงินถึงสองร้อยบาทไม่มี แต่หาคนจนก็ไม่มี ผู้ชายทำสวน ผู้หญิงช่วยทำงานบ้าน ฉันสอบถามได้ความว่า สินค้าที่ทำมาหาได้ก็ไปแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องนุ่งห่มบ้าง เครื่องใช้บ้าง เครื่องบริโภคบ้าง แล้วก็มาสู่กันกินสู่กันใช้ ไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน ตั้งหน้าทำมาหากิน การปกครองเขาปกครองกันเป็นครัวเรือน

คราวนี้ จะกล่าวถึงความมรณะ ธรรมดาการตายจะเอาซากศพไว้ไม่ได้ ฉันได้อ่านพบในหนังสือของเซอฮารีฟสิงห์ นักปราชญ์อินเดีย ว่า ที่ตายแล้วต้องรีบเอาไปฝัง พวกที่ถือทางพุทธเห็นว่า วิญญาณอาศัยรูป ร่างกายเป็นของไม่มีประโยชน์ พวกถืออย่างนี้จึงเอาศพไปเผา คราวนี้ ติกันว่า การเผาศพเป็นขมาผู้ตาย คนที่ไม่รู้เมื่อตายแล้วก็ไม่ควรไปเผาเพราะไม่มีกิจที่จะขมากัน ถ้าผู้นั้นเป็นศัตรูควรไปเผาอย่างยิ่ง ที่จริงเมื่อเวลาเผา เจ้าภาพควรบอกให้รู้เท่านั้นว่า ศพคนนั้นจะเผาวันนั้น เขาจะไปเผาหรือไม่เป็นธุระของเขา และยังติต่อไปอีกว่า ผู้เผาต้องเอาธูปเทียนไปเอง เพราะตั้งใจไปขมาศพ เจ้าภาพไม่ควรตั้งธูปเทียนไว้ให้สำหรับผู้ไปเผา ในเมื่อเวลาใส่ธูปเทียนต้องตั้งใจอธิษฐานขอขมาอภัยต่อผู้ตายได้ล่วงเกินอะไรบ้าง กระทำอย่างนี้จึงจะนับว่า เป็นการถูกต้อง




หน้า ๗๐–๘๒ (๙๖–๑๐๐) ขึ้นลงสารบัญ



การอำนวยพร




ประเพณีที่เรียกกันว่า "ให้พร" หรือ "อำนวยพร" นี้ ตามความที่ปรากฏในมัชฌิมประเทศแต่โบราณต่อมา เป็นการยอมให้พรมีรูปมีร่าง หรือที่ให้กันได้จริง ๆ จึงเป็นให้พร เหมือนหนึ่งเราชอบใจใคร เราบอกแก่เขาว่า เราจะให้พรแก่เขา ดังนี้ สิ่งของบรรดาที่เรามี หรือการสิ่งใดบรรดาที่เราจะทำให้แก่เขาได้ ถ้าเขาจะชอบสิ่งใดหรือต้องการอย่างใด เราก็เป็นต้องให้สิ่งนั้นแก่เขาตามขอ จึงเป็นให้พร มีตัวอย่างที่ปรากฏมาในพระเวสสันดรชาดก พระอินท์ยอมให้พรแก่นางผุสดีซึ่งจะต้องจุติมาเกิดในมนุษยโลก นางก็ขอพรสิบประการ คือ ให้คิ้วดำ ตาดำ เป็นต้น พระอินทร์ก็ต้องเป็นธุระให้สมประสงค์ อนึ่ง เมื่อพระอินทร์จำแลงเป็นพราหมณ์มาขอนางมัทรีต่อพระเวสสันดรในกัณฑ์สักบรรพ ก็ย่อมให้พระเวสสันดรขอพร และต้องจัดให้ได้ตามประสงค์ทุกประการ ยังตัวอย่างที่มาในเรื่องนารายณ์สิบปางและเรื่องรามเกียรติ์ก็มีหลายแห่ง คือ ที่ยักษ์อะไรต่ออะไรไปเผาตัวย่างกายให้พระอิศวรชอบพระทัยจนยอมประทาน "พร" ยักษ์เหล่านั้นก็เลือกขอฤทธิ์ขอเดชต่าง ๆ แล้วไปเที่ยวเกะกะ จนพระผู้เป็นเจ้าต้องโกลาหลกันทุกคราว จนที่สุดเมื่อครั้งทศกัณฐ์ยกเขาพระสุเมรุให้ตรงขึ้น ได้ประทานพรคราวนั้น ทศกัณฐ์ขอพระอุมา ก็ต้องประทาน หากพระนารายณ์ลงมาแก้ไข จึงได้พระอุมาคืนขึ้นไป การที่ให้พรตามประเพณีในมัชฌิมประเทศแต่โบราณเป็นดังนี้ การให้พรก็ย่อมเป็นการสำคัญและเป็นรางวัลอันวิเศษที่ผู้หนึ่งจะให้แก่ผู้ใดได้ เพราะเสมอตีแผ่บัญชีทุนทรัพย์ให้เขาเลือกทีเดียว ถ้าผู้รับพร เช่น ทศกัณฐ์ ไม่มีกัลยาณธรรม ก็อาจจะเรียกพรอย่างเจ็บแสบได้ ประเพณีให้พรกันเช่นนั้น เมื่อคนทั้งหลายมีความรู้ความคิดมากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเสื่อมและน้อยลงมาทุกที จนถึงเป็นให้พรกันตามธรรมดาใช้อยู่เดี๋ยวนี้ คือ ให้ด้วยวาจาว่า "ขอให้มีความสุขและมีความเจริญเถิด" ดังนี้เป็นต้น

ก็และประเพณีที่บุคคลฝ่ายหนึ่งกล่าวด้วยวาจาว่า ขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งมีความสุขมีความเจริญ ที่เรียกกันว่า "ให้พร" นี้ มีเป็นประเพณีแทบทุกชาติทุกภาษา ต่างกันแต่โดยลัทธิศาสนาต่าง ๆ ในพวกที่นับถือว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก คอยประทานคุณและโทษแก่มนุษย์อยู่ตามพอพระทัยของพระองค์ เมื่อประสงค์จะให้พรแก่กันก็ย่อมกล่าวว่า "ขอให้พระเจ้าประทานสุขเถิด" เช่นนี้เป็นใจความ ฝ่ายพวกที่เชื่อถือเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ว่า เทพดาทั้งหลายองค์เดียวหรือหลายองค์อาจจะให้ความสุขความทุกข์แก่มนุษย์คนใดได้ตามปรารถนา ก็ใช้ถ้อยคำว่า "ขอให้เทวาอารักษ์คุ้มครองรักษา" เช่นนี้เป็นพรบ้างก็มี บางคนไม่กล่าววิงวอนพระเป็นเจ้าหรือเทวดา เป็นแต่อำนวยพรโดยวาจาเป็นกลาง ๆ ว่า "อยู่ดีกินดีเถิด" บ้าง "ขอให้อยู่เย็นเป็นสุขเถิด" ดังนี้เป็นต้น เป็นคำพรก็มีมาก

ประเพณีให้พร ถึงว่าต่างกันโดยวิธีดังกล่าวมานี้ ก็นับได้ว่า เป็นประเพณีที่ชอบใช้กัน คือ มีผู้ชอบอำนวยและมีผู้รับด้วยความนิยมยินดีอยู่ทั่วทั้งโลก

แต่เมื่อลองคิดดูตามที่ได้ที่เสียกันเป็นเนื้อเป็นหนัง ในการให้พรอย่างทุกวันนี้ ถ้าจะตั้งคำถามว่า "การที่ให้พรนั้น ผู้ให้ให้อะไร? ผู้รับพรได้รับอะไร?" ดังนี้ ก็ยากที่จะตอบให้หมดทางสงสัยได้ เพราะถึงจะไม่ต้องกล่าวคัดค้านถึงศาสนาลัทธิอันใด ก็พอจะเห็นได้ว่า "พร" ตามอย่างที่ให้กันนี้ ผู้ใดจะให้ใครก็ได้ ใครเคยให้ทานยายแก่ ก็ย่อมได้พรของยายตั้งกระบุง จะให้เท่าใดพรก็ไม่รู้จักหมด ไม่ต้องลงทุนลงรอนก็มีพรให้เขาได้ถมไป เพราะพรเป็นสักแต่วาจาที่กล่าว ไม่มีรูปมีร่าง ผู้รับพรนั้นก็ได้รับแต่ลม ยินดีด้วยลมเท่านั้น ถ้าเช่นนี้ จะควรว่า "พร" ไม่มีในการให้ และการให้พรไม่มีคุณอันใดหรือ? ข้าพเจ้าได้ดำริในเรื่องนี้เห็นว่า "พร" เหมือนกับ "บุญ" มีอย่าง มีชนิด คนชนิดหนึ่งก็ให้พรได้แต่ชนิดอันสมควรแก่ตน และต้องให้ให้ถูกต้อง จึงจะเป็นพร และถ้าให้ให้ถูกต้องแล้ว ผู้รับก็ได้รับพรตามที่ให้ด้วย

ความที่ว่านี้จะต้องอธิบายให้ชัดเจนสักหน่อย ลักษณะการให้พรนั้น ผู้ใดให้แก่ผู้ใดก็ตาม นับแต่ยายแก่ขอทานให้เมื่อได้ข้าวสารขึ้นไป ก็ย่อมให้ด้วยความยินดี ข้างผู้รับพรก็รับด้วยความยินดี พอจัดว่า ให้พรและรับพรโดย "มีความยินดีต่อกัน" ข้อนี้ไม่ต้องคัดค้าน ก็ความยินดีที่เกิดต่อกันในเวลาเมื่อให้พรและรับพรนี้ จะว่า ควรยินดีต่อกันด้วยความเข้าใจอย่างไร? ว่าแต่ตามที่ควรจะเป็น ผู้ให้พรย่อมมีความยินดี เพราะผู้อีกฝ่ายหนึ่งได้กระทำความดีต่อตน เช่น ยายแก่ได้รับทานของทายก จึงให้พร หรืออีกอย่างหนึ่ง ผู้ให้พรมีความรักใคร่หมายจะให้อีกฝ่ายหนึ่งได้สุข เช่น บิดามารดาให้พรบุตร นี่จัดเป็นความยินดีของฝ่ายให้พร ข้างฝ่ายผู้รับพรนั้นก็ยินดีที่ได้กระทำคุณแก่เขา และรู้ว่า เขายอมรับว่า เป็นคุณแก่เขาจริง ประการหนึ่ง หรือมิฉะนั้น ยินดีด้วยรู้ว่า ผู้นั้นเขามีไมตรีจิตต่อตน ประการหนึ่ง ความยินดีควรมีต่อกันด้วยความเข้าใจอย่างว่ามานี้ ที่จะเข้าใจว่า คำให้พรจะได้จริงดังปากกว่า เป็นต้นว่า พระเป็นเจ้าจะประทานความสุขให้ดังเขาขอ หรือเทวดาอารักษ์จะคุ้มครองตามถ้อยคำเขา หรืออายุจะยืนอยู่ถึงหนึ่งหมื่นปีอย่างเขาว่า เป็นการยินดีเหลิงไปทั้งสิ้น เพราะใครบังคับพระเจ้าได้? ใครเป็นที่ปรึกษาของเทวดา? อายุใครถึงหมื่นปี? ถึงคำให้พรอย่างอื่น ๆ ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่มีได้เองแล้ว จะไปเป่าไปเสกให้อย่างไร

เพราะอย่างนี้ เมื่อว่าแต่โดยย่อ การให้พอต่อกันต้องประกอบพร้อมด้วยความยินดีต่อกัน คือ ให้เมื่อมีไมตรีจิตต่อกันทั้งสองฝ่าย จึงเป็นพร เป็นองค์ของพรโดยสาธารณะทั่วไป

ถึงการที่ให้พรโดยมีไมตรีจิตเป็นพรดังว่านี้ ก็ให้ได้เป็นชนิด เป็นชั้น เป็นลำดับกันอีกหลายอย่าง ต่างกันด้วยใจที่เจตนาจะให้พรเป็นต้น วาจาที่กล่าวพร และประพฤติตัวตามพรเป็นที่สุด จะยกตัวอย่างเหมือนเช่นเราไปรดน้ำทำขวัญเด็กโกนจุก เด็กนั้นก็ไม่ได้ทำบุญคุณแก่เราอย่างใด เด็กนั้นจะดีชั่วอย่างใดเราก็ไม่รู้ ใจเราตั้งเป็นกลาง ๆ ไปโดยคำเชื้อเชิญตามญาติเขา ให้พรก็กล่าวแต่ตามที่จะนึกได้ ตามแบบที่เขาให้พรกันเช่นนี้ก็เป็นไมตรีจิต แต่เป็นพรอย่างต่ำ

อีกอย่างหนึ่ง เหมือนหนึ่งนายมีบ่าวมาก แผ่เผื่อเจือจานเลี้ยงดูอยู่เสมอ ถ้าบ่าวคนใดซื่อตรงจงรักรับใช้ได้การงาน นายก็ให้รางวัลตามสมควรโดยความยินดี บ่าวเมื่อได้รับรางวัลแล้ว ถ้ายิ่งจงรักภักดีต่อนาย และรับใช้การงานของนายให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ฉะนี้ ถึงบ่าวนั้นจะไม่ได้ปริปากอำนวยพรให้พระผู้เป็นเจ้าประทานสุขแก่นาย หรือขอให้เทวดาคุ้มครองนาย หรือขออะไรต่ออะไรให้ได้แก่นายเลย ก็เป็นอันให้พรนายดีกว่าอย่างที่เราให้พรเด็กที่ไปรดน้ำทำขวัญ และนายย่อมได้รับผลดีกว่าเด็กนั้นได้รับพรของเรามาก

เพราะฉะนั้น การที่จะให้พร ถ้าจะให้เป็นอย่างสามัญ ให้อย่างเมื่อรดน้ำทำขวัญเด็กก็ได้ หรือให้อย่างยายแก่แกให้ก็ได้ แต่ถ้าจะให้เป็นพรอย่างวิเศษ คือ ถ้าผู้ซึ่งจะรับพรเป็นผู้ปกครองเรา ก็ต้องตั้งใจจงรักภักดีซื่อตรงต่อท่านผู้นั้น ถ้าผู้จะรับพรเป็นผู้เสมอด้วยเรา ก็ต้องรักใคร่ผูกพันด้วยความดี ถ้าหากเป็นผู้ต่ำกว่าเรา ก็ต้องเมตตากรุณาไม่รังเกียจเดียดฉันท์ ส่วนวาจานั้นไม่ต้องกล่าวให้ยืดยาว ความจริงย่อมเป็นของประเสริฐ ไม่มีลำดับขั้นว่า จริงมาก จริงน้อย และวาจาที่ดีทั้งปวงก็เหมือนกัน ไม่ต้องกล่าว ถ้ากล่าวคำดีแล้วก็เป็นพรทั้งสิ้น ส่วนความประพฤตินั้นเล่า ก็ต้องอุตส่าห์รับใช้สอยและทำกิจการที่จะเป็นความดีแก่ท่านโดยมิได้คิดย่อหย่อน หรือสงเคราะห์กิจธุระและช่วยป้องกันความทุกข์ หรือแม้แต่สงเคราะห์ไม่มีทุกข์เท่านั้นก็เป็นลำดับชั้นลงมาตามควร พรถ้าจะให้โดยอย่างวิเศษ ต้องให้โดยประกอบกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมดังว่ามานี้ พรอย่างอธิบายมานี้ที่ข้าพเจ้าว่า "พรมี" และ "ให้พรย่อมมีคุณ"

เรื่องการอำนวยพรนี้ ได้ดำริเห็นมานานแล้ว ยังหาได้เรียบเรียงลงเป็นหนังสือไม่ สมัยนี้เป็นมงคลฤกษ์เฉลิมพระชนมพรรษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นคราวชาวเราเคยถวายชัยมงคลมาทุกปี และกรรมสัมปาทิกสภาได้จัดให้มีหนังสือวชิรญาณวิเศษลงพิมพ์เฉพาะเพื่อนักษัตรฤกษ์นี้ด้วยฉบับหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสเรียบเรียงส่งลงพิมพ์ตามความซึ่งคิดเห็นมาดังนี้


(ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓)




หน้า ๘๒ (๑๐๐) ขึ้นสารบัญ






พิมพ์ที่กองการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล นายสงวน จันทรสาขา ผู้พิมพ์โฆษณา ๒๕๐๐






เชิงอรรถ[แก้ไข]

เชิงอรรถดั้งเดิม
  1. ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงฟังปาฐกถาด้วย
เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ

"อมุรา" คือ อามูร์ (Amur) หรือเฮย์หลงเจียง (黑龙江, Hēilóng Jiāng; "แม่น้ำมังกรดำ")

"ติคริส" คือ ไทกริส (Tigris)

"กาหลิฟ" (Caliph) คือ "เคาะลีฟะฮ์" (خليفة, kalīfah) หมายถึง ประมุขรัฐอิสลาม

"อุมา" คือ อุมัร บุตรคอฏฏอบ (عمر بن الخطاب, Umar ibn Al-Khattāb; Umar Son of Al-Khattab)

"ดองยวง" คือ ดองฌวง (Don Juan) "ดอง" เป็นคำนำหน้าชื่อ และดองยวงในที่นี้ คือ ฌูเอาที่ ๑ (João I) ตามสำเนียงโปรตุเกส หรือจอห์นที่ ๑ (John I) ตามสำเนียงอังกฤษ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์อาวีซ (House of Aviz)

"ดองเฮนริก" คือ ดองเอ็งรีกี (Don Henrique) "ดอง" เป็นคำนำหน้าชื่อ และดองเฮนริกเป็นที่รู้จักในชื่อ "เอนรีเกราชนาวิก" (Henry the Navigator)

"อาชญา" ปัจจุบันเรียก "สารตรา" (bull) หรือชื่อเต็มว่า "สารตราพระสันตะปาปา" (papal bull)

"เวอเด" คือ เวอร์เด (Verde) หรือชื่อเต็มว่า "กาโบเวอร์เด" (Cabo Verde) ตามสำเนียงโปรตุเกส หรือ "เคปเวิร์ด" (Cape Verde) ตามสำเนียงอังกฤษ

"บาโทโลมิวเดอดายส์" คือ บาร์ตูลูเมว ดีอัซ (Bartolomeu Dias)

"เยนัว" คือ เจนัว (Genoa)

"คริสโตเฟอโคลัมบัส" คือ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus)

โป๊ปในที่นี้ คือ พระสันตะปาปาอะเล็กซานเดอร์ที่ ๖ (Pope Alexander VI)

อาชญาฉบับนี้ คือ อินเทอร์เซเทอรา (Inter caetera)

"มานูเอล" คือ มานูเอลที่ ๑ (Manuel I)

"วัสโคดาคามา" คือ วัซกู ดา กามา (Vasco da Gama)

"เมลินเด" (Melinde) ชื่อปัจจุบันว่า "มาลินดี" (Malindi)

"กาฬีกูฎ" คือ "กอลิกูฏ" (قَالِقُوط, Qāliqūṭ) ตามสำเนียงอาหรับ หรือ "คาลิคัต" (Calicut) ตามสำเนียงอังกฤษ และชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โคซิโคเด" (Kozhikode)

"มละบา" คือ มลพาร (मलबार, Malabāra; Malabar)

"สมุทรินทร" คือ "สามูทิริ" (സാമൂതിരി, Sāmūtiri) ตามสำเนียงมาลายาลัม หรือ "ซาโมริน" (Zamorin) ตามสำเนียงโปรตุเกส

"คานะนอ" คือ "แคนนานอร์" (Cannanore) ตามสำเนียงอังกฤษ หรือชื่อปัจจุบันว่า "กัณณูร" (കണ്ണൂര്‍, Kaṇṇūr) ตามสำเนียงมาลายาลัม หรือ "คันนูร์" (Kannur) ตามสำเนียงอังกฤษ

"เปโดรอัลวเรสคาบรัล" คือ เปดรู อัลวาริซ กาบราล (Pedro Álvares Cabral)

"โลเปสเดอสิไครา" คือ ดีโอโก โลเปช ดี เซเกรา (Diogo Lopes de Sequeira)

"บันดาหร" คือ "เบนดาฮารา" (بنداهارا, Bendahara) แปลว่า อัครมหาเสนาบดี (prime minister)

"อัฟฟอนโสอัลบูเคอเค" คือ อาฟอนซู ดี อัลบูเกร์เก (Afonso de Albuquerque)

"เฟอนันเด" คือ ดูอาร์เต เฟอร์นันเดซ (Duarte Fernandes)

"ดวดเตโคเอลโล" คือ ดูอาร์เต โกเอโล (Duarte Coelho)




ขึ้น

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก